คนทั่วไปเมื่อได้รับหมายศาลมักจะตกใจกลัวลนลานจนทำอะไรไม่ถูก เพราะเมื่อมีหมายศาลมาถึงตัวมักจะคิดถึงเรื่องการถูกฟ้องร้องไว้ก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วหมายศาลมีหลายชนิดซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นหมายศาลที่ถูกฟ้องร้องเสมอไป อาจเป็นหมายศาลในเรื่องอื่นๆ ก็ได้
ก่อนอื่นจะต้องตั้งสติให้ดีเมื่อได้รับหมายศาล ดูให้รอบคอบว่าเป็นหมายอะไร ส่งมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และได้รับหมายในฐานะอะไร เนื่องจากหมายศาลมีหลายประเภท ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นไว้บ้าง ดังนี้
หมายศาลในคดีแพ่งที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1. หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหมายในคดีแพ่ง หากได้รับหมายนี้แสดงว่าผู้มีชื่อในหมายได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วหากได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว มีหน้าที่ต้องทำคำให้การยื่นต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายหรือถือว่าได้รับหมาย การที่จะถือว่าได้รับหมาย เช่นการปิดหมาย ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ถูกฟ้องไม่ยอมรับหมายเรียก จึงต้องทำการปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้ถูกฟ้อง แต่วิธีการปิดหมายจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันปิดหมายได้ล่วงพ้นไปแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ถูกฟ้องยังมีเวลาที่จะยื่นคำให้การแก้คดีได้รวมแล้ว 30 วัน นับถัดจากวันปิดหมาย เพื่อให้การต่อสู้คดี มิฉะนั้นจะหมดสิทธิ์ในการต่อสู้คดี ทำให้ต้องแพ้คดีและต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น เมื่อได้รับหมายต้องรีบติดต่อทนายความทันทีเพื่อปรึกษาและดำเนินการในการต่อสู้คดี
2. หมายเรียกคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ,หมายเรียกคดีมโนสาเร่
คดีมโนสาเร่ คือ คดีที่ฟ้องร้องกันโดยมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท หรือคดีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่าขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จำเลยต้องมาศาลตามวันนัดพิจารณาในหมายเพื่อการไกล่เกลี่ย และต้องให้การแก้คดีและสืบพยาน จำเลยจะยื่นคำให้การแก้คดีก่อนวันนัดก็ได้ แต่อย่างช้าต้องไม่เกินวันนัดนั้น ถ้าจำเลยไม่ได้ให้การในวันนัด ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปโดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และถ้าจำเลยไม่ได้มาศาลในวันนัดดังกล่าวโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาด้วย และศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
คดีไม่มีข้อยุ่งยาก คือ คดีสามัญที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนที่แน่นอนตามตั๋วเงิน (ตั๋วสัญญาใช้เงิน ,ตั๋วแลกเงิน ,เช็ค) หรือฟ้องตามสัญญาที่เป็นหนังสือสัญญาที่แท้จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องมาศาลและให้การแก้คดีในวันนัดซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาด้วย ถ้าจำเลยไม่ได้ให้การในวันกำหนด ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปโดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และถ้าจำเลยไม่ได้มาศาลในวันนัดดังกล่าวโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
3. หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ
อันที่จริงเป็น "คำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ(คดีแพ่ง) " เมื่อได้รับหมายดังกล่าวแล้ว ผู้มีชื่อในหมายมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการที่ระบุไว้ในหมาย หากขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดขืนหมายศาลซึ่งมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้จะมีระบุไว้ในด้านหลังของหมาย
แต่หากไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานตามหมายเรียกอยู่ในครอบครองก็ให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลเพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกทราบต่อไป แต่หากมีบางส่วนหรือมีแต่ไม่อาจส่งไปให้ทันตามกำหนดเวลาได้ ก็ต้องทำหนังสือแจ้งเหตุไปให้ทราบเช่นกัน
