บัญญัติ 10 ประการ
พระบัญญัติ 10 ประการ หรือ บทบัญญัติ 10 ประการ (อังกฤษ: Ten Commandments; ฮีบรู: עשרת הדיברות; แอราเมอิก: ܥܣܪܐ ܦܘܩܕܢܐ; กรีก : Δέκα εντολές;) คือรายการคำสอนและข้อปฏิบัติตามคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งเชื่อว่าพระยาห์เวห์ได้ประทานแก่วงศ์วานอิสราเอล ผ่านทางโมเสส ที่ภูเขาซีนาย บัญญัตินี้สลักไว้บนแผ่นหิน 2 แผ่น บัญญัติ 10 ประการใช้ในศาสนาคริสต์และศาสนายูดาห์
ในภาษายิดดิช ใช้คำว่า Aseret ha-Dvarîm עשרת הדברים ในภาษาฮีบรูและภาษาฮีบรูมิซนะห์ ใช้คำว่า Aseret ha-Dibrot עשרת הדברות ซึ่งทั้งสองคำหมายถึง บัญญัติ 10 ประการ และมีการใช้ในภาษากรีก ซึ่งแปลมาจากภาษาฮีบรูว่า δέκα λόγοι (dekalogoi) หมายถึง คำสิบคำ (the ten words) อีกด้วย
เนื้อหา
ตามคัมภีร์ฮีบรู บัญญัติชุดนี้ปรากฏในหนังสืออพยพและหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ และไม่ได้แบ่งเป็นข้อไว้แต่แรก ในสมัยต่อมาจึงจัดลำดับเป็น 10 ข้อเพื่อความสะดวก อย่างไรก็ตามตำราทางศาสนาคริสต์แต่ละฉบับไล่ลำดับบัญญัติทั้ง 10 ไว้ต่างกัน
ในปัจจุบัน มีการเรียงลำดับบัญญัติ 10 ประการ ไว้ 7 แบบ ดังนี้
รูปแบบ :
🟣 ซ: เซปตัวจินต์ - ใช้ในนิกายโปรเตสแตนต์ และนิกายออร์ทอดอกซ์ ตามลำดับในพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย
🟣 ฟ: ไฟโล - เหมือนฉบับเซปตัวจินต์ แต่ข้อ "ห้ามฆ่าคน" กับ "ห้ามล่วงประเวณีผัวเมียเขา" สลับกัน
🟣 ท: ทาลมุด - เอาอารัมภบทเป็นข้อหนึ่ง และรวมข้อ "ห้ามนับถือพระเจ้าอื่น" กับ "ห้ามบูชาเทวรูป" เป็นข้อเดียว ใช้ในศาสนายูดาห์
🟣 อ: ออกัสตินแห่งฮิปโป - ถือตามฉบับทาลมุดที่รวมข้อ "ห้ามนับถือพระเจ้าอื่น" กับ "ห้ามบูชาเทวรูป" เป็นข้อเดียว แต่ไม่นับอารัมภบทเป็นข้อหนึ่ง และแบ่งข้อ "ห้ามโลภ" เป็นสองข้อ ตามลำดับคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษ ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 5:21
🟣 ค: คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก - ซึ่งถือตามฉบับนักบุญออกัสติน ใช้ในนิกายโรมันคาทอลิก
🟣 ล: ลูเทอแรน - ยึดตามหนังสือ "The Large Catechism" ของมาร์ติน ลูเทอร์ ซึ่งถือตามฉบับออกัสติน แต่ตัดข้อ "ห้ามบูชาเทวรูป" ออก และเรียงลำดับข้อ 9 และ 10 ตามลำดับคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษ ในหนังสืออพยพ
🟣 ป: คริสตจักรปฏิรูป - ยึดตามหนังสือ "สถาบันคริสต์ศาสนา" ของฌ็อง กาลแว็ง ซึ่งถือตามเซปตัวจินต์
ซ | ฟ | ท | อ | ค | ล | ป | เนื้อหาหลัก | อพยพ 20:1-17 | เฉลยธรรมบัญญัติ 5:4-21 |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
— | — | 1 | — | 1 | — | (1) | เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า | 2 | 6 |
1 | 1 | 2 | 1 | 1 | 1 | 1 | ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา | 3 | 7 |
2 | 2 | 2 | 1 | 1 | — | 2 | ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน | 4–6 | 8–10 |
3 | 3 | 3 | 2 | 2 | 2 | 3 | ห้ามใช้พระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าไปในทางที่ผิด | 7 | 11 |
4 | 4 | 4 | 3 | 3 | 3 | 4 | จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ | 8–11 | 12–15 |
