Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หางานในประเทศอังกฤษ

หางานในประเทศอังกฤษ



หางานอย่างไร? โดย คุณอดิศักดิ์ เพ็ชรสงค์






หางานอย่างไร??
 

มีเพื่อนคนไทยหลายท่านที่อยู่ในสหราชอาณาจักรโดยไม่ได้เดินทางเข้ามาเพื่อทำงานโดยตรง แต่เดินทางเข้ามาด้วยสาเหตุอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหตุผลทางครอบครัว เช่นแต่งงานกับชาวอังกฤษแล้วเดินทางมาอยู่กับคู่สมรส หรือติดตามคู่สมรสที่มาทำงานที่นี่ หากเดินทางเข้ามาเพื่อทำงานโดยตรง เช่น ได้วีซ่าทำงานเข้ามา แน่นอนว่าเรื่องการหางานอาจจะไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะท่านทราบแน่นอนว่าจะทำอะไร และที่ไหน แต่สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาด้วยสาเหตุอื่นดังกล่าว การหางานอาจจะเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยสังคมใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ และระบบใหม่ๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยยิ่งทำให้การหางานในสหราชอาณาจักรดูเป็นเรื่องยากกว่าการหางานทำในเมืองไทยหลายเท่านัก เนื้อหาในส่วนนี้มีจุดประสงค์ที่จะให้ความรู้เบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการหางานในสหราชอาณาจักร ถึงแม้จะไม่ใช่สูตรสำเร็จในการหางาน แต่เชื่อว่าจะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นให้แก่ท่านได้ ก่อนอื่นผู้เขียนขออนุญาตเริ่มต้นกล่าวถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ แล้วจึงตามด้วยข้อคิดก่อนที่จะลงมือหางานทำ หลังจากนั้นจะกล่าวถึงแหล่งงานต่างๆ ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนประวัติย่อ (CV)




ภาษาอังกฤษสำคัญที่สุด


ประการแรกที่ผู้เขียนอยากให้เป็นจุดเริ่มต้นของการหางานและใช้ชีวิตในต่างแดนก็คือ การพัฒนาตนเองด้านภาษาอังกฤษ ทันทีที่ท่านเดินทางเข้ามาในประเทศนี้ท่านอาจอยากจะเริ่มต้นหางานทำเพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัวหรือส่งไปช่วยเหลือครอบครัวที่เมืองไทยอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่เมื่อท่านตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ในที่นี่ในระยะยาว ภาษาอังกฤษย่อมเป็นเหมือนไฟส่องทางให้ท่านเดินก้าวไปในอนาคตได้อย่างมั่นคงและมั่นใจในทุกๆ ด้านรวมทั้งเรื่องงานด้วย และการหาความรู้ภาษาอังกฤษย่อมเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ก่อนอื่นควรสำรวจความรู้ภาษาอังกฤษของตัวท่านเองว่าอยู่ในระดับใด แล้วเลือกลงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษที่เหมาะสม ท่านอาจจะติดต่อกับโรงเรียนใกล้บ้านเพื่อสมัครเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ทางโรงเรียนจะให้ทำการทดสอบวัดความรู้ก่อน เพื่อจะได้แนะนำหลักสูตรให้เหมาะกับความรู้เดิม ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า “ภาษาอังกฤษสำคัญที่สุด” สำหรับคุณแม่บ้านที่แต่งงานกับชาวอังกฤษแล้วย้ายมาอยู่ในสหราชอาณาจักรตามคู่สมรส ขอให้ใช้ช่วงเวลาที่เพิ่งย้ายมาใหม่ๆ เรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เต็มที่ ผู้เขียนเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาทองของการเรียนภาษาอังกฤษเพราะคู่สมรสของท่านคงยังไม่คาดหวังให้ท่านออกไปหางานทำเต็มเวลา หรือส่วนใหญ่อาจจะไม่คาดหวังให้ท่านออกไปหางานทำเลยซะด้วยซ้ำ แถมอาจจะยังไม่มีภาระอื่นๆ เช่นมีลูก เป็นต้น การที่ท่านตั้งใจศึกษาหาความรู้ภาษาอังกฤษ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการแสดงให้คู่สมรสเห็นด้วยว่า ท่านมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้ใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักรกับเขาและครอบครัวได้อย่างมีความสุข
การเรียนภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องลงเรียนหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียนเต็มเวลา หากมีภาระความรับผิดชอบหลายอย่างท่านอาจจะลงเรียนหลักสูตรซึ่งใช้เวลาเรียนซึ่งเหมาะสมกับชีวิตประจำวันได้ เช่นเรียนเฉพาะตอนเย็น หรือเรียนสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองวัน เป็นต้น ข้อสำคัญคือไม่ควรอ้างว่า “ไม่มีเวลา” เพราะการเรียนเพียงสัปดาห์ละชั่วโมงหรือสองชั่วโมง คงไม่เป็นการยากเกินไป และก็เป็นการลงทุนที่จะให้ผลคุ้มค่าในอนาคตแน่นอน
คิด…ก่อนจะลงมือ
สำหรับท่านที่เห็นว่าการหางานทำจะดูเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัว ยุ่งยาก และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร การเริ่มต้นที่ตัวท่านเองน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ท่านควรถามตัวเองด้วยคำถามต่างๆ เพื่อช่วยให้ท่านเข้าให้ทั้งตัวเองและงานที่อยากจะทำได้ดีขึ้น เมื่อเข้าใจแล้วการหางานก็จะง่ายขึ้นมาก





