เบาหวานชนิดที่ 2 (TYPE 2 DIABETES)
เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ร่างกายจะไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
เบาหวานชนิดที่ 2 มักพบได้ในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในเด็กเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการรับประทานยาหรือการฉีดอินซูลินจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
อาการของเบาหวานชนิดที่ 2
อาการของเบาหวานชนิดที่ 2 จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่มีอาการใด ๆ ในระยะแรก ทำให้ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองมีอาการของโรค และอาจใช้ระยะเวลาหลายปีถึงทราบจากอาการที่สังเกตได้ โดยอาการที่อาจพบในผู้ป่วยเบาหวานมีดังนี้
- กระหายน้ำมาก
- ปากแห้ง
- ปัสสาวะบ่อย
- หิวบ่อยขึ้น แต่น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- อ่อนเพลีย
หากพบอาการเหล่านี้ หรือรู้สึกชาบริเวณปลายมือและปลายเท้า ตาพร่ามัว เกิดแผลง่ายและติดเชื้อได้ง่าย ผิวหนังบริเวณข้อพับหรือรอยพับของผิวหนังมีสีคล้ำขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะบริเวณใต้รักแร้และลำคอ อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2
อินซูลินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตับอ่อน มีหน้าที่นำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ และเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้จากอาหารที่รับประทานให้เป็นพลังงานในร่างกาย ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะเกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้การดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อเป็นพลังงานลดลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสะสมสูงขึ้น โดยในระยะแรก ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เซลล์ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินอาจถูกทำลายจนไม่สามารถผลิตอินซูลินตามความต้องการของร่างกายได้อีก
ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีดังนี้
- ภาวะน้ำหนักเกิน มีรูปร่างท้วมหรืออ้วน โดยตรวจวัดจากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) หากมีค่า BMI อยู่ที่ 23-24.90 จะจัดอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
- กิจวัตรประจำวันที่ไม่ได้ขยับร่างกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้มีอายุมากกว่า 45 ปี มักไม่ได้ออกกำลังกายและมวลกล้ามเนื้อลดลง ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่โรคเบาหวานสามารถพบได้ทุกช่วงวัย รวมถึงอาจพบในเด็กหรือวัยรุ่นได้เช่นกัน
- ภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวาน (Prediabetes) เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นของโรคเบาหวาน หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) ในเพศหญิง
- ผิวหนังบริเวณใต้รักแร้และลำคอมีสีเข้มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยเด็ก
นอกจากนี้ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกิดขึ้นจากอาหารที่รับประทาน เชื้อชาติ ปัญหาสุขภาพ อย่างความผิดปกติของระบบเผาผลาญและความดันโลหิตสูงและไตรกลีเซอร์ไรด์สูง โรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะฮอร์โมนผิดปกติ อย่างโรคไทรอยด์และกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) รวมถึงความเสียหายของเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลิน
การวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
หากเริ่มมีอาการผิดปกติแม้จะไม่มีอาการภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวาน แต่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวาน โดยแพทย์อาจสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว แล้วตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Blood Glucose)
ผู้ป่วยจะต้องงดการรับประทานอาหารและดื่มน้ำในช่วงกลางคืนเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจในตอนเช้า โดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากอยู่ระหว่าง 100–125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และเมื่อสูงกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Glycohemoglobin A1c หรือ Glycosylated Hemoglobin Test)
เป็นการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดช่วง 2–3 เดือนก่อนการเข้ารับการตรวจ โดยค่าปกติจะมีระดับต่ำกว่า 5.7 เปอร์เซ็นต์ หากมีค่าน้ำตาลอยู่ในช่วง 5.7-6.4 เปอร์เซ็นต์ จะจัดอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และหากมีค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมมากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
การตรวจระดับน้ำตาลแบบสุ่มตรวจ (Random Blood Sugar)
เป็นการเจาะเลือดโดยไม่ต้องงดอาหาร หากค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และมีอาการกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย หรืออาการอื่นที่เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน แสดงว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน
การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด (Oral Glucose Tolerance Test)
เป็นวิธีที่มักใช้ตรวจขณะตั้งครรภ์หรือใช้ในงานวิจัย โดยอาจมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดซ้ำขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น แบ่งเป็นก่อนการดื่มน้ำที่มีน้ำตาลกลูโคสละลาย หลังการดื่ม 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง เพื่อวินิจฉัยการจัดการร่างกายเมื่อได้รับน้ำตาล เป็นต้น
สำหรับเกณฑ์การวัดประเมินค่าจะแตกต่างกัน โดยเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ของประเทศไทยมักใช้เกณฑ์ของ Carpenter และ Coustan และเกณฑ์ของ International Diabetes Federation (IDF) เช่น ตามเกณฑ์ IDF หากมีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 92, 180, และ 153 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ตั้งแต่ 1 ค่าขึ้นไปจะถือว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และสำหรับกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ หากมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้บุคคลต่อไปนี้เข้ารับการตรวจโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่อ้วน โดยมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 และมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือกำลังรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตสูง
- ผู้มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ คือมีระดับไตรกลีเซอไรด์เท่ากับหรือมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีระดับไขมันชนิดดี (HDL) น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ผู้มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือเคยคลอดบุตรน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น
การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดที่ 2 อาจใช้หลายวิธีในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยอาจใช้การปรับพฤติกรรม การใช้ยา การใช้อินซูลิน และการผ่าตัดในบางกรณี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
การปรับพฤติกรรม
การปรับพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เช่น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยเลือกอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โซเดียม และเลือกรับประทานอาหารที่มีค่า Glycemic Index ต่ำ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30–60 นาที โดยปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนออกกำลังกายและอาจเลือกออกกำลังด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบอย่างหลากหลายในแต่ละสัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยาน หรือโยคะ สำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนออกกำลังกายต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพิ่มเติมก่อนออกกำลังกาย
- ลดน้ำหนักร้อยละ 5–10 ของน้ำหนักตัว ร่วมกับการควบคุมอาหารให้เหมาะสม เพื่อควบคุมน้ำหนักส่วนเกินให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยวัดระดับน้ำตาลและจดบันทึกไว้อย่างสม่ำเสมอ และอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความถี่ในการตรวจวัด ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ได้ดีขึ้น
การใช้ยา
การใช้ยารักษาโรคเบาหวานจะใช้ในกรณีที่ปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยยาที่นำมาใช้จะขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดและปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์อาจใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน
- ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) และยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) เป็นกลุ่มที่ลดภาวะดื้ออินซูลิน หรือยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ที่ช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งสารอินซูลินเพิ่มขึ้น เป็นต้น
- ยาฉีดอินซูลิน (Insulin Therapy) มีอยู่หลายชนิด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดของอินซูลินที่จะฉีดให้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วย
ในบางกรณี แพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดคอเลสเตอรอล หรือยาแอสไพรินขนาดต่ำเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วน (Bariatric Surgery) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงและเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานชนิดที่ 2
หากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้อวัยวะภายใน อย่างหัวใจ หลอดเลือด เส้นประสาท ดวงตา หรือไตถูกทำลาย โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคเบาหวานมีดังนี้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เป็นต้น
- ความผิดปกติของระบบประสาท ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรือปวดแสบปวดร้อน โดยเริ่มจากปลายมือหรือปลายเท้า หากอาการรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกบริเวณแขนและขา รวมถึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบย่อยอาหารและสมรรถภาพทางเพศ
- ความผิดปกติต่อดวงตา เช่น โรคต้อหิน ต้อกระจก และภาวะเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) จนอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้หากไม่ได้รับการรักษา
- ความผิดปกติของไต อย่างไตเสื่อมหรือไตวาย และอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- โรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้เกิดอาการคันและเกิดเป็นแผลตามผิวหนัง โดยแผลที่เกิดขึ้นมักจะหายยากและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรง
- ความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปัญหาด้านการได้ยิน โรคนอนไม่หลับ และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
การป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2
การปรับพฤติกรรมเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 แม้คนในครอบครัวจะมีประวัติของโรคเบาหวานมาก่อน สามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ โดยอาจใช้วิธีต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำและมีกากใยสูง อย่างเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสี
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 30–60 นาที สำหรับการออกกำลังในระดับปานกลาง หรือ 15–30 นาที สำหรับการออกกำลังกายระดับหนัก หากร่างกายไม่สามารถออกกำลังเป็นระยะเวลานานติดต่อกันได้ ควรทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงทดแทนในระหว่างวัน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่นิ่ง ๆ หรือไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน ควรลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสายเป็นระยะในระหว่างวัน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 90 เกิดจากภาวดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ส่งผลให้อินซูลินซึ่งทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดีระดับน้ำตาลในเลือดจึงเพิ่มสูงขึ้น
อาการ
- กระหายน้ำ อยากอาหาร
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- สายตาพร่ามัว
- ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
- ชาหรือรู้สึกเสียวตามมือ หรือเท้า
- แผลหายช้า
- ในเพศชายพบปัญหาระบบฮอร์โมนเพศและปัญหาสมรรถทางเพศ
- ในเพศหญิงมีเชื้อราในช่องคลอด มีอาการคันผิดปกติพบตกขาวในปริมาณมาก
การป้องกัน
- บริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักใบเขียว
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกน้ำหวานของหวาน และผลไม้ที่มีรสหวาน
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ
คำแนะนำจากแพทย์
หากพบอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาหรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดที่ 2 อาการ สาเหตุ และการรักษา
เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะเรื้อรังที่ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ อีกทั้งภาวะที่ร่างกายสังเคราะห์อินซูลิน (Insulin) ได้ไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน
คำจำกัดความ
เบาหวานชนิดที่ 2 คืออะไร
เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด มักมีสาเหตุเบื้องต้นมากจากร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินนี้เป็นฮอร์โมนหลักที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม เเม้โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนัก แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแล้ว ระดับน้ำตาลยังสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยารักษาเบาหวานร่วมด้วย
เบาหวานชนิดที่ 2 พบได้บ่อยได้แค่ไหน
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่ในปัจจุบันนี้ พบว่าเด็กมีภาวะโรคอ้วนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 จึงทำให้พบว่ามีจำนวนเด็กที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี การดูแลสุขภาพให้ดี มีการปรับพฤตกรรมสุขภาพที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
อาการ
อาการของเบาหวานชนิดที่ 2
อาการของเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้บางครั้งผู้ป่วยอาจเป็นเบาหวานมานานหลายปีโดยไม่รู้ตัว โดยอาการของโรคเบาหวานที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- กระหายน้ำมากขึ้นและปัสสาวะบ่อย เนื่องจากเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายจะพยามขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ จึงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น สมองจึงกระตุ้นให้เกิดอาการกระหายน้ำ เพื่อให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นทดเเทนส่วนที่สูญเสียไป
- หิวบ่อยขึ้น เนื่องจากเมื่ออินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้การเผาผลาญน้ำตาลเป็นพลังงานของเซลล์ต่าง ๆ บกพร่องไป ทำให้ร่างกายขาดพลังงานและทำให้รู้สึกหิวบ่อย
- น้ำหนักลดลง แม้จะหิวบ่อยจนรับประทานมากขึ้น แต่น้ำหนักก็อาจลดลง เพราะร่างกายเผาผลาญน้ำตาล หรือ กลูโคส (Glucose) มาใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงต้องใช้หันไปสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อและไขมันจากเนื้อเยื่อไขมันแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง
- อ่อนเพลีย หากเซลล์ขาดพลังงาน อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และหงุดหงิดง่าย
- มองเห็นไม่ชัดเจน เพราะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จะส่งผลต่อความเข้มข้นของน้ำในเลนส์ตา จึงทำให้มองภาพไม่คมชัดได้
- แผลหายช้าหรือติดเชื้อบ่อย เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่อง จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ผื่นสีคล้ำ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายอาจมีผื่นหนาสีคล้ำ หรือหนังด้านขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลังคอและรักแร้ ซึ่งเป็นผื่นที่บ่งบอกถึง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
สาเหตุ
สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักมากขึ่นเรื่อย ๆ เพื่อผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้นมาทดเเทน จนในที่สุดตับอ่อนล้าเเละเสื่อมสภาพจึงผลิตอินซูลินได้ลดลง ไม่เพียงพอที่จะควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ น้ำตาลในกระแสเลือดจึงเพิ่มสูงขึ้น และเกิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มีหลายประการ เช่น
- น้ำหนักเกิน ภาวะน้ำหนักเกินเเละโรคอ้วนนับเป็นปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการที่ร่างกายยิ่งมีเนื้อเยื่อไขมันมากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นเท่านั้น
- ภาวะอ้วนลงพุง การกระจายตัวของไขมันมีส่วนส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยหากมีไขมันสะสมในช่องท้องมาก หรือ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่ามีไขมันสะสมที่บริเวณอื่น ๆ เช่น สะโพก ต้นขา
- การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย หรือ มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary lifestyle) การที่ยิ่งเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเท่าไร ก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นเท่านั้น เนื่องมาจากร่างกายไม่ได้ใช้พลังงาน จึงมีการสะสมพลังงานส่วนเกิน ในรูปของไขมันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเเนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะจะส่งผลช่วยควบคุมน้ำหนัก กระตุ้นการเปลี่ยนกลูโคสเป็นพลังงาน และทำให้เซลล์ตอบสนองต่อต่ออินซูลินได้ดีขึ้น
- ประวัติครอบครัว ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 พบเพิ่มขึ้น หากมีญาติสายตรงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
- อายุ ความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 45 ปี เนื่องจากคนวัยนี้อาจเริ่มมีกิจกรรมที่ต้องใช้เเรง หรือ ออกกำลังกายน้อยลง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน อัตราการเกิดโรคเบาหวานในเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวก็พบมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
ข้อมูลด้านล่างเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นในเเง่ของการวินิจฉัยเเละการรักษาโรคเบาหวาน เเนะนำให้ปรึกษาหรือสอบถามคุณหมอหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 2
เมื่อสงสัยหรือต้องกายตรวจว่าผู้ป่วยอาจเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่ คุณหมอจะทำการการตรวจร่างกายและตรวจวินิจฉัย ซึ่งมีวิธีการตรวจหลัก ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- การตรวจระดับฮีโมโกลบิน A1C เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (Glycosylated Hemoglobin Test) การตรวจนี้เป็นการตรวจที่บ่งชี้ถึงระดับกลูโคสในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การตรวจฮีโมโกลบิน A1c จะทำการตรวจเลือดโดยที่ผู้เข้ารับการตทดสอบนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหารมาก่อน
