วัคซีนพื้นฐาน
1 วัคซีนป้องกันวัณโรค
2 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี
3 วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนและบาดทะยัก
4 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ
5 วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี
6 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
วัคซีนป้องกันวัณโรค
เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.จุรีย์ เจริญธีรบูรณ์
วัณโรคและความสำคัญ
วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะเป็นสาเหตุการตายที่พบสูงกว่าโรคติดเชื้อชนิดอื่น เชื้อก่อโรคคือ Mycobacterium tuberculosisซึ่งเป็นเชื้อที่มีปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะมาก จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะพร้อมกันหลายชนิดและใช้ระยะเวลานานในการรักษา ปัจจุบันวัณโรคมีแนวโน้มในการระบาดที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลกเนื่องจากการระบาดของโรคเอดส์ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อ ทำให้ไม่สามารถกำจัดโรคนี้ออกไปได้หมด
การติดเชื้อวัณโรคโดยการได้รับเชื้อผ่านทางน้ำลายและการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อ เข้าสู่ปอดและแบ่งตัวที่เซลล์มาโครฟาจ จากนั้นจะแพร่ไปตามท่อน้ำเหลืองและเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เชื้อส่วนใหญ่ถูกทำลายได้โดยระบบภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ของร่างกาย มีบางส่วนที่หลบซ่อนพ้นจากระบบภูมิคุ้มกันจะไปแฝงตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งกระตุ้นร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และทดสอบได้ที่ผิวหนังด้วย Tuberculin skin test (TST) ระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อจนให้ผลบวกต่อการทดสอบทูเบอร์คิวลินประมาณ 2-12 สัปดาห์
อาการและการวินิจฉัย
อาการที่พบคือ ไอเรื้อรังแบบแห้งติดต่อกันนานกว่า 1 เดือน น้ำหนักลด มีเหงื่อออกตอนกลางคืน หนาวสั่น และปวดหน้าอก อาจพบอาการแทรกซ้อนในช่องปอด ได้แก่ การรั่วของปอด (bronchopleural fistula) ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีหนองและอากาศ (pyopneumothorax) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) เป็นต้น การวินิจฉัยทำได้โดยการฉายรังสีปอด ร่วมกับผลการตรวจหาเชื้อวัณโรคในเสมหะหรือการทดสอบวัณโรคด้วย TST ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อครั้งแรกจะไม่พัฒนาเป็นโรคเพราะร่างกายแข็งแรงดี แต่จะให้ผลบวกจากการทดสอบวัณโรค มีเพียง 5-15% ของคนเหล่านั้นที่พัฒนาไปเป็น latent tuberculin infection ซึ่งมักพบภายใน 2 ปีจากการติดเชื้อครั้งแรก สำหรับเด็กและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised host) มีอัตราเกิดโรคสูงขึ้น
การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงจากการได้รับเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วย การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และการใช้วัคซีนป้องกันวัณโรค
วัคซีนป้องกันวัณโรคที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนเชื้อเป็น B acille Calmette-Guerin ( BCG) หรือ Mycobacterium tuberculosis var bovis ซึ่งแยกได้ครั้งแรกจากวัว และนำเพาะเลี้ยงหลายครั้งซึ่งทำให้เชื้อนี้ลดความรุนแรงในการก่อโรคจนกลายเป็นเชื้อเชื่อง (attenuation) และสถาบัน Pasteur ได้นำมาใช้เป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคหรือเรียกว่า วัคซีนบีซีจี เมื่อฉีดวัคซีนนี้แล้วจะเกิดแผลพุพองบริเวณที่ฉีดและหายได้ภายใน 1 เดือน ขณะที่ได้รับวัคซีนห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพราะจะทำให้เชื้อตายและไม่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคได้ หลังฉีดวัคซีนต้องมีรอยแผลเกิดขึ้น ซึ่งแสดงว่าการฉีดวัคซีนนั้นประสบความสำเร็จ วัคซีนชนิดนี้ในประเทศไทยผลิตได้โดยสถานเสาวภา
วัคซีนชนิดนี้กำหนดให้เพียงเข็มเดียว โดยการฉีดปริมาณ 0.1 มล.เข้าทางใต้ผิวหนังในเด็กแรกคลอด หรือคนคนที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ห้ามมีการให้ซ้ำยกเว้นว่าไม่ปรากฏรอยแผล
ประสิทธิภาพ
ระดับภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นหลังฉีด 2 เดือน ซึ่งจะป้องกันการติดเชื้อวัณโรคชนิดแพร่กระจายได้ดีกว่าการติดเชื้อในปอด การใช้ในเด็กให้ผลป้องกันได้ดีกว่าในผู้ใหญ่ วัคซีนอยู่ในรูปผงแห้ง (Lyophilized) ต้องเก็บในตู้เย็น เมื่อละลายแล้วต้องใช้ภายใน 2 ชั่วโมง
ข้อห้ามใช้ของวัคซีน
ห้ามใช้ในกลุ่มคนต่อไปนี้ คือ
- คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมทั้งผู้ที่อยู่ระหว่างการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน, corticosteroid, cytotoxic drug และรับการฉายแสง
- คนท้อง
- คนที่แพ้วัคซีน และ คนที่ให้ผลบวกกับ TST เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง และควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยหนักและผู้ที่ใช้ยารักษาโรคหอบหืดในกลุ่ม theophylline เพราะวัคซีนลดการกำจัดออกของ theophylline
ที่มา :: https://www.myfirstbrain.com/thaidata/image.asp?ID=2290280
วัคซีนตับอักเสบบี
เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.สุนีย์ เตชะอาภรณ์กุล
โรคและความสำคัญ
ไวรัสตับอักเสบ บี ทำให้เกิดการติดเชื้อ 2 ลักษณะคือ
1) การติดเชื้อแบบเฉียบพลัน ซึ่ง อาจจะไม่มีอาการ มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะตับวาย พบอัตราตายน้อย ประมาณร้อยละ 0.5-1 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ภายหลังติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าแอนติบอดี ซึ่งเป็นโปรตีนที่จับกับโปรตีนที่ผิวไวรัส (anti-HBs) ป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ anti-HBs จะป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต
2) การติดเชื้อแบบเรื้อรัง ทำ ให้เกิดอาการตับอักเสบบ่อย ๆ หรือในบางรายไม่แสดงอาการใดใด แต่มีไวรัสในเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เป็นเวลานาน ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกัน anti-HBs การติดเชื้อแบบเรื้อรังพบสูงถึงร้อยละ 25-50 ในผู้ที่รับเชื้อตั้งแต่อายุ 1-5 ปี แต่พบเพียงร้อยละ 5 ของผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ใหญ่
อาการตับอักเสบบี อาการ ตับอักเสบบีได้แก่ มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตับโต ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด ปวดข้อ ตัวเหลืองตาเหลือง และตรวจพบปริมาณเอนไซม์ตับสูงในเลือด ผู้ที่ติดเชื้อแบบเรื้อรังและมีอาการตับอักเสบอยู่เนือง ๆ จะนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด
การติดต่อ โรค ตับอักเสบบีติดต่อได้ง่ายกว่าเอดส์ มากกว่า 100 เท่า ไวรัสผ่านเข้าสู่บาดแผลหรือรอยถลอก เช่น ขณะคลอด ระหว่างมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การใช้ของเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน ใบมีดโกน เข็มฉีดยา ส่วนการจูบปากแลกเปลี่ยนน้ำลาย หรือแม่อมข้าวก่อนป้อนลูก ก็มีความเสี่ยง หากมีเลือดออกและอีกฝ่ายมีแผลในปาก
ระบาดวิทยา
โรค ตับอักเสบบีมีความชุกชุมสูง ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อประมาณ 350 ล้านราย และตายปีละ 6 แสนกว่าราย ปีพ.ศ. 2552 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคตับอักเสบบี 5370 ราย หรือ 8.5 ต่อประชากร 1 แสนคน แต่คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่สูงกว่านี้หลายเท่าตัว เนื่องจากผู้ติดเชื้อร้อยละ 50-70 ไม่แสดงอาการ ทารกที่รับเชื้อแต่แรกเกิดส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และร้อยละ 90 จะกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อต่อไป ปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยจึงกำหนดให้ทารกแรกเกิดทุกคนต้องได้รับวัคซีนตับอักเสบ บี วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูง ดังแสดงได้จากช่วงก่อนบรรจุวัคซีนในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พบว่าคนไทยเป็นพาหะนำโรคไวรัสตับอักเสบบีสูงถึงประมาณร้อยละ 10 ของประชากร ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณร้อยละ 4-5 หรือประมาณ 2.5 ล้านคน เด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนพบเป็นพาหะนำโรคร้อยละ 0.7
วัคซีนตับอักเสบบี
วัคซีน ป้องกันไวรัสตับอักเสบบีประกอบด้วยโปรตีนที่ผิวของไวรัส (HBsAg) ผลิตในเซลล์ยีสต์ ปริมาณ 5-40 ไมโครกรัมแล้วแต่บริษัท วัคซีนมีลักษณะขุ่นเพราะใส่อลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ ต้องเขย่าหลอดก่อนใช้ มีทั้งชนิดวัคซีนเดี่ยว และวัคซีนรวมที่ผสมกับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวัคซีนเดี่ยวแต่ละชนิด ข้อดีของการใช้วัคซีนรวมคือ ช่วยลดจำนวนเข็มที่ต้องฉีดวัคซีน เด็กไม่ต้องเจ็บตัวบ่อย เพราะฉีดเพียงหนึ่งเข็มได้รับวัคซีนป้องกันโรค 4-6 ชนิด แต่วัคซีนรวมมีราคาแพงกว่ามาก วัคซีนเดี่ยวราคาประมาณ สองถึงสามร้อยบาท ในขณะที่วัคซีนรวมราคาพันกว่าบาท ตัวอย่างวัคซีนตับอักเสบบีที่มีขายในท้องตลาด ได้แก่
ตัวอย่างวัคซีนตับอักเสบบีที่มีขายในท้องตลาด ได้แก่
ขนาดและการบริหารวัคซีน
กำหนด การให้วัคซีนมาตรฐานคือ ฉีดเข้ากล้าม 3 เข็ม โดย 2 เข็มแรกห่างกัน 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน สำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ วัคซีนสำหรับเด็กมีความแรงเพียงกึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่
