โรคจิตเภท
อะไรคือโรคจิตเภท
โรคจิตเภทเป็นภาวะความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยที่ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรม ความคิด แตกต่างจากบุคคลทั่วไปอย่างมาก อาการที่พบได้ในภาวะความเจ็บป่วยของโรคนี้ ได้แก่
มองโลกผิดไปจากความเป็นจริง
ผู้ป่วยโรคจิตเภทมักมองโลกผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วๆไป ผู้ป่วยอาจจะมีอาการวิตกกังวล รู้สึกสับสน อาจจะดูเหินห่าง แยกตัวจากสังคม บางครั้งอาจนั่งนิ่งเป็นหิน ไม่เคลื่อนไหวและไม่พูดจาใดๆ เป็นชั่วโมงๆ หรืออาจเคลื่อนไหวช้า ทำอะไรช้าๆ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา
ประสาทหลอน
ผู้ป่วยอาจคิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ตนทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน มาเตือน หรือมาตำหนิในเรื่องต่างๆ ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีคนพูดหรือไม่มีต้นกำเนิดเสียงเหล่านี้เลย ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่า “หูแว่ว” ผู้ป่วยบางคนอาจมองเห็นคน ผี หรือสิ่งของต่างๆ
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีสิ่งเหล่านี้และไม่มีใครเห็นเหมือนผู้ป่วย เราเรียกอาการนี้ว่า “เห็นภาพหลอน”
ความคิดหลงผิด
ความคิดหลงผิดเป็นความเชื่อของผู้ป่วยที่ผิดไปจากความเป็นจริงและไม่ได้เป็นความเชื่อในวัฒนธรรมของผู้ป่วย ซึ่งความคิดหลงผิดในผู้ป่วยจิตเภทนี้มักจะแปลกประหลาดมาก เช่น เชื่อว่าพฤติกรรมของเขาหรือของคนอื่นๆถูกบังคับให้เป็นไปด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากต่างดาว เชื่อว่าความคิดของตนแพร่กระจายออกไปให้คนอื่นๆที่ไม่รู้จักรับรู้ได้ว่าตนคิดอะไรอยู่ หรือเชื่อว่าวิทยุหรือโทรทัศน์ต่างก็พูดถึงตัวผู้ป่วยทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ความคิดผิดปกติ
ผู้ป่วยจะไม่สามารถคิดแบบมีเหตุมีผลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยพูดคุยกับคนอื่นไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อคนอื่นคุยกับผู้ป่วยไม่ค่อยเข้าใจก็มักจะไม่ค่อยคุยด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยถูกแยกให้อยู่คนเดียว
การแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสม
ผู้ป่วยมักจะแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับเรื่องที่กำลังพูด เช่น พูดว่าตนกำลังถูกปองร้ายจะถูกเอาชีวิต ซึ่งขณะพูดก็หัวเราะอย่างตลกขบขัน (โดยไม่ใช่คนปกติที่ต้องการทำมุขตลก)
พบได้บ่อยเช่นกันที่ผู้ป่วยจิตเภทจะไม่ค่อยแสดงสีหน้า หรือความรู้สึกใดๆ รวมทั้งการพูดจาก็จะใช้เสียงระดับเดียวกันตลอด ไม่แสดงน้ำเสียงใดๆ (monotone)
ซึ่งอาการของผู้ป่วยจิตเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื้อรัง มีบ้างในบางคนที่มีอาการเพียงช่วงเวลาสั้นๆและสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ก็มักต้องการการรักษาที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเหมือนๆ กัน
ในเรื่องของการฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายมากสำหรับผู้ป่วยจิตเภท ถ้าผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายหรือมีการวางแผนที่จะทำอย่างนั้น ควรจะต้องให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วน เพราะผู้ป่วยจิตเภทมีการฆ่าตัวตายสูง
อะไรเป็นสาเหตุของโรคจิตเภท
ในปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคจิตเภท ดูเหมือนว่ากรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคนี้พอๆกัน นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ตรงไปตรงมาว่ายีนส์อะไร สารเคมีตัวไหน หรือความเครียดแบบใดที่เป็นสาเหตุของโรคจิตเภทนี้โดยตรง
การรักษาโรคจิตเภท
มีวิธีการรักษาที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อข่วยผู้ป่วยจิตเภทนี้หลายวิธี
1.ยาต้านโรคจิต
ยาต้านโรคจิตได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทได้มากทีเดียวในการลดอาการที่ป่วยอยู่ และช่วยให้กลับมาทำงานได้เกือบเหมือนเดิม แต่ยาก็ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยจิตเภทให้หายขาดได้ หรือไม่สามารถรับประกันได้ว่าอาการของโรคจะกำเริบกลับมาเป็นใหม่อีก
ตัวยาและขนาดของยาจะต้องสั่งโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น
จะต้องกินยาต้านโรคจิตไปนานเท่าไร
