Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ

วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ
การบีบน้ำนมด้วยมือนี้แปลและเรียบเรียงมาจาก (Marmet Technique of Manual Expression)ซึ่งเค้าบอกว่าเทคนิคนี้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งขนาดคุณแม่ทั้งหลายที่เคยมีปัญหากับการบีบด้วยมือคือ บีบไม่เป็น บีบแล้วแล้วเจ็บ บีบแล้วน้ำนมไม่ออก ยังประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี คือบีบได้มากขึ้น ไม่เจ็บ และช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้นกว่าเดิมด้วยค่ะ ลองดูกันนะคะ
เริ่มจากมาทำความเข้าใจกับกลไกการผลิตน้ำนมของเต้านมกันก่อนนะคะดูรูปประกอบไปด้วยจะได้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ
น้ำนมจะถูกผลิตโดยเซลส์ผลิตน้ำนม (alveoli หรือจะเรียกว่าต่อมผลิตน้ำนมก็ได้ค่ะ) แล้วไหลผ่านท่อน้ำนมมาเก็บไว้ที่กระเปาะน้ำนม (Milk Resevoir)เมื่อเซลส์ผลิตน้ำนมได้รับการกระตุ้นก็จะส่งผลให้เกิดกลไกน้ำนมพุ่ง (Milk rejection reflex หรือ Let-down reflex) ถ้าใครเคยใช้เครื่องปั๊มนม จะเห็นได้ชัดว่าน้ำนมจะพุ่งปี๊ดออกมาเหมือนสเปรย์เลยค่ะ เวลาที่ลูกดูด เหงือก ลิ้นและการดูดกลืนของลูกก็จะทำหน้าที่กระตุ้นต่อมผลิตน้ำนมนี่ล่ะค่ะดังนั้นถ้าจะบีบน้ำนมออกให้เหมือนลูกดูด เราก็ต้องพยายามเลียนแบบการกระตุ้นของลูกค่ะ
วิธีการบีบน้ำนม
1. ใช้นิ้วหัวแม่มือวางด้านบน นิ้วชี้และนิ้วกลางวางด้านล่างทำมือเป็นรูปตัว C ตามรูป ซ้ายมือจุดที่เราวางนิ้วนั้นให้ห่างจากโคนหัวนม ประมาณ 2.5 -3.1 ซ.ม. (ไม่จำเป็นต้องอยู่นอกลานหัวนมนะคะ เพราะขนาดของลานหัวนมแต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ)
- ตำแหน่งที่วางนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้กับนิ้วกลางนั้นต้องอยู่ตรงข้ามกันนะคะ(ฝรั่งเค้าจะเรียกตามตำแหน่งของเข็มนาฬิกา คือ 12.00 น.และ 6.00 น.)ไม่ใช่เอียงๆแบบรูปขวามือ นะคะ
2. เมื่อวางนิ้วได้ตามตำแหน่งแล้วให้กดนิ้วเข้าหาตัวเองตามรูปA ถ้าหน้าอกใหญ่ก็ทำเหมือนยกหน้าอกขึ้นหน่อยแล้วค่อยกดเข้าหาตัวค่ะระวังอย่าให้นิ้วแยกจากกัน
3. แล้วก็ค่อยๆ กลิ้งนิ้วหัวแม่มือ (เหมือนกำลังพิมพ์นิ้วมือ) ลงมายังโคนหัวนม ระหว่างนั้นก็ผ่อนแรงกดด้านล่างจากนิ้วกลางมายังนิ้วชี้ (ดูตำแหน่งที่ลูกศรชี้ตามรูป B และ C )
-การเคลื่อนไหวของนิ้วทั้งสามจะช่วยรีดน้ำนมออกมาโดยไม่เจ็บคล้ายๆ การดูดของทารก
4. ทำซ้ำเป็นจังหวะ ตามรูปเพื่อรีดน้ำนมออกมาให้หมดกระเปาะ
5. เปลี่ยนตำแหน่งการวางนิ้วมือเพื่อรีดน้ำนมในกระเปาะที่เหลือโดยใช้ตำแหน่งของเข็มนาฬิกาเป็นหลักจากจุดเริ่มต้นที่ 12และ 6เป็น 11 และ 5 (ใช้มือขวา) 2 และ 8, 3 และ 9 (ใช้มือซ้าย)ตามรูปจะแสดงการบีบน้ำนมของหน้าอกข้างขวา
สิ่งทีไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือ บีบ ดึง หรือเค้นหน้าอก เพราะจะทำให้เจ็บ และน้ำนมก็ไม่ออกมาด้วยค่ะ(นี่เป็นข้อผิดพลาดที่ผ่านมาของตัวเองเลยค่ะเมื่อก่อนจะบีบเค้นด้วยความรุนแรงคงจะนึกถึงการคั้นน้ำส้มมากไปหน่อยคิดว่ายิ่งบีบแรงก็น่าจะยิ่งออกมากที่ไหนได้ นอกจากนมไม่ออก แล้วยังเจ็บตัวอีกด้วยค่ะเพราะฉะนั้นเวลาบีบน้ำนมตามขั้นตอนที่ว่ามาก็ทำด้วยความนุ่มนวลนะคะนึกถึงเวลาที่ลูกดูดน่ะค่ะเค้าก็ดูดแผ่วๆนมยังออกเลย)
