Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 41-50 ปรับพฤติกรรม

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 41-50 ปรับพฤติกรรม


 

เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 41 : การเลี้ยงลูกต้องการหลักการ3ข้อ
ข้อ 1 หลักของการให้รางวัล
การให้รางวัลหมายถึงเมื่อเด็กทำอะไรดีๆให้รางวัลทันที คำสำคัญคือคำว่า "ทันที"
ระหว่างที่เราทำอะไรอยู่ เหลือบเห็นเด็กทำอะไรดีๆ เช่น เก็บของเล่น เก็บรองเท้าเข้าที่ เอาเศษขยะเศษขนมไปทิ้งถัง เราควรหยุดงานที่ทำแล้วเดินไปตกรางวัลทันที แล้วพูดชัดๆว่าเราชอบที่เขาทำอะไร ด้วยวิธีคิดแบบฟินอมินอลิสติกคอซาลตีคือสองสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันจะทำให้ "รางวัลทันที" ที่ให้ไปวางเงื่อนไขให้เขาทำดีต่อไปง่ายๆ
รางวัลทันทีอาจจะเป็นขนม การหอมแก้ม อุ้ม กอด หรือพาไปเที่ยว ดีมากคือนั่งลงเล่นด้วยกัน พอเขาทำดี พ่อแม่ว่าง "ทันที" มาเล่นด้วยกัน มิใช่อีกสัปดาห์ค่อยมาให้รางวัลแล้วพูดว่า "นี่พ่อให้สำหรับการช่วยคุณแม่ล้างจานเมื่อสัปดาห์ก่อนนะ" ไปไกลๆเลย
พ่อแม่ที่มีเวลาอยู่บ้านมากๆ ใจผ่อนคลายจึงเห็นลูกทำอะไรดีๆน่ารัก เช่น หยิบซองขนมที่เรี่ยราดหน้าทีวีไปทิ้ง พ่อแม่ที่ไม่อยู่บ้านทำแต่งาน เข้าบ้านทีก็หงุดหงิดเพราะเหนื่อยมาจากงานจะเห็นแต่เรื่องไม่เข้าท่าของเด็กๆและบ่นว่าเสียมาก "ซองขนมทำไมไม่ทิ้ง" "จานทำไมไม่ช่วยล้าง" "รองเท้าทำไมไม่เก็บให้เรียบร้อย" เป็นต้น
การให้รางวัลมิใช่การให้สินบน
การให้รางวัลเป็นไปตามหลักการวางเงื่อนไขหรือการเสริมแรงทางบวก นั่นคือทำดีได้รางวัลแล้วก็จะทำดีอีกเพราะอยากได้รางวัลอีก แต่รางวัลนั้นจะต้องตกลงมาโดยทำนายไม่ได้ด้วย กล่าวคือแม้ว่าจะมีบางครั้งที่ทำดีแต่ไม่มีรางวัล เงื่อนไขทางบวกที่วางไว้อย่างแข็งแรงจะทำให้เด็กๆยังคงความดีเอาไว้เพราะไม่แน่บางครั้งก็ได้รางวัล เผื่อฟลุ้ค มีลุ้น เหมือนพ่อแม่ลุ้นหวยนั่นแหละ
การทำความดีซ้ำๆได้รางวัลบ้างไม่ได้บ้างจะทำให้เด็กๆพัฒนาการไปถึงระดับ "ทำความดีเพราะเป็นความดี" ในที่สุด
ต่างจากการบอกลูกว่า "สอบได้เกรดสี่นะจ๊ะจะพาไปเที่ยวต่างประเทศ" เช่นนี้เป็นสินบน สินบนเสพติดได้และไม่ยั่งยืน


