ความดันต่ำ - ความดันสูง ภัยเงียบที่ต้องระวัง
ความดันต่ำ และ ความดันสูง หลายคนอาจจะมองว่าโรคเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าหากคุณกำลังรู้สึกปวดหัวบ่อยคล้ายโรคไมเกรน ปวดตึงที่ต้นคอ บางครั้งก็หน้ามืด เลือดกำเดาก็ไหล ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ล่ะก็ คุณอาจจะเป็นโรคความดันต่ำหรือความดันสูงแล้วล่ะค่ะ ซึ่งเราสามารถเช็กค่าความดันได้ ด้วยเครื่องวัดความดัน
ความดันต่ำ – ความดันสูง มาทำความรู้จักกับโรคนี้กันเถอะ
คำว่าความดันที่เรามักจะเรียกกันจนติดปาก จริง ๆ แล้วชื่อเต็มของคำนี้คือ ความดันโลหิต เป็นค่าความดันของกระแสเลือดในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจ โดยที่เมื่อหัวใจบีบตัว เราจะได้ค่าความดันตัวบน และเมื่อหัวใจคลายตัว เราจะได้ค่าความดันตัวล่าง
โดยค่าความดันโดยปกติ จะอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าสูงหรือต่ำมากกว่านี้จนเกินไป จะเข้าสู่ภาวะความต่ำหรือความดันสูง ซึ่งค่าความดันเหล่านี้วัดได้โดยเครื่องวัดความดัน
ความดันต่ำ (Hypotension) คือ ภาวะที่ความดันของกระแสเลือดในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ หรือค่าความดันเลือดต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท พบได้ทั้งชายและหญิงทุกช่วงอายุ แต่พบมากในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคร้ายแรงบางชนิด
สาเหตุของอาการความดันต่ำ
- ขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามินซี ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรง จนเกิดการคลายตัวมากเกินไป
- ภาวะขาดน้ำ ทำให้เลือดไหลเวียนและกลับเข้าสู่หัวใจได้น้อย ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นบีบตัวน้อยลง จนเกิดภาวะความดันในเลือดต่ำ
- การไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน และมีการเปลี่ยนท่านั่งหรือท่ายืนอย่างกะทันหัน หลังจากนอนนาน ๆ
- ภาวะเลือดจาง ส่งผลให้ความเข้มข้นของเลือดน้อยลง จนนำไปสู่ความดันในหลอดเลือดต่ำ
- มีการกระตุ้นสมองและวงจรประสาทอัตโนมัติ ทำให้หลอดเลือดและหัวใจทำงานผิดปกติ ความดันจึงต่ำลง เช่น กลัว ตกใจ เจ็บ หรืออากาศร้อนอบอ้าว การอาบน้ำอุณหภูมิอุ่นจัด หรือการหยุดพักทันทีขณะออกกำลังกายอย่างหนัก
- โรคภูมิแพ้หรือภาวะช็อกจากการติดเชื้อ ส่งผลให้มีการขยายตัวของหลอดเลือดมากเกินปกติ
- โรคหัวใจ ซึ่งหัวใจบีบตัวผิดปกติ จึงลดแรงดันในหลอดเลือด ส่งผลให้ความดันเลือดต่ำ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายต้องเพิ่มเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ การไหลเวียนหรือปริมาณชองเลือดในร่างกายของแม่ลดลง ส่งผลให้เกิดความดันต่ำได้
- โรคต่อมไร้ท่อ ซึ่งสร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด และเกลือแร่ต่าง ๆ ที่เป็นตัวอุ้มน้ำในหลอดเลือด จึงส่งผลถึงการไหลเวียนของเลือด
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ ยาลดความดันในเลือดสูง ยาทางจิตเวชบางชนิด
อาการ
ปกติแล้วภาวะความดันต่ำจะไม่เกิดอาการผิดปกติใด แต่ถ้าหากอยู่ในภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จะมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม ใจสั่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ตัวเย็น หรือกระหายน้ำ
แต่ถึงแม้ว่าอาการจะไม่รุนแรงมาก ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูสาเหตุและอาการให้แน่ชัด เพราะหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้สมองขาดเลือด หมดสติ และชัก จึงนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นได้
ความดันสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่ความดันของกระแสเลือดในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติ หรือค่าความดันเลือดสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท พบได้ทั้งชายและหญิงทุกช่วงอายุ แต่พบมากในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคร้ายแรงบางชนิด
สาเหตุของอาการความดันสูง
ภาวะความดันสูง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดทราบสาเหตุ และชนิดไม่ทราบสาเหตุ ดังนี้