วิธีช่วยกระตุ้นให้เกิด Milk Ejection Reflex
  1. การนวดเต้านมโดยการใช้นิ้วมือนวดเบาๆ เป็นวงๆ ไปรอบๆ เต้านมเหมือนในรูปD
  2. ลูบหน้าอกจากด้านบนลงมายังหัวนมเบาๆ ตามรูป E
  3. ก้มตัวลงเล็กน้อยแล้วก็เขย่าๆ ค่ะ อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกเข้าช่วย ตามรูป F
ขั้นตอนทั้งหมดควรจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
-บีบน้ำนมแต่ละข้างออก 5-7 นาที (หรือน้ำนมไหลน้อยลง)
-กระตุ้นโดยการนวดลูบและเขย่า
-บีบน้ำนมออกอีกข้างละ 3-5 นาที
-กระตุ้นโดยการนวดลูบและเขย่า
-บีบน้ำนมออกอีกข้างละ 2-3 นาที
***ถ้าปริมาณน้ำนมมีมากพอแล้ว ก็ใช้เวลาดังกล่าวเป็นเพียงไกด์ไลน์ถ้าน้ำนมไหลน้อยลงก็เปลี่ยนข้างได้ค่ะแต่ถ้าน้ำนมยังมีน้อยอยู่ ให้ทำตามเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัดนะคะ***
จบแล้วค่ะปิดท้ายด้วยข้อได้เปรียบของการบีบน้ำนมด้วยมือที่ดีกว่าปั๊มด้วยเครื่องก็แล้วกันนะคะ
-เครื่องปั๊มนมบางอย่างก็ทำให้รู้สึกไม่สบาย และปั๊มไม่ค่อยออก
-การบีบด้วยมือเป็นธรรมชาติมากกว่า
-ความรู้สึกสัมผัสระหว่างมือกับผิวหนังช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดีกว่าฝาครอบพลาสติกสัมผัสกับผิวหนัง
-พกพาสะดวกทำงานได้ทันทีไม่มีการลืมชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เหมือนเครื่อง(คงไม่มีแม่คนไหนลืมเอามือของตัวเองไปหรอกนะคะ)
-ดีที่สุดเลยก็คือ ไม่เสียเงินค่ะ
อยากให้คุณแม่ทุกท่านหัดบีบด้วยมือให้เป็นค่ะถึงแม้ตัวเองจะเป็นคนขี้เมื่อยขี้เกียจและรู้สึกสะดวกกว่ากับการใช้เครื่องปั๊มก็ยังเห็นว่าการบีบด้วยมือนี่เป็นประโยชน์มากๆจากประสบการณ์ก็คือ ในบางสถานการณ์เราก็ไม่สะดวกที่จะใช้เครื่องหรือไม่ได้เตรียมตัวไปอาจจะเผลอช็อปปิ้งนานไปหน่อย รู้สึกคัดขึ้นมาแค่พกถุงเก็บน้ำนมติดกระเป๋าไว้สักใบสองใบตลอดเวลาฉุกเฉินเมื่อไหร่ก็แว่บเข้าห้องน้ำบีบออกมาได้เลยไม่ต้องปล่อยให้ไหลซึม หรือค้างไว้นานๆ(ซึ่งถ้าค้างบ่อยๆ ก็จะทำให้น้ำนมผลิตน้อยลงด้วยค่ะ)
อ้อ...ก่อนจบขอความร่วมมือจากคุณแม่ทุกท่านนิดนึงค่ะอยากให้ช่วยเขียนมาเล่าให้ฟังหน่อยค่ะว่าทำตามแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลยังไง ถ้าได้ผลก็จะได้เอามาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างกับคนอื่นๆถ้าไม่ได้ผลก็จะได้มาดูว่าอธิบายไม่รู้เรื่องหรือเปล่าน้อ
วิธีบีบเก็บน้ำนมด้วยมือ
การบีบน้ำนมจากเต้าด้วยมือ
เป็นวิธีการที่ดี สะดวก และปลอดภัย เป็นการเลียนแบบการดูดนมของลูก ถ้าฝึกทำจนคล่องจะใช้เวลาไม่นาน ถ้าทำอย่างถูกต้อง เต้านมจะไม่เจ็บ และไม่ช้ำ
การบีบเก็บน้ำนม
วางปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ที่ขอบนอกของลานหัวนม ในตำแหน่งที่ตรงกันข้ามกัน ถ้าลานหัวนมใหญ่มากให้วางนิ้วห่างจากหัวนมประมาณ 1 นิ้วฟุต กดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าหาผนังหน้าอก และบีบเข้าหากันเบาๆ ให้เป็นจังหวะลึกลงไปด้านหลังของลานหัวนม (ห้ามรีดหรือคั้นเต้านม) เมื่อน้ำนมที่บีบได้จากตำแหน่งนั้นลดน้อยลง ให้เปลี่ยนตำแหน่งของนิ้วมือที่กดลานหัวนมไปรอบๆให้ทั่ว ซึ่งจะใช้เวลาข้างละประมาณ 5-10 นาที จากนั้นจึงสลับไปอีกเต้า การบีบน้ำนมจะทำสลับกันไปมาทั้ง 2 ข้าง จนกว่าจะรู้สึกว่าเต้านมนิ่มลง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที

1.เตรียมภาชนะใส่น้ำนม ควรเป็นขวดปากกว้างหรือถ้วยที่ทำจากแก้วหรือพลาสติกแข็งซึ่งผ่านการล้างและต้มในน้ำเดือด นานประมาณ10 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค หรือถุงเก็บน้ำนม ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวจะเกาะภาชนะ ทำให้ภูมิต้านทานในน้ำนมลดลง
2.เวลาจะบีบน้ำนมเก็บ ให้ทำจิตใจให้สบายเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย อาจนึกถึงลูก นำรูปของลูกขึ้นมาดู หรือเปิดเทปฟังเสียงของลูก เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมหลั่งออกได้ดีขึ้น
3.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
4.ถ้าทำได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัดๆ ประคบเต้านมก่อนประมาณ 1-3 นาที
5.นวดเต้านมและคลึงเต้านมเบาๆ ในลักษณะเป็นวงกลมจากฐานเต้านม เข้าหาหัวนม และดึงหัวนมและคลึงเบาๆ เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม (ดูได้จากวิดีโอชุดที่ 1)
6.วางปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ห่างจากขอบนอกของลานนมเล็กน้อย ในตำแหน่งที่ตรงกันข้ามกัน โดยวางนิ้วห่างจากหัวนมประมาณ 3-4 ซม. กดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าหาผนังหน้าอก



7. บีบเข้าหากันเบาๆ ลึกลงไปด้านหลังของลานหัวนมให้เป็นจังหวะ ห้ามรีดคั้นเต้านม กดหรือดึงหัวนม การบีบจะเลียนแบบลักษณะการดูดนมของลูก
8.เปลี่ยนตำแหน่งของนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ที่กดลานหัวนมไปรอบๆให้ทั่ว จนกว่าน้ำนมจะน้อยลง ซึ่งใช้เวลาข้างละประมาณ 5-10นาที