  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 42 : พ้นจากการให้รางวัลคือการเฉยเมย(ignore) เวลาไม่ชอบพฤติกรรมใดให้เฉยเมย ไม่ให้ความสนใจไม่ว่าทางบวกหรือลบ โดยทั่วไปพฤติกรรมนั้นควรหายไปเอง(extinction) ถ้าไม่หายแปลว่าคุณไม่เฉยจริง
การเฉยเมยเป็นวิธีที่ได้ผลดี ใช้จัดการพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมประหลาดๆ และพฤติกรรมดื้อหรือก้าวร้าวครั้งแรกๆได้ด้วย ทำให้เขารู้ว่าเขาจะไม่ได้อะไรตอบแทนเลยจากพฤติกรรมเหล่านี้ แต่พ่อแม่ส่วนมากไม่ทำหรือทำไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าไม่อดทนพอเสียมาก
พฤติกรรมที่ใช้การเพิกเฉย (ignore) ได้ผลดีกลุ่มที่หนึ่งได้แก่พฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น กัดเล็บ ถูไถอวัยวะเพศ ถอนผม ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้แค่ไม่น่าดูแต่มิได้ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
พฤติกรรมเหล่านี้ในระยะแรกๆหากดุด่าว่ากล่าวเด็กๆจะทำซ้ำอีกเมื่อเผลอ แต่ถ้าพ่อแม่เฉยเมยอาจจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้ไม่มากก็น้อยทำแล้วมีความสุข หลายครั้งการเพิกเฉยอย่างเดียวก็เอาไม่อยู่ จำเป็นต้องมีวิธีอื่นร่วมด้วยหรือมีกิจกรรมอื่นทดแทน
เมื่อพบเด็กกัดเล็บ เล่นอวัยวะเพศ หรือถอนผม พ่อแม่ควรเดินเข้าไป1.แตะมือให้เขารู้ตัว 2. อุ้มเขาออกจากบริเวณนั้นไปที่อื่น 3. ชวนเขาเล่นหรือทำงานบ้าน ทำเช่นนี้ซ้ำๆโดยไม่ต้องดุด่าว่ากล่าวหรือชักสีหน้า
นั่นคือเฉยเมยด้วย เพิ่มเวลาอยู่กับเขามากขึ้นด้วย
อย่าลืมบอกคนในบ้านคนอื่นๆด้วยว่า "อย่ายุ่ง" งานนี้ปล่อยพ่อแม่เอง พูดต่อหน้าลูกให้ลูกรู้ว่าเราใหญ่ และเราจะปกป้องลูกโดยไม่มีเงื่อนไข
พฤติกรรมประเภทสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง
ภาพจากBBC


  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 43 : เมื่อลูกอายุ 2-3 ขวบเป็นต้นไป เขาจะมี autonomy พูดคำว่า "ไม่" เป็น ไปจนถึงไม่เชื่อฟัง ดื้อ และแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจ และทำในที่สาธารณะด้วย
พฤติกรรมเหล่านี้การเฉยเมย (ignore) ยังเป็นวิธีที่ควรทำและได้ผล แต่อาจจะต้องเสริมตัวช่วยบางประการ
ก่อนอื่นขอให้รู้ว่าเด็กๆมีหน้าที่ "ทดสอบ" อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ พ่อแม่จึงควรใจเย็นพอ และบอกเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรได้และอะไรไม่ได้
1.พฤติกรรมดื้อดึงเล็กๆน้อยๆ ขอสิ่งที่เราไม่มีทางให้ไม่มีวันให้หรือไม่ควรให้ เราอาจจะไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั่งดู และไม่โอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของเขา พูดชัดๆว่า "แม่ไม่อนุญาต" แล้วรอดูเขาสงบเอง นั่งดูไป อย่าห่วงหน้าตัวเอง ยอมเสียหน้าวันนี้ดีกว่าเสียเด็ก
2.พฤติกรรมดื้อดึงในบางกรณี ถ้าพอให้เลือกได้ เราให้เขาเลือกเอง ถ้าเขาได้หนึ่งเขาจะไม่ได้อีกหนึ่ง อย่ายินยอมที่จะให้ทั้งสองอย่าง จะเอาหมดกินรวบแต่เล็กนั้นไม่ได้
3.พฤติกรรมเอาแต่ใจจนกระทั่งเริ่มควบคุมตนเองไม่ได้ ส่งเสียงดังเอะอะ ให้ใช้วิธีที่เรียกว่าขอเวลานอกคือ time out นั่นคือเอาเขาออกจากตรงนั้น ไปนั่งสงบมุมสักที่ บอกเขาว่าอารมณ์ดีค่อยออกมา
ทั้ง3กรณี บ้านแต่ละบ้านคิดต่างกันเป็นธรรมดา จะใช้วิธีไหนกับพฤติกรรมอะไรระดับไหนบ้านใครก็บ้านมัน แต่ที่พ่อแม่ต้องทำคือ "เอาจริง"
สามขวบเอาไม่อยู่ สิบสามจะไปเหลืออะไร



