“TikTok” ตัวประกันการเมือง สหรัฐฯ จ่อแบนตามอินเดีย เชื่อส่งข้อมูลให้จีน
จนถึงวันนี้คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักแอปพลิเคชัน TikTok ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นไปจนถึงดาราที่ต่างพากันอัดคลิปเล่นกันอย่างสนุกสนาน
แอปพลิเคชัน TikTok พัฒนาโดยบริษัท ByteDance สัญชาติจีน โดยต่อยอดมาจากแอปพลิเคชัน “Douyin” ที่ใช้ในประเทศจีนและประสบความสำเร็จไปก่อนแล้ว

ความสำเร็จของ TikTok อาจวัดได้จากจำนวนผู้ใช้งานที่ตอนนี้มีอยู่กว่า 800 ล้านบัญชีทั่วโลก มียอดดาวน์โหลดแอปฯ กว่า 1,500 ล้านครั้ง โดยอินเดียเป็นประเทศที่มียอดดาวน์โหลด TikTok มากที่สุดในโลกกว่า 466 ล้านครั้ง ตามมาด้วยจีนและสหรัฐฯ ที่มีการดาวน์โหลดประเทศละกว่า 100 ล้านครั้ง
แต่ด้วยความที่เป็นแอปพลิเคชันจากจีน ทำให้หลายประเทศที่กำลังเป็นปฏิปักษ์กับจีน เช่น อินเดียและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมเล่น TikTok อันดับต้นๆ ของโลก อาศัยความไม่มั่นใจแบรนด์จีนมาเป็นเหตุผลแบน “TikTok”
- สหรัฐฯ กำลังพิจารณาแบน “TikTok”
นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยระหว่างการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ Fox News ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาแบนแอปพลิเคชันจากจีนหลายแอปฯ รวมทั้ง TikTok โดยเขายังกล่าวด้วยว่า ถ้าใครก็ตามต้องการให้ข้อมูลตัวเองตกอยู่ในมือพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ให้โหลด TikTok มาใช้
ขณะที่ TikTok ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า การใช้งาน TikTok ปลอดภัยและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกประการ

TikTok ยังย้ำอีกครั้งว่า ไม่เคยส่งข้อมูลผู้ใช้ให้รัฐบาลจีน หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ จับตา TikTok มาตลอด และเคยออกคำเตือนภายในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ห้ามเจ้าหน้าที่และทหารใช้แอปพลิเคชันนี้เนื่องจากกังวลเรื่องความมั่นคง
- สหรัฐฯ กำลังเดินตามอินเดียแบนแอปฯ จีน
สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศแรกที่เคลื่อนไหวแบนแอปฯ จีน โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียได้ออกคำสั่งแบนแอปพลิเคชันจีน 59 แอปฯ หนึ่งในนั้นคือ TikTok โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคงเช่นเดียวกับสหรัฐฯ
แม้จะอ้างถึงประเด็นความมั่นคง แต่การประกาศแบนแอปฯ จีน รวมทั้ง TikTok ของอินเดีย เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่จีนและอินเดียกำลังมีความขัดแย้งชายแดน หลังเกิดการปะทะระหว่างทหารทั้งสองประเทศ จนทำให้มีทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย

ต้องไม่ลืมว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ TikTok มากที่สุดในโลก ทำให้การห้ามใช้งานในอินเดียส่งผลกระทบต่อรายได้ของ TikTok โดยตรง ซึ่งหนังสือพิมพ์ Global Times สื่อของจีนรายงานว่า บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok อาจเสียรายได้ไปถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 187,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมทั้งเงินลงทุนที่ ByteDance เพิ่งทุ่มลงไป 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 31,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในตลาดอินเดีย
- TikTok หยุดบริการในฮ่องกง หนีกฎหมายความมั่นคงจีน
อีกหนึ่งมรสุมที่กำลังถาโถมสู่ TikTok ที่นอกจากจะกำลังให้บริการในสหรัฐฯ ไม่ได้ตามอินเดียแล้ว TikTok ยังจำเป็นต้องยุติบริการในฮ่องกงด้วย โดยเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการนำ Douyin ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น TikTok เวอร์ชั่นจีนที่ผ่านการเซนเซอร์จากรัฐบาลจีนแล้วมาใช้แทนในฮ่องกงหรือไม่
ในขณะที่ TikTok ต้องยุติบริการในฮ่องกง เครือข่ายสังคมออนไลน์สัญชาติตะวันตกรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Twitter และ Telegram ได้ออกมาแสดงท่าทีชัดเจน ยืนยันจะไม่ส่งข้อมูลใดๆ ให้กับรัฐบาลฮ่องกงอีกต่อไป โดยโฆษกของ Facebook ระบุว่า จะหยุดส่งข้อมูลให้ทางการฮ่องกง จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ รวมทั้งในแง่สิทธิมนุษยชนด้วย