• งานหรืออาชีพ?


แม้ว่าคำว่างานและอาชีพ อาจจะฟังดูเหมือนกันสำหรับหลายๆ คน แต่ทั้งสองคำนี้ก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ท่านต้องถามตัวเองว่าท่านมีความต้องการอะไรจากสิ่งที่ท่านจะทำ ต้องการทำงานเพียงเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว หรือต้องการมีอาชีพที่จะสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปในอนาคต? อยากทำงานเหมือนที่เคยทำในเมืองไทย หรือต้องการทำงานที่แตกต่าง ท้าทาย? ท่านพร้อมที่จะรับผิดชอบในงานมากน้อยแค่ไหน?
ในช่วงแรกๆ ท่านอาจจะอยากทำแค่งานบางอย่างเพื่อให้ได้เงินมาพอใช้พอจ่าย ในช่วงที่ท่านกำลังปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่และเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม บางท่านอาจจะเลือกทำงานในร้านอาหารไทยไปก่อน หลังจากที่ความรู้ภาษาอังกฤษของท่านดีในระดับหนึ่งแล้ว ค่อยคิดที่จะขยับขยายต่อไป
แต่ไม่ว่าท่านจะเลือกทำงานชั่วคราวอะไรในช่วงแรกนี้ ผู้เขียนขออนุญาตย้ำอีกครั้งว่า ในขั้นนี้ท่านจะต้องไม่ลืมว่าจะต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งหาความรู้ด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ผู้เขียนเห็นเพื่อนคนไทยหลายท่านเมื่อหางานทำได้แล้ว ก็ทำงานจนเพลินและลืมหรือไม่สนใจเรื่องการศึกษาหาความรู้ภาภาษาอังกฤษอีกแล้ว หลายปีผ่านไปท่านเหล่านั้นก็ยังทำงานเช่นเดิม ในตำแหน่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นงานร้านอาหารไทย งานในโรงงาน หรืองานทำความสะอาด ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่างานเหล่านั้นไม่ดีแต่อย่างใด แต่ในหลายกรณี ผู้เขียนรู้สึกเสียดายแทนเพื่อนคนไทยที่ได้พัฒนาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในงานที่ตัวเองทำจนถึงขั้นเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้จัดการ หรือผู้บริหารได้แล้ว แต่ความรู้ภาษาอังกฤษกลับเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เขาก้าวหน้าในอาชีพอย่างที่เขาควรจะเป็น ซึ่งเป็นการน่าเสียดายอย่างยิ่ง




• ท่านชอบทำอะไร?