4. หมายเรียกพยานบุคคล
เมื่อได้รับหมายจะต้องไปศาลตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในหมาย เพื่อเบิกความเป็นพยานต่อศาล หากขัดขืนไม่ไปศาลตามกำหนดศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ และอาจถูกฟ้องได้ แต่หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลตามวันเวลาที่กำหนดได้ ก็สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลได้ และหากผู้ขอหมายยังประสงค์จะให้เบิกความเป็นพยานต่อศาลอีกก็จะต้องส่งหมายมาให้อีกครั้งหนึ่ง
5. หมายบังคับคดี
เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว และจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ก็จะมีการออกหมายบังคับคดีส่งให้จำเลย เมื่อจำเลยได้รับหมายบังคับคดีแล้วมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้นอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
หมายในคดีอาญาที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
1. หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง
ในคดีอาญา ถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ตามกฎหมายศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนว่าคดีที่โจทก์ฟ้องนั้นมีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป ถ้าศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือตำรวจก็ไม่ต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนส่งให้อัยการยื่นฟ้องได้เลย
เมื่อได้รับหมายนัดจึงต้องดูรายละเอียดว่าศาลกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันใด และหากประสงค์จะต่อสู้คดีก็ต้องรีบปรึกษาทนายความทันที เพื่อทำหนังสือแต่งตั้งทนายความเพื่อให้ทนายความไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทน โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยไม่จำเป็นต้องไปศาล
ส่วนใหญ่แล้วในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยจึงมักจะไม่ไปศาลเพราะหากจำเลยไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยจะถูกควบคุมตัวทันที จึงต้องเตรียมหลักทรัพย์ไปประกันตัวด้วย
2. หมายเรียกพยานบุคคล
เมื่อได้รับหมายดังกล่าวต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการที่ได้รับหมายเรียกพยานบุคคลในคดีแพ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มิฉะนั้นก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน
3. หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุในคดีอาญา
หากได้รับหมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือวัตถุต่อศาล จะต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุตามที่ระบุในหมายไปศาลตามวันเวลาที่ศาลกำหนด หากขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดขืนหมายศาลซึ่งมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้จะมีระบุไว้ในด้านหลังของหมาย
แต่หากไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานตามหมายเรียกอยู่ในครอบครองก็ให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลเพื่อให้ศาลทราบต่อไป แต่หากมีบางส่วนหรือมีแต่ไม่อาจส่งไปให้ทันตามกำหนดเวลาได้ ก็ต้องทำหนังสือแจ้งเหตุไปให้ทราบเช่นกัน หรือจะไปแถลงด้วยวาจาต่อศาลตามวันที่ระบุในหมายก็ได้
4. หมายค้น หมายจับ หมายขังและหมายปล่อย
กฎหมายห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล แต่มีข้อยกเว้นถ้าพนักงานฝ่ายปกครอง (ตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงมาจนถึงปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ) หรือตำรวจ (ตั้งแต่อธิบดีกรมตำรวจลงมาจนถึงหัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) เป็นผู้ค้นในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
1.เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยออกมาจากที่รโหฐานหรือมีพฤติการณ์ที่แสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นข้างใน
