Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์
 
 
 
ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ถุงน้ำคร่ำและน้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกอยู่มีหน้าที่หลักในการป้องกันทารกและส่งเสริมให้ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติ น้ำคร่ำที่ล้อมรอบทารกทำให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเต็มที่อันนำไปสู่พัฒนาการของระบบกล้ามเนื้อ น้ำคร่ำมีส่วนเสริมให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของระบบทางเดินหายใจเป็นไปตามปกติ น้ำคร่ำจะคอยป้องกันไม่ให้ทารกได้รับอันตรายจากแรงกระแทกโดยตรง และยังป้องกันไม่ให้สายสะดือถูกกดทับโดยทารกหรือการหดตัวของมดลูก ถุงน้ำคร่ำจะป้องกันทารกจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ในช่องคลอด และคอยป้องกันไม่ให้ส่วนของทารกโผล่พ้นปากมดลูกออกมา ดังนั้นหากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ ก็อาจจะทำให้การทำหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ของถุงน้ำคร่ำและน้ำคร่ำเสียไปได้
การคลอดก่อนกำหนด (preterm delivery) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทารกตายปริกำเนิดหรือ
ทารกทุพพลภาพ ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หนึ่งในสามถึงหนึ่งในสี่ของการคลอดก่อนกำหนด การดูแลผู้ป่วยที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อ ความเสี่ยงของทารกในครรภ์จากการที่สายสะดือถูกกดทับ ความเสี่ยงของการคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอด (operative delivery) และอายุครรภ์ของทารก
ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์มีความหมายคือ ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก่อนที่จะเริ่ม
มีอาการเจ็บครรภ์โดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาระหว่างการเกิดถุงน้ำคร่ำแตกและการเริ่มเจ็บครรภ์ เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์เรียกว่า ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (preterm premature rupture of membranes)


 
 
อุบัติการณ์


อุบัติการณ์ของภาวะน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์แตกต่างกันมาก แล้วแต่คำจำกัดความ และวิธี
การวินิจฉัยโดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 3 –15 ของการคลอด

 


ความสำคัญ


ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งต่อมารดาและทารกได้แก่
1. อันตรายต่อมารดา


เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการมีถุงน้ำคร่ำแตก


2. อันตรายต่อทารก


2.1 เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะพบได้ในกรณีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ในครรภ์ก่อนกำหนด ทำให้ทารกอาจมีปัญหาเรื่องปอดยังเจริญไม่เต็มที่ (respiratory distress syndrome) ภาวะเลือดออกในสมอง (intraventricular hemorrhage)และภาวะ necrotizing enterocolitis เป็นต้น
2.2 ทารกเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความเสี่ยงนี้จะแปรผกผันกับอายุครรภ์ (อายุครรภ์ยิ่งน้อยความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น)นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาเมื่อเริ่มมีถุงน้ำคร่ำแตกจนกระทั่งเริ่มเจ็บครรภ์ (latency period) หากยิ่งนานความเสี่ยงต่อการติดเชื้อยิ่งสูงขึ้น
2.3 ทารกเสี่ยงต่อการที่สายสะดือถูกทับจากการที่น้ำคร่ำลดน้อยลง หากน้ำคร่ำที่ไหล
ออกจากโพรงมดลูกเร็วเกินกว่าทารกจะสร้างน้ำคร่ำออกมาได้ทัน ทำให้ปริมาณที่
เหลืออยู่น้อยลงจนอาจเกิดการกดทับของสายสะดือและทำให้เกิดอัตรายต่อทารกในครรภ์ได้
2.3 ทารกพิการแต่กำเนิด มักจะพบในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกตั้งแต่อายุครรภ์อ่อนๆ ทำให้น้ำคร่ำในโพรงมดลูกลดน้อยลง (oligohydramnios)ทารกในครรภ์จะถูกกดทับโดยผนังมดลูกจนทำให้ทารกมีความพิการเกิดขึ้น เช่น เท้าปุก(club foot) บางครั้งทำให้ทารกมีกลุ่มอาการคล้ายกับที่พบในPotter’s syndrom ซึ่งเรียกกลุ่มอาการดังกล่าวว่า oligohydramnios tetrad ประกอบด้วยลักษณะรูปเท้าผิดปกติ มือและเท้าอยู่ในท่าผิดปกติ ทารกเติบโตช้าในครรภ์และมีภาวะ pulmonary hypoplasia สำหรับภาวะ pulmonary hypoplasiaนั้นมีโอกาสเกิดได้หากถุงน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ครบ 24 สัปดาห์หลังอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ทารกมีโอกาสจะเกิดภาวะดังกล่าวน้อย

 