อาจเป็นการง่ายที่จะหางาน หากทราบว่าท่านชอบอะไร แล้วมีงานอะไรที่ตรงกับสิ่งที่ชอบบ้าง แต่หากปัญหาหนึ่งคือยังไม่แน่ใจว่างานไหนที่เหมาะกับตัวท่านหรือทำแล้วมีจะความสุข ก่อนจะลงมือหางานทำ จึงควรศึกษาถึงคำบรรยายลักษณะงาน (job profile) ของงานประเภทต่างๆ ว่ามีลักษณะและความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ต้องใช้ทักษะและมีความสนใจอะไรบ้าง แล้วค่อยพิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้นเหมาะสมกับตัวท่านมากน้อยแค่ไหน โดยสามารถหาลักษณะของงานได้จากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น http://careersadvice.direct.gov.uk/ หรือ http://www.prospects.ac.uk/ เป็นต้น
แต่หากลองศึกษาข้อมูลดังกล่าวแล้วยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าสนใจงานประเภทไหนหรือยังไม่แน่ใจว่างานอะไรจะเหมาะกับท่านจริงๆ แล้วละก็ ลองใช้แบบทดสอบความสามารถและความสนใจ (skills and interests assessment) เพื่อเป็นเครื่องช่วยได้ แบบทดสอบเหล่านี้จะประเมินทักษะที่มี สำหรับทักษะบางอย่าง ตัวเองท่านเองก็อาจไม่เคยตระหนักว่ามีทักษะเหล่านี้อยู่เลยก็เป็นได้! นอกจากนี้แบบทดสอบยังสามารถจะเชื่อมโยงทักษะกับงานประเภทต่างๆ อย่างที่ท่านอาจจะคิดไม่ถึงมาก่อน! ลองทำแบบทดสอบเหล่านี้ได้ออนไลน์จาก:

http://northwest.careers-advice.org/helpwithyourcareer/skills/

หลังจากที่ลองทำแบบทดสอบแล้ว ท่านอาจจะได้ประเภทของงานที่อยากทำหรือมีความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดขอบเขตของงานที่จะมองหาต่อไปให้แคบลงมาได้ และยังช่วยให้ระบุคุณวุฒิและประสบการณ์ที่จำเป็นต่อทำงานนั้นๆ ได้ด้วย
สำหรับท่านที่เคยทำงานที่เมืองไทย และอยากทำงานในสาขาเดิมที่ประเทศอังกฤษ ควรหารายละเอียดต่างๆ ตรวจสอบดูว่าจะสามารถใช้คุณวุฒิและประสบการณ์ที่มีกับตำแหน่งงานในประเทศนี้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยหากท่านมีคุณวุฒิมาจากเมืองไทย ท่านสามารถเปรียบเทียบคุณวุฒิดังกล่าวในมาตรฐานของประเทศอังกฤษได้ โดยใช้บริการของ National Academic Recognition Information Centre (NARIC) แล้วค่อยพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มเติมอะไรบ้างหรือไม่ อย่างไร


• เงินเดือนและเรื่องอื่นๆ ?

ท่านจะต้องมองหางานที่เหมาะกับไลฟ์ไสต์ของท่าน เช่น ชั่วโมงทำงาน ระดับค่าจ้างเงินเดือน หรือจะต้องเดินทางมากน้อย ใกล้ไกล แค่ไหน?
 

• ท่านอยากทำงานกับใคร?

การเลือกรูปแบบขององค์กร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกงานที่ทำ หรือช่วยให้จำกัดขอบเขตในการหางานให้แคบลงได้ อาจจะต้องคิดถึงสิ่งที่ท่านอยากได้จากที่ทำงาน หรือแม้กระทั้งสิ่งที่ไม่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น
1. ทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ที่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ได้ในอนาคต
2. ทำงานกับบริษัทเล็กๆ ที่ให้โอกาสเรียนรู้งานทุกๆ ด้านของบริษัท
3. ทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียง
4. มีโอกาสได้ฝึกงาน
5. ทำงานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมในองค์กรที่ท่านชอบ
6. บริษัทนั้นอยู่ใกล้บ้าน สะดวกต่อการเดินทาง ฯลฯ
เมื่อหาคำตอบให้กับสิ่งต่างๆที่ท่านต้องการหรือไม่ต้องการจากที่ทำงานได้แล้ว ท่านอาจจะสามารถเลือกบริษัทหรือที่ที่คิดว่าอยากจะทำงานด้วยได้


 

• ตำแหน่งชั่วคราวหรือถาวร?

