Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

27 ประโยชน์ของวิตามินซี (Vitamin C)

 27 ประโยชน์ของวิตามินซี (Vitamin C)


วิตามินซี 

วิตามินซี (Vitamin C) มีชื่อทางเคมีซึ่งเป็นตัวที่ออกฤทธิ์คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ และร่างกายไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์เองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับโดยการรับประทานอาหาร ซึ่งการเสริมวิตามินซีอาจทำได้โดยการเพิ่มการรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ เช่น ส้ม กีวี มะละกอ แตงโม องุ่น แคนตาลูป บรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก หรือรับประทานวิตามินซีในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplement) 

ปัจจุบันมีการนำมาวิตามินซีมาใช้ในทางคลินิกอย่างแพร่หลาย ทั้งการป้องกันและการรักษาโรคต่าง ๆ ในบทความนี้จะมากล่าวถึงประโยชน์ของวิตามินซีทางการแพทย์กันอย่างละเอียดตามงานวิจัย รวมถึงผลเสียและข้อควรระวังของการใช้วิตามินซี



อาหารที่ให้วิตามินซีมากที่สุด




รวมผักและผลไม้ที่ให้วิตามินซีมากที่สุดต่อ 100 กรัม จากมากไปน้อย ตามข้อมูลของ USDA FoodData Central และข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้แก่


🧡   คาคาดูพลัม (Kakadu plum) เป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย ใน 100 กรัม จะให้วิตามินซี 2,907 มก.

🧡   อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) 100 กรัม ให้วิตามินซี 1,680 มก. 
🧡   โรสฮิป (Rose Hips) หรือ ผลกุหลาบป่า 100 กรัม ให้วิตามินซี 426 มก. 
🧡   มะขามป้อม 100 กรัม ให้วิตามินซี 276 มก. 
🧡   ฝรั่ง 100 กรัม ให้วิตามินซี 228 มก. 
🧡   พริกหวานสีเหลือง 100 กรัม ให้วิตามินซี 184 มก. 
🧡   แบล็กเคอร์แรนต์ (Blackcurrant) 100 กรัม ให้วิตามินซี 181 มก. 
🧡   ผักคะน้า 100 กรัม ให้วิตามินซี 147 มก. 
🧡   พาร์สลีย์ (Parsley) 100 กรัม ให้วิตามินซี 133 มก. 
🧡   ผักปวยเล้ง 100 กรัม ให้วิตามินซี 120 มก. 
🧡   เงาะโรงเรียน 100 กรัม ให้วิตามินซี 97 มก. 
🧡   ผักเคล (Kale) 100 กรัม ให้วิตามินซี 93.4 มก.

🧡   พริกหวานสีเขียว 100 กรัม ให้วิตามินซี 80.4 มก. 
🧡   กีวี 100 กรัม ให้วิตามินซี 74.7 มก. 
🧡   ลิ้นจี่ 100 กรัม ให้วิตามินซี 71.5 มก. 
🧡   ลูกพลับ 100 กรัม ให้วิตามินซี 66 มก. 
🧡   บรอกโคลี 100 กรัม ให้วิตามินซี 64.9 มก. 
🧡   กะหล่ำดาว (Brussels sprouts) 100 กรัม ให้วิตามินซี 62 มก. 
🧡   มะละกอ 100 กรัม ให้วิตามินซี 60.9 มก. 
🧡   ส้ม 100 กรัม ให้วิตามินซี 59.1 มก. (ส้ม 1 ผล หนักประมาณ 140 กรัม ให้วิตามินซีประมาณ 82.7 มก.) 
🧡   สตรอว์เบอร์รี 100 กรัม ให้วิตามินซี 58.8 มก (สตรอว์เบอร์รี 1 ถ้วย ให้วิตามินซีประมาณ 84.7 มก.) 
🧡   มะนาว 100 กรัม ให้วิตามินซี 53 มก. 
🧡   ถั่วลันเตา 100 กรัม ให้วิตามินซี 40 มก. 
🧡   มะม่วง 100 กรัม ให้วิตามินซี 36.4 มก. 
🧡   เกรปฟรุต 100 กรัม ให้วิตามินซี 31.2 มก. 
🧡   มะเขือเทศ 100 กรัม ให้วิตามินซี 13.7 มก. 
🧡   แคนตาลูป 100 กรัม ให้วิตามินซี 10.9 มก. 
🧡   กล้วย 100 กรัม ให้วิตามินซี 8.7 มก. 
🧡   แครอท 100 กรัม ให้วิตามินซี 5.9 มก. 
🧡   แอปเปิ้ล 100 กรัม ให้วิตามินซี 4.6 มก.



