Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556

SIDS…ภัยเงียบของลูกวัยเบบี๋

SIDS…ภัยเงียบของลูกวัยเบบี๋
 
baby - SIDS


 
SIDS…ภัยเงียบของลูกวัยเบบี๋ (modernmom)

โดย: รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

 
โรคตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ทารก (Sudden Infant Death Syndrome) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ซิดส์ (SIDS) เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีรายงานมากมายในประเทศสหรัฐอเมริกาถึงอัตราการตายกว่าปี ละ 2,500 คน แม้ว่าจะมีการวิจัยมากมาย สุดท้ายก็ยังไม่รู้ต้นเหตุที่แท้จริง และยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลดี

 
 

ขวบปีแรกเสี่ยงที่สุด

 
SIDS มักเกิดในเด็กแรกเกิด- 1 ปี ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุ 2-4 เดือน ซึ่งเสียชีวิตขณะนอนหลับ คือนอนแล้วไม่ตื่นอีกเลย โดยที่ก่อนนอนนั้นเด็กไม่มีโรคหรืออาการผิดปรกติแต่อย่างไร แต่มักพบว่า เด็กที่เสียชีวิตด้วยโรค SIDS นั้น ส่วนใหญ่มารดาสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อายุน้อยกว่า 20 ปี ขณะตั้งครรภ์ เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กทารกที่แรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย และยังพบในเด็กที่อยู่ในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่อีกด้วย
 
 

การนอน...ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับ ต้นๆ

 
อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการทำให้เกิดโรค SIDS ในเด็กที่มักพบบ่อยคือ เด็กมีการนอนที่เสี่ยงดังนี้
 
icon นอนคว่ำ

 
ท่าที่อันตรายมากที่สุดสำหรับเด็กคือการนอนคว่ำ จากการวิจัยพบว่า การนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคการตายฉับพลันของ เด็กทารกโดยไม่ทราบสาเหตุ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ “ให้เด็กนอนหงาย” (Back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอตั้งแต่ปี 1992 พบว่าการตายจากโรค SIDS ลดลงอย่างชัดเจน

 
เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรจับเด็กนอนคว่ำบ้าง แต่ทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่นและมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กได้ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวแบน และได้ออกกำลังต้นแขนและหัวไหล่ให้เกิดความแข็งแรงด้วย
 
icon ถูกนอนทับ

 
สำนักงานความปลอดภัยในผู้บริโภค (CPSC) ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของเด็กทารก 58 ราย ที่เกิดจากการถูกนอนทับ (Overlying) โดยผู้ร่วมเตียง ภัยแบบนี้ ถ้าไม่บอกกันคุณพ่อคุณแม่ก็คงคาดไม่ถึงกันนะครับ

 
ยิ่งวัฒนธรรมไทยเรา พ่อแม่มักนอนเตียงเดียวกับลูกจนโต แต่ต้องรู้นะว่า การปฏิบัติดังกล่าวมีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน

 
คนที่มีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กทารกคือคนอ้วน มากๆ คนที่กินยานอนหลับ ยาทำให้ง่วงเช่นยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท คนเมาเหล้า และเด็กโต เพราะคนเหล่านี้มักหลับสนิทเกินไป นอนทับแล้วไม่ยอมรู้สึกตัว
 
icon นอนบนโซฟา

 
มีเหตุการณ์ทารกอายุ 12 วัน หลับบนแขนอันอบอุ่นของแม่บนโซฟา คุณแม่ก็หลับไปด้วย พอตื่นขึ้นมาพบว่าลูกน้อยแน่นิ่ง อยู่ในท่าคว่ำลงบนโซฟา เมื่อพลิกหงายพบว่าใบหน้าเขียวคล้ำ ไม่หายใจแล้ว

 
มุมระหว่างพนักพิงและเบาะที่นั่งของโซฟาอาจทำให้ เด็กเสียชีวิตได้ หากเด็กตะแคงหน้าคว่ำเข้าหามุมและกดทับใบหน้า จมูก เด็กทารกไม่มีความสามารถจะพลิกตัวกลับได้ เป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจในเวลาไม่ นาน
 
icon เครื่องนอน หมอน มุ้ง

 
เบาะสำหรับเด็กต้องเป็นเบาะที่มีความแข็งกำลังดี เบาะ ฟูก หมอน หรือผ้าห่มนุ่มๆ หนาๆขนาดใหญ่ ๆ หน้าเด็กอาจคว่ำหน้าลงไปแล้วกดจมูกและปากเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตได้

 
คุณแม่ควรเลือก ชุดนอนที่หนาอบอุ่น สวมใส่ได้พอดี ทำให้ไม่ต้องใช้ผ้าห่ม หากจะใช้ผ้าห่มต้องเลือกเนื้อผ้าบาง และวิธีใช้ต้องสอดลงใต้เบาะสามด้าน (คือเด็กต้องนอนโดยเอาปลายเท้ามาชิดผนังเตียง) เพื่อไม่ให้ผ้าห่มหลุดลุ่ยมากดใบหน้าเด็ก ส่วนเครื่องนอน ของเล่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเส้นสายต้องไม่มีความยาวเกินกว่า 15 ซม. เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการรัดคอเด็กได้

 
เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังอีกกรณีน่าเศร้าครับ คุณพ่อกลับจากที่ทำงานมาดึกดื่น หลังเข้ามาในห้องนอนมืดๆก็พบลูกชายวัย 7 เดือนกำลังนอนกับมารดา จึงเข้าหอมแก้มลูกด้วยความเอ็นดู พบว่าใบหน้าลูกเย็นเฉียบ จับดูมือเท้าก็พบว่ามือเท้าเย็นเฉียบเช่นกัน จึงเปิดไฟดูพบว่าศีรษะลูกมุดรอดสายหูรูดหมอนข้าง สายรัดคอจนหน้าซีดเขียว เสียชีวิตแล้ว!

 
นอกจากนั้น ต้องไม่นำของเล่นชิ้น เล็กๆ หรือของเล่นประเภทอ่อนนิ่มตัวใหญ่ๆ เช่นตุ๊กตาที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจตกทับกดการหายใจได้ หรือเด็กใช้เป็นฐานในการปีนป่ายจนตกเตียงได้ เช่นกัน

 
ถึงแม้ว่าโรค SIDS จะเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่น่ากลัว แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่จัดการนอนให้ปลอดภัย ก็จะสามารถป้องกันและลดอันตราเสี่ยงของการตายเฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุได้ครับ
 
 
 
 
 
ที่มา ::
 
 
 
 
 
 

ลูกหัวไม่ทุย หัวเบี้ยว ทำอย่างไรดี

ลูกหัวไม่ทุย หัวเบี้ยว ทำอย่างไรดี
 
 
baby

 


 

ลูกหัวไม่ทุย หัวเบี้ยว ทำอย่างไรดี (M&C แม่และเด็ก)
 
แน่นอนคุณพ่อแม่ คุณปู่ย่าที่บ้านส่วนใหญ่ มีความต้องการที่จะให้ลูกหลานของตนเองนั้นได้รับสิ่งที่ดีในทุก ๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้เรื่องความสวยงาม โดยเฉาะในเด็กเล็ก ที่ผู้ปกครองมักมีความกังวลเรื่องลักษณะรูปทรงของศีรษะว่า สวยได้รูปและทุยหรือไม่ จึงนิยมจัดท่าให้เด็กนอนคว่ำ



