การรับบุตรบุญธรรม
การรับบุตรบุญธรรม
ชาวบริติชที่มีภูมิลำเนาในสหราชอาณาจักร ซึ่งประสงค์จะรับเด็กไทยหรือบุคคลสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรม (ไม่ว่าจะเป็นเด็กจากบ้านเด็กกำพร้า หรือเด็กที่เป็นลูกติดของคู่สมรสตนเอง หรือเด็กที่เป็นหลานของคู่สมรสตนเอง) ควรยื่นคำขอต่อ Department for Education (สำหรับ Great Britain) หรือ Department of Health (สำหรับ Northern Ireland) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรม และจะส่งเรื่องไปที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม
บุตรบุญธรรมที่ได้มีการจดทะเบียนโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ต่อบิดามารดาบุญธรรมดังนี้ คือ
1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาบุญธรรม คือ มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้ได้รับการศึกษา มีสิทธิได้ใช้นามสกุลของบิดามารดาบุญธรรม และมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย
2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาบุญธรรม ทำนองเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย
สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาบุญธรรม
1. บิดามารดาบุญธรรมมีสิทธิใช้อำนาจปกครองกับบุตรบุญธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับบิดามารดากับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นบุตรบุญธรรมจึงต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาบุญธรรม คือ มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรบุญธรรม ทำโทษบุตรบุญธรรมตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เป็นต้น
2. บิดามารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม แต่สามารถรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมแทน
3. บิดามารดาบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมทำนองเดียวกับบิดามารดาซึ่งมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยชอบกฎหมาย
คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
· ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และแก่กว่าผู้เป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
· ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ต้องให้ความยินยอมด้วย
· กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน
· กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมสามารถขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่อำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาได้เลย ทั้งนี้ ไม่มีการจำกัดอายุของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
· ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องให้คู่สมรสไปให้ความยินยอม
– หากเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น
– หากผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติจะต้องมีคู่สมรส ยกเว้นผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้มีสัญชาติไทย
– ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายของประเทศที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่
– การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายไทยแล้วเท่านั้น
เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
ก. ฝ่ายผู้ขอรับเด็ก
ผู้ขอรับเด็กต้องติดต่อส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือหน่วยงานที่รัฐบาลประเทศนั้นมอบหมาย หรือองค์การเอกชนที่รัฐบาลของประเทศนั้นอนุญาตให้ดำเนินการเรื่องบุตรบุญธรรม เพื่อจัดหาเอกสารต่างๆ ดังนี้
- รายงานการศึกษา ภาพครอบครัวของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
- หนังสือรับรองความเหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
- หนังสือรับรองว่าจะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดูและส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนไม่เกินสองเดือนต่อครั้งเป็นระยะเวลาหกเดือน
- แบบคำขอรับบุตรบุญธรรม (Application Form)
- เอกสารรับรองสุขภาพของผู้ขอรับเด็กจากแพทย์
- เอกสารรับรองการสมรส
- ทะเบียนหย่า (กรณีได้เคยสมรสมาก่อน)
- เอกสารรับรองอาชีพและรายได้
- เอกสารรับรองการเงิน
- เอกสารรับรองทรัพย์สิน
- เอกสารรับรองจากผู้อ้างอิง 2 คน
- รูปถ่ายขนาด 4.5 X 6 ซ.ม. คนละ 4 รูป
- เอกสารการตรวจคนเข้าเมืองที่ประเทศนั้นรับรองการอนุญาตให้เด็กเข้าประเทศได้
- กรณีติดต่อผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชนจะต้องมีสำเนาในอนุญาตขององค์กร และหนังสือจากหน่วยงานรัฐบาลซึ่งรับรององค์กรนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้
เอกสารทุกฉบับดังกล่าวข้างต้นจะต้องได้รับการรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่ผู้ขอรับเด็กอยู่หรือจัดส่งผ่านช่องทางทางการทูต
ข. ฝ่ายที่จะยกเด็กให้
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
- ทะเบียนบ้าน
- ทะเบียนสมรส
- ทะเบียนหย่า หรือคำสั่งศาล
- หนังสือรับรองจากสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอตามแบบ ปค.14 รับรองว่าบิดามารดาเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรและได้เลิกร้างกันไปเป็นเวลานานกี่ปีด้วย
- หนังสือแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอม (แบบ บธ.5)
- บันทึกสอบปากคำตามแบบ ปค.14
- รูปถ่ายขนาด 4.5 X 6 ซ.ม. ของบิดามารดาเด็กคนละ 1 รูป
- เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามีหรือจำเป็นต้องขอเพิ่ม)
ค. ฝ่ายเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
- สูติบัตรเด็ก
- ทะเบียนบ้านเด็ก
- รูปถ่ายเด็กขนาด 4.5 X 6 ซ.ม. 1 รูป
- หนังสือแสดงความยินยอมของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม (แบบ บธ.6)
- เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามีหรือจำเป็นขอเพิ่ม)
ขั้นตอนการดำเนินเรื่อง
· เมื่อได้รับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ครบสมบูรณ์แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ (นักสังคมสงเคราะห์) จะพิจารณาว่าผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติเหมาะสม มีฐานะความเป็นอยู่ดี มีอุปนิสัยดี ความประพฤติดี อาชีพรายได้ดี ฐานะของครอบครัวดี ตลอดจน สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจสมบูรณ์เหมาะสมที่จะรับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดูได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะประมวลรายละเอียดต่างๆ เสนอให้อธิบดีพิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็ก หากเป็นกรณีที่มอบเด็กให้กันเอง คณะกรรมการ ฯ จะพิจารณาเด็กควบคู่ไปในคราวเดียวกันด้วยเลย
