คามิลลา จากนางพาร์กเกอร์ โบลส์ สู่ว่าที่ราชินี
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงมีพระราชปรารถนาให้ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ได้รับการยอมรับในฐานะสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) เมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป
สมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ทรงมีพระราชประสงค์เรื่องนี้ในแถลงการณ์เนื่องในวาระการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี หรือ การครองราชย์ครบรอบแพลทินัม (Platinum Jubilee) ซึ่งตรงกับวันที่ 6 มิ.ย. 2022
ในเนื้อหาตอนหนึ่งของแถลงการณ์ สมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ทรงระบุถึงความโชคดีที่พระองค์ทรงมีครอบครัวที่แน่นแฟ้นและคอยให้ความรักและการสนับสนุนพระองค์เรื่อยมา
"ข้าพเจ้าโชคดีที่มีเจ้าชายฟิลิป ผู้เป็นคู่ครองที่ยินดีจะรับบทบาทคู่สมรส และเสียสละกับภาระหน้าที่ที่มาพร้อมกับบทบาทนี้โดยไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นบทบาทที่ข้าพเจ้าเคยเห็นพระมารดาทำในรัชสมัยพระบิดาของข้าพเจ้า"
นอกจากนี้ทรงขอบใจที่พสกนิกรทุกเชื้อชาติ ศาสนา และอายุ ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกให้การสนับสนุนพระองค์เสมอมา
"...เมื่อถึงเวลาที่ ชาร์ลส์ ลูกชายของข้าพเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านทั้งหลายจะให้การสนับสนุนแก่เขาและคามิลลา ชายาของเขาแบบเดียวกับที่เคยให้แก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ามีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง คามิลลา จะเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระราชินี ในขณะที่เธอยังคงปฏิบัติราชกรณียกิจของเธอ"
แถลงการณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ครั้งนี้นับเป็นการเปิดทางให้ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีเคียงคู่กับพระราชโอรสของพระองค์ และเป็นการไขข้อสงสัยที่มีมานานเกี่ยวกับอนาคตของสะใภ้เจ้าพระองค์นี้ ซึ่งทัศนคติในเชิงลบของประชาชนที่มีต่อพระองค์ก่อนหน้านี้ ทำมีการคาดการณ์ว่าเมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์ คามิลลาจะได้ดำรงพระยศเป็นเพียงเจ้าหญิงพระราชชายา (Princess Consort) เท่านั้น
โฆษกแคลเรนซ์เฮาส์ สำนักงานของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ระบุว่า เจ้าชายแห่งเวลส์และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ "ทรงซาบซึ้งพระทัยและรู้สึกเป็นเกียรติ" ที่สมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ทรงมีพระราชปรารถนาเช่นนี้
บีบีซีไทยจะพาไปรู้จักสตรีว่าที่ราชินีพระองค์ต่อไปของอังกฤษผู้นี้
ชีวิตวัยเยาว์
คามิลลา โรสแมรี เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 1947 ที่กรุงลอนดอน ในครอบครัวชนชั้นสูงและตระกูลขุนนางอังกฤษ โดยเป็นบุตรสาวของบรูซ และโรซาลินด์ ชานด์
สารานุกรมบริแทนนิกาของอังกฤษระบุว่า คามิลลาเป็นทายาทของอลิซ เคปเปล ผู้เป็นชู้รักอันยาวนานของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งเป็นพระบรมไปยกา (ปู่ทวด) ของสมเด็จพระราชินีนาถ ฯ
คามิลลา พบเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ครั้งแรกที่การแข่งโปโลในเมืองวินด์เซอร์เมื่อปี 1970 โดยขณะนั้นเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเตรียมจะเข้าเป็นทหารในกองทัพเรือ
แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แต่หลังจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เข้าเป็นทหารในกองทัพเรือเมื่อปี 1971 ทั้งคู่ก็เริ่มห่างเหินกัน ก่อนที่ในอีก 2 ปีต่อมาคามิลลาจะตกลงปลงใจแต่งงานกับ แอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์ นายทหารหนุ่มผู้เป็นพระสหายของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเป็นอดีตคนรู้ใจของเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี
ในปี 1981 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ แต่ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า พระองค์ทรงกลับไปสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคามิลลา ในช่วงทศวรรษที่ 1980
ข่าวซุบซิบที่มีมานานเรื่องสัมพันธ์สวาทระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับคามิลลา ได้รับการยืนยันจากเจ้าหญิงไดอานาในบทสัมภาษณ์อันลือลั่นที่พระองค์ทรงเปิดเผยในรายการพาโนรามา (Panorama) ของบีบีซีเมื่อปี 1995 ว่า "มีเราสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้ มันก็เลยแออัดไปหน่อย"
ถ้อยคำดังกล่าวได้กลายเป็นประโยคอันโด่งดังที่บอกเล่าถึงปัญหาในชีวิตคู่ของเจ้าหญิงไดอานากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และได้นำไปสู่การที่ทั้งสองพระองค์ทรงหย่าขาดจากกันในปี 1996
ส่วนชีวิตสมรสของคามิลลา และ แอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์ ก็มาถึงทางตัน และหย่าขาดจากกันในปี 1995 โดยที่ทั้งคู่มีบุตรชายและบุตรสาวด้วยกันสองคน
เส้นทางสู่ราชวงศ์
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลลาเข้าพีธีสมรสทางกฎหมายในเมืองวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2005 โดยสมเด็จพระราชินีนาถ ฯ พระราชทานยศให้เธอเป็น "ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์"
แม้ในช่วงต้นจะมีคนบางส่วนมองคามิลลาเป็นวายร้ายผู้ทำลายชีวิตคู่ดั่งเทพนิยายของเจ้าหญิงไดอานากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ แต่เมื่อพระองค์ได้พิสูจน์ตนเองโดยการทรงงานแบ่งเบาพระราชภาระของพระราชสวามีและสมเด็จพระราชินีนาถฯ พระองค์ก็เริ่มได้รับการยอมรับจากคนในราชวงศ์
ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์โปรดการขี่ม้า และทรงสนับสนุนองค์กรสงเคราะห์สัตว์หลายแห่ง ตลอดจนทรงงานเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือ และการช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
นอกจากนี้ทรงเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้สื่อข่าวสายราชสำนัก จากอุปนิสัยสนุกสนานร่าเริงและมีอัธยาศัยดี
สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ระบุว่า นับแต่ได้ใช้ชีวิตคู่กับคามิลลามา 17 ปี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีอารมณ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะหลายครั้งคามิลลามักโน้มน้าวให้พระองค์ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือทำสิ่งที่ทรงพระสำราญ
สมเด็จพระราชินีมีหน้าที่อะไร
สมเด็จพระราชินี เป็นพระอิสริยยศสำหรับพระอัครมเหสีของสมเด็จพระราชาธิบดีที่ยังครองราชสมบัติอยู่ ตามปกติสมเด็จพระราชินีจะไม่มีอำนาจทางการเมืองการปกครองใด ๆ มีเพียงหน้าที่ในการเป็นคู่คิดและให้การสนับสนุนกษัตริย์
แม้จะไม่มีบทบาทอย่างเป็นทางการ แต่สมเด็จพระราชินีก็ถือเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญต่อกษัตริย์ และคอยช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในด้านต่าง ๆ
