Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

วิธีรักษาตาปลาที่เท้าง่าย ๆ ไม่ต้องทนรำคาญอีกต่อไป

 

วิธีรักษาตาปลาที่เท้าง่าย ๆ ไม่ต้องทนรำคาญอีกต่อไป


  ตาปลา ก้อนหนังกำพร้าที่สร้างความรำคาญ และอาจสร้างความเจ็บปวดให้ใครหลายคน มาดูวิธีรักษาที่แสนจะง่ายจากของใกล้ตัวในบ้าน อยากให้เท้าเรียบเนียนสวยต้องรีบทำตาม

วิธีรักษาตาปลา

          ตาปลา หนึ่งในโรคผิวหนัง ที่แม้จะไม่มีความอันตราย แต่ก็สร้างความรำคาญใจได้ไม่น้อยเพราะเมื่อเป็นแล้วก็อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บได้ขณะที่เดินหรือสวมใส่รองเท้า ซึ่งวิธีรักษาเจ้าตาปลานี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก่อนที่จะไปดูวิธีรักษาตาปลา ลองมาทำความรู้จักตาปลากันหน่อยดีกว่า


* ตาปลาเกิดจากอะไร แตกต่างจากหูดอย่างไร

          ตาปลา หรือที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Corn เป็นก้อนของหนังขี้ไคลที่หลายคนมักสับสนกับโรคหูด แต่ตาปลาเกิดจากการเสียดสีหรือกดทับของผิวหนังเรื้อรังเ­­ป็นเวลานาน เช่น การเสียดสีกันระหว่างเท้าและร­องเท้า บริเวณนิ้วเท้าที่กระดูกนิ้วเท้าเสียดสีกัน หรือด้านบนหลังเท้าที่เกิดจากการสวมรองเท้าหัวแบนเป็นประจำ ซึ่งแตกต่างจากหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถเกิดบริเวณใดก็ได้ที่ติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องมีการเสียดสี และหากลองใช้มีดฝานตาปลาบาง ๆ จะไม่พบจุดเลือดออกเหมือนหูด เพราะตาปลาจะเป็นหนังแข็ง ๆ ที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงเยอะ ๆ เหมือนหูด อีกทั้งตาปลาเองก็ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ เหมือนหูดด้วย

วิธีรักษาตาปลา


ตาปลาอันตรายไหม

          ตาปลาจะเป็นตุ่มหนา แข็ง หรือผิวหนังหยาบ ๆ เฉพาะจุด กดแล้วเจ็บ ซึ่งอาการเจ็บปวดที่เกิดจากตาปลานั้น เป็นเพราะก้อนหนังขี้ไคลที่แข็งตัวถูกกดเข้าไปลึกในผิวหนัง หรือถ้าเป็นมากก็อาจจะไปกดทับกระดูกและเส้นประสาททำให้รู้สึ­­กเจ็บได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตาปลาไม่ใช่โรคติดเชื้อ หากรักษาตาปลาอย่างถูกวิธีและป้องกันดี ๆ ก็จะหายได้ไม่ยาก โดยวิธีรักษาตาปลาก็มีหลากหลายวิธีตามนี้เลย

วิธีรักษาตาปลา

          
1. ใช้หินขัดเท้าเบา ๆ

          แช่เท้าในน้ำอุ่นนาน 15-20 นาที เพื่อให้ตาปลานุ่มลง จากนั้นใช้หินขัดเท้าขัดเบา ๆ ซึ่งจะช่วยให้ตาปลาหลุดได้ แล้วใช้ครีมทาบำรุงเท้าโดยเฉพาะเพื่อให้ความชุ่มชื้น แต่วิธีนี้อาจต้องทำซ้ำหลายครั้งกว่าตาปลาจะหายไป

          2. แปะพลาสเตอร์ยา

วิธีรักษาตาปลา


          ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิก 40% ปิดบริเวณตาปลาประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นลอกพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าในน้ำอุ่นนาน 15-20 นาที เพื่อให้ตาปลานิ่มลงและลอกออกง่าย วิธีนี้ก็ควรต้องทำซ้ำบ่อย ๆ จนกว่าตาปลาจะหายไปด้วย

          3. ทายา

          แช่เท้าในน้ำอุ่นนาน 15-20 นาที จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้ง และทาปิโตรเลียมเจลหรือน้ำมันมะกอกบริเวณรอบ ๆ ตาปลาเพื่อป้องกันกรดในตัวยากัดผิว จากนั้นจึงทายาที่มีกรดซาลิไซลิก หรือยาทารักษาหูดลงบนตาปลา วิธีนี้ก็ไม่ยากแต่อาจต้องทำซ้ำหลายครั้งจนกว่าตาปลาจะหลุดออก

          4. ผ่าตัด

          หากตาปลาเป็นเยอะหรือรุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ แพทย์จะฝาตาปลาออก หรืออาจต้องผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้จะหายเร็วกว่าการใช้ยา ทว่ามีโอกาสจะเป็นแผลเป็น และต้องรักษาแผลผ่าตัดนาน และควรทำแผลให้ถูกต้อง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลได้ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูงกว่าการใช้ยาค่อนข้างมาก

          5. รักษาด้วยเลเซอร์หรือการจี้ไฟฟ้า

          วิธีรักษาตาปลาด้วยความร้อน หรือเลเซอร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจทิ้งรอยแผลเป็นได้ แต่จะทำให้ตาปลาหายเร็วกว่าการใช้ยา