2.เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
3.เมื่อมีคนร้ายขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่
4.เมื่อมีหลักฐานว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซ่อนอยู่ซึ่งหากรอหมายค้นสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายทำลายเสียก่อน
5.เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้ที่จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับ
นอกจากนี้การค้นในที่รโหฐานต้องทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก ยกเว้น เมื่อค้นตั้งแต่เวลากลางวันแต่ยังไม่เสร็จก็สามารถค้นต่อไปถึงกลางคืนได้ หรือในกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งก็ค้นในเวลากลางคืนได้ เมื่อได้รับหมายดังกล่าวเหล่านี้ ต้องอ่านรายละเอียดในหมายว่าให้เข้าใจ เมื่อเห็นว่าเป็นหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในหมาย แต่ถ้าเป็นหมายค้นก็ต้องยอมให้ตรวจค้นได้ แต่การตรวจค้นจะต้องทำตามวัน - เวลาและสถานที่ที่ระบุในหมายศาลเท่านั้น และต้องกระทำอย่างระวังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกค้น มิฉะนั้นผู้ถูกค้นสามารถฟ้องผู้ตรวจค้นได้
ส่วนหมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย เป็นเรื่องเฉพาะที่มีขั้นตอนที่ลึกลงไปอีกซึ่งศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
การได้รับหมายศาลเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อได้รับหมายศาลจะต้องตั้งสติให้ดี อย่ากลัวลนลานจนเกินเหตุ ถ้าไม่แน่ใจก็รีบปรึกษาทนายความทันที
ที่มา : http://www.geocities.com/ruammitra
ได้รับหมายศาลไม่ไปเสียสิทธิอะไรบ้าง
ตอบลบเรียนถามว่า
1.หากศาลตัดสินเองโดยไม่มีโจทย์ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ที่จะยึดของในบ้าน
2.จะมีความผิดอาญาหรือไม่
3.ศาลจะจัดการอย่างไรกับผมได้บ้าง
4.ผมต้องขนย้ายของในบ้านออกหรือไม่
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
1. เมื่อศาลได้ส่งหมายศาล เพื่อให้คุณในฐานะเป็นจำเลยมาศาลเพื่อประนอมหนี้กับโจทก์ หากคุณไม่ไปศาล ตามกฎหมายย่อมถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา โดยให้ศาลและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 204 กล่าวคือ ศาลจะพิจารณาและตัดสินคดีโดยสืบพยานหลักฐานของโจทก์ไปฝ่ายเดียว ทำให้คุณซึ่งเป็นจำเลยไม่ไปยื่นคำให้การเสียเปรียบ หรือเสียประโยชน์ในการนำสืบพยานหลักฐานหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ต่อไป จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลจะตัดสินคดีเองโดยไม่มีโจทก์ โดยคุณในฐานะที่เป็นจำเลย ก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะยึดทรัพย์สินจำนองคือบ้าน ภายในเวลาเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อย่างช้าไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่โดยส่วนมากแล้วธนาคารจะยึดเฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น โดยนโยบายธนาคารจะไม่ยึดทรัพย์สินอื่นภายในบ้าน
2. ส่วนการที่คุณไม่ไปศาลตามหมายศาลที่ให้ไปประนอมหนี้ ก็เป็นสิทธิของคุณที่จะสละสิทธิในการต่อสู้คดีของตนเอง ไม่เป็นความผิดทางอาญาแต่อย่างใด
3. ศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาและพิพากษาคดีตามคำฟ้องอย่างเดียว แล้วออกคำบังคับและออกหมายบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ไม่มีอำนาจจัดการอย่างอื่นนอกจากนี้
4. ถ้าจำเป็นคุณก็ควรที่จะขนย้ายของในบ้านออกเพื่อหลักเลี่ยงเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ และทางที่ดี หากคุณจะซื้อของใด ก็ควรซื้อในนามของคนอื่น
ที่มา :: http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=5767
ต้องทำยังไงเมื่อได้รับหมายศาล(กรณีบัตรเครดิต)
ตอบลบหมายศาลจะถูกส่งไปตามเลขหมายของทะเบียนบ้าน โดยไปรษณีย์จะเป็นคนส่งให้คุณ โดยจะนำไปไว้ในกล่องจดหมายหรือเสียบไว้ที่ประตูบ้าน ไม่ต้องตกใจ หรือเอาไปทิ้งแล้วอ้างว่าไม่ได้รับหมายศาลเด็ดขาด
สิ่งที่คุณควรจะทำก็คือ
* ให้ตรวจสอบรายละเอียดของหมายศาลว่าจะฟ้องที่ศาลไหน กำหนดวันขึ้นศาลเมื่อไร?
* ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับยอดหนี้ของคุณที่ทางเจ้าหนี้ยื่นฟ้องว่าเป็นมูลหนี้เท่าไหร่ เงินต้นเท่าไร ยอดฟ้อง+ดอกเบี้ยเป็นเงินกี่บาท?
* ตรวจสอบดูว่าทางเจ้าหนี้ฟ้องเกินอายุความหรือไม่ นั่นคือบัตรเครดิตอายุความ 2 ปี สินเชื่อ 5 ปี นับจากวันชำระครั้งสุดท้าย
* พิจารณาว่าจะสู้คดีอย่างไรหรือจะต่อรองกับเจ้าหนี้อย่างไร?
กรณีบัตรเครดิต
หลังจากตรวจสอบรายละเอียดของหมายศาลแล้ว คุณต้องกำหนดจุดยืนในการชำระหนี้ตัวนี้ว่า คุณต้องการเลือกวิธีแก้ปัญหาหนี้อย่างไรดี เช่น
1). อาจจะเอาหมายศาลไปให้ทนายช่วยดูว่าก่อนก็ได้ว่าเราจะมีข้อต่อสู้อะไรได้บ้าง ในกรณีที่เราต้องการระยะเวลาในการเก็บเงิน ก็คือให้ทนายยื่นคำให้การ
2).จะไปไกล่เกลี่ยในวันที่ศาลนัดเลย โดยขอผ่อนชำระ เป็นงวด และขอให้หยุดดอกเบี้ยระหว่างชำระหนี้ ขอให้ทำบันทึกโจทก์-จำเลยที่ศาล ระบุจำนวนงวดที่ชำระ และการชำระเงินก็ต้องจ่ายเข้าบัญชีเจ้าหนี้เท่านั้น
หมายเหตุ การผ่อนชำระงวดมีตั้งแต่ 6-60 งวด ขึ้นอยู่กับยอดหนี้มากหรือน้อย และการมีการผ่อนแบบขั้นบันได คือ ค่างวดอาจจะเพิ่มขึ้นในปี 2 จนครบจำนวนงวดก็ได้
3). หากคุณต้องการให้อายัดเงินเดือน คุณมีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้สามารถอายัดได้หรือไหม เช่น รถยนต์ บ้าน เงินในบัญชีต่างๆ ที่ฝากสะสมไว้ก็ต้องพึ่งระวัง ไม่ใช่ว่าฟ้องแล้วไม่จ่ายเจ้าหนี้เขาจะอายัดเงินเดือนอย่างเดียว
หากคุณไม่มีทรัพย์สินเจ้าหนี้ก็จะมองที่เงินเดือน การอายัดเงินเดือน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้รายแรกที่ฟ้องเสมอไป หากเจ้าหนี้รายแรกคุณขอไกล่เกลี่ยที่ศาลตาม ข้อ 2 แล้ว มีเจ้าหนี้รายที่ 2 มาฟ้อง หากคุณไม่มีเงินชำระหนี้ คุณก็สามารถปล่อยให้เจ้าหนี้รายที่ 2 จนถึงรายสุดท้าย อายัดเงินเดือนได้เช่นกัน
อีกส่วนที่สนใจก็คือหากยอดหนี้ฟ้องเป็นจำนวน 100,000 บาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือสินเชื่อ แต่ถ้าเป็นสินเชื่ออย่าลืม หากยื่นคำให้การต่อสู้หนี้ยังมีโอกาสลดลงได้สูงมาก หากเป็นหนี้บัตรเครดิตถึงแม้ว่าจะได้ลดไม่มาก แต่คุณก็ยังสามารถเจรจาต่อรองจ่ายชำระในอัตราที่ต่ำกว่า เช่น สมมุติหากจะต้องโดนอายัดเงินเดือน 30 เปอร์เซ็นแล้วประมาณ 3,000 บาท ต่อเดือน คุณสามารถเจรจาขอชำระต่องวด 2,000 บาท
4). เตรียมคำให้การกับศาล นั่นก็คือการทำข้อมูลแก้ต่างตามที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องเรามาว่าเรานั่นเอง โดยให้ทนายยื่นคำให้การต่อสู้ในศาล เพราะคุณจะสามารถยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกประมาณ 6 เดือน - 1 ปี จะได้มีระยะเวลาเก็บเงิน และกลับมาเจรจาไกล่เกลี่ยได้อีกครั้งในนัดที่ 2 ยอดหนี้จะลดลงด้วย
...