5 | 5 | 5 | 4 | 4 | 4 | 5 | จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า | 12 | 16 |
6 | 7 | 6 | 5 | 5 | 5 | 6 | ห้ามฆ่าคน | 13 | 17 |
7 | 6 | 7 | 6 | 6 | 6 | 7 | ห้ามล่วงประเวณีผัวเมียเขา | 14 | 18 |
8 | 8 | 8 | 7 | 7 | 7 | 8 | ห้ามลักขโมย | 15 | 19 |
9 | 9 | 9 | 8 | 8 | 8 | 9 | ห้ามเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน | 16 | 20 |
10 | 10 | 10 | 10 | 10 | 9 | 10 | ห้ามโลภ (บ้านเรือนของเพื่อนบ้าน) | 17a | 21b |
10 | 10 | 10 | 9 | 9 | 10 | 10 | ห้ามโลภ (ภรรยาของเพื่อนบ้าน) | 17b | 21a |
10 | 10 | 10 | 10 | 10 | 10 | 10 | ห้ามโลภ (ทาสทาสีของเขา หรือโค ลาของเขา หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นของของเพื่อนบ้าน) | 17c | 21c |
- ข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลข้างต้น เป็นสำนวนแปลตาม พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011 ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย
ฉบับภาษาไทย
บัญญัติ 10 ประการ ได้แปลเป็นภาษาไทยหลายฉบับ โดยมีสำนวนภาษาและลำดับข้อแตกต่างกันไป ดังนี้
บัญญัติ 10 ประการ ฉบับลูเทอแรน
ตามหนังสือ "รากฐานมั่นคงแห่งความเชื่อคริสเตียน" ที่สถาบันศาสนศาสตร์ลูเธอร์แรนจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2537 มีรายละเอียดดังนี้
1. จงอย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา (อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน)
2. จงอย่าออกพระนามของพระเจ้าของเจ้าอย่างไม่สมควร
3. จงระลึกถึงวันซะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์
4. จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า
5. จงอย่าฆ่าคน
6. จงอย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา
7. จงอย่าลักทรัพย์
8. จงอย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน
9. จงอย่าโลภครัวเรือนของเพื่อนบ้าน
10. จงอย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน หรือทาสทาสีของเขา หรือ โค ลา ของเขา หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นของเพื่อนบ้าน
บัญญัติ 10 ประการ ฉบับคาทอลิก
สำหรับสำนวนแปลที่คริสตชนโรมันคาทอลิกในประเทศไทยใช้ในปัจจุบัน ตาม "บทภาวนาของคริสตชน (ฉบับปรับปรุง 2010)" มีดังนี้
เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน
1. จงนมัสการ องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าองค์เดียวของท่าน
2. จงอย่าออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ
3. จงอย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์
4. จงนับถือบิดามารดา
5. จงอย่าฆ่าคน
6. จงอย่าผิดประเวณี
7. จงอย่าลักขโมย
8. จงอย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น
9. จงอย่าปลงใจผิดประเวณี
10. จงอย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น
บัญญัติ 10 ประการ ฉบับโปรเตสแตนต์
สำหรับสำนวนแปลของคริสตชนโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย ตาม "พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011" ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย มีรายละเอียดดังนี้
เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์คือจากแดนทาส
1. จงห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา
2. จงห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้องบน หรือบนแผ่นดินเบื้องล่าง หรือในน้ำใต้แผ่นดิน ห้ามกราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น เพราะเราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่หวงแหน ให้โทษของบิดาตกทอดไปถึงลูกหลานของผู้ที่ชังเราจนถึงสามชั่วสี่ชั่วอายุคน แต่แสดงความรักมั่นคงต่อคนที่รักเรา และรักษาบัญญัติของเราจนถึงนับพันชั่วอายุคน
3. จงห้ามใช้พระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าไปในทางที่ผิด เพราะผู้ที่ใช้พระนามของพระองค์ไปในทางที่ผิดนั้น พระยาห์เวห์จะทรงเอาโทษ
4. จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ จงทำงานทั้งสิ้นของเจ้าหกวัน แต่วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นห้ามทำงานใดๆไม่ว่าเจ้าเอง หรือบุตรชายบุตรหญิงของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือสัตว์ใช้งานของเจ้า หรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประตูเมืองของเจ้า เพราะในหกวันพระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก เพราะฉะนั้นพระยาห์เวห์ทรงอวยพรวันสะบาโต และทรงตั้งวันนั้นไว้เป็นวันบริสุทธิ์
5. จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า เพื่ออายุของเจ้าจะได้ยืนยาวบนแผ่นดิน ซึ่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าประทานแก่เจ้า
6. จงห้ามฆ่าคน
7. จงห้ามล่วงประเวณีผัวเมียเขา
8. จงห้ามลักขโมย
9. จงห้ามเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน
10. จงห้ามโลภบ้านเรือนของเพื่อนบ้าน ห้ามโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน หรือทาสทาสีของเขา หรือโค ลาของเขา หรือสิ่งใดๆ ซึ่งเป็นของของเพื่อนบ้าน
อ้างอิง
- อพยพ 34:28, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011, สมาคมพระคริสตธรรมไทย
- ↑ อพยพ 20 เก็บถาวร 2016-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์
- ↑ 3.03.1 Catechism of the Catholic Church, Can. 2066
- ↑ Luther's Large Catechism เก็บถาวร 2013-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1529)
- ↑ “เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์คือจากแดนทาส
- ↑ “‘เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์คือออกจากแดนทาส
- ↑ “ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา
- ↑ “‘ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา
- https://th.wikipedia.org/wiki/
บัญญัติ 10 ประการ บัญญัติ 10 ประการฉบับคาทอลิก บัญญัติ 10 ประการฉบับลูเทอแรน บัญญัติ 10 ประการฉบับโปรเตสแตนต์
พระบัญญัติ 10 ประการ
ตอบลบพระบัญญัติ 10 ประการ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมปฏิบัติหรือการปฏิบัติตัวของบรรดาคริสตชนนั้น มีหลักหรือแนวทางอยู่ที่พระบัญญัติของพระเจ้า 10 ประการ
ต่อจากนี้ไปเราจะได้พิจารณากันในรายละเอียดว่า แต่ละประการนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง…