          6. ใช้กระเทียมรักษา

วิธีรักษาตาปลา


          ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนา ๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็นตาปลา จากนั้นแปะกระเทียมกับตาปลาแล้วใช้ผ้าพันไว้ข้ามคืน ตื่นเช้ามาจึงค่อยแกะผ้าแล้วทำความสะอาดปกติ พอก่อนนอนก็ค่อยพันกระเทียมที่ตาปลาอีกครั้ง ทำต่อเนื่องกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจใช้มะนาวไม่ก็สับปะรดแทนกระเทียมได้ ทว่าวิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ตาปลาหายได้เท่าไรนะคะ

          7. เช็ดด้วยน้ำส้มสายชู

          กรดที่เข้มข้นในน้ำส้มสายชูจะช่วยให้ผิวที่แห้งแข็งนิ่มลงได้ โดยนำน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำ 3 ส่วน แล้วใช้สำลีชุบน้ำส้มสายชูเจือจางทาลงบนตาปลา ปิดทับด้วยผ้าพันแผลทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นนำผ้าพันแผลออก แล้วขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ บำรุงด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว ทำซ้ำได้จนกว่าตาปลาจะหลุดออก แต่ควรระวังไม่ให้น้ำส้มสายชูที่ใช้เข้มข้นจนเกินไป

ใช้กรรไกรตัดหรือเฉือนตาปลาได้ไหม

วิธีรักษาตาปลา


          แม้ตาปลาจะเป็นหนังแข็ง แต่ก็ไม่ควรตัดหรือเฉือนตาปลาด้วยของมีคม เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นแผลติดเชื้อที่ผิวหนังได้

ใช้ธูปจี้ตาปลาได้ไหม

          อีกหนึ่งวิธีที่มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลาย ด้วยการใช้ความร้อนจากธูปจี้ตาปลา ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ตาปลาหายเลยนะคะ และอาจทำให้เกิดแผล ติดเชื้อ ต้องรักษาทั้งแผลและการติดเชื้อยาวไป ดังนั้นรักษาตาปลาด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยเถอะ

ตาปลา ป้องกันได้ง่าย ๆ

วิธีรักษาตาปลา


          ถ้าไม่อยากให้ตัวเองต้องมานั่งรักษาตาปลากันทีหลัง ก็ลองป้องกันด้วยวิธีตามนี้ดู

          - สวมรองเท้าพื้นนิ่ม  

          - สวมรองเท้าที่ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป  

          -  เลือกรองเท้าให้เหมาะกับรูปเท้าของตัวเอง

          - หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงนาน ๆ

          - หลีกเลี่ยงการเดินลงน้ำหนักที่เท้าอย่างไม่เหมาะสม

          - รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดแรงกดที่ฝ่าเท้า

          หากเป็นตาปลาแล้วก็พยายามลดแรงกดที่ตาปลาให้ได้มากที่สุด โดยอาจใช้ฟองน้ำ หรือแผ่นรองกันกัดรองส่วนที่เป็นตาปลาไว้ เพื่อกันไม่ให้หนังแข็ง ๆ ฝังลงไปในเนื้อเท้ามากขึ้น นอกจากนี้พยายามอย่าเดินเยอะหรือยืนนาน ๆ ด้วยนะคะ


#ตาปลา   #Corn   #หนังหนาด้าน   #Callus

         

ขอบคุณข้อมูลจาก
รายการสามัญประจำบ้านโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์Youtube ใกล้มือหมอ Doctor Near UMahidol Channel มหิดล แชนแนลศูนย์ข้อมูลเครื่องสำอาง กองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย  ,  https://health.kapook.com/  ,  https://prinkotakoon.blogspot.com/2024/07/callus.html



8 ความคิดเห็น:

  1. ตาปลา

    ความหมาย ตาปลา

    ตาปลา (Corns) คือผิวหนังที่หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจมีลักษณะนิ่มหรือแข็งก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้าหรือบนฝ่าเท้า แต่อาจเกิดขึ้นได้หลายบริเวณในร่างกาย ตาปลาทำให้เกิดความรำคาญและความเจ็บปวดเวลาที่ต้องเดินหรือใส่รองเท้า และอาจส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจด้วย

    ในเบื้องต้นสามารถดูแลรักษาตาปลาได้ด้วยตัวเองโดยการแช่เท้าในน้ำอุ่นและใช้หินขัดเท้า และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้อาการตาปลารุนแรงขึ้น แต่หากดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

    อาการของตาปลา
    ตาปลามีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะต่างกัน ดังนี้

    ตาปลาชนิดอ่อน มักมีสีขาวหรือเทา กดแล้วนิ่มคล้ายยาง มักขึ้นระหว่างนิ้วเท้า
    ตาปลาชนิดแข็ง มักมีแกนแข็งตรงกลาง ผิวหนังรอบ ๆ จะหนาและแห้งเป็นขุย มักเกิดขึ้นบริเวณปลายนิ้วก้อยเท้า หรือด้านบนของเท้า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของกระดูกกับผิวบริเวณเท้า
    ตาปลาขนาดเล็ก (Seed Corns) มีลักษณะเป็นตุ่มกลมขนาดเล็กที่ฝ่าเท้าบริเวณโคนนิ้วหัวหัวแม่เท้า หรือส้นเท้า
    โดยปกติ ตาปลามักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่จะเมื่อใช้มือกดหรือเวลาสวมใส่รองเท้าจะรู้สึกเจ็บจากการเสียดสีและกดทับ หากตุ่มตาปลามีขนาดใหญ่อาจทำให้ใส่รองเท้าให้พอดีได้ลำบาก

