ในหลวง ร. 9: ครบรอบ 60 ปี ของการเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร
11:15 น. ของวันที่ 19 ก.ค. 2503 เครื่องบินพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ร่อนลงที่ท่าอากาศยานแกตวิค สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ของการเสด็จประพาสครั้งใหญ่ 14 ประเทศ
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรของทั้ง 2 พระองค์ ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ค. 2503
สหราชอาณาจักรคือ 1 ใน 14 ประเทศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จพระราชดำเนินเยือน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
การเสด็จประพาส 14 ประเทศ กินเวลาถึง 7 เดือน นับแต่วันที่เสด็จพระราชดำเนินออกจากไทยเมื่อ 14 มิ.ย. 2503 จนถึงวันเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยเมื่อ 18 ม.ค. 2504 โดยช่วงเวลาดังกล่าวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
"ผูกน้ำใจกันไว้ให้ดี"
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินออกนอกประเทศในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำรัสอำลาประชาชน โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า
"ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย เมื่อปีใหม่ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เชิญให้ไปเยี่ยมเป็นทางราชการ บัดนี้ถึงกำหนดที่ข้าพเจ้าและพระราชินีจะได้ไปประเทศเหล่านั้น พรุ่งนี้จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วจะไปประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอีก 13 ประเทศ
การไปต่างประเทศคราวนี้ ก็ไปเป็นทางราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้า ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าในสมัยนี้ ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีอีกด้วย"
จากสงครามโลก สู่ "สงครามเย็น"
นักวิชาการและนักการทูตไทยเห็นพ้องว่าการเสด็จเยือนสหรัฐฯ และยุโรปในครั้งนั้น เป็นพระราโชบายและพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ไทยผ่านมรสุม "สงครามเย็น" มาได้ และผลักดันให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติมาถึงปัจจุบัน
ในงานเสวนาหัวข้อ "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม: เบื้องหลังพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 9 ในนานาประเทศ" เมื่อ ก.ย. 2560 ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรป อธิบายถึงบริบทการเมืองโลกในขณะนั้นว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ชนะสงครามพยายาม "จัดระเบียบโลกใหม่" พร้อมกับรุกคืบ-กินแดนของหลายประเทศในยุคแห่งการแสวงหาเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม จึงปะทะกับขบวนการท้องถิ่นปลดแอกที่รับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ส่วนประเทศในเอเชียที่เพิ่งพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกต่างพะวักพะวน และตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ระบอบการปกครองแบบไหน
แม้บริบทไทยต่างจากชาติอื่น ไม่ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทบเสถียรภาพทางการเมืองของไทยอย่างยิ่งยวด ระหว่างกลุ่มการเมืองที่ยืนเคียงฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายอักษะ นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ทว่าความขัดแย้งของฝ่ายปรีดี-จอมพล ป. ถูกสกัดด้วยการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2500 นำไปสู่การกวาดล้างผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย และการกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ไทยในสายตาโลกตะวันตกยังไม่สู้ดีนัก ซึ่งไกรฤกษ์ชี้ว่า "เป็นเพราะไม่มีใครอยากเปิดบ้านต้อนรับไทยในฐานะพันธมิตรของญี่ปุ่น" แต่ขณะเดียวกัน "สยามก็ไม่เคยประกาศสงครามกับสหรัฐฯ มาก่อน"
ในปี 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสครั้งใหญ่ 14 ประเทศ เริ่มจากสหรัฐฯ และตามด้วยประเทศในแถบยุโรป
ไกรฤกษ์อธิบายว่า เหตุที่สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ทรงเสด็จฯ เยือน เพราะในเวลานั้นสหรัฐฯ ถือเป็น "พี่ใหญ่" เป็นอภิมหาอำนาจ มีความสำคัญสูงสุดในเชิงสัญลักษณ์ และกลายเป็น "ใบเบิกทาง" ไปสู่ยุโรป
นอกจากนี้ ไทยเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาชาติแรกของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ และเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปถึง 29 ปี นับจากในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสในปี 2474 ที่สำคัญเป็นการประกาศว่าไทยเป็นประเทศที่อยู่ในค่ายของโลกเสรีอย่างเต็มที่
"บริบทของการเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ และโลกเสรี ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกับสงครามเย็น" เตช บุนนาค อดีต รมว. ต่างประเทศ และอดีตที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการให้สัมภาษณ์มติชนเมื่อ ต.ค. 2559
จากสหรัฐอเมริกามาสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ 2 ของการเสด็จฯ เยือนและเป็นประเทศแรกของทวีปยุโรป ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ
หมายกำหนดการพระราชกรณียกิจแบ่งออกเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการระหว่าง 19-21 ก.ค. และส่วนพระองค์ระหว่าง 22-23 ก.ค.
