Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์
 
 
 
ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ถุงน้ำคร่ำและน้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกอยู่มีหน้าที่หลักในการป้องกันทารกและส่งเสริมให้ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติ น้ำคร่ำที่ล้อมรอบทารกทำให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเต็มที่อันนำไปสู่พัฒนาการของระบบกล้ามเนื้อ น้ำคร่ำมีส่วนเสริมให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของระบบทางเดินหายใจเป็นไปตามปกติ น้ำคร่ำจะคอยป้องกันไม่ให้ทารกได้รับอันตรายจากแรงกระแทกโดยตรง และยังป้องกันไม่ให้สายสะดือถูกกดทับโดยทารกหรือการหดตัวของมดลูก ถุงน้ำคร่ำจะป้องกันทารกจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ในช่องคลอด และคอยป้องกันไม่ให้ส่วนของทารกโผล่พ้นปากมดลูกออกมา ดังนั้นหากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ ก็อาจจะทำให้การทำหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ของถุงน้ำคร่ำและน้ำคร่ำเสียไปได้
การคลอดก่อนกำหนด (preterm delivery) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทารกตายปริกำเนิดหรือ
ทารกทุพพลภาพ ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หนึ่งในสามถึงหนึ่งในสี่ของการคลอดก่อนกำหนด การดูแลผู้ป่วยที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อ ความเสี่ยงของทารกในครรภ์จากการที่สายสะดือถูกกดทับ ความเสี่ยงของการคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอด (operative delivery) และอายุครรภ์ของทารก
ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์มีความหมายคือ ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก่อนที่จะเริ่ม
มีอาการเจ็บครรภ์โดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาระหว่างการเกิดถุงน้ำคร่ำแตกและการเริ่มเจ็บครรภ์ เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์เรียกว่า ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (preterm premature rupture of membranes)


 
 
อุบัติการณ์


อุบัติการณ์ของภาวะน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์แตกต่างกันมาก แล้วแต่คำจำกัดความ และวิธี
การวินิจฉัยโดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 3 –15 ของการคลอด

 


ความสำคัญ


ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งต่อมารดาและทารกได้แก่
1. อันตรายต่อมารดา


เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการมีถุงน้ำคร่ำแตก


2. อันตรายต่อทารก


2.1 เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะพบได้ในกรณีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ในครรภ์ก่อนกำหนด ทำให้ทารกอาจมีปัญหาเรื่องปอดยังเจริญไม่เต็มที่ (respiratory distress syndrome) ภาวะเลือดออกในสมอง (intraventricular hemorrhage)และภาวะ necrotizing enterocolitis เป็นต้น
2.2 ทารกเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความเสี่ยงนี้จะแปรผกผันกับอายุครรภ์ (อายุครรภ์ยิ่งน้อยความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น)นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาเมื่อเริ่มมีถุงน้ำคร่ำแตกจนกระทั่งเริ่มเจ็บครรภ์ (latency period) หากยิ่งนานความเสี่ยงต่อการติดเชื้อยิ่งสูงขึ้น
2.3 ทารกเสี่ยงต่อการที่สายสะดือถูกทับจากการที่น้ำคร่ำลดน้อยลง หากน้ำคร่ำที่ไหล
ออกจากโพรงมดลูกเร็วเกินกว่าทารกจะสร้างน้ำคร่ำออกมาได้ทัน ทำให้ปริมาณที่
เหลืออยู่น้อยลงจนอาจเกิดการกดทับของสายสะดือและทำให้เกิดอัตรายต่อทารกในครรภ์ได้
2.3 ทารกพิการแต่กำเนิด มักจะพบในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกตั้งแต่อายุครรภ์อ่อนๆ ทำให้น้ำคร่ำในโพรงมดลูกลดน้อยลง (oligohydramnios)ทารกในครรภ์จะถูกกดทับโดยผนังมดลูกจนทำให้ทารกมีความพิการเกิดขึ้น เช่น เท้าปุก(club foot) บางครั้งทำให้ทารกมีกลุ่มอาการคล้ายกับที่พบในPotter’s syndrom ซึ่งเรียกกลุ่มอาการดังกล่าวว่า oligohydramnios tetrad ประกอบด้วยลักษณะรูปเท้าผิดปกติ มือและเท้าอยู่ในท่าผิดปกติ ทารกเติบโตช้าในครรภ์และมีภาวะ pulmonary hypoplasia สำหรับภาวะ pulmonary hypoplasiaนั้นมีโอกาสเกิดได้หากถุงน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ครบ 24 สัปดาห์หลังอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ทารกมีโอกาสจะเกิดภาวะดังกล่าวน้อย

 


สาเหตุ


ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุของถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ แต่มักมีภาวะ
ที่พบร่วมหรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ ได้แก่
1. เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด ถุงน้ำคร่ำจะฉีกขาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ (physiologic changes) ร่วมกับ shearing force จากแรงหดรัดตัวของมดลูก
2. การติดเชื้อในโพรงมดลูกเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งโดยเฉพาะในครรภ์ก่อนกำหนด
3. ผู้ป่วยที่มีประวัติการคลอดลูกก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเคยมีประวัติเป็นถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ในครรภ์ก่อนกำหนด
4. มดลูกมีความตึงตัวมากกว่าปกติ เช่น กรณีครรภ์แฝด และครรภ์แฝดน้ำ เป็นต้น
5. ภาวะติดเชื้อกามโรคของช่องทางคลอด เช่น ติดเชื้อหนองในที่คอมดลูก เป็นต้น
6. ผู้ป่วยที่เคยทำผ่าตัด conization ของคอมดลูก
7. สตรีตั้งครรภ์ที่มีเศรษฐฐานะต่ำ
8. สตรีที่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
9. สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการเย็บผูกคอมดลูกเป็นกรณีฉุกเฉิน (emergency cervical cerclage)

 

การวินิจฉัย


เช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยในกรณีอื่นๆ การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์แต่วินิจฉัยไม่ได้ก็อาจจะทำให้มารดาและทารกมีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้นในทางกลับกันหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นถุงน้ำคร่ำแตกโดยความจริงไม่ได้เป็น ผู้ป่วยอาจได้รับการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดโดยไม่จำเป็นซึ่งทารกอาจมีปัญหาตามมาจากการคลอดก่อนกำหนด

 

แนวทางการวินิจฉัยประกอบไปด้วย


1. ประวัติ ผู้ป่วยมักจะให้ประวัติมีน้ำใสๆ ไหลออกจากช่องคลอดในตอนแรกจำนวนมากต่อมาน้อยลงแต่ยังคงมีออกมาเป็นระยะๆ สาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปัสสาวะไหล(urinary leakage) ตกขาวปริมาณมากผิดปกติ ปากมดลูกอักเสบ มูกเลือด เป็นต้น
2. การตรวจร่างกายจะต้องระมัดระวังไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีครรภ์ก่อนกำหนด เมื่อใส่ speculum เข้าไปในช่องคลอดจะพบน้ำคร่ำขังอยู่ที่ posterior fornix หรืออาจจะเห็นน้ำคร่ำไหลออกจากคอมดลูก และผู้ตรวจสังเกตดูว่าคอมดลูกเปิดกี่เซนติเมตรและบางตัวมากน้อยเท่าไร พบว่าการใช้นิ้วมือเพื่อตรวจดูสภาพปากมดลูกจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินดูด้วยสายตา ดังนั้นการตรวจภายในโดยใช้นิ้วมือตรวจจะต้องหลีกเลี่ยง ยกเว้นกรณีครรภ์ครบกำหนดหรือผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์แล้วการตรวจพบน้ำไหลออกจากคอมดลูกเป็นการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด ในกรณีที่ตรวจไม่พบน้ำคร่ำในช่องคลอด หรือน้ำคร่ำไหลจากคอมดลูก ก็จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ


1. Nitrazine paper test โดยอาศัยคุณสมบัติที่ว่าน้ำคร่ำมี pH ระหว่าง 7.0-7.5 ซึ่งแตกต่างจากน้ำคัดหลั่งของช่องคลอด ซึ่งมี pH ระหว่าง 4.5-5.5 กระดาษ nitrazine จะกลายเป็นสีน้ำเงินถ้าทดสอบกับสารละลายที่มี pH มากกว่า 6 การทดลองนี้ให้ผลบวกลวงได้ในกรณีที่สิ่งที่นำมาทดสอบมีเลือดเจือปน หรือมีน้ำอสุจิเจือปนหรือเจือปนสารละลายฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์เป็นด่าง หรือกรณีช่องคลอดอักเสบชนิด bacterial vaginosis ในทางตรงกันข้ามผลลบลวงอาจจะเกิดขึ้นจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกมาเป็นเวลานาน และมีน้ำคร่ำเหลือในโพรงมดลูกปริมาณน้อย
2. Fern test วิธีนี้ทดสอบโดยการเก็บตัวอย่างที่ต้องการตรวจจากบริเวณ posterior fornix ป้ายลงบน slide ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ในน้ำคร่ำจะมี electrolyte โดยเฉพาะ NaCl เมื่อปล่อยให้แห้งจะจับเป็นเกล็ดรูปใบ fern ผลการตรวจนี้อาจให้ผลบวกลวงได้ ถ้านำเอามูกจากคอมดลูกมาตรวจ fern test นี้ ตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
3. Nile blue test เมื่อทารกอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไปจะสามารถตรวจพบเซลล์จากต่อมไขมันของทารกได้ในน้ำคร่ำซึ่งเซลล์เหล่านี้จะติดสีแสดเมื่อถูกย้อมด้วย Nile blue sulphate ซึ่งเป็นส่วนผสมของ oxazine sulphate(true Nile blue)และ oxazone (Nile red)
วิธีการตรวจให้นำน้ำจากช่องคลอด 1 หยด ผสมกับ 0.1% Nile blue sulphate 1 หยด บนสไลด์แล้วปิดด้วย cover glass นำไปลนไฟเล็กน้อยแล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเซลล์ไขมันของทารกติดสีแสด ไม่มีนิวเคลียส เซลล์ที่เห็นอาจพบเป็นเซลล์เดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มก็ได้ เซลล์อื่นๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเซลล์บุผนังช่องคลอดจะติดสีน้ำเงิน
การตรวจวิธีนี้ไม่มีผลบวกเทียม แต่อาจให้ผลลบเทียมได้หากอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ เนื่องจากเซลล์ไขมันของทารกจะพบน้อยกว่าร้อยละ 10 หากอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการตรวจวิธีนี้จึงไม่เป็นที่นิยมกัน
4. การฉีดสี indigocarmine เข้าถุงน้ำคร่ำผ่านทางผนังหน้าท้อง กรณีที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีน้ำ เดินแต่จากการตรวจภายในไม่เห็นน้ำคร่ำในช่องคลอด และเมื่อป้ายบริเวณ posterior fornix ไปตรวจ nitrazine หรือ fern test แล้วเป็นผลลบ หากยังมีข้อสงสัยว่าถุงน้ำคร่ำอาจจะแตกจริงก็อาจจะทำการทดสอบโดยการฉีดสี indigocarmine 1 มิลลิลิตรซึ่งละลายใน 9 มิลลิลิตรของ sterile normal saline โดยฉีดผ่านทางผิวหนังหน้าท้อง หลังจากนั้นภายใน 30 นาที ให้สังเกตุดูว่ามีสีน้ำเงินของ indigocarmine ไหลผ่านเข้าไปในช่องคลอดหรือไม่ หากมีก็แสดงว่าน้ำคร่ำแตกจริง
5. การตรวจโดยให้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ถ้าหากจากประวัติและการตรวจร่างกายยังไม่
ชัดเจน การใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงอาจจะมีประโยชน์ในกรณีที่ตรวจพบว่าน้ำคร่ำน้อย(oligohydramnios) โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะและไม่มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ สันนิษฐานว่าน่าจะมีภาวะน้ำเดินเกิดขึ้นจริง

 

การวินิจฉัยแยกโรค


1. Rupture of the Amnion ในบางครั้งมีการแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำเฉพาะชั้น Amnion เท่านั้น โดยที่ชั้น Chorion ยังปกติ ต่อมามีการปิดขอบ Amnion ได้เองตามธรรมชาติ ทำให้น้ำคร่ำไหลเข้าไปอยู่ระหว่างชั้นของ Amnion และ Chorion ด้วยเรียกว่า Chorionic cyst มีการแตกออกทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะของ PROM แต่ถุงน้ำคร่ำที่แท้จริง ( True Amniotic Sac) ยังคงทำให้พบลักษณะ intact sacได้ ขณะคลอดทั้งที่มีประวัติ PROM
2. High Leakage หมายถึงมีการแตกหรือรั่วของถุงน้ำในบริเวณที่สูงกว่าตำแหน่งของ Lower uterine segment ลักษณะทางคลินิกจะพบการแตกหรือรั่วของน้ำคร่ำในปริมาณน้อย ถ้าตรวจด้วยอัลตร้าซาวน์ จะพบปริมาณน้ำคร่ำในเกณฑ์ปกติ ลักษณะ High Leakage อาจมีการปิดได้เองตามธรรมชาติและไม่สัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนทั้งด้านมารดาและทารก การวินิจฉัยภาวะดังกล่าวค่อนข้างยาก

 


หลักการดูแลรักษา


1. รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อวินิจฉัยได้ว่าถุงน้ำคร่ำแตก
2. ทบทวนประวัติการฝากครรภ์ ประวัติการตรวจคลื่นเสี่ยงความถี่สูง(ถ้ามี) เพื่อดูว่าขณะนั้นทารกในครรภ์มีอายุครรภ์กี่สัปดาห์
3. ตรวจหน้าท้องคะเนขนาดทารก ตรวจหาส่วนนำ หากมีข้อสงสัยในเรื่องอายุครรภ์อาจต้องตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง
4. ให้คลอดโดยเร็ว โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในโพรงมดลูกหรือมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด(ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอันหนึ่งที่พบได้ในภาวะน้ำเดินก่อนการเจ็บครรภ์) หรือมีหลักฐานที่แสดงว่าทารกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออันตรายโดยเฉพาะจากการกดทับของสายสะดือ

 