    นอกจากนี้ หากอาการของตาปลาเริ่มรุนแรงมากขึ้นจนมีความเจ็บปวดมากหรือเกิดการอักเสบ ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ควรไปพบแพทย์ เพราะการมีแผลหรือบาดเจ็บที่เท้าเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้เกิดแผลอักเสบหรือแผลพุพองลุกลามได้ง่าย

    สาเหตุของตาปลา
    สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาปลามาจากแรงกดทับหรือการเสียดสีจากการกระทำซ้ำ ๆ เช่น

    สวมใส่รองเท้าที่ไม่พอดีหรือหลวมเกินไปทำให้เท้าเลื่อนถูไปมาจนเกิดการเสียดสี
    สวมใส่รองเท้าประเภทที่มีการบีบรัดเท้าจนเกินไป เช่น รองเท้าส้นสูงที่บีบหน้าเท้า หรือการยืนเป็นเวลานาน ๆ
    สวมใส่รองเท้าโดยไม่ได้ใส่ถุงเท้า ทำให้เกิดการเสียดสีที่เท้า หรือการใส่ถุงเท้าที่ไม่พอดี
    ผู้ที่เล่นกีฬาที่เพิ่มแรงกดดันหรือการเสียดสีที่เท้าเป็นประจำ
    ผู้ที่ไม่ชอบสวมรองเท้า โดยเฉพาะเวลาออกไปนอกบ้าน
    ผู้ที่ต้องถือของหนักเป็นประจำ หรือใช้เครื่องมือต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้สวมถุงมือป้องกัน เช่น เครื่องมือช่างที่มีน้ำหนักมาก หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน
    นอกจากนี้ ตาปลาอาจพบในผู้มีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเข้าใน (Bunions) นิ้วเท้าหงิกงอ (Hammer Toe) หรือภาวะเท้าผิดรูปอื่น ๆ และอาจพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีชั้นไขมันที่ผิวหนังน้อย ผู้ที่มีผิวแห้ง รวมทั้งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากตาปลาเกิดบริเวณผิวหนังที่ไม่ค่อยถูกกดทับ เช่น ฝ้ามือและฝ่าเท้า

    การวินิจฉัยตาปลา
    การวินิจฉัยในเบื้องต้น แพทย์จะดูตาปลาและอาจถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาชีพ งานอดิแรก หรือรองเท้าที่ชอบใส่เป็นประจำ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกถึงพฤติกรรมและสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลาได้ จากนั้นจะตรวจดูจุดที่เป็นตาปลาและพิจารณาดูว่าไม่ใช่โรคที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น หูดและซีสต์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

    ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้เอกซเรย์ (X-ray) เพื่อหาความผิดปกติที่ทำให้เกิดตาปลา เช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก หรือกระดูกผิดรูป


    ตอบลบ
  2. การรักษาตาปลา
    การรักษาตาปลาทำได้ด้วยการดูแลตัวเองหากอาการไม่รุนแรงมาก และการไปพบแพทย์ หากตาปลามีขนาดใหญ่หรือเจ็บปวดมาก ดังนี้


    หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดหรือการเสียดสี

    ผู้เป็นตาปลาควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดหรือการเสียดสี ซึ่งเป็นสาเหตุของตาปลา เช่น

    🦶🏻🦶🏻 สวมใส่รองเท้าให้พอดีกับเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป
    🦶🏻🦶🏻 ตัดเล็บเท้าให้สั้น เล็บเท้าที่ยาวอาจทำให้เกิดการเสียดสีเมื่อสวมรองเท้า โดยตัดเล็บเท้าให้ตรงและเหลือมุมเล็บไว้
    🦶🏻🦶🏻 ใช้แผ่นแปะในรองเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสี
    🦶🏻🦶🏻 สวมใส่ถุงมือหรือถุงเท้าเพื่อปกป้องผิวหนังที่เป็นตาปลาไม่ให้เกิดการเสียดสีมากขึ้น


    ใช้แผ่นโฟมป้องกันตาปลา

    แผ่นโฟมป้องกันตาปลาซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นโฟมรูปวงแหวนและมีรูตรงกลาง ซึ่งจะช่วยลดการกดทับหรือเสียดสีบริเวณที่เป็นตาปลาขณะเดินหรือสวมรองเท้า

    กำจัดตาปลาด้วยตัวเอง
    แช่เท้าในน้ำอุ่นเป็นเวลา 10 นาที จากนั้นซับด้วยผ้าขนหนูให้แห้ง และทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ทำทุกวันจนกว่าตาปลาจะเริ่มนิ่ม จากนั้นใช้หินขัดเท้าแช่ในน้ำอุ่นและขัดเบา ๆ เพื่อกำจัดตาปลาและผิวที่หนาตัวออกไปทีละน้อย การขัดผิวมากเกินไปหรือขัดอย่างรุนแรงอาจทำให้เลือดออก ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้

    หากมีอาการปวดสามารถใช้เจลเย็นสำเร็จรูป หรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบเย็นประมาณ 10–20 นาทีบริเวณที่เป็นตาปลา เพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยลดบวม

    หากพยายามดูแลรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีความเจ็บปวดมากขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น


    ใช้ยารักษาตาปลา

    แพทย์อาจให้ใช้แผ่นแปะตาปลาที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งช่วยให้ตาปลามีขนาดเล็กและบางลง ซึ่งจะช่วยให้ตาปลาหลุดออกง่ายขึ้น ทั้งนี้ ควรใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะการใช้แผ่นแปะที่มีกรดซาลิไซลิกอาจทำให้ผิวระคายเคืองและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานและโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด

    การใช้แผ่นเสริมรองเท้า
    สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของรูปเท้า แพทย์อาจให้ใช้อุปกรณ์หรือแผ่นเสริมรองเท้าที่ทำมาเป็นพิเศษให้ผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดตาปลาซ้ำ

    ตัดแต่งผิวที่เป็นส่วนเกินออก
    แพทย์จะตัดเอาผิวหนังที่หนาออกหรือตัดแต่งเอาตาปลาที่มีขนาดใหญ่ออก ซึ่งวิธีนี้ห้ามทำด้วยตัวเองเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

    การผ่าตัด
    แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขหรือจัดตำแหน่งของกระดูกที่ทำให้เกิดการเสียดสี

    ภาวะแทรกซ้อนของตาปลา
    โดยปกติผู้เป็นตาปลามักไม่มีผลกระทบระยะยาว แต่อาจพบการกลับมาเกิดขึ้นใหม่หรือเป็นตาปลาที่ขนาดใหญ่ขึ้น หรือหากเกิดการติดเชื้อจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากเวลาเดิน ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการรักษาเพิ่มเติม รวมไปถึงการเกิดแผลเป็นเมื่อตาปลาหายแล้ว


    การป้องกันตาปลา

    การป้องกันไม่ให้เกิดตาปลาสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการดูแลตัวเอง ได้แก่

    🦶🏻🦶🏻 ใช้ครีมบำรุงสำหรับเท้าโดยเฉพาะ หลังจากที่อาบน้ำเสร็จหรือหลังล้างเท้า
    🦶🏻🦶🏻 ใช้หินขัดเท้าเป็นประจำเพื่อกำจัดผิวที่แห้งแตกออก
    🦶🏻🦶🏻 อย่าปล่อยให้อาการปวดเท้ากลายเป็นเรื่องปกติ ควรไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าหรือแพทย์โดยตรง เพื่อให้คำแนะนำและหาสาเหตุของการเจ็บเท้า
    🦶🏻🦶🏻 สวมใส่รองเท้าที่สบายและขนาดที่พอเหมาะ ควรเลือกซื้อรองเท้าในช่วงเวลาบ่าย เพราะเท้ากำลังขยายตัวเต็มที่ ซึ่งรองเท้าที่เลือกซื้อแล้วใส่ได้อย่างพอดีในช่วงเวลานี้จะทำให้ใส่ได้สบายที่สุด นอกจากนั้นต้องมีเนื้อที่สำหรับให้นิ้วเท้าขยับได้ในช่วงของหน้ารองเท้ากับนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด
    🦶🏻🦶🏻 หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง เพราะจะเพิ่มแรงกดบริเวณที่ด้านหน้าเท้า


    ตอบลบ
  3. โรคตาปลา ตาปลา (Corns) เป็นโรคที่เนื้อเยื่อชั้นบนของผิวหนังมีการหนาตัวและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากแรงกดหรือแรงเสียดสีเป็นเวลานาน ๆ มักเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีปุ่มกระดูกนูน โดยเฉพาะที่บริเวณฝ่าเท้าและนิ้วเท้า ตาปลาเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น และส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้แต่อย่างใด (ยกเว้นในผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าเป็นแล้วไม่รักษาให้ดี อาจเกิดการอักเสบรุนแรงได้)


