โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า ฉบับละเอียด
ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ยังมีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก บางคนเป็นโดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเองก็มี ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที
ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยหวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจโรคนี้มากขึ้น เพราะพบว่าหลายๆ คนสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้หรือเปล่า บ้างก็รักษามาบ้างแล้วและอยากจะรู้เกี่ยวกับโรคที่ตัวเองเป็นมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะหากข้อมูลจากไหน จะถามแพทย์ก็เกรงใจ เนื้อหาที่เขียนส่วนหนึ่งได้มาจากคำถามหรือข้อสงสัยที่ผู้ป่วยมักถามผม คิดว่าคนอื่นๆ ก็น่าจะมีข้อสงสัยคล้ายๆ กัน เชื่อว่าหนังสือนี้คงคลายข้อสงสัยของท่านได้ระดับหนึ่ง
Melancholy, (1892)
Edvard Munch
อ็ดเวิร์ด มุงค์ เป็นศิลปินชาวนอร์เวย์ที่มีชื่อเสียง ผลงานของเขาส่งอิทธิพลสำคัญต่อศิลปะแบบเอ็กเพรสชั่นนิสซึมในช่วงต่อมาเช่นเดียวกับแวนก๊อก และโกแกง ที่อยู่ในยุคเดียวกัน มุงค์เกิดปี 1860 มีชีวิตที่มีความทุกข์ ขมขื่น ตั้งแต่วัยเด็ก แม่เสียชีวิตเมื่อเขาอายุ 5 ขวบ และพี่สาวเสียชีวิตเมื่อเขาอายุ 14 ปี พ่อเป็นหมอดูแลคนไข้ที่บ้าน สุขภาพของเขาแย่มาตลอดตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มก็มีชีวิตรักที่ตึงเครียด ติดเหล้า ชีวิตมีแต่การเดินทางจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ภาพวาดของเขาในยุคต้นสะท้อนถึงความทุกข์ความปวดร้าวต่างๆ เหล่านี้ เมื่ออายุประมาณ 45 ปีเขามีอาการซึมเศร้าครั้งแรก ใช้เวลากว่า 8 เดือนที่สถานพักฟื้นในเดนมาร์ก หลังจากนั้นเขากลับใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในนอร์เวย์
ในทศวรรษ 1890 มุงค์ได้ใช้เวลาช่วงฤดูร้อนหลายครั้ง ที่เมือง ?sg?rdstrand ร่วมกับเพื่อนๆ จากกลุ่ม Kristiania’s bohemian คนที่เป็นต้นแบบรูปคนซบหน้ากับแขนในภาพวาดคือ Jappe Nilssen ซึ่งเป็นนักเขียนและนักวิจารณ์ศิลปะ จะเห็นสาเหตุซึ่งทำให้เขาเศร้าโศกจากฉากหลังที่เป็นสะพานยาวที่ทอดยื่นไปในทะเล คู่รักของเขากำลังเดินไปขึ้นเรือกับชายอื่น
ภูมิทัศน์สะท้อนถึงบรรยากาศของความเงียบสงัดและหม่นหมอง โครงภาพไม่ซับซ้อนและก้อนหินที่อยู่ด้านหน้ามีรูปลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนที่เป็นแนวลึกแสดงโดยใช้ชายหาดเว้าโค้งเข้าออก และภาพที่อยู่ส่วนหลังที่มีขนาดเล็กลงบ่งถึงการตวัดพู่กันอย่างรวดเร็ว ในช่วงปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในปารีส มุงค์ได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดต่างๆ ในยุคนั้น และรวมถึงแนวการใช้โครงร่างแบบ Art Nouveau รูปปั้นชื่อ “The Thinker” ที่มีชื่อเสียงของโรแดง ได้ทำให้ท่าทางที่บ่งถึงการครุ่นคำนึงที่มีอายุยาวนานกว่าศตวรรษกลับมาได้รับความนิยมอีก คล้ายคลึงกับภาพแกะสลักนูนMelancholy ที่มีชื่อเสียงของ D rer ที่ Melancholia แสดงรูปลักษณ์ออกมาโดยการซบศีรษะไปบนแขนซ้ายของเธอ
Melancholy เป็นงานชิ้นสำคัญในชุดภาพวาด Frieze of Life ของมุงค์ มีด้วยกันหลายๆ แบบและเป็นจุดเริ่มต้นของการหันเหไปสู่ภาพพิมพ์ลายไม้ที่มีชื่อเสียงของเขา
โรคซึมเศร้าคืออะไร
สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วคำว่าโรคซึมเศร้าฟังดูไม่คุ้นหู ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธะรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว
คำว่า “โรค” บ่งว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่างๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย คนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรือมีงานบ้านคั่งค้าง คนที่ทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อยๆ จนถูกเพ่งเล็ง เรียกว่าตัวโรคทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ บกพร่องลง หากจะเปรียบกับโรคทางร่างกายก็คงคล้ายๆ กัน เช่น ในโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นก็จะมีอาการต่างๆ ร่วมกับการทำอะไรต่างๆ ได้น้อยหรือไม่ดีเท่าเดิม
ดังนั้น การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ทีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ดังเดิม
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลักๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกายต่างๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงได บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงได เป็นต้น และผู้ที่เป็นอาจไม่มีอาการตามนี้ไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาการหลักๆ จะมีคล้ายๆ กัน เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่พบบ่อยคือจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม
บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามา
บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน
2. ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต
บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป จะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่ญาติหรือเพื่อนๆ ก็ยืนยันว่ายินดีช่วยเหลือ เขาไม่เป็นภาระอะไรแต่ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่
ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการณ์อะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ
3. สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ
4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนขี้เกียจ ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้
ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้น ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม แม่บ้านอาจทนที่ลูกๆ ซนไม่ได้ หรือมีปากเสียงระหว่างคู่ครองบ่อยๆ
6. การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง ถ้าเป็นแม่บ้านงานบ้านก็ไม่ได้ทำ หรือทำลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป คนที่ทำงานสำนักงานก็จะทำงานที่ละเอียดไม่ได้เพราะสมาธิไม่มี ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
7. อาการโรคจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม
บางคนที่อ่านถึงตอนนี้อาจรู้สึกว่าตนเองก็มีอะไรหลายๆ อย่างเข้ากันได้กับโรคซึมเศร้าที่ว่า แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนทีเดียวนัก ทำให้อาจสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเป็นหรือเปล่า
อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่างๆ มากมาย ดังได้กล่าวในบทต้นๆ
ตารางที่ 3.1 เป็นแบบสอบถามทีใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่
แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้ายังต้องมีอาการที่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยตามตารางที่ 3.2
ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือเลวลง การรักษาได้ผลหรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำและจดบันทึกไว้ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ
แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า
ดาวโหลดแบบสอบถามฉบับ pdf
ชื่อ …………………………………………………… วันที่ ……………………….
ในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ท่านมีอาการดังต่อไปนี้ บ่อยแค่ไหน
(ทำเครื่องหมายถูก ในช่องที่ตรงกับคำตอบของท่าน)
ไม่เลย
|
มีบางวัน
ไม่บ่อย
|
มีค่อนข้างบ่อย
|
มีเกือบทุกวัน
| |
1. เบื่อ ทำอะไรๆ ก็ไม่เพลิดเพลิน |
0
|
1
|
2
|
3
|
2. ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้ |
0
|
1
|
2
|
3
|
3. หลับยาก หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากไป |
0
|
1
|
2
|
3
|
4. เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง |
0
|
1
|
2
|
3
|
5. เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป |
0
|
1
|
2
|
3
|
6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง – คิดว่าตัวเองล้มเหลว หรือเป็นคนทำให้ตัวเองหรือครอบครัวผิดหวัง |
0
|
1
|
2
|
3
|
7. สมาธิไม่ดีเวลาทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ |
0
|
1
|
2
|
3
|
8. พูดหรือทำอะไรช้าจนคนอื่นมองเห็น หรือกระสับกระส่ายจนท่านอยู่ไม่นิ่งเหมือนเคย |
0
|
1
|
2
|
3
|
9. คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าถ้าตายๆ ไปเสียคงจะดี |
0
|
1
|
2
|
3
|
ถ้าท่านตอบว่ามีอาการไม่ว่าในข้อใดก็ตาม อาการนั้นๆ ทำให้ท่านมีปัญหาในการทำงาน การดูแลสิ่งต่างๆ ในบ้าน หรือการเข้ากับผู้คน หรือไม่
ไม่มีปัญหาเลย
|
มีปัญหาบ้าง
|
มีปัญหามาก
|
มีปัญหามากที่สุด
|
|
|
|
|
นำคะแนนข้อ 1-9 มารวมกัน เทียบความรุนแรงตามตารางข้างล่างนี้
ค่าคะแนนรวม ความรุนแรง
5-8 มีอาการเล็กน้อย
9-14 โรคซึมเศร้าขั้นอ่อน
15-19 โรคซึมเศร้า ขั้นปานกลาง
ตั้งแต่ 20 ไป โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง
ทั้งนี้ต้องพบร่วมกับมีปัญหาในด้านต่างๆ
**** ค่าคะแนนและความรุนแรงดังกล่าวเป็นเพียงการเปรียบลำดับอาการ ไม่ได้บ่งบอกถึงการวินิจฉัย การที่จะบอกว่าท่านเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย เพราะมีโรคต่างๆ หลายโรคที่ทำให้มีอาการเช่นนี้ได้ รวมทั้งโรคทางร่างกายและยาหรือสารต่างๆ
มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า
- มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
- ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
* ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ
* ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
เหตุที่เราจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่เนื่องจาก มีโรคทางจิตเวชอื่นหลายโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า โรคทางร่างกายหลายโรคและยาบางตัวก็สามารถก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ ดังตัวอย่างในตารางที่ * แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการป่วยเป็นโรคหรือกำลังได้ยาเหล่านี้ จะต้องเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าเสมอไป ผู้ป่วยบางคนอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ การวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาศัยทักษะในการตรวจพอสมควร มีพบบ้างเหมือนกันว่าผู้ป่วยมาด้วยอาการของโรคซึมเศร้า แต่พอรักษาไปได้ระยะหนึ่งเริ่มมีอาการของโรคทางกายให้เห็น พอส่งตรวจเพิ่มเติมก็พบเป็นโรคทางกายต่างๆ
ตารางที่ 3.3 โรคหรือยาที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า
โรค
|
ยา
|
โรคสมองอักเสบ โรคตับอักเสบ | ยาลดความดันเลือด (เช่น alphamethyldopa, clonidine, propanolol) |
โรคระบบประสาท เนื้องอกในสมอง | ยารักษาโรคพาร์กินสัน (เช่น levodopa, amantadine) |
โรคเอส แอล อี (SLE) วัณโรค โรคเอดส์ | ยากลุ่มสเตียรอยด์และฮอร์โมน (เช่น ยาคุม, เพรดนิโซโลน) |
โรคธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ โรคคุชชิ่ง | ยารักษามะเร็ง (vincristine, vinblastine) |
โรคขาดไวตามิน (เช่น เพเลกรา เบอริเบอรี่) | ยาอื่นๆ เช่น ไซเมทิดีน, cyproheptadine |
ในการวินิจฉัย โดยทั่วไปแพทย์จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ถามอาการหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เริ่มมีอาการครั้งแรกไล่มาตามลำดับจนปัจจุบัน ยิ่งผู้ป่วยเล่าอาการต่างๆ ที่มีได้ละเอียด เล่าปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้มากเท่าไร แพทย์ก็จะยิ่งเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น
- การซักถามในขั้นตอนนี้นอกจากเพื่อดูว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่แล้ว ยังเพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการเหล่านี้หรือไม่ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในรายที่อาการไม่ชัดเจน เป็นประสบการณ์และทักษะที่ต้องผ่านการฝึกฝนและการดูแลผู้ป่วยมาจำนวนหนึ่ง
- ถามประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ในอดีต โรคประจำตัว และยาที่ใช้ประจำ เพื่อดูว่าอาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้หรือไม่
- ถามประวัติความเจ็บป่วยในญาติสายเลือดเดียวกัน เพราะโรคซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมพันธุ์เหมือนกัน
- ตรวจร่างกาย และส่งตรวจพิเศษที่จำเป็น ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีโรคทางร่างกายอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการต่างๆ ที่พบ
- แพทย์อาจซักประวัติเพิ่มเติมจากญาติหรือผู้ใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ทราบเรื่องราวหรือาการต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น เพราะบางครั้งคนรอบข้างอาจสังเกตเห็นอะไรได้ชัดเจนกว่าตัวผู้ที่มีอาการเอง
จะเห็นว่า เกณฑ์การวินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นเพียงแนวทางในเบื้องต้นเท่านั้น เป็นองค์ประกอบหนึ่งในหลายๆ ขั้นตอนที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัย
การวินิจฉัยที่แน่นอนจึงต้องพบแพทย์เท่านั้น
- ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ เป็นภาวะที่เกิดจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เกษียน เป็นต้น โดยจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วยได้ แต่มักจะไม่รุนแรง ถ้ามีคนมาพูดคุย ปลอบใจก็จะดีขึ้นบ้าง อาจมีเบื่ออาหารแต่เป็นไม่มาก ยังพอนอนได้ เมื่อเวลาผ่านไป ค่อยๆ ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าที่มีก็จะทุเลาลง