ซึ่งจากฉบับที่แล้ว อาจทำให้มีข้อสงสัยและกังขากันอย่างมากในเรื่องที่ผมแนะนำให้เด็กนอนหงาย เนื่องมาจากปัญหาการนอนคว่ำ ที่อาจส่งผลเสียหลายอย่างและไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงในมุมมองของผมซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเรื่องโรคในเด็กครับ กล่าวคือ มีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตในขณะนอนหลับได้จากภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) แม้ว่าภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยในประเทศของเรา แต่ผมคิดว่าไม่ควรที่จะเสี่ยงดีกว่ามิใช่หรือครับ (สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome ในฉบับที่ 423 ได้ครับ) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของลูกน้อยจาก SIDS ได้โดยการให้ลูกนอนหงายครับ และควรให้นอนหงายทั้งการนอนช่วงกลางวันและกลางคืน

คราวนี้ปัญหาหรือคำถามที่ตามมาก็เกิดขึ้นว่า การนอนหงายจะส่งผลถึงลักษณะศีรษะของเจ้าตัวน้อยได้ คราวนี้จะทำอย่างไรให้เทวดาตัวน้อย ๆ ของพ่อแม่มีรูปหัวออกมาสวย หรือหัวไม่เบี้ยว และหากหัวเบี้ยวแล้วจะทำอย่างไร ดังนั้นในฉบับนี้ผมจึงขอเล่าถึงภาวะ "หัวเบี้ยว" เพื่อคลายความสงสัยหรือข้อคำถามจากฉบับก่อนครับ


 
 

หัวไม่ทุย หัวเบี้ยว คืออะไร

หัวไม่ทุยหรือหัวเบี้ยว เป็นหนึ่งในความผิดปกติในหลายแบบของกะโหลกศีรษะครับ ในกลุ่มที่แพทย์เรียกว่า "Skull deformities" หัวไม่ทุย คือ ลักษณะกะโหลกศีรษะบริเวณท้ายทอยแบนราบ ซึ่งทางแพทย์เรียกกระดูกนี้ว่า occiput ดังนั้นท้ายทอยแบนราบ คือ flat occiput ครับ คือภาวะที่กระดูก occiput ทั้งด้านซ้ายและขวาแบนราบไป แต่ถ้าหัวเบี้ยว ก็จะเกิดจากภาวะที่กระดูก occiput เพียงด้านซ้าย หรือด้านขวา ด้านใดด้านหนึ่งแบนราบไป ภาวะนี้พ่อแม่จะกังวลและวิตกมากกว่าครับ เข้าทำนองหัวแบนยังพอรับได้ แต่หัวเบี้ยวนี่ทำใจยาก เนื่องจากมองเห็นได้ชัด ไม่ใช่ไม่สวย แต่แลดูออกจะน่าเกลียดเลยด้วยซ้ำ ในทางการแพทย์ ภาวะนี้จะมีชื่อทางวิชาการแตกต่างกันไป แต่ที่ใช้บ่อยคือ Plagiocephaly ครับ ซึ่งเป็นภาษากรีกแปลว่า "หัวเบี้ยว"
 


 

หัวไม่ทุย หัวเบี้ยว เกิดจากอะไร

แบ่งแยกได้ 2 แบบ คือ แบบแรกเกิดตั้งแต่แรกคลอดใหม่ และแบบที่สองจะเกิดขึ้นภายหลัง ในแบบแรกจะพบว่าลักษณะศีรษะของลูกจะผิดปกติ ผิดรูปไปตั้งแต่แรกคลอดเลย สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือหลังคลอดใหม่ ๆ ครับ ซึ่งพบได้น้อยกว่าแบบหลังครับ แบบที่สอง เมื่อแรกคลอดจะปกติดีแต่ต่อมา หัวจะเริ่มผิดปกติ หรือเริ่มเบี้ยว

ในแบบแรกสาเหตุของหัวเบี้ยวชนิดนี้ส่วนใหญ่ เป็นความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์มารดา จากการกดทับของมดลูกต่อกะโหลกส่วนท้ายทอยของลูกเป็นเวลานาน จะพบได้ในรายที่แม่มีมดลูกเล็ก กดรัดมาก หรือในรายที่มีลูกแฝด หรืออาจพบหลังคลอดใหม่ ๆ จากการใช้อุปกรณ์ของสูตินรีแพทย์ เช่น การใช้คีมหรือเครื่องสุญญากาศช่วยคลอด ในรายที่มีปัญหาคลอดยากก็เป็นได้ ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะพบได้บ่อยกว่าเด็กทารกครบกำหนด เนื่องจากกะโหลกศีรษะของเด็กไม่แข็งเท่ากับผู้ใหญ่ คือจะไม่แตกร้าวแต่จะกดแล้วบุ๋มได้เหมือนลูกปิงปองครับ

ในรายที่กะโหลกศีรษะผิดรูปเกิดภายหลังคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากการนอนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ กะโหลกที่มีลักษณะรูปวงรีสวยงามจะเบี้ยวไปโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย และมักจะเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง ถ้านอนด้านนั้นนานมาก หรืออาจจะมีท้ายทอยแบนราบ ถ้านอนหงายเป็นเวลานานครับ เราเรียกหัวเบี้ยวแบบนี้ว่า "Positional skull deformities" ครับ
 


 

หัวเบี้ยวมีลักษณะอย่างไร

หัวเบี้ยว หรือ Plagiocephaly เป็นภาวะที่เกิดจาก ท่าทางการนอนท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะเป็นท่านอนหงาย (ต่อเนื่องจากบทความฉบับที่แล้วครับ) คือภายหลังที่มีการรณรงค์ให้เด็กแรกเกิดมีการนอนหงาย (Back to step) เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการนอนหลับ (SIDS) แล้วปรากฏว่ามีเด็กแรกเกิดมีปัญหาเรื่องกะโหลกศีรษะผิดรูปมากขึ้น ขอย้ำอีกครั้งว่า กะโหลกศีรษะผิดรูป (Skull deformities) นี้จะเกิดหลังคลอด ซึ่งเกิดจากการนอนหงายท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานครับ (positional related) ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญคือ แรกเกิดจะปกติหัวทุยดีแต่เมื่อโตขึ้น ท้ายทอยจะแฟบหรือแบนราบไป เด็กที่ศีรษะเบี้ยวจากปัญหานี้จะมีลักษณะคือ ถ้ามองจากด้านบนลงมาจะแล้วสังเกตตำแหน่งของใบหู กระดูกโหนกแก้ม (zygoma) กระดูกท้ายทอย (occiput) กระดูกหน้าผาก (frontal) จะพบว่ากระดูกท้ายทอยจะแบนไม่เท่ากับอีกด้าน กระดูกหน้าผากจะยื่นออกมา และใบหูจะเลื่อนไปด้านหลัง (ดูรูปประกอบ) ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยมากครับ อาจพบได้ 1 ใน 300 รายต่อการคลอดปกติ


 
 