    ตอบลบ
  4. สาเหตุของตาปลา

    ตาปลาเกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีหรือถูกกดทับบ่อย ๆ และเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดได้จากการกระทำของตัวผู้ป่วยเองหรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วยก็ได้ ดังนี้ สาเหตุภายนอก หรือ สาเหตุจากการกระทำของผู้ป่วย (Extrinsic factor) ได้แก่ การสวมใส่รองเท้าที่คับแน่นหรือหลวมไม่เหมาะกับเท้า, การสวมใส่รองเท้าส้นสูง, การเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม, การไม่ใส่รองเท้าเวลาเดิน, การใช้มือหรือเท้าทำงานบางอย่างบ่อย ๆ เป็นเวลานาน (เช่น ร้อยพวงมาลัย การเขียนหนังสือมาก ๆ ใช้นิ้วมือหิ้วของหนัก ๆ เป็นนักกีฬายิมนาสติก เป็นช่างตีเหล็ก ช่างขุด ช่างเจาะ ฯลฯ ส่วนเด็กทารกที่มีการดูดนิ้วมือตัวเองบ่อย ๆ ก็อาจพบได้เช่นกัน), ปัญหาเรื่องท่ายืนหรือท่าเดินของผู้ป่วยที่ทำให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งถูกกดทับมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้าเป็นเวลานาน จึงเกิดการสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็ง ๆ ขึ้นมารองรับจุดนั้นแทนเนื้อธรรมดา สาเหตุจากภายใน หรือ สาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วย (Intrinsic factor) ได้แก่ ผู้ที่มีเท้าผิดรูปหรือผิดปกติ (เช่น นิ้วเท้างุ้ม (Hammer toe) ซึ่งเกิดจากการใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับเท้านานเป็นแรมปี) ทำให้บางตำแหน่งต้องรับน้ำหนักและถูกกดทับมากกว่าปกติ, เกิดจากความผิดปกติมีปุ่มกระดูกนูนหรือยื่นออกมา (ทำให้เกิดการเสียดสีเป็นเวลานานได้ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งผู้ป่วยจะมีข้อนิ้วมือผิดรูป ทำให้การใช้งานไม่เป็นปกติและเกิดการเสียดสีในบางตำแหน่งมากเกินไป), การมีน้ำหนักตัวมาก (ทำให้เท้ารับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดทับบางตำแหน่งมากกว่าปกติ) เป็นต้น อาการของตาปลา เนื่องจากมือและเท้าเป็นอวัยวะที่ใช้งานบ่อย รวมทั้งจากการเสียดสีและถูกกดทับอยู่บ่อยครั้ง จึงมักทำให้พบตาปลาในตำแหน่งนี้กันมาก ส่วนบริเวณอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น บริเวณขา และหน้าผาก ซึ่งจะพบได้ในชาวมุสลิมที่สวดมนต์โดยการคุกเข่าและใช้หน้าผากกดทับพื้นเป็นประจำ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วตาปลาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้ ตาปลา ที่เรียกว่า “คอร์น” (Corn, Clavus, Heloma) ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนของผิวที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง (เรียกว่า Central core, Nucleus, Radix) ซึ่งเกิดจากผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้าที่เรียกว่า Stratum corneum มีการบุ๋มตัวลงไป และทำให้ชั้นของขี้ไคล (Keratin) ซึ่งเกิดจากการลอกตัวของผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้านี้มีการสะสมอัดแน่นจนไปกดเบียดชั้นผิวหนังแท้ซึ่งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บนั่นเอง และในบางครั้งอาจพบว่ามีการอักเสบแดงของผิวหนังโดยรอบ ตาปลาชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ ตาปลาชนิดขอบแข็ง (Hard corn, Heloma durum) เป็นตาปลาที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีผิวแห้ง เป็นขุย แต่มีความวาวเหมือนขี้ผึ้ง เมื่อใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบาง ๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งสีออกใส ๆ อยู่ตรงกลางตุ่ม ซึ่งมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn, Heloma molle) เป็นตาปลาที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณง่ามนิ้วระหว่างนิ้วก้อยและนิ้วนางของเท้า ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตาปลาที่นุ่มกว่าชนิดแรก มีผิวชุ่มชื้นและมักจะมีการลอกตัวออกของผิวเสมอ หากใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบาง ๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกัน ตาปลา ที่เรียกว่า “คัลลัส” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “หนังหนาด้าน” (Callus, Tyloma) เป็นตาปลาที่พบได้ที่บริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้าส่วนที่เชื่อมต่อกับนิ้วเท้า ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังแบบที่ไม่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง ผิวหนังจะมีความหนาและด้านกว่าปกติ โดยจะมีขนาดใหญ่กว่าตาปลา อาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 นิ้ว ส่วนขอบเขตของตาปลาชนิดนี้จะไม่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากตาปลาชนิดแรกที่จะมีขอบเขตอย่างชัดเจน และในบางครั้งยังอาจเกิดตาปลาชนิดที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคันแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นตาปลามีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนสวมใส่รองเท้า ผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าผิดปกติ เช่น ฝ่าเท้าแบน จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นตาปลาชนิดนี้สูงมาก นอกจากนี้ยังอาจพบได้ที่ฝ่ามือหรือหัวเข่าบริเวณที่มีแรงเสียดสี เช่น จากการใช้มือจับอุปกรณ์ในการทำงานจนเกิดแรงเสียดสีอยู่เป็นประจำ เช่น จอบ เสียม กรรไกร มีด เป็นต้น

    ตอบลบ
  5. ภาวะแทรกซ้อนของตาปลา ตาปลาเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและไม่ทำให้เสียชีวิต เพียงแต่จะก่อให้เกิดอาการเจ็บและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันบ้างเท่านั้น โดยผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้ ตาปลาที่มีอาการเจ็บ อาจทำให้ผู้ป่วยเดินได้ไม่คล่องตัว ทำงานได้ไม่สะดวก ผู้ป่วยที่มักเฉือนตาปลาออกด้วยตัวเอง อาจพลาดไปเฉือนเอาผิวหนังปกติออกจนมีเลือดออกและกลายเป็นแผล ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้ สำหรับตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn) ที่ผิวหนังมีการลอกตัว อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนของแขนและขา) ถ้าปล่อยไว้นาน ตาปลาอาจเกิดการอักเสบเป็นแผลและติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน อาจจะเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนเป็นอันตรายได้