- การตรวจระดับกลูโคสในเลือด การตรวจวิธีนี้ ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจวัดปริมาณระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
- การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล เป็นการตรวจที่บอกถึงความสามารถในการจัดการกับน้ำตาลของร่างกาย โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องอกอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากนั้น คุณหมอจะเจาะเลือด ครั้งเเรก เเล้วจึงจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสในปริมาณที่กำหนด หลังจากนั้น รอจนครบระยะวลา 2 ชั่วโมง เเล้วจึงเจาะเลือดเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจว่าร่างกายจัดการกับน้ำตาลกลูโคสก่อนและหลังดื่มได้ดีเพียงใด
การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 เป้าหมายหลัก คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาสม โดยเบื้องต้นเเล้ว เเนะนำให้เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในการดำเนินชีวิต เพิ่มการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และจัดการความเครียด ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น เเต่อย่างไรก็ตามในบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งวิธีการรักษาเบาหวานอาจทำได้ดังนี้
- การลดน้ำหนัก
พบว่าเมื่อน้ำหนักตัวลดลง จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญเเนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วนร่วมด้วย ควรลดน้ำหนักลงให้ได้อย่างน้อย 7 – 10 % ของน้ำหนักตัว เช่น หากน้ำหนัก 82 กิโลกรัม ก็ควรลดน้ำหนัก 5.9 – 8.2 กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นได้
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เเนะนำให้รับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงลดลง เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำให้มากขึ้น รวมถึงการบริโภคไฟเบอร์เพิ่มขึ้น ถือเป็นเคล็ดลับของการรับประทานอาหารที่ดีในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2
ทั้งนี้ อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ นักโภชนาการ ถึงรายละเอียดเพิ่มเติมในการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตนเองมากที่สุด
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายที่ระดับความเหนื่อยปานกลางเป็นประจำ คือ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจเเบ่งเป็นครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ หรือหากออกกำลังกายในระดับเหนื่อยสูง อาจลดระยะเวลารวมคือ อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อาจช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินได้ดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ร่างกายเเข็งแรงโดยรวมซึ่งช่วยให้รับมือกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน การเต้น การว่ายน้ำ เเละอาจทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance Exercise) เช่น การยกน้ำหนัก โยคะ สัปดาห์ละ 2 วัน
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วด้วยตนเอง
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วด้วยตนเอง จะช่วยให้ผูป่วยทราบถึงระดับน้ำตาลที่เเท้จริงของตนในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรบพฤติกรรมาสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจและบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดวันละหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้อินซูลิน นอกจากนี้ยังควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายอาจต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาล หรือยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย โดยในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลต่างๆที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน หรือ ช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น เพื่อนำน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญได้เพิ่มขึ้น หรือออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น รวมไปถึงผ่านกลไกที่ไต ให้เพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ โดยการเลือกใช้ยานี้ คุณหมอจะเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ที่เป็นเบาหวานเเต่ละราย
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับเบาหวานชนิดที่ 2
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองตามเคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อย่างเหมาะสม
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ อาหารที่มีไฟเบอร์สูง อาทิเช่น ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และธัญพืชเต็มเมล็ดให้มากขึ้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เเนะนำให้ออกกำลังกายในความเหนื่อยระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หากออกกำลังกายในระดับความเหนื่อยสูง เเนะนำให้ออกกำลังกาย อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์
- ตรวจวัดระดับของน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อให้ทราบถึงระดับน้ำตาลของตนเอง ในชีวิตประจำวัน โดยอาจทำการตรวจน้ำตาลในเลือด ในช่วงก่อนเเละหลังอาหาร ก่อนเเละหลังออกกำลังกาย หรือช่วงที่อาจมีอาการที่เข้าข่ายภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ นอกจากนี้ หากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย เเนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองเป็นระยะ เเละไปพบคุณหมอ หากระดับน้ำตาลสูง/ต่ำผิดปกติ หรือ อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี มีค่าดัชนีมวลกาย 18.5 – 22.9
- ตรวจสุขภาพเท้าทุกวัน หากพบความผิดปกติใด ๆ เช่นมีแผลเรื้อรัง หรือ เท้าชา ควรรีบปรึกษาคุณหมอ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำเเละไปพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอ
CR :: https://www.pobpad.com/ , อ. นพ.วิทวัส แนววงศ์ , https://hellokhunmor.com/