กรณีสินเชื่อส่วนบุคคล
ตอบลบเมื่อถูกฟ้องในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล คุณจะต้องกำหนดจุดยืนในการชำระหนี้ตัวนี้ว่า จะเลือกวิธีแก้ปัญหา
ควร นำหมายศาลไปให้ทนายแต่งคำให้การ กรณีที่ยอดหนี้สูง เพราะสินเชื่อบุคคลจะมีค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย ค่าปรับ ซึ่งในทางกฎหมาย ถือว่าพวกนี้เป็นดอกเบี้ย และการผ่อนชำระงวดแรกก็ไปตัดดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้นำไปตัดเงินต้น ทำให้ลูกหนี้รู้สึกว่าเมื่อชำระหนี้ไปแล้วหนี้ยังคงค้างอยู่สูง แต่หากกรณีที่ยอดหนี้ไม่สูงนักก็ยังสามารถเลือกใช้วิธีการตามข้อ 2 จนถึงข้อ 4 แบบคดีบัตรเครดิตได้เช่นกัน
การ ยื่นคำให้การต่อสู้ของสินเชื่อจะต่อสู้เรื่องดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจะสูงและมีค่าปรับ/ค่าธรรมเนียม ซึ่งจริงแล้วกฎหมายให้ถือว่าเป็นการคิดดอกเบี้ย แต่เมื่อค่าต่างๆ รวมกันแล้วก็จะเกินว่าในสัญญาออกไป ส่วนบัตรเครดิตจริงๆว่าอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะค่อนข้างถูกต้อง แต่เมื่อมีค่าปรับเข้ามาร่วมด้วยก็จะทำให้ดอกเบี้ยสูงๆ เกินออกไปบ้าง ฉะนั้นการยื่นคำให้การต่อสู้ก็เพื่อขอระยะในการเวลาในเก็บเงินหรือมีเวลาใน การเตรียมตัวระยะหนึ่งเท่านั้น
อายุความสินเชื่อบุคคลนาน 5 ปี ส่วนใหญ่เจ้าหนี้จึงไม่ค่อยรีบฟ้อง ฉะนั้นลูกหนี้จึงควรเก็บเงินไว้ชำระหนี้ด้วย และหากชำระหนี้ไหวก็ควรชำระหนี้ยอดน้อยให้หมดก่อน หรือหากหยุดก็ควรหยุดในกรณีที่จำเป็นจริงๆ
ทั้ง นี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวท่านเองในอนาคต การชำระหนี้ของแต่ละคนเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องไตร่ตรองและเลือกวิธีชำระหนี้ ด้วยตัวคุณเอง ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ประสบอยู่ เพื่อให้ครอบครัวของคุณอยู่รอด และให้มองที่อนาคต "อย่าออกจากงานเพื่อหนีปัญหาหนี้"
4. คุณสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อปิดบัญชีหนี้ก่อนขึ้นศาลได้ กรณีที่คุณมีเงินก้อนที่เก็บไว้เมื่อคุณหยุดชำระหนี้ หากคุณสามารถนำเงินก้อนมาปิดได้ก็ควรทำ ในกรณีนี้เราเรียกว่า "การ HAIR CUT" แต่ก็ต้องให้เจ้าหนี้ / สนง.ออกจดหมายยืนยันการปรับลดยอดหนี้และระบุวันที่ชำระหนี้ หลังจากนั้นก็ให้แบงค์ออกหนังสือยืนยันปิดยอดหนี้ให้เป็น 0 แต่จะต้องได้รับจดหมายยืนยันการปรับลดยอดหนี้ ก่อนที่จะชำระหนี้
