การฆ่าเชื้อและทำความสะอาดขวดนมของลูก
ในช่วงขวบปีแรกนั้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายของลูกน้อยยังมีไม่มาก หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในขวดนมของลูกน้อย ก็อาจทำให้มีไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตต่างๆในขวดนมที่เมื่อลูกน้อยกินนมจากขวดนมดังกล่าวเข้าไปก็อาจทำให้ลูกน้อยเจ็บป่วยไม่สบาย และอาจรุนแรงถึงขั้นอาเจียนหรือท้องร่วงได้
สำหรับการล้างขวดนมด้วยเครื่องล้างจานนั้นก็สามารถทำได้ค่ะ แต่ควรแยกจุกนมมาล้างต่างหากเพื่อให้แน่ใจว่าจุกนมจะสะอาดจริงๆ และควรตรวจสอบขวดนมหลังการล้างทุกครั้งด้วยว่ามีรอยร้าวหรือรอยแตกหรือไม่ หากพบว่ามีก็ควรจะทิ้งไปเลยนะคะ ไม่ควรนำมาใช้ต่อค่ะ เพราะแบคทีเรียสามารถฝังตัวในรอยร้าวเหล่านั้น ซึ่งการฆ่าเชื้ออาจกำจัดได้ไม่หมดค่ะ
สำหรับการฆ่าเชื้อนั้นสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกันค่ะ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณพ่อคุณแม่แต่ละคน สำหรับวิธีที่ได้รับความนิยมได้แก่
• การฆ่าเชื้อด้วยที่นึ่งขวดนมไฟฟ้า: นับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันเนื่องจาก ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เพราะใช้เวลาทั้งหมดเพียง 8-12 นาทีเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับเครื่องแต่ละยี่ห้อ) นอกจากนี้ยังสามารถเก็บขวดที่ทำการฆ่าเชื้อแล้วให้อยู่ในสภาพปลอดเชื้อได้นานถึง 6 ชั่วโมง โดยที่นึ่งขวดนมไฟฟ้าส่วนมากจะนึ่งขวดนมได้มากที่สุดประมาณ 4-6 ขวดต่อการนึ่ง 1 ครั้ง
หรือบางคนอาจซื้อที่นึ่งสำหรับไมโครเวฟมาใช้ก็ได้นะคะ ซึ่งจะใช้เวลา 3-8 นาที (รวมเวลาในการรอให้เย็นแล้ว)ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของไมโครเวฟแต่ละเครื่องค่ะ ควรระวังเวลาเปิดฝาที่นึ่งนะคะ เพราะภายในนั้นจะร้อนมาก หากนึ่งเสร็จแล้วไม่เปิดฝา ก็จะสามารถช่วยให้ขวดนมที่อยู่ในนั้นปลอดเชื้อต่อไปได้นานถึง 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
• การฆ่าเชื้อด้วยเครื่องล้างจาน: ต้องตั้งอุณหภูมิของเครื่องล้างจานไว้ที่ 80 องศาเซียลเซสหรือมากกว่า โดยหลังจากฆ่าเชื้อเสร็จควรนำไปใช้ชงนมทันทีเพราะเมื่อออกจากเครื่องล้างจานแล้ว แบคทีเรียสามารถก่อตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว ไม่เหมาะกับการฆ่าเชื้อขวดนมที่ไม่ต้องการใช้งานในทันที
• การต้ม: เป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุดในการฆ่าเชื้อโรค นำอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องการฆ่าเชื้อใส่ลงในหม้อที่มีน้ำอยู่ โดยต้องดูให้แน่ใจว่าน้ำท่วมอุปกรณ์ทุกชิ้น ไม่มีฟองอากาศในขวดนมหรือในจุกนม จากนั้นปิดฝาและต้มเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ปิดฝาและเก็บอุปกรณ์ต่างๆไว้อย่างนั้นจนถึงเวลาที่ต้องการนำมาใช้ แต่วิธีนี้อาจทำให้จุกนมยางเสื่อมสภาพได้ง่าย
• การนึ่ง: นำอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องการฆ่าเชื้อใส่ลงในลังถึงที่มีน้ำอยู่ชั้นล่าง จากนั้นปิดฝาและต้มเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที
เมื่อฆ่าเชื้อขวดนมเสร็จแล้ว ควรเก็บไว้ในภาชนะฆ่าเชื้อนั้นก่อนนะคะ เพราะจะช่วยให้ขวดนมปลอดเชื้อได้นานยิ่งขึ้น เมื่อต้องการนำมาใช้ให้ทำความสะอาดพื้นที่วางขวดนมให้เรียบร้อยเสียก่อน ล้างมือแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นจึงนำขวดออกมาวางไว้บนพื้นที่ที่เตรียมไว้ ใช้คีมที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้วช่วยในการคีบจุกนมและแหวนยาง เก็บในภาชนะที่สะอาดและปิดมิดชิดจนถึงเวลาที่ต้องการนำมาใช้ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ขวดนมของลูกปลอดเชื้อได้แล้วค่ะ
ล้างขวดนม อย่างไร...ให้หายห่วง
