เจ้าหญิงไดอานาเจ้าหญิงแห่งเวลส์
ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Diana, Princess of Wales) หรือพระนามเต็มคือ ไดอานา ฟรานเซส - สกุลเดิม สเปนเซอร์ (Diana Frances, née The Lady Diana Spencer) (ประสูติ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ที่เมืองแซนดริงแฮม ประเทศอังกฤษ — สิ้นพระชนม์ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส) เป็นพระชายาพระองค์แรกของเจ้าฟ้าชายชาลส์ แห่งเวลส์ จากการอภิเษกสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้ทรงหย่าขาดเมื่อปี พ.ศ. 2539 พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ เป็นพระองค์ที่ 9 ของอังกฤษ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปนิยมขนานพระนามว่า "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วพระนามนี้ถือว่าผิดในทางทฤษฎี
นับตั้งแต่ทรงหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ในปี พ.ศ. 2524 จนกระทั่งการสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุรถยนต์ ในปี พ.ศ. 2540 ไดอานาเป็นผู้หญิงสำคัญคนหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะความสนพระทัย การฉลองพระองค์ รวมถึงพระกรณียกิจของพระองค์ได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก พระองค์ทรงเป็นผู้นำแฟชั่น เป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความหวังของผู้ป่วยโรคเอดส์ และทูตสันถวไมตรีที่เชื่อมทุกความขัดแย้ง แต่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือพระองค์ทรงเป็นพระราชินีในดวงใจของประชาชนอีกด้วย ตลอดทั้งพระชนม์ชีพพระองค์เป็นผู้ที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดคนหนึ่งในโลกราวกับนักแสดงที่มีชื่อเสียง
วัยเด็ก
ไดอานาประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 เวลาประมาณ 18.39 น. ทรงเป็นธิดาคนสุดท้องของวิสเคานท์และวิสเคานท์เตสอัลทอป ไดอานาทรงรับศีลล้างบาปที่โบสถ์เซนต์แมรี่แม็กดาลีน พระองค์ทรงมีพี่น้อง 5 คนดังนี้
- อลิซาเบธ ซาราห์ ลาวินา สเปนเซอร์ (เลดี้ซาราห์ แม็กคอเดล ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิไดอานา ตามพระประสงค์ของเจ้าหญิง)
- ซินเธีย เจน สเปนเซอร์ (เลดี้เจน เฟเลอว์ ปัจจุบันคือ บารอนเนสเฟเลอว์)
- ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ (เจ้าหญิงแห่งเวลส์)
- จอห์น สเปนเซอร์ (ถึงแก่กรรมหลังคลอดได้เพียง 10 ชั่วโมง)
- ชารลส์ เอ็ดเวิร์ด มัวไรส์ สเปนเซอร์ (เอิร์ลสเปนเซอร์คนที่ 9)
หลังการหย่า ออเนอเรเบิลฟรานเซส พระมารดาของเจ้าหญิงพยายามที่จะขอมีอำนาจในการปกครองบุตร-ธิดาทุกคนโดยการร้องขอต่อศาล หากแต่แพ้คดีความ อำนาจในการปกครองบุตรธิดาจึงตกอยู่ที่พระบิดา ซึ่งหลังจากพระอัยกา (ปู่) ของไดอานา เอิร์ลคนที่ 7 แห่งสเปนเซอร์ถึงแก่อนิจกรรม วิสเคานท์อัลทอปในฐานะบุตรชายคนโตจึงได้รับสืบทอดยศของตระกูลต่อมา เป็นเอิร์ล คนที่ 8 แห่งสเปนเซอร์ ธิดาทั้งสามคน (ซาราห์ เจนและไดอานา) ได้รับยศเป็นเลดี้ ในขณะที่ชาลส์ ในฐานะที่เป็นทายาทผู้จะสืบตำแหน่งเอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ต่อไป จึงดำรงยศเป็นวิสเคานท์อัลธอร์ำพ
ต่อมาเอิร์ล คนที่ 8 แห่งสเปนเซอร์ พระบิดาได้สมรสอีกครั้งกับเรนน์ เคานท์เตสแห่งดาร์มอท (ลูกสาวของ บาร์บารา คารต์แลนด์นักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวอังกฤษ ที่ไดอานาชื่นชอบ) ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างแม่เลี้ยงและลูกเลี้ยงทั้ง 4 คนนั้นเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก
อภิเษกสมรส
