เคล็ดลับการไล่ลมลูกวัยทารกในท่าต่างๆ
การไล่ลมขณะลูกกินนมหรือหลังกินนมเสร็จเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกวัยทารก ขณะลูกกินนม คุณแม่อย่าลืมให้ลูกหยุดกินนมสักครู่ เพื่อไล่ลมให้ลูก เพื่อป้องกันลูกท้องอืดจากการมีลมเข้าไปและการแหวะนม ซึ่งทำได้ดังนี้
- อุ้มลูกพาดบ่า คุณแม่อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาตัว วางศีรษะลูกบนบ่าหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง ใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูก ส่วนมืออีกข้างประคองก้นลูกไว้ ท่านี้ ไหล่ของคุณแม่จะช่วยนวดลิ้นปี่ของลูกไปโดยปริยายอย่างเบาๆ ทำให้ลูกเรอได้
• ท่าอุ้มลูกนั่งบนตัก คุณแม่ใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงคางของลูก จากนั้นก็โน้มตัวลูกมาข้างหน้าเล็กน้อย หลังตรง อุ้งมือคุณแม่จะอยู่บริเวณลิ้นปี่ลูก ให้ทิ้งน้ำหนักตัวลูกมากดทับที่มือคุณแม่ เป็นการช่วยคลึงท้องลูกเพื่อช่วยไล่ลมออก ส่วนมืออีกข้างก็ลูบหลังลูกเบาๆ
• อุ้มลูกวางพาดบนขา คุณแม่อุ้มลูกให้นอนคว่ำโดยช่วงหน้าอก (ลิ้นปี่) ของลูกอยู่บนหน้าขา (คุณแม่นั่งบนเก้าอี้ชันเข่า) ใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงไหล่ลูก และใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังลูกเบาๆ หน้าขาคุณแม่จะช่วยนวดเบาๆ ที่ท้องลูก เพื่อช่วยไล่ลมได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ขณะที่ไล่ลมให้ลูก คุณแม่ต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ไว้ด้วย คือ
• เตรียมผ้าอ้อมสะอาดไว้ใกล้มือ เวลาที่ลูกแหวะนมออกมาจะได้หยิบใช้สะดวก
• ทุกครั้งที่อุ้มลูก ต้องใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้เสมอ เพราะกล้ามเนื้อต้นคอของลูกยังไม่แข็งแรงพอนั่นเอง
ไล่ลมกินนมท้องอืดแหวะนม
การไล่ลมให้ทารก
ตอบลบวิธีการและเหตุผลที่ต้องไล่ลมให้ทารก
เหตุผล
• อากาศอาจเข้าไปจุกอยู่ในท้องลูกขณะดูดนม ซึ่งอาจทำให้ลูกอึดอัดไม่สบายตัวและดูดนมได้ไม่มากเท่าที่ควร หากลูกได้รับนมแม่ไม่เพียงพออาจทำให้นอนไม่หลับ และหากให้นมทั้งที่ยังจุกเสียดก็อาจทำให้ลูกปวดท้องได้
• เด็กบางคนอาจไม่เคยมีปัญหาเรื่องลมในท้อง แต่บางคนอาจแน่นท้องทุกครั้งหลังดูดนม
ควรทำเมื่อใด
• โดยมากมักต้องไล่ลมในช่วงครึ่งทางของการให้นม และทำอีกครั้งหลังให้นมเสร็จ
• การไล่ลมก่อนให้นมอาจช่วยบรรเทาอาการได้หากเด็กมีอาการแน่นท้องมากหรือแหวะนมออกมามากหลังให้นม
• อากาศอาจไหลย้อนลงไปในท้องระหว่างที่ร้องไห้และทำให้เด็กแน่นท้องได้
ทำได้อย่างไร
สามารถทำได้ 2 ท่า ได้แก่
• ท่าพาดไหล่
• ท่านั่งตัก โดยใช้มือข้างหนึ่งประคองหลังและอีกข้างคอยรองใต้คาง
จัดลูกให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม
ค่อยๆ ลูบหลังจนกว่าลูกจะเรอออกมา ให้ทำอย่างใจเย็นเพราะอาจต้องใช้เวลาบ้าง
ลองให้นมลูกอีกครั้ง
เมื่อเรอลมออกมาแล้วเด็กจะท้องว่างและอาจต้องการนมเพิ่ม
*** ลูกอาจสำรอกนมออกมาระหว่างไล่ลม ควรเตรียมผ้ารองป้องกันเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าและคอยซับสิ่งสกปรก ***
.