สมเด็จพระราชินีองค์ล่าสุดของราชวงศ์อังกฤษคือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และทรงเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่วนเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ไม่ทรงมีพระยศเป็น เจ้าชายพระราชสวามี (Prince Consort) เพราะทรงปฏิเสธการรับยศดังกล่าวตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ เสด็จขึ้นครองราชย์
ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ถึงอนาคตไม่แน่นอนของ “ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์” ว่าคงไปได้ไกลแค่พระยศ “เจ้าหญิงพระราชชายา” (Princess Consort) เพราะมีชนักติดหลังเคยเป็นมือที่สามสร้างความร้าวฉานให้ครอบครัว “เจ้าหญิงไดอานา” จนนำไปสู่การหย่าสะท้านโลก แต่เกมพลิกเรื่องราวกลับตาลปัตรกลายเป็นว่า “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ทรงออกโรงปกป้องพระสุณิสาวัยดึกด้วยพระองค์เอง เพื่อสยบดราม่าในอนาคต โดยถือโอกาสเนื่องในวาระการครองสิริราชสมบัติ ครบ 70 ปี แสดงพระราชประสงค์ดังกล่าวชัดเจน
เนื้อหาตอนหนึ่งในแถลงการณ์สำคัญระบุว่า ข้าพเจ้าโชคดีที่มีเจ้าชายฟิลิปคอยเคียงข้างในฐานะพระสวามี ผู้ซึ่งเต็มใจรับบทบาทคู่สมรส และเสียสละกับภาระหน้าที่ที่มาพร้อมบทบาทนี้อย่างไม่เห็นแก่ตัว เมื่อถึงเวลาที่พระราชโอรสของข้าพเจ้า “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ขึ้นเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้ารู้ดีว่าท่านทั้งหลายจะให้การสนับสนุน “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” และพระชายา “คามิลลา” ในแบบเดียวกับที่เคยให้การสนับสนุนข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความปรารถนายิ่งว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง “คามิลลา” จะเป็นที่รู้จักในฐานะ “สมเด็จพระราชินี” (Queen Consort) ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี
นี่มันรางวัลแด่ความอึดและความจงรักภักดีชัดๆ นับตั้งแต่จูงมือกันเข้าประตูวิวาห์ เมื่อปี 2005 “ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์” ก็พยายามทำหน้าที่คู่คิดคอยปลอบประโลมจิตใจ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในยามวิกฤติเกิดความแตกแยกภายในครอบครัว คนใกล้ชิดทราบกันดีว่า องค์รัชทายาทอันดับหนึ่งทรงมีความสุขและผ่อนคลายขนาดไหนเมื่อได้อยู่กับคนรักเก่า แม้จะไม่ใช่สาวเอ๊าะๆ แต่ “คามิลลา” ก็มีความกุ๊กกิ๊กในตัว มักชวนพระสวามีทดลองทำสิ่งใหม่ๆสร้างสีสันให้ชีวิตไม่อับเฉา นอกเหนือจากกิจกรรมที่ชอบทำร่วมกัน เช่น การขี่ม้า, ตกปลา, ปลูกต้นไม้, วาดรูป และอ่านหนังสือ ตรงข้ามกับ “เจ้าหญิงไดอานา” ที่มักเอาแต่ใจตัวเองแบบคุณหนูตระกูลสูงศักดิ์ และเรียกร้องความสนใจจากพระสวามี จึงลงเอยด้วยการทะเลาะกันอยู่ร่ำไป
อาจเป็นบุพเพสันนิวาสจริงๆก็ได้ เพราะคู่นี้เขารักกันมาดึกดำบรรพ์ตั้งแต่วัยรุ่น “คามิลลา” คือรักแรกฝังใจเจ็บของ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ฝ่ายหญิงมาจากครอบครัวชนชั้นสูงตระกูลขุนนางเก่า และที่น่าแปลกคือ “คามิลลา” เป็นทายาทของ “อลิซ เคปเปล” ผู้เป็นชู้รักสุดเสน่หาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งเป็นปู่ทวดของควีนเอลิซาเบธที่สอง ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกที่บ้านเพื่อน เมื่อปี 1970 ก่อนจะมาออกเดตเป็นแฟนกัน กระทั่งฝ่ายชายต้องไปเป็นทหารประจำกองทัพเรือ ในช่วงต้นปี 1973 ฝ่ายหญิงได้หนีไปแต่งงานกับแฟนเก่านายทหารหนุ่มรุ่นพี่ “แอนดรูว์ ปาร์กเกอร์ โบว์ลส์” เพราะทนแรงกีดกันจากพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ไม่ไหว สาเหตุของการเลิกกันมีหลายเบาะแสมาก แต่ที่แน่ๆคือสาวสังคมผู้เจนโลกอย่าง “คามิลลา” ถูกมองว่าไม่เหมาะเป็นพระชายาของกษัตริย์ในอนาคต