การติดเชื้อในโพรงมดลูก


ในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าถุงน้ำคร่ำแตก โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์และการเจ็บครรภ์ จะต้องได้รับการตรวจโดยละเอียดเพื่อวินิจฉัยภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก (chorioamnionitis หรือ intraamniotic infection) ทั้งนี้เพราะหากวินิจฉัยได้ล่าช้าหรือวินิจฉัยไม่ได้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารก อุบัติการณ์ของการติดเชื้อในโพรงมดลูกพบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 หากถุงน้ำคร่ำแตกเกิดขึ้นเป็นเวลานานอุบัติการณ์อาจสูงขึ้นร้อยละ 3-15นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยขึ้นในครรภ์ก่อนกำหนด(preterm) การวินิจฉัยภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูกมักจะอาศัยการตรวจพบว่ามีไข้ > 38.ซ มารดามีชีพจรเต้นเร็ว เสียงการเต้นของหัวใจทารกเต้นเร็ว มดลูกกดเจ็บ มีถุงน้ำคร่ำแตก น้ำคร่ำอาจมีกลิ่นเหม็น ไม่มีอาการในระบบอวัยวะอื่นๆ หรือตรวจไม่พบสาเหตุอื่นๆ ของไข้ เมื่อวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อในโพรงมดลูก แพทย์ผู้ดูแลจะต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยโดยเร็ว มีการศึกษาเปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยก่อนคลอด เปรียบเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะทันทีหลังคลอด พบว่ากลุ่มแรกจะมีผลการรักษาทั้งมารดาและทารกดีกว่ากลุ่มหลัง ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะต้องครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งมักจะเป็นเชื้อหลายๆ ชนิดเท่านั้นยังต้องเป็นยาที่ผ่านรกได้ดีพอที่จะทำให้ระดับยาในเลือดทารกถึง therapeutic level ยาปฏิชีวนะที่ให้กันอย่างแพร่หลายที่สุดและครอบคลุมเชื้อได้ดีคือ Ampicilin ขนาด 2 กรัม เข้าเส้นเลือดดำทุก 4-6 ชั่วโมง หรือ Penicellin G sodium 5 ล้านยูนิตทุก 4-6 ชั่วโมง ร่วมกับ Gentamicin ขนาด 1.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทางเส้นเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางท่านจะให้ยาในกลุ่มAminoglycosides แบบวันละครั้งสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหลังคลอดและการติดเชื้อในผู้ป่วยทางนรีเวชวิทยา แต่หลักฐานทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัยของการให้ Gentamicin แบบวันละครั้งในสตรีตั้งครรภ์ ยา 2 ตัว ดังกล่าวครอบคลุมเชื้อโรคได้ดีโดยเฉพาะเชื้อ group B streptococci (GBS)และเชื้อ E.coli ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ระดับความเข้มข้นของยาที่พอจะฆ่าเชื้อโรค(bactericidal concentration) ในทารกในถุงน้ำคร่ำและในน้ำคร่ำถึงระดับอย่างรวดเร็วหลังการให้ยาทางเส้นเลือดดำดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูกสามารถจะรอให้คลอดเองทางช่องคลอดได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ การผ่าท้องทำคลอดให้กระทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์อื่นๆ เท่านั้น เชื้อ Anaerobe เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในทารกแรกเกิดไม่บ่อยนัก แต่เชื้อนี้มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิด post cesarean endometritis ดังนั้นสำหรับสตรีที่ได้รับยา Ampicilin ร่วมกับ Gentamicin มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าท้อง หลังตัดสายสะดือผู้ป่วยควรได้รับยาClindamycin 900 มิลลิกรัม ทางเส้นเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง หรือ Metronidazole 500 มิลลิกรัมทางเส้นเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง หลังผ่าท้องทำคลอดควรให้ยาปฏิชีวนะต่อจนผู้ป่วยไม่มีไข้หรือไม่มีอาการเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง หากเป็นการคลอดบุตรทางช่องคลอด โดยมากอาการไข้จะหายไปอย่างรวดเร็ว ยาปฏิชีวนะอาจจะหยุดให้หลังไข้ลดลง
5. หากผู้ป่วยอายุครรภ์ครบกำหนด (>37 สัปดาห์) และไม่มีข้อบ่งชี้ตามข้อ 4 (การติดเชื้อในโพรงมดลูก ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดและสายสะดือถูกกดทับ) ที่จะต้องทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงโดยเร็ว การตัดสินใจที่จะชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อในโพรงมดลูก (หากรอให้ผู้ป่วยมีการอาการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นเอง) เปรียบเทียบกับความเสี่ยงของการชักนำให้คลอดไม่สำเร็จ(failed induction) และความเสี่ยงของการใช้เครื่องมือช่วยคลอดทางช่องคลอด(ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ชักนำให้เจ็บครรภ์เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีอาการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นเอง) หากสภาพของปากมดลูกยังไม่พร้อมที่จะชักนำให้เจ็บครรภ์พบว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของผลการคลอดเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ชักนำให้เจ็บครรภ์กับกลุ่มที่ให้การรักษาแบบประคับประคอง(expectant management)กลุ่มหลังนี้อาจจะรอเวลาได้นานถึง 24-72 ชั่วโมง เพื่อรอให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นเอง โดยในระหว่างที่รอนี้ต้องเฝ้าติดตามผู้ป่วยเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่จะให้คลอดโดยเร็วตามข้อ 4) หรือไม่ พบว่าในกลุ่มที่ชักนำให้เจ็บครรภ์ระยะเวลาตั้งแต่รับไว้ในโรงพยาบาลจนถึงทารกคลอดจะสั้น แต่ระยะเวลาในระยะเจ็บครรภ์(time in labor)จะนานขึ้น และผู้ป่วยมีอัตราการคลอดทางช่องคลอดโดยเครื่องมือ (operative vaginal delivery)เพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงที่จะต้องได้รับการผ่าท้องทำคลอด และความเสี่ยงของการติดเชื้อในทารกแรกเกิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวทางการรักษาว่าจะรักษาโดยชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดหรือรักษาแบบประคับประคอง แต่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของมารดาอาจจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่รักษาแบบประคับประคอง
6. ในกรณีอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ และผู้ป่วยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องให้คลอดโดยเร็วตามข้อ4
ให้นำน้ำคร่ำที่เก็บได้จากช่องคลอดหรือจากการทำamniocentesis ไปทดสอบความเจริญของ ปอดทารกหากตรวจพบว่าปอดทารกเจริญเต็มที่แล้ว ให้พิจารณาชักนำให้คลอดทั้งนี้เพราะจากการศึกษาพบว่าทารกแรกเกิดจะมีความเสี่ยงน้อยมากหากมีอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ และสามารถตรวจน้ำคร่ำยืนยันทางห้องปฏิบัติการได้ว่าปอดทารกเจริญเต็มที่แล้ว และพบว่ากลุ่มที่ชักนำให้คลอดพบอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในโพรงมดลูกน้อยกว่ากลุ่มที่ให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง (expectant management) แต่ความเสี่ยงของการเกิด Respiratory Distress Syndrome , Intraventricular Hemorrhage , Necrotizing Enterocolitis และการตายของทารกแรกคลอด ( neonatal death ) เท่าๆกัน
7. ในกรณีที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ และตรวจไม่พบภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือ
ทารกในครรภ์อยู่ในภาวะคับขันจากการกดทับของสายสะดือหรือมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มดลูกไม่มีการหดตัว การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ดีที่สุดคือ การรักษาแบบประคับประคอง(expectant management)คือรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยนอนพักบนเตียงเพื่อลดปริมาณของน้ำคร่ำที่จะไหลออกมา นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 2.8-13 ของผู้ป่วย น้ำคร่ำจะหยุดไหลได้เอง หากน้ำคร่ำหยุดไหลก็อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ระหว่างที่นอนพักรักษาตัวนี้ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าระวังเรื่องการติดเชื้อในโพรงมดลูก โดยวันที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลให้เก็บน้ำคร่ำจากบริเวณปากมดลูกไปเพาะเชื้อ งดการตรวจภายในโดยใช้นิ้วมือ Lewis และคณะ ได้ทำการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างโดยแบ่งผู้ป่วย preterm PROM ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ อีกกลุ่มไม่ได้ยา พบว่ากลุ่มที่ได้ยามีอัตราการเกิด Respiratory Distress Syndrome น้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 18 และร้อยละ 44) ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
สถาบัน National Institutes of Health ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าควรจะให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับสตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 30-32 สัปดาห์ ที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ โดยไม่มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก จากข้อมูลที่มีอยู่แสดงว่าประโยชน์ของการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจจะมากกว่าความเสี่ยงของการติดเชื้อเมื่อให้ยาแก่สตรีตั้งครรภ์ระหว่าง 24-32 สัปดาห์
คอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ให้ได้แก่ Betamethasone 12 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้ามในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์และอายุครรภ์ระหว่าง 24-32 สัปดาห์ทันทีและฉีดอีกครั้งใน 24 ชั่วโมงต่อมาหรือdexamethasone 6 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้าม 4 ครั้งห่างกันทุก 12 ชั่วโมงพบว่าทั้ง Betamethasone และ Dexamethasone ให้ผลใกล้เคียงกัน การให้คอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของปอดทารกนั่นให้เป็น single course เท่านั้น แม้ว่าทารกจะยังไม่คลอดหลังจากให้ยาไปแล้วเกิน 7 วัน ทั้งนี้จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ทุกๆ 7 วันจะให้ประโยชน์แก่ทารกหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อมารดาและทารกมากกว่ากัน
8. ในผู้ป่วยกลุ่ม Preterm PROM ที่ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง(expectant
management)จากการศึกษาพบว่าการให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยสามารถทำให้การตั้งครรภ์ยาวนานขึ้น ลดอัตราการติดเชื้อหลังคลอด ลดอัตราการติดเชื้อในทารกแรกเกิดและลดการเกิด Intraventricular Hemorrhage ยาปฏิชีวนะที่ใช้มีหลาย Regimen จากข้อมูลที่มีอยู่ว่าทุก Regimenให้ผลใกล้เคียงกันในการนำมาใช้ในผู้ป่วย Preterm PROM ตัวอย่างของยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ได้แก่ การให้ Ampicillin และ Erythromycin ทางเส้นเลือดดำ และหากทารกยังไม่คลอดให้ยาต่อโดยวิธีรับประทานอีก 5 วันหรือให้ Ampicillin/Sulbactam ทางเส้นเลือดดำตามด้วย Amoxicllin / Clavulanate รับประทาน อย่างไรก็ตามการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วย Preterm PROM ที่ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคองยังต้องมีการศึกษาต่อไป