ปัญหาที่พบบ่อยในวัยทารก
ตอบลบเด็กวัยทารกขาดความสามารถในการสื่อสารภาษาและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากบิดา มารดาหรือผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ทารกได้อย่างทันท่วงทีพบบ่อยในทารกและบิดา มารดาสามารถช่วยเหลือได้อย่างวิธีง่ายและไม่ยุ่งยากได้แก่
1. ผื่นผ้าอ้อม เนื่องจากผิวทารกมีความเป็นด่างสูงหว่าปกติจึงง่ายต่อการระคายเคืองจากสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความเปียกชื้นเนื่องจากการไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมหลังขับถ่าย ทั่งนี้เป็นเพราะในน้ำปัสสาวะและอุจจาระประกอบด้วยสารแอมโมเนียทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวทารก ซึ่งลักษณะของผื่นจะเป็นตุ่มแดงเล็กๆ หรือเป็นปื้นแดง
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดผื่นผ้าอ้อม คือ การรักษาความสะอาด เช็ดล้าง ทำความสะอาด บริเวณที่เกิดผื่นได้ง่าย หลังจากทารกขับถ่ายทุกครั้ง
2. ผื่นบริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็กๆ หรือบางครั้งเป็นตุ่มขาว พบมากบริเวณแก้มและจะมีลักษณะแดงจัดขึ้นหลังจากการเช็ดล้างบริเวณใบหน้าทารก ถ้าหากไม่มีการอักเสบ บวม หรือมีหนองบริเวณตุ่มผื่นก็จะไม่จำเป็นต้องรักษาเป็นพิเศษ เพียงแต่ดูแลความสะอาดทั่วไป มักจะเป็นๆ หายๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
3. ผด จะพบมากบริเวณซอกคอ หน้าผาก และข้อพับต่างๆของทารกเกิดขึ้นเมื่ออากาศร้อน การขับเหงื่อออกทางผิวหนังของทารก ยังทำงานได้ไม่ดีทำให้เกิดการอุดตัน
วิธีการดูแล ต้องทำให้ทารกอยู่ในบริเวณที่อากาศไม่ร้อนเกินไปหรือจัดให้มีการระบายอากาศที่ดีในบางครั้งอากาศร้อนควรจะสวมเสื้อผ้าที่บางๆ
4. น้ำตาไหลและมีขี้ตา โดยปกติทารกเริ่มจะมีน้ำตาเมื่ออายุได้ประมาณ 1 เดือน ในช่วงสัปดาห์แรกหลังเกิดอาจจะพบทารกที่มีน้ำตาไหลและมีขี้ตาได้ เนื่องจากการอุดตันของท่อน้ำตา มักเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง
วิธีการดูแล ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุก เช็ดทำความสะอาดได้
5. สะอึก พบได้บ่อยในทารกส่วนมากมักจะเกิดหลังการให้นมในเดือนแรกๆ เชื่อกันว่าเกิดจากสาเหตุกล้ามเนื้อกระบังลมซึ่งช่วยในการหายใจของทารกในระยะหดตัวไม่สัมพันธ์กับจังหวะการหายใจเข้าออก เนื่องจากถูกกระตุ้นโดยกระเพาะอาหารที่ขยายตัวขึ้นเมื่อดูดนมเข้าไป
การป้องกันไม่ให้สะอึก ทำได้โดยหลังดูดนมแล้วต้องจับทารกเรอไล่ลมออกทุกครั้ง
