โรคไหลตาย นอนหลับแล้วไม่ตื่นอีกเลย
โรคไหลตาย หรือชื่อในภาษาอังกฤษ คือ Sudden Unexplained Nocturnal Death syndrome (SUNDS) เป็นลักษณะอาการที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือโครงสร้างของหัวใจมีลักษณะที่ผิดปกติ
4 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการไหลตาย
- ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ซึ่งมีผลต่อการเต้นของหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด
- จากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนจนเกิดการสะสม และเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
- ภาวะขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอนมากกว่าปกติ เมื่อหลับแล้วมักเกิดภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิต
- เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด อย่าง กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของยีนที่สร้างโปรตีนควบคุมการไหลเข้า-ออกของโซเดียมในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ กับอีกภาวะหนึ่ง คือความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจ (Long QT Syndrome)
อาการแสดงที่บ่งชี้ถึงโรคไหลตาย
โรคไหลตาย แม้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบ่งชี้บางอย่างที่เหมือนเป็นการเตือนล่วงหน้า ดังนั้นหากสังเกตพบอาการผิดปกติ อย่างเช่น หมดสติขณะตื่นอยู่ เป็นลม หรือนอนอยู่แล้วหมดสติไป รวมถึงอาการเกร็งตามแขนและขา เวลาหายใจมีเสียงดังหรือเสียงเฮือกเกิดขึ้น มีอาการกระตุก ลมชัก อาการปัสสาวะและอุจจาระราด ใบหน้าและบริเวณริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะเป็นอาการบ่งชี้ของการมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะไหลตายได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคไหลตาย
- ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยมีอาการไหลตาย หรือเคยมีอาการที่แสดงถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะมาตั้งแต่เกิด
- ผู้ที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ชนิดบรูกาดา
แนวทางการปฐมพยาบาลผู้เกิดภาวะไหลตาย
นำผู้ป่วยนอนราบลงกับพื้น พร้อมประเมินผู้ป่วย หากไม่หายใจหรือไม่มีชีพจร ให้ทำ CPR ด้วยการกดบริเวณหน้าอกให้ยุบลงประมาณ 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุดๆ โดยใช้ความถี่ 100 ครั้งต่อนาที และต้องทำไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือผู้ป่วยรู้สึกตัว หัวใจกลับมาเต้น
โรคไหลตาย คือโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ และผู้ที่เป็นโรคนี้มักเสียชีวิตโดยไม่พบอาการผิดปกติทางสุขภาพมาก่อน ดังนั้นหากพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวเคยมีผู้เป็นโรคไหลตาย หรือมีอาการสงสัยบางประการ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป
CR :: https://www.phyathai.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น