การ ให้วัคซีนสำหรับทารกแรกเกิดทุกคน ให้วัคซีนเข็มแรกทันที (ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังคลอด) เข็มที่สองเมื่ออายุ 1-2 เดือน และเข็มที่สามเมื่ออายุ 6 เดือน ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นพาหะ ควรได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1 เดือน จะลดความเสียงต่อการติดเชื้อได้ดีกว่าการรับวัคซีนเมื่ออายุ 2 เดือน
เด็ก ที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้เป็นพาหะ เข็มแรกหลังคลอดรับเป็นวัคซีนเดี่ยว แต่เข็มต่อไปอาจรับเป็นวัคซีนรวมที่มีวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน รวมได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี 4 เข็ม
ประสิทธิภาพวัคซีน
ประมาณ 1 เดือนภายหลังรับวัคซีนเข็มที่สอง พบว่าบางรายมีระดับภูมิคุ้มกันสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้แล้ว และเมื่อได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม พบว่าผู้ได้รับวัคซีนร้อยละ 97 จะสร้างภูมิคุ้มกัน ที่คาดว่าจะป้องกันการติดเชื้อได้นานตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามมีผู้ได้รับวัคซีนร้อยละ 1-3% ไม่สร้างภูมิคุ้มกัน
ใครควรได้รับวัคซีน
เนื่อง จากประเทศไทยมีความชุกชุมโรคสูง ทุกคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ควรรับวัคซีน แต่เด็กโตและผู้ใหญ่มักเคยสัมผัสโรคแล้ว จึงแนะนำให้ตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะคือ และตรวจโปรตีนที่ผิวไวรัส (HBsAg) หากมี anti-HBs หรือเป็นพาหะ (HBsAg ให้ผลบวก) ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะรับวัคซีน ค่าใช้จ่ายประมาณ 3-5 ร้อยบาท
ต้องตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีนหรือไม่
คน ทั่วไปไม่จำเป็นตรวจแอนติบอดี (anti-HBs) หลังรับวัคซีนครบ 3 เข็ม แต่กลุ่มบุคคลเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสสัมผัสเลือดสูง คนไข้ฟอกไต ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นพาหะนำโรค ทารกที่แม่เป็นพาหะ บุคคลเหล่านี้ควรได้รับการตรวจแอนติบอดี ประมาณ 1-2 เดือนภายหลังรับวัคซีนครบ 3 เข็ม หากไม่มีแอนติบอดี ควรให้วัคซีนซ้ำอีกเพียง 1 ชุด หากยังไม่ตอบสนอง ก็แนะนำให้ป้องกันตนเองมิให้รับเชื้อโดยวิธีต่าง ๆ เช่นใช้ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์
คน ไข้ที่ต้องฟอกไตสม่ำเสมอ และคนไข้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรวัดระดับแอนติบอดีทุกปี หากต่ำกว่าระดับที่ป้องกันการติดเชื้อได้ (10 mIU/ml) ต้องรับการฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ทารกที่แม่เป็นพาหะ ควรตรวจหาไวรัส (HBsAg) และแอนติบอดี (anti-HBs) เมื่ออายุ 9-15 เดือน
ผลข้างเคียง
วัคซีน ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโปรตีนที่ผิวของไวรัส ไม่ใช่ไวรัสทั้งอนุภาค จึงนับได้ว่าเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย ไม่ทำให้ติดเชื้อ ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ยกเว้นกรณีแพ้วัคซีน ส่วนผลข้างเคียงเล็กน้อยที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ ซึ่งเกิดหลังฉีดวัคซีนไม่เกิน 24 ชั่วโมง พบบ่อยในเด็ก ประมาณร้อยละ 6 และอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด โดยเฉพาะผู้ใหญ่พบได้สูงถึงร้อยละ 30 ของผู้ได้รับวัคซีน ควรให้ยาลดไข้บรรเทาปวดพาราเซตามอล
ข้อห้ามรับวัคซีน
ผู้ที่แพ้ยีสต์อย่างรุนแรง หรือผู้ที่รับวัคซีนครั้งแรกแล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ อาการหน้าซีด หัวใจเต้นเร็ว มึนงง หลอดลมตีบทำให้หายใจลำบากมีเสียงดังวิ๊ดๆ
ทารก ที่น้ำหนักต่ำกว่า 2000 กรัมและมารดาไม่ได้เป็นพาหะ ให้เลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน 1-2 เดือน จนแข็งแรงขึ้น แต่หากมารดาเป็นพาหะ ให้รับวัคซีนทันทีเป็นเข็มเพิ่มพิเศษ และเมื่อแข็งแรงขึ้นจึงรับอีก 3 เข็มแรกตามกำหนด 0, 1, 6 เดือน
ผู้ป่วยหนักเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน แต่หากเป็นเพียงไข้หวัด ท้องเสีย และไข้ไม่สูงมากรับวัคซีนได้
บรรณานุกรม
1. รายงานการเฝ้าระวังโรคระบาดประจำปี Table 5. Report Cases and Deaths by Year, Thailand, 2000-2009. Table 6. Case-Rate and Deaths-Rate by Year, Thailand, 2000-2009. ที่มา : http://epid.moph.go.th/Annual/Annual%202552/Main.html
2. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ มุกดา ตฤษณานนท์ ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ (บรรณาธิการ). ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2550. สำนักโรคติดต่อทั่วไป. กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข.2550
3. Punyagupta S, Olson L, Harinsuta U, Akarawong K, Varawidhya W, The Epidermiology of hepatitis B antigen in a high prevalence area. Am J Epidemiol 1973;97(5):349–54.