    การวินิจฉัยโรคตาปลา
    แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยดูจากอาการและการตรวจรอยโรคเป็นหลัก แต่ที่สำคัญคือต้องแยกตาปลาออกจากหูด เพราะทั้งสองโรคนี้จะเป็นตุ่มนูนแข็งที่ผิวหนังคล้าย ๆ กัน แต่จะมีสาเหตุและการรักษาที่แตกต่างกัน โดยแพทย์จะทดสอบโดยการใช้มีดเฉือนตุ่มนูนออกบาง ๆ ถ้าเป็นหูดจะมีเลือดออกเล็ก ๆ ของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหูด เมื่อกดจากด้านข้างเข้าหากันจะรู้สึกเจ็บ แต่ถ้าเป็นตาปลาเมื่อบีบด้านข้างจะไม่เจ็บ จะเจ็บก็ต่อเมื่อกดลงไปตรง ๆ ที่ตุ่มนูน และในตุ่มนั้นจะไม่มีเลือดออก สำหรับการวินิจฉัยเพื่อแยกชนิดตาปลานั้น จะทำได้โดยการใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนออกบาง ๆ เช่นกัน ถ้าเป็นตาปลาชนิดคอร์นจะพบจุดแข็งอยู่ตรงกลาง แต่ถ้าเป็นตาปลาชนิดคัลลัสจะไม่มีจุดแข็งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ที่ผิวหนังของตาปลาชนิดคัลลัสยังพบลายเส้นของผิวหนังเป็นปกติ ในขณะที่ตาปลาชนิดชนิดคอร์นจะไม่พบลายเส้นของผิวหนัง ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัยแยกกับโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่มีตุ่มนูน เช่น ตุ่มนูนที่เกิดในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่น่าจะเป็นตาปลาได้ หรือตุ่มนูนหลายตุ่ม แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ถ้าพบว่าเป็นตาปลาชนิดคอร์นจะพบผิวหนังชั้นหนังกำพร้ามีการหนาตัวขึ้น โดยที่บริเวณตรงกลางของตุ่มนูน ผิวหนังชั้นบนสุดจะมีการบุ๋มตัวลงไป และถ้าเป็นตาปลาชนิดคัลลัสจะไม่พบการหนาตัวของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า แต่จะพบชั้นขี้ไคลมีการหนาตัวมากขึ้น เมื่อวินิจฉัยได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นตาปลา ได้แก่ การซักประวัติอาชีพการทำงาน กิจกรรมที่ผู้ป่วยมักทำเป็นประจำ การตรวจดูรูปร่างของมือหรือเท้าว่ามีรูปร่างผิดปกติหรือมีกระดูกยื่นออกมาผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจต้องอาศัยวิธีการตรวจเอกซเรย์เพื่อดูรูปร่างของกระดูกต่อไป นอกจากนี้แพทย์ยังอาจใช้วิธีการตรวจดูการรับน้ำหนักของเท้าในขณะเดินด้วย (Pedobarography)


    ตอบลบ
  6. วิธีรักษาตาปลา
    เริ่มจากการแก้ที่ต้นเหตุ คือ การลดแรงกดทับและแรงเสียดสี โดยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ (ในรายที่เป็นไม่มากมักจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ และหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ)

    1. เปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า ไม่หลวม ไม่คับหรือบีบแน่นจนเกินไป ด้านหน้าของรองเท้าเมื่อสวมใส่แล้วจะต้องไม่บีบนิ้วเท้า มีช่วงนิ้วเท้ากว้าง พื้นรองเท้าต้องมีความนิ่มและยืดหยุ่น และส้นรองเท้าต้องไม่สูงจนเกินไป (ถ้าจะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ควรไปซื้อในช่วงบ่ายหรือเย็น เพราะเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เท้าจะบวมขึ้นในระหว่างที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน นั่นหมายความว่าถ้าหากเราไปซื้อรองเท้าในตอนเช้า รองเท้าอาจจะไม่พอดีกับเท้าในตอนบ่ายของวันก็ได้)
    2. สวมใส่ถุงเท้าหนา ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดของเท้า แต่ถุงเท้าที่สวมใส่ควรพอดีกับขนาดของเท้าและรองเท้า เมื่อใส่แล้วจะต้องไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป และต้องดูให้แน่ใจด้วยว่าถุงเท้าที่สวมใส่นั้นไม่มีตะเข็บที่จะไปขูดกับตาปลาหรือบริเวณที่อาจเกิดตาปลา
    3. หากตาปลาอยู่ตรงฝ่าเท้าควรใช้ฟองน้ำหรือแผ่นรองเท้ารองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านเอาไว้ในขณะสวมใส่รองเท้าด้วย เพื่อช่วยลดแรงกดและแรงเสียดสีที่เท้า หรืออาจใช้วิธีเสริมพื้นรองเท้าเป็นพิเศษเหนือส่วนที่เกิดตาปลาเพื่อช่วยลดแรงกดก็ได้
    4. ผู้ที่เป็นตาปลาที่มือ ควรสวมใส่ถุงมือในขณะทำงานด้วย เพื่อช่วยลดการเสียดสีของผิวหนัง
    5. ผู้ที่เป็นตาปลาบนนิ้วเท้าควรหาซื้อซิลิโคนป้องกันตาปลามาใช้ เพราะแผ่นซิลิโคนที่ถูกผลิตมาเป็นพิเศษจะช่วยลดการเสียดสีและแรงกระแทกระหว่างนิ้วเท้าได้
    6. ผู้ที่เป็นตาปลาอยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้าด้วย
    7. หากตาปลาเกิดจากสาเหตุที่เท้าผิดรูป หรือจากการลงน้ำหนักของเท้าที่ผิดปกติ อาจต้องเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น
    8. ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากและมีตาปลาที่เท้า ควรลดน้ำหนักตัวเพื่อลดแรงกดของเท้ากับพื้น
    9. ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดซิลิโคนเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกยื่นออกมา เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีและแรงกดผิวหนังตรงปุ่ม

    การกำจัดตาปลาด้วยตัวเองที่บ้าน
    เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ช่วยลดขนาดของตาปลาลงได้ โดยให้แช่เท้าในน้ำร้อนอุณหภูมิพอเหมาะประมาณ 10 นาที เพื่อให้ตุ่มตาปลานิ่มลง จากนั้นให้ใช้หินขัดเท้าหรืออุปกรณ์ขัดผิวอย่างอื่น เช่น ตะไบขัดเท้า แปรงขัดเท้า ค่อย ๆ ขัดลงไปที่รอยโรค เมื่อขัดเสร็จแล้วให้เช็ดเท้าให้แห้งแล้วบำรุงด้วยครีมทาเท้าเพื่อให้เท้าเกิดความชุ่มชื่น โดยให้ทำเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหายไป (ไม่แนะนำให้ใช้ธูปจี้หรือตัดตาปลาออกด้วยใบมีด มีดโกน กรรไกร หรือของมีคมอื่น ๆ ด้วยตัวเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดบาดแผลจนเท้าติดเชื้ออย่างรุนแรงขึ้นมาได้)