ภาวะอื่นที่ทำให้ลูกหัวเบี้ยว

เด็กปกติทุกคนเวลานอนหงายไม่จำเป็นจะต้องมีหัวเบี้ยวทุกรายครับ ตัวเลขดังกล่าวข้างต้น ดงไม่ต้องตื่นตกใจมากนัก บางรายเท่านั้นที่มีปัญหา เด็กปกติสามารถหันคอไปมาได้เอง หรือสลับซ้ายทีขวาที ในเด็กบางคนที่เป็นโรคบางชนิด กะโหลกศีรษะนุ่มกว่าปกติ หรือเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือในเด็กบางรายจะมีความผิดปกติของคอ คือมีภาวะคอเอียงตลอดเวลา ที่ทางแพทย์จะเรียกว่า Torticollis ซึ่งเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แต่สาเหตุที่พบบ่อยมากคือจะมีเลือดออกในกล้ามเนื้อที่บริเวณคอ แล้วหายกลายเป็นพังผืด ให้กล้ามเนื้อด้านตรงข้ามทำงานตลอดเวลา คอจึงเอียง เด็กจะนอนหันหน้าด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลา นอกจากนี้จำเป็นต้องแยกจากกะโหลกผิดรูปที่เกิดจากรอยแยกของกะโหลก หรือ suture เชื่อมปิดเร็วกว่าปกติ (premature closure) โดยเฉพาะรอยแยกที่เรียกว่า Lamdoid ครับ (ดูรูปประกอบ) ในรายที่เกิดจากรอยแยกของกะโหลกปิดเร็ว (Lamdoid craniosynostosis จะพบได้น้อยกว่ามากมากครับ หรือ 3 ในแสนรายครับ


 

ป้องกันไม่ให้ลูกหัวเบี้ยวต้องทำอย่างไร

แม้ว่าภาวะนี้พบน้อย แต่หมอก็พบได้เป็นระยะ แม้เด็กส่วนมากจะพบว่ามีภาวะคอเอียงเสียมากกว่า อย่างไรก็ดีการป้องกันแน่นอนว่าสำคัญที่สุดครับ ในที่นี้ผมจะขอแนะนำผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ในระยะแรกคลอดหรือ 2 - 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เนื่องจากกะโหลกศีรษะจะอ่อน และเกิดความผิดปกติได้ง่าย ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ

ขณะที่ลูกน้อยนอนหงายเวลาหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องคอยช่วยจับศีรษะลูก สลับด้านที่นอนกดทับพลิกไปมาเป็น ระยะ ๆ สลับกันไปครับ และเมื่อเวลาลูกตื่นนอน มีความจำเป็นมากครับที่ต้องพยายามให้ลูกนอนคว่ำ (prone position) และหมอขอแนะนำด้วยว่าต้องคอยจับลูกนอนคว่ำหน้าในขณะตื่น การนอนคว่ำหน้าในเด็กจะทำเฉพาะตอนตื่นนอนเท่านั้นนะครับ ผมขอย้ำ เวลาตื่นนอนเราจะเรียกว่า Tummy time ครับ นอกเหนือจากจะช่วยให้ลูกได้มีโอกาสบริหารกล้ามเนื้อคอ และไหล่เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ ได้ด้วยแล้ว ขณะเดียวกันก็ป้องกันศีรษะเบี้ยวได้อีกด้วย

ในต่างประเทศ หรือพ่อแม่คนไทยบางรายเวลาลูกตื่นนอน มักจะให้ลูกนอนอยู่ในที่นอนเด็ก หรือ car seat ที่จะมีลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน เด็กจะอยู่ในท่านอนหงายตลอดเวลาแม้เวลาตื่นนอน การทำเช่นนี้ไม่แนะนำครับและจะส่งผลต่อรูปศีรษะของเด็กด้วย

การจัดตำแหน่งของศีรษะลูกบนเตียงนอนอาจช่วยได้ ในกรณีเด็กที่มีความจำเป็นต้องนอนหงาย แล้วหันคออยู่ท่าใดท่าหนึ่งตลอดเวลา เช่น อาจเกิดภาวะคอบิด ดังกล่าวข้างต้น การหันศีรษะลูกเพื่อให้มองเห็นกิจกรรมของพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงอาจช่วยให้เด็กมีความพยายาม ที่จะไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งตลอดไปได้


 
 

ถ้าลูกหัวเบี้ยวแล้วต้องทำอย่างไร

ในรายที่มีภาวะศีรษะเบี้ยวตั้งแต่แรกคลอด แต่ภายหลังจากคลอด 2 - 3 เดือน ก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ แต่หากเด็กเหล่านี้ยังนอนหงาย โดยใช้บริเวณท้ายทอยที่แบนราบสัมผัสพื้นต่อไป ภาวะดังกล่าวจะยังคงอยู่ครับ และอาจแย่ลงได้ด้วย การแย่ลงนั้นเกิดจากผิวหนังของศีรษะกดทับบริเวณท้ายทอยครับ ดังนั้น ในรายที่เกิดมีภาวะหัวเบี้ยวแล้ว อาจใช้วิธีนอนคว่ำ เวลาตื่นดังกล่าวข้างต้นหรือใช้วิธีการจัดเตียงแทน โดยให้เด็กนอนหงายนอกเหนือจากนอนคว่ำ แต่จัดท่าให้นอนหงายในท่าที่เด็กไม่ค่อยหันมองออกด้านนอก อาจหันเข้าหากลางห้อง เพื่อให้เด็กมีความพยายามที่จะเปลี่ยนท่านอนตนเอง การทำดังกล่าวจะช่วยได้แก้ปัญหาหัวเบี้ยวได้ แต่จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน


ในรายที่ทำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง การรักษาจะได้ผลดี หากมาพบแพทย์ในช่วงอายุของลูกประมาณ 4 - 12 เดือนครับ เนื่องจากเป็นช่วงที่กะโหลกศีรษะของลูกยังมีความอ่อน สามารถจะปรับเข้ารูปได้ง่าย ๆ ในรายที่ไม่ได้ผลอาจต้องลงเอยด้วยวิธีการใส่หมวกคล้ายหมวกกันน็อก หรือ (Skull molding helmet) ส่วนการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้ายและจะทำในรายที่ไม่ได้ผลจริง ๆ หรือมีปัญหาอื่น ซึ่งจะพิจารณาทำน้อยรายมากครับ






 

 
 
 
 

 
ที่มา ::
 
 
 
 
 


 
 
 

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

ท่านอนดีๆ สร้างหนูเก่งสมวัยได้

ท่านอนดีๆ สร้างหนูเก่งสมวัยได้ 




 

 

อย่างที่ทราบกันดีค่ะ ว่าลูกน้อยมีการเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่เลยทีเดียว เมื่อเจ้าหนูคลอดออกมาแล้ว พัฒนาการต่างๆ จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากได้รับการส่งเสริมเอาใจใส่อย่างถูกต้องจากคุณพ่อคุณแม่ 
 
การนอนสำหรับเด็กในวัยแบเบาะถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ นอกจากการมีชั่วโมงการนอนหลับที่เพียงพอแล้ว การจัดท่านอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของลูกน้อย โดยเฉพาะกับเด็กวัยแรกเกิดจนถึง 10 เดือนด้วยแล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหลังจากวัยนี้แล้ว หนูน้อยก็มีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์พร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าต่อไปค่ะ 
 

แรกเกิด - 3 เดือน ลูกยังไม่สามารถในการชันคอ แต่สามารถเอียงคอไปมาได้ ท่านอนหงาย เป็นท่านอนที่เหมาะสุดสำหรับลูกน้อยวัยนี้ ทั้งยังมีข้อดีคือ ทารกสามารถหมุนตัวสลับซ้ายขวาได้ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่อาจกลัวว่า ถ้าลูกน้อยนอนหงายบ่อยๆ ก็จะทำให้รูปทรงศีรษะไม่สวย ดังนั้น คุณแม่ก็ควรจับศีรษะพลิกตะแคงท่าเสียบ้างก็จะช่วยได้ค่ะ 
 