พระบัญญัติพระเจ้า 10 ประการนี้ ถ้าเราพิจารณาดีๆ จะพบว่าแบ่งออกเป็น 2 ภาคอย่างชัดเจน กล่าวคือ
1. พระบัญญัติประการที่ 1-3 จะเป็นพระบัญญัติที่กล่าวถึงหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติต่อพระเจ้า
2. พระบัญญัติประการที่ 4-10 จะเป็นพระบัญญัติที่กล่าวถึงหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันและกัน
ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในพระบัญญัติแต่ละข้อจะมีลักษณะที่ของการสั่งให้กระทำ และ ห้ามกระทำ อยู่ในตัวเอง เช่นเดียวกับกฎหมายทั่วๆไป เหมือนกัน และเพื่อให้เห็นภาพของพระบัญญัติชัดเจนขึ้นจะขอนำตัวบทของพระบัญญัติ 10 ประการมาให้เห็นกันอย่างชัดเจน
พระบัญญัติ 10 ประการ
(อพย 20 : 1-7, ฉธบ 5 : 1-21)
“เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน”
หน้าที่ต่อพระเจ้า
1. จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าพระองค์เดียวของท่าน
2. อย่าออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ
3. อย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์
หน้าที่ต่อมนุษย์ด้วยกันเอง
4. จงนับถือบิดามารดา
5. อย่าฆ่าคน
6. อย่าผิดประเวณี
7. อย่าลักขโมย
8. อย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น
9. อย่าปลงใจผิดประเวณี
10. อย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น
ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)
พระบัญญัติ 10 ประการ
ตอบลบ1. “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา”
พระบัญญัติประการแรก “เราเป็นพระเจ้าของท่าน ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา”
หมายความว่า คริสตชนจะต้องรักษาและปฏิบัติตาม ความเชื่อ (faith) เชื่อในพระเจ้าและปฏิเสธทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามเช่นความสงสัยโดยจงใจ ความไว้ใจหรือความหวัง (hope) รอคอยความสุขแท้จริงจากพระเป็นเจ้าด้วยความเชื่อมั่น ความรัก (charity) รักพระเจ้าเหนือสิ่งทั้งปวง มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่ด้านศีลธรรมที่จะแสวงหาความจริง ไม่มีใครสามารถถูกบังคับให้กระทำอะไรที่ขัดกับมโนธรรมของตน
พระบัญญัติประการนี้ห้าม การนับถือพระเจ้าหลายองค์ และการนับถือรูปปฏิมา ซึ่งทำให้สิ่งสร้างเป็นพระเจ้า การถือนอกรีต เป็นการเบี่ยงเบนการถวายบูชาซึ่งเราให้กับพระเจ้าแท้ การไม่ถือศาสนา เป็นการทดสอบลองดีพระเป็นเจ้าทั้งด้วยวาจาหรือการกระทำ ลัทธิอเทวนิยม เป็นการปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้า ลัทธิอจิตไตยนิยม ยืนยันว่าไม่มีอะไรทำให้เรารู้จักพระเจ้าได้ ในพันธสัญญาเดิมนั้นห้ามมิให้มีอะไรมาแทนพระเป็นเจ้า การเคารพต่อรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชนทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้นมา โดยการรับสภาพมนุษย์ของพระบุตร นี่ไม่ใช่การนมัสการรูปภาพแต่เป็นการให้ความเคารพ
พระบัญญัติประการที่สอง “อย่าออกพระนามพระเป็นเจ้าของเจ้าอย่างไม่เหมาะสม”
พระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าได้รับการเคารพด้วยการวิงวอน การถวายพระพรและพระเกียรติ ดังนั้นจึงห้ามออกพระนามพระเจ้าในทางที่ผิด เช่น การสบประมาท การด่าแช่งและความไม่ซื่อสัตย์ ต่อคำสัญญาที่ได้กระทำในพระนามพระเจ้า ห้ามสาบานเท็จ เพราะเป็นการเรียกหาพระเจ้า ผู้ทรงเป็นองค์ความจริงมาเป็นพยานต่อการโกหก เป็นบาปหนักผิดต่อพระเป็นเจ้าผู้ทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาของพระองค์เสมอ
พระบัญญัติประการที่สาม “วันพระเจ้าอย่าลืมฉลองให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์”
วันสับบาโตเป็นวันระลึกถึงการพักผ่อนของพระเจ้าในวันที่เจ็ดของการสร้างโลก เช่นเดียวกับการปลดปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสในอียิปต์ คริสตชนได้เปลี่ยนวันสับบาโตเป็นวันอาทิตย์เพราะวันอาทิตย์เป็นวันกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า “เป็นวันต้นของสัปดาห์” ระลึกถึงการสร้างครั้งแรก วันอาทิตย์ต้องถือเป็นวันฉลองบังคับของพระศาสนจักร และวันฉลองบังคับอื่นๆ คริสตชนต้องเข้าร่วมมิสซา ละเว้นจากกิจกรรมที่ขัดขวางการถวายคารวกิจต่อพระเป็นเจ้า และยังให้โอกาสทุกคนให้มีเวลาพักผ่อนและเวลาว่างที่เพียงพอสำหรับบำรุงครอบครัว ทางวัฒนธรรม สังคม และศาสนา
พระบัญญัติ 10 ประการ
ตอบลบ“จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ตอนที่ 1)
พระบัญญัติประการที่สี่ “จงนับถือบิดามารดา”
พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรานับถือบิดามารดาของเรา ซึ่งเราเป็นหนี้ชีวิตและผู้ซึ่งถ่ายทอดความรู้แห่งพระเจ้าให้แก่เรา เราต้องให้เกียรติและเคารพผู้ที่พระเจ้าทรงมอบอำนาจของพระองค์แก่เขา เพื่อประโยชน์ของเรา บิดามารดามีหน้าที่เบื้องต้นคือรับผิดชอบต่อการอบรมศึกษาบุตรและเป็นผู้ประกาศความเชื่อคนแรกแก่บุตร พวกเขามีหน้าที่รักและเคารพต่อบุตรในฐานะบุคคล และในฐานะบุตรของพระเจ้า ที่สำคัญที่สุดคือด้วยการเป็นแบบอย่างกระแสเรียกของคริสตชน คือการติดตามพระเยซูเจ้าและรักพระองค์ “ผู้ที่รักบิดามารดามากกว่าเราก็ไม่คู่ควรกับเรา ผู้ที่รักบุตรชายหญิงมากกว่าเราก็ไม่คู่ควรกับเรา” (มธ 10 : 37) ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้มีอำนาจจะต้องถือว่าผู้ใหญ่ของตนเป็นผู้แทนของพระเจ้า แต่ก็ไม่ต้องปฏิบัติตามถ้าคำสั่งนั้นขัดกับข้อเรียกร้องของกฎศีลธรรม
พระบัญญัติประการที่ห้า “อย่าฆ่าคน”
ชีวิตมนุษย์ต้องได้รับความเคารพเพราะชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ เป็นฝีพระหัตถ์การสร้างของพระเป็นเจ้า และยังคงอยู่ตลอดไปในความสัมพันธ์พิเศษกับพระผู้สร้าง ทุกศาสนามีกฎมิให้ฆ่าคน รูปแบบของการฆ่าคนในสมัยใหม่นี้ คือ การเอารัดเอาเปรียบ การกักขังและลักพาตัว การทรมาร คำพูดและการกระทำที่มีความรุนแรง โดยธรรมชาตินั้นการฆ่ากันเป็นลักษณะของสัตว์ไม่ใช่มนุษย์
สิ่งต่อไปนี้เป็นความผิดอย่างร้ายแรงต่อกฎศีลธรรม
- การฆ่าคนโดยตรงและตั้งใจ รวมทั้งการให้ความร่วมมือด้วย
- การทำแท้งโดยจงใจ ทั้งในด้านเป้าหมายหรือวิธีการ รวมถึงการให้ความร่วมมือด้วย ได้รับโทษให้ขับออกจากพระศาสนจักร เพราะการเป็นมนุษย์เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิแล้ว
- การุณยฆาตกรรมโดยตรง คือการกระทำหรือละเว้นที่จะทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อทำให้ชีวิตของบุคคลที่พิการ เจ็บป่วยหรือใกล้ตายสิ้นสุดลง