    การใช้สมุนไพรกำจัดตาปลา เป็นวิธีธรรมชาติที่ผู้ป่วยสามารถลองทำเองได้ “แต่อาจจะได้ผลไม่ดีนัก” เช่น

    1. กระเทียม ให้ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนา ๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วใช้กระเทียมส่วนที่เหลือนำมาสับใช้พอกตรงตาปลา พันทับด้วยผ้าพันแผลหรือปลาสเตอร์ ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วจึงค่อยแกะออก โดยให้ทำซ้ำกันทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
    2. มะนาวหรือเลมอน ให้ใช้สำลีชุบน้ำมะนาวหรือน้ำเลมอน (หรือหั่นเป็นแว่น ๆ) แล้วนำมาเช็ดถูบริเวณที่เป็นตาปลา จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ให้ทำซ้ำทุกวัน หรือจะใช้บริเวอร์ยีสต์ (Brewer’s Yeast) ซึ่งเป็นอาหารเสริมนำมาผสมกับน้ำมะนาวเล็กน้อยให้เป็นเนื้อครีม ใช้พอกบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ก็จะช่วยให้ตาปลานิ่มลงได้เช่นกัน
    3. มะละกอดิบ ให้นำมะละกอดิบมาคั้นเอาแต่น้ำ แล้วใช้สำลีชุบน้ำมะละกอดิบใช้แปะลงบนตาปลาแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะปลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น ให้ทำซ้ำทุกวันจนกว่าจะเห็นผล

    ตอบลบ
  7. 4. เปลือกสับปะรด ให้นำเปลือกที่ไม่ใช้แล้วมาหั่นเป็นชิ้นขนาดพอดีกับตาปลา แล้วแปะลงตรงตาปลาและปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นแกะออกล้างให้สะอาด และทาบริเวณตาปลาด้วยน้ำมันมะพร้าว โดยให้ทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นประจำจนกว่าจะหาย
    5. ผงขมิ้น ให้นำผงขมิ้นไปผสมกับน้ำผึ้งให้เป็นเนื้อครีม ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ให้ทำซ้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ตาปลาก็จะค่อย ๆ หลุดลอกออกไป หรือจะใช้ผงขมิ้นผสมกับเจลว่านหางจระเข้ทาลงในปลาสเตอร์แล้วปิดทิ้งไว้ข้ามคืนก็ได้ จากนั้นก็แกะออกแล้วทาด้วยครีมบำรุงตามปกติ โดยให้ทำซ้ำติดต่อกันเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหาย
    6. ชะเอมเทศ ให้นำผงชะเอมเทศมาผสมกับน้ำมันเมล็ดมัสตาร์ดให้เป็นเนื้อครีม ใช้พอกลงบริเวณที่เป็นตาปลาแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะปลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น ให้ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ทุกวันจนกว่าตาปลาจะเริ่มนิ่มและหายไป

    7. น้ำมันสน ก่อนใช้ให้นำน้ำแข็งมาประคบลงบริเวณที่เป็นตาปลาประมาณ 2 นาทีแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นให้ใช้น้ำมันสนทาลงบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปิดปลาสเตอร์ทับไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออก หากทำเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้ตาปลาหายเร็วขึ้น
    8. น้ำมันละหุ่ง น้ำมันชนิดนี้เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์แรง ในการใช้จึงต้องระมัดระวังให้มาก โดยให้หาเทปพันแผลหรือปลาสเตอร์แบบที่เป็นรูตรงกลางมาปิดไว้รอบ ๆ ให้เหลือแต่บริเวณที่เป็นตาปลา แล้วใช้น้ำมันละหุ่งหยอดและกดทับด้วยสำลี แล้วปิดทับด้วยเทปพันแผลเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันซึมออกมา จากนั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออกในตอนเช้า
    9. น้ำส้มสายชูกลั่น ให้นำน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำ 3 ส่วน แล้วนำสำลีชุบน้ำส้มสายชูทาลงบนตาปลา ปิดทับด้วยผ้าพันแผลทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออกแล้วขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ จากนั้นให้บำรุงด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว วิธีนี้ให้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าตาปลาจะหลุดออก แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำส้มสายชูเข้มข้นจนเกินไป
    10. เบกกิ้งโซดา ให้ใช้ผงเบกกิ้งโซดา 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำแล้วแช่ส่วนที่เป็นรอยโรคหรือตาปลาลงไปประมาณ 10-15 นาที จากนั้นขัดบริเวณที่เป็นตาปลาด้วยหินขัดหรือแปรงนุ่ม ๆ หรืออีกวิธีหนึ่งให้ใช้น้ำมะนาวผสมกับผงเบกกิ้งโซดาและน้ำเปล่า ทำให้เป็นเนื้อครีม ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลาและปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออกและล้างออกด้วยน้ำอุ่น จากนั้นให้ขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ ก็จะช่วยให้ตาปลาหลุดออกง่ายขึ้น
    11. ยาแอสไพริน ในยาแอสไพรินจะมีกรดซาลิไซลิกที่ช่วยกัดตาปลาได้ วิธีการใช้ก็คือ ให้นำยาแอสไพริน 5 เม็ดมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมะนาว 12 ช้อนชา และน้ำเปล่าอีก 12 ช้อนชา จากนั้นให้นำมาป้ายตรงตาปลาแล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดทับไว้และพันทับด้วยผ้าขนหนูอุ่น ๆ อีกชั้นหนึ่ง ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วแกะออก ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นแล้วใช้หินขัดออกเบา ๆ จะช่วยทำให้ตาปลาหลุดลอกออกมาได้