บทสรุป


ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่พบได้บ่อย
และเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งของการตายปริกำหนดและทุพพลภาพของทารกแรกเกิด การวินิจฉัยภาวะดังกล่าวมักไม่มีปัญหา สำหรับแนวทางการดูแลรักษาสิ่งที่ต้องคำนึงคือ อายุครรภ์ การเจริญของปอดทารก(lung maturity)ภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก ภาวะแทรกซ้อนจากการที่ประมาณน้ำคร่ำลดลงเช่น ภาวะสายสะดือถูกกดทับ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด โดยทั่วไปเมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ หรือพิสูจน์ได้ว่าปอดทารกเจริญเต็มที่แล้วหรือมีภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือมีภาวะสายสะดือกดทับก็จะทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง หากปอดทารกในครรภ์ยังเจริญไม่เต็มที่หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ก็ให้ยาสเตียรอยด์เพื่อเร่งการเจริญของปอดทารกและอาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อและทำให้ latency period ยาวนานขึ้น แต่ถ้าเป็นภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ในไตรมาสที่สองโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ พบว่า อัตราตายของทารกยังสูงอยู่เพราะทารกมักตายจากภาวะ Pulmonary Hypoplasia อย่างไรก็ตามการดูแลที่สำคัญอีกระยะหนึ่งคือ การดูแลทารกแรกคลอด ทั้งกุมารแพทย์ควรจะได้รับการแจ้งไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดูแลทารกแรกคลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทารกมีน้ำหนักน้อย
แนวทางปฏิบัติทางคลีนิก (Clincal Practice Guidelines) ในการดูแลผู้ป่วยที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ได้แสดงไว้ใน Flow chart No. 1 - 4

 
 


น้ำคร่ำคืออะไร ?





 
ปกติเมื่อมีการตั้งครรภ์ ทารกจะเจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก แต่ไม่ได้อยู่ในมดลูกโดยตรงเลยทีเดียว เนื่องจากทารกจะลอยอยู่ในน้ำที่เรียกว่า"น้ำคร่ำ"และน้ำคร่ำที่ว่านี้ก็จะบรรจุอยู่ในถุงที่เรียกว่า ถุงน้ำคร่ำอีกทีหนึ่ง ถุงน้ำคร่ำจะบรรจุและอัดแน่นอยู่ภายในมดลูก
น้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกนั้นจะค่อยๆสร้างเพิ่มขึ้นมาทีละน้อย ขณะท้องได้ประมาณ 3 เดือน จะมีน้ำคร่ำประมาณ 50-80 มิลลิลิตร เมื่อท้องได้ 4 เดือน จะมีน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นเป็น 150-200 มิลลิลิตร และเมื่อใกล้คลอดน้ำคร่ำจะมีมากถึง 1 ลิตร
องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำคร่ำคือน้ำ ซึ่งมีปริมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เป็นของแข็งประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่เป็นของแข็งประกอบด้วยสารต่างๆมากมาย เช่น โปรตีน กรดยูริค สารยูเรีย รวมทั้งขี้ไคลของทารก ขนอ่อน เส้นผม และปัสสาวะของทารกด้วย
โดยปกติน้ำคร่ำไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนน้ำที่นิ่ง แต่จะมีการไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาโดยจะผ่านเข้าไปในตัวทารกจากการกลืนเข้าไป และถูกขับออกจากทารกโดยการถ่ายเป็นปัสสาวะออกมา
 
หน้าที่ของน้ำคร่ำ

น้ำคร่ำที่มีอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ให้ทารกหกคะเมนตีลังกาเล่นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่อีกมากมายหลายประการ เช่นเป็นแหล่งระบายของเสียจากตัวทารก เป็นแหล่งให้อาหารทารก รวมทั้งยังปรับอุณหภูมิในมดลูกให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของทารกด้วย น้ำคร่ำมีบทบาทค่อนข้างมากในการที่จะทำให้ทารกดำรงชีวิตอยู่ในมดลูกได้อย่างปกติสุข
การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป มักเป็นตัวบ่งบอกว่า ทารกในครรภ์อาจจะพิการหรือมีการเจริญเติบโตที่ไม่ดี
 
ตั้งครรภ์น้ำคร่ำมากเกินไป
แม่บางท่านที่ตั้งครรภ์ ถ้ามีปริมาณน้ำคร่ำที่สร้างขึ้นมามีมากกว่าปกติ เราจะเรียกการตั้งครรภ์นี้ว่า ตั้งครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios) ในทางการแพทย์ จะถือว่ากรณีคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มีภาวะครรภ์แฝดน้ำก็ต่อเมื่อ คุณหมอตรวจพบว่าปริมาณน้ำคร่ำมีมากกว่า 2 ลิตรขึ้นไป การมีน้ำคร่ำทีมากกว่าปกติจะทำให้มดลูกถูกดันจากแรงดันภายในให้ยืดขยายออกไปมากกว่าปกติ ผลดังกล่าวจะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก บางคนมดลูกที่โตมากไปกดหลอดเลือดในช่องท้อง ทำให้เลือดที่ไหลเวียนจากส่วนล่างของร่างกายกลับไปยังหัวใจเป็นไปได้อย่างไม่สะดวก ทำให้มีอาการบวมที่เท้าหรือบริเวณปากช่องคลอด
 
เกิดจากอะไร ?