· กรณีที่ขอรับเด็กกำพร้าของกรมกิจการเด็กและเยาวชน เมื่อคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็กแล้วคณะกรรมการการคัดเลือกเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรมจะพิจารณาคัดเลือกเด็กกำพร้าของกรม ฯ ให้แก่ผู้ขอรับตามบัญชีก่อนหลัง
· กรมกิจการเด็กและเยาวชนจะแจ้งประวัติเด็กพร้อมรูปถ่ายให้ผู้ขอรับพิจารณาผ่านหน่วยงานที่ติดต่อเรื่องนี้มา
· เมื่อผู้ขอรับแจ้งตอบรับเด็กให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนทราบแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะเสนอให้คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาอนุมัติให้ผู้ขอรับเด็กรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดู โดยขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและทรัพยากรมนุษย์ก่อนนำเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรไทยเพื่อทดลองเลี้ยงดู
· เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและทรัพยากรมนุษย์อนุญาต กรมกิจการเด็กและเยาวชน จะนัดหมายให้ผู้ขอรับเด็กมารับการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในต่างประเทศจะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดูและส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน (กรณีลูกติดที่เดินทางมาอยู่ในสหราชอาณาจักรแล้ว ก็จะสามารถลดขั้นตอนนี้ได้บ้างตามสัดส่วนระยะเวลาการเลี้ยงในช่วงที่ผ่านมา)
· เมื่อทดลองเลี้ยงดูมาครบ 6 เดือน และมีรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาครบ 3 ครั้ง ซึ่งหากปรากฏว่าผลการทดลองเลี้ยงดูเป็นที่น่าพอใจ เด็กอยู่อาศัยกับครอบครัวผู้ขอรับอย่างมีความสุข พนักงานเจ้าหน้าที่จะสรุปรายงานเสนอคณะกรรมการ ฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ผู้ขอรับไปดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายได้
· ผู้ขอรับจะต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่สถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาอยู่ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการต่างประเทศผ่านกระทรวงความมั่นคงและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อแจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยทราบ พร้อมกันนี้ก็แจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้กับผู้ขอรับเด็กได้ทราบพร้อมกันนั้นด้วยกรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศไทย การจดทะเบียนสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ซึ่งเป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้เช่นเดียวกับการขอบุตรบุญธรรมไทย
· กระทรวงการต่างประเทศจะส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (คร.14) จำนวน 1 ชุด มาให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ขอรับเด็ก (แต่ละราย) ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ และสำหรับผู้ขอรับเด็กที่อยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะขอสำเนาภาพถ่ายเอกสารทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (คร.14) จำนวน 1 ชุด จากผู้ขอรับเด็กไว้เป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ขอรับเด็ก (แต่ละราย) ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วเช่นกันนั้นด้วย
การเลิกรับบุตรบุญธรรม
การเลิกรับบุตรบุญธรรม มีได้ 3 ประการคือ
1. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลง เกิดจากความตกลงของผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว จะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ แต่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว
2. การเลิกเมื่อมีการสมรสกัน แม้ว่ากฎหมายจะห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรมก็ตาม แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่ได้มีความผูกพันทางสายโลหิต การสมรสโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เสื่อมเสียหรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด การสมรสดังกล่าวมีผลเป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมตั้งแต่เวลาที่จดทะเบียนสมรสกัน โดยไม่ต้องจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมอีก
3. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำสั่งศาล ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอเลิกรับบุตรบุญธรรม โดยมีมูลเหตุตามที่กฎหมายกำหนด
ติดต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ประเทศไทย
ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)
ภายในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี
กรมกิจการเด็กและเยาวชน
255 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กทม. 10400
โทร. 02-306-8821
Fax 02-354-7511
e-mail: adoption@dcy.go.th
เว็บไซต์ https://www.dcy.go.th/webnew/oppnews/index.php
องค์การสวัสดิภาพเด็ก
นอกจากการยื่นคำขอเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมผ่านกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว ยังสามารถยื่นคำร้องผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้ ดังรายชื่อต่อไปนี้
สหทัยมูลนิธิ
850/33 ซอยปรีดีพนมยงค์ 36 ถนนสุขุมวิท 71
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร. (+66) 2 381 8834-6, (+66) 2 392 9397
อีเมล์: info@sahathai.org
มูลนิธิมิตรมวลเด็ก
25 ซอยรณชัย 2 ถนนเศรษฐศิริ กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. (+66) 2 279 1058-9
โทรสาร (+66) 2 617-1995
อีเมล์: info@ffac-foundation.org
มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา
เลขที่ 384 หมู่6 ถนนสุขุมวิท กม.144
ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20150
โทร: (+66) 3842 3468, โทรสาร (+66) 3841 6425
อีเมล์: info@thepattayaorphanage.org
มูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย
ตึกวชิราลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10500
โทร. (+66) 2 256 4207 (+66) 2 256 4209
โทรสาร (+66) 2 256 4399
อีเมล์: trcch@redcross.or.th