6 วิธีดูแลครรภ์ พร้อมเลี้ยงลูกเล็ก (Mother&Care)
เพิ่งจะคลอดเจ้าตัวเล็กได้ไม่นาน แต่คุณแม่ก็ตั้งครรภ์อีกครั้งแล้ว ไหนจะต้องดูแลลูกคนโต ดูแลตัวเอง และต้องรับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอีก ลองมาดูเคล็ดลับเพื่อรับมือกับการตั้งครรภ์พร้อม ๆ กับการเลี้ยงลูกกันค่ะ
1. รีบฝากครรภ์
ทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์อีกครั้ง ควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก หรือตั้งครรภ์ใหม่ภายใน 3 เดือนหลังจากคลอดลูก อย่าวางใจว่าการตั้งครรภ์ครั้งที่แล้วปกติดีคราวนี้ก็คงไม่เป็นอะไร หรือซื้อยามากินเอง การฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ คุณหมอจะได้ช่วยดูแลสุขภาพและแนะนำวิธีบำรุงร่างกาย เพราะคุณแม่จะต้องเหนื่อยขึ้นเป็น 2 เท่า กับการเลี้ยงลูกไปพร้อม ๆ กับ การตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์ครั้งนี้อาจเลือกฝากครรภ์กับแพทย์คนเดิม เพราะจะทราบประวัติและสุขภาพของคุณแม่อยู่แล้ว นอกจากนี้ หากต้องเลี้ยงลูกด้วย การเดินทางไกลอาจไม่สะดวกนัก จึงควรเลือกฝากครรภ์กับสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือเดินทางสะดวกก็จะช่วยประหยัดเวลาและไม่เหนื่อยด้วยค่ะ
2. ให้นมลูกคนโต
หากมีเจ้าตัวเล็กอยู่ในท้องอีกคนตอนที่ลูกคนโตยังเล็กอยู่ ก็ยังสามารถให้ลูกคนโตดูดนมหรือปั๊มนมได้ แต่ถ้าสังเกตว่าในขณะที่ให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมแล้วรู้สึกว่ามดลูกมีการบีบรัดตัว ก็ควรหยุดให้นมก่อน เพราะการให้ลูกดูดนม (โดยเฉพาะช่วงที่อายุครรภ์มากแล้ว) จะกระตุ้นให้ฮอร์โมนออกซิโตซินหลั่งมาจากต่อมใต้สมองมากขึ้น ทำให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก จึงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ ในช่วงนี้อาจให้ลูกกินนมผสม ทดแทนไปก่อน
ส่วนการอุ้มลุกคนโตนั้นควรอุ้มให้น้อยลง เพราะด้วยอายุครรภ์ของคุณแม่และน้ำหนักของลูกคนโตที่เพิ่มมากขึ้น เวลาอุ้มอาจทำให้มีอาการปวดหลังหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
3. แม่ลูกผูกพัน
ถึงแม้จะไม่สามารถให้นมและอุ้มลูกคนโตได้ แต่ก็สามารถสนุกกับลูกทั้งสองไปพร้อม ๆ กันได้ด้วยการเล่น เช่น ร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ลูกฟังพร้อมกัน หรือถ้าลูกคนโตเริ่มพูดได้แล้ว อาจให้ลูกคุยหรือร้องเพลงให้น้องในท้องฟังก็ได้ ก็ทำให้อารมณ์ดี สนุกสนานทั้งแม่และลูก แต่ก็ต้องระวังการเล่นที่รุนแรงหรือกระทบต่อลูกในท้องด้วย เช่น ระวังอย่าให้ลูกคนโตทับท้อง เป็นต้น
4. พักผ่อนอย่างเพียงพอ
คุณแม่ต้องหาผู้ช่วยแล้วล่ะค่ะ เพราะหากต้องเลี้ยงลูกไปพร้อม ๆ กับการตั้งครรภ์ แล้วยังต้องทำงานบ้านอีก จะทำให้เหนื่อย อ่อนเพลีย และสุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง รวมถึงจะทำให้เกิดความเครียดและกดดันกับการทำหลายอย่างพร้อมกัน จึงควรหาผู้ช่วยมาช่วยจัดการงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้าน อาจเป็นคุณพ่อ ญาติสนิท หรือพี่เลี้ยง เพื่อช่วยดูแลลูกและแบ่งเบางานในบ้าน คุณแม่จะได้มีเวลาสำหรับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
5. อาหารและออกกำลังกายก็จำเป็น
ถึงแม้จะไม่ใช่การตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่เรื่องอาหารและการออกกำลังกายก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะคุณแม่ที่เพิ่งคลอด น้ำหนักยังไม่กลับสู่สภาวะเดิม จึงต้องควบคุมอาหารให้ดี ให้น้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ อย่าให้เพิ่มขึ้นมากและเร็วเกินไป พยายามกินอาหารที่มีประโยชน์ให้มากเพราะต้องใช้พลังงานสำหรับลูกทั้ง 2 คน จึงควรเน้นกินอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง ของหวานหรือขนมจุบจิบ
ส่วนการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ก็คือ การพาลูกไป เดินเล่นหรือว่ายน้ำ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็ให้ลูกนั่งในรถเข็นแล้ว คุณแม่เข็นรถเดิน หรือจูงลูกเดินในที่หัดเดินของเด็ก แต่ถ้าลูกเริ่มวิ่งเล่นหรือว่ายน้ำเป็นแล้ว อาจพาลูกไปวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะหรือว่ายน้ำก็ได้
6. อารมณ์ดี..สิ่งสำคัญ
อารมณ์ของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ต้องดูแลไม่แพ้สุขภาพกาย เพราะหากหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ก็จะไม่เป็นผลดีต่อเจ้าตัวเล็กและลูกในท้องด้วย จึงต้องดูแลตัวเองให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ อาจทำกิจกรรมที่ชอบ เล่นกับลูก แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ไปเที่ยวกับสามี พูดคุยกับเพื่อน หรือญาติที่สนิทในเรื่องที่สบายใจ ก็จะช่วยผ่อนคลายอารมณ์และทำให้มีกำลังใจมากขึ้น
ที่มา :: Mother&Care
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น