จากนั้นจึงสลับไปนวดคลึงและบีบน้ำนมออกจากเต้าอีกข้าง การบีบน้ำนมจะทำสลับกันไปมาทั้ง 2 ข้าง จนกว่าจะรู้สึกว่าเต้านมนิ่มลง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที
ข้อพึงระวัง คือ ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างนุ่มนวล ถูกวิธี จึงจะไม่เจ็บและมีน้ำนมออกมาก เพราะปริมาณของน้ำนมเป็นผลโดยตรงจากการบีบกระตุ้นเต้านม ซึ่งต้องทำอย่างน้อยทุก 3 ชั่วโมง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

4 ความคิดเห็น:

  1. คำแนะนำการบีบ เก็บ ถนอม น้ำนมแม่



    คุณแม่หลังคลอดยุคใหม่ อาจไม่มีเวลาเลี้ยงดู ให้นมลูกด้วยตัวเองได้ตลอด? 24 ชั่วโมง?? การบีบน้ำนมเก็บสต๊อกไว้ให้ลูก เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ค่ะ

    ขั้นตอนการบีบน้ำนมจากเต้า
    1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ก่อนการบีบและเก็บน้ำนมทุกครั้ง
    2. นั่งในสิ่งแวดล้อมที่สงบ นั่งให้สบาย ผ่อนคลายจิตใจ ทำใจให้เป็นสุข จะช่วยให้น้ำนมหลั่งได้มาก
    3. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านม ประมาณ 3-5 นาที ก่อนบีบ
    4. กระตุ้นหัวนม โดยการใช้นิ้วมือดึง หรือคลึงหัวนม
    5. วางหัวแม่มือไว้ที่ขอบลานหัวนม และนิ้วมืออีก 4 นิ้วใต้เต้านมที่ขอบลานหัวนม
    6. กดนิ้วเข้ากระดูกทรวงอก แล้วบีบนิ้วหัวแม่มือและนิ้วทั้ง 4 เข้าหากัน โดยเคลื่อนนิ้วหัวแม่มือมาทางด้านหน้าเล็กน้อย แต่ไม่ให้เลยขอบลานหัวนม
    7. บีบเป็นจังหวะ ย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วมือไปรอบๆ เต้านม เพื่อบีบน้ำนมออกให้หมดทุกแห่ง ทิ้งนมใน 2 ครั้งแรกที่บีบออกมาก่อน
    8. บีบน้ำนมลงในขวดนมที่ต้มแล้ว หรือถุงพลาสติคที่สะอาด
    9. บีบน้ำนมสลับข้างทุกๆ 5 นาที หรือเมื่อน้ำนมไหลช้า
    10. เมื่อบีบเต้านมเสร็จ ให้บีบน้ำนมทาหัวนม ประมาณ 2-3 หยด แล้วปล่อยให้แห้ง

    หมายเหตุ: ข้อ 3 – 5 ไม่จำเป็นต้องปฎิบัติ หากไม่มีปัญหาเต้านมคัด

    การเก็บถนอมน้ำนมแม่
    1. เมื่อเก็บน้ำนมเสร็จ ควรปิดภาชนะให้มิดชิด แช่เย็นในตู้เย็นทันที เขียนวันที่ เวลา ที่ข้างขวด หรือถุง
    2. นมที่ไม่ใช้ภายใน 2 วัน ควรเก็บในช่องแช่แข็ง ไม่ควรเก็บที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิไม่คงที่
    3. การส่งนมจากบ้านมาโรงพยาบาลต้องเก็บในกระติกน้ำแข็ง

    ระยะเวลาการเก็บรักษาน้ำนมแม่
    วิธีการเก็บ ระยะเวลาที่เก็บได้
    เก็บที่อุณหภูมิห้อง (>25 องศาเซลเซียส) 1 ชั่วโมง
    เก็บที่อุณหภูมิห้อง (<25 องศาเซลเซียส) 4 ชั่วโมง
    เก็บในกระติกน้ำแข็ง 1 วัน
    เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา 2-3 วัน
    เก็บที่ตู้เย็นแช่แข็ง (แบบประตูเดียว) 2 สัปดาห์
    เก็บที่ตู้เย็นแช่แข็ง (แบบประตูแยก) 3 เดือน

    เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น
    1. เมื่อเริ่มต้นบีบน้ำนม 1-2 นาที ขอให้คุณแม่ใจเย็นและบีบเป็นจังหวะช้าๆ
    2. การบีบที่หัวนม ทำให้เจ็บและน้ำนมไม่ไหล เพราะเป็นการบีบท่อให้ตีบ น้ำนมไหลไม่ดี
    3. ฝึกหัดทำสักระยะ จะค่อยๆ เก่งขึ้นเรื่อยๆ

    การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้
    1. นมแม่ที่เก็บในช่องธรรมดา ให้นำมาวางไว้นอกตู้เย็น หรือแช่ในน้ำอุ่น เพื่อให้หายเย็น ห้ามอุ่นในน้ำร้อนจัด หรือเข้าไมโครเวฟ เพราะภูมิต้านทานในนมแม่จะสูญเสียไป
    2. นำนมเก่าในช่องแช่แข็งมาใช้ก่อน โดยนำมาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา 1 คืน ให้ละลายตัว 3. นมแช่แข็งที่ละลายแล้ว ไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งอีก
    4. นมที่ละลายแล้ว วางที่อุณหภูมิห้องนานเกิน 1 ชั่วโมง ให้ทิ้งไป ไม่เก็บไว้กินต่อ

    น้ำนมมารดา เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับทารกที่สุด มีสารอาหารครบถ้วน ประหยัด สะอาด ปลอดภัย ไม่มีการแพ้ และมีประโยชน์ในการช่วยต้านทานโรคต่างๆ

    ขอขอบคุณ
    Thaiparents.com


    .

    ตอบลบ
  2. เทคนิคบีบน้ำนมแม่ ให้ได้คุณภาพ



    สำหรับคุณแม่ ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ แต่แม่ก็ยังสามารถให้นมแม่แก่ลูกได้ด้วยการบีบน้ำนมแม่เก็บตุนไว้ให้ลูกค่ะ ซึ่งการบีบน้ำนมแม่นี้ก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อยค่ะ

    เทคนิคสำคัญ ที่ต้องจำใส่ใจและปฏิบัติทุกครั้งก็คือ เรื่องความสะอาด คุณแม่ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนบีบน้ำนม นะคะ และเตรียมภาชนะสำหรับเก็บน้ำนม เช่น แก้ว หรือขวดนม ซึ่งจะต้องล้างให้สะอาดแล้วนำไปต้มหรือนึ่งก่อนนำมาใช้

    จากนั้นเลือกหามุมสบายๆ บรรยากาศสงบเป็นส่วนตัวสำหรับนั่งบีบน้ำนม อย่างเช่น ‘มุมนมแม่’ ระหว่างที่บีบน้ำ นมให้นึกถึงลูกด้วย จะได้ช่วยกระตุ้นสารแห่งความรักในน้ำนมแม่ให้หลั่งออกมาอย่างเต็มที่ด้วยค่ะ

    วิธีการบีบน้ำนม ให้วางหัวแม่มือไว้ที่ขอบลานหัวนมด้านบน และนิ้วมืออีก 4 นิ้วไว้ใต้เต้านมที่ขอบลานหัวนม กดนิ้วดันเข้าหาตัว แล้วบีบนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วทั้งสี่เข้าหากัน คลายออกแล้วบีบเป็นจังหวะ และย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วไปรอบๆ เต้านมเพื่อบีบน้ำนมให้ออก จากกระเปาะน้ำนมทุกอัน

    ส่วนของการเก็บรักษาน้ำนมแม่ที่บีบออกมาแล้ว ซึ่งอาจจะเก็บไว้ในขวด หรือถุงนมแม่ก็ได้นะคะ แต่ต้องปิดให้สนิทมิดชิด พร้อมทั้งเขียนวันที่และเวลาที่เก็บไว้ด้วย และควรเก็บน้ำนมในปริมาณที่ลูกกินหมดพอดีในแต่ละมื้อ ถ้าคิดว่าจะใช้น้ำนมนั้นหมดภายใน 2 วัน ก็ให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาส่วนที่เย็นที่สุด ประมาณ 4 องศาเซลเซียส แต่ไม่ควรเก็บไว้ที่ประตูตู้เย็น ถ้าน้ำนมที่บีบไว้มีมาก ให้เก็บสำรองไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ซึ่งจะเก็บได้นาน 2-3 เดือน

