การจัดฟัน คืออะไร มีกี่แบบ ข้อดี/เสีย
การจัดฟันคืออะไร?
การจัดฟัน (Orthodontic treatment) เป็นการเคลี่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านความสวยงามและการทำหน้าที่
โดยอาศัยเครื่องมือบางชนิด ซึ่งมีทั้งแบบถอดได้และแบบที่ยึดติดอยู่กับตัวฟันแบบที่อยู่ในช่องปากและแบบที่อยู่นอกช่องปากแบบที่มีสีจากโลหะและแบบที่มีสีเดียวกับฟันธรรมชาติ
การจัดฟันยังรวมไปถึงการแก้ไขลักษณะนิสัยที่ผิดปกติในการบดเคี้ยว การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของขากรรไกรอีกด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านความสวยงาม และการทำหน้าที่
ทำไมต้องจัดฟัน?
การจัดฟันเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาฟันเก ฟันซ้อน ฟันห่าง ฟันเหยินได้ และปัจจุบันก็เป็นที่นิยมทำกันมาก
การมีฟันเก ฟันห่าง ฟันที่เรียงซ้อนกัน หรือฟันที่สบกันไม่พอดี อาจจะส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับขากรรไกรที่ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร ทำให้ประสิทธิภาพในการเคี้ยวอาหารลดลง และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำความสะอาด ส่งผลต่อสุขภาพของเหงือกและฟันตามมา ซึ่งสาเหตุของฟันที่สบกันไม่พอดีนี้อาจมาจากนิสัยบางอย่าง เช่น การชอบดูดนิ้วตอนเด็ก การถอนฟันแท้ในช่วงก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ หรือเกิดจากพันธุกรรม
ดังนั้น การจัดฟันจึงมีผลดีต่อสุขภาพช่องปากและฟัน เพราะเมื่อฟันเรียงตัวกันอย่างมีระเบียบ การทำความสะอาดจะง่ายขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุ และโรคเหงือก
นอกจากนี้ ฟันที่สบกันสนิทจะทำให้เคี้ยวอาหารได้อย่างละเอียด ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการพูดที่เกิดจากการสบของฟัน
การจัดฟันทำโดยการติดเครื่องมือจัดฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดลงไปที่ฟัน ทำให้ฟันเกิดการเคลื่อนย้ายไปในทิศทางที่ต้องการและค่อยๆ ขยับเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการสบกันระหว่างฟันบนกับฟันล่างด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและสุขภาพของช่องปากและฟัน
นอกจากนี้การจัดฟันยังช่วยเพิ่มความสวยงามของฟัน ทำให้พูดหรือยิ้มได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
ประเภทของการจัดฟัน
ประเภทของการจัดฟัน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- การจัดฟันแบบใช้เหล็กดัด
- กับการจัดฟันโดยไม่ใช้เหล็กดัด แต่จะใช้เป็นพลาสติกใสๆ ครอบไปที่ตัวฟันแทน
โดยที่เราจะเปลี่ยนชิ้นพลาสติกนี้ไปเรื่อยๆ ฟันก็จะขยับไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องมีเหล็กดัดติดอยู่ที่ฟันของเรา การจัดฟันแบบนี้เรียกว่า การจัดฟันแบบใส Invisalign
ข้อดี
- การบดเคี้ยวอาหาร การจัดฟันจะทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ดียิ่งขึ้น และย่อยอาหารได้ดียิ่งขึ้น กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป เนื่องจากการบดเคี้ยวเป็นขั้นแรกในการย่อยอาหาร
- ทำให้ปัญหาต่างๆ ทางทันตกรรมลดลง
ฟันซ้อนเกจะทำให้เราทำความสะอาดหรือแปรงฟันได้ยาก และไม่ทั่วถึง ส่งผลให้มีคราบอาหารและคราบจุลินทรีย์รวมทั้งหินปูนมาเกาะจับที่ตัวฟันอยู่เยอะ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุและโรคเหงือกได้
ฟันซ้อนเกจะทำให้เมื่อเราใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหารประจำวัน จะเกิดการสึกของฟันในตำแหน่งที่ไม่ควรจะเกิด ทำให้การสบฟันผิดจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็น จึงส่งผลให้ยิ่งนานไป ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อตัวฟัน เหงือกและข้อต่อขากรรไกร
- ความสวยงาม การจัดฟันจะทำให้ฟันเรียงตัวสวยงาม เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพและเพิ่มความมั่นใจแก่ตัวเองอีกด้วย
ข้อเสีย
1. ฟันผุ เหงือกอักเสบ เนื่องจากการที่เรามีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในช่องปาก จะทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้ง่าย ผู้ที่จัดฟันจึงควรแปรงฟันอย่างสะอาดทั่วถึงหลังจากมื้ออาหารทุกมื้อ
2. อาการแพ้สาร ที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือจัดฟัน บางคนแพ้สารนิเกิลที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือจัดฟัน แต่พบได้น้อยมาก
3. อาการเจ็บ พบได้เกือบทุกคนที่จัดฟัน อาการเจ็บนี้มักเกิดจากการเคลื่อนตัวของฟัน หรือเกิดจากเครื่องมือจัดฟันไปทิ่มกับเนื้อเยื่อภายในช่องปาก อาการเจ็บจะเป็นในบางช่วงของการจัดฟันเท่านั้น