- การฆ่าตัวตาย และการให้ความร่วมมือเป็นความผิดอย่างหนักต่อความรักที่ชอบธรรมของพระเจ้า
ศักดิ์ศรีของมนุษย์ คือการเป็นบุตรของพระเจ้า มีฉายาลักษณ์ของพระองค์ เพราะเรามีจิตใจ มีความปรารถนาที่จะรัก มีจินตนาการที่ไม่สิ้นสุด มีความอดทนและก็มีเสรีภาพ อย่างน้อยที่สุดมี 5 ประการ เมื่อเรามีพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแล้ว เราก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพของเราซึ่งเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระองค์
คนที่ยังไม่ตายไม่ควรให้อวัยวะให้กับคนอื่น แต่การให้หลังจากเสียชีวิตแล้วเป็นสิ่งที่น่ายกย่องมาก ถ้าเรามอบความสุขให้กับผู้อื่นหลังเสียชีวิตแล้ว
“จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ตอนที่ 2)
ตอบลบพระบัญญัติประการที่หก “อย่าทำอุลามก”
พระศาสนจักรสอนไว้ว่า เพศสัมพันธ์สามารถใช้ได้ในคนที่มีครอบครัวแล้วเท่านั้น การศึกษาเรื่องเพศ Gender มิใช่เพียงเพื่อให้ชายหญิงเท่าเทียมกันเพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่ศึกษาเพื่อให้มนุษย์มีทางเลือกมากขึ้นเพื่อให้ทั้งชาย หญิง และเด็ก พ้นจากความรุนแรงหรือการถูกเบียดเบียนด้วยอคติทางเพศ
ความบริสุทธิ์คือความครบถ้วนในแง่บวกเรื่องเพศของบุคคล รวมถึงความสามารถควบคุมตัวเองได้ กลายเป็นเรื่องของมนุษย์อย่างแท้จริง บาปที่ผิดต่อความบริสุทธิ์คือ การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง การล่วงประเวณี สื่อลามกและการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน สัญญาที่คู่สมรสทำขึ้นโดยเสรี หมายถึงความรักที่ซื่อสัตย์และหย่าร้างมิได้ การมีลูกเป็นสิ่งประเสริฐ เป็นของขวัญจากพระเจ้า การคุมกำเนิดเป็นการแสดงความรับผิดชอบของบิดามารดา แม้สามีภรรยามีเจตนาที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่เป็นการถูกต้องหากใช้วิธีที่ไม่อาจยอมรับได้ตามศีลธรรม (เช่น การทำหมัน หรือคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์) การนอกใจกันเป็นการทำผิดหนักต่อศักดิ์ศรีของการแต่งงาน
พระบัญญัติประการที่เจ็ด “อย่าลักขโมย”
ทรัพย์สินส่วนตัวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้หลักประกันเสรีภาพและศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล กำหนดให้มีความเคารพต่อทรัพย์สินของผู้อื่น ปฏิบัติต่อสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าด้วยความเมตตากรุณา หลีกเลี่ยงความรักจนเกินควร หรือใช้โดยยั้งคิด การลักขโมย คือ การแย่งชิงทรัพย์สินของคนอื่นซึ่งขัดต่อน้ำใจที่สมเหตุสมผลของพระเจ้า การมีงานทำที่มั่นคงและสุจริตนั้นเป็นของทุกคน โดยปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชังที่อยุติธรรมทำให้มนุษย์มีคุณค่า กฎศีลธรรมห้ามการกระทำที่มีเป้าหมายทางการค้า หรือลัทธิเผด็จการอันก่อให้เกิดการนำคนมาเป็นทาสหรือสินค้า การพัฒนาที่แท้จริงคือการพัฒนามนุษย์ให้ไปสู่ความครบครัน
