ค่าชดเชย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ปัญหาแรงงาน เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานในประเทศไทยเรา ปัจจุบันนายจ้างได้นำเอาสิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องจักรกลมาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น อันมีผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน กฎหมายจึงได้มีมาตรการควบคุมและให้ความเป็นธรรมต่อลูกจ้างซึ่งอาจถูกเลิกจ้างวันใดวันหนึ่งก็ได้ ในเบื้องต้นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า"ค่าชดเชย" และ"ค่าชดเชยพิเศษ"กันเสียก่อนนะคะ
"ค่าชดเชย" คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
"ค่าชดเชยพิเศษ" คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเพราะมีเหตุกรณีพิเศษที่กำหนดในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ดังนั้น หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ดังนี้
1.ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2.ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
3.ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
4.ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
5.ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
แต่ลูกจ้างอย่าเพิ่งดีใจเกินไป มิใช่ว่าเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างแล้วจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเสมอไปนะครับ มีข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างในเหตุใดเหตุหนึ่ง คือ
1. ลูกจ้างสมัครใจลาออกจากงานเอง นั่นเท่ากับลูกจ้างเสียสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยไปเลย
2. ทุจริตต่อหน้าที่หรือเจตนาทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง เช่นนี้ต้องไล่ออกและจับเข้าคุก
3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
4. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถ้าความประมาทของลูกจ้างนั้นทำให้นายจ้างเสียหายเล็กน้อยไม่ร้ายแรง ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นนี้
5. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้ทำผิด มิใช่นับแต่วันที่ลูกจ้างทราบหนังสือเตือนนะคะ
6. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
7. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ในกรณีประมาทหรือลหุโทษหากนายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยด้วย
8. การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น สำหรับงานที่ต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง และเป็นการจ้างงานใดงานหนึ่ง คือ การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
นายจ้างบางรายคิดว่าตนเองฉลาดกว่ากฎหมาย จึงได้พยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย โดยใช้วิธีการจ้างลูกจ้างเป็นช่วงๆ ซึ่งในเรื่องการนับเวลาการทำงานเพื่อจ่ายค่าชดเชยนั้น การทำงานติดต่อกันหรือไม่ จะมีผลต่อจำนวนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ กฎหมายจึงได้แก้ลำนายจ้างเจ้าเล่ห์ที่คิดจะเอาเปรียบไว้ว่า การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด การจ้างแต่ละช่วงห่างกันเท่าใดก็ตาม กฎหมายให้นับอายุการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน… ฯลฯ ทำเอานายจ้างเจ้าเล่ห์ถึงกับยิ้มไม่ได้ หัวร่อไม่ออกไปเลย
นอกเหนือจากค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างแล้ว กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังได้กำหนดให้มีค่าชดเชยพิเศษไว้อีกด้วย ในกรณีต่อไปนี้
1. ถ้านายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้งท้องที่อื่นซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีพตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่า 50 % ของอัตราค่าชดเชยปกติ ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2. ถ้านายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง ให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างต่อลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง ถ้านายจ้างไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นอกจากต้องจ่าค่าชดเชยปกติแล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน และในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงานนี้นะครับ ถ้าลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี แต่ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน
หวังว่าผู้อ่านคงจะได้เข้าใจในเรื่องของ "ค่าชดเชย" มากขึ้นแล้วนะคะ และกฎหมายคุ้มครองแรงงานนี้ เป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญานะคะ หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ย่อมมีความผิดจะต้องถูกปรับ หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับเชียวนะคะ
ปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี หากแต่ละฝ่ายสำนึกได้ว่าต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่าได้ลำพองว่าตนเองสำคัญกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายลูกจ้างควรจะสำนึกว่า หากไม่มีนายจ้างนำเงินจำนวนมากมาเสี่ยงลงทุนสร้างงาน ลูกจ้างต้องตกงาน ไม่มีรายได้ ครอบครัวเดือดร้อนแน่นอน ส่วนฝ่ายนายจ้างก็ต้องสำนึกด้วยเช่นกันว่า หากไม่มีลูกจ้างมาเป็นแรงงาน กิจการคงจะไม่สำเร็จก้าวหน้า อาจไม่ร่ำรวยได้จนทุกวันนี้ ฉะนั้น นายจ้างก็จงอย่าเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างเกินไป และลูกจ้างเองก็อย่าเรียกร้องอะไรๆ ให้เกินสมควรนัก แล้วเราก็จะอยู่กันได้อย่างสงบสุข… จริงไหมคะ
ที่มา :: http://www.geocities.com/ruammitra/index.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น