Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี

 

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี

พระราชประวัติเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทั้งทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกด้วย

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ขึ้น ในวันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2522 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ในพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา และทรงเจิมพระขวัญ ตามราชประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติตามประเพณีไทยแต่โบราณ ซึ่งเป็นพิธีรับขวัญให้กับพระราชโอรส พระโอรส พระราชธิดา พระธิดาที่ประสูติใหม่


การศึกษา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชินีในระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียน Heathfield ในเมือง Ascot สหราชอาณาจักร ก่อนเสด็จกลับมาทรงศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่โรงเรียนจิตรลดา

ในระดับอุดมศึกษา ทรงศึกษาระดับปริญญาตรีในสองสาขา ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทยสองแห่งคือ ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับสอง และปริญญารัฐศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ทรงปฎิบัติพระองค์เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางด้านกีฬา การบำเพ็ญประโยชน์ และอื่น ๆ อาทิ ทรงเข้าร่วมกิจกรรมฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยทรงเป็นผู้อัญเชิญธรรมจักร ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 54 (พ.ศ. 2541) ทรงเข้าร่วม แสดงในขบวนพาเหรดชุด “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบ 72 พรรษา” ในการแข่งขันกีฬาประเพณีครั้งที่ 55 (พ.ศ. 2542) เป็นต้น

ในปีเดียวกัน พระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิทากา มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy League อันมีชื่อเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ (LL.M.) เพียง 1 ปี จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านนิติศาสตร์ (J.S.D.) และทรงศึกษากฎหมายที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาที่ประเทศไทยควบคู่กันไป

ด้วยพระอัจฉริยภาพและผลแห่งความพากเพียร ทำให้ทรงสำเร็จการศึกษาทั้งดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงเป็นเนติบัณฑิตไทย พร้อมกัน ในปี 2548

พระราชกรณียกิจ

จากนั้นทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักอัยการสูงสุด สู่รองอัยการจังหวัด และอัยการจังหวัด

ระหว่างทรงปฏิบัติราชการด้วยพระวิริยอุตสาหะ ได้ทรงริเริ่มโครงการกำลังใจ (Inspire) เมื่อปี 2550 เน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง เด็กติดผู้ต้องขังหญิง และผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ในเรือนจำ ทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ การให้การฝึกอบรม การให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนการฟื้นฟูจิตใจ จนได้รับความสนใจจากนานาประเทศ

ต่อมาทรงโอนย้ายมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ประจำคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555 สู่เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ได้แก่ สาธารณรัฐออสเตรีย ประเทศสโลวะเกีย ประเทศสโลวีเนีย ก่อนทรงกลับมารับตำแหน่งอัยการจังหวัด สู่อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด

ไม่เพียงทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจในหน้าที่ราชการแต่เพียงเท่านั้น หากทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านอื่น ๆ เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ ได้แก่ ทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในการสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันเกื้อหนุนให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในยามทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติที่รุนแรง

มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริ ที่เน้นช่วยเหลือและให้โอกาสทางอาชีพกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อันเกิดจากผลที่ได้รับทางกฎหมายและด้านสังคม

ทั้งการประทานทุนการศึกษาสำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อปริญญามหาบัณฑิตด้านกฎหมาย ณ Cornell Law School มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงจัดตั้ง “ทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย” ซึ่งรับสมัครเพื่อคัดเลือกจากผู้ที่จบปริญญาบัณฑิตด้านกฎหมาย และสอบไล่ได้เนติบัณฑิตของเนติบัณฑิตยสภาตามเงื่อนไขที่ทุนดังกล่าวกำหนดไว้ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้นำความรู้มาแก้ไขปัญหาของประเทศ ที่ต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระจริยวัตรอันงดงาม ส่งผลให้หลายองค์กรต่างทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่าง ๆ เช่น กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” (Goodwill Ambassador) ในการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีด้านหลักนิติธรรม ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Medal of Recognition ในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติ

พระอิสริยยศ

เมื่อพระราชบิดาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ได้ทรงสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์และเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1



ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์


เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้รับโอนข้าราชการฝ่ายอัยการเป็นข้าราชการในพระองค์ ฝ่ายทหารและพระราชทานพระยศทหาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการ ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) และพระราชทานพระยศเป็นพลเอกหญิง



ต่อมาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ทรงประดับพระยศพลเอกหญิง ให้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา



พระยศทางทหาร

  • พ.ศ. 2543 – ว่าที่ร้อยตรีหญิง, ร้อยตรีหญิง และนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • พ.ศ. 2545 – ร้อยโทหญิง และนายทหารพิเศษ ประจำกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์
  • พ.ศ. 2551 – ร้อยเอกหญิง
  • พ.ศ. 2561 – พลตรีหญิง และนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
  • พ.ศ. 2562 – พลโทหญิง
  • พ.ศ. 2564 – พลเอกหญิง และทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์



เพลง เจ้าหญิงนักกฎหมาย

https://youtu.be/aiDYBp6r4MQ




เพลง เพื่อนพึ่งพายามยาก  


เพลง พระองค์ภา

https://youtu.be/ju7bQSeZFFc

  


บทสวดโพชฌังคปริตร เพื่อถวาย “พระองค์ภา”

https://youtu.be/gseKYFH6HmI





ที่มา   ::     https://www.prachachat.net/breaking-news/news-614110



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น