ชนิดทราบสาเหตุ
- เป็นโรคอื่นอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นผลให้เกิดภาวะความดันเลือดสูง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดแดงตีบ โรคต่อมหมวกไต เนื้องอกบางชนิด
- การไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน การไหลเวียนของเลือดจึงไม่ปกติ
- โรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน เพราะเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ตีบจากภาวะไขมันเกาะผนังหลอดเลือด
- การกินอาหารเค็มอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไตทำงานหนัก อาจนำไปสู่โรคไตชนิดต่าง ๆ ได้
- พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้อื่น
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น ตาพร่ามัว เหนื่อยง่าย มือเท้าชา และอาจจะมีเลือดกำเดาไหลได้
ชนิดไม่ทราบสาเหตุ
ผู้ที่มีภาวะความดันสูงส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นชนิดไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่พบว่าตนเองเป็นตอนคัดกรองโรค ส่วนสาเหตุที่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากพันธุกรรม การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หรือในบางราย จะเกิดภาวะความดันสูง แค่ตอนเข้าพบแพทย์เท่านั้น ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามาจากภาวะตื่นเต้น กดดัน หรือเครียด
อาการ
ผู้ป่วยมักจะไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ และปวดที่ศีรษะคล้ายอาการของโรคไมเกรน อย่างไรก็ตามควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูสาเหตุและอาการให้แน่ชัด เพราะภาวะความดันสูงอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดตีบ
ความดันต่ำ – ความดันสูง รักษาได้ไหม?
เมื่อเป็นโรคความดันต่ำหรือความดันสูงแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมให้ค่าความดันคงที่ได้ ด้วยการกินยาที่ได้จากแพทย์ผู้รักษาอย่างสม่ำเสมอ และดูแลตนเองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นตรวจวัดค่าความดันทุกวัน และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถดูแลตนเองได้ ดังนี้
โรคความดันต่ำ
- หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน ถ้าจำเป็นให้ใส่ถุงน่อง เพื่อลดการแช่ค้างของเลือด
- ยืดเส้นยืดสายเบา ๆ ทุกเช้า เพื่อให้เลือดสูบฉีดได้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอ วันละ 8 – 10 แก้ว
- กินยาต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- กินอาหารแต่ละมื้อ ไม่ให้อิ่มเกินไป
- เปลี่ยนท่าทางต่าง ๆ ให้ช้าลง
- เวลานอนให้ยกศีรษะให้สูงกว่าปกติ
โรคความดันสูง
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือตามค่า BMI
- หลีกเลี่ยงความเครียด ผ่อนคลาย มีสุขภาพจิตที่ดี
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารเค็ม
- กินยาต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
ดูแลตนเองอย่างไร ไม่ให้เป็นโรคความดัน
หลังจากเห็นถึงความร้ายกาจของภัยเงียบอย่างความดันต่ำและความดันสูงไป คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนที่รักใช่ไหมล่ะค่ะ ดังนั้น ต้องหมั่นดูแลตนเอง โดยมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
- พยายามไม่เครียด ดูแลสุขภาพจิต
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารเค็ม หวาน มัน
- กินยาที่แพทย์จ่ายให้ตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดทุกชนิด
- หมั่นตรวจเช็กค่าความดัน เพื่อควบคุมให้ค่าความดันเป็นปกติอยู่เสมอ
สรุป
ความดันต่ำและความดันสูง เป็นภัยเงียบที่น่ากลัวมาก ดังนั้น ต้องดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องหมั่นตรวจเช็กค่าความดัน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากมีค่าความดันที่ผิดปกติบ่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา เพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้นะคะ
CR :: https://allwellhealthcare.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น