ล้างขวดนม อย่างไร...ให้หายห่วง (M&C แม่และเด็ก)
การล้างขวดนม จัดว่า เป็นปัญหาระดับชาติย่อม ๆ สำหรับหลาย ๆ บ้าน ถ้าล้างไม่สะอาด ลูกน้อยก็อาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายง่าย ๆ ทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย แต่แน่นอนที่สุด การล้างเฉพาะน้ำ และน้ำยาล้างขวดนมไม่เพียงพออย่างแน่นอน ขั้นตอนสุดท้าแล้ว พ่อแม่ควรนำไปฆ่าเชื้ออีกครั้งหนึ่งก่อนนำไปใช้ค่ะ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ตาม
ก่อนการฆ่าเชื้อ
ก่อนการฆ่าเชื้อทุกครั้ง เราควรใส่ใจในขั้นตอนการล้าง เริ่มตั้งแต่การถอดชิ้นส่วนของขวดนมเพื่อไปล้างด้วยน้ำเปล่าก่อน (คุณแม่อาจสวมวิญญาณเป็นบาร์เทนเดอร์ เกิร์ล โชว์ลีลาเขย่าน้ำกับขวดนมเข้าจังหวะไปด้วย ก็ได้อารมณ์อีกแบบ) เมื่อล้างชิ้นส่วนทั้งหมดแล้ว ก็นำมาล้างด้วยน้ำยาล้างขวดนมผสมกับน้ำอุ่น ขัดถูๆ ทั้งด้านในขวด และคอขวด เกลียวให้คราบนมหลุดออกให้หมด ไม่ให้เหลือจนจับเป็นคราบเหลืองได้ โดยเฉพาะจุกนมยางควรใช้แปรงขนาดพอเหมาะขัดคราบ พร้อมทั้งบีบน้ำให้ผ่านให้จุกนมยางด้วยค่ะ
สู่กระบวนการฆ่าเชื้อ
กระบวนการฆ่าเชื้อก็มีหลายวิธี ที่เราสามารถเลือกปฏิบัติตามความสะดวก แล้วแต่ความถนัด
การต้ม หากจะให้ขวดนมมีรสชาติดียิ่งขึ้น ลองต้มด้วยเตาถ่ายดูสิคะ อิ อิ ไม่ใช่ทำกับข้าว เข้าเรื่องนะคะ ก็นำชิ้นส่วนทั้งหมดที่ล้างมาใส่ลงไปในหม้อ เสร็จแล้วก็เติมน้ำสะอาดจนท่วมทุกชิ้นส่วน ต้มนาน 20-25 นาที แล้วค่อยเก็บชิ้นส่วนทั้งหมดขึ้นจากหม้อต้ม แม้เป็นภูมิปัญญาบ้านๆ และช่วยเซฟเงินได้ดี แต่การฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ก็อาจทำให้จุกนมเสื่อมสภาพเร็วมากๆ
หม้อนึ่งไฟฟ้า ไฮโซเริดหรู ดูมีชาติตระกูลก็ต้องวิธีนี้แหล่ะค่ะ หากตั้งใจเปิดโรงงานผลิตลูกหลายหน่อแล้ว การลงทุนครั้งเดียวก็คุ้มสุด ๆ แน่นอนเพียงแค่วางชิ้นส่วนต่าง ๆ ของขวดนมลงในหม้อนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เติมน้ำสะอาดลงไปประมาณ 2 ออนซ์ แล้วเสียบปลั๊กไฟนึ่งไว้ประมาณ 10 นาที (ปริมาณน้ำและระยะเวลาในการนึ่ง ก็อาจแตกต่างกันไป ตามยี่ห้อของหม้อนึ่ง) เพียงแค่นี้คุณแม่ก็มีเวลาชิว ๆ ดูซีรี่ส์ เกาหลีต่อไปอย่างสบายใจเฉิบแล้วค่ะ
น้ำยาฆ่าเชื้อ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือเม็ดทำความสะอาดขวดนม ก็ให้เติมน้ำสะอาดลงในภาชนะที่จะใช้ใส่ขวดนมให้ให้ท่วมทุกชิ้นส่วน จากนั้นก็ให้เติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือเม็ดทำความสะอาดขวดนมลงไป คลุกเคล้าให้ละลายเข้ากัน ก่อนใส่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ลงไป แล้วใช้มือกดทุกชิ้นส่วนให้จมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะขวดนมควรไล่อากาศออกให้หมดเสียก่อนค่ะ จากนั้นปิดภาชนะไว้ประมาณ 30 นาที หรือตามคำแนะนำการใช้ยา ก็เป็นอันเรียบร้อย
ขวดนมไม่ใช่เรื่องลวก ๆ
ลูกน้อยวัยแรกเกิด-6 เดือน ภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อในลำไส้ไม่ค่อยแข็งแรงนัก นอกจากนมแม่แล้วไม่ควรให้หม่ำอาหารอย่างอื่น โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดต้องระมัดระวังมาก ๆ ควรใช้กาต้มขวดนม มากกว่าอาศัยความง่ายเข้าว่า ด้วยการลวก เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยเป็นโรคลำไส้อักเสบบ่อย ๆ ได้ค่ะ
การทำความสะอาดขวดนมนั้น สำคัญมาก การล้างด้วยน้ำป่าวอาจจะไม่สะอาดพอ ควรล้างด้วยการต้มน้ำร้อนเป็นวิธีพื้นฐานที่ง่ายที่สุด แต่อย่าให้นานจนเกินไปนะคะ ทั้งจุกนมยาง และขวดนมควรจะล้างแยกกันค่ะ แล้วควรจะแตกให้แห้งเก็บไว้ในที่อากศแห้งๆ เพื่อป้องกันควรชื้น อาจทำให้มีเชื้อราหรือแบททีเรียได้คะ
ตอบลบแต่ทุกวันนี้มีเครื่องนึ่งขวดนมไฟฟ้าที่ทำให้สะดวกเวลาในการล้างค่ะ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก