Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack)

 

รู้จัก รู้ทัน (ป้องกัน) อาการ "ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน"

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ หัวใจขาดเลือด


ชวนคนไทยยุคใหม่ หันมาใส่ใจสุขภาพ ทำความรู้จัก "ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" หรือ "Heart Attack" อาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือ ตีบกะทันหัน กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ภายใน 1 ชั่วโมง


อีกหนึ่งภัยร้าย ภัยเงียบที่อาจจะเตือนคนรักสุขภาพ ให้หันมาสนใจและเอาใจใส่ต่ออสุขภาพหัวใจมากยิ่งขึ้นกับ "ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" หรือ "Heart Attack" 


https://youtu.be/Fx0FnmyXj8A



รู้จักภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
Heart Attack หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันหรือตีบอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจจึงไม่บีบตัว เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย หากมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือตกอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวจนทำให้หัวใจหยุดเต้น ดังนั้น การรู้ทันโรคเป็นเรื่องสำคัญเพื่อช่วยป้องกันและลดโอกาสการเสียชีวิต


ใครคือกลุ่มเสี่ยง Heart Attack

  • มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ
  • มีโรคประจำตัว ได้แก่
  • เบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • สูบบุหรี่
  • มีความเครียดสูง
  • มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 


รู้ทันอาการและสัญญาณเตือน

  • เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง 
  • หายใจไม่เต็มอิ่ม
  • แน่นหน้าอก 
  • จุกหน้าอก 
  • อ่อนเพลีย เช่น เคยขึ้นลงบันไดโดยไม่ต้องพัก กลายเป็นต้องพักระหว่างขึ้นบันได
  • รู้สึกหวิว คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว
  • ปวดร้าวไปแขน ไหล่ จุกใต้ลิ้นปี่
  • ปวดร้าวไปกราม คอหอย หรือแขนด้านในบริเวณสะบักทั้งสองข้าง จะเป็นมากเวลาออกกำลังกายและเครียด
  • แน่นท้องเหมือนมีอะไรมากดทับ คล้ายเป็นกระเพาะอาหาร


 

ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

การตรวจวินิจฉัยก่อนภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) แพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจจะพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงและกลุ่มอาการเป็นหลัก โดยจะทำการซักประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอกซเรย์คลื่นหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่จับอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ในผู้ที่อายุน้อยควรตรวจสุขภาพหัวใจทั่วไป ส่วนในผู้ที่อายุมากควรตรวจสุขภาพหัวใจเชิงลึก


ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันโดยตรง เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เป็นลม หน้ามืด ใจสั่น เป็นต้น ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ควรต้องเข้ารับการรักษาทันที เพื่อให้รักษาได้ถูกวิธีก่อนสายเกินไป 


การรักษาภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) แนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดที่มีอายุรแพทย์โรคหัวใจที่สามารถทำการขยายบอลลูนได้ มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษา โดยอายุรแพทย์โรคหัวใจจะทำการตรวจวินิจฉัย ตรวจวัดสัญญาณชีพ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด หากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแพทย์จะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด ทำการสวนหัวใจภายใน 24 – 72 ชั่วโมง โดยทำบอลลูนขยายหลอดเลือดโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนานเกินไป กล้ามเนื้อหัวใจจะตาย ทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติควรเรียกรถพยาบาลให้เร็วที่สุด สามารถโทร 1669 หรือ 1724 ได้ทันที โดยเฉพาะใน 3 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ ถ้าถึงมือแพทย์ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะการรักษาจะมีประสิทธิภาพสูงและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย

ป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 
  • กินอาหารที่ดีต่อร่างกาย เลี่ยงอาหารไขมันสูง ไม่กินอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เน้นอาหารไขมันต่ำ กินผักผลไม้ที่มีกากใยมาก ปรุงอาหารด้วยการอบ นึ่ง ลวก ย่างแทนการทอด
  • ถ้ามีโรคประจำตัวต้องรับประทานยาให้สม่ำเสมอทั้งที่บ้านและเวลาเดินทาง 
  • จัดการความเครียดให้อยู่หมัด อาทิ นั่งสมาธิ ท่องเที่ยว ฯลฯ เพราะความเครียดทำให้หัวใจทำงานหนัก 
  • ออกกำลังกายวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์เพื่อให้เส้นเลือดขยายตัว 
  • นอนหลับพักผ่อนวันละ 6 – 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะหลัง 5 ทุ่มไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ
  • อย่าเริ่มสูบบุหรี่และเลิกบุหรี่ให้เร็วที่สุด

หากสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอย่ารอ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงคือสิ่งสำคัญ นอกจากกินให้ดีอยู่ให้ดีแล้ว ควรตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปีกับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ เพื่อดูแลและให้คำแนะนำการป้องกันโรคหัวใจที่ถูกต้องในระยะยาว ช่วยให้ห่างไกลภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน


อีกหนึ่งบทความที่น่าสนใจ ทีมข่าวขอหยิบยกมารายงานให้ทราบกันตรง เพื่อหวังกระตุ้ตเตือนให้คอข่าวและประชาชนทั่วได้เอาใจใส่ต่อสุขภาพหันมาให้ความสนใจในการตรวจร่างกายมากยิ่งขึ้น

แพทย์ชี้ “กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน” ทำให้ตายภายใน 1 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เตือนหากจุกแน่นหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม จุกใต้ลิ้นปี่ ให้รีบพบแพทย์ทันที แนะเลี่ยงอาหารไขมันสูง ความเครียด บุหรี่และแอลกอฮอล์ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

ทางด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจจะขาดเลือดและออกซิเจน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลัน เช่น ขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทำงาน เล่นกีฬา เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและก่อตัวเป็นตะกรัน โดยหลอดเลือดเมื่อเกิดการร่อนหลุดของตะกรัน ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง และที่สำคัญ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ


นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หลักการง่ายๆ ที่สามารถปฏิบัติตนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค คือ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันประเภทอิ่มตัว เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ อาหารฟาสต์ฟูด เนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมัน เพราะอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด ควรรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ หลีกเลี่ยงความอ้วน ซึ่งหากมีน้ำหนักตัวมาก หัวใจจะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งโลหิต ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ซึ่งหากเปรียบเทียบการทำกิจกรรมประเภทเดียวกัน หัวใจของคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำงานหนักกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ ดังนั้น ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ควรหลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด เพราะความเครียดจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในหลายๆ ด้าน เช่น ปวดศีรษะไปจนถึงขั้นหัวใจวาย จึงควรทำจิตใจให้แจ่มใส ควบคุมอารมณ์ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความเครียด โดยหากิจกรรมนันทนาการ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นกีฬา เพื่อให้ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดมีระดับสูง ลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าบุคคลทั่วไป


“อาการและสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ จุกแน่นหน้าอก มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยเร็วซึ่งจะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ หรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยันภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ จะให้ผลการรักษาที่ดีมาก นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อาหารไขมันสูง ความเครียด ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรคหัวใจที่อาจเป็นภัยเงียบทำให้เสียชีวิตได้” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว


ขอขอบคุณที่มา  นพ.เกรียไกร เฮงรัศมี Heart Hospital   ,  www.nationtv.tv

5 ความคิดเห็น:

  1. หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจถูกปิดกั้นจากคราบพลัค (Plaque) จนทำให้กล้ามเนื้อที่หัวใจเสื่อมสภาพและตายลง

    หัวใจขาดเลือด

    โดยโรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

    ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีลักษณะ ST Segment (ST Segment Elevation Myocardial Infarction - STEMI) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบรุนแรงได้
    ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดไม่พบ ST Segment Elevation (Non-ST Segment Elevation Myocardial Infarction - NSTEMI) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน ซึ่งหากมีอาการติดต่อกันนานกว่า 30 นาที จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง อาจเกิดเพียงภาวะเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ (Unstable Angina) เท่านั้น
    อาการหัวใจขาดเลือด

    อาการที่มักพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้แก่

    รู้สึกแน่นและเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยจะมีอาการแน่น รู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบ หรือมีแรงดันจำนวนมากที่บริเวณกลางอกหรือที่อกข้างซ้าย โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นไม่กี่นาทีแล้วก็หาย แต่จากนั้นก็อาจจะกลับมาเป็นอีก นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเหมือนแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย อาการเจ็บหน้าอกมักจะเกิดขึ้นรุนแรง บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายกับอาหารไม่ย่อย ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกใด ๆ ได้เช่นกัน
    รู้สึกอึดอัดที่หน้าอกหรือลิ้นปี่ นอกจากรู้สึกแน่นที่หน้าอกแล้ว ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าอาการแน่นแล่นไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายท่อนบนด้านซ้าย ได้แก่ บริเวณกราม คอ หลังหน้าท้อง และแขน แต่บางรายก็อาจมีอาการจุกเสียดแน่นทั้ง 2 ซีกของร่างกายส่วนบนได้
    หายใจถี่ ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจสั้นที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกของตนเอง หรืออาจเกิดขึ้นขณะที่รู้สึกเจ็บและแน่นหน้าอก โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
    นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุเนื่องจากอาการแน่นหน้าอกและหายใจได้ลำบาก ดังนี้

    วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
    เหงื่อออกขณะที่ร่างกายเย็น
    รู้สึกวิตกกังวลมากผิดปกติ
    ไอ หรือหายใจมีเสียง
    มีอาการเหนื่อยมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ





    ตอบลบ
  2. สาเหตุของหัวใจขาดเลือด

    โรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้เลือดที่จะไหลเวียนไปยังหัวใจถูกขัดขวาง และเมื่อหัวใจไม่ได้รับเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเหมาะสม กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสื่อมสภาพและเริ่มตาย หากไม่ได้รับการรักษาจนความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง หัวใจก็จะหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด โดยสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ ได้แก่

    โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยคราบพลัคที่เกิดขึ้นภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็จะอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจโคโรนารี และทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
    ภาวะหลอดเลือดหัวใจหดตัวอย่างรุนแรง (Coronary Artery Spasm) เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงจนทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจถูกตัดขาด ทั้งนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะดังกล่าว แต่ก็พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด ความเครียด หรืออาการเจ็บปวด การอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก และการสูบบุหรี่
    ภาวะขาดออกซิเจนในเลือด (Hypoxia) เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเนื่องจากได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ก็จะทำให้หัวใจไม่ได้รับเลือดที่มีออกซิเจนอย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสียหาย และเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด
    นอกจากนี้โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันก็ยังอาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสุขภาพ โดยความเสี่ยงนั้นแบ่งออกได้เป็น ความเสี่ยงคงที่ ความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ และความเสี่ยงอื่น ๆ

    ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น

    อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
    เพศ ผู้ชายเป็นเพศที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่า แต่ก็สามารถเกิดในผู้หญิงได้ด้วยเช่นกัน
    พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้น
    ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหารอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดได้มากขึ้น แต่ความเสี่ยงก็สามารถลดลงได้หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเสี่ยงเหล่านี้ได้แก่

    การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้น การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้ความเสี่ยงลดลง
    ภาวะคอเลสเตอรอลสูง หากมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีสูง ก็จะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
    ความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจยิ่งทำงานหนักขึ้นเมื่อเกิดโรคความดันโลหิตสูง และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติจนเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวาย และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย และการรักษาอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะทำให้ความเสี่ยงลดลงได้
    การไม่ออกกำลังกาย จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แต่ถ้าหากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ได้
    โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน จะทำให้ร่างกายเกิดการสะสมไขมันในร่างกายมากผิดปกติ จนก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ การควบคุมน้ำหนักจะช่วยให้ความเสี่ยงลดลงได้
    โรคเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับนำ้ตาลในเลือดไม่ดี จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหัวใจ และความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นหากผู้ป่วยมีโรคอ้วน สามารถลดความเสี่ยงได้หากควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
    ความเสี่ยงอื่น ๆ เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และสามารถส่งผลให้เป็นโรคหัวใจวาย แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงก็สามารถขจัดความเสี่ยงเหล่านี้ออกไปได้

    ความเครียด สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ เนื่องจากความเครียดสามารถนำมาสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือการใช้สารเสพติดต่าง ๆ
    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะมีการแนะนำว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมช่วยบำรุงหัวใจได้ แต่หากดื่มมากไปก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่ดื่มอยู่แล้วดื่มเพื่อบำรุงหัวใจ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
    อาหาร ถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เพราะอาหารสามารถส่งผลต่อปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ระดับคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่พอเหมาะ


    ตอบลบ
  3. การวินิจฉัยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

    ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถสังเกตอาการหัวใจได้เบื้องต้น หากมีอาการแน่น หรือเจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้นและเสียชีวิตได้

    โดยเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติถึงอาการ และการรักษาต่าง ๆ ที่จำเป็นในการวินิจฉัย และอาจมีการถามถึงประวัติครอบครัวว่ามีใครเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะทำการสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่สำคัญที่สุด ในการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที โดยแพทย์จะติดแผ่นประจุไฟฟ้าไว้ที่แขน ขา และหน้าอก จากนั้นจะวัดคลื่นไฟฟ้า อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งวิธีการตรวจนี้จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และระบุประเภทของโรคนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อแพทย์จะได้ทำการรักษาต่อไป