ท่านควรตัดสินใจว่าอยากจะทำงานในตำแหน่งชั่วคราวหรือถาวร โดยคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ เช่น อาจจะอยากทำงานชั่วคราวเพราะมีแผนจะเดินทางกลับเมืองไทยในระยะเวลาอันใกล้ หรืออยากทำงานชั่วคราวเพราะจะได้ลองทำงานเพื่อให้ได้ประสบการณ์ในสาขาที่แตกต่างกัน เป็นต้น

 

จะหางานได้ที่ไหน?

หลังจากที่ตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับงานที่อยากทำแล้วก็ถึงขั้นลงมือหางานจริงๆ ตำแหน่งงานมีประกาศไว้ในหลายๆ สื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ศูนย์จัดหางาน Jobcenter ทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ การมองหางานจาก หลายๆ สื่อจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการหางานของท่านให้มากขึ้น
 

 หนังสือพิมพ์


ท่านอาจจะมองหาตำแหน่งงานได้จากหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่ขายทั่วประเทศ เช่น The Times หรือ The Mirror หรือจะเป็นหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นซึ่งอาจจะเป็นรายวัน หรือรายสัปดาห์ โดยสามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้จาก เว็บไซต์ของสมาคมหนังสือพิมพ์ที่ http://www.newspapersoc.org.uk/
 

 ศูนย์จัดหางาน (Jobcentres)


ศูนย์จัดหางานเป็นองค์กรของรัฐที่ช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับการจัดหางานและให้บริการเกี่ยวกับสวัสดิการทางสังคม โดยมีบริการหลักๆ ที่เกี่ยวกับการหางานคือ
• ป้ายประกาศหางาน ซึ่งจะลงประกาศตำแหน่งว่างและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับงานนั้นๆ
• ฐานข้อมูลตำแหน่งงาน (Jobpoints) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์แบบจอสัมผัสที่รวบรวมตำแหน่งงานไว้ให้ท่านเลือก
• สายด่วนเพื่อคนหางาน (Jobseeker Direct) บริการทางโทรศัพท์ที่สามารถใช้เพื่อค้นหารายละเอียดของตำแหน่งงานว่าง ขอใบสมัคร หรือนัดวันสัมภาษณ์ได้ (โทร 0845 60 60 230)
เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์จัดหางานสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งงานที่เหมาะกับความต้องการและคุณสมบัติของท่านได้ ไม่ว่าท่านจะหางานเป็นครั้งแรกหรือต้องการเปลี่ยนงานก็ตาม นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมต่างๆ ของรัฐบาลที่สามารถเข้าร่วมได้ พร้อมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะจำเป็นสำหรับการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น บริการรับเลี้ยงเด็ก ระหว่างที่ท่านไปทำงาน โดยสามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์จัดหางานใกล้บ้านได้ที่
http://www.jobcentreplus.gov.uk/
 

 สำนักงานบริการด้านอาชีพ (Career Service)


สำนักงานบริการอาชีพมักจะลงประกาศตำแหน่งงานว่างให้กับนายจ้างในพื้นที่ให้บริการ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นตำแหน่งที่ต้องการคนทำงานเร่งด่วนหรืองานที่เป็นการฝึกงาน nextstep เป็นสำนักงานบริการด้านอาชีพที่ท่านสามารถใช้บริการได้ ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วสำนักงานเหล่านี้จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมตำแหน่งงานไว้โดยตรงอย่างเช่นศูนย์จัดหางาน แต่ส่วนใหญ่ทางสำนักงานจะมีการติดต่อกับบริษัทในพื้นที่อยู่เสมอ ดังนั้นจึงอาจจะมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่กำลังเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ท่านสามารถหาสำนักงาน nextstep ใกล้บ้านได้ที่ http://nextstep.direct.gov.uk/
 

