พัฒนาการทารก อายุ 11 เดือน
พัฒนาการทารก อายุ 11 เดือน
พัฒนาการเด่น “ หนูอยากทำเอง”
- ขณะนี้ลูกจะเริ่มเกาะยืน และไต่เดินตามขอบโซฟา ได้เองอย่างคล่องแคล่วขึ้น และในบางครั้ง เขาจะปล่อยมือ และเดินเองได้ 2-3 ก้าว แต่อาจจะไม่มั่นใจก้าวต่อไปจึงหยุด เด็กจะชอบการปีนบันไดมาก เขาจะพยายามปีนขึ้นบันได ไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่า จะถอยลงบันไดอย่างไร (ใช้เวลาอีกเกือบ 1-2 เดือน ที่จะรู้วิธีนำตัวเองลงบันไดมาได้เอง อย่างปลอดภัย) คุณต้องดูแลใกล้ชิด อย่าปล่อยลูกไว้ใกล้บันไดตามลำพังเป็นอันขาด ระวังตกบันได
- ช่วงนี้ลูกจะมีโอกาสหกล้ม หรือเดินกระแทกอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรุนแรงนัก เด็กบางคนจะอดทน ไม่ร้องไห้ง่ายๆ และคุณควรให้โอกาสเขาได้ลุกขึ้นเอง และตอบสนองกับเขาในเชิงบวก เช่น “ลูกดูซิ ชนถูกตรงนี้อีกแล้ว คราวหน้าระวังนะ” หรือ “ ไม่เป็นไรลูก ลุกขึ้นมา “ จะดีกว่า “โอ๋ โอ๋ เจ็บมากไหมลูก ใครมาแกล้งทำให้ลูกเจ็บ เดี๋ยวจะไปตีให้ร้องเลย” เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า อุบัติเหตุที่ทำให้เขาเจ็บตัวนั้น เกิดขึ้นเพราะเขาไม่ทันระวัง คราวหน้าถ้าเขาระวังก็จะไม่เจ็บตัวอีกจะดีกว่า การสอนให้เขาเข้าใจว่าการที่เขาเจ็บตัวนั้น เป็นเพราะมีคนแกล้ง และจะต้องทำร้ายกลับ เพื่อแก้แค้นที่มาทำให้ลูกเจ็บ
- คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะตื่นเต้นที่ลูกเริ่มหัดเดิน จึงจะคอยกังวลว่า ลูกเดินเป๋ เดินเท้าปัดๆ (toddler gaits) ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินของเด็กเล็กที่ยังไม่คล่องนักเท่านั้น โดยจะเห็นว่า ลูกจะเดินขากางๆ และปลายเท้าแบะออกบ้าง (เพื่อการทรงตัว) ทำให้หลายคน ไปวิ่งหาซื้อหรือ ตัดรองเท้าดัดขา (orthopedic shoes) ใส่กัน ซึ่งส่วนใหญ่ จะไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้รองเท้าพิเศษนี้ เพราะเมื่อลูกเดินได้คล่องขึ้น ท่าทางเดินขากางๆ หรือเท้าแบะเล็กน้อยนี้ก็จะหายเองเป็นปกติเมื่อโตขึ้น และที่จริงแล้ว เมื่ออยู่ในบ้าน (ในห้อง)ที่พื้นสะอาดดี เด็กควรจะเดินเท้าเปล่า เพื่อที่จะได้หัดการทรงตัว และฝึกกล้ามเนื้อของขา และเท้าได้ดีขึ้น ให้ระวังพื้น ที่จะลื่นมากๆ เช่น พื้นหินอ่อน พื้นไม้ปาเก้ขัดมัน หรือพื้นที่เปียกลื่น ที่จะทำให้เด็กหกล้มศีรษะกระแทก เป็นอันตรายได้
- การใช้งานของมือ,นิ้ว และการประสานงานระหว่างมือและสายตา (Hand-eye coordination) ซึ่งเป็นการสั่งงานของสมอง ที่ซับซ้อนขึ้น (Higher brain functions) ทำให้มีการใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่ และมัดเล็ก จะดีขึ้น และนุ่มนวลขึ้น เด็กยังสนใจ ที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับรูปทรงและผิวสัมผัสของสิ่งของต่างๆ ที่เขาสามารถจะคว้ามา “ทำการสำรวจ” ได้ เขาจะเริ่มแยกแยะ ของต่างๆ ได้ดีขึ้น และจะเริ่มมีคอนเซปต์ ที่ว่า ของชิ้นเล็กจะสามารถใส่เข้าไปในของชิ้นใหญ่ได้ ขณะที่ของชิ้นใหญ่ จะไม่สามารถใส่เข้าไปในของชิ้นเล็กได้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะตื่นเต้นที่ลูกชอบ “อ่านหนังสือ (ดูรูป) “ ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้น ให้เด็กเรียนเร็ว โดยการพยายามใช้ แฟลชการด์ (บัตรตัวอักษร, คำ หรือรูปภาพ) มาสอนเด็กซ้ำๆ เพื่อให้เด็กจำได้ แต่อายุขนาดนี้ นั้นจะยังไม่พร้อม อยากให้คุณแม่เข้าใจให้ถูกต้องว่า “ขบวนการเรียนรู้นั้น เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ” และจะดำเนินไปเอง เมื่อเด็กพร้อม ในช่วงนี้การอ่านหนังสือด้วยกันนั้นจะเป็นในแง่ที่ทำให้เขามีสัมพันธภาพ (bonding) ที่ดีกับคุณ และเป็นการทำให้เขาคุ้นเคยกับหนังสือและการอ่านเท่านั้น
- ในแง่ของสติปัญญา ( intellectual milestone) ลูกจะเริ่มมีคอนเซปต์ ของระยะและขนาดบ้าง (perspective) เขาจะเริ่มรู้ว่า ของอยู่ใกล้หรือไกล และของที่อยู่ใกล้จะดูเหมือนใหญ่กว่าของที่อยู่ไกลออกไป เด็กบางคนจะเริ่มส่งเสียงที่พอฟังออกว่า เป็นคำที่มีความหมายได้บางคำ ซึ่งเดิมเคยเชื่อว่า จะเป็นสัญญานบอกว่า จะเป็นเด็กฉลาด แต่ในปัจจุบันพบว่า การที่เด็กพูดได้เป็นคำบ้าง ในช่วงอายุนี้ไม่ได้บ่งถึงความฉลาดเป็นพิเศษกว่าเด็กอื่น เพราะว่า ในตอนนี้เด็กจะยังเลียนเสียงผู้ใหญ่แบบนกแก้วฝึกพูดมากกว่าจะเข้าใจในความหมายของคำทั้งหมดที่พูดออกมา ลูกจะรู้จักคำต่างๆ ได้มากกว่า 10 คำ และจะทำตามคำบอกง่ายๆ ได้หลายอย่าง ช่วงนี้คุณจะสามารถเริ่มสอดแทรกคำว่า “คะ, ครับ” หรือทำโทนเสียง ที่สุภาพให้เขาเข้าใจได้ ในเวลาพูดกับเขา
- ในช่วงนี้ลูกจะนอนน้อยลงในเวลากลางวัน เด็กบางคนจะนอนตอนสายและตื่นมาทานมื้อกลางวัน ซึ่งทำให้เขาง่วงนอนงอแง เมื่อถึงตอนเย็น คุณจะสามารถเริ่มฝึกให้เขาไม่นอนตอนสาย แต่เลื่อนมาเป็นนอนตอนบ่าย หลังมื้อเที่ยงแทน ซึ่งจะทำให้เขาไม่งอแงนักในตอนเย็น และสามารถเข้านอนตอนหัวค่ำได้ และหลับได้นานตอนกลางคืน
- บทบาทของคุณพ่อและคุณแม่ ที่ช่วยกันในการเลี้ยงดู และเล่นกับเขานั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นการเล่นแบบอย่างคุณแม่ หรือแบบอย่างคุณพ่อก็จะเป็นการส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้มากขึ้น และมีความหลากหลาย ในแนวทางความคิด และการกระทำ ฯลฯ ทำให้เขาพร้อม ที่จะออกสู่โลกภายนอกรอบตัวเขามากขึ้น ช่วงนี้ลูกยังต้องการการโอบกอด, การหอมแก้ม และการอยู่ใกล้คุณ,เล่นกับคุณ ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้เขาติดคุณและเสียนิสัยหรือจะเป็นการเอาใจจนเคยตัว เด็กเรียนรู้ผ่านทางการเล่น และการทำซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญ บนพื้นฐานของความรัก ความเอาใจใส่ ที่คุณพ่อคุณแม่ให้กับเขา
ที่มา :: http://www.baby2talk.com