- โรคอารมณ์แปรปรวน ในโรคอารมณ์แปรปรวน ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง และมีอยู่บางช่วงที่มีอาการออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า เช่น อารมณ์ดีเบิกบานมากผิดปกติ พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า ระยะแมเนีย ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนบางครั้งจะมีอาการของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มีอาการของภาวะแมเนีย
- โรควิตกกังวล พบบ่อยว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการวิตกกังวล ห่วงโน่นห่วงนี่ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรควิตกกังวล ที่ต่างกันคือในโรควิตกกังวลนั้น จะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ร่วมด้วย อาการเบื่ออาหารถึงมีก็เป็นไม่มาก น้ำหนักไม่ลดลงมากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้านั้นนอกจากอาการวิตกกังวลแล้วก็จะพบอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต ร่วมด้วยโดยที่อาการอารมณ์เศร้านี้จะเห็นเด่นชัดกว่าอาการวิตกกังวล
สาเหตุ
ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก พัฒนาการของจิตใจ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวเป็นต้น
ปัจจัยสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าได้แก่
- กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง
- สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้เศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้
- ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุจากแต่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับการป่วยเป็นไข้หวัด ก็มักเป็นจากร่างกายอ่อนแอ จากพักผ่อนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย ขาดสารอาหาร ถูกฝน อากาศเย็น ร่วมกับการได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ถ้าเราแข็งแรงดี แม้จะได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เป็นอะไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ แต่ไม่ได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เกิดอาการ การเริ่มเกิดอาการของโรคซึมเศร้านั้นมักมีปัจจัยกระตุ้น มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งอาจไม่มีก็ได้ซึ่งพบได้น้อย อย่างไรก็ตาม การมีสาเหตุที่เห็นชัดว่าเป็นมาจากความกดดันด้านจิตใจนี้ มิได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเราไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติหรือไม่ เราดูจากการมีอาการต่าง ๆ และความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น บ่งถึงภาวะของความผิดปกติที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือ
การรักษา
โรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำใมจึงรู้สึกเศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก
การรักษาที่สำคัญในโรคนี้คือการรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น
การรักษาด้วยยาแก้เศร้า
การรักษาด้วยยาแก้เศร้า
ยาแก้เศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคนี้ แม้ผู้ที่ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าความทุกข์ใจหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายของคนเราจนทำให้เกิดมีอาการต่างๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ร่วมอีกหลายๆ อาการ ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์เศร้าอย่างเดียว ซึ่งยาจะมีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่างๆ เหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลใจทุเลาลงได้ด้วย จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า 10 คนหากได้รับการรักษาด้วยยาแก้เศร้าอาการจะดีขึ้นจนหายถึง 8-9 คน ในขณะที่หากไม่รับการรักษานั้นอาการจะดีเองขึ้นเพียง 2-3 คนเท่านั้น (เฉพาะในรายที่อาการไม่รุนแรง หากอาการรุนแรงอาจจะกล่าวได้ว่ายากที่จะหายเอง)
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาแก้เศร้า
- อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด แต่ยาก็ยังมีส่วนช่วยในระยะแรกๆ โดยทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น เจริญอาหารขึ้น เริ่มรู้สึกมีเรี่ยวแรงจะทำอะไรมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มหรือกระสับกระส่ายจะเริ่มลดลง
- ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ หรือยาระบาย ก็ตาม แม้ว่าโอกาสที่เกิดอาการข้างเคียงจะมากน้อย และมีความรุนแรงต่างกันไป การใช้ยาจึงควรใช้ในขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากมีความจำเป็นที่ทำให้กินยาตามสั่งไม่ได้ และควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากเกิดอาการใดๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือไม่
- ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ากินยามากตามที่แพทย์สั่ง แพทย์สั่งกิน 4 เม็ดก็กินแค่ 2 เม็ด หรือกินบ้างหยุดกินบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ตามจริงแล้วยาแก้เศร้าไม่มีการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่หายจากอาการของโรค การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาดกลับจะยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และรักษายากมากขึ้น
- ยาแก้เศร้ามีอยู่เป็นสิบขนาน จากการศึกษาไม่พบว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหนอย่างชัดเจน เรียกว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือ ลางเนื้อชอบลางยา ซึ่งโดยรวมแล้วก็มักจะรักษาได้ผลทุกตัว การใช้ยาขึ้นอยู่กับว่าแพทย์มีความชำนาญ คุ้นเคยกับการใช้ยาขนานไหน และผู้ป่วยมีโรคทางกายหรือกำลังกินยาอื่นๆ ที่ทำให้ใช้ยาบางตัวไม่ได้หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาแก้เศร้าตัวแรกที่ให้ หากอาการยังไม่ดีในระยะแรกๆ อาจเป็นเพราะยังปรับยาไม่ได้ขนาด หรือยังไม่ได้ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่เสียมากกว่า ถ้าแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วผู้ป่วยยังอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นต่อไป
