ไทรอยด์เป็นพิษ ตอนท้อง...ไม่ดีแน่
ไทรอยด์เป็นพิษ ตอนท้อง...ไม่ดีแน่ (momypedia)
โดย: ผศ.พญ.วัลยา จงเจริญประเสริฐ
โดย: ผศ.พญ.วัลยา จงเจริญประเสริฐ
คงจะคุ้นหูมานานแล้ว สำหรับอาการไทรอยด์เป็นพิษ แต่คุณอาจไม่เคยใส่ใจเพราะคิดว่าไกลตัว แต่สำหรับคนที่เตรียมตัวเป็นคุณแม่ เรื่องนี้ห้ามมองข้าม ก็เพราะต่อมไทรอยด์มีความสำคัญต่อสมองของลูกน้อยในท้องน่ะสิคะ
ไทรอยด์สำคัญต่อสมองลูก
ต่อมไทรอยด์ก็มีความจำเป็นต่อร่างกายตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในท้องแม่ เพราะต่อมนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ทารกมีพัฒนาการทางสมอง ทำให้ระบบประสาททำงานปกติ ป้องกันการเกิดโรคเอ๋อ หรือภาวะปัญญาอ่อน เมื่อร่างกายเจริญเติบโตขึ้นและระบบประสาทพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว หน้าที่ของฮอร์โมนไทรอยด์จะเปลี่ยนไป คือจะกระตุ้นให้ร่างกายใช้พลังงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไปค่ะ
ทำไม...ไทรอยด์เป็นพิษ
ไทรอยด์เป็นพิษ หมายถึง ภาวะที่เกิดจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงขึ้น เป็นผลจากการที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้น จึงไปกระตุ้นร่างกายให้ใช้พลังงานมากขึ้นหรือมีเมตาบอลิซึมมากขึ้น คนที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษจึงมีอาการคล้ายกับผ่านการทำงานมาอย่างหนัก ไปวิ่งหรือออกกำลังกายมาอย่างหนัก ทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น ทานจุแต่น้ำหนักลดลงค่ะ
ถ้าท้องนี้...ไทรอยด์เป็นพิษ
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์ มี 2 ชนิด คือ
1. ไทรอยด์เป็นพิษที่พบเฉพาะในคนตั้งครรภ์ (Gestational thyrotoxicsis) มี อาการคล้ายไทรอยด์เป็นพิษทั่ว ๆ ไป คือ รับประทานจุแต่น้ำหนักไม่ขึ้น เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้หงุดหงิด ขี้ร้อน บางครั้งมีอาการ คอโต หรือที่เรียกว่าคอพอกร่วมกับอาการเด่น คือ อาการที่คล้ายคนแพ้ท้องมาก ๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน และรับประทานอาหารไม่ได้ อาจอาเจียนมากจนน้ำหนักลด บางครั้งอาจจะมีสารคีโตนที่เกิดจากภาวะขาดอาหารคั่งในร่างกาย อาการจะแสดงในช่วง 3 เดือนแรก แต่หลังจากผ่านไตรมาสแรกไปแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองค่ะ
2. ไทรอยด์เป็นพิษชนิด Graves' Disease คือ โรคไทรอยด์เป็นพิษที่มักมีอาการตาโปนร่วมด้วย พบได้ทั่วไปแต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายค่ะ คุณแม่อาจจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษชนิดนี้อยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ และมาตั้งครรภ์หรือมาเป็นระหว่างตั้งครรภ์เลยก็มีบ้างประปราย ไทรอยด์เป็นพิษชนิดนี้พบได้น้อยกว่าชนิดแรกค่ะ แต่มีอันตรายมากกว่าเพราะมีผลกระทบทั้งกับตัวคุณแม่และเจ้าตัวเล็กในท้องด้วย
