ร. 9 เสด็จฯ เยือนประเทศในโลกตะวันตก
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
หากเอ่ยถึงการเสด็จประพาสต่างประเทศแล้ว หลายท่านมักนึกถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นึกถึงการเสด็จประพาสยุโรปที่มีการกล่าวถึงว่าเป็นการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองขณะในยุคของการล่าอาณานิคม นึกถึงพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ฯลฯ
แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งเป็นการจากเมืองไทยนานถึง 6 เดือน (14 มิถุนายน พ.ศ.2503-17 มกราคม พ.ศ.2504) เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนมิตรประเทศในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปจำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี, โปรตุเกส, อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, สวีเดน, เบลเยี่ยม ฯลฯ
ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีกระแสพระราชดำรัสอำลาประชาชน ว่า
“ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย
เมื่อปีใหม่ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า ประเทศต่างๆ ได้เชิญให้ไปเยี่ยมเป็นราชการ บัดนี้ถึงกำหนดที่ข้าพเจ้าและพระราชินีจะไปประเทศเหล่านั้น พรุ่งนี้จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วจะไปประเทศอื่นๆ ในยุโรปอีก 13 ประเทศด้วยกัน
การไปต่างประเทศคราวนี้ ก็ไปเป็นราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้า ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในสมัยนี้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีด้วย
การผูกน้ำใจกันไว้นั้น ธรรมดาญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน แต่สำหรับประเทศนั้นประชาชนนับแสนนับล้าน จะไปเยี่ยมกันก็ยาก เขาจึงยกให้เป็นหน้าที่ของประมุข ในการไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ข้าพเจ้าก็จะแสดงต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้นว่า ประชาชนชาวไทยมีมิตรจิตมิตรใจต่อเขา และข้าพเจ้าจะพยายามเต็มที่เพื่อให้ฝ่ายเขารู้จักเมืองไทย และให้เกิดมีน้ำใจดีต่อชาวไทย
ข้าพเจ้าจะลาท่านไปเป็นเวลาราว 6 เดือน ก็เป็นธรรมดาที่นึกห่วงใยบ้านเมือง จึงใคร่จะตักเตือนท่านทั้งหลายว่า ขอให้ตั้งหน้าทำการงานของท่านให้เต็มที่ในทางที่ชอบที่ควร ตั้งตัวตั้งใจให้อยู่ในความสงบ จะได้เกิดผลดีแก่ตัวท่านเอง และแก่บ้านเมืองซึ่งเป็นของเราด้วยกันทุกคน
ขออวยพรให้มีความสุขสวัสดีทั่วกัน”
การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศอย่างมาก แม้บางรายจะมีทีท่าไม่เป็นมิตร แต่พระองค์มีพระราชดำรัสตอบที่นุ่มนวลและชาญฉลาด เช่น
วันที่ ๒๑ มิถุนายน อันเป็นวันที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ เป็นทางการ ได้เสด็จฯ เยี่ยมฮอลลี่วู้ด มีพระราชดำรัสตอบหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ที่กราบบังคมทูลถามว่า การเสด็จฯ มาครั้งนี้จะทรงขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อย่างไรหรือไม่ว่า “เราไม่ได้มาเพื่อขอความช่วยเหลือจากท่านแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เราเป็นผู้นำเอามิตรภาพและความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยมาให้แก่ท่าน”
หรือการเสด็จไปยังทำเนียบขาวในวันที่ 29 มิถุนายน ได้มีพระราชดำรัสต่อหน้ารัฐสภา ซึ่งเป็นที่ชื่นชมต่อผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง ดังจะขอยกมาเป็นบางตอนที่ว่า
“…เมื่อท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กรุณาเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้ามาเยือนประเทศนี้ ข้าพเจ้าก็ยินดีรับการเชิญนี้ และพอใจที่ได้เดินทางครึ่งโลกเพื่อมาปรากฏ ณ ที่นี้ เหตุผลของข้าพเจ้ามีอยู่สามประการ ซึ่งข้าพเจ้าใคร่จะบอกกับท่านอย่างสั้นๆ และกับประชาชนชาวอเมริกันโดยผ่านท่าน