นอกจากนี้ การนอนหงายหรือนอนตะแคงยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ และเมื่อโตขึ้นมาก็จะกลายเป็นเด็กที่มีความช่างสังเกตมากกว่าเด็กที่ถูกจับให้นอนคว่ำอยู่เป็นประจำ โดยคุณแม่อาจหาผ้าหรือวัสดุที่มีสีสันสดใส และมองเห็นได้ชัดผ่านหน้าลูกช้าๆ ไปทางซ้าย - ขวา เพื่อให้ลูกได้พยายามหันศีรษะและมองตาม ก็เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้มีพัฒนาการได้เร็วยิ่งขึ้นค่ะ 
 

4-6 เดือน ลูกน้อยในวัยนี้สามารถยกหัวขึ้น ยันยกหน้าอกขึ้นได้ และหันหน้าไปมาได้ดีขึ้น มือกำและแบออกได้ เพื่อให้กล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกของร่างกายได้รับการพัฒนาอย่างดีและถูกต้อง ควรจะจับให้ได้นอนทุกๆ ท่าเปลี่ยนไปมาบ่อยๆ และเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหงาย ตะแคงซ้าย - ขวา แต่ยกเว้นการนอนคว่ำในช่วงการนอนหลับตอนกลางคืน 
 
แต่ท่านอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ได้ดีคือ ท่านอนคว่ำ เพราะจะช่วยให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนคอ เมื่อจับนอนคว่ำ ลูกน้อยก็ชอบที่จะใช้มือและแขนยัน ชันคอขึ้นมองสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยคุณแม่อาจหาผ้าปูที่นอน หรือภาพที่มีสีสันสดใส ไม่มีลวดลายมากจนเกินไป รวมทั้งของเล่นที่มีเสียงและคุ้นเคยมาเป็นตัวล่อก็ได้ค่ะ 
 

6 - 10 เดือน ลูกเริ่มนั่งได้เองแล้ว และพยายามคืบ - คลาน และสามารถพลิกตัวไปมาได้อย่างอิสระ ท่านอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับลูกวัยนี้สามารถทำได้หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่า จะเป็นนอนหงาย กึ่งนั่ง กึ่งนอนตะแคง หรือนอนคว่ำ การจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่ลูกน้อยสามารถเรียนรู้ได้อย่างชาญฉลาด แต่ต้องเลือกของเล่นที่ปลอดภัยผ่านมาตรฐานรับรองความปลอดภัยและสอดคล้องกับวัยของลูกด้วยนะคะ 








กลัวลูกหัวแบน...ไม่ทุยเสี่ยงโรค SIDS

 

คณะแพทย์แห่ง Harvard Medical School พบว่า มีเด็กทารกมากกว่าครึ่งที่เสียชีวิตเพราะโรคการตายโดยฉับพลัน หรือที่เรียกกันว่า SIDS โดยการนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกดทับจมูกปากจนขาดอากาศหายใจ ดังนั้นเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนควรจัดท่าให้นอนหงายเท่านั้น เพราะยังตะแคงหน้ายกศีรษะไม่เป็น แต่อาจจับนอนคว่ำบ้าง แต่ทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่นและมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กได้ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวแบนและได้ออกกำลังต้นแขนและหัวไหล่ให้เกิดความแข็งแรงด้วย
 






ภาพน้องปริญญ์  โคตะขุน
 



 
 




 

 
ที่มา    ::   http://motherandchild.in.th/






 
 
 







วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคตัดผมให้ลูก

เทคนิคตัดผมให้ลูก








 

 



เทคนิคตัดผมให้ลูก
 (รักลูก)





จะตัดผมให้ลูกแต่ละครั้ง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก ก็เจ้าตัวเล็กเริ่มอยู่ไม่สุข แม่เองก็มือไม้สั่นกลัวกรรไกรจะทิ่มหูทิ่มตาลูก คราวนี้ รักลูก เลยเก็บเทคนิคตัดผมให้ลูกน้อยมาฝากค่ะ 


ใช้กรรไกรปลายมน



ตัดตอนลูกหลับ จะตัดได้สะดวกที่สุด



พลิกศีรษะลูกเพื่อตัดผมทีละด้าน



ถ้าลูกผมหนา ลูบศีรษะลูกด้วยน้ำให้เปียกก่อนตัด





ลูกผมร่วง เรื่องเล็ก!


ลูกน้อยขวบแรกจะมีช่วงเวลาที่ลูกผมร่วงเพื่อเปลี่ยนผมใหม่ เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกค่ะ ในขณะเดียวกันผมชุดใหม่ก็กำลังจะงอกขึ้นมาแทนที่ ตัวการที่แท้จริงที่ทำให้ผมร่วงเกิดจากฮอร์โมนชนิดเดียวกับที่ทำให้ผมแม่หลังคลอดร่วงนั่นเองค่ะ


ถ้าผมพร้อมใจกันร่วงหมดหัว คงจะไม่กระไรนักหนา แต่นี่เราจะเห็นว่ามันร่วงเป็นหย่อม ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นบริเวณที่ศีรษะลูกถูไถกับหมอนบ่อย ๆ นั่นเอง ถ้าลูกนอนตะแคงหรือนอนคว่ำผมก็จะร่วงด้านข้างเป็นหย่อม ๆ ถ้านอนหงายก็จะร่วงด้านหลังแถวใกล้ๆ ท้ายทอย


เด็กบางคนผมอาจจะไม่ร่วงให้เห็น แต่จะเห็นผมขึ้นใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากเดิม อย่างเช่นเมื่อเกิดมาใหม่ ๆ ผมของลูกเส้นเล็กบางออกสีน้ำตาล ต่อมากลับดกดำเส้นใหญ่


ช่วงที่ผมร่วงลูกอาจจะดูตลกขี้เหร่ไปบ้าง บางคนเลยจับลูกโกนหัวเสียเลย บางคนแค่ขริบปลายให้ดูเป็นระเบียบขึ้น ขอแนะนำว่าอาจจะคอยพลิกให้ลูกนอนท่านั้นท่านี้สลับกันไป ผมของลูกจะได้ร่วงเท่า ๆ กันทุกด้าน


แต่ลูกจะขี้เหร่อย่างนี้ชั่วเวลาสั้น ๆ ไม่ทันไรผมขึ้นใหม่ลูกจะสดใสน่ารักยิ่งกว่าเดิมอีกค่ะ





ขริบผมเรียกขวัญ



ธรรมเนียมขริบผมเรียกขวัญ เป็นอีกธรรมเนียมหนึ่งที่ทำกันมาแต่โบราณ มักจะทำเมื่อลูกอายุครบเดือน โดยมากก็จะให้ผู้ใหญ่อาวุโสอย่างเช่นปู่ย่า ตายายเป็นคนขริบปลายผมลูก (และอาจจะถือโอกาสเล็มปลายผมโดยรอบให้เสมอกันด้วย) แล้วห่อผ้าเก็บไว้ มักจะเก็บรวมกับสายสะดือแห้ง ๆ อาจจะซุกไว้ใต้ฐานพระ เสมือนฝากฝังให้ท่านปกปักรักษาลูกน้อย เป็นพิธีกรรมที่ช่วยให้พ่อแม่ (โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์) อุ่นใจขึ้นค่ะ