สำหรับอัตราส่วนลดโดยทั่วไปก็มีตั้งแต่ 20 %, 30% ,50% ถึง 60 % ของยอดหนี้เดิมที่มีดอกเบี้ยบวกไปเรียบร้อยแล้ว การชำระหนี้จะผ่อนชำระ เป็นงวด และขอให้หยุดดอกเบี้ยระหว่างชำระหนี้ ไม่มีการจ่ายเข้าบัญชี สนง.ติดตามหนี้ ควรไปจ่ายที่เคาน์เตอร์ของเจ้าหนี้โดยตรง
สิ่งสำคัญที่สุดที่ลูกหนี้ควรจะทำก็คือควรจะไปศาลในวันนัด เพราะไม่เช่นนั้น ศาลจะตัดสินคดีในวันนั้นเลย และคุณจะไม่มีโอกาสได้ต่อรองเพื่อลดหย่อนหนี้ของคุณเลย การขึ้นศาลเป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว ถึงแม้มันทำให้ “คุณกลัวและตื่นเต้นบ้าง” แต่หลังจากผ่านมันไปได้ ทุกอย่างก็โอเค แต่คุณต้องผ่านมันไปให้ได้ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องทำ
ข้อมูลจาก ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อนส่วนบุคคล
เมื่อได้รับหมายศาลแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง
ตอบลบ1.ให้ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆในหมายศาล ดังนี้
- ดูว่าจะฟ้องที่ศาลไหน กำหนดวันขึ้นศาลเมื่อไร จะได้จัดตารางได้ถูกต้อง หากจำเป็นต้องลาล่วงหน้าจะได้แจ้งหัวหน้าไว้ก่อน
- ดูรายละเอียดเกี่ยวกับยอดหนี้ของคุณ เช่น ยอดตอนที่คุณหยุดจ่ายเท่าไหร่ และยอดที่ทางเจ้าหนี้ยื่นฟ้องว่าเป็นยอดทั้งหมดเท่าไหร่ เงินต้นเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่
- หากเจ้าหนี้เค้าฟ้องศาลพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของคุณ ก็ยกประเด็นนี้ขึ้นสู้ (เนื่องจากคดีผู้บริโภคต้องฟ้องพื้นที่ที่จำเลยมีทะเบียนบ้านอยู่เท่านั้น)
2.ตรวจสอบดูว่าทางเจ้าหนี้ฟ้องเกินอายุความฟ้องหรือไม่ โดยบัตรเครดิตอายุความฟ้อง 2 ปี ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลมีอายุความฟ้อง 5 ปี นับจากวันที่คุณผิดนัดชำระครั้งแรก.... หากเกินอายุความก็ยกประเด็นนี้ขึ้นสู้ หรือถ้าเกิดมีผีหยอดเงินเข้าไปเพื่อต่ออายุความให้คุณ ทั้งๆที่กำลังจะหมดอายุความแล้ว แบบนี้ก็สู้เหมือนกันครับ (แต่จะต้องทำอย่างไรไปหาอ่านในกระทู้เก่าเอง)
3.พิจารณาตัวคุณเองในเรื่องต่างๆ ดังนี้
-ว่ามีเงินก้อนในมือหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่
-หากไม่มีเงินก้อนในมือมีความสามารถในการผ่อนชำระในแต่ละเดือนมากน้อย
-มีหนี้ที่ได้รับหมายศาลมากน้อยเท่าไหร่ หนี้ที่ฟ้องแล้วอยู่ในระหว่างขั้นตอนใดบ้าง
-ในอนาคตอันใกล้จะได้รับเงินก้อนเข้ามา เช่น โบนัส หรือไม่ จำนวนเท่าไหร่