 อินเตอร์เน็ต


อินเตอร์เน็ตนับเป็นแหล่งหางานที่สำคัญที่สุดอีกแหล่งหนึ่ง แต่ด้วยตำแหน่งที่มีอยู่มากมาย ทำให้การหางานในอินเตอร์เน็ตดูเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทรสำหรับบางท่านเลยทีเดียว เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหนและอย่างไร แนวทางต่อไปนี้อาจจะทำให้การค้นหางานทางอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้น
 

 เริ่มต้นด้วยเว็บไซต์จัดหางาน (Recruitment website)

เมื่อเริ่มต้นหางานทางอินเตอร์เน็ตครั้งแรก ท่านอาจจะลองตรวจสอบตำแหน่งงานจากเว็บไซต์หางานรายใหญ่ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่นเว็บไซต์ของ Jobcentre Plus, Reed, Adecco, Monster หรือ Total Jobs เพราะเว็บไซต์เหล่านี้จะมีตำแหน่งงานมากมายที่อาจจะตรงกับความต้องการของท่าน โดยจะจัดหมวดหมู่งานไว้อย่างเรียบร้อยชัดเจน ค้นหาง่าย และหากท่านมีความสนใจในงานหลายประเภทด้วยแล้ว เว็บไซต์เหล่านี้ก็จะสามารถให้ตัวเลือกได้มากกว่า

ข้อดีอีกประการหนึ่งของเว็บไซต์ใหญ่ๆ เหล่านี้ก็คือ ตำแหน่งงานจะได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอ ดังนั้นท่านจะมั่นใจได้ว่าตำแหน่งงานที่ประกาศจะมีความเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นตำแหน่งงานที่ประกาศไว้นานแล้วและทางบริษัทก็รับพนักงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเหมือนบางเว็บไซต์ ซึ่งหากท่านสนใจท่านอาจจะต้องเสียเวลาติดต่อโดยเปล่าประโยชน์ และอย่าลืมว่าเมื่อเจอเว็บไซต์ที่ท่านชอบ ควรบันทึกเว็บไซต์นั้นไว้ เพื่อที่จะได้กลับเข้าไปตรวจสอบตำแหน่งงานเป็นระยะๆ



 เยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง (Employer website)


หากท่านทราบว่าอยากจะทำงานกับบริษัทไหนเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะเป็นงานที่อยู่ใกล้บ้านหรือเป็นที่ทำงานที่ให้สวัสดิการดี ฯลฯ ท่านสามารถลองเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทนั้นๆ แล้วมองหาส่วนที่เกี่ยวกับการประกาศรับสมัครงาน บางเว็บไซต์อนุญาตให้สมัครรับอีเมล์แจ้งเมื่อมีการเปิดรับพนักงาน เพื่อที่ว่าท่านจะได้ทราบทันทีเมื่อเขาเปิดรับสมัครพนักงานใหม่
 

 สมัครรับอีเมล์แจ้งเตือนตำแหน่งว่าง (email alerts)


เว็บไซต์จัดหางานหลายๆ แห่ง ให้บริการอีเมล์แจ้งเตือนตำแหน่งว่าง โดยจะส่งอีเมล์แจ้งให้ท่านทราบเมื่อมีการเปิดรับสมัครพนักงานในตำแหน่งงานที่ท่านสนใจและตรงกับคุณสมบัติของท่าน ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมาก แต่สิ่งสำคัญคือท่านจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่สนใจให้มากที่สุด หลายๆ เว็บไซต์อนุญาตให้ระบุข้อมูลต่างๆ รวมถึงตำแหน่งงานที่ต้องการ พื้นที่ที่อยากทำงาน และระดับเงินเดือน การให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่ต้องการอย่างละเอียดชัดเจน จะทำให้ท่านได้รับเฉพาะมีเมล์ที่มีประโยชน์จริงๆ


 ตัวแทนจัดหางานเอกชน (Recruitment Agencies)


ตัวแทนจัดหางานเอกชนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการหางาน บริษัทผู้ต้องการจ้างงานบางบริษัทใช้บริษัทจัดหางานเหล่านี้เป็นช่องทางของการรับสมัครพนักงานใหม่ ดังนั้นบ่อยครั้งที่ตัวแทนฯ เหล่านี้มีตำแหน่งงานซึ่งไม่ได้ประกาศไว้ที่อื่น ตัวแทนฯ จะประกาศตำแหน่งงานไว้ในเว็บไซต์ หรือบางครั้งก็มีสำนักงานตามแหล่งชุมชนด้วย ตัวแทนฯ แต่ละแห่งจะทำหน้าที่จัดหางานให้บริษัทหรือกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นท่านควรจะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือไปที่สำนักงานของเขา แล้วดูว่าตัวแทนฯ นั้นๆ มีตำแหน่งงานในประเภทที่ท่านสนใจบ้างหรือไม่ แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเลือกใช้บริการของตัวแทนฯ ไหน
เมื่อท่านติดต่อกับตัวแทนฯ เหล่านี้ เขาจะสอบถามว่าท่านต้องการทำงานประเภทใดและมีคุณวุฒิและประสบการณ์อะไรบ้าง ท่านจะต้องเตรียมประวัติย่อ (CV) เพื่อที่ทางตัวแทนจะสามารถหางานที่เหมาะสมให้ท่านได้ นอกจากนี้เมื่อไปติดต่อที่สำนักงาน ท่านอาจจะถูกสัมภาษณ์หรือทดสอบในเบื้องต้น เช่นสมมติว่าท่านกำลังมองหางานในสำนักงานทั่วไป เขาอาจจะทดสอบเกี่ยวกับทักษะการพิมพ์ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทักษะการเขียนและพูด ฯลฯ หลังจากนั้นเขาอาจจะบอกได้ว่าจะสามารถหางานให้ได้หรือไม่ หากไม่ได้เขาอาจจะให้คำแนะนำว่าควรแก้ไขประวัติย่ออย่างไร ควรจะมีทักษะอะไรเพิ่มเติม หรืออาจจะแนะนำตัวแทนฯ อื่นที่อาจจะเป็นประโยชน์กับท่านได้

ตัวแทนฯ เหล่านี้มักจะรับสมัครพนักงานทั้งในตำแหน่งชั่วคราวและประจำ ดังนั้นถึงแม้ว่าท่านจะมองหางานประจำแต่ก็ไม่ควรมองข้ามงานชั่วคราว เพราะบ่อยครั้งผู้ที่เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งชั่วคราว แต่ทำงานเป็นที่พอใจของผู้จ้าง จึงได้รับบรรจุเป็นพนักงานประจำ หรือเมื่อมีการรับพนักงานประจำ บริษัทก็จะให้โอกาสพนักงานชั่วคราวก่อนที่จะประกาศรับบุคคลภายนอก

ปกติตัวแทนเหล่านี้จะทำหน้าที่หาพนักงานให้กับบริษัทต่างๆ และจะคิดค่าบริการจากบริษัทเหล่านั้น ดังนั้นท่านจึงไม่ควรที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการติดต่อหางาน ท่านสามารถหารายชื่อตัวแทนฯ เหล่านี้ได้จาก http://www.alec.co.uk/jobsearch/recruitment_agency_uk.htm
 นอกจากนี้ยังสามารถหาตัวแทนฯ ในพื้นที่ของท่านได้จากสมุดหน้าเหลือง หรือจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

 

 บอร์ดประกาศตามแหล่งชุมชน


หากท่านกำลังมองหางานชั่วคราว หรืองานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะสูง บอร์ดประกาศตามชุมชนก็อาจจะเป็นแหล่งงานที่ดีได้ บอร์ดเหล่านี้อาจจะมีอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ เช่น Tesco Asda หรือร้านขายของชำเล็กๆ ในชุมชนเช่น SPA ก็มีบริการบอร์ดประกาศนี้เช่นกัน งานส่วนมากจะเป็นงานประเภททำความสะอาด หรือดูแลผู้ใหญ่หรือเด็ก