ครอบครัวสเปนเซอร์ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์มานานแล้ว เลดีฟรอยเมยซึ่งเป็นคุณยายของเจ้าหญิงนั้น เป็นพระสหายและนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชชนนีอลิซาเบธ มาเป็นเวลานาน ประกอบกับการที่เจ้าชายแห่งเวลส์เคยทรงคบหาอยู่กับเลดี้ซาราห์และเลดี้เจน พี่สาวของเลดี้ไดอานา ทำให้พระองค์ทรงคุ้นเคยกับไดอานาพอสมควร และเมื่อเจ้าฟ้าชายชาลส์พระชนม์ได้ราว 30 พรรษา พระองค์ได้รับการร้องขอให้ทรงอภิเษกสมรส ตามกฎหมายพระองค์จะต้องเสกสมรสกับสตรีที่ไม่ได้นับถือนิกายโรมันคาทอลิค แต่นับถือนิกายโบสถ์แห่งอังกฤษ นอกจากนี้ ลอร์ดเมาท์แบทเทน แห่งพม่าซึ่งเป็นพระอัยยิกาน้อย (น้องชายของปู๋) ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยังได้แนะนำให้พระองค์เสกสมรสกับหญิงบริสุทธิ์ด้วย อีกทั้งการที่สมเด็จพระราชชนนี ทรงพระราชประสงค์จะให้พระองค์เองกับเลดี้ฟรอมเมยได้เป็น "ทองแผ่นเดียวกัน" เจ้าฟ้าชายผู้ทรงรักสมเด็จยายมากจึงทรงยอมตามพระทัย และพยายามทำพระองค์ให้คิดว่าไดอานานี้แหละ คือ สุดยอดผู้หญิงที่เหมาะสมกับพระองค์ และเป็นผู้หญิงที่พระองค์รัก
สำนักพระราชวังบัคคิงแฮมประกาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 ว่าพระราชพิธีอภิเษกสมรสจะจัดขึ้นที่โบสถ์เซนต์ปอล ในลอนดอน ในวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน โดยมีแขกได้รับเชิญจำนวนกว่า 3500 คน และมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีนี้ด้วย
ไดอานาเป็นหญิงคนแรกในรอบหลายศตวรรษที่สมรสกับรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ หลังการอภิเษกสมรสไดอานาได้รับยศเป็น "เจ้าหญิงแห่งเวลส์" และมีลำดับพระอิสริยยศเป็นลำดับที่ 3 แห่งพระราชวงศ์ฝ่ายในของอังกฤษ ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และสมเด็จพระราชชนนีอลิซาเบธ
นอกจากนี้ ไดอานายังเป็นสตรีสามัญชนคนแรกที่อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ และได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ด้วย
พระโอรส
เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ มีพระโอรส 2 พระองค์ คือ
- เจ้าชายวิลเลียม แห่งเวลส์ ประสูติ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2525 รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยอีตันในสาขาวิชาภูมิศาสตร์ ชีววิทยาและประวัติศาสตร์ศิลปะ (ผลการทรงศึกษาทั้งหมดด้วยลำดับขั้น A) จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดริวส์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ปัจจุบันทรงเข้ารับการฝึกเป็นทหารอยู่ที่ประเทศชิลี
- เจ้าชายเฮนรีแห่งเวลส์ ประสูติ 15 กันยายน พ.ศ. 2527 รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งอังกฤษ ถูกโจมตีมากที่สุดว่าเป็นเจ้าชายเจ้าปัญหา ด้วยพระอารมณ์รุนแรง หรือการฉลองพระองค์ไม่เหมาะสม (เช่นชุดนาซี)
ลูกเลี้ยง
ไดอานานอกจากจะมีพระโอรส 2 พระองค์แล้ว ยังทรงมีลูกเลี้ยง (godchildren คือ เด็กที่พระองค์ทรงเป็นแม่ทูนหัว) อีกเป็นจำนวน 17 คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
- เลดีเอ็ดวิน่า กรอสเวนเนอร์ ธิดาของดยุคและดัชเชสแห่งเวสมินสเตอร์ โดยเป็นลูกเลี้ยงคนแรกของไดอานา
- ฮอนเนอเรเบิ้ลอเล็กซานดร้า นัตช์บอลล์ ธิดาของลอร์ดและเลดีโรมเซ่ย์
- แคลร์ คาซาแลท ธิดาของอิซาเบล และ วิคเตอร์ คาซาแลท
- คามิลล่า สไตรเกอร์ ธิดาของเรเบิ้น และฮอนเนอเรเบิ้ลโซเฟีย สไตรเกอร์ ซึ่งเป็นพระสหายที่เคยอยู่แฟลตห้องเดียวกันกับไดอานา
- เจ้าชายฟิลิปเปส์ พระราชโอรสของอดีตกษัตริย์คอนสแตนตินและสมเด็จพระราชินีแอนน์ มารี
- ลีโอนารา ลอนสเดล ธิดาของเจมี่และลอร่า ลอนสเดล ลอร่าเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของไดอานา
- แจ๊กกี้ วอร์แรน บุตรของจอห์นและเลดีแคโรลีน วอร์แรน
- เลดีแมรี่ เวลเลสลี่ย์ ธิดาของมาควิสและมาชันเนสแห่งโดโร
- จอร์จ ฟรอสต์ บุตรของเซอร์เดวิดและเลดีคาริน่า ฟรอสต์
- แอนโทนี่ ทวิสตัน-ดาวี่ ธิดาของออดลี่ย์ ทวิสตัน-ดาวี่ และฮอนเนอเรเบิ้ลแคโรลีน ฮาร์บอด-ฮาร์มอนด์ แคโรลีนเป็นพระสหายที่ไดอานาทรงไว้พระทัยมาก
- แจ๊ค ฟลอคเนอร์ บุตรของซีมอนด์และอิซาเบล ฟอล์คเนอร์
- ลอร์ดเอ็ดเวิร์ด ดาวน์แพททริค บุตรของเอิร์ลแค้นท์เตสแห่งเซนท์แอนดรูว์
- แจ๊ค บาทโลเมล บุตรของวิลเลี่ยมและแคโรลีน บาทโลเมล แคโรลีนเป็นพระสหายตั้งแต่มัธยมและเคยอยู่แฟลตห้องเดียวกับไดอานา
- เบนจามิน ซามูแอล บุตรของฮอนเนอเรเบิลไมเคิลและจูเลีย ซามูแอล จูเลียเป็นพระสหายสนิทของไดอานา ทั้งสองคนมักรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันเสมอๆ อีกทั้งยังเป็นเพื่อนไม่กี่คนที่ไดอานาขอคำปรึกษาเรื่องครอบครัวที่ร้าวฉาน
- แอนโทนี่ แฮร์ริงตัน ธิดาของโจนาธาน แฮร์ริงตัน
- ดิซซี่ย์ โซแอมซ์ ธิดาของฮอนเนอเรเบิลรูเพิร์ทและคามิลลา โซแอมซ์
- โดเมนิก้า ลอว์ซัน ธิดาของดอมินิค ลอว์ซันและฮอนเนอเรเบิล โรซา มอนซ์ตัน โรซาเป็นพระสหายคนที่ไดอานาไปประทับอยู่ด้วย 1 เดือนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ โดเมนิก้าเป็นลูกเลี้ยงคนสุดท้ายของไดอานา
ทรงหย่า
เหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างความคาดหมายของทุกคน ในระยะแรกเจ้าหญิงไม่สามารถทรงปรับพระองค์ให้เข้ากับชีวิตของความเป็นเจ้าฟ้าหญิงได้ และทรงทุกข์ทรมานจากพระโรค บูลิเมีย (อยากอาหาร แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะอาเจียนออกมาจนหมด แต่ความอยากอาหารก็จะยังคงมีอยู่ตลอดเวลา) ซึ่งหลังจากหายขาดจากพระโรค เจ้าหญิงได้มีพระประสูติกาลเจ้าชายวิลเลียม หลังจากนั้นอีก 3 ปี พระองค์ได้มีพระประสูติกาลอีกครั้ง เจ้าชายแฮร์รี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์เริ่มทรงมีความสัมพันธ์กับคามิลลา ปาร์กเกอร์โบลส์อย่างเปิดเผย บางคนเชื่อว่าเนื่องจากเจ้าฟ้าชายชาลส์ไม่สามารถทนได้ที่พระชายาได้รับความชื่นชมมากกว่าพระองค์ (คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ของเจ้าฟ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่นในปัจจุบัน) ภาระทั้งหมดกลับตกไปที่ไดอานาในฐานะที่ควรจะ "ทรงทนให้ได้" เจ้าหญิงพยายามอย่างยิ่งที่จะพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาลส์ไว้ให้นานที่สุด แต่ไม่เป็นผล สื่อมวลชนประโคมข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเจ้าฟ้าชายชาลส์กับคามิลลา อย่างครึกโครม รวมทั้งข่าวคราวระหว่างเจ้าหญิงกับผู้ชายอีกหลายคน นั่นทำให้ทั้ง 2 พระองค์คิดว่า เรื่องราวทั้งหมดควรจะจบลงเสียที ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ในขณะนั้น สื่อมวลชนเรียกว่า "สงครามแห่งเวลส์" (War of Waleses)
พระกรณียกิจ
เจ้าหญิงแห่งเวลส์ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายหลายประการ ดังนี้
- ด้านโรคเอดส์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2530 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงเป็นบุคคลสำคัญคนแรกของโลกที่ถูกถ่ายรูปว่าจับต้องตัวผู้ป่วยโรคเอดส์ ความคิดและทัศนคติต่อคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์เปลี่ยนไปทันที และคนป่วยเองก็มีกำลังใจมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะจากคำพูดของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งกล่าวถึงไดอานา ในปี พ.ศ. 2530 ว่า