ประโยชน์ของวิตามินซี 

มีการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าวิตามินซีอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้ 

1. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต่อต้านและลดระดับอนุมูลอิสระได้ เมื่ออนุมูลอิสระในร่างกายลดลงและกลับมาอยู่ในระดับปกติ ความเสี่ยงของโรคที่มาจากการอักเสบและความเสียหายเรื้อรังของเซลล์ภายในร่างกายก็จะลดลง พูดง่าย ๆ ก็คือ วิตามินซีมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ป้องกันการถูกทำลายและการตายของเซลล์ต่าง ๆ วิตามินซีจึงอาจส่งผลดีต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันหลายชนิด เช่น LDL, ลดการเกิดสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง, ช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน (Endothelia cell) จึงดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

🧡   อนุมูลอิสระเป็นสารที่เกิดขึ้นจากกลไกธรรมชาติในร่างกายร่วมกับการมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น หากร่างกายมีอยู่มากเกินไปก็จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของร่างกายหรือภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ กระตุ้นการอักเสบของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงของโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงหรือโรคเรื้อรังไปจนถึงโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง


2. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาพบว่าวิตามินซีมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมความแข็งแรงและป้องกันความเสียหายของเม็ดเลือดขาวที่เป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ โดยรวมจึงทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย หรือสูบบุหรี่ ที่พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ก็จะทำให้เกิดโรคหรืออาการของโรครุนแรงขึ้นได้ 

🧡   เม็ดเลือดขาวเป็นหนึ่งในสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของร่างกาย มีหน้าที่ในการต่อต้านและกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อกำจัดเชื้อโรคแปลกปลอมสำเร็จ เม็ดเลือดขาวก็จะจดจำวิธีการตอบสนองต่อเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น โดยจะช่วยลดความรุนแรง ความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการป่วยจากเชื้อชนิดเดิมได้

3. ผลิตคอลลาเจน วิตามินซีช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คอลลาเจนเป็นองค์ประกอบโครงสร้างที่สำคัญในผนังหลอดเลือด เหงือก ผิวหนัง และกระดูก ทำให้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่ฟื้นตัวจากบาดแผลหรือการผ่าตัด วิตามินซียังช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารเสริมและอาหารจากพืช (คอลลาเจนประกอบขึ้นเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในผิวหนัง กระดูกอ่อน เส้นเอ็น และหลอดเลือด การมีคอลลาเจนเพียงพอไม่เพียงแต่ทำให้ผิวและข้อต่อแข็งแรง แต่ยังช่วยรักษาความดันโลหิตของคุณโดยการรักษาหลอดเลือดแดงและเส้นเลือดของคุณให้แข็งแรง)

4. อาจช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น (เล็กน้อย) วิตามินซีเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว (Tyrosinase inhibitor) ออกฤทธิ์โดยการไปลดจำนวนของสารควิโนน (Quinones) ที่เป็นตัวเปลี่ยนไปเป็นเม็ดสีผิวที่ทำให้ผิวคล้ำหรือดำ นอกจากนี้วิตามินซียังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดสารอนุมูลอิสระที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิว และช่วยป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดที่เป็นตัวทำให้ผิวคล้ำ เพราะฉะนั้นตามหลักการเสริมวิตามินซีจึงน่าจะช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเสริมวิตามินซีในรูปของอาหารเสริมจะช่วยให้ขาวกระจ่างใสขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป

🧡   ขนาดที่ Medthai แนะนำเพื่อความเปลี่ยนแปลงของผิวคือ ขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (หลังอาหารเช้าและเย็น รวมเป็นวันละ 1,000 มก.) ร่วมกับการดูแลผิวอย่างเหมาะสมในทุก ๆ วัน (เช่น การทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ และการหลีกเลี่ยงแสงแดด) ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด (มากกว่าการทาน 1,000 มก. ครั้งเดียว) โดยอาจจะเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสีผิวเมื่อทานอย่างต่อเนื่อง 30 วันขึ้นไป เพราะเม็ดสีของเราจะมีอายุได้ประมาณ 30 วัน จึงต้องรอให้เม็ดสีผิวเก่าที่สร้างขึ้นก่อนหน้ามีการเสื่อมสภาพหรือหลุดลอกไปก่อน