จากปั๊ปปี้เลิฟกลายเป็นรักฝังใจสร้างบาดแผลลึกให้องค์รัชทายาทหนุ่ม กว่าจะหักอกหักใจได้ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ขังตัวเองอยู่ในห้องหลายวัน ภายหลังทั้งคู่ยังคบหากันในฐานะเพื่อน และเจอกันตามแวดวงขี่ม้าโปโล กระทั่งในปี 1979 “คามิลลา” กลับมาสนิทสนมเกินเพื่อนกับ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” อีกครั้ง เมื่อเจ้าชายหนุ่มทรงสูญเสียพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ที่เคารพรักที่สุดอย่าง “ลอร์ดเมานต์แบตเทน” ทำให้ต้องพึ่งการปลอบขวัญและกำลังใจจากคนรักเก่า แม้แต่ในค่ำคืนก่อนการอภิเษกสมรสกับ “เจ้าหญิงไดอานา” ในปี 1981 ว่ากันว่า “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ก็ยังขลุกอยู่บนเตียงกับ “คามิลลา”
ตำนานรักสามเส้าที่สร้างความอับอายขายหน้าให้ราชวงศ์อังกฤษ ถูกเปิดโปงสู่สาธารณชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสืออื้อฉาว “Diana : Her True Story” ในปี 1992 ตามมาด้วยการปล่อยเทปลับทางโทรศัพท์ “Camillagate” ในปี 1993 ซึ่งเต็มไปด้วยบทสนทนาทางเพศอันโจ๋งครึ่ม หนักสุดคือ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” อ้อน “คามิลลา” ว่าอยากเกิดใหม่เป็นแทมแพ็กซ์ (ผ้าอนามัยแบบสอด) จนถูกสื่อล้อเลียนว่า “เจ้าชายแทมแพ็กซ์” งานนี้เสื่อมเสียหนักขนาดที่ว่าเจ้าชายคิดจะสละตำแหน่งรัชทายาท ด้วยซ้ำ
จุดจบของชู้รักมาถึง เมื่อข่าวซุบซิบใต้เตียงได้รับการยืนยันจากปาก “เจ้าหญิงไดอานา” ขณะให้สัมภาษณ์รายการพาโนรามาของสำนักข่าวบีบีซี เมื่อปี 1995 ว่า มีเราสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้ มันก็เลยแออัดไปหน่อย สุดท้ายต้องจบลงด้วยการหย่าร้างในปี 1996
ภายหลัง “เจ้าหญิงไดอานา” สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปี 1997 และ “คามิลลา” ได้หย่าขาดจากสามีในปี 1995 “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” จึงทำตามใจปรารถนาที่รอคอยมาทั้งชีวิต ฝ่าดงหนามจูงมือ “คามิลลา” เข้าประตูวิวาห์สมดังหวัง เมื่อปี 2005 แม้จะถูกมองว่าเป็นมือที่สามทำลายชีวิตคู่ดุจเทพนิยายของ “เจ้าหญิงไดอานา” กับ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” แต่เมื่อ “ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์” พิสูจน์ตัวเองว่าทรงสามารถแบ่งเบาพระราชภาระของพระสวามีและควีนเอลิซาเบธที่สองด้วยความจงรักภักดี จึงเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆจากพระบรมวงศานุวงศ์ แม้จะมีข่าวลือว่าแอบชิงดีชิงเด่นกับลูกสะใภ้ดาวเด่น “ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์”
ทั้งนี้ “ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์” โปรดการขี่ม้า และสนับสนุนองค์กรสงเคราะห์สัตว์ อีกทั้งยังทุ่มเทเวลาให้กับการส่งเสริมการรู้หนังสือ และช่วยเหลือเหยื่อของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เชื่อมั่นว่าต่อไปเมื่อขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินี” จะทำหน้าที่แบ่งเบาพระราชภาระในด้านต่างๆได้เป็นอย่างดีในฐานะพระราชวงศ์อาวุโส พร้อมเป็นคู่คิดคู่ค้ำบัลลังก์ยืนหยัดเคียงข้างกษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษ กอบกู้ภาพลักษณ์ติดลบของราชวงศ์วินด์เซอร์ให้กลับมาเป็นบวกยกกำลังสองอีกครั้ง.
Charles & Camilla: The Couple A Country Could Never Love
.