  บทแทรก : มีคำถามที่พบบ่อย
"ทำเพิกเฉยหรือtime outอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ลูกงอแงไม่ยอมเลิก ร้องไห้ไม่ยอมหยุด จะเอาๆให้ได้"
คำตอบคือท่านยังเอาจริงไม่พอ สีหน้า ท่าทาง คำพูด ไม่เอาจริง ข้อน่าดีใจคือลูกของท่านฉลาดพอจะรู้ว่าท่านไม่แน่จริง:) หวั่นไหวง่าย จะเลิกงอแงอยู่แล้วก็สังเกตเห็นว่าท่านเริ่มลังเล อย่ากระนั้นเลยงอแงต่อดีกว่า
หลายครั้งท่านไม่ให้สิ่งที่เขาต้องการก็จริงแต่จะให้อย่างอื่นชดเชย ชดเชยอะไร ชดเชยความรู้สึกผิดของตนเองที่ใจร้ายกับลูก เช่นเดิม ข้อน่าดีใจที่ลูกของท่านฉลาดพอที่จะเห็นและเล่นสนุกกับท่านต่อไป:) แม่แบบนี้ของหมูๆจัดการง่ายมาก
หลายครั้งเพราะมีผู้ใหญ่คนอื่นแทรกแซง หากรักลูก จัดการผู้ใหญ่คนนั้นให้ได้ ลูกของเราต้องอยู่บนโลกอีกนาน นานกว่าผู้ใหญ่ที่มาแทรกแซง ดังนั้นเขาจะควบคุมตนเองไม่เป็นแบบนี้ไม่ได้
ขอให้รู้ว่าเราจะเจ็บปวดทุกครั้งที่ใจแข็ง เรื่องนี้ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ คุณแม่ต้องทนความเจ็บปวดให้ได้
ขอให้รู้ว่าเด็กที่ควบคุมตนเองไม่ได้ ในอนาคตจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ และซึมเศร้าง่าย และมาพบจิตแพทย์
การเพิกเฉยหรือtime outได้ผลร้อยเปอร์เซนต์ เรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์ ทดลองและวิจัยมามากมายแล้ว มีทฤษฎีรองรับชัดแจ้ง ทำให้ได้ ดีกว่าทำโทษด้วยวิธีอื่น



  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 44 : นอกเหนือจากการทำtime outคือlimit setting
เมื่อพ่อแม่ใช้วิธีเพิกเฉย(ignore)อย่างเดียวไม่ได้ผล เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ก็ถึงเวลาขอเวลานอก(time out) บางครั้งเด็กไปถึงระดับไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ ก็ต้องทำการจำกัดขอบเขต (limit setting)
การจำกัดขอบเขตต้องการสีหน้าและคำพูดที่ "เอาจริง" ของพ่อแม่มากกว่าและเพิ่มเติมกติกาบางประการ ส่วนใหญ่จะใช้กับพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น การตีหรือเตะพ่อแม่หรือบุคคลอื่นๆ การทำลายข้าวของ การผรุสวาทคำหยาบคาย
การจำกัดขอบเขตอย่างง่ายที่สุดคือ "การแตะหรือจับเด็กเพื่อหยุดพฤติกรรมนั้นทันที" และการพูดอย่างจริงจังว่า "แม่ไม่อนุญาต"
พ่อแม่ที่ไม่สามารถจำกัดขอบเขตให้ลูกได้ มักเกิดจาก 1. เหยาะแหยะไม่เอาจริง 2. ให้สินบนลูกโดยไม่รู้ตัว "ไม่ทำนะๆ ลูกจ๋า" แล้วให้อย่างอื่นทดแทน 3. พ่อแม่ไม่ลงรอยกัน คนหนึ่งเอาจริง คนหนึ่งหยวนๆ 4.ปู่ย่าตายายแทรกแซง
ในวัฒนธรรมตะวันตกการจำกัดขอบเขตหมายความตรงตัวคือตัดทรัพยากรหรือขอบเขต และใช้ได้ถึงวัยรุ่นได้ด้วย เช่น การกักบริเวณ การตัดค่าใช้จ่าย การตัดชั่วโมงอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งความจริงจังของพ่อแม่ทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่ยอมรับข้อกำหนดที่พ่อแม่วางไว้(น่าแปลกใจที่วัยรุ่นบ้านเขายินยอมให้พ่อแม่ทำ คำอธิบายคือสายสัมพันธ์และตัวตนดี)
พ่อแม่ต้องบอกเหตุผลที่เราจำกัดขอบเขตสั้นๆ แต่ไม่ต้องอธิบายยืดยาว
ในการ์ตูนเรื่อง TITAN มนุษย์สร้างกำแพงยักษ์เทียมฟ้าเพื่อจำกัดขอบเขตยักษ์กินคน