4. Center for Disease Control and Prevention. Hepatitis B Information for Health Professionals http://www.cdc.gov/hepatitis/HBV/HBVfaq.htm# available online 29 April 2011
ที่มา :: http://picdb.thaimisc.com/n/nangnual2/2856.jpg?n
วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน
เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.จุรีย์ เจริญธีรบูรณ์
โรคคอตีบและโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนโรคบาดทะยักพบได้ในทุกเพศและวัย เพราะมีการปนเปื้อนของเชื้อบาดทะยักในสิ่งแวดล้อมและดิน ในประเทศไทยมีการใช้วัคซีนป้องกันคอตีบ - บาดทะยัก- ไอกรน ครอบคลุมทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคทั้งสามได้เป็นอย่างดี
โรคคอตีบ
เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและร้ายแรง พบได้ประปรายตลอดปี ส่วนมากจะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เกิดจากการติดเชื้อ Corynebacterium diphtheriae ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย มีระยะฟักตัวประมาณ 1-7 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเร็ว การตรวจคอ อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (White-grayish membrane) ซึ่งดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย และลิ้นไก่ ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าเขี่ยแรงจะทำให้มีเลือดออกได้ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และประสาทอักเสบ (neuritis) ซึ่งเกิดจากชีวพิษ (toxin) ของเชื้อ ดังนั้นการให้วัคซีนที่เป็นทอกซอยด์ (toxoid) ซึ่งได้จากชีวพิษช่วยลดอัตราการเกิดโรคคอตีบได้เป็นอย่างดี จึงแนะนำให้มีการให้วัคซีนให้ครบตามกำหนด ปัจจุบันพบว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ในผู้ใหญ่ลดลง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการใช้วัคซีน dT ทดแทนการฉีดวัคซีนบาดทะยักเดี่ยวในกรณีของคนตั้งครรภ์และผู้ที่มีบาดแผล
โรคบาดทะยัก
โรคนี้เกิดจากสารชีวพิษ (toxin) ที่สร้างจากเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ชอบออกซิเจน การเกิดโรคเกิดจากการปนเปื้อนของชีวพิษทางบาดแผลหรือการได้รับเชื้อเข้าสู่แผลที่มีออกซิเจนต่ำจะทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดีและให้ชีวพิษออกมา อาการของโรคคือ การเจ็บปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เริ่มจากบริเวณแก้มและลำคอ และลงมาที่กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ทำให้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้อง บางครั้งอาจพบการหดเกร็งกล้ามเนื้อเฉพาะบริเวณบาดแผลเท่านั้น การหดเกร็งกล้ามเนื้อเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทรับความรู้สึกของชีวพิษ ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อบาดทะยักได้ไม่ดีและไม่สามารถกำจัดชีวพิษที่ก่อให้เกิดโรคได้ แต่การให้วัคซีน ที่เป็น ทอกซอยด์ช่วยป้องกันโรคได้เป็นอย่างดีและการให้อิมมูโนกอลบลูลินสามารถช่วยกำจัดชีวพิษได้
โรคไอกรน
เป็นโรคที่พบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี และในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนมีอัตราการเสี่ยงต่อการการเกิดโรคและเสียชีวิตได้สูง เกิดจากเชื้อ Bordeltella pertussis การติดเชื้อผ่านทางน้ำมูกและน้ำลาย อาการทั่วไปคล้ายไข้หวัดคือ ไข้ต่ำ น้ำมูกไหลจาม และไอ แต่อาการไอจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคอไม่แดงและเสียงปอดปกติ ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนจะพบร่วมกับไข้ อาจพบปื้นแดงที่ตาขาว ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดของไอกรนในผู้ใหญ่ซึ่งกำลังมีการพิจารณาการให้วัคซีนไอกรนซ้ำอีกในผู้ใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักทำจากทอกซอยด์ ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคไอกรนเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายหรือส่วนของแอนติเจนจากผนังเซลล์ของเชื้อ วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มีอยู่แบ่งได้เป็น 3 จำพวกคือ
1. วัคซีนบาดทะยัก (TT) ประกอบด้วยทอกซอยด์บาดทะยัก
2. วัคซีนผสมของคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนกลุ่มนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน DT และวัคซีน dT ซึ่งแตกต่างกันที่ปริมาณของทอกซอยด์คอตีบ โดยทอกซอยด์คอตีบที่ใช้ในเด็กต่ำกว่า 7 ปีจะมีปริมาณสูงถึง 30 Lf (DT) ส่วนวัคซีนที่มีปริมาณทอกซอยด์คอตีบต่ำอยู่ที่ 10 Lf (dT) ใช้สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป
3. วัคซีนผสมของคอตีบ บาดทะยักและไอกรน วัคซีนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน DTwP และวัคซีน DTaP วัคซีนทั้งสองชนิดมีองค์ประกอบของทอกซอยด์คอตีบและบาดทะยักที่เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างในส่วนของวัคซีนไอกรน โดยวัคซีน DTwP ประกอบด้วยเชื้อไอกรนที่ตายแล้ว ขณะที่วัคซีน DTaP ประกอบด้วยแอนติเจนจากผนังเซลล์ของเชื้อไอกรนจำนวน 2 อย่างคือ Inactivated lymphocytois promoting factor (LPF) และ Filamentous hemagglutinin (FHA) วัคซีนนี้ใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 ปี โดยพบว่าวัคซีนทั้งสองชนิดให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ไม่แตกต่างกัน แต่วัคซีน DTwP ให้ผลข้างเคียงสูงกว่า DTaP ถ้าได้รับวัคซีน DTwP แล้วมีไข้ สูงเกิน 40.5 0C มีการชักหรือกรีดร้องนานกว่า 3 ชั่วโมง หรือมีภาวะตัวอ่อนและไม่ตอบสนองเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน เมื่อจะให้วัคซีนครั้งต่อไปควรให้ยาลดไข้หรือยากันชักป้องกันไว้ก่อน หรือให้วัคซีน DTaP/DT แทน
ห้ามให้วัคซีน
ที่มีส่วนผสมของวัคซีนไอกรน ในกรณีที่มีอาการทางสมอง ( encephalopathy) ภายใน 7 วันหลังจากได้รับวัคซีน ร่วมถึงในกรณีของเด็กที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทที่ควบคุมอาการของโรคยังไม่ได้ การรับวัคซีนครั้งต่อไปห้ามมีวัคซีนไอกรนผสมอยู่ด้วย
การบริหารวัคซีน
วัคซีนคอตีบ บาดทะยักและไอกรนชนิด DTwP และ DTaP จะเริ่มให้ในเด็กตั้งแต่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4 ปี และตามด้วยการกระตุ้นซ้ำอีก 2 ครั้งด้วยวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (dT) ตอนอายุ 7 และ 12 ปี ส่วนในคนท้องหรือมีบาดแผลจะแนะนำให้ฉีดวัคซีน dT เพื่อป้องกันบาดทะยัก การพิจารณาให้วัคซีนบาดทะยักเมื่อได้รับบาดแผล ขึ้นกับประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยักและลักษณะบาดแผลตามรายละเอียดดังตารางที่ 1
ผลข้างเคียง
เนื่องจากวัคซีนในกลุ่มนี้ผสม aluminium hydroxide, aluminum phosphate หรือ Calcium phosphate อยู่ ดังนั้นหลังได้รับวัคซีนมักพบอาการปวด บวมและแดง ในบริเวณที่ฉีด และมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง นอกจากนั้นอาจพบอาการอาเจียนและอาการไข้ได้
การเก็บวัคซีน
สำหรับวัคซีนที่อยู่ในรูปของเหลวต้องเก็บแช่เย็นตลอดเวลา ห้ามแช่ในช่องแช่แข็ง ส่วนวัคซีนในรูปผงแห้งต้องเก็บแช่เย็นโดยสามารถเก็บได้ในตู้เย็นธรรมดาหรือช่องแช่แข็ง
ปัจจุบันมีการรวมวัคซีนโรคอื่น ๆ เข้ากับในวัคซีนกลุ่มนี้ด้วยเพื่อช่วยลดจำนวนการครั้งในการวัคซีนลง เช่น วัคซีนโรคตับอักเสบบี โรคโปลิโอ และ ไข้สมองอักเสบ Haemophilus type B เป็นต้น ตัวอย่างของวัคซีนผสมที่มีขายอยู่ในท้องตลาด แสดงดังตารางที่ 2
การให้วัคซีนบาดทะยักในหญิงมีครรภ์
การให้วัคซีนบาดทะยักในหญิงมีครรภ์ควรได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม โดยพิจารณาดังนี้
- ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ให้ฉีดเข็มแรกเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก และนัดฉีดครั้งต่อไปจนครบอย่างน้อย 3 เข็ม ให้ฉีดโดยมีระยะห่าง 0, 1, 6 เดือน จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี
- ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็มให้ฉีดอีก 2 เข็ม ซึ่งควรห่างกัน 6 เดือน
- ถ้าได้มาแล้ว 2 เข็ม ให้ฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 2 และเข็ม 3 อย่างน้อย 6 เดือนจากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี
- ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาอย่างน้อย 3 เข็มและเข็มสุดท้ายนานกว่า 10 ปี ให้ฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี
ตารางที่ 1 : ตารางการป้องกันโรคบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล
* แผลที่ฉีกขาดและปนเปื้อนเศษดิน ทราย หรือสิ่งสกปรก โดยเฉพาะแผลลึกที่ปากแผลเล็ก
** Tetanus Immunoglobulin (TIG) ขนาดที่ใช้ฉีดคือ 250 ยูนิต หรือใช้ antitoxin ที่ผลิตจากซีรัมม้า 1,500 ยูนิต หากจะใช้ชนิดที่ผลิตจากม้า จะต้องทำการทดสอบผิวหนังก่อนเสมอ
ตารางที่ 2: ตัวอย่าง Combined bacterial vaccine ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด
ที่มา :: http://www.magickidschool.com/content_image/u/u015.jpg
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ
เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.จุรีย์ เจริญธีรบูรณ์
โรคโปลิโอและความสำคัญ
โรคโปลิโอหรือไข้ไขสันหลังอักเสบ (Poliomyelitis) เกิดจากเชื้อ Poliovirus ทำให้เกิดการอักเสบในเซลล์ประสาทของไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดความพิการของกล้ามเนื้อแบบถาวรและอาจทำให้เสียชีวิตได้ เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโปลิโอในปี พ.ศ. 2495 มีผลทำให้ผู้ป่วยอัมพาตมากกว่า 20,000 ราย และนำไปสู่ความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดเชื้อตายแบบฉีด (Inactivated polio vaccine, IPV) ได้ในปี พ.ศ. 2498 โดย Janas Salk และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน (Live attenuated oral polio vaccine, OPV) ในปี พ.ศ. 2504 โดย Albert B Sabin การใช้วัคซีนทั้งสองชนิดช่วยลดอุบัติการณ์ในการเกิดโรคได้