ทุกชาติและทุกสถาบันต้องดำเนินการด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน เกื้อกูลกันและกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อขจัดหรือทำให้ความขัดสนน้อยลง การให้ทานต่อผู้ยากไร้นั้นเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักเมตตาจิตฉันพี่น้อง ทั้งยังเป็นงานแห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าด้วย
พระบัญญัติประการที่แปด “อย่าใส่ความนินทา”
ทุกคนถูกเรียกมาสู่ความจริงทั้งในกิจการและคำพูด พันธสัญญาเดิมยืนยันว่า พระเจ้าเป็นองค์ความจริงทั้งปวง พระวาจาของพระองค์เป็นความจริง
ข้อห้ามของบัญญัติประการที่แปด
- การเป็นพยานเท็จ การให้การเท็จ และการโกหก
- การด่วนตัดสิน การนินทาที่มุ่งร้าย การใส่ความ และการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
- การประจบเยินยอ การประจบสอพลอ หรือการประพฤตินอกลู่นอกทาง
การทำบาปที่กระทำขัดต่อความจริงนั้นเรียกร้องการชดใช้ หากก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้อื่น การถือความจริงนั้น คือคุณธรรมซึ่งประกอบด้วยการแสดงตนเป็นคนจริงในการกระทำ คริสตชนจะต้องไม่อาย “ที่จะเป็นพยานถึงองค์พระเจ้าของเรา” ในการกระทำและคำพูด ความจริงเป็นความงดงามในตัวเอง ประกอบด้วยความสดใสของความงามฝ่ายจิต นอกจากจะแสดงความจริงด้วยถ้อยคำแล้วยังมีอยู่ในรูปแบบต่างๆ ของการแสดงออกของความจริงด้วย
“จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ตอนที่ 3)
ตอบลบพระบัญญัติประการที่เก้า “อย่าปลงใจในความอุลามก”
พระบัญญัติประการนี้เรียกร้องให้เอาชนะตัณหาเนื้อหนังทั้งในความคิดและความปรารถนา นักบุญยอห์นได้แยกความโลภหรือความใคร่ออกเป็นสามประเภท ได้แก่ ตัณหาเนื้อหนัง ตัณหาทางสายตา และความหยิ่งภูมิใจในชีวิต “ตัณหา” ในความหมายตามตัวอักษร หมายถึงรูปแบบความต้องการที่รุนแรงของสิ่งซึ่งขัดแย้งกับเหตุผล ถึงแม้ตัวมันเองไม่มีบาปแต่ก็ทำให้มนุษย์เอนเอียงที่จะทำบาป เป็นเหตุของการไม่เชื่อฟังที่เป็นบาปต้น
ความบริสุทธิ์เรียกร้องความถ่อมตนสงบเสงี่ยม การรบสู้ต่อต้านตัณหาทางเนื้อหนังนั้นเกี่ยวกับการชำระใจให้บริสุทธิ์และฝึกปฏิบัติให้รู้จักประมาณตน เรียกร้องการภาวนาเพราะจิตใจที่บริสุทธิ์ทำให้เราแลเห็นพระเจ้า เห็นทุกอย่างตามสายพระเนตรของพระองค์
พระบัญญัติประการที่สิบ “อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา”
เรียกร้องให้มีท่าทีเคารพต่อทรัพย์สมบัติของผู้อื่น และห้ามโลภ ความปรารถนาที่ไม่เหมาะสมในทรัพย์สินของผู้อื่น และความอิจฉาคือการเสียใจที่เกิดขึ้นเพราะเห็นทรัพย์สมบัติของผู้อื่นและปรารถนาจะเอามาเป็นเจ้าของ พระบัญญัติประการนี้ทำให้ข้อก่อนหน้านี้สมบูรณ์ขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับความใคร่ฝ่ายเนื้อหนัง ผู้ได้รับศีลล้างบาปต้องต่อสู้กับความอิจฉาริษยาด้วยความหวังดีกับผู้อื่น ความสุภาพถ่อมตนและการมอบตนไว้กับพระญาณสอดส่องของพระเจ้า การมีจิตใจที่อิสระไม่ยึดติดกับความร่ำรวยเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าสู่พระอาณาจักร “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” และความปรารถนาสูงสุดของมนุษย์คือการได้เห็นพระเจ้า เสียงเรียกร้องของการเป็นอยู่ทั้งครบของเราคือ “ข้าพเจ้าต้องการเห็นพระเจ้า”
“ผู้ที่แลเห็นพระเจ้าก็ได้บรรลุถึงทรัพย์สมบัติทั้งปวง ซึ่งเขาพอจะเข้าใจได้” (น. เกรโกรี แห่งนิซา)