  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 45 : สรุปเรื่องการให้รางวัล-การเพิกเฉย-การทำโทษ
เด็กเล็กมีหน้าที่เล่นและเรียนรู้ ถึงวันที่เขาทำอะไรได้ เขาจะลองทำเสมอ ถ้าทำแล้วได้รับคำชมเขาจะทำอีกและภูมิใจ ถ้าทำแล้วถูกห้ามเขาจะทำซ้ำเพื่อทดสอบให้แน่ใจว่าจะห้ามจริงหรือเปล่า ถ้าห้ามไม่จริงเขาทำซ้ำอีก
เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรตกลงกันให้ดี อะไรได้ อะไรไม่ได้ อะไรให้ อะไรไม่ให้ อะไรอนุญาต อะไรไม่อนุญาต สองคนไม่ทำเด็กสับสน จะสอนอะไรก็สอนให้สม่ำเสมอ หลักกว้างๆคืออะไรให้ได้ก็ให้ไป อะไรไม่ได้ก็พูดให้ชัด ทำให้ลูกรู้ว่าเราสองคนคือผู้กำหนดกติกา ใหญ่สุดในบ้าน ไม่ต้องมาต่อรอง
ที่ชอบทำกันคือพูดว่าไม่ในตอนแรกพอเด็กออกอาการก็ตามใจทุกครั้ง เด็กก็จะเรียนรู้ว่า "เป็นธรรมดาที่พ่อแม่ต้องห้ามก่อน เดี๋ยวดื้อเสียอย่างก็จะได้ทุกครั้งไป"
เรื่องที่ต้องคอยบอกคอยสอนคือวินัยในการจัดการชีวิตตนเอง(อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว เก็บของเล่น เข้านอน เวลาที่ใช้ในการดูทีวี เวลาที่ใช้ในการเล่นเกม) มีที่ต้องคอยเตือนคือกติกาสาธารณะ(เล่นบนโต๊ะอาหาร ดิ้นพราดๆกลางห้าง ส่งเสียงเอ็ดตะโรในที่ที่ไม่ควร) และมีที่ต้องคอยห้าม(ทำลายข้าวของ ตีปู่ย่าตายายพ่อแม่พี่น้องหรือคนอื่น ตีอกชกหัวตัวเอง) พฤติกรรมเหล่านี้ถ้าพ่อแม่พูดตรงกัน มีความสม่ำเสมอ และ"เอาจริง" ครั้งสองครั้งก็ได้ผล ถ้ามีปัญหาเรื้อรังส่วนใหญ่เพราะพ่อแม่ไม่เอาจริง หรือไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ลงรอยกันเอง เรื่องเหล่านี้ทำดีๆแต่แรกอะไรๆก็จะง่ายในภายหลัง
ในกรณีที่เด็กตีพ่อตีแม่หรือตีญาติ เราต้องหยุดทันที และสอนอย่างจริงจัง จากนั้น time out หรือ limit setting สมัยโบราณเราตี สมัยใหม่ไม่ตีก็ต้องใช้วิธีอื่นให้เป็น
เด็กๆมีหน้าที่ดื้อ เพราะเขามีทั้ง Autonomy และ Initiation เป็นพัฒนาการเพื่อเรียนรู้กติกาส่วนเรามีหน้าที่สอน มิเช่นนั้นจะถูกหาว่าพวกพ่อแม่ไม่สั่งสอน