การเกิดภาวะตั้งครรภ์บวมน้ำอาจมีสาเหตุความผิดปกติได้ทั้งจากตัวแม่ที่ตั้งครรภ์ หรือจากตัวทารกในครรภ์เอง สาเหตุจากคุณแม่ที่มักจะพบบ่อยที่สุดคือ การที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคเบาหวานร่วมด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี
ส่วนสาเหตุที่เกิดจากทารกในครรภ์นั้น ส่วนมากมักจะมาจากความพิการของทารก เช่น พบว่าทารกมีก้อนเนื้องอกที่ใบหน้า หรือมีการตีบตันของหลอดอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผลดังกล่าวนี้ทำให้ทารกกลืนน้ำคร่ำไปในร่างกายได้ยากหรือไม่ได้ ผลคือทำให้น้ำคร่ำไหลเวียนผ่านตัวทารกไปไม่ได้ เกิดการท่วมท้นอยู่ในถุงน้ำคร่ำนั่นเอง นอกจากสาเหตุที่กล่าวถึงแล้ว พบว่าคุณแม่จำนวนไม่น้อยซึ่งตรวจไม่พบความผิดปกติอะไรของทั้งตัวคุณแม่เองและตัวทารกในครรภ์ แต่ก็ยังมีภาวะครรภ์แฝดน้ำ ซึ่งครรภ์แฝดน้ำแบบนี้จะพบได้มากประมาณร้อยละ 60 ของครรภ์แฝดน้ำทั้งหมด
 
จะรักษาอย่างไร ?
การรักษาจะต้องทำ 2 อย่างไปพร้อมๆกัน อย่างแรกคือต้องระบายน้ำคร่ำที่มากเกินออกไปบ้าง เพราะถ้าไม่ระบายออก คุณแม่จะทรมาณจากการหายใจไม่ออก การระบายน้ำคร่ำออกสามารถทำได้โดยการเจาะและดูดน้ำคร่ำออกเป็นระยะๆ จนกว่าจะคลอด การดูแลรักษาประการที่สอง คือ ต้องรักษาที่สาเหตุ ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากคุณแม่เป็นโรคเบาหวาน ต้องให้ยาคุมระดับน้ำตาลให้ดี ภาวะครรภ์แฝดน้ำจะดีขึ้นได้สามารถทำได้โดยการเจาะและดูดน้ำคร่ำออก ภายหลังการดูดน้ำคร่ำก็จะมีการสร้างขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูดน้ำคร่ำออกเป็นระยะๆ จนกว่าจะคลอด
แต่ถ้าเป็นปัญหาจากทารกในครรภ์ ต้องประเมินว่าความพิการของทารกในครรภ์รุนแรงแค่ไหน ถ้ารุนแรงมากจนแน่ใจว่าคลอดออกมาแล้วไม่มีโอกาสรอดชีวิต ควรยุติการตั้งครรภ์ทันที แต่ถ้าความรุนแรงไม่มาก จำเป็นต้องรักษาแบบประคับประคองโดยการเจาะถุงน้ำไปก่อน แล้วค่อยให้การดูแลรักษาทารกภายหลังคลอด
 
ตั้งครรภ์น้ำคร่ำน้อยเกินไป

ในทางตรงกันข้ามคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยเกินไป เช่น ปกติควรจะมีน้ำคร่ำประมาณ 1 ลิตร เมื่อใกล้คลอดกลับมีแค่ 200-300 มิลลิลิตร หรือบางรายที่น้ำคร่ำน้อยมากอาจจะเหลือเพียงไม่กี่มิลลิลิตร แถมน้ำคร่ำยังมีลักษณะเหนียวข้น จนแทบไม่เป็นน้ำคร่ำด้วยซ้ำไป การตั้งครรภ์แบบนี้เรียกว่า การตั้งครรภ์น้ำคร่ำน้อย (Oilgohydramnios)
การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยมักไม่ก่อให้เกิดปัญหากับตัวคุณแม่มากนัก เพราะจะไม่แน่นอึดอัดเหมือนกับคุณแม่ที่มีน้ำคร่ำมาก บางคนจะรู้สึกสบายตัวด้วยซ้ำไป แต่สำหรับทารกแล้ว จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้หลายอย่าง ที่สำคัญคือถ้าน้ำคร่ำน้อยจะทำให้ทารกถูกบีบให้อยู่ในที่แคบ เพราะทารกที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่จะมีการเจริญเติบโตร่วมไปด้วยตลอดเวลา ถ้าในโพรงมดลูกมีน้ำคร่ำเพียงเล็กน้อย ผนังทรวงอกของทารกจะถูกกด ทำให้ขยายไม่ออกและเจริญเติบโตต่อไปไม่ได้ ผลคือทำให้ระบบการหายใจของทารกบกพร่อง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายหลังคลอด
 
ทำไมจึงเกิดภาวะนี้

สาเหตุของการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยก็คล้ายๆ กับการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมาก กล่าวคือ ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็มีบางส่วนที่ทราบสาเหตุ
สาเหตุที่มักจะพบได้บ่อยๆที่ทำให้คุณแม่มีการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยคือ การที่ทารกในครรภ์มีความพิการ แต่เป็นความพิการที่ทำให้มีการขับปัสสาวะออกมาได้น้อยกว่าปกติหรือไม่ได้เลย เช่น การที่มีภาวะไตฝ่อทั้ง 2 ข้าง การมีเนื้องอกอุดตันที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
นอกจากสาเหตุข้างต้น การมีน้ำคร่ำน้อยอาจเกิดจากการที่รกเสื่อมสภาพ จากสาเหตุต่างๆ เช่น คุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์เกินกำหนด ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก่อนกำหนด
 
รักษาอย่างไร ?
การรักษาภาวน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ต้องทำ 2 ประการใหญ่ คือ ประการแรก ต้องพยายามเพิ่มน้ำคร่ำ โดยการให้น้ำเกลือ เข้าไปในโพรงมดลูก ประการที่สอง หาสาเหตุ และรีบให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ถ้าพบว่าเกิดจากความพิการของทารกในครรภ์ ต้องดูว่าความพิการนั้นรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ ถ้าใช่ควรยุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้าไม่ก็ประคับประคองไปก่อน แล้วรีบให้การรักษาภายหลังคลอด หรือถ้ามั่นใจว่าการมีน้ำคร่ำน้อยเกิดจากการตั้งครรภ์เกินกำหนด ควรยุติการตั้งครรภ์ เพราะถ้าทิ้งไว้นาน ทารกในครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
น้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงตัวทารกในครรภ์ไม่ใช่น้ำธรรมดาๆ แต่มีบทบาท หน้าที่หลายประการ รวมทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย ถ้าปริมาณมีมากหรือน้อยเกินไป การตรวจพบสาเหตุรวมทั้งการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้คุณแม่และทารกในครรภ์ปลอดภัยได้.