สาเหตุ


ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุของถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ แต่มักมีภาวะ
ที่พบร่วมหรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ ได้แก่
1. เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด ถุงน้ำคร่ำจะฉีกขาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ (physiologic changes) ร่วมกับ shearing force จากแรงหดรัดตัวของมดลูก
2. การติดเชื้อในโพรงมดลูกเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งโดยเฉพาะในครรภ์ก่อนกำหนด
3. ผู้ป่วยที่มีประวัติการคลอดลูกก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเคยมีประวัติเป็นถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ในครรภ์ก่อนกำหนด
4. มดลูกมีความตึงตัวมากกว่าปกติ เช่น กรณีครรภ์แฝด และครรภ์แฝดน้ำ เป็นต้น
5. ภาวะติดเชื้อกามโรคของช่องทางคลอด เช่น ติดเชื้อหนองในที่คอมดลูก เป็นต้น
6. ผู้ป่วยที่เคยทำผ่าตัด conization ของคอมดลูก
7. สตรีตั้งครรภ์ที่มีเศรษฐฐานะต่ำ
8. สตรีที่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
9. สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการเย็บผูกคอมดลูกเป็นกรณีฉุกเฉิน (emergency cervical cerclage)

 

การวินิจฉัย


เช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยในกรณีอื่นๆ การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์แต่วินิจฉัยไม่ได้ก็อาจจะทำให้มารดาและทารกมีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้นในทางกลับกันหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นถุงน้ำคร่ำแตกโดยความจริงไม่ได้เป็น ผู้ป่วยอาจได้รับการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดโดยไม่จำเป็นซึ่งทารกอาจมีปัญหาตามมาจากการคลอดก่อนกำหนด

 

แนวทางการวินิจฉัยประกอบไปด้วย


1. ประวัติ ผู้ป่วยมักจะให้ประวัติมีน้ำใสๆ ไหลออกจากช่องคลอดในตอนแรกจำนวนมากต่อมาน้อยลงแต่ยังคงมีออกมาเป็นระยะๆ สาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปัสสาวะไหล(urinary leakage) ตกขาวปริมาณมากผิดปกติ ปากมดลูกอักเสบ มูกเลือด เป็นต้น
2. การตรวจร่างกายจะต้องระมัดระวังไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีครรภ์ก่อนกำหนด เมื่อใส่ speculum เข้าไปในช่องคลอดจะพบน้ำคร่ำขังอยู่ที่ posterior fornix หรืออาจจะเห็นน้ำคร่ำไหลออกจากคอมดลูก และผู้ตรวจสังเกตดูว่าคอมดลูกเปิดกี่เซนติเมตรและบางตัวมากน้อยเท่าไร พบว่าการใช้นิ้วมือเพื่อตรวจดูสภาพปากมดลูกจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินดูด้วยสายตา ดังนั้นการตรวจภายในโดยใช้นิ้วมือตรวจจะต้องหลีกเลี่ยง ยกเว้นกรณีครรภ์ครบกำหนดหรือผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์แล้วการตรวจพบน้ำไหลออกจากคอมดลูกเป็นการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด ในกรณีที่ตรวจไม่พบน้ำคร่ำในช่องคลอด หรือน้ำคร่ำไหลจากคอมดลูก ก็จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ


1. Nitrazine paper test โดยอาศัยคุณสมบัติที่ว่าน้ำคร่ำมี pH ระหว่าง 7.0-7.5 ซึ่งแตกต่างจากน้ำคัดหลั่งของช่องคลอด ซึ่งมี pH ระหว่าง 4.5-5.5 กระดาษ nitrazine จะกลายเป็นสีน้ำเงินถ้าทดสอบกับสารละลายที่มี pH มากกว่า 6 การทดลองนี้ให้ผลบวกลวงได้ในกรณีที่สิ่งที่นำมาทดสอบมีเลือดเจือปน หรือมีน้ำอสุจิเจือปนหรือเจือปนสารละลายฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์เป็นด่าง หรือกรณีช่องคลอดอักเสบชนิด bacterial vaginosis ในทางตรงกันข้ามผลลบลวงอาจจะเกิดขึ้นจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกมาเป็นเวลานาน และมีน้ำคร่ำเหลือในโพรงมดลูกปริมาณน้อย
2. Fern test วิธีนี้ทดสอบโดยการเก็บตัวอย่างที่ต้องการตรวจจากบริเวณ posterior fornix ป้ายลงบน slide ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ในน้ำคร่ำจะมี electrolyte โดยเฉพาะ NaCl เมื่อปล่อยให้แห้งจะจับเป็นเกล็ดรูปใบ fern ผลการตรวจนี้อาจให้ผลบวกลวงได้ ถ้านำเอามูกจากคอมดลูกมาตรวจ fern test นี้ ตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
3. Nile blue test เมื่อทารกอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไปจะสามารถตรวจพบเซลล์จากต่อมไขมันของทารกได้ในน้ำคร่ำซึ่งเซลล์เหล่านี้จะติดสีแสดเมื่อถูกย้อมด้วย Nile blue sulphate ซึ่งเป็นส่วนผสมของ oxazine sulphate(true Nile blue)และ oxazone (Nile red)
วิธีการตรวจให้นำน้ำจากช่องคลอด 1 หยด ผสมกับ 0.1% Nile blue sulphate 1 หยด บนสไลด์แล้วปิดด้วย cover glass นำไปลนไฟเล็กน้อยแล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเซลล์ไขมันของทารกติดสีแสด ไม่มีนิวเคลียส เซลล์ที่เห็นอาจพบเป็นเซลล์เดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มก็ได้ เซลล์อื่นๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเซลล์บุผนังช่องคลอดจะติดสีน้ำเงิน
การตรวจวิธีนี้ไม่มีผลบวกเทียม แต่อาจให้ผลลบเทียมได้หากอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ เนื่องจากเซลล์ไขมันของทารกจะพบน้อยกว่าร้อยละ 10 หากอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการตรวจวิธีนี้จึงไม่เป็นที่นิยมกัน
4. การฉีดสี indigocarmine เข้าถุงน้ำคร่ำผ่านทางผนังหน้าท้อง กรณีที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีน้ำ เดินแต่จากการตรวจภายในไม่เห็นน้ำคร่ำในช่องคลอด และเมื่อป้ายบริเวณ posterior fornix ไปตรวจ nitrazine หรือ fern test แล้วเป็นผลลบ หากยังมีข้อสงสัยว่าถุงน้ำคร่ำอาจจะแตกจริงก็อาจจะทำการทดสอบโดยการฉีดสี indigocarmine 1 มิลลิลิตรซึ่งละลายใน 9 มิลลิลิตรของ sterile normal saline โดยฉีดผ่านทางผิวหนังหน้าท้อง หลังจากนั้นภายใน 30 นาที ให้สังเกตุดูว่ามีสีน้ำเงินของ indigocarmine ไหลผ่านเข้าไปในช่องคลอดหรือไม่ หากมีก็แสดงว่าน้ำคร่ำแตกจริง
5. การตรวจโดยให้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ถ้าหากจากประวัติและการตรวจร่างกายยังไม่
ชัดเจน การใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงอาจจะมีประโยชน์ในกรณีที่ตรวจพบว่าน้ำคร่ำน้อย(oligohydramnios) โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะและไม่มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ สันนิษฐานว่าน่าจะมีภาวะน้ำเดินเกิดขึ้นจริง

 

การวินิจฉัยแยกโรค


1. Rupture of the Amnion ในบางครั้งมีการแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำเฉพาะชั้น Amnion เท่านั้น โดยที่ชั้น Chorion ยังปกติ ต่อมามีการปิดขอบ Amnion ได้เองตามธรรมชาติ ทำให้น้ำคร่ำไหลเข้าไปอยู่ระหว่างชั้นของ Amnion และ Chorion ด้วยเรียกว่า Chorionic cyst มีการแตกออกทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะของ PROM แต่ถุงน้ำคร่ำที่แท้จริง ( True Amniotic Sac) ยังคงทำให้พบลักษณะ intact sacได้ ขณะคลอดทั้งที่มีประวัติ PROM
2. High Leakage หมายถึงมีการแตกหรือรั่วของถุงน้ำในบริเวณที่สูงกว่าตำแหน่งของ Lower uterine segment ลักษณะทางคลินิกจะพบการแตกหรือรั่วของน้ำคร่ำในปริมาณน้อย ถ้าตรวจด้วยอัลตร้าซาวน์ จะพบปริมาณน้ำคร่ำในเกณฑ์ปกติ ลักษณะ High Leakage อาจมีการปิดได้เองตามธรรมชาติและไม่สัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนทั้งด้านมารดาและทารก การวินิจฉัยภาวะดังกล่าวค่อนข้างยาก

 


หลักการดูแลรักษา


1. รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อวินิจฉัยได้ว่าถุงน้ำคร่ำแตก
2. ทบทวนประวัติการฝากครรภ์ ประวัติการตรวจคลื่นเสี่ยงความถี่สูง(ถ้ามี) เพื่อดูว่าขณะนั้นทารกในครรภ์มีอายุครรภ์กี่สัปดาห์
3. ตรวจหน้าท้องคะเนขนาดทารก ตรวจหาส่วนนำ หากมีข้อสงสัยในเรื่องอายุครรภ์อาจต้องตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง
4. ให้คลอดโดยเร็ว โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในโพรงมดลูกหรือมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด(ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอันหนึ่งที่พบได้ในภาวะน้ำเดินก่อนการเจ็บครรภ์) หรือมีหลักฐานที่แสดงว่าทารกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออันตรายโดยเฉพาะจากการกดทับของสายสะดือ

