โครงการกำลังใจ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา พระราชธิดาองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระปณิธานในการสืบสานและต่อยอดกิจการที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาราษฎร์ตามรอยพระราชบิดา ทรงใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายที่ทรงเชี่ยวชาญก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมไทยมานานนับสิบปี
โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โครงการสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงใช้หลักการทางกฎหมายและหลักมนุษยธรรมในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้ต้องขังที่ก้าวพลาดได้มีโอกาสกลับมาดำเนินชีวิตเป็นคนดีของสังคม ซึ่งปีนี้ครบรอบปีที่ 14 ของการก่อตั้งโครงการ
จากจุดเริ่มต้นในความสนพระทัยด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้ทรงศึกษา “นิติศาสตร์” เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระอัยกา และได้เสด็จทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเยี่ยมเยือนและพระราชทานสิ่งของแก่ผู้ต้องขังและเด็กติดผู้ต้องขังครั้งแรก เมื่อทรงได้สัมผัสกับชีวิตผู้ต้องขังหญิงที่ขาดโอกาส ขาดความอบอุ่นในครอบครัว และ สัมผัสกับเด็กที่เกิดจากครรภ์ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นแรงบันดาลพระทัยให้มีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพระราชทานความช่วยเหลือและกำลังใจให้แก่บุคคลเหล่านี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกและเนติบัณฑิตไทย มีพระดำริให้ก่อตั้งโครงการกำลังใจในพระดำริฯขึ้น โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 300,000 บาท เป็นทุนตั้งต้น เพื่อจะได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจแก่ผู้ก้าวพลาดได้มีโอกาสกลับมาดำเนินชีวิตเป็นคนดีของสังคม โดยมีเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมเสริมที่ไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการอยู่แล้ว และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ต้องขังหญิง เด็กติดผู้ต้องขัง เด็กและเยาวชนที่กระทำผิด จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2549 ได้มีพิธีเปิดโครงการ ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการกำลังใจฯ
โครงการกำลังใจฯได้นำแนวพระดำริ ที่มุ่งสร้างให้เรือนจำกลายเป็นสถาบันทางสังคมเสมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การทำกิจกรรม โดยนำภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน จัดกิจกรรมเสริมกำลังใจ มอบความเอื้ออาทรแก่ผู้พลั้งพลาดในเรือนจำ ให้ระยะเวลาที่ถูกจองจำเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวน ไตร่ตรอง พิจารณาตนเองสร้างพลังบวก ในการมองคุณค่าในตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการให้บริการในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ที่ก้าวผิดไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำและกลับมาเป็นคนดีสร้างสรรค์สังคมไทยต่อไป และเสริมสร้างให้คนในสังคมไทยมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกัน
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงให้มีการพัฒนาทักษะความรู้และวิชาชีพให้ผู้ต้องขัง เพื่อนำไปเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ นับเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังในการกลับคืน สู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และที่สำคัญช่วยลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำอีกด้วย “แนวคิดการพึ่งพาตนเองที่ดีที่สุด คือการให้อาชีพ การฝึกทักษะวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขและมีความยั่งยืน ส่งผลให้ลดจำนวนผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำ”
โดยตลอดระยะเวลา 14 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชร ราชธิดา ได้ทรงงานผ่านโครงการกำลังใจฯ ในการช่วยเหลือคนที่อยู่ในมุมมืดของสังคมไทย ที่ไม่มีคนแลเห็น ได้มีโอกาสในชีวิต ทรงเป็นแสงส่องทางให้แก่คนที่หลงผิดได้กลับมาสู่สังคม สร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งและปลุกจิตสำนึกในการให้โอกาสและเอื้ออาทรต่อกัน
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จติดตามการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจฯ ณ ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก จังหวัดนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการดำเนินงานในแนวทางของเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ให้กับเรือนจำและผู้ต้องขัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และมีผู้ต้องขังได้รับความรู้จากการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมกลับคืนสู่สังคมและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม นอกจากการทำเกษตรอุตสาหกรรมแล้วยังได้พระราชทานคำแนะนำให้พัฒนาเรือนจำแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ครบวงจรทั้งเกษตรอุตสาหกรรมและเกษตรแบบพื้นถิ่น และได้พัฒนาพื้นที่ของทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริกให้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้
ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ได้เสด็จเปิดศูนย์เรียนรู้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2561 และเสด็จติดตามงานเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ซึ่งในการเสด็จเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ได้พระราชทานคำแนะนำในการดำเนินงานของเรือนจำ ที่สำคัญคือเรื่อง “น้ำ” โดยต่อมาทางเรือนจำได้ไปประสานงานต่อโดยรับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำโครงการกระจายสระเก็บน้ำเพื่อฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง จะทำให้เรือนจำและครัวเรือนใกล้เคียงเรือนจำได้รับประโยชน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงตัดแถบแพรเปิดมุมราชทัณฑ์ปันโอกาส สร้างอาชีพ ซึ่งเป็นมุมให้ความรู้เรื่องอาชีพกับผู้ต้องขัง และเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานว่างของกระทรวงแรงงานและความรู้ความสามารถของผู้ต้องขัง จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรสวนแห่งการเรียนรู้ซึ่งทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริกได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาร่วมกันพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง โดยส่งเสริมเรื่องชาออแกนิคใบไผ่ การออกแบบ Packaging ให้สวยงาม และการทำผลิตภัณฑ์จากหน่อไม้ เช่น แยมหน่อไม้ ข้าวเกรียบ ทอดพระเนตรการฝึกวิชาชีพการจัดสวนแคคตัสของผู้ต้องขัง ทอดพระเนตรนิทรรศการการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังให้ตรงกับตลาดแรงงานโดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานได้แก่ช่างเอนกประสงค์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า การสอนฝึกฝนภาษาอังกฤษ ซึ่งการฝึกวิชาชีพทั้งหมดนี้มีผลตอบรับเป็นอย่างดี จากนั้นทรงร่วมทำพิซซ่า ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่สอนให้กับผู้ต้องขัง ทอดพระเนตรร้านกาแฟกำลังใจและร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ทอดพระเนตรการฝึกอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร ซึ่งเป็นการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ต้องขังตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสี และการทอผ้าไหมได้รับการสนับสนุนจากกรมหม่อนไหม จากนั้นทอดพระเนตรความคืบหน้าในการดำเนินงานของเกษตรอุตสาหกรรมที่สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์
สมเด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา องค์ภา โครงการกำลังใจฯ สิทธิมนุษยชน ผู้ต้องขังหญิง พัฒนาทักษะผู้ต้องขังหญิง พระราชกรณียกิจ องค์ภา
CR :: www.thairath.co.th/ . http://www.kamlangjai.or.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น