หากเราจากไป... ไม่มีพินัยกรรม ใคร คือ ผู้รับมรดก
นอกจากความดีที่เราจะเหลือไว้แล้ว บางคนยังมี “มรดก” จำนวนหนึ่งเหลือทิ้งไว้ให้คนข้างหลังด้วย ซึ่งหากไม่ต้องการให้เกิดความสับสนวุ่นวายในภายหลัง ควรจะทำพินัยกรรม เพื่อแจกแจงว่า จะยกอะไรให้กับใครบ้าง
แต่หากจากไปแบบไม่มีพินัยกรรมก็ไม่ต้องกังวลมากเท่าไร เพราะกฎหมายให้ความยุติธรรมเสมอ
กองมรดก
เมื่อเราตายไป ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของเราจะถูกนับรวมๆ กันเป็น “กองมรดก” และถูกส่งมอบไปยังผู้รับมรดก ซึ่งหากเราได้เขียนพินัยกรรมไว้จะเรียกคนรับมรดกว่า “ผู้รับพินัยกรรม” แต่ถ้าไม่ได้เขียนไว้ก็จะตกทอดไปยัง “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งก็คือญาติๆ ของเรานั่นเอง
แต่ถ้าเราแต่งงานแล้วก็จะต้องมาเคลียร์ให้ชัดก่อนว่าเป็นทรัพย์สินของเราจริงๆ ไม่ได้มีส่วนของคู่สมรสรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นกองมรดกจะมีเฉพาะทรัพย์สินส่วนตัว กับสินสมรสอีกครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ กองมรดก ไม่ได้มีแต่ทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าที่ และความรับผิดด้วย เพียงแต่ทายาท หรือ ผู้รับมรดกไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ เช่น ได้รับมรดก 10 ล้านบาท แต่เจ้ามรดกมีหนี้ 15 ล้านบาท ก็รับผิดชอบภาระหนี้เพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น
ในกรณีที่เจ้ามรดกเป็นพระภิกษุที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินจะตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนา แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนที่จะมาบวชจะตกเป็นของทายาท ขณะที่ทายาทโดยธรรมที่บวชเป็นพระภิกษุจะมาเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกไม่ได้ ถ้าต้องการได้รับมรดกต้องสึกออกมาก่อน
ลำดับญาติ ทายาทโดยธรรม
ถ้าเราไม่ทำพินัยกรรมทรัพย์มรดกจะตกไปเป็นของ “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท
ประเภทแรก คือ คู่สมรส ซึ่งต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย
ประเภทที่สอง คือ ทายาทที่เป็นญาติของเรา ซึ่งมีอยู่ 6 ลำดับ จึงต้องมา “ลำดับญาติ” กันก่อนว่า ใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับมรดกของเราบ้าง
ทายาทอันดับ 1 คือ ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก โดยจะได้ทั้งลูกที่แท้จริง หรือลูกบุญธรรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากลูกเสียชีวิตไปก่อนมรดกจะตกไปถึงหลาน เหลน ลื่อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย
ทายาทอันดับ 2 คือ พ่อแม่ของเรา โดยต้องเป็นพ่อแม่ที่ให้กำเนิด แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นพ่อแม่บุญธรรม หรือพ่อที่แม้จะเป็นผู้ให้กำเนิดแต่ไม่ได้รับรองบุตรก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของลูก
ทายาทอันดับ 3 คือ พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน
ทายาทอันดับ 4 คือ พี่น้องคนละพ่อ หรือคนละแม่
ทายาทอันดับ 5 คือ ปู่ ย่า ตา ยาย
ทายาทอันดับ 6 คือ ลุง ป้า น้า อา
กรณีที่มีคู่สมรส แต่ไม่มีทายาทอื่นเลย มรดกจะตกเป็นของคู่สมรสทั้งหมด แต่ถ้ามีคู่สมรสและทายาทจะต้องมาดูลำดับญาติประกอบกัน ถึงจะบอกได้ว่า ใครจะได้รับมรดกกันไปจำนวนเท่าไรบ้าง โดยหลักการง่ายๆ คือ “ญาติสนิทตัดสิทธิญาติห่าง” นั่นคือ หากมีญาติในลำดับต้นๆ แล้ว ลำดับถัดไปจะถูกตัดสิทธิออกไปทันที เช่น มีทายาทลำดับ 1 และ 2 แล้ว ทายาทลำดับถัดไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดก
ยกเว้นแต่คู่สมรส ลูก และพ่อแม่ จะไม่ตัดสิทธิกัน แปลว่า มีสิทธิได้รับมรดกเท่าๆ กัน (โดยที่คู่สมรสจะได้รับครึ่งหนึ่งของสินสมรสไปด้วย)
ทายาทลำดับนี้มีสิทธิเท่าไร
เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ขอยกตัวอย่างบางกรณีให้พอเป็นแนวทางจะได้สบายใจว่า เมื่อเราจากไปใครจะได้รับมรดกไปเท่าไรกันบ้าง
กรณีที่ 1 มีคู่สมรส และทายาทลำดับ 1 คือ ลูก จะต้องนำทรัพย์มรดกมาหารเท่าๆ กันตามจำนวนคนที่มีอยู่ เช่น มีภรรยาและลูก 3 คน ต้องนำทรัพย์สินมาหาร 4 โดยแต่ละคนจะได้รับมรดกไปคนละ 1/4 เท่ากัน
กรณีที่ 2 มีคู่สมรส และทายาทลำดับ 2 คือ พ่อแม่ (ไม่มีลูก) ในกรณีนี้ คู่สมรสได้รับมรดกไปครึ่งหนึ่งของกองมรดก และเหลืออีกครึ่งหนึ่ง พ่อแม่จะได้รับไปคนละเท่าๆ กัน
กรณีที่ 3 มีคู่สมรส ลูก และพ่อแม่ กรณีนี้จะคล้ายกับกรณีที่ 1 คือ ต้องนำมรดกมาแบ่งเป็นส่วน โดยแต่ละคนจะได้รับไปเท่าๆ กัน เช่น มีภรรยา ลูก 2 คน และพ่อแม่ จะต้องนำทรัพย์มรดกมาหาร 5 ส่วนแล้วจึงแบ่งกันไป
กรณีที่ 4 มีคู่สมรส ไม่มีลูก และพ่อแม่ก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือแต่มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน (ทายาทลำดับ 3) ในกรณีนี้ คู่สมรสได้รับมรดกไปคนเดียวครึ่งหนึ่ง และเหลืออีกครึ่งหนึ่งจึงนำไปให้พี่น้องพ่อแม่เดียวกันแบ่งเท่าๆ กัน และหากพี่น้องคนใดเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดก ทรัพย์สินตามสิทธินั้นจะตกไปที่ลูกหลานของคนนั้น
กรณีที่ 5 มีคู่สมรส พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ไม่มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน แต่พ่อหรือแม่มีอีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้มีพี่น้องคนละพ่อหรือแม่ ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 4 ที่มีส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกร่วมกับคู่สมรสด้วย แต่จะได้รับไปเพียง 1/3 ของกองมรดก (ไม่ว่าจะมีกี่คนก็ตาม) ขณะที่คู่สมรสได้รับมรดก 2/3
กรณีที่ 6 มีคู่สมรส พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ไม่มีพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่เดียวกัน หรือคนละพ่อคนละแม่ เหลือก็แต่ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 5 ในกรณีนี้คู่สมรสได้รับมรดก 2/3 และอีก 1/3 จะแบ่งให้กับปู่ ย่า ตา ยาย คนละเท่าๆ กัน
กรณีที่ 7 มีคู่สมรส ไม่มีทายาทลำดับ 1-5 เหลืออยู่เลย จะมีก็แต่ลุง ป้า น้า อา ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 6 ในกรณีนี้คู่สมรสได้รับมรดก 2/3 อีก 1/3 ลุง ป้า น้า อา จะนำมาแบ่งเท่าๆ กัน
นอกจากนี้ ในบางกรณีกฎหมายยังให้โอกาสทายาทของทายาทมารับมรดกแทน หากทายาทโดยธรรมตัวจริง (ได้แก่ทายาทลำดับที่ 1, 3, 4 และ 6) เสียชีวิตไปก่อนเจ้ามรดก ซึ่งเรียกว่า “ผู้รับมรดกแทนที่” เช่น ทายาทลำดับ 1 ถ้ามีลูก ลูกก็จะได้ไป แต่ถ้าลูกเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดกก็จะตกไปที่หลาน
แต่ถ้าเป็นคนไร้คู่ แถมยังไม่มีทายาทโดยธรรมสักคนเดียว แถมยังไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของแผ่นดิน เพราะฉะนั้นหากต้องการจะยกทรัพย์สินให้ใครเป็นพิเศษอย่าลืมเขียนพินัยกรรม
สำหรับคนที่อยู่ๆ ก็กลายเป็น “ทายาทโดยธรรม” จะต้องรู้ด้วยว่า ไม่ได้มีแต่ได้ทรัพย์สิน แต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งครั้งหน้าจะมาดูกันว่า “ภาษีการรับมรดก” มีรายละเอียดอะไรบ้าง
CR :: https://www.posttoday.com/
ถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกจะถูกแบ่งอย่างไร?
