วีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว (TOURIST VISA)
วีซ่าชนิดนี้ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว โดยวีซ่าชนิดนี้ต้องยื่นคำขอจากนอก ประเทศไทยเช่นเดียวกับ NON-IMMIGRANT VISA เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยจะได้รับอนุญาต ณ ด่านตรวจ ให้อยู่เป็นเวลา 60 วัน และขออยู่ต่อได้อีก 30 วัน (เฉพาะประเทศศรีลังกา บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล อิหร่าน ไนจีเรีย โตโก ยูกันดา จะขอเลื่อนการเดินทางออกไปได้อีกเพียง 7 วัน ตามนโยบายของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) วีซ่าชนิดนี้สามารถขออยู่ต่อในระยะยาวได้เช่นกันหากมีความจำเป็น เพราะกฎหมายให้อำนาจอธิบดีกรมตำรวจ (ปัจจุบันคือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้อยู่ต่อได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี (ตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522) เพียงแต่ว่าวีซ่าชนิดนี้ไม่สามารถ ใช้ขออนุญาตทำงานได้เท่านั้นเอง อนึ่ง คนต่างด้าวผู้ที่ถือ TOURIST VISA หากเขาต้องการจะขออนุญาตทำงานในประเทศไทย หรือเกรงว่าถ้าไม่มี NON-IMMIGRANT VISA ตามที่ได้รับคำบอกเล่าของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จะไม่สามารถขออยู่ต่อระยะยาวได้ ก็มีสิทธิยื่นคำขอเปลี่ยนวีซ่าประเภทเป็น NON-IMMIGRANT VISA ได้ที่
กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพมหานคร
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
อาคารบี (ด้านทิศใต้) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
โทร 02 141 9910
แต่ว่าจะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนประเภทวีซ่าหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่มา : หนังสือเรื่องชาวต่างชาติจะอยู่เมืองไทยได้อย่างไร โดย สุภัทร์ สกลไชย
วีซ่า
ตอบลบวีซ่าในที่นี้มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "VISA" ซึ่งหมายถึงหลักฐานการอนุญาตให้เข้าประเทศที่ทำเป็นรอยตราประทับ หรือเป็นแผ่นกระดาษสติกเกอร์ติด อยู่ในหนังสือเดินทาง โดยเป็นหลักการเดียวกันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ถือได้ปฏิบัติว่า ก่อนที่คนของประเทศหนึ่งจะเดินทางเข้าไปอีกประเทศหนึ่ง ประเทศใด ก็จะต้องไปขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศจากกงสุลของประเทศที่จะเดินทางไปเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะได้รับการประทับตราวีซ่า หรือติดเป็นสติกเกอร์ที่เป็นวีซ่าให้ในหนังสือเดินทาง ตามปกติโดยทั่วไปแล้วถึงแม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องขอวีซ่าสำหรับเดินทาง เข้าประเทศนั้นๆ เสียก่อนก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศที่ได้ทำความตกลงไม่ต้องขอวีซ่าระหว่างกันก็ได้ หรือบางประเทศอาจยกเว้นโดย การอนุญาตให้คนบางสัญชาติเดินทางเข้าไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเลยก็ได้
สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น เป็นลักษณะผสม 3 อย่าง คือ
1. ต้องขอวีซ่าจากต่างประเทศก่อนเดินทางเข้ามา
2. มาขอวีซ่าที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า VISA ON ARRIVAL ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบางด่านหรือที่สนามบินนานาชาติในประเทศไทย
3. มีการยกเว้นสำหรับคนที่มีสัญชาติของบางประเทศ ไม่ต้องขอวีซ่าเลยก็สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ว่า พวกที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีวีซ่านี้ ก็จำกัดเพียงเฉพาะคนสัญชาติของประเทศที่มีความเจริญ และมีฐานะค่อนข้างดี ที่มีความประสงค์จะเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยวในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 30 วัน เท่านั้น
วีซ่าของประเทศไทยเกิดจากอำนาจตามกฎหมายที่เรียกกันว่ากฎกระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5, มาตรา 12 (1), และมาตรา 34 (15) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ตราออกมาบังคับใช้ โดยได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่สังกัดอยู่ใน กระทรวงการต่างประเทศ และพนักงาน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สังกัดอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รับไปปฏิบัติ นับตั้งแต่เวลาที่ได้มีการใช้ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ฉบับ พ.ศ.2522 มาจนถึงปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดเกี่ยวกับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ออกมาใช้ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 9 ประเภท บางประเภทจะออกให้สำหรับบุคคลที่ถือหนังสือเดินทางฑูต หรือหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น บางประเภทจะออกให้กับคนต่างด้าวทั่วไปที่ต้องการจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว และบางประเภทจะเป็นวีซ่าเกี่ยวกับผู้ที่จะเข้ามามี ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งวีซ่าในแต่ละประเภทนี้ จะมีสิทธิแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของระยะเวลาที่จะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็น ระยะเวลายาวนานไม่เท่ากัน และค่าธรรมเนียมวีซ่าก็แตกต่างกันด้วย ดังต่อไปนี้
ที่มา : หนังสือเรื่องชาวต่างชาติจะอยู่เมืองไทยได้อย่างไร โดย สุภัทร์ สกลไชย