"เมื่อปี 1987,หลายคนต่างเชื่อว่าโรคเอดส์สามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสตัวกัน แต่เจ้าหญิงไดอาน่าได้ประทับร่วมกับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เตียงของเขาและทรงจับมือเขาไว้ พระองค์ได้แสดงให้โลกได้รับรู้ว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่สมควรที่จะถูกทอดทิ้งแต่ควรที่จะได้รับความเอื้ออาทรจากเรามากกว่า นั่นเป็นการเปลี่ยนความคิดของประชาคมโลกและเป็นการให้ความหวังแก่ผู้ป่วยที่ด้วยโรคนี้ ''
- ต่อต้านกับระเบิด เจ้าหญิงเสด็จไปในการทรงต่อต้านการวางกับระเบิด ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกวิสามัญของสภากาชาดแห่งอังกฤษ ภาพที่พระองค์ทรงจับมือเด็กหญิงที่ถูกกับระเบิดกำลังจะสิ้นใจตราบกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเธอ นำความเศร้าอย่างยิ่งให้กับโลก
นอกจากนี้ เจ้าหญิงยังทรงสนพระทัยในศาสนาอย่างมาก พระองค์เคยทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 อีกด้วย และยังทรงโปรดการที่ได้เล่นกับเด็กโดยไม่ถือพระองค์ ทรงเป็นแม่ทูนหัวของเด็กถึง 17 คน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะพระองค์ทรงเคยเป็นครูที่โรงเรียนอนุบาลมาก่อนก็ได้ ในด้านการต่างประเทศทรงเป็นทูตสันถวไมตรีในหลายๆ ประเทศ การเสด็จของพระองค์นำความยินดีให้กับทุกคนที่จะได้เฝ้าฯ เป็นที่น่าเสียดายว่าก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ไม่นานทรงมีหมายกำหนดการที่จะเสด็จเยือน จังหวัดภูเก็ต แต่ยกเลิกไปเสียก่อน
เหตุการณ์ก่อนสิ้นชีวิต
อุบัติเหตุ
เมื่อวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2540 เวลา 15.37 น. มีผู้พบเห็นไดอานาลงจากเครื่องบินที่มีต้นทางจากหมู่เกาะซาร์ดิเนียทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ที่สนามบินเลอร์ บู เจ๊ตในกรุงปารีส ในเวลาประมาณ 15.40น. เจ้าหญิงได้ขึ้นรถ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส 280 สีดำ รุ่นปี 1997 ออกจากสนามบินอย่างรวดเร็ว พร้อมกับทรงนัดพบกับ โดดี อัลฟาเยด์ ที่อพาร์ตเมนต์กลางกรุงปารีส หลังจากนั้น เวลาประมาณ 17.45 น. มีผู้พบเห็นไดอานากับนายโดดี พร้อมองครักษ์ อีกครั้งขณะช็อปปี้งในย่านถนน "ชองเซลีเซ่" ขณะนั้นช่างภาพอิสระรุมถ่ายภาพระองค์กับนายโดดี โดยเวลา 18.40 น. เจ้าหญิงจึงเสด็จกลับ มีการดักฟังทางโทรศัพท์ว่า เจ้าหญิงจะทรงพบกับนายโดดีอีก ที่โรงแรมริทซ์เพื่อเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในเวลา 21.31 น. และเจ้าหญิงได้เสด็จถึงโรงแรมเมื่อเวลา 21.31 โดยในระหว่างเวลา 21.40-23.30 น. เจ้าหญิงได้อยู่ในภัตตาคารอันหรูหราของนายโดดี แต่มีรายงานการใช้โทรศัพท์ของเจ้าหญิงว่าได้โทรศัพท์ไปหานางมารา โหรหญิงและเจ้าของร้านอาหารอิตาเลียนในกรุงลอนดอน พระสหายสนิทพระองค์ เพื่อทำนายดวงชะตาและขอคำปรึกษาปัญหาชีวิตภายในอีก 2-3 อาทิตย์ข้างหน้า
ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย เจ้าหญิงไดอาน่าได้เสด็จออกจากโรงแรมริตซ์พร้อมกับนายโดดี อัลฟาเยด ช่างภาพอิสระชุดเก่าที่จึงสะกดรอยตามพระองค์อีกครั้ง จนมาถึงถนนลอดอุโมงค์ที่ชื่อว่า Point De Alma ใต้แม่น้ำเซน แต่รถยนต์ซึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วประมาณ 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อหลบหนีการตามล่าของเหล่าช่างภาพอิสระ ก็ได้พุ่งชนกับแผงราวเหล็กกั้นอุโมงค์อย่างจัง เนื่องจากถนนลอดอุโมงค์มีความลาดชันมาก ทำให้รถยนตหมุนตัวและพุ่งชนแผงเหล็กอีกด้านหนึ่ง ส่งผลให้หม้อน้ำเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง โดยอองรี ปอล คนขับรถและนายโดดี เสียชีวิตทันที ส่วนเจ้าหญิงและนายเทรเวอร์ เรสยอนส์ องครักษ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหญิงมีบาดแผลฉกรรจ์ที่พระพักตร์(ใบหน้า)และพระเศียร(ศีรษะ) มีพระโลหิต(เลือด)ไหลออกมากและยังมีพระโลหิตตกค้างในพระปัปผาสะ(ปอด) เมื่อเวลา 