กฎหมายเยอรมัน (นามสกุลหลังสมรส)
นามสกุลหลังสมรส |
กฎหมายนามสกุลเยอรมัน สร้างความปวดหัวให้แก่คนไทย ที่มาแต่งงาน หรือหย่า หรือมีบุตรในเยอรมนีไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากกฎหมายนี้ แตกต่างกับกฎหมายนามสกุลของไทย ดังนั้นแม้ว่าคนสัญชาติไทยที่อยู่เยอรมันจะมีสิทธิเลือกใช้กฎหมายนามสกุลของเยอรมันก็ตาม แต่ถ้าขัดกับกฎหมายไทยก็จะเกิดความยุ่งยากขึ้นได้ กฎหมายนามสกุลเยอรมัน กฎหมายแพ่ง (BGB) มาตรา 1355 แก้ไขเมื่อวันที่ 1 เมษายน 1994 ให้สิทธิชายและหญิงที่แต่งงานกันต่างคนต่างใช้นามสกุลเดิมของตนต่อไปได้ (เหมือนกับคนที่ไม่ได้แต่งงานกัน) แต่ถ้าชายหรือหญิงต้องการใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะต้องเอานามสกุลดั้งเดิมที่มีมาแต่เกิดของฝ่ายนั้น จะเอานามสกุลที่เจ้าของได้มาทีหลังไม่ได้ เช่น นายฮันส์ เบาเวอร์ ต้องการใช้นามสกุลของภรรยาคือ นางสมัย แสนสุข ซึ่งเป็นแม่หม้ายและใช้นามสกุลสามีคนเดิมอยู่ ในเรื่องนี้กฎหมายเยอรมันไม่อนุมัติเพราะ แสนสุข ไม่ใช่นามสกุลที่มีมาแต่เกิดของนางสมัย ฝ่ายที่สละนามสกุลเดิมเพื่อไปใช้นามสกุลของคู่สมรส ถ้ายัง "รักพี่เสียดายน้องอยู่" ก็มีสิทธิเอานามสกุลเดิมของตนควบเข้าไปได้ (Doppelname) เช่น นางยาใจ เทพพิทักษ์-ฮูเบอร์ ถ้าคู่สมรสจะตัดสินใจเลือกนามสกุล ตอนจดทะเบียนสมรสก็ได้ หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน 5 ปีหลังจากนั้นจดทะเบียนสมรส ใครเลือกใช้นามสกุลควบแล้วต่อมาเกิดรำคาญ (อาจจะเป็นเพราะยาวรุงรัง ทั้งฝรั่งทั้งไทยเรียกแล้วสะดุดหน้าสะดุดหลัง) อยากจะขอเปลี่ยนตัดนามสกุลเก่าทิ้งไปก็ย่อมทำได้ โดยยื่นคำร้องที่ Gemeinde หรืออำเภอที่ไปจดทะเบียนสมรส แต่ขอให้คิดให้รอบคอบก่อน อำเภอจะไม่ยอมให้เปลี่ยนกลับไปกลับมาอย่างแน่นอน เมื่อหย่าจากการสมรสหรือเมื่อสามีตาย ผู้หญิงที่ใช้นามสกุลของสามีเมื่อแต่งงาน หลังจากหย่าแล้วหรือสามีตายไปแล้วก็ยังคงใช้นามสกุลสามีเก่าต่อไปจนกว่าจะแต่งงานใหม่และขอเปลี่ยนนามสกุล แต่ถ้าไม่ต้องการใช้นามสกุลของอดีตสามีก็ไปยื่นคำร้องขอเปลี่ยนกลับไปเป็นนามสกุลเดิมของตนก็ได้ กฎหมายนามสกุลของไทย กฎหมายนามสกุลของไทยนี่ไม่ค่อยยุ่งยาก คือไม่มีให้เลือก ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องใช้นามสกุลของสามี ถ้าหย่าแล้วก็กลับไปใช้นามสกุลของตนตามเดิม แต่ถ้าสามีตายก็ใช้นามสกุลของสามีต่อไป |
ปัญหาดังต่อไปนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนไทยที่สมรสในเยอรมันและเลือกใช้กฎหมายนามสกุลของเยอรมัน แต่ถือพาสปอร์ตไทยอยู่
1. หญิงไทยที่เลือกใช้นามสกุลเก่าของตนเองต่อไป หรือนามสกุลควบ เมื่อส่งพาสปอร์ตไปบันทึกสถานะการสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ก็จะได้รับการบันทึกนามสกุลของสามีลงไปในพาสปอร์ตไปด้วย ตามกฎหมายนามสกุลของไทย
2. หญิงไทยที่หย่าขาดจากสามีเยอรมันในประเทศเยอรมันแล้ว จะใช้นามสกุลของสามีต่อไปตามกฎหมายเยอรมัน แต่ตามกฎหมายไทยจะต้องกลับไปใช้นามสกุลก่อนสมรส (บันทึกนามสกุลลงในพาสปอร์ต)
3. ชายไทยที่มาสมรสกับหญิงเยอรมัน เลือกใช้นามสกุลภรรยาตามกฎหมายเยอรมัน แต่กฎหมายไทยไม่ยอมรับและให้ใช้นามสกุลไทยในพาสปอร์ตตามเดิม