ประวัติย่อ (Curriculum vitae หรือที่นิยมเรียกกันว่า CV)


เมื่อท่านต้องการสมัครงาน เอกสารที่จำเป็นที่สุดฉบับหนึ่งก็คือประวัติย่อ หรือที่รู้จักกันในนาม CV (ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำว่าซีวี แทน ประวัติย่อ) ท่านสามารถใช้ซีวีเพื่อส่งไปสมัครงานที่ต้องการสมัครโดยตรง หรืออาจจะใช้ยื่นให้ตัวแทนจัดหางาน เพื่อให้เขาตรวจดูว่ามีงานไหนที่เหมาะกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของท่านบ้าง ซีวีจะเป็นทั้งเอกสารที่แนะนำและโฆษณาตัวท่าน



ส่วนประกอบของซีวี


ข้อมูลส่วนตัว

1. ชื่อ
2. ที่อยู่
3. หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ และ/หรือ อีเมล์


เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่เข้มงวด ท่านจึงไม่จำเป็นต้องระบุข้อมูลบางอย่าง เช่นวันเดือนปีเกิด อายุ สถานภาพสมรส สุขภาพ เพศ สัญชาติฯลฯ เพราะหากผู้จ้างพิจารณาข้อมูลเหล่านี้จะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมาย ดังนั้นผู้จ้างจึงมักจะให้ความระมัดระวังและไม่ต้องการทราบข้อมูลดังกล่าว ยกเว้นว่าท่านมีเหตุผลที่ต้องระบุข้อมูลบางอย่างเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง เช่นหากสัญชาติมีผลต่อการอนุญาตให้ทำงาน ก็ควรระบุให้ชัเจน ยกตัวอย่างเช่น ระบุว่าขณะนี้ยังถือสัญชาติไทย แต่ได้รับการอนุญาตให้ทำงานได้เต็มเวลา เป็นต้น มีบ่อยครั้งที่ผู้จ้างต้องการรับสมัครพนักงานหญิง แต่มีผู้ชายยื่นใบสมัคร เขาก็รับพิจารณาและหากผู้ชายท่านนั้นสามารถแสดงความสามารถให้เขาเห็นจนเป็นที่พอใจในวันสัมภาษณ์ ก็อาจจะได้งานนั้นก็เป็นได้ นอกจากนี้รูปถ่ายก็ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องให้เช่นกัน ดังนั้นท่านไม่จำเป็นต้องติดรูปในซีวี หรือจดหมายสมัครงานแต่อย่างใด ยกเว้นว่าทางบริษัทผู้รับสมัครจะระบุไว้ (เนื่องจากสำหรับงานบางอย่างหน้าตามีความจำเป็นต่องาน เช่นงานการแสดง เป็นต้น)
เรื่องการให้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้มีความแตกต่างจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ท่านจึงควรตระหนักและปฏิบัติให้สอดคล้องกับแบบแผนการปฏิบัติของสหราชอาณาจักร


 
ประวัติการศึกษา


 ควรไล่เรียงคุณวุฒิ โดยเริ่มต้นจากคุณวุฒิที่ได้รับล่าสุดก่อน ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อคุณวุฒิ วันที่ที่ได้รับคุณวุฒินั้นและชื่อสถานศึกษา (ไม่จำเป็นต้องให้ที่อยู่เต็มของสถานศึกษา เช่นอาจจะบอกเพียงว่า Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand) อาจจะให้คำอธิบายเกี่ยวกับคุณวุฒิโดยคร่าวๆ หากเห็นว่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่กำลังจะสมัคร


ประสบการณ์


 เช่นเดียวกับประวัติการศึกษา ควรจะเรียงลำดับโดยเริ่มต้นจากประสบการณ์ทำงานล่าสุดก่อน อาจจะกล่าวถึงประสบการณ์ทำงาน งานอาสาสมัคร หรือประสบการณ์อื่นๆ โดยอาจจะมีทั้งประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร แต่ควรจัดกลุ่มของประสบการณ์ให้น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น จัดเป็นกลุ่มประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และประสบการณ์อื่นๆ หรืออาจจะจัดกลุ่มงานที่เหมือนๆ กันเข้าไว้ด้วยกัน เป็นต้น