  เลี้ยงลูกให้ดีเพื่อส่งต่อโรงเรียนตอนที่ 46 : สรุปตอนที่ 1-45 อีกทีก่อนไปต่อ
ตั้งแต่เกิดจนถึงประมาณ 5-7 ขวบ ลูกของเรามี "ภารกิจ" ที่ต้องทำให้ลุล่วงเยอะมาก และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะช่วยเขา หากไม่มีพ่อแม่ก็ขอเป็นมนุษย์สักคนหนึ่ง
มาดูว่ามีอะไรบ้าง
ลูกของเราต้องเรียนรู้ที่จะไว้ใจโลก-trust มีภาพคุณแม่ที่ชัด-object constance สร้างสายสัมพันธ์กับแม่-attachment มีตัวตน-self แยกตนเองเป็นบุคคลอิสระ-separation มีautonomy มีinitiation มีself-esteem มีความสามารถในการแข่งขัน-ต่อรอง-ร่วมมือกับเพื่อน compete-compromise-coordinate สมองพัฒนาวิธีคิดไปตามลำดับชั้นจาก animism-egocentric-magic-phenomenalistic causalty-placement& displacement-space& time และมีวินัยในการควบคุมตนเอง-เรียนรู้กติกา-ไม่รบกวนสาธารณะ-ไม่ทำร้ายคนอื่น
เหล่านี้คือการเตรียมความพร้อมก่อนส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียนเต็มรูปแบบเมื่อป.1
พ่อแม่ทำทั้งหมดนี้ ทำง่าย คือ 1. เลี้ยง 2. เล่น 3. ให้รางวัล-เพิกเฉย-ทำโทษ ทำสม่ำเสมอ อดทน มั่นคง ผู้ใหญ่พูดตรงกัน ง่ายมาก ไม่อยากรู้วิชาการก็ไม่ต้องรู้ แต่ทำ
โรงเรียนตั้งอยู่ที่ปลายขอบด้านโน้น มีทางต้องเดินและทางให้วิ่งเล่นอีกหลายโค้งกว่าจะไปถึง มิใช่เดินได้ปุ๊บก็จับเรียนหนังสือปั๊บ
ฟินแลนด์ อนุญาตให้เด็กๆไป รร เมื่อ 7 ขวบ นั่นคือคุณครูรับเด็กที่มีความสามารถที่จะทำตาม-conform กติกา และสามารถเรียนได้แล้ว มิใช่ได้ไปแต่เด็กดื้อ งอแง ไม่พร้อมสักอย่าง กดดันให้เรียน เรียนได้ก็เสีย เรียนไม่ได้ก็เสีย เสียหายทุกฝ่าย



  เลี้ยงลูกให้ดีเพื่อส่งต่อ รร ตอนที่ 47 : เรื่องกินข้าวเป็นปฐมบท ทารกเกิดมาก็งาบไปเรื่อยตามใจตัว วันหนึ่งเขาจะพบว่าเขาทำตามใจตัวไม่ได้ทุกครั้งไป
ก่อนไป รร เด็กๆควรดูแลตนเองได้ระดับหนึ่ง สามารถทำตามกติกากลางระดับหนึ่ง และปะทะสังสันทน์กับเพื่อนๆได้ คือทะเลาะได้ ดีได้ แล้วเล่นด้วยกันต่อได้
จะเป็นเช่นนี้ได้เมื่อแม่พ่อต้องมี 2 อย่าง 1. ความสม่ำเสมอ(consistency)และ 2. ร่วมมือกัน(coordination)
ความสม่ำเสมอ หมายถึง จะสอนอะไรก็ให้สอนเช่นนั้นทุกครั้ง คงเส้นคงวา ไม่กลับไปกลับมา เช่น ห้ามเล่นบนโต๊ะอาหาร ก็คือห้ามเล่นไม่ว่ามื้อไหน ที่ไหน หรือเวลาอะไร และไม่เดินป้อน กินบนโต๊ะให้เสร็จ เก็บเป็นเก็บ มิใช่ว่าวันไหนพ่อแม่อารมณ์ดีก็อย่าง อารมณ์ไม่ดีก็อีกอย่าง
ร่วมมือกัน หมายความว่าพ่อแม่พูดตรงกันในวินัยเดียวกัน มิใช่พ่อพูดอย่างแม่พูดอย่างแล้วขัดกันต่อหน้าลูก เช่น แม่อยากจะเอาจริงเรื่องกติกาในการนั่งกินข้าว พ่อหยวนๆจะเดินป้อนข้าว
เด็กๆเรียนรู้ได้ว่าพ่อแม่จะเอางัย กติกาสังคมอยากให้เขาทำงัย แต่เราต้องชัดว่าจะให้เขาทำงัยด้วย มิใช่ส่งข่าวสารที่ขัดแย้งกันเองให้เขาตลอดเวลา วันนี้อย่าง พรุ่งนี้อย่าง แม่อย่าง พ่ออย่าง หากเราชัดเจนกับเรื่องกินข้าว เรื่องอื่นก็ง่ายหมด หากส่งข่าวสารให้เขาว่าเราเหยาะแหยะ ต่อรองก็จะได้ หรือเราพูดไม่ตรงกันเลย อยากได้ให้ไปเข้าอีกทาง เช่นนี้โตขึ้นก็จะลำบากมากขึ้นทุกที
กับแค่นั่งกินข้าวทำไม่ได้ ขอให้หยุดเล่นเกมยากกว่าหลายเท่า