4.พิจารณาว่าทางเลือกต่างๆ และกำหนดจุดยืนที่เหมาะสมกับตัวคุณ โดยมีทางเลือกต่างๆดังนี้
4.1ไปเพื่อเจรจาหน้าศาล ขอ Haircut ปิดบัญชี
การไปเจรจา Haircut หน้าศาล เมื่อคุณไปศาล ทนายโจทก์จะเข้ามาพบคุณเพื่อเสนอเงื่อนไขของทางโจทก์ว่ามีอะไรบ้าง คุณก็สามารถเจรจาเพื่อขอส่วนลดปิดบัญชีได้ ในการเจรจานั้นบางทีก็สามารถเจรจากับทนายโจทก์ได้เลย แต่บางทีหากทนายโจทก์ไม่ได้รับมอบอำนาจในการเจรจากับลูกหนี้มา ทนายโจทก์ก็จะให้เบอร์ติดต่อเพื่อให้คุณโทรติดต่อไปเจรจาตอนนั้น หากได้ส่วนลดที่คุณต้องการ และเงินก้อนในมือพร้อมคุณก็สามารถทำการ Haircut ได้ กรณีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่มีเงินก้อนในมือพร้อมเท่านั้น
4.2 ไปเพื่อเจรจาหน้าศาลผ่อนชำระเป็นงวดๆ
ตอบลบกรณีนี้จะคล้ายกับกรณี 4.1 เพียงแต่กรณีนี้คุณไม่มีเงินก้อนในมือ คุณก็สามารถเจรจาขอผ่อนชำระได้ หากข้อเสนอที่ฝ่ายโจทก์เสนอมา คุณคิดว่าคุณสามารถผ่อนชำระได้ คุณก็สามารถทำยอมหน้าศาลได้ กรณีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่มีเงินเหลือสำหรับใช้หนี้ในแต่ละเดือนมากพอใน ระดับนึง และมีหนี้ที่ทยอยฟ้องไม่กระชั้นชิดกัน แต่กรณีนี้มีข้อเสียคือ หากคุณทำยอมหน้าศาลแล้ว และต่อไปคุณเกิดปัญหาด้านการเงินจนผ่อนไม่ไหว เจ้าหนี้เค้าสามารถร้องต่อศาลขอบังคับคดีได้เลย โดยที่ไม่ต้องทำเรื่องฟ้องอีกครั้ง
4.3ไปเพื่อขอเลื่อนนัดศาล
การไปขอเลื่อนนัดพิจารณา คุณสามารถทำได้โดยไปศาลและแจ้งต่อศาลว่าขอเลื่อนพิจารณาคดี ซึ่งการขอเลื่อนคุณต้องเตรียมเหตุผลไปให้ดี เช่นคุณแจ้งต่อศาลว่าขอเลื่อนเพื่อสู้คดี ศาลท่านจะถามคุณว่าคุณจะสู้ในประเด็นอะไร ดังนั้นคุณต้องทำการบ้านไปพอสมควร แต่ผมแนะนำว่าควรจะใช้เหตุผลว่าขอเลื่อนเพื่อไปเจรจาต่อรองกับโจทก์อีกครั้ง นึงจะดีกว่า ส่วนศาลท่านจะเลื่อนนัดให้คุณมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับศาลแต่ละพื้นที่ หากเป็นศาลพื้นที่ที่มีคดีเยอะคุณก็อาจได้เลื่อนนัดไปได้นาน มีเพื่อนคนนึงในเวปสามารถขอเลื่อนนัดได้เกือบ 10 เดือนเลยครับ แต่กรณีของผมขึ้นศาลแขวงธนบุรี ศาลท่านจะให้เลื่อนนัดได้ประมาณ 2 เดือน เมื่อศาลท่านเลื่อนนัดให้คุณ คุณก็สามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้ หาก Haircut ได้ก็ Haircut ไป แต่ถ้า Haircut ไม่ได้จริงๆ เมื่อถึงกำหนดนัดศาลอีกครั้ง และคุณต้องการจะสู้คดี คุณก็สามารถสู้คดีได้ ข้อดีของกรณีนี้คือคุณสามารถยืดเวลาออกไปได้ เหมาะสำหรับคนที่เก็บเงินใกล้ที่จะ Haircut ได้ หรือในอนาคตอันใกล้จะมีเงินก้อน เช่น โบนัสเข้ามา