ก่อนเที่ยงของ 19 ก.ค. เมื่อเครื่องบินพระที่นั่งลงจอดที่สนามบินแกตวิค ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษไปถึงสถานีรถไฟวิคตอเรีย โดยมี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และดยุคแห่งเอดินบะระ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงรับเสด็จ
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และดยุคแห่งเอดินบะระ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่งไปยังพระราชวังบักกิงแฮม
ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จเยือนสถานที่สำคัญในกรุงลอนดอน ได้แก่ โบสถ์เวสต์มินสเตอร์ พระตำหนักแคลเรนซ์เฮาส์ พระราชวังเซนต์เจมส์ กิลฮอลด์
ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสตอบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในงานถวายเลี้ยงพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อ 19 ก.ค. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสถึงความชื่นชมของราชวงศ์ไทยต่อชาวอังกฤษ
"ในประเทศของหม่อมฉัน ลักษณะนิสัยของชาวอังกฤษนั้นเป็นที่ชื่นชมมาก ความตรงไปตรงมา ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รวมทั้งความอดทนไม่ย่อท้อนั้นถือเป็นคุณสมบัติที่ดึงดูดใจและสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยเหตุนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระอัยกาของหม่อมฉันทรงเลือกสหราชอาณาจักร เป็นประเทศแรกในการส่งนักเรียนไทยกลุ่มแรกมาศึกษาในต่างประเทศ"
อีกตอนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสว่า
"แม้ประชาชนชาวไทยจะไม่สามารถมาเยี่ยมเยือนประเทศแห่งนี้ได้ทุกคน แต่หม่อมฉันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยในการนำไมตรีจิตและความปรารถนาดีมามอบให้ฝ่าพระบาทผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ หม่อมฉันหวังว่าการมาเยือนของหม่อมฉันในครั้งนี้จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ของราชวงศ์ของเราทั้งสองมีความใกล้ชิดมากขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน"
สิ้นสุดการเยือน
เที่ยงวันของ 23 ก.ค. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินเพื่อเสด็จฯ ไปสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นการประเทศที่ 3 คือ เยอรมนี
ก่อนการเสด็จเยือนเยอรมนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชสาส์นเพื่อพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยเนื่องในโอกาสเสด็จฯ เยือนอังกฤษ เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ดังนี้
"เราได้เดินทางออกจากประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมแล้ว และจะไปเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในวันที่ 25 กรกฎาคม การเยือนประเทศอังกฤษครั้งนี้ ประสบผลเป็นที่พอใจยิ่ง สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ดยุคแห่งเอดินบะระ และสมาชิกพระราชวงศ์อื่น ๆ ตลอดจนรัฐบาลอังกฤษ ได้ให้การต้อนรับเราด้วยความกรุณาและเปี่ยมด้วยไมตรีจิตอย่างที่สุด ประชาชนชาวอังกฤษช่างดีเหลือเกินทั้ง ๆ ที่ฝนตกและมีพายุ ได้พากันมาชุมนุมอย่างคับคั่งไม่ว่าเวลาใด เพื่อแสดงความยินดีและต้อนรับพวกเราทุกหนทุกแห่งที่เราผ่านไป เรารู้สึกว่าการไปเยือนประเทศอังกฤษครั้งนี้ทำให้พระราชวงศ์ทั้งสองมีความใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้นเป็นอันมาก และทำให้ประชาชนชาวอังกฤษปัจจุบันนี้รู้จักและมีความสนใจในประเทศเรามากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การเยือนปะเทศอังกฤษจึงประสบผลสำเร็จเป็นอันมาก บรรดาคนไทยและนักเรียนไทยจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษได้พากันมาต้อนรับเราเป็นจำนวนมาก พระราชินีและข้าพเจ้า รวมทั้งลูก ๆ สบายดี จิตใจของเรายังคงแนบแน่นอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอ และเราหวังว่า ท่านทั้งหลายก็อยู่ด้วยความสุขสบายดีด้วย"
หมายเหตุ: ที่มาของข้อมูลการเสด็จเยือนสหราชอาณาจักรมาจาก "สมุดภาพที่ระลึก เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" จัดทำโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน 2553
CR :: https://news.trueid.net/detail/EYkrxkmgl7jQ