ผลกระทบต่อคุณแม่ คือ น้ำหนักของคุณแม่จะไม่ขึ้นตามเกณฑ์ คล้ายภาวะขาดอาหาร ส่งผลให้มีโอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ง่ายกว่าคนปกติ ขณะเดียวกันในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 3 คุณแม่อาจมีอาการความดันสูงจนทำให้ครรภ์เป็นพิษมากกว่าปกติอีกด้วย และถ้าละเลยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะเกิดภาวะวิกฤตของโรคไทรอยด์ได้ คือ จะทำให้หัวใจคุณแม่เต้นผิดจังหวะ ตับทำงานผิดปกติ หรืออาจทำให้คุณแม่หัวใจวายได้ค่ะ
ผลกระทบต่อลูก คือ คุณแม่มีโอกาสแท้งมากกว่าปกติในช่วง 3 เดือนแรก เมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้ว หากยังมีอาการไทรอยด์เป็นพิษอยู่และไม่ได้รับการรักษา ลูกก็อาจจะตัวเล็กกว่าอายุครรภ์ คลอดก่อนกำหนด รวมถึงมีโอกาสที่ลูกเป็นไทรอยด์เป็นพิษและคอโตตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ด้วย ซึ่งก็จะกระทบต่อการพัฒนาสมองจนอาจมีภาวะปัญญาอ่อนได้
ไทรอยด์เป็นพิษ...รักษาได้
ไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ โดยมากคุณหมอจะรักษาตามอาการค่ะ ส่วนใหญ่รักษาโดยการให้น้ำเกลือ ให้สารอาหารทางน้ำเกลือ และให้ยาแก้อาเจียน ถ้าคุณแม่มีอาการใจสั่นก็จะให้ยาช่วยลดการเต้นของหัวใจ แต่หากคุณแม่มีอาการมาก ๆ คุณหมอจะให้ยาต้านไทรอยด์ เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจะให้เฉพาะช่วง 3 เดือนแรกเท่านั้น
ส่วนไทรอยด์เป็นพิษแบบ Graves' Disease มีวิธีการรักษาที่ต่างออกไปค่ะ โดยปกติทั่วไปโรคนี้มีการรักษา 3 แบบ คือ ผ่าตัด กินยาต้านหรือลดฮอร์โมนไทรอยด์ และกลืนไอโอดีนกัมมันตรังสี เวลารักษาผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ คุณหมอจะแนะนำว่าอย่าเพิ่งตั้งครรภ์ ในช่วงที่ยังต้องรักษาไทรอยด์เป็นพิษหรือฮอร์โมนยังสูง คุณหมอจะให้คุมกำเนิดไปก่อนค่ะ
แต่หากบังเอิญตั้งครรภ์ไปแล้ว คุณหมอจะเลือกวิธีการรักษาต่างจากไทรอยด์เป็นพิษแบบ Graves' Disease ทั่ว ๆ ไป คือ จะเลือกให้ผู้ป่วยกินยาลดฮอร์โมนร่วมกับยาลดอาการใจสั่น แต่จะไม่รักษาด้วยการกลืนรังสีไอโอดีน เพราะกัมมันตรังสีในไอโอดีนจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ค่ะ
การรักษา แม่ท้องที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษนั้น คุณหมอจะนัดตรวจบ่อยกว่าคนไข้ที่ไม่ท้อง โดยจะนัดไปตรวจทุกเดือน แต่ถ้าเป็นคนไข้ทั่วไปก็จะนัด 2-3 เดือนต่อครั้ง เพราะฮอร์โมนคนท้องนั้นเปลี่ยนแปลงทุกเดือน โดยคุณหมอจะพยายามปรับขนาดยาให้คุณให้คุณแม่ใช้น้อยที่สุด เพื่อควบคุมฮอร์โมนไทรอยด์ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ ส่วนมากมักใช้ยาเพียง 1/2-2 เม็ดต่อวัน และจะหยุดให้ยาประมาณเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ ก่อนกำหนดคลอด 2 อาทิตย์ค่ะ