🧡   ต้องย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นเพียงทฤษฎี เอาเข้าจริงทานไปก็อาจจะไม่ได้ผลเลยก็ได้เพราะผิวหนังของเรานั้นมีวิตามินซีอยู่แล้ว แม้การทานวิตามินซีเสริมจะช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในผิวได้ แต่เมื่อระดับวิตามินซีในเลือดเมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ทานไปมากขึ้นก็ไม่ได้ไปช่วยเพิ่มวิตามินซีที่ชั้นผิวแต่อย่างใด (ทานขนาดสูง ๆ ก็เปล่าประโยชน์ ทานขนาดน้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ จะดีกว่า)

🧡   ถ้าถามว่าทานแล้วจะขาวขึ้นจริงไหม? ก็ขอตอบชัด ๆ จากประสบการณ์เลยนะครับว่า “ยาก” เพราะขนาดวิตามินซีในรูปแบบฉีดเข้าเส้นเลือดที่เห็นคนไปฉีด ๆ กันมายังแทบไม่ค่อยเห็นผล กับแบบเม็ดคงเป็นไปได้ยากมากครับ และงานวิจัยยืนยันก็ยังไม่มี (เคยมีการศึกษาในใต้หวัดสำหรับวิตามินซีแบบฉีดว่าสามารถช่วยลดเม็ดสีผิวในผู้ป่วยที่ล้างไตได้ ซึ่งในความเป็นจริงเราคงไปนอนฉีดทุกวันไม่ได้ ส่วนอีกการศึกษาก็มีพบว่าเมื่อได้รับวิตามินซีแบบฉีดแล้วรอยดำจากการทำเลเซอร์ดูจางลง แต่นี่เป็นรายงานจากคนไข้เพียง 1 เคส 1 คนเท่านั้น และรอยดำที่ดีขึ้นอาจไม่ใช่มาจากวิตามินซีก็ได้ครับ) เพราะฉะนั้นอย่าหวังผลในเรื่องนี้มาก แต่ส่วนที่พอจะมีหวังได้บ้างเล็กน้อยก็คงจะเป็นเรื่องของผิวดูมีสุขภาพดีเปล่งปลั่ง ป้องกันผิวเสียจากยูวี และการช่วยลดริ้วรอยก่อนวัยเสียมากกว่า

5. ดีต่อสุขภาพผิวและริ้วรอย วิตามินซีมีอยู่ในผิวหนังตามธรรมชาติ มีบทบาทในการสังเคราะห์คอลลาเจนและช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระได้  (ในวัยชราหรือในผู้ที่ผิวถูกทำลายจากอนุมูลอิสระมักมีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ ) และงานวิจัยส่วนใหญ่ในประเด็นนี้มักทำการศึกษาในรูปแบบครีมหรือเซรั่มสำหรับทาผิวมากกว่ารูปแบบรับประทาน โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้

🧡   การเสริมวิตามินซีในรูปแบบรับประทานพบว่า สามารถช่วยปกป้องกันผิวจากรังสียูวี (UV) เมื่อทานร่วมกับวิตามินอี และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นหรือผิวเสียก่อนวัยได้  แต่บางงานวิจัยก็ระบุว่ามีผลน้อย และยังมีข้อสรุปไม่ชัดเจน 
🧡   การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของวิตามินซีและวิตามินอี สามารถช่วยลดความเสียหายต่อผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีได้เมื่อเทียบกับการใช้ครีมกันแดดเพียงอย่างเดียว  ส่วนการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินซีเพียงอย่างเดียวดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์ในการป้องกันรอยแดงจากรังสียูวีเมื่อเทียบกับสูตรยาหลอก 
🧡   การศึกษาขนาดเล็กในผู้หญิง (อายุเฉลี่ย 55 ปี) พบว่าการใช้เซรั่มวิตามินซี 5% ทาวันละครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวหยาบกร้าน ผิวหย่อนคล้อย ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเซรั่มที่ไม่มีวิตามินซี  
🧡   การวิจัยในห้องปฏิบัติการโดยใช้หนังสัตว์ พบว่าการดูดซึมของวิตามินซีในรูปแบบทาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อผลิตภัณฑ์มีค่า pH น้อยกว่า 3.5 และมีความเข้มข้นของวิตามินซีที่ 10-20%  แต่ปัญหาคือผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้บอกรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ และโปรดทราบว่าวิตามินซีรูปแบบทาไม่สามารถซึมผ่านผิวชั้นบนสุด (Stratum corneum) ได้ง่าย และรูปแบบทาไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในผิวหนังหากว่าร่างกายมีระดับวิตามินซีในเลือดที่อิ่มตัวอยู่แล้ว (ซึ่งเกิดเมื่อรับประทานวิตามินซีวันละ 500 มก.)