 


การติดเชื้อในโพรงมดลูก


ในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าถุงน้ำคร่ำแตก โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์และการเจ็บครรภ์ จะต้องได้รับการตรวจโดยละเอียดเพื่อวินิจฉัยภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก (chorioamnionitis หรือ intraamniotic infection) ทั้งนี้เพราะหากวินิจฉัยได้ล่าช้าหรือวินิจฉัยไม่ได้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารก อุบัติการณ์ของการติดเชื้อในโพรงมดลูกพบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 หากถุงน้ำคร่ำแตกเกิดขึ้นเป็นเวลานานอุบัติการณ์อาจสูงขึ้นร้อยละ 3-15นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยขึ้นในครรภ์ก่อนกำหนด(preterm) การวินิจฉัยภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูกมักจะอาศัยการตรวจพบว่ามีไข้ > 38.ซ มารดามีชีพจรเต้นเร็ว เสียงการเต้นของหัวใจทารกเต้นเร็ว มดลูกกดเจ็บ มีถุงน้ำคร่ำแตก น้ำคร่ำอาจมีกลิ่นเหม็น ไม่มีอาการในระบบอวัยวะอื่นๆ หรือตรวจไม่พบสาเหตุอื่นๆ ของไข้ เมื่อวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อในโพรงมดลูก แพทย์ผู้ดูแลจะต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยโดยเร็ว มีการศึกษาเปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยก่อนคลอด เปรียบเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะทันทีหลังคลอด พบว่ากลุ่มแรกจะมีผลการรักษาทั้งมารดาและทารกดีกว่ากลุ่มหลัง ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะต้องครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งมักจะเป็นเชื้อหลายๆ ชนิดเท่านั้นยังต้องเป็นยาที่ผ่านรกได้ดีพอที่จะทำให้ระดับยาในเลือดทารกถึง therapeutic level ยาปฏิชีวนะที่ให้กันอย่างแพร่หลายที่สุดและครอบคลุมเชื้อได้ดีคือ Ampicilin ขนาด 2 กรัม เข้าเส้นเลือดดำทุก 4-6 ชั่วโมง หรือ Penicellin G sodium 5 ล้านยูนิตทุก 4-6 ชั่วโมง ร่วมกับ Gentamicin ขนาด 1.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทางเส้นเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางท่านจะให้ยาในกลุ่มAminoglycosides แบบวันละครั้งสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหลังคลอดและการติดเชื้อในผู้ป่วยทางนรีเวชวิทยา แต่หลักฐานทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัยของการให้ Gentamicin แบบวันละครั้งในสตรีตั้งครรภ์ ยา 2 ตัว ดังกล่าวครอบคลุมเชื้อโรคได้ดีโดยเฉพาะเชื้อ group B streptococci (GBS)และเชื้อ E.coli ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ระดับความเข้มข้นของยาที่พอจะฆ่าเชื้อโรค(bactericidal concentration) ในทารกในถุงน้ำคร่ำและในน้ำคร่ำถึงระดับอย่างรวดเร็วหลังการให้ยาทางเส้นเลือดดำดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูกสามารถจะรอให้คลอดเองทางช่องคลอดได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ การผ่าท้องทำคลอดให้กระทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์อื่นๆ เท่านั้น เชื้อ Anaerobe เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในทารกแรกเกิดไม่บ่อยนัก แต่เชื้อนี้มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิด post cesarean endometritis ดังนั้นสำหรับสตรีที่ได้รับยา Ampicilin ร่วมกับ Gentamicin มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าท้อง หลังตัดสายสะดือผู้ป่วยควรได้รับยาClindamycin 900 มิลลิกรัม ทางเส้นเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง หรือ Metronidazole 500 มิลลิกรัมทางเส้นเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง หลังผ่าท้องทำคลอดควรให้ยาปฏิชีวนะต่อจนผู้ป่วยไม่มีไข้หรือไม่มีอาการเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง หากเป็นการคลอดบุตรทางช่องคลอด โดยมากอาการไข้จะหายไปอย่างรวดเร็ว ยาปฏิชีวนะอาจจะหยุดให้หลังไข้ลดลง
5. หากผู้ป่วยอายุครรภ์ครบกำหนด (>37 สัปดาห์) และไม่มีข้อบ่งชี้ตามข้อ 4 (การติดเชื้อในโพรงมดลูก ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดและสายสะดือถูกกดทับ) ที่จะต้องทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงโดยเร็ว การตัดสินใจที่จะชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อในโพรงมดลูก (หากรอให้ผู้ป่วยมีการอาการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นเอง) เปรียบเทียบกับความเสี่ยงของการชักนำให้คลอดไม่สำเร็จ(failed induction) และความเสี่ยงของการใช้เครื่องมือช่วยคลอดทางช่องคลอด(ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ชักนำให้เจ็บครรภ์เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีอาการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นเอง) หากสภาพของปากมดลูกยังไม่พร้อมที่จะชักนำให้เจ็บครรภ์พบว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของผลการคลอดเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ชักนำให้เจ็บครรภ์กับกลุ่มที่ให้การรักษาแบบประคับประคอง(expectant management)กลุ่มหลังนี้อาจจะรอเวลาได้นานถึง 24-72 ชั่วโมง เพื่อรอให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นเอง โดยในระหว่างที่รอนี้ต้องเฝ้าติดตามผู้ป่วยเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่จะให้คลอดโดยเร็วตามข้อ 4) หรือไม่ พบว่าในกลุ่มที่ชักนำให้เจ็บครรภ์ระยะเวลาตั้งแต่รับไว้ในโรงพยาบาลจนถึงทารกคลอดจะสั้น แต่ระยะเวลาในระยะเจ็บครรภ์(time in labor)จะนานขึ้น และผู้ป่วยมีอัตราการคลอดทางช่องคลอดโดยเครื่องมือ (operative vaginal delivery)เพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงที่จะต้องได้รับการผ่าท้องทำคลอด และความเสี่ยงของการติดเชื้อในทารกแรกเกิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวทางการรักษาว่าจะรักษาโดยชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดหรือรักษาแบบประคับประคอง แต่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของมารดาอาจจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่รักษาแบบประคับประคอง
6. ในกรณีอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ และผู้ป่วยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องให้คลอดโดยเร็วตามข้อ4
ให้นำน้ำคร่ำที่เก็บได้จากช่องคลอดหรือจากการทำamniocentesis ไปทดสอบความเจริญของ ปอดทารกหากตรวจพบว่าปอดทารกเจริญเต็มที่แล้ว ให้พิจารณาชักนำให้คลอดทั้งนี้เพราะจากการศึกษาพบว่าทารกแรกเกิดจะมีความเสี่ยงน้อยมากหากมีอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ และสามารถตรวจน้ำคร่ำยืนยันทางห้องปฏิบัติการได้ว่าปอดทารกเจริญเต็มที่แล้ว และพบว่ากลุ่มที่ชักนำให้คลอดพบอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในโพรงมดลูกน้อยกว่ากลุ่มที่ให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง (expectant management) แต่ความเสี่ยงของการเกิด Respiratory Distress Syndrome , Intraventricular Hemorrhage , Necrotizing Enterocolitis และการตายของทารกแรกคลอด ( neonatal death ) เท่าๆกัน
7. ในกรณีที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ และตรวจไม่พบภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือ
ทารกในครรภ์อยู่ในภาวะคับขันจากการกดทับของสายสะดือหรือมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มดลูกไม่มีการหดตัว การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ดีที่สุดคือ การรักษาแบบประคับประคอง(expectant management)คือรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยนอนพักบนเตียงเพื่อลดปริมาณของน้ำคร่ำที่จะไหลออกมา นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 2.8-13 ของผู้ป่วย น้ำคร่ำจะหยุดไหลได้เอง หากน้ำคร่ำหยุดไหลก็อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ระหว่างที่นอนพักรักษาตัวนี้ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าระวังเรื่องการติดเชื้อในโพรงมดลูก โดยวันที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลให้เก็บน้ำคร่ำจากบริเวณปากมดลูกไปเพาะเชื้อ งดการตรวจภายในโดยใช้นิ้วมือ Lewis และคณะ ได้ทำการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างโดยแบ่งผู้ป่วย preterm PROM ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ อีกกลุ่มไม่ได้ยา พบว่ากลุ่มที่ได้ยามีอัตราการเกิด Respiratory Distress Syndrome น้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 18 และร้อยละ 44) ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
สถาบัน National Institutes of Health ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าควรจะให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับสตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 30-32 สัปดาห์ ที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ โดยไม่มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก จากข้อมูลที่มีอยู่แสดงว่าประโยชน์ของการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจจะมากกว่าความเสี่ยงของการติดเชื้อเมื่อให้ยาแก่สตรีตั้งครรภ์ระหว่าง 24-32 สัปดาห์
คอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ให้ได้แก่ Betamethasone 12 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้ามในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์และอายุครรภ์ระหว่าง 24-32 สัปดาห์ทันทีและฉีดอีกครั้งใน 24 ชั่วโมงต่อมาหรือdexamethasone 6 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้าม 4 ครั้งห่างกันทุก 12 ชั่วโมงพบว่าทั้ง Betamethasone และ Dexamethasone ให้ผลใกล้เคียงกัน การให้คอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของปอดทารกนั่นให้เป็น single course เท่านั้น แม้ว่าทารกจะยังไม่คลอดหลังจากให้ยาไปแล้วเกิน 7 วัน ทั้งนี้จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ทุกๆ 7 วันจะให้ประโยชน์แก่ทารกหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อมารดาและทารกมากกว่ากัน
8. ในผู้ป่วยกลุ่ม Preterm PROM ที่ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง(expectant
management)จากการศึกษาพบว่าการให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยสามารถทำให้การตั้งครรภ์ยาวนานขึ้น ลดอัตราการติดเชื้อหลังคลอด ลดอัตราการติดเชื้อในทารกแรกเกิดและลดการเกิด Intraventricular Hemorrhage ยาปฏิชีวนะที่ใช้มีหลาย Regimen จากข้อมูลที่มีอยู่ว่าทุก Regimenให้ผลใกล้เคียงกันในการนำมาใช้ในผู้ป่วย Preterm PROM ตัวอย่างของยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ได้แก่ การให้ Ampicillin และ Erythromycin ทางเส้นเลือดดำ และหากทารกยังไม่คลอดให้ยาต่อโดยวิธีรับประทานอีก 5 วันหรือให้ Ampicillin/Sulbactam ทางเส้นเลือดดำตามด้วย Amoxicllin / Clavulanate รับประทาน อย่างไรก็ตามการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วย Preterm PROM ที่ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคองยังต้องมีการศึกษาต่อไป









บทสรุป


ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่พบได้บ่อย
และเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งของการตายปริกำหนดและทุพพลภาพของทารกแรกเกิด การวินิจฉัยภาวะดังกล่าวมักไม่มีปัญหา สำหรับแนวทางการดูแลรักษาสิ่งที่ต้องคำนึงคือ อายุครรภ์ การเจริญของปอดทารก(lung maturity)ภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก ภาวะแทรกซ้อนจากการที่ประมาณน้ำคร่ำลดลงเช่น ภาวะสายสะดือถูกกดทับ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด โดยทั่วไปเมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ หรือพิสูจน์ได้ว่าปอดทารกเจริญเต็มที่แล้วหรือมีภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือมีภาวะสายสะดือกดทับก็จะทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง หากปอดทารกในครรภ์ยังเจริญไม่เต็มที่หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ก็ให้ยาสเตียรอยด์เพื่อเร่งการเจริญของปอดทารกและอาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อและทำให้ latency period ยาวนานขึ้น แต่ถ้าเป็นภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ในไตรมาสที่สองโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ พบว่า อัตราตายของทารกยังสูงอยู่เพราะทารกมักตายจากภาวะ Pulmonary Hypoplasia อย่างไรก็ตามการดูแลที่สำคัญอีกระยะหนึ่งคือ การดูแลทารกแรกคลอด ทั้งกุมารแพทย์ควรจะได้รับการแจ้งไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดูแลทารกแรกคลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทารกมีน้ำหนักน้อย
แนวทางปฏิบัติทางคลีนิก (Clincal Practice Guidelines) ในการดูแลผู้ป่วยที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ได้แสดงไว้ใน Flow chart No. 1 - 4

 
 


น้ำคร่ำคืออะไร ?





 
ปกติเมื่อมีการตั้งครรภ์ ทารกจะเจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก แต่ไม่ได้อยู่ในมดลูกโดยตรงเลยทีเดียว เนื่องจากทารกจะลอยอยู่ในน้ำที่เรียกว่า"น้ำคร่ำ"และน้ำคร่ำที่ว่านี้ก็จะบรรจุอยู่ในถุงที่เรียกว่า ถุงน้ำคร่ำอีกทีหนึ่ง ถุงน้ำคร่ำจะบรรจุและอัดแน่นอยู่ภายในมดลูก
น้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกนั้นจะค่อยๆสร้างเพิ่มขึ้นมาทีละน้อย ขณะท้องได้ประมาณ 3 เดือน จะมีน้ำคร่ำประมาณ 50-80 มิลลิลิตร เมื่อท้องได้ 4 เดือน จะมีน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นเป็น 150-200 มิลลิลิตร และเมื่อใกล้คลอดน้ำคร่ำจะมีมากถึง 1 ลิตร
องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำคร่ำคือน้ำ ซึ่งมีปริมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เป็นของแข็งประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่เป็นของแข็งประกอบด้วยสารต่างๆมากมาย เช่น โปรตีน กรดยูริค สารยูเรีย รวมทั้งขี้ไคลของทารก ขนอ่อน เส้นผม และปัสสาวะของทารกด้วย
โดยปกติน้ำคร่ำไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนน้ำที่นิ่ง แต่จะมีการไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาโดยจะผ่านเข้าไปในตัวทารกจากการกลืนเข้าไป และถูกขับออกจากทารกโดยการถ่ายเป็นปัสสาวะออกมา
 
หน้าที่ของน้ำคร่ำ

น้ำคร่ำที่มีอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ให้ทารกหกคะเมนตีลังกาเล่นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่อีกมากมายหลายประการ เช่นเป็นแหล่งระบายของเสียจากตัวทารก เป็นแหล่งให้อาหารทารก รวมทั้งยังปรับอุณหภูมิในมดลูกให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของทารกด้วย น้ำคร่ำมีบทบาทค่อนข้างมากในการที่จะทำให้ทารกดำรงชีวิตอยู่ในมดลูกได้อย่างปกติสุข
การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป มักเป็นตัวบ่งบอกว่า ทารกในครรภ์อาจจะพิการหรือมีการเจริญเติบโตที่ไม่ดี
 
ตั้งครรภ์น้ำคร่ำมากเกินไป
แม่บางท่านที่ตั้งครรภ์ ถ้ามีปริมาณน้ำคร่ำที่สร้างขึ้นมามีมากกว่าปกติ เราจะเรียกการตั้งครรภ์นี้ว่า ตั้งครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios) ในทางการแพทย์ จะถือว่ากรณีคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มีภาวะครรภ์แฝดน้ำก็ต่อเมื่อ คุณหมอตรวจพบว่าปริมาณน้ำคร่ำมีมากกว่า 2 ลิตรขึ้นไป การมีน้ำคร่ำทีมากกว่าปกติจะทำให้มดลูกถูกดันจากแรงดันภายในให้ยืดขยายออกไปมากกว่าปกติ ผลดังกล่าวจะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก บางคนมดลูกที่โตมากไปกดหลอดเลือดในช่องท้อง ทำให้เลือดที่ไหลเวียนจากส่วนล่างของร่างกายกลับไปยังหัวใจเป็นไปได้อย่างไม่สะดวก ทำให้มีอาการบวมที่เท้าหรือบริเวณปากช่องคลอด
 
เกิดจากอะไร ?

การเกิดภาวะตั้งครรภ์บวมน้ำอาจมีสาเหตุความผิดปกติได้ทั้งจากตัวแม่ที่ตั้งครรภ์ หรือจากตัวทารกในครรภ์เอง สาเหตุจากคุณแม่ที่มักจะพบบ่อยที่สุดคือ การที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคเบาหวานร่วมด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี
ส่วนสาเหตุที่เกิดจากทารกในครรภ์นั้น ส่วนมากมักจะมาจากความพิการของทารก เช่น พบว่าทารกมีก้อนเนื้องอกที่ใบหน้า หรือมีการตีบตันของหลอดอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผลดังกล่าวนี้ทำให้ทารกกลืนน้ำคร่ำไปในร่างกายได้ยากหรือไม่ได้ ผลคือทำให้น้ำคร่ำไหลเวียนผ่านตัวทารกไปไม่ได้ เกิดการท่วมท้นอยู่ในถุงน้ำคร่ำนั่นเอง นอกจากสาเหตุที่กล่าวถึงแล้ว พบว่าคุณแม่จำนวนไม่น้อยซึ่งตรวจไม่พบความผิดปกติอะไรของทั้งตัวคุณแม่เองและตัวทารกในครรภ์ แต่ก็ยังมีภาวะครรภ์แฝดน้ำ ซึ่งครรภ์แฝดน้ำแบบนี้จะพบได้มากประมาณร้อยละ 60 ของครรภ์แฝดน้ำทั้งหมด
 
จะรักษาอย่างไร ?
การรักษาจะต้องทำ 2 อย่างไปพร้อมๆกัน อย่างแรกคือต้องระบายน้ำคร่ำที่มากเกินออกไปบ้าง เพราะถ้าไม่ระบายออก คุณแม่จะทรมาณจากการหายใจไม่ออก การระบายน้ำคร่ำออกสามารถทำได้โดยการเจาะและดูดน้ำคร่ำออกเป็นระยะๆ จนกว่าจะคลอด การดูแลรักษาประการที่สอง คือ ต้องรักษาที่สาเหตุ ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากคุณแม่เป็นโรคเบาหวาน ต้องให้ยาคุมระดับน้ำตาลให้ดี ภาวะครรภ์แฝดน้ำจะดีขึ้นได้สามารถทำได้โดยการเจาะและดูดน้ำคร่ำออก ภายหลังการดูดน้ำคร่ำก็จะมีการสร้างขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูดน้ำคร่ำออกเป็นระยะๆ จนกว่าจะคลอด
แต่ถ้าเป็นปัญหาจากทารกในครรภ์ ต้องประเมินว่าความพิการของทารกในครรภ์รุนแรงแค่ไหน ถ้ารุนแรงมากจนแน่ใจว่าคลอดออกมาแล้วไม่มีโอกาสรอดชีวิต ควรยุติการตั้งครรภ์ทันที แต่ถ้าความรุนแรงไม่มาก จำเป็นต้องรักษาแบบประคับประคองโดยการเจาะถุงน้ำไปก่อน แล้วค่อยให้การดูแลรักษาทารกภายหลังคลอด
 