The Real Story Of Camilla Parker-Bowles
ที่มา :: https://www.bbc.com/thai , www.thairath.co.th/ , www.nationtv.tv/
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เรียกคามิลล่า "สุดที่รัก"
ตอบลบเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลล่า ปาร์คเกอร์-โบลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ทรงปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกาศว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้คามิลล่าขึ้นเป็นราชินีเมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้ขึ้นครองราชย์
ทั้งสองพระองค์ปรากฏตัวที่ British Museum for a British Asian Trust ในกรุงลอนดอนเมื่อวานนี้ ( 9 กุมภาพันธ์ ) ท่ามกลางแขกเหรื่อประมาณ 350 คนโดยทรงกล่าวถึงคามิลล่าเป็นภาษาอูรดูว่า "my mehbooba"(มาย เมฮะบูบา ) ซึ่งแปลว่า "สุดที่รัก" ของข้าพเจ้า
ภาษาอูรดูเป็นภาษาในกลุ่มอินโด-อารยันซึ่งพัฒนามาจากหลายภาษารวมกันคือเปอร์เซีย ตุรกี อาหรับ ฮินดีและสันสกฤต ส่วนใหญ่นิยมพูดในภูมิภาคเอเชียใต้โดยเฉพาะในอินเดียและปากีสถานและมีบ้างในแอฟริกา
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงกล่าวเต็มๆว่าไม่น่าเชื่อว่าเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ข้าพเจ้าและเมฮะบูบา (ซึ่งหมายถึงคามิลล่าสุดที่รัก) จะได้มาอยู่กับทุกท่านเพื่อเฉลิมฉลองงานของกองทุนบริติช เอเชียที่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับทั่วโลกโดยเฉพาะการสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาลเพราะการระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบอย่างหนักทั่วเอเชียใต้
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงก่อตั้งกองทุนบริติช เอเชียขึ้นในปี 2550 เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมในเอเชียใต้
จากอดีต ‘มือที่สาม’ สู่ ‘ว่าที่ราชินี’ ดัชเชส ‘คามิลลา’ อาจเป็นผู้ต่ออายุราชวงศ์อังกฤษ?
ตอบลบเรื่องฮือฮาในวันครบรอบการครองราชย์ 70 ปีของ ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ แห่งราชวงศ์อังกฤษ คือการที่พระองค์ตรัสในเชิงสนับสนุน ‘คามิลลา’ ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาองค์ที่ 2 ในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ให้เป็น ‘ว่าที่ราชินี’ พระองค์ต่อไป ทำให้สื่อระบุว่าดัชเชสฯ คามิลลาได้พิสูจน์ตัวเองที่เคยถูกตีตราเป็น ‘มือที่สาม’ ในการเสกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายกับเจ้าหญิงไดอานา อดีตพระชายา และอาจกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะต่ออายุให้ราชวงศ์อังกฤษได้ เพราะบทบาทการเป็น ‘หลังบ้าน’ ที่คอยส่งเสริมเจ้าฟ้าชายช่วยให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์ดูดีขึ้น แต่ไม่กี่วันต่อมาก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับสถานะ ‘ว่าที่ราชินี’ โดยมีเหตุผลหลายข้อด้วยกัน
เมื่อราชินีตรัสสนับสนุน ‘ว่าที่ราชินี’ ก็กลายเป็นประเด็นทันที
ที่จริงแล้วการฉลองวาระครบรอบ 70 ปีการครองราชย์ หรือ Platinum Jubilee ของสมเด็จพระราชินีนาถ ‘ควีน’ เอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษ ถูกยกให้เป็นพระราชพิธีสำคัญที่จะสร้างความยินดีให้เหล่ารอยัลลิสต์อังกฤษกันบ้าง หลังจากที่ปี 2021 ควีนทรงสูญเสียเจ้าชายฟิลิปผู้ทรงเป็นพระสวามีไป ทั้งยังอยู่ในช่วงที่ทั่วประเทศเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แถมต้นปีที่ผ่านมาก็มีประเด็นเจ้าชายแอนดรูว์ โอรสพระองค์ที่ 2 ของควีนถูกผู้หญิงคนหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐอเมริกาว่าถูกเจ้าชายล่วงละเมิดทางเพศสมัยที่ยังเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และศาลก็ ‘รับฟ้อง’ ด้วย
แต่พอถึงกำหนดเฉลิมฉลองจริงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2022 ก็มีประเด็นเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่สื่อหลายสำนักในต่างประเทศพร้อมใจกันรายงาน ก็คือกรณีที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัส ‘แสดงความปรารถนาอย่างจริงใจ’ ต่อคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอล พระสุณิสา (สะใภ้) ของพระองค์ โดยหวังว่าคามิลลาจะได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในฐานะ ‘ราชินี’ ในวันที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ รัชทายาทลำดับที่ 1 ขึ้นครองราชย์ในอนาคต
ท่าทีนี้ทำให้สื่อตีความว่านี่คือการแสดงความยอมรับอย่างเป็นทางการของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ต่อคามิลลาซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า ‘ผู้หญิงร้ายกาจ’ (wicked woman) เพราะใครที่เคยดูซีรีส์ The Crown และตามข่าวราชวงศ์ต่างประเทศก็คงรู้กันอยู่แล้วว่าคามิลลาถูกตีตราว่าเป็น ‘มือที่สาม’ ในการเสกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และไดอานา อดีตพระชายา ทำให้ทั้งคู่ประกาศแยกทางกันในปี 1992 ก่อนจะดำเนินเรื่องหย่าขาดอย่างเป็นทางการในปี 1996 และไดอานาก็จากโลกนี้ไปตลอดกาลในปี 1997 เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์
การที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเลือกวันสำคัญของพระองค์ตรัสถึงคามิลลา ทำให้สื่ออังกฤษบางสำนักมองว่านี่คือการแสดงความยอมรับคามิลลาในฐานะ ‘สมาชิกราชวงศ์’ อย่างเปิดเผยที่สุด และบางสื่อมองว่าคามิลลาเป็นผู้ที่จะ ‘ต่ออายุ’ ให้แก่ราชวงศ์อังกฤษได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์มองว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ดัชเชสคามิลลาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถทำหน้าที่ ‘หลังบ้าน’ ได้เป็นอย่างดี เพราะคอยส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของเจ้าฟ้าชายโดยไม่แย่งชิงความสนใจของสาธารณชนมาสู่ตัวเอง ซึ่งการคาดคะเนนี้เป็นการเปรียบเทียบคามิลลากับอดีตพระชายาไดอานาอย่างชัดเจน เพราะถึงแม้ฝ่ายหลังจะถูกยกย่องจากสื่อมวลชนและคนอังกฤษจำนวนมากว่าเป็น ‘เจ้าหญิงของประชาชน’ (People’s Princess) แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ราชวงศ์อังกฤษต้องการ
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากถ้าผู้หญิงคนหนึ่งจะตัดพ้อสามีที่มีความสัมพันธ์นอกสมรส แต่สิ่งที่ไดอานาเปิดเผยสู่สาธารณชนทำให้สื่อแท็บลอยด์พุ่งเป้าไปยังเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อันอื้อฉาวแทนที่จะสนใจการปฏิบัติหน้าที่ด้านการกุศลและพิธีการระดับประเทศต่างๆ ของสมาชิกราชวงศ์ และส่งผลให้ ‘สถาบันอันเก่าแก่’ มีภาพลักษณ์ติดลบ เพราะคนจำนวนมากเห็นใจเจ้าหญิงผู้อาภัพที่ต้องประสบปัญหาชีวิตสมรส แถมฝั่ง ‘ครอบครัวสามี’ ก็ไม่แสดงท่าทีเอื้ออาทรอะไรให้คนได้เห็น เพราะมีธรรมเนียมว่ากิจการในรั้วในวังไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ
...ต่อ...