ประการที่หนึ่งก็คือ นานมาแล้ว ข้าพเจ้าประสงค์ที่จะได้เห็นและได้เรียนรู้ประเทศของท่านให้มากยิ่งขึ้น เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบถึงความไม่อดกลั้นและความกดขี่ที่มีอยู่ในหลายภาคของโลก ข้าพเจ้าใคร่จะทราบว่า ไฉนในประเทศนี้ ประชาชนเป็นล้านๆ คน ซึ่งมีเผ่าพันธุ์ ประเพณี และความเชื่อถือในศาสนาแตกต่างกัน จึงมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเสรี และปรองดองกันอย่างผาสุก และไฉนประชาชนเป็นล้านๆ คนเหล่านี้ซึ่งอยู่กระจายกันทั่วดินแดนอันกว้างขวางนี้ จึงเห็นพ้องต้องกันในกรณีสำคัญๆ เกี่ยวกับกิจการที่สลับซับซ้อนของโลก และเมื่อกล่าวสั้นๆ ก็คือว่า ไฉนจึงต่างอดกลั้นให้แก่กันได้
ประการที่สอง ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะนำคำอวยพรและสันถวไมตรีของประชาชนของข้าพเจ้ามาให้ท่านด้วยตนเอง แม้ว่าชาวไทยและชาวอเมริกันจะอยู่คนละซีกโลกก็ตาม แต่ว่าก็มีสิ่งเป็นธรรมดา และนั่นก็คือ ความรักในเสรีภาพ และแน่ทีเดียวคำว่า ‘ไทย’ ที่จริงก็หมายความว่าเสรี การรับรองดังที่ข้าพเจ้าได้รับในประเทศนี้ทำให้ข้าพเจ้าสามารถนำมิตรภาพ และไมตรีจิตของท่านกลับไปให้ประชาชนของข้าพเจ้าได้เป็นอย่างดียิ่ง มิตรภาพของรัฐบาลหนึ่งที่มีต่ออีกรัฐบาลหนึ่งนั้นย่อมมีความสำคัญ แต่ว่ามิตรภาพของประชาชนของชาติหนึ่งที่มีต่อประชาชนของอีกชาติหนึ่งต่างหาก ที่เป็นประกันอย่างแน่แท้สำหรับสันติภาพและความก้าวหน้า
ประการที่สามก็คือว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะได้เห็นสถานที่เกิดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคาดว่า พวกท่านบางคนที่อยู่ ณ ที่นี้คงจะเกิดที่บอสตันเหมือนกัน หรือไม่ก็คงได้ศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเช่นเดียวกับสมเด็จพระราชบิดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารีบขอแสดงความยินดีแด่ผู้ที่มีโชคดีเช่นนั้นด้วย ข้าพเจ้าเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวคงจะมีจิตใจเหมือนข้าพเจ้า เพราะเราต่างก็มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในความสำเร็จด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของนครที่น่าพิศวงนั้นเช่นเดียวกันกับสมัยโบราณ ถนนทุกสายต่างมุ่งไปกรุงโรม ฉันใดก็ฉันนั้น ในปัจจุบันนี้ถนนทุกสายต่างก็มุ่งไปยังวอชิงตัน…”
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของพระมหากษัตริย์ไทยที่ผ่านมานั้น มิได้เป็นเพียงการเสด็จประพาสเพื่อความสำราญ หากแต่มีกุศโลบายอื่นๆ เพื่อประเทศอยู่เบื้องหลัง
ดังเห็นได้จากการเสด็จประพาสยุโรปในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มี “การล่าอาณานิคม” การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้นจึงเป็นเครื่องมือแก้ไขสถานการณ์ ด้วยการดำเนิน “ยุทธศาสตร์กันชน” แฝงนโยบายเข้าไว้ในพระราชกรณียกิจต่างๆ ในการเสด็จประพาส
เมื่อแนวคิดทางการเมืองของโลกเปลี่ยนเป็น “สงครามเย็น” (พ.ศ.2490-2534) ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรในโลกเสรีนิยม กับสหภาพโซเวียตที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ แม้อุดมการณ์ทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่ายจะแตกต่างกัน หากทั้ง 2 ฝ่ายต่างเลือกไม่ทำสงครามกันโดยตรง เเต่สนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนเข้าทำสงครามเเทน
สถานการณ์การเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลับไปสู่สภาพเดียวกับเมื่อสมัยพระพุทธเจ้าหลวง หากครั้งนี้เปลี่ยนจากหารล่าอาณานิคมเป็น “สงครามเย็น” และประเทศไทยคือ “รัฐกันชน” การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นไปเพื่อทรงกระชับความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกดังเช่นในรัชกาลก่อนนั้น
ที่มา :: https://www.silpa-mag.com/history/article_23939
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น