ไขข้อข้องใจ วิธีคลอดของแม่และสุขภาพลูกหลังคลอด
ไขข้อข้องใจวิธีคลอดของแม่และสุขภาพลูกหลังคลอด (Mother&Care)
การตัดสินใจเลือกวิธีคลอดว่าจะคลอดเองหรือผ่าคลอด ในบางครั้งคุณแม่มักเลือกจากความสะดวกเป็นหลัก ทำให้อัตราการผ่าคลอดในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ทราบไหมคะว่า วิธีการคลอดก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพของลูกจนถึงหลังคลอดได้ด้วย
รศ. พญ. พรรณทิพา ฉัตรชาตรี หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะช่วยไขข้อข้องใจการดูแลสุขภาพของแม่และความแตกต่างด้านสุขภาพของเด็กที่คลอดตามธรรมชาติและผ่าตัดคลอดค่ะ
คลอดเอง..แม่ฟื้นตัวเร็ว ลูกมีภูมิคุ้มกัน
วิธีการเบ่งคลอดตามธรรมชาติจะทำให้คุณแม่ไม่มีแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง ลดความเสี่ยงจากการดมยาผ่าตัด และฟื้นตัวจากการคลอดได้เร็วกว่าการผ่าตัดคลอด ที่สำคัญคือในขณะที่เด็กคลอดผ่านทางช่องคลอดจะได้สัมผัสจุลินทรีย์บิฟิดัส ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จากแม่ที่ลูกจะได้รับระหว่างการคลอดและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางระบบทางเดินอาหารและลำไส้แข็งแรงกว่า
นอกจากนี้ เด็กที่คลอดตามธรรมชาติ หน้าที่ของปอดจะทำงานได้ดีกว่า เพราะเมื่อเด็กเคลื่อนตัวผ่านบริเวณช่องคลอดของแม่ จะบีบรัดทรวงอกเด็กเป็นการกำจัดน้ำคร่ำที่คั่งในปอด ทำให้ปอดแห้ง ไม่แฉะ จึงช่วยลดภาวะของการหายใจผิดปกติหลังคลอดได้ด้วย
ผ่าคลอด..ลูกเสี่ยงอาการแพ้
การผ่าตัดคลอดเป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยให้ลูก เนื่องจากในห้องคลอดมีการฆ่าเชื้อให้ปราศจากการติดเชื้อ การผ่าคลิดทางหน้าท้องจึงทำให้เด็กจึงไม่ได้รับจุลินทรีย์บิฟิดัสจากแม่ในระหว่างคลอดและจากสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลเลย และการผ่าคลอดยังทำให้เด็กอาจมีปัญหาการหายใจ หรือมีน้ำคร่ำคั่งในปอดได้
นอกจากนี้ ทารกจะได้รับเชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะ (ที่ได้ในช่วงก่อนและขณะคลอด) จากห้องคลอดแทน การผ่าคลอดจึงส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตที่ล่าช้าของจุลินทรีย์ที่ดีในทางเดินอาหาร จึงเกิดการติดเชื้อหรือภูมิแพ้หลังคลอดได้ เช่น อาการหอบหืด แพ้อากาศ หายใจติดขัด ภูมิแพ้ หรือติดเชื้อในทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบหรือไส้เน่า ซึ่งจะส่งผลไปจนถึงอย่างน้อยเด็กอายุ 1 ขวบ
ความจำเป็นที่ต้องผ่าคลอด
โดยปกติแล้ว สูติแพทย์และกุมารแพทย์จะสนับสนุนและพยายามให้เด็กคลอดทางช่องคลอดมากที่สุด แต่จะมีบางกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด เช่น ในแง่ข้อบ่งชี้ของเด็กเอง ตัวใหญ่มากคลอดออกทางช่องคลอดไม่ได้ เกิดภาวะแทรกซ้อนในครรภ์ที่ทำให้เด็กต้องคลอดก่อนกำหนด ถ้าทิ้งไว้นานจะมีผลเสียต่อเด็ก อย่างภาวะรกเสื่อม เด็กขาดออกซิเจนเฉียบพลันในท้อง จึงจำเป็นต้องรีบผ่าคลอดเด็กออก จะรอให้แม่เจ็บครรภ์แล้วคลอดก็ไม่ได้ (ภาวะเฉียบพลันที่จำเป็นต้องให้ทารกคลอด โดยที่มารดายังไม่เจ็บครรภ์) หรือการผ่าตัดคลอดในกรณีที่แม่เบ่งคลอดเองไม่ได้ เพราะปากมดลูกยังไม่เปิด เด็กจะไม่สามารถคลอดออกมาทางช่องคลอดได้ ก็ต้องผ่าออกทางหน้าท้อง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อย่างครรภ์เป็นพิษหรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ของแม่
แม่ผ่าคลอด..โดยไม่มีเหตุจำเป็น
การคลอดโดยไม่มีเหตุจำเป็น คือ การเลือกผ่าคลอดตามฤกษ์ยาม ซึ่งเป็นการผ่าคลอดเด็กออกมาเร็วเกินไปทำให้อยู่ในครรภ์ไม่ครบกำหนด จะทำให้เด็กมีปัญหาในด้านการหายใจมากกว่าเด็กที่ครบกำหนด เนื่องจากปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ คลอดมาแล้วจึงมีภาวะหายใจผิดปกติได้บ่อย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นหากไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการตั้งครรภ์ว่ามีความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนมากจนทำให้ต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ควรเลือกคลอดโดยวิธีธรรมชาติจะเหมาะสมที่สุด เพราะธรรมชาติจะรู้ว่าเวลาใดที่เหมาะสมจะคลอด ไม่ต้องเร่งคลอดเกินไป เด็กก็จะพร้อมออกมาและมีปัญหาสุขภาพน้อยเช่นกัน