ในการเขียนถึงประสบการณ์ทำงานนี้ ควรอธิบายเกี่ยวกับงานนั้นๆ เล็กน้อยว่าในขณะที่ท่านทำงานนั้น ท่านมีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง และได้พัฒนาทักษะอะไรจากงานที่ทำนั้นบ้าง พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำเร็จหรือความรับผิดชอบสูงสุดในงานนั้นๆ ด้วย

 
ทักษะ


 ส่วนนี้เป็นส่วนคำคัญอีกส่วนหนึ่งของซีวี ควรอธิบายถึงทักษะที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับงานที่ต้องการสมัคร ไม่ว่าทักษะนั้นจะได้มากจากการเรียน หรือจากประสบการณ์การทำงาน แต่ไม่ควรลืมว่า สิ่งที่จะกล่าวถึงในส่วนนี้ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วในส่วนของประสบการณ์ ท่านอาจจะกล่าวถึงทักษะทั้งที่เป็นทางการอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ หรือทักษะอย่างอื่น เช่นการพูดต่อหน้าชุมชน หรือการทำงานเป็นทีม เป็นต้น

ความสนใจ ความรับผิดชอบ หรือความสำเร็จที่ผ่านมา
ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านรู้จักเจ้าของซีวีมากขึ้น ดังนั้นอย่าเพียงแต่ไล่เรียงความสนใจ ความรับผิดชอบ หรือความสำเร็จ เป็นข้อๆ ไป แต่ควรจะอธิบายถึงสิ่งเหล่านั้นโดยย่อ ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าทำไมเขาควรจะจ้างท่าน



ผู้อ้างอิง (References)

โดยปกติแล้วควรจะมีผู้อ้างอิงสองท่าน ซึ่งอาจจะเป็นเจ้านายที่ทำงานเก่า และครูที่เคยสอนภาษาอังกฤษให้กับท่าน โดยให้รายละเอียดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ของท่านเหล่านี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่าลืมขออนุญาตผู้อ้างอิงก่อนที่ท่านจะนำชื่อของเขาใส่ลงในซีวี

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับซีวีเท่านั้น ยังมีความรู้เกี่ยวกับซีวีที่สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้อีกมากมาย ท่านสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมทั้งตัวอย่างซีวีได้จากเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการหางานเช่น http://www.prospects.ac.uk, http://www.direct.gov.uk หรือเว็บไซต์จัดหางานใหญ่ๆ เช่น http://www.monster.co.uk/ โดยนอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนซีวีแล้ว บางเว็บไซต์ยังมีบริการตรวจสอบซีวีอีกด้วย

ถึงแม้ว่าการเขียนซีวีและดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอีกเรื่องนึง แต่ซีวีก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสมัครงาน ในระยะแรกท่านอาจจะขอร้องให้คู่สมรสหรือเพื่อนของท่านช่วยตรวจสอบหรือแม้แต่ช่วยเขียนซีวีของท่านก็ได้ หรือหากลงเรียนภาษาอังกฤษ ท่านอาจจะขอร้องให้ครูผู้สอนภาษาอังกฤษช่วยตรวจสอบให้ก็ได้เช่นกัน โดยปกติแล้วเขามักจะเต็มใจตรวจสอบให้และยังยินดีเป็นผู้อ้างอิงให้ด้วย

อย่างที่ผู้เขียนกล่าวแล้วว่าด้วยสังคมใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ในสหราชอาณาจักรอาจะทำให้การหางานทำดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยากและชวนปวดหัว แต่หากท่านตั้งสติให้ดี ค่อยๆ คิด และค่อยๆ ทำไปทีละขั้นตอน ผู้เขียนมั่นใจว่าท่านจะต้องประสบความสำเร็จในการหางาน และได้งานที่จะทำให้ท่านมีความสุขอีกด้วย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น