โกนผมไฟ


ธรรมเนียมนิยมโกนผมไฟให้ลูกยังมีผู้นิยมอยู่บ้าง สมัยโบราณเป็นส่วนหนึ่งของพิธีรับขวัญเด็กเมื่ออายุครบเดือน แต่สมัยนี้บางคนอาจจะถือเอาการโกนผมลูกเป็นเรื่องของความสะดวกในการดูแลความสะอาดบริเวณศีรษะลูก เพราะเด็กเล็กอาจจะมีไขมาจับศีรษะเป็นสะเก็ดอย่างที่เรียกว่า "ชันตุ" ยิ่งบ้านเราอากาศร้อน การโกนผมให้ลูกเสียเลย จะทำให้ดูแลศีรษะลูกได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือบางคนอาจจะโกนผมลูกเพราะทนดูลูกผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ไม่ได้ พอผมลูกชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่ ลูกก็จะน่ารักน่าเอ็นดูสมใจค่ะ


ส่วนธรรมเนียมโกนผมไฟแท้ ๆ แต่โบราณนั้น เขาทำเมื่อลูกอายุครบเดือนกับอีกหนึ่งวัน ซึ่งสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ ระยะเดือนแรกที่เกิดมาจึงเป็นช่วงเสี่ยงอันตราย เด็กอาจเจ็บไข้ไม่สบายถึงกับเสียชีวิตได้ง่าย ๆ เมื่อพ้นเดือนมาแล้วก็พอจะแน่ใจว่าลูกได้ล่วงพ้นอันตรายแล้ว ผู้ใหญ่จึงทำพิธีรับขวัญลูก และบางทีก็เพิ่งมาตั้งชื่อลูกกันตอนนี้เอง


พิธีโกนผมไฟนั้นก็ให้ผู้ใหญ่ที่เคารพเป็นผู้โกนให้ เหลือผมกระหย่อมหนึ่งไว้กลางศีรษะเพื่อกันกระหม่อมที่ยังบางอยู่ ส่วนผมที่โกนแล้วเอาใส่ในกระทงหรือใบบัว แล้วเอาไป ลอยน้ำ จากนั้นญาติพี่น้องทำพิธีผูกข้อมือข้อเท้าลูกพร้อมให้พร


นี่เป็นพิธีอย่างง่าย ๆ ที่ชาวบ้านสมัยก่อนเขาทำกันทั่วไป แต่ถ้าเป็นลูกผู้ดีมียศศักดิก็จะมีพิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่น ต้องหาฤกษ์งามยามดี มีบายศรี เครื่องประกอบพิธีจุกจิกมากมาย ฯลฯ


เอาเป็นว่า ใครอยากจะอนุรักษ์ประเพณีโกนผมไฟลูก ที่ให้ความหมายทางจิตใจสร้างสานสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่-ลูก รวมไปถึงปู่ย่าตายาย ซึ่งจะทำให้ลูกของเราเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความอบอุ่นในครอบครัว ก็ทำกันอย่างง่าย ๆ เถอะ จับเอาแก่นของความหมายดังที่ว่านี้ก็พอค่ะ





ขริบผม

เราอาจจะขริบปลายผมของลูกที่ยาวหร็อมแหร็มให้เรียบเสมอกันเมื่อลูกอายุสัก 3 เดือนขึ้น แต่ก็มีบางคนขริบผมลูกเมื่อลูกอายุครบเดือนแทนการโกนผมไฟรับขวัญลูก








 
 
 
 

 
 
ที่มา          ::           

 
 
 
 
 
 

 
 

 











วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

การฆ่าเชื้อและทำความสะอาดขวดนมของลูก

การฆ่าเชื้อและทำความสะอาดขวดนมของลูก
 
 
 
 
ในช่วงขวบปีแรกนั้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายของลูกน้อยยังมีไม่มาก หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในขวดนมของลูกน้อย ก็อาจทำให้มีไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตต่างๆในขวดนมที่เมื่อลูกน้อยกินนมจากขวดนมดังกล่าวเข้าไปก็อาจทำให้ลูกน้อยเจ็บป่วยไม่สบาย และอาจรุนแรงถึงขั้นอาเจียนหรือท้องร่วงได้
 
ก่อนจะทำการฆ่าเชื้อ (Sterilize) นั้นจะต้องทำความสะอาดขวดนมของลูกน้อยเสียก่อน โดยการถอดชิ้นส่วนของขวดนมออกมาล้างให้ครบทุกชึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีคราบนมหลงเหลืออยู่ โดยควรล้างทันทีที่ลูกกินนมเสร็จ ใช้น้ำร้อนผสมน้ำสบู่อ่อนๆหรือใช้น้ำยาล้างขวดนมล้างทุกชิ้นส่วนของขวดนม (ไม่ว่าจะเป็น ภายในขวดนม-คอขวด-เกลียว จุกนม แหวนยาง รวมถึงฝาครอบจุกนม)ให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณจุกนมซึ่งอาจมีคราบน้ำนมหลงเหลืออยู่ ซึ่งในการฆ่าเชื้อนั้นไม่สามารถทำให้คราบเหล่านี้หลุดออกไปได้ เมื่อล้างชิ้นส่วนทุกชิ้นจนสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปล้างในน้ำสะอาดอีกครั้งเพื่อกำจัดสารตกค้างจากน้ำสบู่หรือจากน้ำยาล้างขวดนมให้หมดไป


สำหรับการล้างขวดนมด้วยเครื่องล้างจานนั้นก็สามารถทำได้ค่ะ แต่ควรแยกจุกนมมาล้างต่างหากเพื่อให้แน่ใจว่าจุกนมจะสะอาดจริงๆ และควรตรวจสอบขวดนมหลังการล้างทุกครั้งด้วยว่ามีรอยร้าวหรือรอยแตกหรือไม่ หากพบว่ามีก็ควรจะทิ้งไปเลยนะคะ ไม่ควรนำมาใช้ต่อค่ะ เพราะแบคทีเรียสามารถฝังตัวในรอยร้าวเหล่านั้น ซึ่งการฆ่าเชื้ออาจกำจัดได้ไม่หมดค่ะ
 
สำหรับการฆ่าเชื้อนั้นสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกันค่ะ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณพ่อคุณแม่แต่ละคน สำหรับวิธีที่ได้รับความนิยมได้แก่



 
 
• การฆ่าเชื้อด้วยที่นึ่งขวดนมไฟฟ้า: นับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันเนื่องจาก ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เพราะใช้เวลาทั้งหมดเพียง 8-12 นาทีเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับเครื่องแต่ละยี่ห้อ) นอกจากนี้ยังสามารถเก็บขวดที่ทำการฆ่าเชื้อแล้วให้อยู่ในสภาพปลอดเชื้อได้นานถึง 6 ชั่วโมง โดยที่นึ่งขวดนมไฟฟ้าส่วนมากจะนึ่งขวดนมได้มากที่สุดประมาณ 4-6 ขวดต่อการนึ่ง 1 ครั้ง
 
 
• การฆ่าเชื้อด้วยไมโครเวฟ: ต้องเป็นขวดนมที่ทำจากพลาสติกที่สามารถใช้กับไมโครเวฟได้เท่านั้นนะคะ โดยต้องเปิดฝาขวดนมออก นำขวดนมเข้าไปวาง แล้วตั้งเวลา 90 วินาทีในการฆ่าเชื้อแต่ละขวด (เพื่อความปลอดภัยควรสอบถามจากตัวแทนจำหน่ายของขวดนมยี่ห้อที่ใช้อยู่ว่าสามารถนำมาฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่)
หรือบางคนอาจซื้อที่นึ่งสำหรับไมโครเวฟมาใช้ก็ได้นะคะ ซึ่งจะใช้เวลา 3-8 นาที (รวมเวลาในการรอให้เย็นแล้ว)ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของไมโครเวฟแต่ละเครื่องค่ะ ควรระวังเวลาเปิดฝาที่นึ่งนะคะ เพราะภายในนั้นจะร้อนมาก หากนึ่งเสร็จแล้วไม่เปิดฝา ก็จะสามารถช่วยให้ขวดนมที่อยู่ในนั้นปลอดเชื้อต่อไปได้นานถึง 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว

 
• การฆ่าเชื้อด้วยเครื่องล้างจาน: ต้องตั้งอุณหภูมิของเครื่องล้างจานไว้ที่ 80 องศาเซียลเซสหรือมากกว่า โดยหลังจากฆ่าเชื้อเสร็จควรนำไปใช้ชงนมทันทีเพราะเมื่อออกจากเครื่องล้างจานแล้ว แบคทีเรียสามารถก่อตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว ไม่เหมาะกับการฆ่าเชื้อขวดนมที่ไม่ต้องการใช้งานในทันที

• การต้ม: เป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุดในการฆ่าเชื้อโรค นำอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องการฆ่าเชื้อใส่ลงในหม้อที่มีน้ำอยู่ โดยต้องดูให้แน่ใจว่าน้ำท่วมอุปกรณ์ทุกชิ้น ไม่มีฟองอากาศในขวดนมหรือในจุกนม จากนั้นปิดฝาและต้มเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ปิดฝาและเก็บอุปกรณ์ต่างๆไว้อย่างนั้นจนถึงเวลาที่ต้องการนำมาใช้ แต่วิธีนี้อาจทำให้จุกนมยางเสื่อมสภาพได้ง่าย


• การนึ่ง: นำอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องการฆ่าเชื้อใส่ลงในลังถึงที่มีน้ำอยู่ชั้นล่าง จากนั้นปิดฝาและต้มเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที
 
เมื่อฆ่าเชื้อขวดนมเสร็จแล้ว ควรเก็บไว้ในภาชนะฆ่าเชื้อนั้นก่อนนะคะ เพราะจะช่วยให้ขวดนมปลอดเชื้อได้นานยิ่งขึ้น เมื่อต้องการนำมาใช้ให้ทำความสะอาดพื้นที่วางขวดนมให้เรียบร้อยเสียก่อน ล้างมือแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นจึงนำขวดออกมาวางไว้บนพื้นที่ที่เตรียมไว้ ใช้คีมที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้วช่วยในการคีบจุกนมและแหวนยาง เก็บในภาชนะที่สะอาดและปิดมิดชิดจนถึงเวลาที่ต้องการนำมาใช้ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ขวดนมของลูกปลอดเชื้อได้แล้วค่ะ
 
 


ที่มา :: http://www.nestlebaby.com/



 
 
 









ล้างขวดนม อย่างไร...ให้หายห่วง
 



 
 
ล้างขวดนม อย่างไร...ให้หายห่วง (M&C แม่และเด็ก)
 

         
การล้างขวดนม จัดว่า เป็นปัญหาระดับชาติย่อม ๆ สำหรับหลาย ๆ บ้าน ถ้าล้างไม่สะอาด ลูกน้อยก็อาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายง่าย ๆ ทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย แต่แน่นอนที่สุด การล้างเฉพาะน้ำ และน้ำยาล้างขวดนมไม่เพียงพออย่างแน่นอน ขั้นตอนสุดท้าแล้ว พ่อแม่ควรนำไปฆ่าเชื้ออีกครั้งหนึ่งก่อนนำไปใช้ค่ะ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ตาม

 
 

ก่อนการฆ่าเชื้อ

         
ก่อนการฆ่าเชื้อทุกครั้ง เราควรใส่ใจในขั้นตอนการล้าง เริ่มตั้งแต่การถอดชิ้นส่วนของขวดนมเพื่อไปล้างด้วยน้ำเปล่าก่อน (คุณแม่อาจสวมวิญญาณเป็นบาร์เทนเดอร์ เกิร์ล โชว์ลีลาเขย่าน้ำกับขวดนมเข้าจังหวะไปด้วย ก็ได้อารมณ์อีกแบบ) เมื่อล้างชิ้นส่วนทั้งหมดแล้ว ก็นำมาล้างด้วยน้ำยาล้างขวดนมผสมกับน้ำอุ่น ขัดถูๆ ทั้งด้านในขวด และคอขวด เกลียวให้คราบนมหลุดออกให้หมด ไม่ให้เหลือจนจับเป็นคราบเหลืองได้ โดยเฉพาะจุกนมยางควรใช้แปรงขนาดพอเหมาะขัดคราบ พร้อมทั้งบีบน้ำให้ผ่านให้จุกนมยางด้วยค่ะ
 
 

สู่กระบวนการฆ่าเชื้อ
         
 
กระบวนการฆ่าเชื้อก็มีหลายวิธี ที่เราสามารถเลือกปฏิบัติตามความสะดวก แล้วแต่ความถนัด
 
การต้ม หากจะให้ขวดนมมีรสชาติดียิ่งขึ้น ลองต้มด้วยเตาถ่ายดูสิคะ อิ อิ ไม่ใช่ทำกับข้าว เข้าเรื่องนะคะ ก็นำชิ้นส่วนทั้งหมดที่ล้างมาใส่ลงไปในหม้อ เสร็จแล้วก็เติมน้ำสะอาดจนท่วมทุกชิ้นส่วน ต้มนาน 20-25 นาที แล้วค่อยเก็บชิ้นส่วนทั้งหมดขึ้นจากหม้อต้ม แม้เป็นภูมิปัญญาบ้านๆ และช่วยเซฟเงินได้ดี แต่การฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ก็อาจทำให้จุกนมเสื่อมสภาพเร็วมากๆ

         
 


หม้อนึ่งไฟฟ้า ไฮโซเริดหรู ดูมีชาติตระกูลก็ต้องวิธีนี้แหล่ะค่ะ หากตั้งใจเปิดโรงงานผลิตลูกหลายหน่อแล้ว การลงทุนครั้งเดียวก็คุ้มสุด ๆ แน่นอนเพียงแค่วางชิ้นส่วนต่าง ๆ ของขวดนมลงในหม้อนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เติมน้ำสะอาดลงไปประมาณ 2 ออนซ์ แล้วเสียบปลั๊กไฟนึ่งไว้ประมาณ 10 นาที (ปริมาณน้ำและระยะเวลาในการนึ่ง ก็อาจแตกต่างกันไป ตามยี่ห้อของหม้อนึ่ง) เพียงแค่นี้คุณแม่ก็มีเวลาชิว ๆ ดูซีรี่ส์ เกาหลีต่อไปอย่างสบายใจเฉิบแล้วค่ะ




น้ำยาฆ่าเชื้อ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือเม็ดทำความสะอาดขวดนม ก็ให้เติมน้ำสะอาดลงในภาชนะที่จะใช้ใส่ขวดนมให้ให้ท่วมทุกชิ้นส่วน จากนั้นก็ให้เติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือเม็ดทำความสะอาดขวดนมลงไป คลุกเคล้าให้ละลายเข้ากัน ก่อนใส่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ลงไป แล้วใช้มือกดทุกชิ้นส่วนให้จมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะขวดนมควรไล่อากาศออกให้หมดเสียก่อนค่ะ จากนั้นปิดภาชนะไว้ประมาณ 30 นาที หรือตามคำแนะนำการใช้ยา ก็เป็นอันเรียบร้อย
 