6. ป้องกันภาวะขาดวิตามินซี (Vitamin C deficiency) ภาวะนี้อาจพบได้ในผู้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอ หรือพบในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ การสูบบุหรี่ ภาวะแอลกอฮอล์เรื้อรัง และภาวะเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น และภาวะขาดวิตามินซียังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน ทำให้แผลหายช้าในผู้ป่วยที่มีแผล (การสมานแผลอาจลดลง) เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่วนอาการแรกเริ่มของการขาดวิตามินซีมักจะไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการปวดตามแขนขา หายใจสั้น ข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งการได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอต่อวันสามารถช่วยป้องกันโรคหรืออาการเหล่านี้ได้

🧡   เลือดออกตามไรฟัน (Scurvy) การขาดวิตามินซีเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ (27 µmol/L หรือต่ำกว่าในผู้ใหญ่) หรือได้รับวิตามินซีจากการบริโภคอาหารต่ำ (เพียงวันละ 30-60 มก. ในผู้ใหญ่) สัมพันธ์กับการเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน และการเสริมวิตามินซีเฉลี่ยวันละ 222 มก. เป็นเวลา 41 วัน สามารถช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ (นักวิจัยแนะนำว่าปริมาณเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 110 มก. ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะเป็นปริมาณที่มากกว่า RDA ที่แนะนำในผู้ใหญ่) อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดอยู่ในระดับปกติ คือ 48-70 µmol/L อาหารเสริมวิตามินซีจะไม่ได้ช่วยลดอาการเลือดออกตามฟัน


🧡   ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินซีส่งผลต่อการดูดซึมของธาตุเหล็ก และหากร่างกายขาดธาตุเหล็กก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อ่อนเพลีย ใจสั่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ วูบหน้ามืด ตัวซีด ผมร่วง ผิวแห้ง เล็บผิดปกติ ฯลฯ


🧡   เล็บผิดปกติ การศึกษาพบว่าการขาดวิตามินซีอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพเล็บ เช่น ทำให้เล็บเว้าลงจนคล้ายรูปช้อน (Koilonychia), เล็บอ่อนและบางทำให้งอหรือหักได้ง่าย (Hapalonychia)  ซึ่งอาจเป็นเพราะวิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก และการขาดธาตุเหล็กส่งผลต่อสุขภาพเล็บ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาใดแสดงให้เห็นได้ว่า การเสริมวิตามินซีจะช่วยให้เล็บมีสุขภาพดีขึ้นทั้งในคนปกติหรือในคนที่ร่างกายขาดวิตามินซีหรือธาตุเหล็ก


🧡   การอักเสบของข้อ การขาดวิตามินซีอาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการอักเสบ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยจำนวน 10คน (อายุ 3-20 ปี) ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile arthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) มีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำผิดปกติ และการเสริมวิตามินซีวันละ 250-1,000 มก. สามารถช่วยให้ผู้ป่วยทั้ง 10 คนหายจากอาการดังกล่าวได้  สอดคล้องกับอีก 2 การศึกษาที่พบว่าวิตามินซีอาจช่วยหยุดการทำลายของข้อที่อักเสบได้


🧡  การขาดสารอาหารมีผลลดการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่เหมาะสมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (Pulmonary arterial hypertension) โดยมีรายงานเรื่องนี้ในชายอายุ 60 ปีที่มีภาวะการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ขาบวม และอาการอื่น ๆ ของการขาดวิตามินซีที่ระบุไว้ข้างต้น แต่เมื่อให้การรักษาด้วยการเสริมวิตามินซี 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 เดือน อาการดังกล่าวก็หายไป (ระดับวิตามินซีในเลือดเพิ่มขึ้นจาก 5.7 µmol/L เป็น 85 µmol/L)

7. ลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัด การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เล็กน้อย (ส่วนการเสริมเมื่อเป็นหวัดไม่มีประโยชน์) และอาจช่วยป้องกันการเป็นหวัดได้ในบางกรณี เช่น ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก หรือในช่วงฤดูหนาว (ปริมาณที่ Medthai แนะนำสำหรับไข้หวัดคือ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) ส่วนรายละเอียดการศึกษาที่สำคัญดังนี้


🧡  วิตามินซีช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่า การเสริมวิตามินซีวันละ 250 มก. เป็นอย่างน้อย สามารถช่วยเพิ่ม Neutrophils chemotaxis (เป็นตัวป้องกันหลักของร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ) ได้ประมาณ 20% และผลด้านนี้จะดีขึ้นถ้าทานร่วมกับวิตามินอี


🧡  การเสริมวิตามินซีเป็นประจำช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ โดยที่ในเด็กจะมีแนวโน้มได้ประโยชน์มากกว่าผู้ใหญ่ และการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. อาจมีประสิทธิภาพดีกว่าการเสริมวันละ 1,000 มก. ในการลดความรุนแรงและระยะเวลาการเป็นหวัด แต่เมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ขนาดมาตรฐานที่แนะนำสำหรับหวัดคือวันละ 1,000 มก.


🧡   การทบทวนการศึกษาจำนวน 44 ชิ้น พบว่าการเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัด (โดยปกติคือวันละ 1,000 มก.) สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัดได้เล็กน้อยประมาณ 5% และช่วยให้หายจากอาการหวัดได้เร็วขึ้นประมาณ 8% ในผู้ใหญ่และ 14% ในผู้หญิง เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ส่วนการเสริมวิตามินซีหลังจากที่เป็นหวัดไปแล้วพบว่าไม่มีประโยชน์ คือ ไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [21] อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 6,000-8,000 มก. ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเป็นหวัด สามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ แต่การเสริมวิตามินซีในขนาด 3,000-4,000 มก. พบว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย


🧡   จากการวิเคราะห์การทดลองทางคลินิก 9 ฉบับ (ระหว่างปี 1950-2001) สรุปได้ว่า การเสริมวิตามินซีเป็นประจำวันละ 1,000 มก. หรือน้อยกว่า หรือการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงขึ้นเป็นวันละ 3,000-4,000 มก. ในช่วงที่เป็นหวัด อาจช่วยลดระยะเวลาที่เป็นหวัดลงได้เล็กน้อย (ประมาณครึ่งวัน) และลดอาการหนาวสั่นและเจ็บหน้าอกได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยให้อาการคัดจมูกหรืออาการเจ็บคอดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

🧡   การศึกษาทั่วไปพบว่า การเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัดไม่สามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ ยกเว้นในกลุ่มที่มีภาวะความเครียดทางกายภาพ เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก เช่น นักกีฬามาราธอน นักสกี หรือทหาร จะสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นหวัดได้ถึง 52% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (หากรับประทานวิตามินซีก่อนเป็นหวัดหลายวัน)


🧡   การศึกษาเล็ก ๆ ในผู้ชายที่มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ (อายุ 18-35 ปี) ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำถึงปานกลาง (น้อยกว่า 45 µmol/L) พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จะมีโอกาสเป็นหวัด “ในช่วงฤดูหนาว” น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (7 ต่อ 11 คน) และช่วยลดระยะเวลาการป่วยเป็นหวัดลง 59% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก


8. ลดอาการภูมิแพ้ วิตามินซีสามารถช่วยลดระดับการผลิตฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นตัวการของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของโรคภูมิแพ้ได้ โดยมีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. เป็นเวลา 1 เดือนขึ้นไป สามารถช่วยลดระดับฮีสตามีนได้ประมาณ 38% และมีผลช่วยให้ลดการกำเริบและอาการของภูมิแพ้ดีขึ้น  สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ให้วิตามินซีสูงในขนาด 7,500 มก. ทางเส้นเลือด แล้วพบว่าระดับฮีสตามีนลดลงประมาณ 50%  และยังสัมพันธ์กับอาการภูมิแพ้ที่ลดลงอีกด้วย เช่น น้ำมูกไหล ตาม คัน กระสับกระส่าย ปัญหาเรื่องการนอนหลับ

9. อาการเมาเรือ วิตามินซีอาจมีประสิทธิภาพในการแก้อาการเมาเรือ (โดยเฉพาะในผูหญิงและผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 27 ปี) โดยไม่มีผลข้างเคียง เพราะระดับฮีสตามีนที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเมาเรือ

10. โควิด 19 (COVID-19) เนื่องจากวิตามินซีมีบทบาทช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อาหารเสริมวิตามินซีจึงได้รับการส่งเสริมโดยแพทย์บางท่านเพื่อใช้ป้องกัน COVID-19 จากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการได้รับวิตามินซีเกินความต้องการในแต่ละวันจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 หรือช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคเมื่อป่วยได้


🧡   การศึกษาในผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 214 คน พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 8,000 มก. (แบ่งทานวันละ 2-3 มื้อหลังอาหาร) ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานตามปกติ และผู้ที่ได้รับวิตามินซียังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง และปวดท้องมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานวิตามินซีในขนาดสูง และยังไม่พบประโยชน์เมื่อทำการเสริมวิตามินซีร่วมกับสังกะสีหรือซิงค์ (Zinc) ในขนาดสูงวันละ 50 มก. หรือเสริมซิงค์เพียงอย่างเดียวก็ตาม สอดคล้องกับการศึกษาในกลุ่มชายและหญิงจำนวน 98 คน (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ที่ป่วยเป็น COVID-19 และมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเมื่อให้รับประทานวิตามินซี 1,000 มก. ทุกวันเป็นเวลา 14 วันหลังมีอาการได้ 6 เดือน ก็ไม่พบว่าวิตามินซีจะช่วยลดระยะเวลาที่ป่วยหรือความรุนแรงของโรคแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก


🧡   การเสริมวิตามินซีวันละ 1,000-6,000 มก. ก่อนติด COVID-19 ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์เล็กน้อยกับผู้ป่วยที่ติดโควิดที่มีอาการวิกฤตและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ช่วยลดระยะเวลาในการช่วยหายใจโดยเฉลี่ย 25%)  ส่วนอีกการศึกษาในประเทศจีน (อายุเฉลี่ย 66 ปี) พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงมาก ๆ คือวันละ 24,000 มก. (ทางเส้นเลือด) เป็นเวลา 7 วัน ทำให้ออกซิเจนในเลือดดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยลดวันที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการตายในช่วง 28 วันหลังเข้ารับการรักษาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก


🧡   การศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยหนักจากโรค COVID-19 และมีอาการช็อก จำนวน 15 คน (อายุเฉลี่ย 72 ปี) พบว่าอัตราการเสียชีวิตก็ยังสูงมากถึง 80% แม้จะให้วิตามินซีวันละ 3,000 มก. เป็นเวลา 2-5 วัน พร้อมกับการรักษาด้วยยามาตรฐานก็ตาม

11. ลดความดันโลหิต จากการทบทวนการศึกษาจำนวน 29 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิตามินซีวันละ 500 หรือ 1,000 มก. พบว่าความดันโลหิตตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 3.84 mmHg และความดันโลหิตตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 1.48 mmHg  สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่พบว่า ความดันตัวบนลดลงมากกว่า 4.85 mmHg และตัวล่าง 1.67 mmHg (การศึกษานี้ ไม่พบว่าวิตามินซีมีผลโดยตรงในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ซึ่งอาจเป็นเพราะการทดลองมีระยะสั้นเกินไป) อย่างไรก็ตาม การลดความดันโลหิตด้วยการเสริมวิตามินซีนั้นช่วยได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ยามาตรฐานที่จะลดความดันโลหิตได้ประมาณ 10 mmHg

🧡   การศึกษาของ Mullan BA และคณะ พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. เป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดความดันโลหิตและความแข็งตัวของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้

12. ลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาในปี 2018 ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยทั้ง 27 คนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (1,000 มก./วัน) เป็นเวลา 4 เดือน นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกแล้ว (ความดันตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 7 mmHg และความดันตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 5 mmHg)) ยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลกลูโคสหลังรับประทานอาหารได้ถึง 36% และมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงน้อยลงไป 2.8 ชั่วโมงในแต่ละวัน (แต่ไม่มีผลต่อค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c)

🧡   การศึกษาในปี 2017 พบว่าในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีระดับวิตามินซีในเลือดน้อยกว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติอย่างมีนัยสำคัญ และมีความต้องการวิตามินซีที่มากกว่าตยปกติ และการศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่เสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็พบระดับวิตามินซีในเลือดต่ำเช่นกัน และร่างกายจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้น

