Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ท้องร่วง...โรคยอดฮิตของหนู ๆ

ท้องร่วง...โรคยอดฮิตของหนู ๆ


         โรคท้องร่วงพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อีกทั้งยังมีภูมิต้านทานในร่างกายน้อยและได้รับเชื้อง่าย จึงทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ง่าย หากไม่อยากให้อาการท้องร่วงเป็นคู่หูของลูกน้อย มาทำความรู้จักและป้องกันไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
 ทำไมหนู ๆ ถึงท้องร่วง
        ในเด็กแรกเกิดที่กินนมแม่อย่างเดียวนั้น อุจจาระจะมีลักษณะเหลวข้นคล้ายซุปทำให้คุณพ่อคุณแม่ตกใจและคิดว่าลูกท้องเสีย ท้องร่วง แต่จริง ๆ แล้ว เป็นภาวะปกติซึ่งเด็ก ๆ จะถ่ายวันละ 8-10 ครั้ง หรือในเด็กบางคนอาจอุจจาระทุกครั้งหลังกินนมแม่เสร็จก็มีค่ะ แต่หากลักษณะอุจจาระเหลวเป็นน้ำมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวรุนแรงกว่าปกติ และมีมูกเลือดปนแบบนี้ ไม่ธรรมดาแล้วค่ะ
        สาเหตุของอุจจาระไม่ปกติ และนำไปสู่อาการท้องร่วงในเด็กแรกเกิดนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรต้า และสาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะแพ้นมวัว โดยอาการที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตว่าลูกท้องร่วงหรือไม่ให้สังเกตดังนี้
        อุจจาระร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อ จะมีลักษณะเป็นมูกมีเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็นรุนแรงกว่าปกติ และอาจมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการงอแงหรือซึมกว่าปกติ ไม่สบายตัว ท้องอืด เป็นไข้
        อุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เป็นเชื้อยอดฮิตที่พบมากที่สุดในเด็ก เพราะผลจากการตรวจเชื้อพบว่าเด็กท้องร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าประมาณ 60-70% เลยทีเดียว ลักษณะเด่นของอาการ คือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปริมาณมาก มักพบร่วมกับภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยเริ่มแรกจะมีอาการไข้สูง มีอาการอาเจียน 2-3 วันแรก ก่อนมีอาการอุจจาระ บางรายอาจมีอาการของหวัดนำมาก่อน มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
 วัคซีนโรต้า จำเป็นแค่ไหน
        ความชุกของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าในเด็กเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันนี้มีการผลิตวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า วัคซีนโรต้าเป็นแบบชนิดใช้กินในเด็กเล็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยให้ 2-3 ครั้งแล้วแต่ชนิดของวัคซีน แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และควรให้วัคซีนครบก่อนอายุ 6 หรือ 8 เดือนขึ้นกับชนิดของวัคซีน
        ในประเทศไทยวัคซีนที่ได้รับการจดทะเบียนมี 2 ชนิด คือ Rotorix เป็นวัคซีนชนิดตัวเป็น Attenuated Human Rotavirus Vaccine ประกอบด้วยเชื้อไวรัสโรต้าสายพันธุ์จากมนุษย์ ซึ่งมีสายพันธุ์เดียว คือ G1P และ Rotateq เป็นชนิด Bovine-Human Reassortant Rotavirus Vaccine โดยเป็นการนำเชื้อไวรัสโรต้าสายพันธุ์จากวัวมา Reasserted กับสายพันธุ์มนุษย์ มี 5 สายพันธุ์ คือ G1, G2, G3, G4 และ P(8)
        วัคซีนรุ่นใหม่นี้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคร้อยละ 74-85 และป้องกันความรุนแรงได้ร้อยละ 90-100 และมีความปลอดภัยสูง แต่อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ้างคือ มีไข้ เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว อาเจียน และงอแง ซึ่งการให้วัคซีนไวรัสโรต้านี้ สามารถให้พร้อมกับวัคซีนตัวอื่นได้ ยกเว้นวัคซีนโรต้าชนิด Live, attenuated human ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 14 วัน จากวัคซีนโปลิโอชนิดกิน
        ปัจจุบันมีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอีกหลายชนิด วัคซีนที่อยู่ในชั้นศึกษาวิจัย ได้แก่ วัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อไวรัสโรต้าสายพันธุ์ของมนุษย์แต่เป็น Neonatal Strain ในประเทศออสเตรเลีย และชนิด Tetravalent bovine-human Reassortants ในประเทศสหรัฐอเมริกา
        วัคซีนแต่งละชนิดมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป แต่ก็ถือว่าเป็นวัคซีนทางเลือกที่จะช่วยป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า และช่วยลดความรุนแรงของอาการจากหนักให้เป็นเบาได้        อุจจาระร่วงจากการแพ้นมวัว มักมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ท้องอืด อาเจียน มีผื่นตามลำตัว โดยเฉพาะตามข้อพับและแก้ม น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น และที่น่าสังเกตคือ ในปัจจุบันเด็ก ๆ มีอาการท้องร่วงโดยมีสาเหตุมาจากการแพ้นมวัวมากขึ้น
 ท้องร่วง...รักษาอย่างไร
        โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง คือการรักษาภาวะขาดน้ำ โดยการให้น้ำทางปาก แต่ถ้ารับน้ำทางปากไม่ได้เกิดอาการขาดน้ำปานกลางถึงขาดน้ำมากจำเป็นต้องให้น้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยาลดไข้เป็นระยะถ้ามี และให้ยาลดการอาเจียน
        หากลูกมีอุจจาระร่วงมากขึ้น เมื่อดื่มนมทั่วไปที่มีแลคโทสให้เปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีแลคโทส และเมื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำแล้วให้เริ่มอาหารทางปากได้ทันที โดยให้เป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย ควรให้ทีละน้อย แต่บ่อย ๆ คุณหมออาจพิจารณาการให้จุลินทรีย์ชีวภาพ (Probiotcs) ได้แก่ Loctobacillus GG ซึ่งมีการศึกษาพบว่าช่วยลดระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลจากโรคอุจจาระร่วมจากไวรัสโรต้า
 ป้องกันท้องร่วงให้หนู
        โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัส เกิดจากการที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงวัยนักสำรวจ หยิบจับอะไรก็จะเอาเข้าปากจึงทำให้รับเชื้อได้ง่าย โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ซึ่งป้องกันได้โดยระมัดระวังเรื่องความสะอาดตั้งแต่การเตรียมอาหาร การปรุงอาหาร และการกินอาหาร ควรล้างมือบ่อย ๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนกินอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
        ไม่พาลูกไปในสถานที่แออัดเช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า คุณพ่อคุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย ในเด็กเล็กที่ดื่มขวดนมก็ควรล้างขวดนมให้สะอาด และนำไปต้มหรือนึ่งทุกครั้งก่อนการนำมาใช้ใหม่
        วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการป้องกันให้ลูกน้อยไม่ติดเชื้อและปลอดภัยจากอาการท้องร่วงได้สบายแล้วค่ะ



ที่มา  ::    รักลูก   ปีที่ 31 ฉบับที่ 362 มีนาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น