00.15 น. รถพยาบาลคันแรกของโรงพยาบาลเซ็นต์เดอลาปีแอร์ มารับเจ้าหญิงและองครักษ์ หลังจากนั้นอีกชั่วโมงกว่า แต่เจ้าหญิงนั้นทรงเสียพระโลหิตมาก และยังมีพระโลหิตตกค้างในพระปัปผาสะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากด้วย โดยเจ้าหญิงมีพระอาการทรงตัวต่อมาเรื่อยๆ จนเมื่อเวลา 03.35 น. พระหทัยของไดอาน่าอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ซึ่งในขณะนั้นพระชีพจรอยู่ที่ 23 ครั้งต่อนาที
สิ้นพระชนม์
หลังจากนั้นอีกประมาณครึ่งชั่วโมง เวลา 04.00 น. ดร.บรูโน ริโอ แพทย์ผู้ทำการรักษาเจ้าหญิงไดอานา ประกาศว่า ไดอาน่า อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการพระโลหิตตกค้างในพระปัปผาสะในและสูญเสียพระโลหิตมาก ส่วนนายเทรเวอร์ เรสยอนส์ องครักษ์นั้นเป็นคนเดียวในอุบัติเหตุที่รอดชีวิต สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันในวันรุ่งขึ้น และแจ้งว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายวิลเลียม และ เจ้าชายแฮร์รี แห่งเวลส์ ทรงทราบข่าวแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดงานพระศพได้ที่ มหาวิหารเวสมินเตอร์ โดยพระราชวงศ์อังกฤษทุกพระองค์เสด็จฯ เข้าร่วมพิธีพระศพ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ซึ่งยังคงทรงโศกเศร้ามากนั้น มีคุณปีเตอร์ ฟิลิปส์ (พระโอรสในเจ้าฟ้าหญิงแอนน์) จับมือและคอยให้กำลังใจตลอดเวลา แขกสำคัญนอกจากพระราชวงศ์ทุกพระองค์แล้วยังมีครอบครัวสเปนเซอร์ทุกคน และมีผู้ร่วมไว้อาลัยประมาณ 3,500 คน
ถวายการไว้อาลัยแด่เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ผู้คนทั่วทั้งโลกล้วนตกตะลึงและโศกเศร้ากับข่าวการสิ้นพระชนม์ของไดอาน่า ดอกไม้หลายล้านดอกและจดหมายนับล้านๆ ฉบับถูกส่งถึงหน้าพระราชวังเพื่อไว้อาลัยถวายแด่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ โดยมีบุคคลสำคัญที่ได้แสดงความไว้อาลัยแก่ไดอานา เช่น สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เลดี้ซาราห์ แม็กคอเดลและ เลดี้เจน เฟเลอว์ พระเชษฐภคินีของเจ้าหญิง ชาร์ลส์ เอิร์ล สเปนเซอร์ พระอนุชา และเซอร์เอลตัน จอห์น ได้ร้องเพลง Candle in the wind เพื่อบรรเลงถวายอาลัยแก่ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในงานพระศพ
พระพินัยกรรม
หลังไดอาน่า ได้มีการเปิดพินัยกรรมในวันที่ 2 มีนาคม ปีถัดมา สาระสำคัญของพินัยกรรมคือ
- มีความประสงค์ให้มารดาและนายพลแพทริค เป็นผู้รับผิดชอบและจัดการทรัพย์ของพระองค์
- ต้องการให้มีการปลงศพของเธอโดยการฝัง
- หากว่าไดอาน่าและพระสวามีสิ้นพระชนม์ก่อนที่พระโอรสทั้งสองพระองค์จะมีพระชนม์ได้ 20 พรรษา มีความประสงค์ประสงค์ให้พระมารดาและพระอนุชา (เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9) เป็นผู้ปกครองเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์
- ไดอาน่ายินดีที่จะจ่ายภาษี
ผู้พิทักษ์ของไดอาน่ามีทรัพย์สินรวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 35,600,000 ดอลล่าร์ซึ่งหลังจากจ่ายภาษีแล้วจะเหลือประมาณ 21,300,000 ดอลล่าร์ พระองค์ทรงโปรดให้แบ่งทรัพย์สินประทานให้แก่ลูกเลี้ยงของพระองค์ทั้ง 17 คนก่อน คนละ 82,000 ดอลล่าร์ และให้นายพอล เบอร์เรล มหาดเล็กต้นห้องของพระองค์ 80,000 ดอลลาร์ ทรัพย์ที่เหลือนั้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าเจ้าชายแฮร์รี่จะมีพระชนม์ 25 พรรษา (และหากว่าทรัสต์มีผลกำไรงอกเงยขึ้นมา) ให้แบ่ง (ทั้งเงินต้นและกำไรของผู้พิทักษ์) เป็นสองส่วนเท่าๆ กัน ประทานแก่พระโอรสทั้ง 2 พระองค์