    สำหรับการนำน้ำนมแม่ที่บีบเก็บไว้ออกมาใช้ ถ้าน้ำนมนั้นแช่แข็งให้นำออกมาวางในตู้เย็นช่องธรรมดาก่อน เมื่อละลายแล้วก็สามารถให้ลูกกินได้เลย แต่ถ้าต้องการให้น้ำนมอุ่นขึ้นก็อาจจะแช่ในน้ำร้อนที่ไม่ร้อนจัด เพื่อให้นมอุ่นขึ้นก็ได้ค่ะ

    น้ำนมแม่แช่แข็งที่ละลายแล้ว และน้ำนมแม่ที่ลูกกินไม่หมด ไม่ต้องเก็บไปแช่ใหม่นะคะ ให้ทิ้งไปเลยค่ะ ไม่ต้องเสียดาย และถ้าคุณแม่ท่านใดที่ไม่อยากให้ลูกติดขวดนม ให้ใช้ถ้วยเล็กๆ ป้อนก็ได้ค่ะ โดยประคองให้ลูกอยู่ในท่านั่งตัวตรง หรือครึ่งนั่งครึ่งนอนบนตักของผู้ป้อน ถ้าลูกดิ้นมากอาจต้องห่อตัวลูกให้แน่นหนาเพื่อป้องกันลูกปัดถูกแก้วจนนมหก ใส่ น้ำนม แม่ในถ้วยที่จะป้อนประมาณครึ่งถ้วย วางปากถ้วยบนริมฝีปากล่างของลูก เอียงแก้วให้น้ำนมสัมผัสริมฝีปากลูก ลูกจะจิบน้ำนมแม่เข้าปากเอง

    ที่ต้องระวังคือ ต้องให้ลูกได้พักเป็นระยะ และอย่าเทน้ำนมเข้าปากลูกเพราะลูกอาจสำลักได้ค่ะ นอกจากนี้สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ การให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าทุกครั้งที่สามารถทำได้ เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้ น้ำนม แม่ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา

    โดยก่อนไปทำงานให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าก่อนสำหรับมื้อเช้า เมื่ออยู่ที่ทำงานก็ให้แม่บีบ น้ำนม เก็บไว้ แต่ถ้าบ้านหรือสถานเลี้ยงเด็ก ที่ฝากลูกไว้อยู่ใกล้ที่ทำงาน ก็ควรจะไปให้ลูกดูดนมแม่จากเต้า ในมื้อเที่ยงด้วย

    ในช่วงเย็น ตอนกลางคืน และช่วงวันหยุดก็ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าตามปกติ เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้คงอยู่ สิ่งสำคัญคือ คุณแม่อย่าเบื่อ อย่าเหนื่อย อย่าท้อที่จะให้นม แม่แก่ลูกนะคะ

    เพียงเท่านี้ ลูกก็จะเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงด้วย ‘นมแม่’ อย่างเต็มที่แล้วค่ะ





    ที่มา : Mother&Care Vol.2 No.24 December 2006












    .

    ตอบลบ
  3. วิธีเก็บรักษานมแม่










    * เมื่อต้องการนำนมที่แช่แข็งมาใช้ ให้ละลายน้ำนมแม่ที่แช่แข็งด้วยการนำมาใส่ในตู้เย็นปกติก่อนล่วงหน้า 1 คืน ( 12 ชม.) ถ้าลูกชอบแบบเย็นให้เขย่าไขมันที่แยกชั้นให้เท่ากัน แต่ถ้าลูกไม่ชอบให้นำนมมาอุ่นก่อน ห้ามใช้น้ำร้อนจัดหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำลายเซลล์มีชีวิตที่อยู่ในน้ำนมแม่