    การตรวจเลือด เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ช่วยระบุโรคหัวใจขาดเลือดได้ เพราะเมื่อเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ก็จะทำให้มีโปรตีนสิ่งแปลกปลอมจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายรั่วไหลลงไปในกระแสเลือดมากกว่าปกติ ยิ่งมีโปรตีนเจือปนในเลือดมากเท่าใดก็บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น

    การตรวจหาคาร์ดิแอค โทรโปนิน (Cardiac Troponin) เป็นการตรวจหาโปรตีนในเซลล์ที่ช่วยระบุภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
    การตรวจหาครีเอตินไคเนส-เอ็มบี (CK-MB) การตรวจเพื่อหาเอ็นไซม์ในเลือด ซึ่งจะรั่วลงมาในเลือดเมื่อเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
    การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) เป็นการตรวจดูความผิดปกติของหัวใจขาดเลือดด้วยการฉีดสารทึบสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นแพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีส่วนใดของหลอดเลือดอุดตันหรือตีบบ้างหรือไม่ หากพบความผิดปกติ แพทย์จะรักษาด้วยสอดสายสวนเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น

    การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจหาความผิดปกติของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงเข้าไปกระทบหัวใจออกมาเป็นภาพให้เห็น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นความเสียหายของหัวใจที่เกิดจากการขาดเลือดได้



    ตอบลบ
  4. การรักษาหัวใจขาดเลือด

    หัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถยับยั้งความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และช่วยให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจขาดเลือดที่พบ ทั้งนี้ในเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการ ควรโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งหน่วยแพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น ดังนี้

    ให้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด
    ให้ยาไนโตรไกลเซริน (Nitroglycerin) เพื่อลดการทำงานของหัวใจ และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
    ให้ออกซิเจน
    รักษาอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก
    เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจแล้ว แพทย์จะใช้วิธีในการรักษาที่แตกต่างกันไป ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะต้องดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างสม่ำเสมอและทำตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งผู้ป่วยต้องลดความเครียด เพราะความเครียดจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น

    แม้ว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะช่วยให้อาการโดยรวมดีขึ้น แต่ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์เป็นหลัก ที่แพทย์นิยมใช้ ได้แก่

    การใช้ยา แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อรักษาอาการ ยาที่มักใช้ได้แก่

    ยาแอสไพริน เป็นยาที่แพทย์และหน่วยแพทย์ฉุกเฉินนิยมใช้เพื่อรักษาอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในเบื้องต้น กลไกในการทำงานของยาชนิดนี้จะช่วยลดลิ่มเลือดและทำให้เลือดสามารถไหลเวียนภายในหลอดเลือดที่แคบได้
    ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) คือยาที่มีคุณสมบัติในการละลายลิ่มเลือด ซึ่งปิดกั้นระบบไหลเวียนโลหิต ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้รับยาชนิดนี้ภายในระยะเวลาไม่นานตั้งแต่เริ่มเกิดอาการจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสียหายของหัวใจได้
    ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) คือยาที่ใช้ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และป้องกันไม่ให้ลิ่มใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นจากการที่ระบบไหลเวียนโลหิตสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น
    ยาระงับอาการปวด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหรือเจ็บที่หน้าอก การใช้ยานี้จะช่วยลดอาการปวดลงได้ แต่จะต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาที่ใช้ค่อนข้างแรง หรือเป็นยาแก้ปวดชนิดสารเสพติด ได้แก่ มอร์ฟีน เป็นต้น
    ยาไนโตรไกลเซริน (Nitroglycerin) ยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าจากโรคหลอดเลือดหัวตีบ โดยยาจะเข้าไปทำให้หลอดเลือดที่ตีบขยายตัวมากขึ้น ส่งผลดีต่อการไหลเวียนโลหิต
    ยาปิดกั้นการทำงานของเบต้า (Beta Blockers) ในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด จะต้องมีการใช้ยานี้เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวใจ ลดความเร็วของอัตราการเต้นหัวใจ ลดความดันโลหิต ซึ่งจะทำให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยส่วนใหญ่ โดยยาจะเข้าไปลดระดับความดันโลหิตและให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีขึ้น
    การผ่าตัด บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังหัวใจได้อย่างเพียงพอมากขึ้น โดยแพทย์มักนิยมใช้วิธีดังต่อไปนี้

    การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการถ่างด้วยขดลวด (Coronary Angioplasty and Stenting) เป็นการผ่าตัดที่จะนำอุปกรณ์คล้ายที่มีลักษณะคล้ายบอลลูนใส่เข้าไปที่หลอดเลือดหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดบริเวณที่อุดตันหรือตีบ แพทย์จะนำท่อเล็ก ๆ สอดเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ โดยเริ่มจากที่บริเวณขา หรือขาหนีบ เพื่อถ่างหลอดเลือดไว้ วิธีการผ่าตัดนี้สามารถช่วยฟื้นฟูระบบไหลเวียนเลือดให้สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ
    การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery) ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อบายพาสหลอดเลือดหัวใจอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์จะนำหลอดเลือดดำที่บริเวณขามาเชื่อมต่อกับหลอดเลือดหัวใจ เพื่อเบี่ยงทางไหลเวียนของเลือดข้ามส่วนที่ตีบหรืออุดตัน ซึ่งเมื่อผ่าตัดแล้วระบบไหลเวียนเลือดจะค่อย ๆ กลับมาใกล้เคียง ทำให้หัวใจกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น



    ตอบลบ
  5. ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจขาดเลือด

    ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดส่วนใหญ่สามารถพบกับภาวะแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าอาการนั้นจะรุนแรงหรือไม่ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มีตั้งแต่อาการไม่รุนแรง จนถึงอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ที่พบในผู้ป่วยมีดังต่อไปนี้

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เป็นผลมาจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย หรือถูกทำลายเนื่องจากมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ซึ่งความเสียหายนี้จะส่งผลให้กระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติตามไปด้วย ซึ่งอาการของภาวะแทรกซ้อนนี้คือ ใจสั่น เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และหายใจลำบาก แต่ถ้าหากรุนแรงก็อาจทำให้กระแสไฟฟ้านั้นไม่สามารถส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของหัวใจได้ จนเป็นเหตุให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดได้ดีเท่าที่ควร

    นอกจากนี้ หากการเต้นของหัวใจห้องล่างผิดปกติ (Ventricular Arrhythmia) ยังอาจนำมาสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest) และทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

    หัวใจวาย (Heart Failure) เมื่อหัวใจขาดเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะเริ่มตาย และไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ โดยภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการรักษาและฟื้นฟูความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ

    ภาวะความดันโลหิตต่ำที่มีสาเหตุจากหัวใจ (Cardiogenic Shock) อาการคล้ายกับภาวะหัวใจวาย แต่เป็นอาการที่มีความรุนแรงมากกว่า เพราะจะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ การรักษาเบื้องต้นแพทย์อาจใช้ยาเพื่อเพิ่มความดันโลหิตและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่ในระยะยาวจะต้องผ่าตัดเพื่อทำการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการสูบฉีดเลือด เพื่อให้เลือดสามารถไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ได้อย่างเพียงพอ

    ผนังกล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด (Heart Rupture) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงมาก แต่มักพบได้ไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจส่วนต่าง ๆ เช่น ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหรือลิ้นหัวใจเกิดการปริแตก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 1-5 วันหลังจากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 5 วัน

    การป้องกันหัวใจขาดเลือด

    สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ดีที่สุดก็คือการดูแลรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะจะช่วยให้ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยหลัก ๆ มีวิธีดังนี้

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยห่างไกลความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวระบบหัวใจได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะคอเลสเตอรอลสูง โดยอาหารที่ควรรับประทานได้แก่ อาหารที่มีไขมันดี ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันที่ไม่ดี อาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารแปรรูปต่าง ๆ เป็นต้น
    เลิกสูบบุหรี่ ทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งปอด จะทำงานได้ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง
    ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ นอกจากการรับประทานอาหารที่ดีแล้ว การควบคุมความเครียดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ก็ช่วยลดความดันโลหิตอันเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
    ควบคุมน้ำหนัก ยิ่งมีน้ำหนักมาก ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เพราะเมื่อร่างกายมีไขมันสะสมเยอะก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
    นอกจากนี้ หากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ก็ควรที่จะวางแผนรับมือหากสมาชิกคนอื่นเกิดอาการด้วย ควรจดรายละเอียดยาที่ใช้ ยาที่แพ้ และเตรียมหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้สะดวก รวมถึงผู้ป่วยควรพกข้อมูลติดต่อของคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน คนในครอบครัวควรช่วยกันดูความผิดปกติ เพราะยิ่งพบเร็วก็จะทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น และสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้


    ตอบลบ