  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 48 : พ่อแม่ไม่ใช่นักวิชาการและไม่จำเป็นต้องทำถูกทุกเรื่อง พวกเราทำถูกบ้างผิดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ที่สำคัญกว่าอะไรถูกอะไรผิดคือความสม่ำเสมอ (consistency) และการลงรอยกันต่อหน้าลูก (coordination)
หากพ่อแม่จะเห็นไม่ตรงกันในวินัยที่จะกำหนดให้เขา เข้าห้องประชุมตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนออกมา มิใช่มาขัดแย้งกันต่อหน้า นอกจากลูกจะไม่รู้ว่าพวกคุณจะเอางัยกันแน่ เขายังอาจจะฉลาดพอที่จะดราม่าและเล่นการเมืองอีกด้วย
อย่ากังวลว่าใครถูกใครผิด ผลัดกันบ้าง หากสามัญสำนึกไม่แย่มาก ยังงัยถูกก็มากกว่าผิด ที่สำคัญกว่าถูกผิดคือพ่อแม่ร่วมมือกันอย่างสม่ำเสมอ คำสอนจึงจะทรงพลัง ลูกจะรู้ว่าคำสอนของพวกคุณปฏิเสธไม่ได้
ศตวรรษที่ 21 ไม่มีใครฟันธงได้ง่ายนักว่าอะไรถูกหรือผิด "ขอซื้อรองเท้าใหม่" จะให้มั้ย "ขอมือถือใหม่" จะให้มั้ย "ขอเล่นเกมออนไลน์วันละ2ชม" จะให้มั้ย พ่อแม่พูดให้ตรงกันถูกบ้างผิดบ้าง แต่ตรงกัน ลูกจะพัฒนาได้ดีกว่าและรู้ควรไม่ควรเองทีละเล็กทีละน้อย



  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 49 : จริยธรรม-ethics ไม่ใช่ศีลธรรม-moral
จริยธรรมเป็นทักษะ-skills ที่ต้องการการฝึกฝน จริยธรรมหมายถึงการคำนึงถึงผู้อื่น ส่วนรวม และการอยู่ร่วมกัน
พัฒนาการทางจริยธรรมของKohlbergสรุปได้สั้นๆว่าเด็กอายุ 1-7 ขวบกลัวถูกทำโทษ
อายุ 7-14 ชอบได้รางวัล
และมากกว่า 14 จะทำความดีเพราะเป็นเรื่องที่ดี
ทฤษฎีนี้บอก (imply) อะไรให้เราบ้าง?
1. การทำโทษเด็กก่อน 7 ขวบได้ผล(รวมถึงการชักสีหน้าหรือน้ำเสียงที่เอาจริง) จะได้ผลขึ้นกับความจริงจังของพ่อแม่(ซึ่งมิได้แปลว่าต้องรุนแรงและไม่มีความจำเป็นต้องตีเลย) ทำทันทีที่เห็นเหตุการณ์(มิใช่ว่ารอกลับไปบ้านก่อนแล้วค่อยทำ)
2. ถ้าทำ 2-3 ครั้ง ไม่ได้ผลให้รู้ว่าจะไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะพ่อแม่ทำเหยาะแหยะไม่เอาจริง การทำโทษครั้งต่อไปกลับจะเป็นเหตุให้เด็กชาด้าน และรู้วิธีจัดการพ่อแม่
3. โรงเรียนก็เช่นกัน การตีเด็กหรือการประจานเด็กหลัง7ขวบมักไม่ได้ผลอีกแล้วนอกจากทำให้ชาด้านไปจนถึงสร้างความโก้เก๋และเป็นฮีโร่ให้แก่เด็กโดยไม่รู้ตัว
4. การให้รางวัลเป็นวิธีที่ดีและควรทำอย่างสม่ำเสมอทีละเล็กละน้อยไปจนกระทั่งเด็กค่อยๆเปลี่ยนสภาพรางวัลจากวัตถุที่ได้หรือแม้กระทั่งคำชมเชยเป็นนามธรรมที่มองไม่เห็น มีแต่เขาที่รู้สึกได้เอง นั่นคือคนเราทำดีเพียงเพราะควรจะทำ ไม่ต้องมีรางวัลและคำชมอีกต่อไป
ฝึกจริยธรรมมิใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อส่วนรวมที่อยู่ร่วมกัน ส่วนรวมดี ตนเองก็ดีตาม