ยาที่ใช้ในการรักษา
สมัยหลายสิบปีก่อนยาแก้เศร้ามีอยู่เพียง 4-5 ขนาน แม้ว่ายารุ่นก่อนจะมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี (ยาที่มีใช้ในช่วงหลังๆ มีแต่ดีเท่าหรือด้อยกว่ายารุ่นเก่า) การใช้ยามักจะมีข้อจำกัดด้วยเหตุว่าผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงจากยาบ่อย แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยบางคนก็ไวต่ออาการข้างเคียงมาก ทำให้การปรับเพิ่มขนาดยาทำได้ลำบาก ปัจจุบันมียาใหม่มากขึ้นซึ่งมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายาเก่า ทำให้การใช้สะดวกขึ้น ปัญหาคือยาเหล่านี้ราคาค่อนข้างแพง แพทย์จึงจะเลือกใช้ในกรณีที่เห็นว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ทำให้ใช้ยารุ่นเก่าไม่ได้
ยากลุ่มที่ใช้ปัจจุบันกันมากคือยากลุ่ม SSRI ซึ่งกลไกสำคัญคือจะไปยับยั้งการดูดซึมซีโรโตนินกลับเข้าเซลล์ (serotonin reuptake inhibitor: SSRI) ทำให้ซีโรโตนินเพิ่มขึ้นบริเวณส่วนต่อระหว่างเซลล์ประสาท ปัจจุบันมีหลายขนานผลิตได้โดยองค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาในประเทศ เนื่องจากหมดสิทธิบัตรยาแล้ว ทำให้ราคายาถูกลงมาก ยายขนานที่ปัจจุบันใช้เป็นยาขนานแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้แก่ยา fluoxetine, ตามมาด้วยยา sertraline
ในผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค ยาที่ใช้มักจะมีขนาดต่ำกว่าขนาดที่ใช้กับคนปกติทั่วไป ยาบางตัวอาจมีปฏิกิริยากับยาแก้เศร้าที่กิน ดังนั้นผู้ป่วยที่กินยาอื่นๆ จึงควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง
ยาที่เราใช้กันจะมีชื่ออยู่ 2 แบบ ได้แก่ชื่อสามัญ และชื่อการค้า ชื่อสามัญคือชื่อที่บอกองค์ประกอบหรือลักษณะยา ส่วนชื่อการค้าคือชื่อที่แต่ละบริษัทตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่าผลิตจากบริษัทของตน ยาชื่อสามัญตัวเดียวอาจมีชื่อการค้าได้หลายๆ ชื่อถ้ามีผู้ผลิตหลายบริษัท เช่น ยาแก้ปวดชนิดหนึ่งมีชื่อสามัญว่า พาราเซตามอล และมีชื่อการค้าหลายชื่อเช่น คาปอล เซตามอล เป็นต้น ซึ่งทุกยาทุกชื่อก็ได้ผลเช่นเดียวกันเพราะเป็นยาตัวเดียวกัน
ตารางที่ 6.1 รายชื่อยาที่มีใช้ในประเทศไทย
ชือสามัญ (ไทย)
|
ชือสามัญ (อังกฤษ)
|
ชื่อการค้า
|
ขนาดเม็ดละ
(มิลลิกรัม)
|
ขนาดในการรักษา
|
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้
|
อะมิทริปไทลีน | amitriptyline | - |
10, 25, 50
| 75-150 | ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก |
นอร์ทริปไทลีน | nortriptyline | - |
10,25,50
| 75-150 | ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก |
อิมิพรามีน | imipramine | - |
25
| 75-150 | ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก |
ด็อกเซปิน | doxepin | sinequan |
25
| 75-150 | ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก |
โคลมิพรามีน | clompiramine | anafranil |
10,25
| 75-150 | ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก |
ทราโซโดน | trazodone | desirel |
50
| 150-300 | ง่วงซึม มึนศีรษะ |
ไมแอนเซอรีน | mianserine | tolvon |
10, 30
| 60-90 | ง่วงซึม ปวดศีรษะ |
มอโคลเบไมด์ | moclobemide | aurorix |
100, 150
| 150-450 | คลื่นไส้ กระวนกระวาย นอนไม่หลับ |
ฟลูออกเซตีน* | fluoxetine | fluoxetine |
20
| 20-40 | พะอืดพะอม กระวนกระวาย หลับยาก |
ฟลูวอกซามีน* | fluvoxamine | faverin |
50,100,150
| 100-300 | คลื่นไส้ กระวนกระวาย หลับยาก |
พารอกเซตีน* | paroxetine | seroxat |
20
| 20-40 | กระวนกระวาย คลื่นไส้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร |
เอสซิตาโลแพรม* | escitalopram | lexapro |
20
| 20-40 | พะอืดพะอม กระวนกระวาย |
เซอร์ทราลีน* | sertraline | sertraline |
50
| 50-100 | คลื่นไส้ กระวนกระวาย |
เวนลาแฟกซีน | venlafaxine | effexor |
75, 150
| 150-300 | กระวนกระวาย คลื่นไส้ |
เมอร์ทาเซปีน | mirtazepine | remeron |
30
| 15-45 | ง่วงซึม ปากคอแห้ง |
ไทอะเนปทีน | tianeptine | stablon |
12.5
| 25-50 | กระวนกระวาย คลื่นไส้ |
อาการข้างเคียงที่พบได้ในยาแก้เศร้ากลุ่มเก่า
- ง่วง เพลีย ซึมๆ ยาแต่ละตัวมีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากน้อยแตกต่างกัน ยาที่พบบ่อยได้แก่ อะมิทริปไทลีน และด็อกเซปิน แพทย์จึงมักให้ยาเหล่านี้กินตอนเย็นหรือก่อนนอน ซึ่งก็เหมาะกับโรค เพราะโรคนี้ผู้ที่เป็นมักจะนอนหลับไม่ดีอยู่แล้ว ยาจึงช่วยให้หลับได้โดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับ ในช่วงแรกของการรักษาห้ามขับรถและควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร เนื่องจากการง่วงซึมแม้จะมีเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้การตัดสินใจ หรือการเคลื่อนไหวที่ต้องการความรวดเร็วนั้น เชื่องช้าลงได้มาก หากสังเกตว่ากินยาแล้วง่วงมาก ซึมแทบทั้งวัน ควรแจ้งแพทย์เพื่อจะได้พิจารณาปรับยา แต่พบว่าบางครั้งพอกินยาไปนานๆ เข้ากลับไม่มีง่วงเหมือนเดิมอีกก็มี
- อาการปากคอแห้ง เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย แก้โดยให้จิบน้าบ่อยๆ
- ตามัว มองเห็นไม่ชัด อาการพวกนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ไม่ต้องตัดแว่นใหม่
- ท้องผูก กินอาหารจำพวกผัก ผลไม้ที่มีกากมากๆ หรืออาจกินมะขามเปียกช่วยในการระบาย