จุลินทรีย์สุขภาพ (บิฟิดัส)..แม่และลูกได้จากอะไรบ้าง
ในขณะที่แม่ตั้งครรภ์ อาจได้รับจุลินทรีย์บิฟิดัสจากอาหารต่าง ๆ บ้าง ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอยู่ทั่วไป ไม่ได้อยู่ในอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งจำเพาะ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่โดยทั่วไปและในลำไส้ เหมือนเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งอาหารที่แม่กินเข้าไปก็จะมีเชื้อนี้ปะปนอยู่แล้ว โดยไม่ต้องตั้งใจกินอาหารเสริมใดเป็นพิเศษ
ส่วนในเด็กที่เพิ่งคลอดจะไม่มีจุลินทรีย์บิฟิดัสนี้อยู่ในร่างกายเลย เพราะเด็กอยู่ในถุงน้ำคร่ำของแม่จึงปลอดเชื้อและไม่มีจุลินทรีย์ในลำไส้เลย โอกาสที่เด็กจะได้รับจุลินทรีย์บิฟิดัสจึงเริ่มจากการผ่านช่องคลอดของแม่ออกมาในระหว่างการคลอดตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สัมผัส แล้วเชื้อเหล่านั้นจะมาเจริญเติบโตในตัวเด็กต่อไป
เสริมจุลินทรีย์สุขภาพให้ลูก..ด้วยนมแม่
การเสริมจุลินทรีย์สุขภาพบิฟิดัสให้กับลูกเมื่อคลอดออกมาแล้ว สามารถทำได้โดยให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งเด็กที่ได้กินนมแม่จะมีอาการท้องเสียหรือภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กิน เนื่องจากจุลินทรีย์นี้มีอยู่ในนมแม่โดยธรรมชาติ เพียงแค่คุณแม่ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดก็จะทำให้ลูกได้รับจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย
สำหรับเด็กที่ผ่าคลอดหรือคลอดก่อนกำหนดแต่ได้กินนมแม่ ก็จะได้รับจุลินทรีย์นี้จากนมแม่ที่จะช่วยเสริมให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี ลดอาการเจ็บป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ยิ่งกินนมแม่ได้นานก็จะยิ่งได้รับเข้าไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เด็กยิ่งมีภูมิต้านทาน และจุลินทรีย์บิฟิดัสในนมแม่จะเข้าไปอาศัยในลำไส้เด็กเป็นด่านป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์หรือเชื้อโรคร้ายเข้าไป
นมวัวและอาหารเสริม..เสี่ยงลูกเป็นภูมิแพ้
นอกจากการผ่าตัดคลอดแล้ว การให้ลูกกินนมวัวหรืออาหารเสริมเร็วก่อนวัยอันควรนั้น เด็กจะมีความเสี่ยงต่อการแพ้นมวัวและเกิดการแพ้อาหารได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นควรให้เริ่มกินในอายุที่เหมาะสม อย่างน้อยให้กินนมแม่ 6 เดือน หรือเมื่อถึงวัยเริ่มอาหารเสริมแล้ว ก็ให้กินนมแม่ควบคู่ไปด้วยก็ได้ เพราะจุลินทรีย์สุขภาพที่อยู่ในน้ำนมแม่ คุณภาพไม่ได้ลดลงไปตามระยะเวลาที่ให้นมลูก ยิ่งให้กินนมแม่นานเท่าไร ภูมิคุ้มกันของลูกจะยิ่งดีขึ้น และคุณแม่ก็มีน้ำนมให้ลูกกินเรื่อย ๆ ด้วย
ฝากคุณแม่..ดูแลตัวเอง
เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และลูก ตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด คุณแม่ควรใส่ใจ 3 อ. คืออาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ดังนี้
อาหาร : ควรกินให้ครบทั้ง 5 หมู่อย่างสมดุล ไม่เน้นกินอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ และการกินอาหารชนิดใดเพิ่มมากกว่าปกติจะทำให้เสียสมดุลได้
ออกกำลังกาย : ต้องมีการออกกำลังกายบ้าง ตามความเหมาะสม การเดินบ่อย ๆ จะทำให้คลอดง่าย และออกซิเจนไปเลี้ยงมดลูกได้ดี ทำให้เด็กแข็งแรง
อารมณ์ และการใช้ชีวิต : คุณแม่อารมณ์ดีจะส่งผลถึงฮอร์โมนและสารต่าง ๆ ในร่างกาย ที่จะช่วยในการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ลูกอารมณ์ดีด้วย เพราะหากแม่กินอาหารที่ดีแต่อารมณ์ไม่ดี ก็จะทำให้ลูกคลอดออกมาสุขภาพแข็งแรงแต่ขี้หงุดหงิด งอแงได้ ซึ่งเด็กสามารถรับการถ่ายทอดความรู้สึกจากแม่ได้
สิ่งที่คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมาและยาต่าง ๆ ที่ไม่ควรซื้อมากินเอง เพราะจะทำให้เด็กผิดปกติหรือพิการ และจะมีผลเสียกับคุณภาพน้ำนมของคุณแม่ที่จะให้ลูก รวมถึงไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ทารกเป็นหอบหืดและภูมิแพ้มากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น