ศีรษะ ใบหน้า ... หน้าต่างเรียนรู้ได้เวลาพัฒนา (modernmom)
โดย: รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ
หมอเคยเล่าถึงอวัยวะพื้นฐานชุดแรก ๆ ที่ลูกสร้างขึ้นเพื่อการมีชีวิตคือ หัวใจและสมอง แต่การพัฒนาของสมองต้องอาศัยอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าในการป้อนข้อมูลเข้าสู่สมอง เพื่อเรียนรู้ จดจำ และพัฒนาต่อยอดออกไป คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส หรือที่เรียกว่ารับรู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจนั่นเองค่ะ
ถ้าจะเปรียบให้สมองเป็นเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์ควบคุมการมีชีวิตพื้นฐานทั้งพฤติกรรม ความคิด อารมณ์ของมนุษย์ก็จะเปรียบอวัยวะส่วนใบหน้าเป็น...
หน้าจอคอมพิวเตอร์ =อวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้า
คีย์บอร์ด = อวัยวะรับรู้ทั้งหลายที่ทำหน้าที่คอยป้อนข้อมูลบนหน้าจอเข้าสู่สมอง
แล้วการพัฒนาของอวัยวะที่เกี่ยวกับใบหน้าและสมองจะสามารถต่อยอดไปถึงจินตนาการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ได้ เช่น ตา ทำให้มีจิตรกรรมเอกของโลกอย่างดาวินชี หูทำให้มีนักดนตรีเอกของโลกอย่างเบโธเฟ่น จมูกและลิ้นทำให้มีพ่อครัวเอก ส่วนใจเป็นจินตนาการต่อยอดที่น่าทึ่งที่สุดแบบไร้ขอบเขตค่ะ
เมื่อสำคัญเช่นนี้ จึงน่าสนใจค่ะว่า ส่วนของศีรษะและอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าถูกพัฒนามาอย่างไรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และหากบกพร่องและเสียหายย่อมทำไปลดทอนการเรียนรู้ของมนุษย์เราอย่างแน่นอนนะคะ
ศีรษะ
เป็นอวัยวะที่บรรจุสมองไว้ในกะโหลกที่แข็งแรง และจะเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์
9 สัปดาห์ ศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าลำตัวที่ขดงอเหมือนกุ้งในช่วงแรก ๆ และจะเริ่มเห็นคอในช่วงนี้ค่ะ
14 สัปดาห์ เห็นส่วนต่อของหัวแยกจากลำตัวเพราะคอยืดเห็นชัดเจน
23 สัปดาห์ อวัยวะแต่ละส่วนมีสัดส่วนการเติบโตเท่า ๆ กัน
30 สัปดาห์ อวัยวะจะเริ่มสมส่วนกันระหว่างศีรษะและลำตัว ตอนนี้จะเท่ากับช่วงแรกคลอดค่ะ
ใบหน้า
จะเริ่มเห็นวงดำ 2 วง อยู่คนละข้างของส่วนศีรษะ เป็นส่วนของตา รวมทั้งปาก ขากรรไกรล่างและลำคอ ซึ่งจะบ่งบอกว่าเป็นเค้าหน้าตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ซึ่งแต่ละอวัยวะบนใบหน้าจะมีพัฒนาการดังนี้ค่ะ
ตา
อายุ 6-10 สัปดาห์ ตาเป็นอวัยวะที่จะพัฒนาก่อนและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จะเริ่มมีผิวหนังมาเริ่มคลุมบริเวณตา และจะเริ่มแยกออกเป็นเปลือกตาบนล่าง
อายุ 13 สัปดาห์ ตาจะเริ่มเลื่อนจากตำแหน่งด้านข้างของศีรษะเข้ามาชิดกันมากขึ้นซึ่งทำให้หน้าตาเหมือนมนุษย์มากขึ้นค่ะ
อายุ 16- 22 สัปดาห์ ลูกจะเริ่มมีเปลือกตา คิ้ว และขนตาชัดเจนขึ้น ส่วนจอตาจะเริ่มไวต่อแสงเมื่ออายุ 19 สัปดาห์ ตอนนี้เมื่อมีแสงเข้ามาลูกจะเบือนหน้าหนีแสงได้
อายุ 28 สัปดาห์ เริ่มเปิดเปลือกตาได้เต็มที่ แล้วยังเป็นช่วงที่แยกแสงสว่างจ้าของแสงอาทิตย์และแสงจากดวงไฟได้