- เวียนศีรษะ หน้ามืด จากยาไปทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดจึงค้างอยู่ในร่างกายมาก ไปเลี้ยงสมองน้อย อาการนี้มักเป็นเวลาเปลี่ยนอิริยาบท เช่น นอนนานๆ นั่งนานๆ แล้วลุกกระทันหัน หากมีอาการบ่อยๆ อาจแก้โดยรับประทานของเค็มๆ บ่อยขึ้น เพื่อทำให้ความดันเลือดเพิ่มมากขึ้น (ผู้ที่เป็นโรคความดันสูงอยู่ไม่ควรใช้วิธีนี้) การเปลี่ยนท่าทางต้องค่อยๆ ทำ หากจะลุกจากตื่นนอน ให้ลุกนั่งสักพักหนึ่ง ขยับแขนขาไปมา ให้เลือดไหลเวียนดี แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้น หากมีอาการเวียนศีรษะขณะยืนอยู่ให้รีบนั่งพิงพนักหรือนอนทันที ถ้ายิ่งนอนในท่าที่ส่วนศีรษะต่ำกว่าส่วนลำตัวและยกขาสูงได้ก็ยิ่งดี หากมีอาการเช่นนี้บ่อยๆ แก้ไขแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรแจ้งแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจปรับลดยาลงหรือเปลี่ยนยา
อาการข้างเคียงที่พบได้ในยาแก้เศร้ากลุ่มใหม่
ยาแก้เศร้ากลุ่มใหม่นี้ กล่าวโดยรวมแล้วมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากลุ่มเก่า โดยเฉพาะอาการปากคอแห้ง ท้องผูก หรืออาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์เฉพาะระบบซีโรโตนิน (กลุ่มที่มีเครื่องหมาย * ในตาราง) เนื่องจากมียาหลายขนาน ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ในการรักษาโดยไปปรับสารเคมีในสมองเฉพาะระบบซีโรโตนิน ยาแต่ละขนานจะมีอาการข้างเคียงต่อไปนี้มากน้อยต่างกัน
- กระวนกระวาย บางคนกินยาแล้วมีอาการกระวนกระวาย ซึ่งพบได้กับยาแก้เศร้ากลุ่มใหม่ขนานอื่นบางตัวเหมือนกัน (ดูในตาราง) ถ้ากินยาแล้วรู้สึกว่าตนเองหงุดหงิดง่ายขึ้น กระวนกระวาย รู้สึกเหมือนอยู่ไม่สุข ต้องทำโน่นทำนี่ ให้บอกแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจให้ยาคลายกังวลร่วม ลดขนาดยาลง หรือเปลี่ยนไปใช้ยาขนานอื่น
- นอนไม่หลับ ข้อดีของยาเหล่านี้คือไม่ทำให้ง่วงนอน แพทย์จึงมักนิยมให้ตอนเช้า หากกินก่อนนอนแล้วอาจจะทำให้หลับไม่ดีได้
- คลื่นไส้ บางคนกินยาแล้วมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ จุก แน่นท้อง ส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงสั้นๆ หลังกินยา ถ้ามีอาการให้ลองเปลี่ยนมากินยาตอนท้องว่าง (ก่อนกินอาหาร) ถ้าเป็นมื้อเช้าก็คือ ตื่นมาสักครู่ก็กินยาเลย ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้แจ้งแพทย์
- ปวดหัว มักเป็นไม่นาน ดีขึ้นเอง
แพทย์รักษาอย่างไร
หลังจากแพทย์ประเมินอาการจนค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางร่างกายอื่นๆ ก็จะเริ่มให้การรักษาโดยให้ยาขนาดต่ำก่อน นัดติดตามการรักษาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงอะไรก็จะค่อยๆ ปรับยาขึ้นไปทุกๆ 1-2 สัปดาห์จนได้ขนาดในการรักษา
แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาลเมื่อ
- ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ไม่กินอาหารเลย อยู่นิ่งๆ ตลอดวัน คิดอยากตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย
- แพทย์ต้องการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
- แพทย์เห็นว่าการรักษาด้วยยาต้องดูแลใกล้ชิด เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย ผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น
หลังจากที่รักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะให้ยาในขนาดใกล้เคียงกับขนาดเดิมต่อไปอีกนาน 4-6 เดือน เนื่องจากพบว่าในช่วงนี้ผู้ป่วยที่หยุดยาไปกลับเกิดอาการกำเริบขึ้นมาอีกสูง เมื่อให้ยาไปจนครบ 6 เดือนโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการเลยในระหว่างนี้ แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยาลงโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจนหยุดยาในที่สุด
แม้ว่าจะหายจากการป่วยในครั้งนี้แล้ว ยังพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสเกิดกลับมาป่วยซ้ำอีก โดยพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ป่วยครั้งแรกมีโอกาสที่จะเกิดป่วยซ้ำอีกได้ บางคนหายปี 2-3 ปีแล้วกลับเป็นใหม่ ในขณะที่บางคนหายไปเป็น 5-7 ปีก็มี ซึ่งบอกยากว่าใครจะกลับมาเป็นอีกและจะเป็นเมื่อไร หลักการโดยทั่วๆ ไปคือ ถ้าเป็นครั้งที่สอง โอกาสเกิดเป็นครั้งที่สามก็สูงขึ้นและถ้าเป็นครั้งที่สาม โอกาสเป็นครั้งที่สี่ก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก และการกำเริบในครั้งต่อๆ ไปจะกระชั้นเข้า ดังนั้นถ้าป่วย 3 ครั้งแล้วจำเป็นต้องกินยากันไม่ให้กลับเป็นซ้ำไปนานเป็นปีๆ แต่ถ้าเป็น 2 ครั้งและมีลักษณะต่างๆ ที่แพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยงก็อาจให้ยาป้องกันเช่นกัน (ดูตารางที่ 6.2)
ตารางที่ 6.2 ข้อบ่งชี้ในการป้องกันระยะยาว
- มีอาการมาแล้ว 3 ครั้ง
- มีอาการมาแล้ว 2 ครั้ง ร่วมกับมีภาวะต่อไปนี
- ญาติใกล้ชิดสายเลือดเดียวกันมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง หรือป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน
- มีประวัติกลับมาป่วยซ้ำอีกภายใน 1 ปี หลังจากหยุดการรักษา
- เริ่มมีอาการครั้งแรกขณะอายุยังน้อย (ต่ำกว่า 20 ปี)
- มีอาการที่เป็นเร็ว รุนแรง หรืออันตรายมา 2 ครั้ง ภายในช่วงเวลา 3 ปี
ผู้ป่วยที่กินยาป้องกันมักจะกินไปนานประมาณ 3-5 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันมิได้หมายความว่าจะไม่เกิดอาการอีกเลย พบว่าผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดอาการเหมือนเดิมอีก ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการอีกแต่เป็นน้อยและเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เมื่อเพิ่มยาขึ้นอาการก็หายไป ในขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการอีก
การที่การกินยาป้องกันระยะยาวมีความสำคัญเพราะจากการศึกษาในระยะหลังๆ นี้ทราบค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าหากผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นบ่อยๆ การรักษาจะยุ่งยากมาขึ้นในระยะหลังๆ และอาการอาจเป็นถี่มากขึ้น
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆ แต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว
แต่ขอให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่างๆ ในมุมมองอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้น
ในขณะที่คุณกำลังซึมเศร้าอยู่นั้น มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
- การออกกำลังกาย การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ การออกกำลังกายที่ดีจะเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว
- อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
- เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่น ไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว หลักการเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละช่วง คนที่มีความโศกเศร้ามักจะรู้สึกหมดหวัง คิดว่าความรู้สึกนี้จะคงอยู่กับตนเองตลอดเวลา ในความเป็นจริงแล้วจะมีอยู่บางช่วงที่อารมณ์เศร้านี้เบาบางลง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ให้เราเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น
- อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่นการหย่า การลาออกจากงาน ณ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้นๆ เป็นสิ่งที่กดดันเราทำให้อะไรๆ แย่ลวงจริงๆ ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนให้ช่วยคิด
การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหาย่อยอื่นๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่
ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ที่เป็น ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนานก ทำให้บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน “ไม่สู้” ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์
แต่ทั้งนี้ ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง “เจ็บป่วย” อยู่ หากจะเปรียบกับโรคทางกายเช่น โรคปอดบวม อาจจะทำให้พอเห็นภาพชัดขึ้น คนเป็นโรคปอดบวมจะมีการอักเสบของปอด เสมหะเหนียวอุดตันตามหลอดลม ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก มีไข้ สิ่งที่เขาเป็นนั้นเขาไม่ได้แกล้งทำ หากแต่เป็นเพราะมีความผิดปกติอยู่ภายในร่างกาย เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ กับโรคซึมเศร้าก็เป็นเช่นเดียวกัน ความกดดันภายนอกที่รุมเร้าร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจนอกเหนือไปจากความเศร้าโศก ณ ขณะนั้น นอกจากอารมณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังพบมีอาการทางร่างกาย ต่างๆ นาๆ รวมด้วย ความคิดเห็น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ ก็กลับจะยิ่งไปส่งเสริมให้จิตใจเศร้าหมอง กลัดกลุ้มมากขึ้นไปอีก เขาห้ามให้ตัวเองไม่เศร้าไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป
หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็น โรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย
บางครั้งผู้ป่วยดูเงียบขรึม บอกไม่อยากพูดกับใคร ก็อาจต้องตามเขาบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่จะปล่อยเขาไปหมด หากสังเกตว่าช่วงไหนเขาพอมีอารมณ์แจ่มใสขึ้นมาบ้างก็ควรชวนเขาพูดคุยถึงเรื่องที่เขาเคยชอบ เคยสนใจ อาจเริ่มด้วยการคุยเล็กๆ น้อยๆ ไม่สนทนานานๆ เพราะเขายังไม่มีสมาธิพอที่จะติดตามเรื่องยาวๆ ได้นาน และยังเบื่อง่ายอยู่ การที่ญาติมีท่าทีสบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วย และในขณะเดียวก็ไม่กระตุ้นหรือคะยั้นคะยอเกินไปเมื่อสังเกตว่าเขายังไม่พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายลง ไม่เครียดไปตามญาติ หรือรู้สึกว่าตนเองแย่ที่ไม่สามารถทำตามที่ญาติคาดหวังได้
ผู้ที่กำลังซึมเศร้าบางครั้งอาจเกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่เห็นหนทางแก้ปัญหา อาจรู้สึกอยากตายได้ ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้แม้ว่าบางคนจะไม่บอกใคร แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะบอกคนใกล้ชิดเป็นนัยๆ ญาติควรใส่ใจ หากผู้ป่วยพูดจาในทำนองสั่งเสีย ล่ำลา หรือพูดเหมือนกับจะไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยเฉพะถ้าเขาไม่เคยมีท่าทีทำนองนี้มาก่อน ผู้ป่วยบางคนไม่รู้ว่าจะบอกคนอื่นอย่างไรถึงเรื่องอยากตายของตน รู้สึกสองจิตสองใจ ใจหนึ่งอยากตาย ใจหนึ่งเป็นห่วงคนใกล้ตัว จะปรึกษาใครก็กลัวคนว่าคิดเหลวไหล การบอกเป็นนัยๆ นี้แสดงว่าจิตใจเขาตอนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคนเข้าใจอย่างมาก
เรื่องหนึ่งที่มักเข้าใจผิดกันคือ คนมักไม่ค่อยกล้าถามผู้ป่วยถึงเรื่องความคิดอยากตาย เพราะเกรงว่าจะเป็นการไปชี้โพรงให้กระรอก แต่จริงๆ แล้วๆ ไม่เป็นเช่นนั้น ความคิดอยากตายมักเกิดจากการครุ่นคิดของผู้ป่วยจากมุมมองต่อปัญหาที่บิดเบนไปมากกว่า ไม่ได้เป็นเพราะคำถามเรื่องนี้ ในทางตรงกันข้าม การถามกลับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึก ความตึงเครียด คับข้องใจลดลง
หากผู้ป่วยพูดถึงเรื่องอยากตาย อย่าบอกว่า “อย่าคิดมาก” “ให้เลิกคิด” หรือ “อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น” คำพูดทำนองนี้อาจทำให้เขารู้สึกว่าญาติไม่สนใจรับรู้ปัญหา เห็นว่าเขาเหลวไหล ญาติควรให้ความสนใจ เปิดโอกาสให้เขาได้พูดถึงความคับข้องใจ จากประสบการณ์การเป็นแพทย์ของผู้เขียนพบว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ไม่มีโอกาส หรือไม่ได้พูดความคับข้องใจหรือปัญหาของตนเองให้คนใกล้ชิด เพราะมีความรู้สึกว่า “เขาคงไม่สนใจ” “ไม่อยากรบกวนเขา” “ไม่รู้ว่าจะเล่าให้เขาฟังตอนไหน” ในช่วงภาวะวิกฤตินั้นสิ่งที่ผู้ที่ทุกข์ใจต้องการมากคือผู้ที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งรีบไปให้คำแนะนำโดยที่เขายังไม่ได้พูดอะไร การที่เขาได้พูดระบายออกมาเป็นการเปิดโอกาสให้ญาติได้เห็นชัดเจนขึ้นว่าปัญหา หรือสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่าสำคัญคืออะไร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่ญาติเคยคิดมาก่อนก็ได้
เมื่อผู้ป่วยได้พูดระบายความคับข้องใจออกมา จิตใจจะผ่อนคลายลง สภาพจิตใจตอนนี้เริ่มจะเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เขาเกิดความไว้วางใจ ซึ่งก็คือผู้ที่รับฟังปัญหาของเขายามที่เขาทุกข์ใจมากที่สุดนั่นเอง ณ จุดนี้ ญาติจะสามารถชี้ให้ผู้ป่วยได้มองปัญหาจากแง่มุมอื่นๆ ได้เห็นทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ปัญหา หากได้พูดคุยแล้วเห็นว่าผู้ป่วยยังมีความรู้สึกท้อแท้อยู่สูง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากก็อย่าได้ไว้วางใจ ควรพาไปพบแพทย์
ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามากนั้น หากเขายังทำอะไรไม่ได้ก็ควรจะให้พักผ่อนไปจะดีกว่าการไปบังคับให้เขาทำโดยที่ยังไม่พร้อม หากอาการเริ่มดีขึ้น ก็อาจค่อยๆ ให้งานหรือชวนให้เขาร่วมกิจกรรมที่พอทำได้บ้าง เป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยสมาธิมากนัก หากเป็นงานที่มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่จะดีกว่างานที่ผู้ป่วยนั่งอยู่เฉยๆ เพราะการมีกิจกรรมจะทำให้ความคิดฟุ้งซ่าน การอยู่กับตนเองลดลง
ข้อควรทราบ
- โรคนี้ไม่ได้อาการดีขึ้นทันทีที่กินยา การรักษาต้องใช้เวลาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด จึงไม่ควรคาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป
- การรักษาด้วยยามีความสำคัญ ควรช่วยดูแลเรื่องการกินยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยยังซึมเศร้ามาก หรืออาจมีความคิดอยากตาย
- การตัดสินใจในช่วงนี้จะยังไม่ดี ควรให้ผู้ป่วยเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไปก่อนจนกว่าจะเห็นว่าอาการเขาดีขึ้นมากแล้ว
คำถาม โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์ไหม จะมีลูกได้ไหม
คำตอบ จากการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีญาติป่วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับญาติใกล้ชิด โดยญาติใกล้ชิดสายเลือดเดียวกันของผู้ป่วย (ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง) มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วๆ ไป 2-3 เท่า แต่บางครั้งโรคนี้ก็เป็นขึ้นมาเองได้เหมือนกัน เหมือนกับโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง แต่การป่วยเป็นโรคนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะต้องเป็นโรคนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแม้แต่พ่อและแม่เป็นทั้งคู่ ลูกก็ยังไม่ได้ป่วยไปทุกครอบครัว และเนื่องจากโรคนี้ไม่ได้มีความบกพร่องที่รุนแรงมาก สามารถรักษาได้ การป่วยเป็นโรคนี้จึงไม่เป็นข้อห้ามต่อการมีลูก
คำถาม โรคนี้คือโรคจิตใช่หรือไม่
คำตอบ ไม่ใช่ โรคจิตหมายถึงโรคที่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นอาการเด่นและมักจะเป็นเรื้อรัง ส่วนในโรคซึมเศร้านั้น อาการสำคัญคืออารมณ์จะเปลี่ยนไปจากปกติ โดยจะซึมเศร้า นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ในบางครั้งถ้ารุนแรงมากๆ อาจมีอาการหลงผิดประสาทหลอนได้ แต่ก็พบไม่บ่อยและเมื่ออาการซึมเศร้าดีขึ้นอาการหลงผิดนี้ก็จะหายไป หากจะเรียกให้ถูกอาจเรียกว่าเป็นโรคทางอารมณ์
คำถาม โรคนี้รักษาแล้วหายขาดไหม
คำตอบ การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาการกำเริบของโรค เมื่อหายแล้ว ก็อาจเป็นขึ้นมาใหม่ได้เหมือนกัน ประมาณกันว่าร้อยละ 50- 75 ของผู้ป่วยเป็นมากกว่าหนึ่งครั้ง ยิ่งกลับมากำเริบก็ยิ่งมีโอกาสเป็นอีกในครั้งต่อไปมากขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นมากกว่า 2 ครั้งอาจต้องกินยาป้องกันไประยะยาวหลายๆ ปี
คำถาม กินยาแล้วไม่เห็นดีขึ้นเลย จะเพิ่มยาได้ใหม
คำตอบ ยาแก้เศร้าไม่ได้กินแล้วเห็นผลทันตาเหมือนกับยาแก้ปวด ต้องให้เวลาเพื่อยาไปปรับระบบสารเคมีต่างๆ ในร่างกายระยะหนึ่ง อาการซึมเศร้าจึงจะดีขึ้น อาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ในระยะระหว่างนี้แม้จะกินยามากก็ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นเร็ว แต่กลับจะยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงมากขึ้น
คำถาม กินยามานานแล้วยาจะสะสมในร่างกายไหม
คำตอบ ยานี้ไม่มีการสะสมในร่างกาย เมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระหรือปัสสาวะ ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 12-24 ชั่วโมงระดับยาในร่างกายหลังกินจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง แพทย์จึงต้องให้กินยาวันละ 1-3 ครั้ง ตามแต่ว่ายาตัวไหนถูกขับออกจากร่างกายเร็วหรือช้า เพื่อให้ระดับยาในเลือดคงที่ตลอด การรักษาจึงจะได้ผลดี
คำถาม ยาแก้เศร้านี้ กินแล้วจะติดยาไหม เพราะสังเกตว่าถ้าไม่กินยาจะนอนไม่หลับ
คำตอบ ยาแก้เศร้านี้ ไม่มีการติดยา การติดยาหมายถึงขาดยาไม่ได้ ต้องกินยาอยู่เรื่อยๆ ถ้าขาดก็จะรู้สึกระวนกระวาย อยากได้ยามาก และถ้าจะต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกิดการดื้อยา อย่างไรก็ตามหากกินยาไประยะหนึ่งแล้ว (นานกว่า 3 เดือน) ถ้าจะหยุดยาจะต้องค่อยๆ ลดยาลงทีละน้อย โดยเฉพาะหากกินวันละหลายเม็ด ถ้าหยุดยาเลยอาจทำให้มีอาการกระวนกระวาย คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ได้ในช่วงแรกๆ (โดยเฉพาะยารุ่นเก่า) ซึ่งเป็นเพราะร่างกายยังปรับตัวไม่ทัน
ผู้ป่วยหลายคนกลัวติดยาจึงกินยาน้อยกว่าที่สั่ง กินๆ หยุดๆ หรือจะกินต่อเมื่อมีอาการมาก การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้มีโอกาสเกิดอาการกำเริบใหม่ได้ง่ายแล้ว การรักษาจะยุ่งยากไปด้วย
คำถาม ผู้ป่วยบางคนไม่ยอมกินยา จะฉีดยาได้ไหม ผู้ป่วยที่อาการหนักจะฉีดยาได้ไหม
คำตอบ ยาแก้เศร้าชนิดฉีดไม่เป็นที่นิยมใช้ในโรคนี้ เพราะดังที่กล่าวแล้วว่าการหายของโรคนี้ต้องใช้เวลา การฉีดยาไม่ได้ช่วยให้หายเร็วขึ้น และแม้อาการหนักถึงฉีดยาก็ไม่ได้ทุเลาทันที กล่าวโดยสรุปคือยาฉีดไม่ได้มีผลดีเหนือกว่ายากิน มีแต่เจ็บตัวเปล่าๆ ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมกินยาคงต้องอาศัยการชี้แจงให้เขาเห็นความสำคัญของการรักษา ถ้าไม่กินยาเพพราะอาการหนักก็อาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ญาติควรแจ้งแพทย์เรื่องนี้ เพื่อที่แพทย์จะได้ไม่เข้าใจผิดว่าผู้ป่วยกินยาตามขนาดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
คำถาม ตอนนี้กำลังกินยารักษาโรคอยู่ จะตั้งท้องได้ไหม
คำตอบ โดยทั่วไปแพทย์จะยังไม่ให้ผู้ป่วยมีลูกจนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ป่วยหายมาดีแล้วระยะหนึ่ง เพราะช่วงหลังคลอดใหม่ๆ มีหลายคนเกิดกลับเป็นใหม่ขึ้นมาอีก และในสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ยาที่ให้ก็อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ได้เหมือนกัน แม้จะพบได้น้อยมาก ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ควรรอจนหายดีแล้วดีกว่า