ตอบลบเมื่อ ‘สะใภ้หลวง’ ลำดับที่ 2 อย่างคามิลลาไม่ทำตัวเป็นจุดสนใจและปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไปอย่างเงียบๆ ทั้งยังสามารถสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชนได้ ก็ทำให้สถานะของคามิลลาในราชวงศ์ ‘มั่นคง’ ขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับ ‘ไฟเขียว’ จากควีน เพราะพิสูจน์ได้แล้วว่าการดำรงอยู่ของดัชเชสแห่งคอร์นวอลช่วยให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ปฏิบัติราชกรณียกิจได้อย่างราบรื่น ไม่ตกเป็นเป้าโจมตีจากสาธารณชนเหมือนสมัยที่ยังครองคู่กับอดีตชายา
แน่นอนว่าพูดอย่างนี้คงฟังดูใจร้ายกับเจ้าหญิงไดอานา แต่ถ้ามองในแง่ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ ก็ต้องบอกว่าการแสดงตัวแบบ ‘โลว์โปรไฟล์’ ของคามิลลา ช่วยให้ราชวงศ์มีเสถียรภาพขึ้นจริง ไม่ตกเป็นเป้าของสื่อแท็บลอยด์รายวัน เพราะยังมีสมาชิกพระองค์อื่นที่เป็นเหมือน ‘สายล่อฟ้า’ ดึงดูดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว
ความยุ่งยากที่ราชวงศ์ต้องเผชิญ ถ้า ‘คามิลลา’ ขึ้นเป็นราชินี
แม้จะมีผู้ประเมินว่าการอวยพรของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ให้ดัชเชสคามิลลาได้รับการยอมรับในฐานะว่าที่ราชินีคือการเตรียมตัว ‘เปลี่ยนผ่านรัชสมัย’ ให้มีความราบรื่นที่สุด แต่ก็ยังไม่อาจรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดแรงต่อต้านในอนาคต เพราะผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดย YouGov เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 มีเพียง 42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นว่าคามิลลาเหมาะจะเป็นว่าที่ราชินี ซึ่งในจำนวนนี้ก็ระบุด้วยว่าถ้าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์เมื่อไร ดัชเชสแห่งคอร์นวอลควรได้รับพระอิสริยยศ ‘เจ้าหญิงพระราชชายา’ หรือ Princess Consort แทนที่จะเป็น ‘สมเด็จพระราชินี’ หรือ Queen Consort ตามพระราชประเพณีดั้งเดิม และ 26 เปอร์เซ็นต์มองว่าคามิลลาไม่ควรได้รับอิสริยยศใด โดยเหตุผลหลักที่ทำให้คนกลุ่มนี้คัดค้านก็เป็นเพราะยังไม่อาจลืมเรื่องมือที่สามในอดีตได้
อีกประเด็นหนึ่งที่คนตั้งคำถามเพิ่มเติม คือ คามิลลาไม่ได้เป็นพระมารดาแท้ๆ ของเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับ 2 ซึ่งมีสิทธิขึ้นครองราชย์ต่อจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ จึงมีผู้คาดการณ์ว่าถ้าในอนาคต เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นเป็นกษัตริย์และสวรรคตไปก่อนคามิลลา เจ้าชายวิลเลียมก็จะไม่สามารถประกาศให้ดัชเชสแห่งคอร์นวอลเป็น ‘ควีนมัม’ หรือพระราชมารดา (สมเด็จพระพันปีหลวง) โดยอัตโนมัติได้ และน่าจะเป็นเรื่องที่สมาชิกราชวงศ์ต้องหารือกันอย่างหนักเพื่อให้เหมาะสมตามขนบธรรมเนียม หรือถ้าจะปรับเปลี่ยนก็ต้องดูท่าทีของประชาชนด้วย
อย่างไรก็ดี คณะที่ปรึกษา (Councillor) ของราชวงศ์ที่จะต้องระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคตก็ลดจำนวนลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะเจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสอีกพระองค์ของควีนเอลิซาเบธฯ เพิ่งถูกปลดจากการเป็นสมาชิกระดับอาวุโส หลังจากถูกกล่าวหาเกี่ยวกับคดีทางเพศในสหรัฐฯ ขณะที่เจ้าชายแฮร์รีก็ประกาศลาออกจากฐานันดรศักดิ์พร้อมชายาชาวอเมริกัน ‘เมแกน มาร์เคิล’ ไปตั้งแต่ปี 2020 จึงพ้นจากสถานะที่จะปฏิบัติพระกรณียกิจหรือมีส่วนร่วมกับพระราชพิธีต่างๆ ไปแล้ว
จากกรณีที่ว่ามา ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษเปลี่ยนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแทนการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ตั้งคำถามว่าประชาชนจะต้องแบกรับภาระยุ่งยากซับซ้อนในครอบครัว ‘ชนชั้นสูง’ ไปเพื่ออะไร แม้แต่การสืบทอดตำแหน่งก็ยังต้องปรึกษาหารือกันยุ่งยาก เพราะปมเรื่องความสัมพันธ์ในอดีตที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน และระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ต้องนำงบประมาณจากภาษีประชาชนไปสนับสนุนการดำรงอยู่ของราชวงศ์
อ้างอิง
BBC Thai.