วิธีแก้ปัญหาเด็กโกหก ก่อนจะติดเป็นนิสัย
โดยปกติแล้วเด็กทุกคนต่างพูดโกหก ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนลงโทษ หรือทำไปเพื่อให้เรียกร้องความสนใจทั้งนี้ระดับความรุนแรงของการพูดโกหกเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและประสบการณ์ของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีรับมือและแก้ไขที่ถูกต้อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้กับเด็ก ก่อนที่พวกเขาจะติดการพูดโกหกจนเป็นนิสัย
1. เด็กวัยหัดเดิน
ถึงแม้พวกเขาจะมีอายุแค่เพียง 2 - 3 ขวบเท่านั้น พ่อแม่ไม่ควรวางใจเพราะบางเรื่องพวกเขาสามารถโกหกได้เหมือนกัน สาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาโกหกคือหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือบางอย่างที่ทำให้รู้สึกไม่พอใจ หรือต้องการบางสิ่งบางอย่างจากพ่อแม่ ซึ่งการกระทำเช่นนี้พวกเขายังไม่เข้าใจหรอกว่าเป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้นพ่อแม่ควรตักเตือนและเปลี่ยนนิสัย โดยการสังเกตจากพฤติกรรมของเด็กที่ผิดไปจากเดิม แล้วช่วยพวกเขาแก้ปัญหาดีกว่า ลงโทษด้วยการว่ากล่าวหรือบังคับให้สารภาพความผิด
2. วัยอนุบาล
เด็กในวัยนี้เริ่มเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอด มีจินตนาการ และคิดถึงความเป็นจริงมากขึ้น ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหากพวกเขาโกหก เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนพ่อแม่ลงโทษ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาเรื่องการพูดโกหกต้องใช้ความอดทนและเทคนิคมากขึ้น อย่างเช่น หากรู้ว่าเด็กแอบนำขนมเข้าไปกินในห้องนอน พ่อแม่ไม่ควรว่ากล่าวโดยตรง แต่ใช้วิธีการชักชวนเด็กไปทำความสะอาดห้องนอนด้วยกันแทน เพื่อบอกเป็นนัย ๆ ว่าพ่อแม่รู้เรื่องแล้ว ต่อไปพวกเขาจะไม่กล้าทำอีก
3. วัยประถม
ช่วงวัยประถมเด็กได้เจอกับเพื่อนและสังคมเยอะขึ้น การโกหกที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้ทำเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนลงโทษเท่านั้น แต่ทำเพื่อให้เพื่อน ๆ ยอมรับหรือสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และรู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งรอบตัวได้ เมื่อมีปัจจัยอื่นเพิ่มมากขึ้น วิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้คือ การหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ จะทำให้คุณได้ทราบปัญหาของเด็ก และช่วยหาทางแก้ไขได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น ในกรณีที่ลูกโกหกว่าไม่มีการบ้าน ทั้งที่จริง ๆ แล้วมีการบ้าน แต่ไม่อยากทำเพราะไม่สามารถทำได้ พ่อแม่ควรช่วยให้คำแนะนำและทำการบ้านไปพร้อม ๆ กันกับลูกที่เรานำวิธีการแก้ปัญหาใน 3 วัยนี้มาให้ทราบกันนั้น เพราะว่าในวัยเหล่านี้ยังสามารถปรับปรุงและแก้ไขพฤติกรรมของเด็กได้ เนื่องจากพ่อแม่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำอยู่ หากเลยในวันนี้ไปแล้วปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามา อย่างเช่น เพื่อน หรือสื่อต่าง ๆ จะเข้ามามีอิทธิพลกับเด็กแทน ซึ่งทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
ที่มา :: กระปุกดอทคอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น