ทั้งนี้พระโอรสทั้งสองพระองค์ และลูกเลี้ยงทั้ง 17 คน จะต้องมีชีวิตอยู่หลังจากเธอเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะมีสิทธิ์รับมรดกตามพินัยกรรม
ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการจัดสร้างน้ำพุอนุสรณ์เจ้าหญิงไดอานา ที่บริเวณสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก ในกรุงลอนดอน มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์ถึงชีวิตของเจ้าหญิง ออกแบบโดย แคธรีน กุสตาฟเซิน และ นีล พอร์เตอร์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และบริเตนใหญ่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
พระอิสริยยศ
ไดอาน่าทรงดำรงพระอิสริยยศต่างกันตามช่วงเวลาดังนี้
- The Honourable Diana Frances Spencer (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518
- The Lady Diana Frances Spencer (9 มิถุนายน พ.ศ. 2518 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
- Her Royal Highness the Princess of Wales (29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 – 28 สิงหาคม พ.ศ. 2539
- Diana, Princess of Wales (28 สิงหาคม พ.ศ. 2539 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540)
สำหรับพระนามและพระอิสริยยศเต็มๆ ของพระองค์นับตั้งแต่พระราชพิธีอภิเษกสมรสจนถึงทรงหย่า คือ
- Her Royal Highness The Princess Charles, Princess of Wales and Countess of Chester, Duchess of Cornwall, Duchess of Rothesay, Countess of Carrick, Baroness of Renfrew, Lady of the Isles, Princess and Great Stewardess of Scotland
***********
“เจ้าหญิงไดอาน่า” Princess of Wales 16 ปีของการสิ้นพระชนม์"
ในโลกนี้จะมีสักกี่ครั้งที่มีผู้คนจำนวนมากร้องไห้โฮๆ พร้อมกันทั้งโลก หากมิใช่การสิ้นพระชนม์ของ “เจ้าหญิงไดอาน่า” เป็นปรากฏการณ์ที่สามารถกระชากใจผู้คนแทบทั้งโลกให้สะอื้นไห้ได้มากมายเช่นนั้น
ห้วงเวลาทีท่านกำลังอ่านเรื่องราวต่อไปนี้....คือ ห้วงเวลาแห่งการสิ้นพระชนม์ของ“เจ้าหญิงไดอาน่า” (หรือทรงมีพระนามอย่างเป็นทางการว่า “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” หรือ Princess of Wales )
และปีนี้ได้ครบรอบ 16 ปีของการจากไป(วันที่ 31 สิงหาคม - 5 กันยายน 2540 เป็นวันสิ้นพระชนม์และพระราชพิธีพระศพ)
ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อยของวันที่ 30 สิงหาคม 2540 เจ้าหญิงไดอาน่าได้เดินทางออกทางจากโรงแรมริตซ์พร้อมกับนายโดดี อัลฟาเยด มีช่างภาพอิสระ(ปาปารัซซี่) ชุดหนึ่งติดตามสะกดรอยรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส 280 สีดำ รุ่นปี 1997 จนมาถึงถนนลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำเซน(Seine) รถยนต์วิ่งมาด้วยความเร็วประมาณ 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อหลบหนีการตามล่าของเหล่าช่างภาพอิสระเหล่านั้น ในช่วงที่อุโมงค์มีความลาดชันต่ำลงไปนั้น รถยนต์ได้เสียหลักพุ่งชนกับแผงราวเหล็กกั้นเข้าอย่างจัง ด้วยโมเมนตัมของรถยนต์ที่ทำให้หยุดนิ่งอย่างฉับพลัน ส่งผลให้รถยนต์หมุนตัวคว้าง พุ่งชนแผงเหล็กอีกด้าน สภาพรถยนต์พังยับเยินในทันที พระสหายและคนขับรถเสียชีวิตคาที่ ส่วนเจ้าหญิงและองครักษ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส
เมื่อรถพยาบาลมาถึงพบว่า เจ้าหญิงมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ใบหน้าและศีรษะ และมีเลือดออกในปอดเป็นจำนวนมาก จึงรีบนำเจ้าหญิงส่งโรงพยาบาล แต่ทว่า...เจ้าหญิงทรงเสียเลือดมาก ทีมแพทย์ถวายการรักษาอย่างเต็มที่ พระอาการทรงตัวต่อมาเรื่อยๆ จนเมื่อเวลา 03.35 น. สัญญาญชีพจรก็เต้นแผ่วเบาลง เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ในเช้ามืดวันรุ่งขึ้น.....!