  บทแทรก :
Kohlberg ใช้คำว่า moral development แต่เนื้อหาพูดถึง ethics ซึ่งคำไทยเรียกว่าจริยธรรม มากกว่าที่จะพูดเรื่องศีลธรรม คำว่า ethics มาจากภาษากรีก หมายถึง custom หรือ ขนบ จึงเป็นเรื่องของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ประพฤติตนให้ดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ส่วนรวมดี ปัจเจกรวมทั้งตัวเองก็ดีด้วย
ไปญี่ปุ่น การเข้าคิว การไม่พูดโทรศัพท์ในรถไฟ การคัดแยกขยะ การไม่ทิ้งขยะ ฯลฯ เหล่านี้เป็นจริยธรรมต่อส่วนรวม ทำให้ดีต่อตนเองไปด้วยกัน เด็กญี่ปุ่นถูกฝึกจริยธรรมแต่เล็ก จริยธรรมเป็นเรื่องของส่วนรวม ชินโตเน้นการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่งรวมทั้งภูตผี
การทำโทษเด็กด้วยการประจานหรือเฆี่ยนตีแล้วถ้าไม่ได้ผลใน1-3ครั้งมักทำให้เกิดการเสริมแรงทางลบ พฤติกรรมที่ไม่ดีจะถูกเสริมแรงให้หมุนวนลงนรก ไปในทิศตรงข้ามกับการให้รางวัลซึ่งเป็นการเสริมแรงทางบวก เด็กจะเรียนรู้ 2 อย่าง
1. ทำเรื่องไม่ดีได้รับความสนใจจากทุกคน ดีกว่าทำดีแล้วไม่มีใคร(คือพ่อแม่)ใส่ใจ
2. เซลฟ์เอสตีม(self-esteem)เรียนรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง กล่าวคือสามารถทำให้ตัวเองถูกประจานอย่างโก้เก๋ได้ทุกครั้งที่ต้องการ
พฤติกรรมไม่ดีที่ควรจะเป็นเรื่องของส่วนรวมกลับกลายเป็นเรื่องของคนคนเดียวไปในที่สุด


  เลี้ยงลูกให้ดีๆเพื่อส่งต่อโรงเรียน ตอนที่ 50 : "การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อความเจ็บปวดของการอยู่เฉยๆมีมากกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง" การสั่งให้เด็กอยู่นิ่งๆจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล
เด็ก 2-5 ขวบพัฒนาตนเองด้วย Autonomy และ Initiation นั่นคือ "หนูทำได้ๆ" และ "หนูจะลองๆ" เด็กที่พบว่าตนเองทำอะไรไม่ได้หรือถูกห้ามอยู่ตลอดเวลาจะลังเลและสงสัยความมีอยู่ของตนเอง (Doubt) และรู้สึกผิด (Guilt) ที่ตนเองทำอะไรไม่ได้ เด็กที่ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองไม่ได้จะรู้สึกผิดด้วยเช่นกัน
ความลังเลทำให้พัฒนาการล่าช้า ความสงสัยความมีอยู่ของตนเองทำให้ตัวตนสั่นคลอน และความรู้สึกผิดจะเป็นรากฐานของอารมณ์เศร้า
ในทางตรงข้ามหากเด็กๆได้รับเสรีภาพในการเล่นและทดลองนั่นนี่อย่างปลอดภัย เขาจะพุ่งไปข้างหน้าทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และความคิด(cognition)
ความคิดที่สำคัญและเป็นแรงผลักดันให้เด็กไม่อยู่นิ่งและเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆคือเซลฟ์เอสตีม(self-esteem) ซึ่งแปลว่าการรับรู้ว่าเราทำได้และชีวิตของเราเราทำอะไรได้บ้าง
ภาพจากเพจnorthup.org

ที่มา   ::   น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์