    * ใช้ปลาสเตอร์หรือแผ่นแปะที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ชนิด 40% ปิดตรงส่วนที่เป็นรอยโรค ซึ่งจะค่อย ๆ ลอกตาปลาออกไป โดยให้ปิดทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วจึงค่อยแกะปลาสเตอร์ออก จากนั้นให้แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นประมาณ 20 นาทีหรือจนกว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะนิ่ม แล้วตาปลาจะค่อย ๆ หลุดลอกออกไป แต่ถ้ายังหลุดออกไม่หมด ก็ให้ทำซ้ำอีกจนกว่าตาปลาจะหลุดลอกหมด (ก่อนแปะแผ่นยาควรตะไบผิวหนังที่ตายแล้วออกก่อน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพราะผลิตภัณฑ์ในการกำจัดตาปลาส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยกรดซาลิไซลิก ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองหรือกัดผิวหนังปกติของคุณได้)

    * ใช้ยากัดตาปลาหรือหูดที่มีกรดซาลิไซลิกผสม ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า คอนคอน (Con Con), คอลโลแม็ค (Collomak), ดูโอฟิล์ม (Duofilm), ฟรีโซน (Freezone), เวอร์รูมาล (Verrumal) เป็นต้น แต่ก่อนใช้ยาทานี้ จำเป็นต้องแช่รอยโรคด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ หรือใช้ขวดยาน้ำของเด็กใส่น้ำอุ่นจัด ๆ แล้วคว่ำลงไปที่รอยโรคประมาณ 15-20 นาที จากนั้นให้ใช้ตะไบเล็บ หินสำหรับขัดผิว หรือผ้าขนหนูขัดถูตรงบริเวณที่เป็นตาปลา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผิวหนังที่เป็นขุย ๆ หลุดออกไป จากนั้นให้ทาวาสลีนรอบ ๆ ผิวหนังบริเวณตาปลา เพื่อป้องกันยากัดบริเวณผิวหนังปกติ แล้วจึงค่อยทายาตรงจุดที่เป็นตาปลา โดยให้ทาวันละ 2 ครั้ง และทำจนกว่าตาปลาจะค่อย ๆ หลุดลอกออกจนหมด (ในระหว่างการทายา ควรระวังอย่าให้น้ำยาถูกผิวหนังปกติ) ข้อดีของการทายาก็คือ มีราคาไม่แพง เมื่อหายแล้วจะไม่มีแผลเป็น แต่มีข้อเสียคือ ถ้าไม่หมั่นทายาเป็นประจำทุกวัน ตาปลาก็จะไม่หาย หรือถ้าทายามากเกินไปก็อาจทำให้ผิวถลอกและเกิดการติดเชื้ออักเสบได้

    ตอบลบ
  8. * ในกรณีที่ควรไปพบแพทย์ ถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น มีอาการบวมแดงรอบ ๆ ตาปลา เกิดการติดเชื้อ (มีน้ำเหลืองหรือน้ำหนองไหลออกมาจากตาปลา) หรือพบในผู้ที่เป็นนิ้วเท้างุ้ม หรือเป็นผู้ที่มีนิ้วเท้างุ้ม มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น โรคเบาหวาน โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย โรคที่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกส่วนปลายหรือมีอาการชาตามมือตามเท้า การสัมผัสรับความรู้สึกน้อยลง) หากเป็นตาปลา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ต้น เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาภาวะที่พบร่วมไปด้วย เช่น ควบคุมโรคเบาหวาน หรือแก้อาการนิ้วเท้างุ้มด้วยการผ่าตัด เป็นต้น

    1. รอยโรคที่มีขนาดใหญ่และหนา แพทย์อาจใช้ใบมีดผ่าตัดเฉือนผ่านผิวเนื้อเฉพาะตรงส่วนของรอยโรคที่ตายแล้วออกทีละน้อย (หากไม่ชำนาญ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ใบมีดหรือของมีคมฝานตาปลาออกเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดแผล กลายเป็นแผลอักเสบบวม และเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีประสาทรับความรู้สึกไม่ดี เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะเฉือนลึกเกินไปจนเกิดบาดแผลได้)
    2. ถ้ามีการติดเชื้อแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
    3. ในบางกรณีแพทย์อาจใช้อุปกรณ์หรือรองเท้าที่ทำขึ้นโดยเฉพาะในการช่วยรักษา
    4. ในกรณีที่จำเป็นแพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของเท้า นิ้วเท้า หรือกระดูกเท้าที่ผิดปกติ หรือใช้วิธีการจี้ด้วยไฟฟ้า หรือใช้เลเซอร์ (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้วิธีเหล่านี้ในการรักษา เพราะถึงแม้ว่าจะใช้เวลารวดเร็วกว่าการทายา แต่จะทำให้เป็นแผลเป็น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บทุกครั้งที่ลงน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นตาปลาบริเวณส้นเท้า และยังต้องมาคอยทำแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะใช้ต้องใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ แถมค่ารักษาก็แพงกว่าการทายาอีกด้วย)

    ตอบลบ