ย้อนกลับไปก่อนนั้นในช่วงกลางวัน ในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้น ปาปารัซซี่กลุ่มหนึ่งพากันซุ่มติดตามถ่ายภาพพระองค์ หากปาปารัซซี่คนใดสามารถบันทึกภาพที่ถือว่า “สุดยอด”เหล่านั้นได้ ก็ย่อมตีค่าเป็นตัวเงินได้มากมายมหาศาล กิจการปาปารัซซี่จึงมีความรุ่งเรืองและทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีเอเยนต์รับซื้อภาพถ่ายบุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลก แต่ช่างภาพมืออาชีพเหล่านั้นไม่ได้คำนึงทั้งเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและภยันตรายที่หยิบยื่นให้แก่บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายของพวกเขา
นี่อาจเป็นต้นเหตุการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงที่เป็นดวงตาดวงใจของผู้คนทั้งโลก ทุกอิริยาบถของพระองค์ล้วนตกอยู่ในสายตาของชาวโลกด้วยความห่วงหาอาทร ในขณะที่พระองค์กำลังประสบกับมรสุมชีวิตอย่างหนักจากสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮม และเรื่องส่วนพระองค์
เนื่องจากข่าวความสัมพันธ์ของเจ้าหญิงกับนายโดดี อัลฟาเยด์ พระสหายคนใหม่ของเจ้าหญิง ได้ถูกชาวโลกจับตามองมาโดยตลอด เรื่องความสัมพันธ์อื้อฉาวกับปัญหาในราชสำนัก ส่งผลให้ราชวงศ์อังกฤษทรงวางตัวลำบากในเรื่องดังกล่าว
ด้วยความรักและศรัทธาที่ชาวอังกฤษและชาวโลกมีมากกว่าที่มีต่อรางวงศ์ เจ้าหญิงทรงทำอะไรผู้คนก็เห็นดีเห็นงามด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีข่าวลือกันว่า การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่านั้น “เป็นแผนของราชวงศ์อังกฤษ” (มีการวิเคราะห์กันว่า เป็นพวกที่ใช้ “ทฤษฎีสมคบคิด”)
แม้ว่าเจ้าหญิงไดอาน่าเพิ่งจะทรงพบรักกับนายโดดี อัลฟาเยด์ มหาเศรษฐีจากตะวันออกกลางก็ตาม แต่ชาวโลกก็ให้อภัยแก่พระองค์ เพราะถือว่าพระองค์ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเช่นเดียวกัน ย่อมมีความรัก ความผิดหวัง หรือสุขทุกข์ เช่นเดียวกันผู้คนทั่วๆ ไป
ดังนั้น หากพระองค์จะทรงมีความรักครั้งใหม่ก็ไม่แปลกอะไร เพื่อชดเชยกับความเจ็บปวดที่พระองค์ทรงได้รับตลอดมาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหญิงไดอาน่า
เจ้าหญิงไดอาน่า ผู้ทรงเป็นดั่งเจ้าหญิงในเทพนิยายพระองค์นี้ มีพระนามเดิมว่า “ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์”ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม 2504 ทรงเป็นธิดาคนสุดท้องของวิสเคานท์และวิสเคานท์เตสอัลทอป มีพี่น้อง 5 คน ครอบครัว “สเปนเซอร์”นั้น มีความใกล้ชิดกับพระราชวงศ์อังกฤษมานานแล้ว โดยคุณยายเป็นพระสหายและนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชชนนีอลิซาเบธ
เจ้าฟ้าชาร์ล เจ้าชายแห่งเวลส์ นั้นทรงคบหาอยู่กับเลดี้ซาราห์และเลดี้เจน พี่สาวของเลดี้ไดอานา จึงทรงคุ้นเคยกับเลดี้ไดอานาพอสมควร ครั้นเมื่อเจ้าฟ้าชายชาลส์พระชนม์ได้ 30 พรรษา ทรงได้รับการร้องขอให้ทรงอภิเษกสมรส เจ้าฟ้าชายผู้ทรงรักสมเด็จยายมากจึงทรงยอมทำตามพระทัยสมเด็จยาย ด้วยการที่ทรงเสแสร้งพระองค์ว่าทรงรักและชอบพอกับ “ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์” ด้วยสิริโฉมและความน่ารักของ “เลดี้ไดอาน่า” ในขณะนั้น จึงทรงทำให้เห็นว่า “เลดี้ไดอาน่า” เป็นผู้หญิงที่เหมาะสมกับพระองค์มากที่สุด
“วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 สำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมประกาศว่า พระราชพิธีอภิเษกสมรสจะจัดขึ้นที่โบสถ์เซนต์ปอล ในลอนดอน ในวันที่ 29 กรกฎาคม ในปีเดียวกันนั้น โดยมีแขกที่ได้รับเชิญจำนวนกว่า 3,500 คน และมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีนี้ออกไปทั่วโลกด้วย”
“หลังการอภิเษกสมรสไดอานาได้รับยศเป็น "เจ้าหญิงแห่งเวลส์" และมีลำดับพระอิสริยยศในลำดับที่ 3 แห่งพระราชวงศ์ฝ่ายในของอังกฤษ ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และสมเด็จพระราชชนนีอลิซาเบธ”
นอกจาก"เจ้าหญิงแห่งเวลส์" จะทรงมีพระสิริโฉมอันงดงามเป็นที่ถูกจับตาจ้องมองกันทั้งโลกแล้ว และยังเป็นสตรีสามัญชนคนแรกที่อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์