ตอบลบหลายๆครอบครัวอาจจะไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทำให้สงสัยว่าถ้าเกิดเหตุการณ์คนเสียชีวิตขึ้นมาจริงๆแล้วทรัพย์สมบัติจะถูกส่งต่อไปถึงบูกหลานด้วยวิธีใดและแบ่งกันอย่างไร วันนี้พี่เสือมี ข้อมูลดีๆที่เป็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ
โดยก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าโดยในทางกฎหมายแบ่งทายาทออกเป็น 2 ประเภทคือ
ทายาทโดยธรรม คือทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย โดยกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่าได้แก่บุคคลดีงต่อไปนี้ อาทิเช่น บุตรของผู้ตาย บิดามารดาของผู้ตาย คู่สมรสของผู้ตาย
ทายาทโดยพินัยกรรม คือเป็นเรื่องของผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ซึ่งอาจเป็นคนอื่นก็ได้ จะทำยกให้ใครแม้ไม่ใช่ญาติของตนก็ได้ โดยจะเรียกทายาทประเภทนี้กันว่าผู้รับพินัยกรรม
โดยทายาทโดยพินัยกรรมนั้นจะมีสิทธิสูงกว่าทายาทโดยธรรม นั่นหมายถึงว่าถ้าเจ้ามรดกหรือผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้แล้วมรดกถูกแบ่งตามเจตนาดังกล่าว โดยไม่สนใจการแบ่งทรัพย์สินโดยวิธีทายาทโดยธรรม โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมทำให้ทรัพย์มรดกจะตกแก่ทายาทโดยธรรม
โดยทายาทโดยธรรมจะแบ่งได้ 2 ประเภทหลักคือ คู่สมรส (ต้องมีการจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) และญาติ (โดยเรียงลำดับตามความใกล้ชิด) ทั้งนี้กฎหมายได้นิยามทางญาติโดยธรรมประเภทญาติไว้ตาม 6 ลำดับดังต่อไปนี้
1. ผู้สืบสันดาน (ลูก, หลาน, เหลน, โหลน, ลื้อ)
2. บิดามารดา
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
โดยเพื่อความเข้าใจที่ง่าย ขออธิบายในส่วนของทายาทโดยธรรมประเภทญาติก่อน โดยจะใช้หลัก “ญาติสนิทพิชิตญาติห่าง” นั่นหมายถึงว่า ถ้าทายาทลำดับบนๆยังมีชีวิตอยู่นั้น จะทำให้ทายาทลำดับล่างๆไม่มีสิทธิได้รับมรดก แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 นั้นจะไม่ตัดกันเอง นั่นคือทายาทลำดับที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ และบิดามารดาของผู้ตายก็ยังมีชีวิตอยู่ (ทายาทลำดับที่2) บิดามารดาของผู้ตายนั้นจะได้รับส่วนแบ่งมรดกเหมือนทายาทชั้นบุตร (มาตรา 1630) คือ ชั้นผู้สืบสันดานในฐานะเท่ากับลูกของผู้ตาย ให้แบ่งมรดกเท่า ๆ กัน เพราะกฎหมายถือว่าเป็นญาติในลำดับที่สนิทที่สุด
เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้วลำดับถัดไปคือเรื่อง ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส โดยจะมีการแบ่งที่แตกต่างกับทายาทโดยธรรมประเภทญาติเพราะมีสิทธิได้รับมรดก 2 ส่วนคือ ครึ่งนึงของสินสมรส และสิทธิ์ได้รับมรดกของผู้ตาย (ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าทายาทโดยธรรมประเภทญาตินั่นเหลือใครบ้าง)
1. ถ้ามีทายาทในชั้นผู้สืบสันดาน คู่สมรสมีสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งเหมือนเป็นทายาทชั้นบุตร
2. ถ้ามีทายาทในชั้นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือถ้าไม่มีบุตรแต่บิดามารดาของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิ์ได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง (50%)
3. ถ้ามีทายาทคือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือลุง ป้า น้า อา หรือมีปู่ ย่า ตา ยายแล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิ์ได้มรดก 2 ใน 3 ส่วน (66.7%)
4. ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทเลย คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิ์ได้รับมรดกทั้งหมด (100%)
ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นเราจะทราบได้ว่าการแบ่งทรัพย์มรดกด้วยวิธีทายาทโดยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย ทางที่ดีผู้ที่มีทรัพย์สินเยอะ ๆ เป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลาน หรือมีพี่น้องมาก ๆ ควรจัดการทรัพย์สินด้วยพินัยกรรมไว้จะดีกว่า ทั้งในส่วนของความชัดเจนและปราศจากข้อโต้แย้ง