คำถาม การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นอย่างไร
คำตอบ การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นการรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าขนาดต่ำมาก () โดยวางขั้วไฟฟ้าที่เหนือจุดกึ่งกลางระหว่างหูและหางตาขึ้นไป เมื่อกระแสไฟฟ้าผ่านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองเหมือนกับที่พบในผู้ป่วยที่มีอาการลมชัก ในการรักษาจะทำวันเว้นวัน (จันทร์-พุธ-ศุกร์) ประมาณ 6-8 ครั้ง จะรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ผู้ป่วยที่มีอาการโรคจิตร่วม หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หลังทำอาจมีอาการหลงลืมง่าย ซึ่งจะค่อยๆ กลับคืนมาเป็นปกติในเวลาไม่นาน
ฉันอายุ 20 ปี ปัจจุบันอยู่ที่จังหวัดทางภาคอีสาน เคยรับการรักษาโรคซึมเศร้ามา 1 ครั้งและกลับมาเป็นใหม่อีกครั้งหนึ่งในเวลาห่างกันไม่ถึงปี
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับฉันก่อนเข้ารับการรักษาคือ ฉันจะรู้สึกเบื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากพบหน้าเพื่อนไปเรียนแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิในการเรียน บางครั้งฉันร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย ที่สำคัญฉันรู้สึกเบื่อหน่ายตัวเอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดที่จะทำร้ายตัวเอง ผลการเรียนลดลงมากกว่าปกติ และมีอาการทางด้านร่างกายเกิดขึ้น เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ใจสั่น
อาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับฉันได้ประมาณ 8 เดือน ฉันได้รับคำแนะนำจากเพื่อนรุ่นพี่ให้ปรึกษาจิตแพทย์ ฉันจึงตัดสินใจไปพบคุณหมอเมตตา แล้วได้เล่าอาการทั้งหมดให้คุณหมอฟัง คุณหมอบอกว่าฉันเป็นโรคที่เรียกว่าโรคซึมเศร้า
ฉันได้รับการรักษาจากคุณหมอเมตตาเป็นเวลาประมาณ 4 เดือนจึงได้หยุดรักษา เพราะคุณหมอบอกว่าฉันปกติดีแล้ว ซึ่งผลการเรียนหลังจากที่ได้รับการรักษาแล้วเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจสมาธิในการเรียนกลับมา ความรู้สึกเบื่อตัวเอง อยากทำร้ายตัวเองได้หายไป
หลังจากนั้นเวลาผ่านไปได้ประมาณ 4 เดือน อาการข้างต้นได้ปรากฏขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อฉันได้ออกฝึกสอนที่โรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่ง ฉันทุ่มเทชีวิตทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับการออกฝึกสอนในครั้งนั้น แต่ฉันได้รับคำตำหนิตลอดเวลาว่าไม่มีความรับผิดชอบ ทำงานไม่ได้เรื่องมัน ทำให้ฉันรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจในการเรียน รู้สึกว่าตัวเองแย่มากทำอะไรก็ไม่ดีไม่ได้เรื่อง ฉันเริ่มปวดศีรษะทุกวัน ๆ ฉันเก็บตัวอยู่ในห้องนอน ตลอดเวลาหลังจากเลิกเรียนแล้วน้ำหนักลดลงมาจาก 47 กิโล เหลือ 41 กิโล ภายในเวลา1 เดือน
ฉันได้ตัดสินใจโทรศัพท์ไปปรึกษานักจิตวิทยาที่โรงพยาบาล นักจิตวิทยาแนะนำให้ไปพบที่โรงพยาบาลฉันก็ได้ไปพบและทำแบบทดสอบ แล้วนัดฉันไปพบอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์ถัดไป
ช่วงที่ฉันรอ ฉันรู้สึกแย่มาก รู้สึกเบื่อรำคาญตัวเอง แล้วคิดว่าทำไมฉันจะต้องเป็นแบบนี้ด้วย ฉันไม่ต้องการที่จะเป็นแบบนี้ ฉันอยากที่จะหนีให้พ้นๆ จากสภาพที่เป็นอยู่ แล้วเกิดความคิดในการที่จะฆ่าตัวตายขึ้นมา ฉันก็ได้ลงมือฆ่าตัวตายโดยการกินยานอนหลับไปประมาณ 10 เม็ด และยาแก้ปวดไปประมาณ 60 เม็ด คุณพ่อกับคุณแม่เห็นฉันเงียบผิดปกติในห้องนอนจึงเปิดประตูเข้าไปดูแล้วเรียกฉัน แต่ฉันไม่รู้สึกตัว จึงนำส่งโรงพยาบาลคุณหมอได้ช่วยชีวิตไว้ได้ทัน
ตอนนี้ฉันอยู่ในความดูแลของคุณหมอเมตตาซึ่งฉันจะต้องไปพบหมดทุกสัปดาห์และพบนักจิตวิยาทุก 3 สัปดาห์ ซึ่งการรักษาของฉันในตอนนี้มีทั้งการใช้ยาและการใช้วิธีจิตบำบัด ซึ่งตอนนี้ฉันเริ่มที่จะรักษาโรคซึมเศร้าเป็นครั้งที่ 2 ได้ประมาณ 1 เดือน คุณหมอบอกว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการรักษาครั้งนี้
สุดท้ายนี้ฉันหวังว่าเรื่องของฉันคงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ
ปราณีต
วิจารณ์
อาการของคุณปราณีตเข้าได้กับโรคซึมเศร้าทุกอย่าง กล่าวคือมีอาการสำคัญได้แก่ เศร้าซึม ร้องไห้ง่าย เบื่อ ท้อแท้ ร่วมกับอาการทางกายที่สำคัญคือ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ผอมลงมาก
น่าเสียดายที่เป็นตั้ง 8 เดือนถึงได้พบหมอ คนไข้ที่ผมพบก็มักเป็นแบบนี้คือ ส่วนใหญ่เราไม่ทราบกันว่านี่เป็นอาการของโรคๆ หนึ่ง เรามักจะคิดว่าคงเป็นเพราะเบื่อ เซ็ง หรือมีปัญหาจากภายนอก เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง ข้อสังเกตคือถ้าเป็นโรคซึมเศร้า ความเศร้า เบื่อหน่าย จะมากและเป็นนานกว่าความเบื่อเซ็งทั่วๆ ไป เรียกว่าคนรอบข้างสังเกตเห็นว่าเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจน
ยังไงก็ตามนับว่าโชคดีที่อาการของคุณปราณีตตอบสนองต่อการรักษาดี โดยทั่วไปถ้าเป็นครั้งแรกเมื่ออาการดีขึ้นแล้วหมอก็จะคงยาไว้สักพักหนึ่งแล้วก็เลิกไป แต่ถ้าเป็น 2-3 ครั้ง หรือมีประวัติว่ามีญาติป่วยด้วย (บางคนเป็นกรรมพันธ์) ก็อาจต้องกินยาป้องกันไปนานหน่อย
ในกรณีของคุณปราณีตหมอที่รักษาเห็นว่าควรกินนานเป็นปี ซึ่งผมก็เห็นด้วย ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทักษะในการปรับตัวเมื่อเผชิญปัญหากดดัน เพราะหากมีการปรับตัวที่ไม่ดี จิตใจอ่อนไหวง่าย ก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอีกเหมือนกัน การรู้จักทำให้ตนเองผ่อนคลายลงบ้างเวลาเจอสิ่งเครียดๆ การฝึกมองปัญหาในแง่มุมอื่นๆ การรู้จักปรึกษาผู้อื่นเมื่อไม่สบายใจ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อตัวเราน้อย โอกาสที่ความกดดันจากภายนอกจะมากระตุ้นให้อาการกลับกำเริบก็ลดลง
ที่มา http://www.ramamental.com/medicalstudent/generalpsyc/depressdetail/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น