 
 
 
 
 
เรื่อง รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณแพทย์ศาตร์ ศิริราชพยาบาล

 
 
 
 
 
 
 

4 ความคิดเห็น:

  1. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์



    คงจะเคยได้ยินคุณแม่บางท่านบอกว่า มีน้ำไหลจากช่องคลอดเหมือนอั้นปัสสาวะไม่อยู่ จริงๆ แล้ว คือน้ำคร่ำที่ไหลออกมาจากมดลูกนั่นเองครับ


    น้ำคร่ำจะช่วยปกป้อง และช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตและพัฒนาดีขึ้น


    นอกจากนี้น้ำคร่ำยังเป็นส่วนที่หล่อเลี้ยงอยู่ภายในหลอดลมและปอดของทารก เมื่อทารกมีการหายใจเข้าและออก น้ำคร่ำจะทำให้ปอดของทารกเจริญเติบโต และคอยปกป้องทารกจากภัยอันตราย ที่สำคัญสายสะดือจะอาศัยน้ำคร่ำช่วยไม่ให้ถูกกดทับเวลาที่ทารกเคลื่อนไหวหรือมีการบีบตัวของมดลูก






    ถุงน้ำคร่ำแตก


    ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมีผลทำให้ทารกตายหรือทุพพลภาพได้


    ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่วจะเกิดขึ้นก่อนเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์และไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อน หรือเมื่ออายุครรภ์ได้ครบกำหนดก็ตามโดยทั่วไปจะพบประมาณ 8% ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครบกำหนดสำหรับถุงน้ำคร่ำแตกก่อนครรภ์ครบกำหนดพบได้ประมาณ 1-3% ของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุ แต่มีภาวะที่อาจพบร่วมด้วย หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ คือ


    1. ภาวะติดเชื้อ เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ โดยเฉพาะในครรภ์ที่มีการคลอดก่อนกำหนดจากการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ทำให้ถุงน้ำคร่ำอ่อนแอลงและแตกได้ เช่น การติดเชื้อกามโรคของช่องคลอด


    2. คุณแม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ หรือเคยมีประวัติถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ในครรภ์ก่อน


    3. ครรภ์แฝด และครรภ์แฝดน้ำ ทำให้มดลูกมีความตึงตัวมากผิดปกติ


    4. ท่าทารกผิดปกติ เช่น ท่าก้น ท่าขวาง


    5. ส่วนนำของทารกไม่เข้าสู่เชิงกราน


    6. เคยตัดปากมดลูก หรือเคยได้รับการเย็บผูกปากมดลูก


    7. ภาวะที่มีความพิการแต่กำเนิดของมดลูก


    8. ภาวะการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีการรัดตัวของมดลูกเพิ่มขึ้น


    9. คุณแม่ที่เคยทำหัตถการต่างๆ เพื่อการวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอด เช่น การเจาะน้ำคร่ำ


    10. คุณแม่มีเศรษฐานะต่ำ


    11. คุณแม่ที่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์






    ....ต่อ

    ตอบลบ
  2. ...ต่อ.....


    ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์




    ผลข้างเคียง


    ผลข้างเคียงที่เกิดตามมาได้แก่ การติดเชื้อในมารดาและทารกการเจ็บครรภ์และการคลอดก่อนกำหนด ภาวการณ์ขาดออกซิเจนเนื่องจากสายสะดือถูกกด อัตราการผ่าท้องทำคลอดบุตรเพิ่มขึ้นความผิดปกติทางโครงสร้างของทารกในครรภ์ ดังนั้นการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว มีความสำคัญยิ่งต่อการลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อทั้งมารดาและทารก






    อาการ


    คุณแม่มักให้ประวัติว่ามีน้ำใสๆ ไหลจากช่องคลอดคล้ายกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยคุณแม่อาจจะคิดว่าเป็นอาการของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะราด มีน้ำไหลตามมาหน้าขาและไหลออกมาเรื่อยๆ ส่วนบางรายอาจได้ประวัติแค่มีน้ำเลอะบริเวณกางเกงในเป็นวงใหญ่ หรืออาจเปื้อนกระโปรงเล็กน้อยเท่านั้น


    ในกรณีที่ประวัติไม่ชัดเจนคุณหมอจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มขึ้นเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย นอกจากนี้ยังต้องแยกน้ำเดินออกมาจากสารคัดหลั่ง เช่น ตกขาวที่มีปริมาณมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปากมดลูกอักเสบ หรือมูกเลือด เป็นต้น






    การวินิจฉัย


    เป็นขั้นตอนที่แพทย์ต้องระวังการติดเชื้อจากการตรวจสอบภายในก่อนตรวจต้องดูบริเวณปากช่องคลอดด้วยว่ามีลักษณะเปียกชื้นมากน้อยเพียงใด สีของน้ำที่เห็นบริเวณปากช่องคลอดเป็นอย่างไรแล้วจึงใส่เครื่องมือที่ปราศจากเชื้อเข้าไปในช่องคลอด พร้อมกับสังเกตลักษณะและปริมาณของเหลวภายในช่องคลอด


    โดยทั่วไปหากถุงน้ำคร่ำแตกจริง จะพบว่ามีน้ำคร่ำไหลออกจากปากมดลูก ซึ่งปกติทั่วไปน้ำคร่ำจะไม่มีสี เว้นเสียแต่ช่วงครรภ์ใกล้จะครบกำหนด อาจพบคล้ายมีน้ำสีขาวปะปนได้ ในกรณีตรวจไม่พบของเหลวภายในช่องคลอดที่ชัดเจน คุณหมอจะให้คุณแม่ไอหรือเบ่ง โดยคุณหมอจะใช้มือกดบริเวณยอดมดลูก ขณะเดียวกันคุณหมอจะตรวจดูว่าปากมดลูกเปิดกี่เซนติเมตร และมีการบางตัวมากน้อยแค่ไหน


    การที่ตรวจพบว่ามีน้ำไหลออกมาจากรูของปากมดลูก หรือพบน้ำปะปนขี้เทาของทารก ถือว่าเป็นการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุดว่าเป็นน้ำคร่ำจริง แพทย์ที่ตรวจจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วมือผ่านเข้าไป เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คุณหมอจะใช้นิ้วตรวจสภาพมดลูกก็ต่อเมื่อมีการเจ็บครรภ์ หรือมีการชักนำให้เกิดการคลอดเท่านั้น






    ดูแล + รักษา ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์


    เมื่อวินิจฉัยภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ได้แล้ว แน่นอนว่าขั้นตอนต่อไปก็คือการดูแลรักษาคุณแม่ โดยจะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และสอบประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติประจำเดือนครั้งสุดท้ายเพื่อยืนยันอายุครรภ์ รวมทั้งประวัติการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูว่าขณะนี้ลูกในครรภ์อายุเท่าใด แล้วนำมาประกอบการตัดสินใจวางแผนการดูแลรักษาต่อไป


    ในรายที่มีอาการแสดงหรือตรวจพบ และยืนยันว่ามีการติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือมีหลักฐานที่แสดงว่าทารกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออันตรายจากสายสะดือกดทับ เนื่องจากภาวะน้ำคร่ำน้อยลง ต้องตัดสินใจให้คลอดโดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์


    คุณแม่คงเข้าใจแล้วนะครับ ว่าถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์หมายถึงอะไร และคุณจะรู้อย่างไรว่าน้ำที่ไหลออกมาคือน้ำคร่ำซึ่งเป็นสัญญาณเตือนคุณแม่ว่าต้องมาโรงพยาบาลแล้ว






    [ ที่มา...นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่ 299 ธันวาคม 2550 ]




    .

