ฝีดาษลิง คืออะไร ติดต่อจากลิงสู่คนได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน
เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักโรค “ฝีดาษ” หรือไข้ทรพิษ ที่เคยคร่าชีวิตคคนในสมัยก่อนมาหลายร้อยหลายพันคนมาแล้ว เพราะเป็นโรคติดต่อที่น่ากลัว อาการรุนแรง และติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ง่าย แต่ในสมัยนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก เพราะเรามีวัคซีนที่ฉีดป้องกันให้เราตั้งแต่เด็ก อีกทั้งการศึกษา ระบบสาธารณูปโภคที่สะอาด และทันสมัย ทำให้การติดเชื้อเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีโรคฝีดาษอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่มีอยู่จริง นั่นคือ “ฝีดาษลิง”
ฝีดาษลิง คืออะไร แตกต่างจากโรคฝีดาษปกติอย่างไร
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส orthopoxvirus เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่พบได้น้อย โรคนี้พบมากในแอฟริกากลาง และตะวันตก โดยเชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคน และฝีดาษวัว พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงก็อาจติดเชื้อได้ รวมทั้งคนก็สามารถติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
ฝีดาษลิง ติดต่อในคนได้อย่างไร
สำหรับในคน สามารถติดโรคฝีดาษลิงนี้ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สิ่งคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยมาก
อาการของโรคฝีดาษลิงในคน
ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการป่วยของโรคฝีดาษลิงคือ
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- อ่อนเพลีย
- จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย
- จากผื่น จะกลายเป็นตุ่มหนอง
- ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา
วิธีรักษาโรคฝีดาษลิงในคน
ตามปกติแล้ว อาการป่วยโรคฝีดาษลิงในคนจะค่อยๆ หายได้เองหลังจากผ่านไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพิ่มเติม
ในประเทศไทยขอยืนยันว่าไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงดังกล่าว แต่ก็อาจมีความเสี่ยงในประชาชนบางกลุ่ม ได้แก่ แรงงาน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว นักธุรกิจ ที่เดินทางไปหรือมาจากประเทศที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ดังนั้นใครที่เพิ่งเดินทางมาจากประเทศในแถบทวีปแอฟริกา แล้วมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
ฝีดาษลิง : โรคนี้มีอาการอย่างไร ติดต่อทางไหนได้บ้าง
หลายประเทศในยุโรป รวมถึงในสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และออสเตรเลีย กำลังติดตามการเกิดโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งเป็นโรคที่พบไม่บ่อยหรือไม่ค่อยรู้จักมาก่อน
ล่าสุดทางการสหราชอาณาจักรออกคำแนะนำระบุว่า ผู้ใดก็ตามที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิงควรกักตัวนาน 21 วัน
คำแนะนำของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency—UKHSA) นี้ ใช้กับทุกคนที่มีการสัมผัสโดยตรง หรืออยู่ภายในบ้านเดียวกันกับผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ
ผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้รับคำแนะนำให้เปิดเผยรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อแกะรอยการสัมผัสติดต่อ ยกเลิกการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ สตรีมีครรภ์ และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
สหราชอาณาจักรมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว 20 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 80 คนทั่วยุโรป, สหรัฐฯ, แคนาดา, อิสราเอล และออสเตรเลีย
ฝีดาษลิงพบมากแค่ไหน
โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ
ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น
โดยมีไวรัสสองสายพันธุ์หลักคือ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสวัคซิเนีย (vaccinia virus), ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus), ไวรัสวาริโอลา (variola virus) เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ
ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วมีผู้ที่เดินทางมาจากไนจีเรีย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยมีความรุนแรง แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันเรื่องนี้
ผู้ติดเชื้ออีกรายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ติดเชื้อมาจากคนไข้คนหนึ่ง
ส่วนผู้ติดเชื้อรายล่าสุดหลายคน ไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงกัน หรือมีประวัติการเดินทางใด ๆ และดูเหมือนจะเป็นการติดเชื้อจากการแพร่กระจายของเชื้อในแหล่งชุมชนในสหราชอาณาจักร
สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency—UKHSA) ระบุว่า ใครที่กังวลว่า อาจจะติดเชื้อ ควรเข้าพบเจ้าหน้าที่การแพทย์ แต่ควรมีการติดต่อไปยังสถานพยาบาลก่อนที่จะเดินทางไป
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทยระบุว่า อาการของโรคฝีดาษลิงรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (smallpox) แต่ก็ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่คนติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีโอกาสน้อยในการแพร่จากคนสู่คน
อาการเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลียและซึมเซา
เมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา รอยโรคนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา
อาการป่วยกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
เชื้อฝีดาษลิงติดต่อกันอย่างไร
ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก
โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน
ยังไม่เคยมีการระบุว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่าง ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า
อันตรายแค่ไหน
ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์
ฝีดาษลิง อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก
โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึง10%
การระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน
มีการพบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในลิงที่ถูกขังไว้ และนับตั้งแต่ปี 1970 มีรายงานการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกา
ในปี 2003 เคยมีการระบาดเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการพบโรคนี้นอกแอฟริกา คนไข้หลายคนติดโรคจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์คล้ายหนู ที่ติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิดที่มีการนำเข้ามาในสหรัฐฯ รวมแล้วมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 81 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
ในปี 2017 ไนจีเรียเผชิญกับการระบาดที่มีหลักฐานบันทึกไว้ขนาดใหญ่ที่สุด ราว 40 ปี หลังจากที่ไนจีเรียพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันรายสุดท้าย การระบาดครั้งนั้นมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อราว 172 ราย และ 75% ของเหยื่อ เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 21-40 ปี
รักษาอย่างไร
ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ
การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่ มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง
ประชาชนควรกังวลหรือไม่
จากข้อมูลของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England--PHE) ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าใกล้จุดที่จะการระบาดทั่วประเทศ ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อต่ำ
ศาสตราจารย์โจนาธาน บอลล์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) กล่าวว่า "ความจริงที่ว่า มีเพียง 1 ใน 50 ของคนที่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงระยะแรกเท่านั้นที่ติดเชื้อ แสดงให้เห็นว่า เชื้อนี้มีการแพร่กระจายน้อย"
"เป็นเรื่องผิดที่คิดว่า เรากำลังเข้าใกล้การระบาดทั่วประเทศ"
ดร.นิก ฟิน รองผู้อำนวยการสำนักงานบริการโรคติดเชื้อแห่งชาติ (National Infection Service) ที่ PHE กล่าวเพิ่มเติมว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำว่า ฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายจากคนสู่คน และความเสี่ยงโดยรวมต่อประชาชนทั่วไปก็ต่ำมาก
สำนักงานบริการโรคติดเชื้อแห่งชาติกำลังติดตามอาการของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้ เพื่อให้คำแนะนำและสังเกตอาการของพวกเขาตามความจำเป็น
ไทยตั้งศูนย์เฝ้าระวัง คัดกรอง
22 พ.ค. นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า กรมควบคุมโรคได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงแล้วประมาณ 80 ราย และมีผู้ป่วยสงสัยเป็นฝีดาษลิงอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 50 ราย ใน 11 ประเทศที่ไม่ใช่แหล่งระบาดของโรคฝีดาษลิงและมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในอีกหลายประเทศ โดยผู้ป่วยรายแรกที่พบในการระบาดครั้งนี้เป็นผู้ป่วยจากสหราชอาณาจักรที่มีประวัติเดินทางไปยังประเทศไนจีเรียช่วงปลายเดือนเมษายน ด้วยเหตุนี้ ทางสหราชอาณาจักรจึงเริ่มดำเนินการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ซึ่งในขณะนี้พบผู้ป่วย กว่า 100 รายแล้ว จาก 15 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมันนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และกรีซ
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า แม้ไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่เป็นช่วงที่เริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด 19 ดังนั้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตกได้ ทั้งในช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ
ข้อมูลกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค ระบุว่า ระหว่าง 1-22 พ.ค. มีจำนวนผู้เดินทางที่ลงทะเบียนจาก 3 ประเทศเสี่ยงสูงดังนี้ 13,142 คน จากสหราชอาณาจักร 1,352 คน จากสเปน และ 268 คน จากโปรตุเกส
คำเตือนสำหรับผู้เดินทางไปประเทศเสี่ยง
กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทยก็ตาม หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม
หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 5903839 หรือ 1422
ที่มา :: https://www.bbc.com/