    * ไม่ควรปล่อยน้ำนมแช่แข็งละลายเองในอุณหภูมิของห้อง ถ้าลืมและต้องการให้ละลายเร็วให้แช่ในน้ำธรรมดาให้เป็นอุณหภูมิปกติ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นแช่น้ำอุ่น


    * นมที่เก็บในถุงเก็บนมแม่ จะละลายเร็วกว่านมที่เก็บในภาชนะอื่น


    * น้ำที่ละลายแล้วสามารถนำเก็บในตู้เย็นได้ 24 ชม. นมที่เหลือจากการป้อนนมในขวด หรือถ้วยสามารถเก็บในตู้เย็นต่อไปได้ถึงมื้อต่อไปเท่านั้น




    * ไม่ควรนำน้ำนมแช่แข็งที่ละลายแล้วกลับไปแช่ใหม่


    * สามารถผสมน้ำนมแม่ที่บีบหรือปั้ม ใส่รวมกับน้ำนมแม่ที่แช่เย็นไว้ก่อน แล้วภายใน 24 ชม. หลังจากการเก็บครั้งแรก


    * ถ้าต้องการใช้นมภายใน 8 วัน หลังจากการปั้ม ไม่ต้องแช่แข็งในช่องแช่ปกติ ถ้าต้องการแช่แข็งให้แช่ภายใน 24-48 ชม. หลังจากปั้มออกมา (ยิ่งแช่เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น)


    * น้ำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว อาจมีกลิ่นหืนแต่ไม่เสีย (นอกจากมีกลิ่นรุนแรงมากหรือมีรสเปรี้ยวจึงจัดว่าเสีย)





    หมายเหตุ


    คำแนะนำในการเก็บรักษานมแม่ข้างต้น เป็นคำแนะนำทั่วๆไป ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้ สิ่งใดก็ตามที่แตกต่างไปจากคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิของแต่ละครอบครัว ถ้ากังวลมากก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าคิดว่าน่าจะใช้ได้ ทดลองทำดู อาจจะใช้ได้หรือไม่ได้ เรียนรู้ไว้เป็นประสบการณ์







    ขอบคุณข้อมูล ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย









    .

    ตอบลบ
  4. เมื่อแม่ไปทำงาน ลูกกินนมแม่ได้




    เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วงระยะเวลาที่ลาพักหลังคลอด



    ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวให้บ่อยครั้งที่สุดในช่วงระยะที่ลาพักหลังคลอด ซึ่งจะทำให้ทารกได้รับน้ำนมที่มีคุณค่า และทำให้แม่สร้างน้ำนมที่มีปริมาณมากพอ โดยเฉพาะช่วง3เดือนแรก
    อย่าพะวงว่าต้องกลับไปทำงานเมื่อหมดวันลาจนถึงกับต้องให้นมผสมเพื่อให้เด็กมีความคุ้นเคยกับการดูดนมขวด ซึ่งจริงๆแล้วแม่อาจใช้เวลาเพียง 1-2วันก่อนเริ่มไปทำงาน เพื่อฝึกให้ลูกดื่มนมจากแก้ว และสอนผู้ที่จะเลี้ยงลูกให้ป้อนนมแม่จากแก้วได้ เมื่อแม่ไปทำงาน


    ระยะเวลาพักหลังคลอด

    แม่ที่เป็นข้าราชการมีสิทธิหยุดงานหลังคลอดได้โดยได้รับเงินเดือนเต็ม 90 วัน และยังมีสิทธิลาต่อโดยไม่รับเงินเดือนอีก 150 วัน รวมแล้วแม่มีสิทธิลาเพื่อให้สิ่งที่ดีกับลูกถึง 240 วันหรือ 8 เดือน
    แม่ที่ทำงานเป็นลูกจ้างนั้น ตามกฏหมายแรงงานมีสิทธิหยุดงานลาคลอดโดยได้รับเงินเดือนเต็ม 3 เดือนโดยได้รับเงินจากนายจ้าง 45 วัน และจากสำนักงานประกันสังคม 45 วัน

    การเตรียมตัวเพื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คู่ไปกับการทำงานนอกบ้าน