ตั้งครรภ์น้ำคร่ำน้อยเกินไป

ในทางตรงกันข้ามคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยเกินไป เช่น ปกติควรจะมีน้ำคร่ำประมาณ 1 ลิตร เมื่อใกล้คลอดกลับมีแค่ 200-300 มิลลิลิตร หรือบางรายที่น้ำคร่ำน้อยมากอาจจะเหลือเพียงไม่กี่มิลลิลิตร แถมน้ำคร่ำยังมีลักษณะเหนียวข้น จนแทบไม่เป็นน้ำคร่ำด้วยซ้ำไป การตั้งครรภ์แบบนี้เรียกว่า การตั้งครรภ์น้ำคร่ำน้อย (Oilgohydramnios)
การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยมักไม่ก่อให้เกิดปัญหากับตัวคุณแม่มากนัก เพราะจะไม่แน่นอึดอัดเหมือนกับคุณแม่ที่มีน้ำคร่ำมาก บางคนจะรู้สึกสบายตัวด้วยซ้ำไป แต่สำหรับทารกแล้ว จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้หลายอย่าง ที่สำคัญคือถ้าน้ำคร่ำน้อยจะทำให้ทารกถูกบีบให้อยู่ในที่แคบ เพราะทารกที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่จะมีการเจริญเติบโตร่วมไปด้วยตลอดเวลา ถ้าในโพรงมดลูกมีน้ำคร่ำเพียงเล็กน้อย ผนังทรวงอกของทารกจะถูกกด ทำให้ขยายไม่ออกและเจริญเติบโตต่อไปไม่ได้ ผลคือทำให้ระบบการหายใจของทารกบกพร่อง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายหลังคลอด
 
ทำไมจึงเกิดภาวะนี้

สาเหตุของการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยก็คล้ายๆ กับการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมาก กล่าวคือ ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็มีบางส่วนที่ทราบสาเหตุ
สาเหตุที่มักจะพบได้บ่อยๆที่ทำให้คุณแม่มีการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยคือ การที่ทารกในครรภ์มีความพิการ แต่เป็นความพิการที่ทำให้มีการขับปัสสาวะออกมาได้น้อยกว่าปกติหรือไม่ได้เลย เช่น การที่มีภาวะไตฝ่อทั้ง 2 ข้าง การมีเนื้องอกอุดตันที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
นอกจากสาเหตุข้างต้น การมีน้ำคร่ำน้อยอาจเกิดจากการที่รกเสื่อมสภาพ จากสาเหตุต่างๆ เช่น คุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์เกินกำหนด ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก่อนกำหนด
 
รักษาอย่างไร ?
การรักษาภาวน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ต้องทำ 2 ประการใหญ่ คือ ประการแรก ต้องพยายามเพิ่มน้ำคร่ำ โดยการให้น้ำเกลือ เข้าไปในโพรงมดลูก ประการที่สอง หาสาเหตุ และรีบให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ถ้าพบว่าเกิดจากความพิการของทารกในครรภ์ ต้องดูว่าความพิการนั้นรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ ถ้าใช่ควรยุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้าไม่ก็ประคับประคองไปก่อน แล้วรีบให้การรักษาภายหลังคลอด หรือถ้ามั่นใจว่าการมีน้ำคร่ำน้อยเกิดจากการตั้งครรภ์เกินกำหนด ควรยุติการตั้งครรภ์ เพราะถ้าทิ้งไว้นาน ทารกในครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
น้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงตัวทารกในครรภ์ไม่ใช่น้ำธรรมดาๆ แต่มีบทบาท หน้าที่หลายประการ รวมทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย ถ้าปริมาณมีมากหรือน้อยเกินไป การตรวจพบสาเหตุรวมทั้งการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้คุณแม่และทารกในครรภ์ปลอดภัยได้.

 
 
 
 
 
เรื่อง รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณแพทย์ศาตร์ ศิริราชพยาบาล