ในปี พ.ศ. 2508 ประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้ OPV และสามารถกำจัดเชื้อโปลิโอในประเทศจนสำเร็จใน 14 ปีต่อมา ทำให้องค์การอนามัยโลกวางนโยบายกวาดล้างโปลิโอให้หมดไปในปี พ.ศ. 2543 ถึงแม้ว่ากำจัดได้ไม่หมดในปีนั้น แต่พบว่าอุบัติการณ์ของโรคโปลิโอทั่วโลกลดลงมากกว่า 99% โดยคาดว่าโปลิโอจะหมดไปจากทวีปแอฟริกาเป็นทวีปสุดท้ายในปี พ.ศ. 2555 สำหรับประเทศไทยนั้นทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศในปี พ.ศ. 2548 ว่าปลอดโรคโปลิโอแล้ว แต่ประเทศไทยยังต้องมีการให้วัคซีนเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซียและพม่า ยังมีผู้ป่วยอยู่และจึงจัดเป็นเขตเฝ้าระวังโรคโปลิโอ
การติดต่อ
เชื้อไวรัสโปลิโอมี 3 ชนิดได้แก่ Poliovirus serotype 1, 2 และ 3 ติดต่อผ่านทางการกิน โดยเชื้อจะเจริญและเพิ่มจำนวนในเยื่อบุลำคอ ลำไส้ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้และผ่านเข้ากระแสโลหิต ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ มีเพียงประมาณ 1-2% ที่เกิดการติดเชื้อในเส้นประสาทสั่งการและมีการทำลายเซลล์ประสาท ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น การแพร่กระจายเชื้อของโรคนี้ผ่านทางเดินอาหารและออกมากับอุจจาระ
ระยะฟักตัวและอาการ
ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 3-35 วัน อาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด อาการไข้ร่วมกับอาการเจ็บคอ อ่อนเพลีย อาเจียน หรือท้องผูก ถ้ามีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะพบอาการคอแข็ง หลังแข็ง หรือประสาทความรู้สึกสัมผัสไวกว่าปกติ ซึ่งอาจหายเองใน 2-10 วัน ถ้ามีอาการปวดกล้ามเนื้อของขาและหลังร่วมด้วย อาจพบอาการอัมพาตเกิดขึ้นซึ่งมักพบที่แขนขาได้บ่อย
การป้องกันและรักษา
โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยสุขอนามัยส่วนบุคคล และสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถติดต่อได้ทางการกิน พบว่าสามารถแพร่กระจายได้โดยปนเปื้อนจากการกินและเชื้อสามารถขับถ่ายออกมากับอุจจาระได้นานเป็นเดือน ดังนั้นการป้องกันการระบาดที่ดีคือการให้วัคซีน การรักษาโรคเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ หรือการให้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีที่มีอาการล้มเหลวของการกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจและเมื่ออาการอัมพาตเกิดขึ้นต้องทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิดคือ ชนิดกินและชนิดฉีด ในขบวนการผลิตวัคซีนชนิดนี้มีการใช้ยาปฏิชีวนะ neomycin และ streptomycin ซึ่งอาจปนเปื้อนได้ ดังนั้นจึงห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะทั้งสองนี้แบบเฉียบพลัน (anaphylactic shock)
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน (Oral Polio vaccine)
วัคซีนชนิดนี้ประกอบด้วยเชื้อเป็นที่ประกอบด้วยซีโรทัยพ์ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นการให้ทางปากเลียนแบบวิธีในการติดเชื้อในธรรมชาติ ทำให้ป้องกันโรคและการแพร่กระจายได้ดี โดยมีระดับการป้องกันโรคได้นานเช่นเดียวกับการติดเชื้อในธรรมชาติ การให้วัคซีนทำได้ง่ายด้วยการหยอดปริมาณ 2-3 หยด (0.1-0.5 มล.) จากหลอดพลาสติกสำหรับสวมขวดวัคซีนใส่ปาก ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดพลาสติกสัมผัสกับปากเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง การให้วัคซีนเมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และให้ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี เมื่อมีการวางเป้าว่าจะกำจัดเชื้อโปลิโอในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการให้วัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศโดยหยอดในเด็กเล็กและเด็กที่เข้าโรงเรียน วัคซีนชนิดนี้ควรเก็บในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -15 องศาเซลเซียส วัคซีนที่เปิดใช้แล้วต้องเก็บเย็นและห้ามเก็บข้ามวัน
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (Inactivated Polio vaccine)
วัคซีนชนิดนี้ประกอบด้วยเชื้อตายที่ประกอบด้วยซีโรทัยพ์ 1, 2 และ 3 โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ปัจจุบันมีวัคซีน IPV ผสมร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้แก่ DTaP-IPV, DTaP-IPV-Hib, และ DTaP-IPV-Hib-HBV ซึ่งจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การให้วัคซีนเมื่ออายุ 2, 4, และ 6 เดือน และให้ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี วัคซีนชนิดนี้จะให้ภูมิคุ้มกันที่ดีในเลือดช่วยป้องกันการเกิดอัมพาต แต่ไม่ป้องกันการแพร่เชื้อในลำไส้ได้ ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อได้รับครบ 3 เข็ม
ที่มา :: http://bangkhunteakphqs.com/Polio.jpg
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี
เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.สุนีย์ เตชะอาภรณ์กุล
โรคและความสำคัญ
โรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสเจอี (Japanese encephalitis virus, JEV) มียุงรำคาญซึ่งหากินเวลากลางคืนเป็นพาหะนำโรค มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดเป็นที่อาศัยของไวรัส ที่พบบ่อยในบ้านเราคือหมู เมื่อยุงดูดเลือดหมูที่ติดเชื้อ ไวรัสเพิ่มจำนวนในต่อมน้ำลายยุงและถูกปล่อยเข้ากระแสเลือดขณะที่ยุงกัดคน ระยะฟักตัวของโรค 5-15 วัน จึงเริ่มมีอาการเฉียบพลัน ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนพุ่ง มีอาการชักเกร็ง บางรายมีสั่น อัมพาตอ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อใบหน้าขยับไม่ได้
คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ผู้ติดเชื้อ 250 ราย มีเพียง 1 รายที่แสดงอาการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบโดยเฉพาะช่วงอายุ 0 ถึง 4 ขวบ แต่เนื่องจากโรคนี้มีอัตราตายและพิการทางสมองสูงมาก ประมาณการว่าในจำนวนผู้ป่วย 4 ราย จะพิการหลังติดเชื้อถึง 2 รายและเสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยปีละประมาณ 5 หมื่นราย กระจายอยู่หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้1ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยประปราย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน พบได้ทุกภาค2ในอดีตก่อนที่จะบรรจุวัคซีนในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในปี พ.ศ. 2533 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยนับพันราย ในระยะแรกกำหนดให้วัคซีนเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ระบาด ต่อมาปี พ.ศ. 2544 กำหนดให้เด็กทุกคนรับวัคซีนไข้สมองอักเสบ
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี มี 2 แบบคือ
1. วัคซีนเชื้อตาย เตรียมโดยเลี้ยงไวรัสก่อโรคในสมองหนูแรกเกิด ทำให้หมดฤทธิ์ด้วยฟอร์มาลิน นำมาปั่นแยกและผ่านขั้นตอนการทำให้บริสุทธิ์ วัคซีนมีหลายบริษัท มีทั้งชนิดน้ำและชนิดผงแห้ง มีทั้งชนิดสายพันธุ์ Beijieng และสายพันธุ์ Nakayama ขนาดวัคซีนไม่เท่ากัน ขนาดวัคซีนสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เป็นกึ่งหนึ่งของเด็กโต เริ่มให้ได้เมื่ออายุ 12-18 เดือน ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 2 เข็มห่างกัน 1-4 สัปดาห์ และให้เข็มที่สาม 1 ปี หลังจากรับวัคซีนเข็มแรก
ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนทั้งสองสายพันธุ์ให้ผลดีพอกัน ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ร้อยละ 80-903จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ระยะหนึ่ง และเมื่อได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มจะป้องกันโรคได้ 3-5 ปี หากอาศัยในพื้นที่ระบาด แนะนำให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็ม ทุก ๆ 4-5 ปี อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ก็จะสามารถป้องกันโรคในช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงได้
2. วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนกำลัง นำเข้าจากประเทศจีนในรูปผงแห้ง เตรียมโดยเลี้ยงไวรัสสายพันธุ์อ่อนกำลัง SA 14-14-2 ในเซลล์เพาะเลี้ยง กำหนดให้ 2 เข็ม เริ่มให้ได้มื่ออายุ 1 ขวบ และให้เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 1 ปี ป้องกันโรคได้ ร้อยละ 95-1004มีข้อดีกว่าวัคซีนเชื้อตายคือ ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน ไม่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น และวัคซีนได้จากการเลี้ยงไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง ไม่ได้เลี้ยงในสมองหนู จึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนทางระบบประสาทคือสมองและไขสันหลังอักเสบอย่างเฉียบพลันอันเนื่องจากเนื้อเยื่อสมองหนูปนเปื้อนในวัคซีน
ตารางแสดงวัคซีนเจอีที่มีขายในประเทศไทย
เด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน และชาวต่างชาติที่มีกำหนดอยู่ในประเทศไทยนานเดิน 1 เดือน และต้องเดินทางไปยังเขตชนบท
ข้อห้ามใช้หรือเลื่อนการรับวัคซีนเจอีทั้งสองชนิด5,6
- ห้ามรับวัคซีนในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ภาวะขาดอาหาร
- ห้ามรับวัคซีนในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งอื่น ๆ ที่อยู่ในระยะแพร่กระจาย
- ห้ามรับวัคซีนในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชักหรือเกร็ง ในระยะเวลา 1 ปีก่อนให้วัคซีน
- ห้ามรับวัคซีนเข็มต่อไป หากมีประวัติแพ้วัคซีนเจอีอย่างรุนแรง ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ อาการหน้าซีด หัวใจเต้นเร็ว มึนงง หลอดลมตีบทำให้หายใจลำบากมีเสียงดังวิ๊ดๆ
- ห้ามรับวัคซีนขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- มีไข้สูงหรือติดเชื้อรุนแรงให้เลื่อนการรับวัคซีน รอจนหายดีก่อน วัคซีนเชื้อเป็น มีข้อห้ามใช้เพิ่มอีก 1 ข้อคือ ผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่อยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ผลข้างเคียงพบบ่อย ได้แก่ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ เกิดผื่นแพ้แบบลมพิษ (urticaria) หรือ angioedema อาจเกิดทันทีหรือล่าช้าไป ส่วนใหญ่ภายใน 10 วัน