    ตอบลบ
  3. น้ำเดินก่อนกำหนดหรือถุงน้ำคล่ำแตกก่อนกำหนด

    ปกติถุงน้ำคล่ำแตกก่อนที่จะมีอาการปวดท้องคลอดเล็กน้อยถุงน้ำคล่ำแตกก่อนกำหนด หรือน้ำเดินก่อนกำหนดหมายถึงการที่ถุงน้ำคล่ำแตกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ความถี่ของโรคพบได้ร้อยละ 3 ของการตั้งครรภ์ และเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด การที่ถุงน้ำคล่ำแตกก่อนกำหนดอาจจะก่อนให้เกิดโรคแทรกซ้อนคือ เด็กไม่แข็งแรง ทารกติดเชื้อ มีการลอกของรกก่อนกำหนด หรืออาจจะรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต

    โครงสร้างของมดลูกขณะตั้งครรภ์






    มดลูกของคนที่ตั้งครรภ์จะประกอบไปด้วย ชั้นที่สำคัญไล่จากนอดไปสู่ทารกดังนี้
    •ชั้นนอกสุดคือชั้นผิวหนัง
    •ต่อมาเป็นกล้ามเนื้อหน้าท้อ
    •ชั้นต่อมาเป็นมดลูก uterine wall
    •ชั้นต่อมาเป็นถุงน้ำคล่ำ amniotic sac
    •ต่อเป็นรก placenta
    •ต่อมาจะถึงตัวเด็ก fetus

    การที่ถุงน้ำคล่ำแตกหมายถึงถุง amniotic sac แตกทำให้มีน้ำคล่ำไหลออกจากมดลูก เชื้อโรคจากภายนอกจะมีโอกาศเข้าไปในมดลูก ซึ่งอาจจะทำให้มีการอักเสบของมดลูก และตัวเด็ก

    การที่น้ำเดินก่อนกำหนดจะเกิดผลเสียอะไรบ้าง

    การที่น้ำเดินก่อนกำหนดอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ
    •มีการกดสายสะดือทำให้ทารกขาดเลือดขาดออกซิเจน ซึ่งอาจจะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์
    •เชื้อเร็ดรอดเข้าไปในมดลูกทำให้ทารกและแม่มีการติดเชื้อ
    •คลอดก่อนกำหนด ซึ่งหากอายุครรภ์น้อยๆอาจจะมีความพิการของปอดและสมอง

    การที่มีน้ำเดินหมายถึงน้ำคล่ำหรือไม่

    การที่มีน้ำเดินออกมาจากช่องคลอดไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นถุงน้ำคล่ำแตก จะต้องมีการตรวจยืนยันว่าใช่น้ำคล่ำหรือไม่ การตรวจดังกล่าวได้แก่
    •การวัดความเป็นกรดหรือด่าง
    •การนำน้ำนั้นมาทำ fern test หากให้ผลบวกแสดงว่าเป็นน้ำคล่ำ
    •การตรวจภายในเพื่อดูว่าน้ำที่เดินออกจากปากมดลูกหรือไม่ โดยการตรวจภายในและให้ผู้ป่วยไอ หากมีน้ำเดินจะพบว่าน้ำออกจากปากมดลูก
    •ตรวจดูปากมดลูกว่ามีการถ่างขยายมากน้อยแค่ไหน
    •การตรวจ Ultrasound

    นอกจากน้ำเดินแล้วแพทย์จะต้องติดตามว่า มดลูกมีการบีบตัวหรือไม่ มีการตกเลือดหรือไม่ และมีไข้หรือไม่

    สาเหตุของน้ำเดินก่อนกำหนด

    สาเหตุที่แท้จริงไม่มีใครทราบ แต่หากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้คุณจะเสี่ยงต่อน้ำเดินก่อนกำหนด
    •สูบบุหรี่
    •มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธุ์
    •เคยน้ำเดินก่อนกำหนดมาก่อน
    •เคยมีประวัติตกเลือดขณะตั้งครรภ์มาก่อน

    หากมีน้ำเดินก่อนกำหนดจริงจะต้องทำอย่างไรบ้าง

    ในการรักษาหรือดูผู้ที่รที่มีน้ำเดินก่อนกำหนดจะต้องดูอายุครรภ์ว่าตั้งครรภ์กี่สัปดาห์ เพราะอายุครรภ์จะบอกว่าเด็กโตพอที่จะคลอดออกมาแล้วมีชีวิต

    ผู้ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์

    โดยปกติผู้ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาหฺ์และมีน้ำเดินก่อนกำหนด มักจะคลอดภายใน 1 สัปดาห์ เด็กที่คลอดมามักจะมีความผิดปกติของ โรคปอด การพัฒนาของสมอง มีพิการของสมอง ทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Potter’s syndrome

    ผู้ที่มีอายุครรภ์อายุ 24-31 สัปดาห์

    ทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์มักจะมีความพิการ หรืออาจจะเสียชีวิต ดังนั้นหากมีน้ำเดินก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าว แพทย์จะพยายามให้อายุครรภ์ครบ 32 สัปดาห์จึงจะให้คลอด แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และให้ยา steriod เพื่อเร่งให้ปอดเด็กแข็งแรง ระหว่างนี้แพทย์จะเฝ้าระวังดังต่อไปนี้
    •ติดตามเรื่องไข้หากคุณแม่มีไข้มากกว่า 38 องศาแพทย์จะเร่งให้คลอดเพราะว่านั่นหมายถึงมีการติดเชื้อของมดลูก
    •ติดตามการเต้นของหัวใจแม่และเด็ก หากหัวใจเด็กเต้นเร็วหรือช้า แสดงว่าเด็กเริ่มจะมีปัญหาจำเป้นต้องเร่งคลอด
    •การบีบตัวของมดลูก
    •อาการปวดท้องของคุณแม่ หากปวดมากขึ้นแสดงว่าอาจจะมีปัญหา
    •เจาะเลือดคุณแม่เป็นระยะว่ามีการติดเชื้อหรือไม่

    หากมีอาการต่อไปนี้ควรจะเร่งการคลอด
    •มีการติดเชื้อของมดลูก chorioamnionitis
    •รกลอกตัว
    •เด็กมีสัญญาณชีพไม่ปกติ

    ผู้ที่มีอายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์

    เด็กอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ซึ่งปอดเริ่มจะแข็งแรงสามารถคลอดออกมาได้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องเจาะเอาน้ำคล่ำมาพิสูจน์ว่าปอดเด็กแข็งแรงพอ ดังนั้นเด็กในกลุ่มนี้สามารถคลอดออกมาได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้เจาะน้ำคล่ำว่าปอดแข็งแรงพอหรือไม่ แนะนำว่าให้ยา steroid และยาปฏิชีวนะ 48 ชมแล้วจึงไปคลอด

    อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ขึ้นไป

    หากอายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ขึ้นไปแพทย์จะแนะนำให้เร่งคลอดเพราะหากไม่เร่งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ



    .