- TikTok สู้ศึกปรับภาพลักษณ์แบรนด์
ไม่ใช่ว่า TikTok จะไม่ทราบจุดอ่อนของแบรนด์ที่อาจถูกโยงกับรัฐบาลจีน แล้วนำมาใช้เป็นตัวประกันทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมามีความพยายามปรับแบรนด์ให้ TikTok มีภาพลักษณ์เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ระดับโลกมากขึ้น
โดยที่ชัดเจนที่สุดคือการว่าจ้าง นายเควิน มาเยอร์ อดีตผู้บริหารของดิสนีย์มาเป็นซีอีโอของ TikTok ซึ่งการตัดสินใจนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องความรู้ความสามารถของนายมาเยอร์ ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางบริการสตรีมมิ่งให้กับดิสนีย์แล้ว การว่าจ้างผู้บริหารชาวต่างชาติยังเป็นภาพลักษณ์เชิงรูปธรรมให้ TikTok ลดภาพการเป็นแบรนด์จีนที่คนจำนวนมากกลัวว่าอาจถูกจีนสอดแนมหากใช้แอปฯ นี้ด้วย
นอกจากการจ้างชาวต่างชาติมาบริหารแล้ว ท่าทีของ TikTok ทุกครั้งที่ตอบสนองข้อกล่าวหาส่งข้อมูลผู้ใช้ให้รัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาจากชาติใด TikTok จะย้ำอย่างตรงไปตรงมาเสมอว่า ไม่เคยส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน และหากมีการร้องขอจากรัฐบาลจีนก็จะไม่ส่งข้อมูลให้อย่างแน่นอน
- TikTok กำลังเป็นพื้นที่ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่
นอกจากการเล่นเพื่อความบันเทิงแล้ว ผู้ใช้ TikTok ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวบางส่วนยังเคยใช้ TikTok เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย โดยกรณีล่าสุดเกิดขึ้นกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อมีผู้ใช้ TikTok รวมพลังกันไปจองที่นั่งเข้าร่วมฟังปราศรัยหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ที่รัฐโอกลาโฮมาเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับไม่มีใครไปเข้าร่วม และปล่อยให้ที่นั่งว่างให้ประธานาธิบดีทรัมป์เสียหน้า

ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของ เฟโรซา อาซิซ วัยรุ่นสาวชาวอเมริกันวัย 17 ปี ที่โพสต์วิดีโอลงใน TikTok ทำทีเป็นคลิปสอนดัดขนตา แต่ความเป็นจริงแล้ว เธอได้พูดรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงสถานการณ์ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม TikTok ก็เคยมีประวัติปิดกั้นข้อมูลที่อ่อนไหวต่อรัฐบาลจีน โดยเมื่อปีที่แล้ว เว็บไซต์ The Guardian สื่ออังกฤษ รายงานอ้างเอกสารที่หลุดออกมาว่า TikTok มีมาตรการเซนเซอร์วิดีโอที่พูดถึงเหตุนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน การเรียกร้องเอกราชในทิเบต รวมทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มฟาหลุน กง ที่ถูกทางการจีนแบน แต่ TikTok ได้ออกมาชี้แจงถึงเอกสารดังกล่าวว่า เป็นเอกสารเก่าที่ไม่มีการใช้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว.
ที่มา :: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1884299
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น