How to ฟื้นฟูปอดสู้ COVID-19
“ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน ภูผาใหญ่กว้าง ดั่งสายน้ำช่ำเย็น ดั่งนภาอากาศอันบางเบา” หลายคนอาจจะคุ้นเคยหรือได้ยินเนื้อเพลงดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทำสมาธิหรือต้องการความสงบ แต่ในปี 2563 การกำหนดลมหายใจจะเปลี่ยนไปและจะต้องจริงจังมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมปอดให้แข็งแรงในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19
.
.
เพื่อให้การฝึกการหายใจไม่หลับไปเสียก่อนและมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูปอดให้กลับมาแข็งแรงสดใสสู้ภัย COVID ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดทำคลิปบริหารปอดง่ายๆ ทำตามได้แม้อยู่ในช่วงกักตัวที่บ้าน
.
.
“เนื่องจากเชื้อโรคตัวนี้แพร่กระจายได้ง่ายมาก ทางฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟูของเรา ได้มีการจัดทำวีดีโอสาธิตวิธีการฟื้นฟูปอด ฟื้นฟูสภาพร่างกายสำหรับผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนานๆ และเชิญชวนให้มาออกกำลังกาย ด้วยสื่อต่างๆ เหล่านี้เราสามารถทำตามได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ สามารถออกกำลังหรือฟื้นฟูกายภาพได้ตามคลิปวีดิโอได้เลยค่ะ ค่อนข้างปลอดภัย แต่เมื่อใดก็ตามที่ทำกายภาพแล้วรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอก เวียนหัว หน้ามืด จะเป็นลม หรือมีอาการใดใดที่ร่างกายผิดปกติก็ให้รีบมาโรงพยาบาลอย่าชะล่าใจค่ะ” แพทย์หญิงฑิมภ์พร วิทูรพงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำวิธีการฟื้นฟูปอดตามคลิปวีดีโอสาธิตจากฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อลดโอกาสติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล
.
.
คลิปวีดีโอฟื้นฟูปอดมีทั้งหมด 3 ตอน โดยเรียงลำดับจากการหายใจง่ายๆ ไปสู่การออกกำลังกายทั้งตัวเพื่อกระตุ้นให้ปอดทำงานสร้างภูมิคุ้มกัน แบ่งระดับจากผู้ป่วยหลังการพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่กักตัวอยู่ที่บ้าน และนอกจากนี้ยังมีการฝึกระบายเสมหะที่ถูกต้อง ช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้การหายใจดีขึ้น
“สำหรับผู้ป่วย COVID จำเป็นต้องฟื้นฟูปอด เนื่องจากเนื้อปอดถูกทำลายทำให้การหายใจไม่ดีเหมือนปกติ วิธีฟื้นฟูปอดโดยการหายใจให้ถูกต้องจะทำให้การหายใจดีขึ้น สำหรับคนไข้ที่มีเสมหะก็มีสอนวิธีขับเสมหะที่ถูกต้อง เพื่อการขับเสมหะได้ดีขึ้น บางทีการไอไม่แรงพอก็ไม่สามารถขับเสมหะได้ค่ะ หากมาพบนักกายภาพบำบัดอาจจะมีเทคนิคอื่นๆ อีก แต่การทำตามวีดีโอเป็นวิธีการปฏิบัติอย่างง่ายและเป็นวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยบรรเทาอาการได้ค่ะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสริสสา แรงกล้า ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริม
.
.
เชื้อไวรัส COVID–19 สามารถติดต่อได้ในระบบทางเดินหายใจ จากการสูดละอองไอ-จามของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสและการใกล้ชิด เชื้อโรคที่เข้าไปสู่ปอดจะทำลายเนื้อปอด ส่งผลให้การหายใจของผู้ติดเชื้อมีปัญหา หายใจหอบถี่ เหนื่อยง่าย ซึ่งความเสียหายของปอดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงในการติดเชื้อของแต่ละคน อีกทั้งมีหลายปัจจัยที่ช่วงส่งเสริมให้อาการแย่ลง เช่น สายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โรคประจำตัว และสภาพร่างกายของผู้ติดเชื้อ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ด้วยการสังเกตว่าอาการมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่สามารถตรวจได้จากการ X–ray หรือการทำ CT Scan เพื่อดูระดับความรุนแรงที่เกิดจากการทำลายของเชื้อไวรัส มีทั้งในกลุ่มที่ไม่แสดงอาการจนไปถึงกลุ่มที่มีความรุนแรงสูง
.
.
“สามารถตั้งข้อสงสัยได้จากการแสดงอาการค่ะ ถ้าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น หรือทำกิจวัตรที่ทำประจำแล้วรู้สึกเหนื่อยหอบมากขึ้น อาจจเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่าเนื้อปอดอาจจะมีการเสียหายเกิดขึ้น” แพทย์หญิงฑิมภ์พร กล่าว
.
.
กิจกรรมกักตัววันนี้คงต้องเพิ่มรายการ “ฝึกการหายใจ” เพื่อฟื้นฟูปอด นอกจากจะทำให้จิตใจสงบแล้วยังเพิ่มประสิทธิภาพปอดให้แข็งแรงยิ่งขึ้น โดยสามารถติดตามคลิปการฟื้นฟูปอดจากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 3 ตอนได้ที่….
.
.
ที่มา :: https://www.research.chula.ac.th/how-to-lung-care-resist-covid-19/
https://sites.google.com/site/prinkotakoonlovatt/how-to--covid-19
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น