ผลข้างเคียงพบน้อยกว่าวัคซีนเชื้อตาย และหายได้เองใน 2 วัน ได้แก่ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด มีไข้ เกิดผื่น คลื่นไส้ เด็กร้องโยเย เบื่ออาหาร มีปัญหาการนอน
1. World Health Organization. Japanese encephalitis. http://www.who.int/immunization/topics/japanese_encephalitis/en/index.html
2. สมบุญ เสนาะเสียง อัญชนา วากัส ฐิติพงษ์ ยิ่งยง. สถานการณ์โรคไข้สมองอักเสบและไข้สมองอักเสบ เจ อี ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2552.. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์. ปีที่ 41 ฉบับที่ 3 : 29 มกราคม 2553. http://epid.moph.go.th/wesr/file/y53/F5331.pdf
3. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. กองยา. Registration no. 1a 601/50. summary of product characteristics. The Government Pharmaceutical Organization. (14 มิถุนายน 2551). http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_search/files/JE_1A%20601_50.pdf
4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. กองยา. Registration No.: 1C 108/50 (NC). summary of product characteristics. Biogenetech Co., Ltd. / Chengdu Institute of Biological Products. (14 มิถุนายน 2551). http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_search/files/CDJEVAX_1C%20108_50_NC.pdf
5. Hoke CH, Nisalak A, Sangawhipa N, et.al. Protection against Japanese encephalitis by inactivated vaccines, N Engl J Med. 1988;319:608-14
6. Tsai TF, New initiatives for the control of Japanese encephalitis by vaccination: minutes of a WHO/CVI meeting, Bangkok, Thailand, 13-15 October 1998. Vaccine.2000;18(Suppl.2):S1-S25.
วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.สุนีย์ เตชะอาภรณ์กุล
โรคคางทูมส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงหรืออาจจะไม่มีอาการ แต่การติดเชื้อในวัยรุ่นจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากกว่าในเด็กเล็ก ที่พบบ่อยที่สุดคือ อัณฑะอักเสบ (ร้อยละ 50)ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้แก่ ตับอ่อนอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนโรคหัดเยอรมัน อาการไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อในสตรีที่ตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุของการแท้งบุตร หรือทารกในครรภ์พิการ
ประเทศไทยได้บรรจุวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) ให้เด็กทุกคน ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตั้งแต่ปี พ.ศ.2540อัตราป่วยของโรคทั้งสามในระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ถึง ปี พ.ศ. 2550 ได้ลดลงอย่างมาก กล่าวคือ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูมลดลงร้อยละ 70 60 และ 50ตามลำดับ
เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ประกอบด้วยไวรัส 3 ชนิดที่เป็นสาเหตุของโรค ตัวอย่างวัคซีนที่มีขายในท้องตลาดได้แก่ MMRII Trimovax Priorix ทุกยี่ห้อมีค่าความแรงของไวรัสแต่ละตัวเท่ากัน แต่สายพันธุ์ที่ใช้ต่างกันไปบ้าง วัคซีนทุกยี่ห้อใช้แทนกันได้
2. ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะบางชนิดที่ระบุในเอกสารกำกับยา เช่น นีโอมัยซิน หรือแพ้เจลาติน อย่างรุนแรง ต้องเลือกยี่ห้ออื่นที่ไม่มียาที่แพ้
3. สตรีตั้งครรภ์ แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ก่อนรับวัคซีนและคุมกำเนิดนานอย่างน้อย 1 เดือนหลังรับวัคซีน อย่างไรก็ดีหากเกิดความผิดพลาด ตั้งครรภ์ขณะรับวัคซีน ไม่ต้องทำแท้ง
4. ผู้ป่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งคนไข้โรคเอดส์ที่มีอาการเต็มขั้น หรือมีค่า CD4 ต่ำกว่าร้อยละ 15
5. คนไข้ที่รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน
6. ผู้ที่ได้รับพลาสมา อิมมูโนโกลบูลิน หรือผลิตภัณฑ์เลือด ต้องเลื่อนการรับวัคซีนออกไป 3 ถึง 11 เดือน ขึ้นกับชนิดและขนาดของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ
2. ฤดีวิไล สามโกเศศ, เกษม ภิญโญชนม์, ศรีลักขณ์ สิมะเสถียร, ชาญชัย อารี, สมศักดิ์ โล่ห์เลขา. Comparativestudy of antibody response of two different combinations of measles, mumps, rubella vaccine in 9-12 month-old Thai infants. The 35th Thai Congress of Pediatrics, November 12-13, 1993.
3. Annual Epidemological Surveillance Report. Table 6. Case-Rate and Deaths-Rate by Year, Thailand, 1998-2009. Available from:URL::http://epid.moph.go.th/Annual/Annual%202552/Main.html
4. Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMWR 1998;47(RR08):1-57.
5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/MMR%20vaccine
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น