    เรียนรู้เรื่อง การบีบน้ำน การเก็บน้ำนม และการป้อนน้ำนมด้วยแก้ว คลิกดูรายละเอียด
    การให้นมตอนแม่อยู่บ้าน ตอนเช้าให้ลูกดูดนม 2 มื้อ คือ
    - เมื่อแม่ตื่นนอน
    - ก่อนแม่ไปทำงาน
    ตอนเย็นและกลางคืน ให้ลูกดูดนมแม่ทุกครั้ง
    ที่ทำงานกลางวัน ให้ผู้ดูแลป้อนนมแม่ที่บีบไว้ด้วยถ้วย 2 - 3 มื้อ
    ส่วนแม่ขณะที่ทำงาน ทุกครั้งที่รู้สึกว่าเต้านมตึงคัด ให้แม่บีบนมแม่ไว้ให้ลูก เพื่อป้องกันนมแม่ไหลย้อย เปรอะเปื้อนเส้ือผ้า และเป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างนมแม่มากข้ึน อาจจะบีบนมแม่ตอนที่แม่ใกล้พักเที่ยงหรือบีบทุก 3 ชั่วโมง เช่นเวลา 11.00 น. และ 14.00 น. เป็นต้น
    เลือกสถานที่ที่ปลอดภัย และมิดชิดและเป็นมุมสงบ
    เก็บนมใส่ภาชนะ เช่น ขวดแก้วที่มีฝามิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ขณะเดินทางกลับบ้านใส่กระติกน้ำแข็งเพื่อเตรียมไว้ให้ลูกดื่มวันรุ่งขึ้น เมื่อแม่ไปทำงาน โดยแช่ไว้ในตู้เย็น ถ้าไม่มีตู้เย็นเก็บใส่ในกระติกน้ำแข็งจะเก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
    แม่กลับจากทำงานตอนเย็น และตอนกลางคืน ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าตามปกติ
    ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แม่ควรกะเวลาตื่นเพื่อให้ลูกดูดนม 1-2 มื้อ ก่อนไปทำงาน หลังจากลูกดูดอิ่มแล้ว แม่สามารถบีบนมส่วนที่เหลือ เก็บไว้ให้ลูกกินเมื่อแม่ไปทำงานได้

    วิธีการนำนมที่บีบแช่ไว้ในตู้เย็นมาให้ลูกกิน

    เอานมที่แช่ไว้ออกมาตั้งทิ้งไว้ให้ละลายและใช้ได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น หรือถ้าต้องการอุ่น ให้วางขวดนมในหม้อหรืออ่างน้ำร้อนแทน ไม่นำไปเดือดในเตาร้อนหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำให้เสียคุณค่าภูมิต้านทานที่อยู่ในนมแม่
    น้ำนมที่นำมาอุ่นแล้ว และกินไม่หมดให้ทิ้งไปไม่นำกลับมาแช่เย็นหรือไปใช้กินในมือต่อไป
    ควรกะปริมาณนมที่นำมาอุ่นหรือละลายให้พอเหมาะในแต่ละมื้อ โดยกะปริมาณดังนี้
    ปกติเด็กจะกินนม 150 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน
    ถ้าเด็กหนัก 6 กก. กินนมทุก 2 -3 ชั่วโมง เท่ากับกินวันละ 10 มื้อ
    ปริมาณน้ำนมทั้งหมด 150x6 = 900 ซีซี
    กินนม 10 มื้อ มื้อละ 90 ซีซี
    ฉะนั้นควรอุ่นนมป้อนให้เด็ก ประมาณ 90-100 ซีซี ในแต่ละมื้อเพื่อไม่เหลือนมทิ้งถ้าเด็กดื่มไม่หมด

    วิธีป้องกันไม่ให้น้ำนมลดลง

    ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ดูดอย่างถูกวิธี หรือบีบน้ำนมออกทุก 3 - 4 ชั่วโมง อย่าปล่อยให้น้ำนมค้างไว้ในเต้าเกิน 3 ชั่วโมง







    แหล่งข้อมูล : "เมื่อแม่ไปทำงาน ลูกกินนมแม่ได้"โดย กลุ่มอนามัยแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กุมภาพันธ์ 2547





    .

    ตอบลบ