เป็นคำถามที่ผู้ป่วยและญาติจะถามบ่อยมาก
พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยจิตเภทถ้าไม่ได้รับยาต่อเนื่องมักมีอาการกลับเป็นซ้ำของโรคอีก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่มักจะต้องใช้ยารักษาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค
ผลข้างเคียงของยาต้านโรคจิต
ยาต้านโรคจิตก็เหมือนยาทั่วๆไปคือมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ในช่วงแรกหลังจากที่ได้รับยาผู้ป่วยมักจะมีอาการง่วงนอน กระสับกระส่าย ปวดเมื่อย ตัวสั่น ตาพร่ามัว ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยยาอีกตัวหนึ่งที่แก้ผลข้างเคียงเหล่านี้
2.การฟื้นฟูสภาพจิตใจ
เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเภทโดยที่ไม่ใช้ยา โดยจะเน้นในด้านการฝึกการเข้าสังคม การฝึกอาชีพเพื่อช่วยผู้ป่วยเอาชนะกับปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านของสังคมหรือหน้าที่การงาน ซึ่งโปรแกรมของการฟื้นฟุสภาพจิตใจนี้จะรวมถึงการให้คำปรึกษาในด้านอาชีพ การเข้าสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในด้านนี้หลังจากที่หายจากโรคและเริ่มออกไปใช้ชีวิตในสังคม
3.การทำจิตบำบัด
เป็นการรักษาโดยใช้วิธีพูดคุยระหว่างผู้ป่วยกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา ในเรื่องปัญหา ประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึก ความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองและปัญหาของตนเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งที่เป็นความจริงกับที่ไม่ใช่ความจริง
4.ครอบครัวบำบัด
ครอบครัวบำบัดจะเป็นการรักษาที่มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ผู้ป่วย ญาติพี่น้อง และผู้รักษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไปหลายอย่าง เช่น ช่วยให้ครอบครัวเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภท และปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้ ช่วยให้ครอบครัวเข้าใจวิถีทางที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการลดน้อยลง
5.กลุ่มบำบัด
กลุ่มบำบัดเป็นวิธีการรักษาที่มีผู้เกี่ยวข้องคือ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง จำนวนประมาณ 6-12 คน กับผู้รักษา 1-2 คน มาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกัน พร้อมกับช่วยกันแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดปกติต่างๆ จากการพูดคุยกันภายในกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมากในช่วงที่จะต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมหลังป่วย ซึ่งอาจจะต้องพบปัญหาต่างๆมากมายในช่วงนั้น
จะมีกลุ่มบำบัดอีกประเภทหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกันเองโดยไม่มีผู้รักษา แต่ก็มีประโยชน์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนอาจได้รับการช่วยเหลือประคับประคองด้านจิตใจซึ่งกันและกัน และรู้ว่าตนไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่คนเดียว
ญาติมีส่วนช่วยในการดูแลผู้ป่วยจิตเภท
ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ครวเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง
ช่วยพาผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาให้สม่ำเสมอ ตรงตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้การดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ
ถ้าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ญาติควรจะมาติดต่อกับแพทย์ เพื่อเล่าอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบซึ่งญาติจะได้รับคำแนะนำเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป
หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย ถ้าพบความผิดปกติ เช่น พูดพร่ำ พูดเพ้อเจ้อ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด ฉุนเฉียว หัวเราะหรือยิ้มคนเดียว เหม่อลอย หลงผิด ประสาทหลอน หวาดกลัว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
จัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำโดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมาก ฟุ้งซ่าน แต่ก็ไม่ต้องถึงกับบังคับมากเกินไป
ที่มา http://www.ramamental.com/medicalstudent/generalpsyc/schizophrenia/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น