หลังคลอดแล้ว 6-8 อาทิตย์จึงจะวัดระดับฮอร์โมนใหม่และปรับยากันอีกครั้ง แต่มีข้อยกเว้นเหมือนกันนะคะ คุณแม่บางท่านถ้าควบคุมระดับฮอร์โมนยาก บางครั้งคุณหมออาจจะไม่หยุดยาช่วงคลอดก็ได้ค่ะ
วางแผนก่อนท้อง...สำคัญนะ
การวางแผนก่อนตั้งครรภ์มีความสำคัญมากค่ะ ปกติคนที่เป็นโรคนี้จะมีบุตรยากช่วงที่ฮอร์โมนยังสูง เพราะไข่จะไม่ตก ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ แต่เมื่อรักษาดีแล้วไข่จะตกปกติ ประจำเดือนจะกลับมาปกติ แต่คุณหมอก็จะแนะนำให้คุมกำเนิดระหว่างที่ยังรักษา
หากเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษอยู่แล้ว อย่าชะล่าใจนะคะ ดีที่สุดคือต้องรักษาจนฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติเสียก่อน และควรแจ้งคุณหมอให้ทราบว่าตั้งใจจะมีเจ้าตัวเล็กเมื่อไหร่ เพื่อจะได้วางแผนการตั้งครรภ์ตั้งแต่แรก สำหรับการรักษาด้วยวิธีกินยาหรือการผ่าตัดนั้น เมื่อฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติแล้ว คุณก็สามารถหยุดการคุมกำเนิดได้เลยค่ะ
แต่ถ้ารักษาด้วยการกลืนรังสีไอโอดีน ต้องรอให้ครบ 1 ปีเสียก่อนหลังได้รับรังสีครั้งสุดท้าย เนื่องจากรังสีไอโอดีนจะอยู่ในร่างกายและส่งผลต่อเด็กในครรภ์ได้ เพราะต่อมไทรอยด์ของเด็กช่วงที่อยู่ในครรภ์ ค่อนข้างไวต่อรังสีไอโอดีน จึงอาจจะพลอยถูกรังสียับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไปด้วยค่ะ
แม้อาการไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์จะสามารถรักษาได้ แต่น่าจะดีกว่านะคะหากคุณแม่เตรียมสุขภาพกายให้ปราศจากโรคภัย สุขภาพใจจะได้แข็งแรงไปด้วย เจ้าตัวเล็กจะได้เติบโตอย่างสมบูรณ์และแข็งแรงไงคะ
ยาไทรอยด์...ส่งผลต่อลูกในท้องหรือไม่?
คุณแม่ที่ไทรอยด์เป็นพิษและต้องกินยา อาจมีข้อสงสัยและวิตกกังวลว่าจะส่งผลต่อเจ้าตัวเล็กในท้องหรือไม่ คุณหมอบอกว่ายาต้านไทรอยด์มี 2 ชนิดค่ะ คือ PTU หรือ Mehtimazole ซึ่งสามารถใช้ได้ในคนท้อง และตามปกติขนาดยาที่คุณหมอให้คุณแม่มักไม่เกิน 3-4 เม็ดต่อวัน จะไม่เป็นอันตรายต่อลูกค่ะ เพราะยาผ่านรกได้น้อย
หากคุณแม่มีอาการมาก ต้องใช้ยาขนาดที่มากขึ้น เช่น 6-8 เม็ด กรณีนี้ยาอาจจะมีผลต่อลูกน้อย คุณหมออาจจะแนะนำให้คุณแม่รักษาด้วยการผ่าตัด โดยจะเลือกเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัด คือ ประมาณเดือนที่ 4-7 ของการตั้งครรภ์ เพราะหากให้ยามากเกินไป ยาจะผ่านรกไปสู่เจ้าตัวเล็กในปริมาณมากขึ้น และไปลดการสร้างฮอร์โมนของลูกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกเกิดคอพอกในครรภ์ คลอดยาก ตลอดจนมีผลต่อการพัฒนาสมอง มีโอกาสสมองฝ่อหรือมีปัญหาเรื่องโรคเอ๋อได้ค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น