6. แหวะนมหรือสำรอก อาการแหวะนมพบได้บ่อย เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณกระเพาะอาหารต่อกับหลอดอาหารยังไม่สามารถทำงานได้ดี เมือถูกกระตุ้น เช่น เปลี่ยนท่าเร็วเกินไป เขย่าตัวทารกหรือพลิกตัวทารกไปมา หรืออากาศที่เข้าไปในกระเพาะอาหารขณะดูดนมดันตัวขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดอาการแหวะนมได้ อาการสำรอกก็เกิดจากสาเหตุคล้ายคลึงกัน
วิธีการช่วยเหลือ
1.ป้อนนมในปริมาณที่เหมาะสม
2.หลังจากป้อนนมแล้วไม่ควรเปลี่ยนท่าของทารกไปมา ไม่ควรกระตุ้นบริเวณท้องของทารกและไม่ควรปล่อยให้ทารกร้องไห้มากเกินไปหลังให้นม
3.จับทารกเรอไล่ลมออกจากกระเพาะอาหารทุกครั้งหลังการให้นม
4.จัดให้ทารกนอนหลังการให้นมในท่านอนตะแคงขวา เพื่อส่งเสริมให้น้ำนมไหลตามโค้งของกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้ได้ดียิ่งขึ้น หรือนอนคว่ำตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง
7. การร้องไห้มากผิดปกติ อาการร้องไห้มากผิดปกติพบในช่วง 3 เดือนแรก (ร้อง 3 เดือน) อาการที่พบได้บ่อยคือ ทารกจะมีอาการปวดท้อง ท้องจะแข็งตึงจากอากาศในกระเพาะอาหารมีอาการเกร็งแขนขา ส่วนมากเกิดขึ้นในเวลาเย็น บางครั้งจะร้องได้ตั้งแต่เวลาหัวค่ำไปจนถึงดึก ในทารกบางคนอาจร้องไห้ไม่มีสาเหตุ หรือไม่มีอาการแสดงของอาการปวดท้องเลยก็ได้
การช่วยเหลือ
1.จับทารกเรอทุกครั้งหลังการดูดนม
2.ขณะที่ทารกร้องไห้มารดาอุ้มปลอบ
3.หลีกเลี่ยงการให้ทารกอยู่ในอากาศที่อึกทึกครึกโครม
4.ทามหาหิงค์ เพื่อช่วยให้ทารกเรอหรือผายลมออกให้สะดวกยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าปัญหาที่พบบ่อยในวัยทารกสามารถแก้ไขได้ ดังนั้นการที่บิดามารดาและผู้ดูแลมีความรู้ก็จะช่วยให้ดูแลทารก และหาทางช่วยเหลือทารกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
.
เรอ..ไล่ลม..ชิ้ว..ชิ้ว !
ตอบลบถ้าเจ้าตัวเล็กงอแงบ่อย หลับไม่ค่อยสนิท เดี๋ยวตื่น เดี๋ยวตื่น ลองสำรวจดูสิว่า เป็นเพราะคุณไม่ได้จับลูกเรอทุกครั้ง หลังมื้อนมหรือเปล่า ?
ใครที่คิดว่าการเรอเอิ้ก ๆ ของลูกไม่สำคัญ ทำบ้างไม่ทำบ้างก็ได้ คุณคิดผิดนะคะ โดยเฉพาะในวัยแรกเกิด-3 เดือน เพราะเวลาที่เจ้าตัวเล็กกินนม ไม่ว่าจะนมแม่หรือนมขวด ลูกไม่ได้กินนมอย่างเดียวค่ะ แต่กินลมเข้าไปด้วย กระเพาะลูกก็เล็กนี้ดเดียว แถมระบบการย่อยก็ยังทำงานไม่ดี พอมีอากาศเข้าไปในท้อง เลยไปสร้างความปั่นป่วนให้เจ้าตัวเล็ก ทำให้...