4. ชายไทยที่มาจดทะเบียนสมรสกับชายเยอรมัน (ตามกฎหมายเยอรมัน) และเปลี่ยนนามสกุลไปตามคู่สมรส แต่กฎหมายไทยไม่เปลี่ยนนามสกุลให้ในพาสปอร์ต เพราะไม่รับว่าการสมรสนี้มีผลบังคับตามกฎหมายไทย (ในกรณีนี้ขอแนะนำให้ชายไทยนำใบทะเบียนสมรสเยอรมันซึ่งแปลและรับรองแล้ว ติดตัวไปกับพาสปอร์ตเสมอ)
5. หญิงไทยที่เปลี่ยนสัญชาติเป็นเยอรมันหลังจากหย่าแล้ว ต้องการใช้นามสกุลเยอรมัน แต่ในพาสปอร์ตไทยนามสกุลสมรสได้เปลี่ยนกลับไปเป็นนามสกุลเดิมแล้ว (กรณีนี้ ขอแนะนำให้ติดต่อขอเปลี่ยนไปใช้นามสกุลอดีตสามีเยอรมันที่อำเภอเยอรมัน)
เพียงเท่านี้ก็น่าปวดหัวพอแล้วนะคะ ดิฉันขอแนะนำพี่น้องชาวไทยทุกคนว่า ให้ขยันเก็บเอกสารทั้งมีอายุและหมดอายุเอาไว้ รวมทั้งพาสปอร์ตทั้งเก่าทั้งใหม่ด้วย หรืออย่างน้อยก็ถ่ายเอกสารเก็บไว้ให้หมด มันจะประหยัดเวลาและพลังงานแห่งชีวิตของคุณไปได้มาก ไม่ต้องมาวิ่งเต้น หาเอกสารหลักฐาน เวลาจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
คำแนะนำในการแก้ไขเอกสารทะเบียนราษฎร์ สำหรับผู้ยื่นเรื่องขอแก้ไขชื่อสกุล
บัดนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องข้างต้น เพื่อมิให้เกิดความสับสน และเพื่อให้ข้อมูล ในเอกสารทะเบียนราษฎร ของผู้ร้องในประเทศไทย ถูกต้องตามความเป็นจริงดังนี้
- สตรีไทย ได้ยื่นเรื่องขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ สถานกงสุล แก้ไขชื่อสกุล ในหนังสือเดิน ทางภายหลังการสมรสแล้ว ขอให้ดำเนินการ ยื่นเรื่องขอแก้ไขเอกสารทะเบียนราษฎร ให้ถูกต้องในภายหลัง ณ ที่ว่าการเขต หรืออำเภอในประเทศไทย ที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ด้วย
- เมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ แก้ไขชื่อสกุลตามสามี ในหนังสือเดินทางให้แล้ว โปรดดำเนินการดังนี้
2.1 ให้นำทะเบียนสมรส ที่เป็นภาษาเยอรมัน ไปแปลเป็นภาษาไทย และมาขอรับรองคำแปล ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
2.2 นำทะเบียนสมรส ที่ได้รับรองคำแปล จากสถานเอกอัครราชทูตแล้ว ไปดำเนินการรับรองลายมือชื่อ ที่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และรับรองคำแปล ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ (กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ) อีกครั้ง
2.3 นำเอกสารดังกล่าว ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากกองสัญชาติและนิติกรณ์แล้ว ไปขอแก้ไขนามสกุล ในทะเบียนบ้าน และเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอที่ท่านมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์
บทความนี้คัดและย่อมาจากหนังสือเรื่อง "สิทธิของฉันในเยอรมัน" ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายในวงจรชีวิตของคนไทยในเยอรมัน บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมาย แต่เป็นบทความสนทนาเรื่องปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย และให้ข้อคิดเพื่อเก็บไปคิดต่อ ผู้เขียนไม่ขอรับผิดชอบในความถูกผิดแต่ประการใด
ที่มา :: สิทธิของฉันในเยอรมัน ; ขอบคุณ...คุณสุชาวดี ว้ากเนอร์ ผู้เขียนหนังสือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น