 

ขวดนมไม่ใช่เรื่องลวก ๆ

         
ลูกน้อยวัยแรกเกิด-6 เดือน ภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อในลำไส้ไม่ค่อยแข็งแรงนัก นอกจากนมแม่แล้วไม่ควรให้หม่ำอาหารอย่างอื่น โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดต้องระมัดระวังมาก ๆ ควรใช้กาต้มขวดนม มากกว่าอาศัยความง่ายเข้าว่า ด้วยการลวก เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยเป็นโรคลำไส้อักเสบบ่อย ๆ ได้ค่ะ


 
 
 
ที่มา :: ปีที่ 33 ฉบับที่ 460 มิถุนายน 2553
 
 
 
 
 
 
 

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

การใช้จุกหลอก

การใช้จุกหลอก
 

 
 
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนจะใช้จุกหลอกเพื่อช่วยไม่ให้น้องร้องงอแง แต่บางคนก็ไม่ชอบใจเอาซะเลยที่ต้องใช้เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ ส่วนบางคนเคยคิดตอนก่อนมีน้องว่าจะไม่ใช้มันแน่ๆ แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะเจอกับปัญหาเจ้าตัวเล็กร้องไห้กระจองอแงค่ะ
 
 
 

ถ้าคุณตัดสินใจใช้จุกหลอก


 
 

• ให้เลือกใช้จุกหลอกที่เป็นทำเป็นหัวนมยาง (Orthodontic dummy)

• รักษาความสะอาดของจุกหลอกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คอยนำไปฆ่าเชื้อบ่อยครั้งเหมือนกับจุกนมยางที่ใช้กับขวดนม

• เปลี่ยนจุกหลอกและจุกนมยางที่ใช้กับขวดนมบ่อยๆ คอยดูว่ามีรอยแตก รอยฉีก หรือมีรูรั่วหรือไม่ เพราะรอยเหล่านี้อาจเป็นที่สะสมเชื้อโรคได้ ถ้าพบให้รีบเปลี่ยนอันใหม่ทันทีค่ะ

• ห้ามนำจุกหลอกไปจุ่มอาหารรสหวานๆ เช่น น้ำผึ้งหรือน้ำส้มเพื่อให้ช่วยให้น้องหยุดร้องไห้ การทำแบบนี้จะทำให้น้องฟันผุเร็วนะคะ

• พยายามจำกัดการใช้จุกหลอกเฉพาะเวลาจำเป็น เช่น ระหว่างน้องร้องไห้ไม่หยุด หรือเพื่อช่วยให้น้องนอน การใช้จุกหลอกเป็นเวลานานสัมพันธ์กับอาการติดเชื้อที่หูชั้นกลางและปัญหาอื่นๆ (ดูข้อเสียได้ที่ด้านบนค่ะ)

• รอให้น้องอยากได้จุกนมก่อนแล้วค่อยให้ ดีกว่าให้น้องไปโดยที่เขาไม่ได้ขอ

• พยายามให้น้อง "เลิก" ดูดจุกหลอกก่อนเขาครบหนึ่งขวบ (ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่ามากค่ะ ดีกว่าไปให้น้องเขาเลิกตอนโตได้ 2-3 ขวบแล้ว) และแน่นอนว่า ต้องก่อนฟันแท้ของเขาขึ้นด้วยนะคะ (โดยปกติจะเป็นตอน 6 ขวบ)

• อย่าให้น้องดูดจุกหลอกจนติดเป็นนิสัย

 
 
 
การให้น้องเลิกดูดจุกหลอก...
 

 

ถ้าเจ้าตัวเล็กดูดจุกหลอกตลอดเวลาหรือไม่ยอมเลิกตามที่คุณต้องการ ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ดูนะคะ

• ค่อยๆ ลดเวลาที่ให้น้องดูดจุกหลอก

• จำกัดการใช้จุกหลอกเฉพาะช่วงที่จำเป็นในแต่ละวัน เช่น เวลาเข้านอน หรือเวลาที่น้องไม่สบาย คุณต้องหนักแน่นหน่อยนะคะ

• ให้รางวัลเจ้าตัวเล็กด้วยการเล่นกิจกรรมสนุกๆ หรือให้รางวัลโดยใช้แผ่นสะสมดาวหรือสติกเกอร์ อย่าให้น้องกินขนมแทนการใช้จุกหลอกค่ะ

• ชี้ให้น้องดูพี่ๆ ที่โตกว่าว่าเขาไม่ดูดจุกนมกันแล้วนะ เด็กๆ ก่อนวัยเรียนอยากจะโตเหมือนผู้ใหญ่ค่ะ

• เชียร์ให้น้องยกจุกหลอกทั้งหมดให้กับคนสำคัญของเขา เช่น คุณปู่หรือพี่เลี้ยงที่โรงเรียนอนุบาล

โปรดจำไว้นะคะว่าในที่สุดแล้ว เจ้าตัวน้อยของคุณจะโตเกินกว่าที่จะใช้จุกหลอกค่ะ

 
 
 

ข้อดีของการใช้จุกหลอก
 

 

การใช้จุกหลอกมีข้อดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแล คือ ช่วยให้น้องไม่งอแง หรือช่วยให้น้องหลับได้ง่าย การดูดจุกหลอกช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ค่ะ จึงเป็นเหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่มักให้น้องดูดจุกหลอกเวลาที่ร้องไห้นานๆ (เช่น เมื่อร้องไห้ไม่หยุดหรือที่เรียกว่ามีอาการโคลิก) หรือเมื่อไม่สบายตัว

การดูดจุกหลอกมีประโยชน์มากสำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผลการวิจัยหลายฉบับพบว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดสามารถเปลี่ยนจากการรับอาหารทางสายยางเป็นการดูดนมจากขวดนมแทนได้รวดเร็วกว่า และทารกจะดูดนมจากขวดได้ดีกว่าถ้าให้เขาดูดจุกหลอกก่อนป้อนนม นอกจากนี้ ถ้าทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ดูดจุกหลอก เขาจะออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ
 
 
 

ข้อเสียของการใช้จุกหลอก
 

 

• เพิ่มโอกาสติดเชื้อในช่องหู -- มีหลักฐานที่เป็นที่ยอมรับว่าการใช้จุกหลอกเป็นเวลานานสัมพันธ์กับอาการติดเชื้อในช่องหูชั้นกลาง ซึ่งแม้ว่าอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในการดำเนินชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น สภาพภายในบ้านไม่เหมาะสม หรือครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การใช้จุกหลอกก็ยังเป็นเหตุที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อในช่องหูด้วยเหตุผลข้อหนึ่ง คือ เป็นที่เชื่อกันว่าการดูดจุกหลอกจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อจากปากไปยังช่องคอส่วนบนเข้าสู่ช่องหูชั้นกลางผ่าน Eustachian tube (ช่องอากาศที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับด้านหลังของลำคอ) ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้จุกหลอกเพื่อช่วยให้น้องไม่งอแงเท่านั้นนะคะ

• ความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในช่องท้องและการติดเชื้อบริเวณอื่น -- การใช้จุกหลอกสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น เช่น อาเจียน มีไข้ ท้องเสีย และอาการโคลิก รวมทั้งอาจทำให้ต้องเชิญคุณหมอไปที่บ้านบ่อยครั้ง หรือต้องไปพาน้องโรงพยาบาลบ่อยกว่าเดิมค่ะ