อายุ 32-36 สัปดาห์ เมื่อขนตาเจริญเต็มที่ลูกจะกะพริบตาได้แล้วค่ะ
หู
อายุ 8 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นรอยพับของผิวหนังที่สองข้างของศีรษะ ที่จะเป็นตำแหน่งที่จะเจริญต่อไปเป็นหู
อายุ 12 สัปดาห์ เริ่มเห็นใบหูแล้วค่ะ
อายุ 14 สัปดาห์ ใบหูจะเริ่มเคลื่อนเข้ามาอยู่ในตำแหน่งข้าง ๆ ใบหน้า และจะเริ่มเห็นคางชัดเจนขึ้นด้วย
อายุ 20 สัปดาห์ ระบบหูชั้นกลางและชั้นในจะพัฒนาสมบูรณ์ ลูกจะยกมือมาปิดใกล้หูได้ ถ้ามีเสียงดังมาก ๆ อยู่ใกล้ ลูกจะดิ้นแรงและตอบโต้เสียงดังได้เช่นกันค่ะ
อายุ 22 สัปดาห์ ช่วงนี้ล่ะค่ะที่สำคัญเพราะลูกจะจำเสียงร้องเพลงและเสียงพูดคุยของคุณแม่ได้
อายุ 26 สัปดาห์ ลูกสามารถดิ้นตามจังหวะเพลงได้
อายุ 31 สัปดาห์ สามารถแยกเสียงที่คุ้นเคย เช่น เสียงคุณพ่อ คุณแม่ และเสียงดนตรีที่แตกต่างกันได้
ลิ้น - จมูก
อายุ 18 สัปดาห์ เริ่มรับรู้รสที่ต่างกัน คือหวานและขมได้ และโครงสร้างของจมูกก็จะถูกพัฒนาไปพร้อมกับตาทั้งสองข้างที่เคลื่อนเข้ามาใกล้กันมากขึ้นจนอยู่ในตำแหน่งปกติ แต่ลูกจะยังไม่ได้กลิ่นจนกระทั่งคลอดนะคะ
ฟัน
อายุ 12-16 สัปดาห์ เริ่มมีหน่อฟันและจะเริ่มเห็นฟันชัดขึ้นค่ะ
อายุ 21 สัปดาห์ เริ่มมีหน่อของชุดฟันแท้ขึ้นแล้วค่ะ
ผม
อายุ 16-20 สัปดาห์ เริ่มมีผมอ่อนที่เรียกว่า lanugo และจะเห็นผมอ่อนชัดเจนขึ้น
อายุ 23 สัปดาห์ มีสีผมตามกรรมพันธุ์
อายุ 30-34 สัปดาห์ ผมจะเริ่มหนาขึ้นทีละนิด
อายุ 38 สัปดาห์ มีผมคลุมเต็มศีรษะแล้วค่ะ
กล้ามเนื้อหน้า
อายุ 16 สัปดาห์ ลูกจะสามารถใช้กล้ามเนื้อหน้า คือ ดูดปาก ขมวดคิ้ว แสดงสีหน้า
อายุ 18 สัปดาห์ เริ่มกลืนและสะอึกได้
อายุ 27 สัปดาห์ เริ่มดูดนิ้วได้เก่งขึ้นแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นกิจกรรมการผ่อนคลายของลูก แล้วยังเป็นการช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแก้ม และขากรรไกร ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนและสร้างความชำนาญในการดูดนมเมื่อหลังคลอดค่ะ แล้วที่สงสัยว่าลูกร้องไห้ได้หรือยัง จริง ๆ ลูกสามารถร้องไห้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่แล้วนะคะ
ที่สำคัญคือจะมีการประสานการทำงานของอวัยวะรับรู้ต่าง ๆ ต่อสิ่งเร้าภายนอกและภายในครรภ์เอง เช่น แสง เสียง รสอาหาร ความหิว และอารมณ์คุณแม่ ทำให้ลูกตอบสนองได้ในจังหวะเดียวกัน เช่น หันหน้า กลับตัว เพื่อหนีแสงจ้าจากภายนอก พร้อมกับกำหมัด เตะ กระโดด ไปในคราวเดียวกันเมื่อตอน 40 สัปดาห์ค่ะ และช่วงนี้ขนอ่อนจะผลัดหลุดออกเกือบหมด เหลือให้เห็นแค่บริเวณหัวไหล่ รอยพับของผิวหนัง และหลังหูเท่านั้นค่ะ
ทั้งนี้คุณแม่จึงควรมีการเตรียมตัวและดูแลตนเอง ทั้งก่อนและช่วงตั้งครรภ์นะคะ จะได้หลีกเลี่ยงหรือสามารถป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อการพัฒนาอวัยวะรับรู้ของลูกได้ และสามารถสื่อสารกับลูกในยามตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสมและพอเพียงจากความรู้ความเข้าใจที่หมอเล่าให้คุณแม่ฟังในตอนนี้นะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น