    ตอบลบ
  4. คุณแม่ท้องระวัง น้ำคร่ำแห้ง !!



    คุณแม่ท้องระวัง น้ำคร่ำแห้ง !! (M&C แม่และเด็ก)

    คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เฝ้าถนอมเจ้าตัวเล็กมาโดยตลอด 6 -7 เดือน ป่านนี้เตรียมเนื้อเตรียมตัวในการคลอดกันบ้างแล้วหรือยังคะ เริ่มตระเตรียมของใช้จำเป็นในขณะที่พอมีแรงเดินเหินอยู่ก็ดีค่ะ ถึงเวลาเจ็บท้องคลอดจะได้ไม่ฉุกละหุกจนเกินไป เตรียมพร้อมเสมอเมื่อถึงเวลาก็ตรงไป รพ. เลย

    และช่วงไตรมาส 3 นี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะมีเวลาสังเกตการดิ้นของเจ้าตัวเล็กบ้างนะคะ ว่าลูกน้อยยังดิ้นอยู่มั้ย จำนวนครั้งที่ดิ้นยังสม่ำเสมอเหมือนเดิมรึเปล่า เพราะช่วงนี้เรียกว่าเป็นช่วงเฝ้าระวังได้เลยนะคะ ต้องคอยประคับประครองให้การตั้งครรภ์นี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีค่ะ และภาวะอีกอย่างนึงที่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ น้ำคร่ำแห้ง จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องอย่างไรนั้น ตามมาเลยค่ะ

    รู้จักน้ำคร่ำดีแค่ไหน???

    น้ำคร่ำ (Amniotic Fluid) เป็นของเหลวที่ห่อหุ้มทารกในครรภ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ และที่มาตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ โดยในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ องค์ประกอบหลักของน้ำคร่ำจะมาจากน้ำเหลืองของเลือดมารดา ที่ซึมผ่านรกและเยื่อหุ้มเด็กนั่นเองค่ะ ทารกอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำและถูกหล่อด้วยน้ำใส ๆ ที่เรียกว่า "น้ำคร่ำ" ถุงน้ำคร่ำเป็นเยื่อบาง ๆ ใส ๆ พองกลมคล้ายลูกโป่ง ผนังของถุงด้านนอกแนบติดไปกับผนังมดลูก

    น้ำคร่ำเป็นเครื่องป้องกันการกระทบกระเทือนจากภายนอกได้เป็นอย่างดี ซึ่งในแต่ละช่วงจะมีที่มาแตกต่างกันไป แถมน้ำคร่ำยังมีความจำเป็นต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของลูก ในเรื่องกระดูก และกล้ามเนื้อด้วย คือเมื่อมีน้ำคร่ำ ลูกก็มีที่ในการขยับขาแขน พัฒนากล้ามเนื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และที่สำคัญ น้ำคร่ำยังเป็นเหมือนเกราะป้องกันอันตราย เป็นกันชนกันกระแทกให้กับเจ้าตัวน้อยของเราอีกด้วยค่ะ

    ว่าด้วยปัจจัยที่ทำให้น้ำคร่ำแห้ง

    กรณีน้ำคร่ำแห้งหรือน้อย อาจเกิดจากถุงน้ำคร่ำรั่ว ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หรือมีการสร้างน้ำคร่ำน้อย เนื่องจากรกเสื่อม รกเล็ก แม่มีภาวะแทรกซ้อนครรภ์เป็นพิษ ความดัน เบาหวาน โรคอื่นๆ หรือทารกเติบโตช้า ตัวเล็ก

    ปริมาณน้ำคร่ำแห้งหรือน้อย ส่งผลทำให้สายสะดือกดรัดได้ง่าย เนื่องจากเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงไม่ดี หญิงตั้งครรภ์ที่ปริมาณน้ำคร่ำน้อยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แพทย์ต้องนัดมาตรวจอย่างสม่ำเสมอโดยการทำอัลตราซาวด์ ทั้งนี้มีดัชนีในการตรวจวัดปริมาณน้ำคร่ำ โดยแบ่งมดลูกออกเป็น 4 ส่วน รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ถ้าดัชนีน้ำคร่ำน้อยกว่า 5 เซนติเมตร ต้องระวัง อาจจะต้องให้นอนโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการว่าสาเหตุเกิดจากอะไร รวมทั้งประเมินสุขภาพของทารกอย่างใกล้ชิดประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าประเมินแล้วทารกสุขภาพไม่ดี อาจยุติการตั้งครรภ์และนำมาเลี้ยงข้างนอกต่อ

    อันตรายที่เกิดจากน้ำคร่ำแห้ง

    น้ำคร่ำในถุงน้ำคร่ำแห้งขอดลงไปเมื่อใด ความปลอดภัยของทารกน้อยที่นอนอยู่ในท้องแม่ ก็จะมีอันตรายมากเท่านั้นนะคะ อย่างที่บอกว่าน้ำคร่ำจะช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนต่อทารก ช่วยรักษาอุณหภูมิและช่วยให้ทารกเคลื่อนไหวได้สะดวก ปริมาณน้ำคร่ำยังเป็นตัวบอกถึงสุขภาพทารกด้วย เพราะถ้าทารกได้อาหารน้อยมีการไหลเวียนของเลือดลดลง ปริมาณปัสสาวะก็จะลดลงทำให้น้ำคร่ำลดลงได้ ถ้าน้ำคร่ำเหลือน้อยมาก ๆ โอกาสที่สายสะดือจะถูกกดทับ โดยตัวของทารกเองจนเสียชีวิตในครรภ์ก็สูงขึ้นค่ะ

    เพราะฉะนั้น การฝากครรภ์กับสูติแพทย์ตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการคัดกรองภาวะผิดปกติของปริมาณน้ำคร่ำ เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาที่ ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดค่ะ และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องการพลังงานจากสารอาหารมากขึ้นจากเดิมอีกราวๆ 200 แคลอรีต่อวัน คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนสูง เช่น นม ไข่ เนื้อปลา ปลาเล็กปลาน้อย ผัก และผลไม้ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสะสมสารอาหารที่จำเป็นไว้สำหรับเตรียมให้น้ำนมกับลูก หลังคลอดนั่นเองค่ะ

    หน้าที่สำคัญของน้ำคร่ำกับเจ้าตัวน้อย

    1. ทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกันอันตรายจากภายนอกให้กับทารกในครรภ์ ช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อสามารถพัฒนาได้อย่างอิสระ

    2. ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของทารกให้คงที่ และเป็นแหล่งอาหารส่วนน้อยสำหรับทารก

    3. ช่วยให้พัฒนาการการเจริญเติบโตของปอด และทางเดินอาหารมีความเหมาะสม โดยที่ทารกจะหายใจและกลืนน้ำคร่ำเข้าไปในปอดและทางเดินอาหาร





    .

    ตอบลบ