ป.ล.ปัจจุบันนี้เนื่องจากการฟ้องร้องคดีบัตรเครดิตและสินเชื่อ เปลี่ยนจากใช้ วิ.แพ่งมาเป็น วิ.ผู้บริโภค ดังนั้นการขอเลื่อนนัดศาลจะขอเลื่อนไม่ได้นานเหมือนสมัยก่อน
4.4ไปเพื่อสู้คดี
การสู้คดีนั้นสามารถไปยื่นคำให้การด้วยวาจา หรือโดยลายลักษณ์อักษร ก็ได้ แต่แนะนำว่าควรยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร และควรจะให้ทนายหรือผู้รู้เป็นผู้ร่างคำให้การ คุณไม่ควรที่จะเอาคำให้การสู้คดีของผู้อื่นมาดัดแปลง เนื่องจากว่าคดีต่างกัน ประเด็นต่อสู้ทางกฎหมายก็ต่างกัน การสู้คดีมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นคุณต้องดูก่อนว่าคดีของคุณเป็นคดีอะไร มีประเด็นที่สามารถต่อสู้ได้หรือไม่ และถ้าสู้แล้วสิ่งที่ได้กับสิ่งที่เสีย คุ้มกันหรือไม่ ข้อดีของการสู้คดีคือมูลหนี้ที่ฟ้องลดลง และคุณมีเวลาเก็บเงินเพื่อ Haircut เพิ่มขึ้น หลังจากศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คุณยังสามารถเจรจา Haircut ได้อีก แต่ข้อเสียคือ หากศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว และคุณยังไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้เค้าสามารถร้องต่อศาลขอบังคับคดีได้
คดีบัตรเครดิตส่วนใหญ่จะไม่ค่อยน่าสู้คดี เนื่องจากสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยค่อนข้างถูกต้องแล้ว ถึงสู้คดีไปก็อาจได้ลดมูลหนี้ที่ฟ้องไม่มาก ซึ่งไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ส่วนคดีสินเชื่อส่วนบุคคลของนอนแบงก์แนะนำว่าน่าจะสู้คดีครับ โดยเฉพาะควิกแคซ
ป.ล. ถ้าต้องการสู้คดี นัดแรกที่คุณไป คุณต้องไปยื่นคำให้การสู้คดีทันที
4.5ไปเพื่อขอความเมตตาจากศาลท่าน (ไม่สู้คดี)
กรณีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่โดนเจ้าหนี้หลายๆรายฟ้องพร้อมๆกัน ไม่มีเงินก้อนในมือ คาดว่าไม่สามารถผ่อนชำระได้แน่นอน ถึงจะยืดเวลาออกไปก็ไม่ช่วยอะไรได้มาก เป็นคดีที่ไม่มีประเด็นต่อสู้ ซึ่งคิดว่าการอายัดเงินเดือนเป็นทางออกทางเดียว กรณีนี้หากคุณไม่ลำบากในการไปศาลมาก ก็ไปศาลเพื่อขอความเมตตาจากศาลขอให้ศาลท่านเมตตาตัดในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัด ชำระหรือค่าปรับลง หลังจากนั้นก็ปล่อยให้เข้าสู่ขั้นตอนบังคับคดี กรณีนี้คุณต้องดูด้วยนะครับว่าคุณมีทรัพย์สินอะไรหรือไม่