ชีวิตสมรสของเจ้าหญิงแห่งเวลส์นั้น ทรงมีพระโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าชายวิลเลียม แห่งเวลส์ (ประสูติ 21 มิถุนายน 2525 ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยอีตันในสาขาวิชาภูมิศาสตร์ ชีววิทยาและประวัติศาสตร์ศิลปะ ปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดริวส์ เกียรตินิยมอันดับ 2 สาขาวิชาประวัติศาสตร์) และ เจ้าชายเฮนรีแห่งเวลส์ (ประสูติ 15 กันยายน 2527 ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งอังกฤษ)
แต่ชีวิตการสมรสของพระองค์ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น ที่กล่าวกันอย่างเป็นหลักเป็นฐานก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง
ในระยะแรกของการที่ต้องทรงย้ายเข้าไปอยู่ในพระราชวังนั้น เจ้าหญิงทรงไม่สามารถปรับพระองค์ให้เข้ากับชีวิตในวังได้ และทรงมีความทุกข์ทรมานจากพระโรคบูลิเมีย (มีความอยากอาหาร แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะอาเจียนออกมาจนหมด) กับเรื่องที่ เจ้าหญิงถูกเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับนายทหารหนุ่มครูสอนขี่ม้า ชื่อ “เจมส์ เฮวิต” ซึ่งครูคนเดียวกันนี้ก็เอาเรื่องความสัมพันธ์นั้นออกมาขายหากิน จนทำให้พระองค์ถูกปลดจากตำแหน่ง “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” และนำไปสู่การหย่าขาดอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2539 โดยเจ้าหญิงต้องสูญเสียคำนำหน้าว่า “Her Royal Honest” เพื่อแลกกับค่าเลี้ยงดูจำนวนหนึ่ง ยังคงไว้เพียงตำแหน่ง “พระมารดาแห่งกษัตริย์อังกฤษ”เพียงตำแหน่งเดียวหากเจ้าชายวิลเลียมทรงได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากเจ้าชายแห่งเวลส์
แต่เจ้าชายแห่งเวลส์ก็ไม่ได้น้อยหน้าเจ้าหญิงแห่งเวลส์นัก เพราะทรงมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “นางคามิลลา ปาร์กเกอร์โบลส์”อย่างเปิดเผย ยิ่งทำให้สภาพชีวิตสมรสของเจ้าหญิงได้รับความเห็นใจจากชาวโลกมากยิ่งขึ้น
แล้วยังมีเรื่องความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่มีความระหองระแหงมาโดยตลอด และเรื่อง “บนเตียง”ของทั้งสองพระองค์อีกด้วย
การกระทำการใดๆ ของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมเพื่อเป็นการโต้ตอบเจ้าหญิงก็ยิ่งถูกมองในแง่ร้าย และสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อเจ้าหญิงมากขึ้นไปอีก กิจกรรมทางด้านสังคมของพระองค์ก็ยังได้รับการยกย่องชื่นชมมากกว่าด้วย
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงสามารถสั่นคลอนราชสำนักบัคกิ้งแฮมเป็นอย่างมาก ซ้ำยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อท่าทีที่ไม่แสดงความเศร้าโสกเสียใจต่อการจากไปของเจ้าหญิง
ราชสำนักอังกฤษไม่ได้มีชีวิตจิตใจความรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนชาวอังกฤษและชาวโลก ....!
จนถึงใกล้วันพระราชพิธีพระศพ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 จึงยอมออกมาอ่านพระราชสาส์นแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการ
แต่ชาวอังกฤษก็ไม่พอใจที่พระบรมวงศานุวงศ์แสดงอาการเย็นชาในพิธีพระศพ ยกเว้นแต่เพียงการหลั่งพระอัสสุชลของเจ้าชายวิลเลียม และ เจ้าชายแฮร์รี่เท่านั้น
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นชาวอังกฤษร่วมกันลงประชามติว่า เจ้าชายวิลเลียมเหมาะสมที่จะขึ้นคองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 (โดยเป็นการยินยอมของประชาชนชาวอังกฤษให้ข้ามลำดับของเจ้าชายแห่งเวลส์ไปเลย)
เรื่องดังกล่าวนี้ยังความโกรธพระทัยแก่เจ้าชายแห่งเวลส์เป็นอย่างมาก
นี้คือ หนึ่งในหลายตัวอย่างในบทสรุปของชีวิต “เจ้าหญิงแห่งเวลส์”
เพลง “Candle with the Wind” ซึ่งมีความไพเราะจับใจ ตรึงจิตใจผู้คนทั้งโลกให้แน่นิ่งได้ราวกับว่า ร่วมกันแสดงความไว้อาลัยแก่เจ้าหญิงไอดาน่า..ก่อนร่างจะถูกฝังลงในสุสานหลวง เพลงนี้ขับร้องโดย เซอร์ เอลตัน จอห์น เนื้อเพลงเขียนขึ้นใหม่ โดยดัดแปลงจากเพลงที่การแต่งไว้อาลัยต่อการจากไปของดาราฮอลลีวู้ดคนดัง มาริลีน มอนโร ซึ่งเสียชีวิต 36 ปี เท่ากันกับเจ้าหญิงพอดิบพอดี
เพลงนี้แม้ได้ยินคราวใด.....ก็ยังทำให้จิตใจของผู้คนทั้งโลกน้อมโค้งคำนับให้แก่ "เจ้าหญิงแห่งเวลส์"
และ... มาดอนน่า นักร้องดังแห่งยุคศตวรรษที่ 20 กล่าวในพิธีพระศพว่า “พวกเราที่เสพข่าวส่วนตัวอันอื้อฉาวของคนดังทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นคนที่มีมือเปื้อนเลือด เพราะถ้าไม่มีคนซื้อหนังสือรูปภาพเหล่านั้นอ่าน พวกปาปารัซซี่ก็ไม่มีช่องทางทำมาหากินอย่างแน่นอน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น