• การใช้จุกหลอกนานๆ อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับฟันได้ -- สมาคมสุขภาพช่องปากของอังกฤษ (British Dental Health Foundation) แนะนำว่า ไม่ควรใช้จุกหลอกหรือให้น้องดูดนิ้ว เพราะทั้งสองอย่างนี้จะสร้างปัญหากับฟันที่งอกขึ้นมา โดยเฉพาะถ้าเด็กยังคงดูดจุกหลอกหรือดูดนิ้วเมื่อฟันแท้เริ่มงอกแล้ว ซึ่งในการแก้ปัญหานี้ เด็กอาจจำเป็นต้องดัดฟันนานเป็นปีหรือสองปีเมื่อโตขึ้น
 

• เกิดปัญหาในการพูด -- การใช้จุกหลอกทำให้น้องไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสำหรับเขาในการเรียนรู้การพูด และทำให้น้องที่ก้าวเข้าสู่วัยหัดเดินไม่กล้าพูดออกมา ซึ่งเป็นวัยที่ควรเริ่มพัฒนาทักษะการพูดแล้ว

• การใช้จุกนมหลอกทุกวันเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ -- มีหลักฐานชัดเจนว่า คุณแม่ที่ใช้จุกนมหลอกมีแนวโน้มที่จะทำให้น้องหย่านมเร็วกว่าคุณแม่ที่ให้ลูกดื่มนมแม่จากอกและไม่ใช้จุกนมหลอกทุกวัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งยังพบด้วยว่า คุณแม่ที่ใช้จุกนมหลอกมีแนวโน้มจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงเวลาที่สั้นกว่า หรือพบว่าคุณแม่มีน้ำนมไม่พอเมื่อน้องมีอายุอย่างน้อยหนึ่งเดือน

การใช้จุกหลอกเกี่ยวข้องกับการที่คุณแม่ให้น้องหย่านมเร็วหรือไม่นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บางคนแย้งว่า การที่คุณแม่ใช้จุกหลอกเป็นเพราะคุณแม่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมของตนเองตั้งแต่แรกหรือเป็นเพราะไม่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บางคนคิดว่า ทารกติดจุกหลอกหรือจุกนมยางจนไม่ยอมกลับไปกินนมแม่เพราะเกิดความสับสน ซึ่งเราอาจเรียกว่า ปัญหาติดจุก (Nipple Confusion) บางคนก็โต้แย้งว่า การใช้จุกนมยางแทนการกินนมแม่ทำให้ไม่มีการกระตุ้นทรวงอกให้ผลิตน้ำนมออกมา จึงทำให้มีน้ำนมไม่เพียงพอ คุณแม่ที่ให้น้องหย่านมในช่วงหกเดือนแรกมักให้เหตุผลว่า ที่ต้องให้น้องหย่านมก็เพราะเธอ "มีน้ำนมไม่เพียงพอ" นั่นเอง

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม การใช้จุกนมหลอกทุกวันนั้นสัมพันธ์กับการหย่านมแม่ก่อนที่ทารกน้อยจะมีอายุครบสามเดือน องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ทารกทุกคนควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีประโยชน์มากมาย ดังนั้น ทั้งองค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund) จึงไม่สนับสนุนการใช้จุกหลอกหรือจุกนมยางเป็นอย่างยิ่งค่ะ และเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ ขั้นตอนที่ 9 ใน "คำแนะนำสิบขั้นตอนเพื่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่" จากโครงการดูแลทารกในประเทศอังกฤษขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF UK Baby Friendly Initiative) จึงบอกไว้ว่า อย่าให้ลูกที่กินนมแม่ไปดูดจุกนมยางหรือจุกหลอกค่ะ
 
 
 
จุกหลอกกับภาวะการตายเฉียบพลันในทารก (SIDS)

 
 

มีหลักฐานเพิ่มขึ้นที่บ่งชี้ว่า การใช้จุกหลอกมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ทารกเกิดภาวะการตายเฉียบพลัน ในอดีตนั้น เคยมีการวิจัยขนาดใหญ่แบบผลไปหาเหตุ (Case-control Study) ของภาวะการตายเฉียบพลัน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษ รายงานในปี 2542 ว่า การใช้จุกหลอกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะการตายเฉียบพลัน โดยความเสี่ยงนี้จะเกิดกับทารกที่ใช้จุกหลอกเป็นประจำแต่ไม่ได้ใช้จุกหลอกเมื่อเข้านอนก่อนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ระบุนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญอีกต่อไปเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญกว่า

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal) ในเดือนธันวาคมปี 2548 ว่า แท้ที่จริงนั้น การใช้จุกหลอกกลับช่วยป้องกันภาวะการตายเฉียบพลัน (SIDS) ได้ การวิจัยซึ่งดำเนินการในรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ ได้ศึกษาการใช้จุกหลอกในทารก 185 คนที่มีเสียชีวิตจากอาการ SIDS และทารกในกลุ่มควบคุมอีก 312 คน พบว่าการใช้จุกหลอกสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อภาวะ SIDS โดยเฉพาะเมื่อเราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การนอนคว่ำหรือนอนตะแคง การนอนบนที่นอนนิ่มๆ หรือนอนกับคุณแม่ที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่า การดูดนิ้วน่าจะช่วยป้องกันภาวะการตายเฉียบพลันได้ด้วยค่ะ

ผลจากการวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่าทารกทุกคนควรใช้จุกนมหลอกเป็นประจำนะคะ ผู้ดำเนินการวิจัยนี้กล่าวว่าการค้นพบของพวกเขายืนยันได้ว่า จุกนมหลอกมีผลช่วยป้องกันภาวะการตายเฉียบพลันได้ แต่ก็ยังไม่มี "หลักฐานชัดเจน" ที่พิสูจน์ถึงเหตุและผลของความสัมพันธ์นี้ ผู้ดำเนินการวิจัยยังกล่าวย้ำด้วยว่า "การค้นพบในเบื้องต้นเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการยืนยัน"

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมการใช้จุกนมหลอกจึงช่วยป้องกันภาวะ SIDS ได้  แต่ผู้ดำเนินการวิจัยเสนอแนะเหตุผลที่เป็นไปได้ไว้สองข้อ คือ

1) ส่วนที่เป็นมือจับชิ้นใหญ่ภายนอกของจุกนมหลอกอาจช่วยป้องกันไม่ให้จมูกกับปากของทารกถูกปิดกั้นหรือถูกที่นอนนิ่มๆ ปิดไว้

2) การดูดจุกนมอาจช่วยให้ทารกควบคุมระบบทางเดินหายใจส่วนต้นได้ดียิ่งขึ้น
 

แต่อย่าลืมปัจจัยอื่นๆ ด้วยนะคะ เช่น การให้น้องนอนหงาย และคุณพ่อคุณแม่ห้ามสูบบุหรี่ เพราะปัจจัยเหล่านี้สำคัญยิ่งกว่าสำหรับการป้องกันอาการ SIDS นอกจากนี้ อย่ารีบตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงข้อดีและข้อเสียอื่นๆ ของจุกนมหลอก (ดูข้อดีและข้อเสียได้ที่ด้านบนค่ะ) การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญมากต่อการสร้างเสริมสุขภาพของลูกน้อย และเป็นที่แน่นอนว่า จุกนมหลอกทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง




 

 
 
 
 
 
 
ที่มา       ::         BabyCenter