4. อาการปวดข้อต่อขากรรไกร อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการจัดฟัน เนื่องจากฟันเคลื่อนตัวไปในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมต่อการบดเคี้ยว
5. ฟันตายหรือรากฟันมีการละลายตัว พบได้ไม่บ่อยนักในผู้ที่มีการจัดฟัน อย่างไรก็ตามเราพบว่าในระหว่างการจัดฟันนั้น ฟันที่ตายไปแล้ว อาจจะย้อนกลับมามีชีวิตดังเดิมได้ และในคนปกติที่ไม่ได้จัดฟันรากฟันก็จะมีการละลายตัวได้เองอยู่แล้ว
เมื่อไหร่จึงเริ่มจัดได้
การจัดฟันสามารถกระทำได้ทั้งในเด็กที่ฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบและในผู้ใหญ่ที่ฟันแท้ขึ้นครบทุกซี่แล้ว ทั้งนี้อาจจะมีจุดมุ่งหมายและข้อจำกัดแตกต่างกันออกไปบ้าง
การจัดฟันในเด็กอาจจะมีผลทำให้รูปหน้าและรูปร่างของกระดูกขากรรไกรเปลี่ยนแปลงไปได้
ในขณะที่ในผู้ใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะการเรียงตัวของฟันเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของใบหน้าได้มากนักและมีข้อจำกัดต่างๆมากกว่าในเด็ก
ในบางครั้งการจัดฟันเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขการสบฟันและรูปร่างใบหน้าให้สมบูรณ์ได้ จึงต้องมีการถอนฟันออกไปบางซี่ หรือในรายที่มีความผิดปกติรุนแรง อาจจะต้องทำการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกร (Orthognathic surgery)
ขั้นตอนทั่วไปในการจัดฟัน
- X-Ray โครงสร้างฟัน
- พิมพ์ปาก แยกฟัน
- ติดเครื่องมือในสัปดาห์ต่อมา จากนั้นจะนัดพบทันตแพทย์จัดฟัน ทุก 3 - 4 สัปดาห์ ต่อครั้ง จนกระทั่งสภาพฟัน เป็นที่น่าพอใจ ใช้เวลาประมาณ ปีครึ่ง - 2 ปี จึงถอดเครื่องมือ
- ใส่ Retainer 9 ต่อจนฟันคงสภาพในตำแหน่งที่จัดอีก 1-2 ปี ซึ่งจะนัดตรวจเป็นระยะ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี
ระยะเวลาที่ต้องใช้
ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟันนั้น จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉลี่ยการจัดฟันแบบติดแน่นนั้นใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2.5 ปี แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟันแตกต่างกันไป ดังนี้
- ผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า มักจะใช้ระยะเวลาในการจัดฟันมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า
- การจัดฟันที่มีการถอนฟันร่วมด้วย มักจะใช้เวลาในการจัดฟันมากกว่าการจัดฟันที่ไม่มีการถอนฟันร่วมด้วย
- การจัดฟันที่มีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย มักจะใช้เวลามากกว่าการจัดฟันที่ไม่มีการผ่าตัดขากรรไกร
- การผิดนัดบ่อยๆ ย่อมทำให้เวลาในการจัดฟันนานขึ้น
- การไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง เช่น การใส่ยางหรือการใส่เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ ย่อมทำให้เวลาในการจัดฟันมากขึ้น
- การรับประทานอาหารโดยการไม่ระมัดระวัง จะทำให้เหล็ก ยางหรือลวดจัดฟันหลุด หรือเสียหาย ย่อมทำให้ระยะเวลาในการจัดฟันมากขึ้น
ความสำเร็จในการจัดฟัน
การใส่เครื่องมือบางชนิดในช่องปากด้วยตัวเองจนถึงการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainer) หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ถ้าปราศจากการร่วมมือที่ดีจากผู้ป่วยแล้ว การจัดฟันอาจจะใช้เวลานานกว่าปกติและไม่ประสบผลสำเร็จ หรือผลที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับ
- จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างสูงจากผู้ป่วยตั้งแต่การมาให้ตรงเวลานัดโดยทั่วไป
- จะต้องมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 3-4 สัปดาห์เพื่อทำการปรับเครื่องมือ
- การรักษาความสะอาดในช่องปาก
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว
- แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และรักษาความสะอาดฟันและช่องปากให้ดี
- ปฏิบัติตัวตามที่ทันตแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด เช่น การใส่ยาง การใส่ retainer การมาตามนัดที่กำหนด
- งดอาหารบางประเภท
- อาหารที่แข็งมาก เช่น อ้อย น้ำแข็ง
- อาหารเหนียว เช่น หมากฝรั่ง ตังเม เนื้อที่เหนียวมากๆ
- อาหารหวานจัด เช่น ลูกอม ช็อคโกแลต
Orthodontics , จัดฟันคืออะไร , จัดฟันมีกี่แบบ , การดัดฟัน , ข้อดีของการดัดฟัน , ข้อเสียของการดัดฟัน
CR :: https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/376