สำรอก (คือการแหวะนมที่กินเข้าไปออกมานิดหน่อย ไมใช่อาเจียนนะคะ)
ร้องกวนคุณแม่บ่อย ๆ
นอนหลับไม่สนิท โดยปกติเด็กเล็กมักจะมีช่วงที่หลับยาว ๆ ถึง 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้ามีลมในท้องลูกจะตื่นเร็วขึ้นค่ะ
ไล่ลม..ชิ้ว..ชิ้ว
วิธีไล่ลมก็คือการทำให้เจ้าตัวเล็กเรอ...เอิ้ก ออกมานั่นเอง ซึ่งพอลูกกินนมเสร็จก็ลงมือได้เลยค่ะ อาจใช้เวลาครั้งละ 5-10 นาที ส่วนมากไม่เกิน 5 นาที โดยมีท่าสบายๆ สำหรับไล่ลมอยู่ 2 ท่า
1. อุ้มลูกพาดบ่า มือข้างหนึ่งของคุณแม่ค่อยๆ ลูบขึ้นลูบลงที่หลังลูก ทำซ้ำๆ จนได้ยินเสียงดังเอิ้ก แสดงว่าลมไปแล้ว
2. อุ้มลูกนั่งบนตัก มือข้างหนึ่งของคุณแม่ประคองคอลูกไว้ ส่วนมืออีกข้างก็ลูบหลังลูก พอมีเสียงเรอปุ๊บ ลมก็หายปั๊บค่ะ
เรอบ้าง..ไม่เรอบ้าง..ไม่ดีนะ
อย่าเห็นว่าลูกตื่นกลางดึก กินนมไปแป๊บเดียว หรือลูกกินเสร็จก็หลับไปแล้ว กลัวจะตื่น ก็เลยไม่จับลูกเรอก่อนให้นอน อย่างนี้ไม่ดีค่ะ
คุณควรให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม แต่อาจปรับได้บ้างตามสไตล์ของเด็กค่ะ คือเด็กบางคนเลี้ยงง่าย ตื่นมากินนมตอนกลางคืนก็กินไม่เยอะ แล้วก็นอนหลับได้ทีละยาว ๆ การไม่ได้เรอบ้างก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่ถ้าเป็นเด็กเลี้ยงยาก กินยาก นอนยาก แถมตื่นง่าย งอแงเก่งอีกต่างหาก แบบนี้ควรจับเรอทุกมื้อนมนะคะ เพราะการตื่นง่าย ร้องงอแง และหลับยากนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะมีลมในท้อง ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวนั่นเอง
อ้อ...แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าหลังกินนมลูกหลับไปแล้ว มาจับเรอเดี๋ยวลูกจะตื่นนะคะ เด็ก ๆ สามารถเรอออกมาได้ทั้ง ๆ ที่หลับอยู่ค่ะ
ป้องกันลมเข้า
ไม่มีวิธีที่ป้องกันเจ้าตัวเล็กกินลมได้ 100% หรอกค่ะ แต่พอจะทำได้บ้างด้วยการ..
1. ให้ลูกกินนมแม่ค่ะ การกินนมแม่จะช่วยลดการเอาลมเข้าปากได้มากกว่ากินนมจากขวด
2. เดี๋ยวนี้มีขวดนมแบบที่สามารถกันลมเข้าได้ โดยจะเป็นขวดที่มีลักษณะโค้ง เมื่อลูกยกขวด น้ำนมในขวดจะไหลออกมากันอากาศเข้าค่ะ
3. เวลาป้อนนมจากขวด เอาลูกเข้าอกเหมือนกับเวลาให้นมแม่นะคะ เพราะท่านี้ นอกจากน้ำนมจะเต็มขวดอยู่เสมอทำให้ลดการดูดอากาศของลูกได้แล้ว ยังให้ความรู้สึกอบอุ่น สานสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกด้วย และอย่าปล่อยให้ลูกนอนแล้วยกขวดป้อนนมลูก เพราะท่านี้มีโอกาสที่ลูกจะดูดอากาศเข้าไปได้มากเลยค่ะ
ไล่ลม..เลิกได้เมื่อไหร่?
คำตอบก็คือไม่ตายตัวค่ะ บางคนอาจจะยาวไปถึง 6-7 เดือน แต่ส่วนใหญ่ พอลูกเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องมาไล่ลมให้ลูกทุกมื้อนมแล้วล่ะค่ะ แต่ขอย้ำนะคะว่า ช่วง 0-3 เดือน คุณแม่ต้องไล่ลมให้ลูกหลังมื้อนมเสมอ
เพียงเท่านี้ไม่ว่าจะลม นม หรือเรอ ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทำให้เจ้าตัวเล็กไม่งอแง หลับสบาย และมีสุขภาพดีแล้วล่ะค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :: รักลูก
.