🧡   การศึกษาที่เก่ากว่าในปี 2007 พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS), ค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c), ไตรกลีเซอร์ไรด์ (TG), คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และระดับฮอร์โมนอินซูลินลดลงอย่างนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่าง อย่างไรก็ตาม การให้วิตามินซีวันละ 500 มก. ไม่พบการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ

13. โรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยวิตามินซีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, มีฤทธิ์ลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันชนิด LDL และมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายจากเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน จึงเชื่อว่าการเสริมวิตามินซีอาจเป็นประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยมีการศึกษาที่พบว่าการได้รับวิตามินซีจากอาหารน้อยมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาผลของการใช้วิตามินซีในรูปของอาหารเสริมยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันให้ผลขัดแย้งกัน แต่เชื่อว่าการเสริมวิตามินซีน่าจะมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงนี้ในผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินซี


🧡   การเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. สามารถช่วยลดภาวะหลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำอีกหลังจากการขยายหลอดเลือดด้วยวิธี Angioplasty

14. โรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease : NAFLD) การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง (มากกว่าวันละ 146 มก.) สัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) ที่ลดลง 29% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวิตามินซีต่ำ (น้อยกว่าวันละ 75 มก.)


🧡   การศึกษาในประเทศจีนในคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) จำนวน 84 คน ซึ่งไม่มีใครขาดวิตามินซี พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 200, 1,000 หรือ 2,000 มก. ก่อนอาหารเป็นเวลา 12 สัปดาห์ บ่งชี้ว่าการทำงานของตับดีขึ้น (AST, ALT และ/หรือ GGT) โดยกลุ่มที่ให้ในขนาด 1,000 มก. พบว่าได้ประโยชน์สูงสุด


15. ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ การศึกษาในระยะยาว (ประมาณ 14 ปี) พบว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะต่ำเมื่อมีระดับวิตามินซีในเลือดมากกว่า 15.33 µmol/L และความเสี่ยงจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึง 45.99-59.62 µmol/L โดยที่ระดับวิตามินซีในเลือดที่มากกว่านี้จะไม่ลดความเสี่ยงลงอีก ส่วนความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน แต่กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจะยังลดลงได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงขึ้นหรือสูงกว่า 60.19 µmol/L อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่แยกออกมาที่พบว่าระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงกว่า 60 µmol/L มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแทน (แทนที่จะลดลง) เมื่อเทียบกับระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่า (อ่านข้อเพิ่มเติมในหัวข้อ “ผลข้างเคียง/ข้อควรระวัง” ด้านล่าง)


🧡   ผู้สูงอายุที่รับประทานวิตามินซีและวิตามินอีเสริมมีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม [42] สอดคล้องกับการศึกษาในแคลิฟอร์เนียที่พบว่า ผู้ที่เสริมวิตามินซีมากกว่าวันละ 750 มก. มีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรลดลง 60%


🧡   การเสริมวิตามินซีวันละมากกว่า 700 มก. ช่วยลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจ 62% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีวันละ 60 มก. หรือน้อยกว่า


16. ลดความเสี่ยงมะเร็ง มีทฤษฎีว่าวิตามินซีอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้จากการศึกษาเมื่อนานมาแล้วที่พบว่าการรับประทานผักและผลไม้ที่ให้ปริมาณวิตามินซีขนาด 200 มก./วัน มีความสัมพันธ์กับการลดลงของอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งช่องปาก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งกระเพาะอาหาร (พบประโยชน์ชัดเจนที่สุดในการป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากวิตามินซีหรือสารอื่น ๆ ที่มีในผักและผลไม้ ส่วนการศึกษาใหม่ ๆ เราพบว่าการใช้วิตามินซีในรูปอาหารเสริมแบบเดี่ยว ๆ ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ (แต่ในรูปของอาหารปกติอาจช่วยได้) เช่น การศึกษาในผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. และวิตามินอี 400 IU (วันเว้นวัน) ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งทั้งหมด สอดคล้องกับการศึกษาในประเทศแคนาดาในผู้ชายสูงอายุที่ไม่พบความเกี่ยวข้องใด ๆ ระหว่างการเสริมวิตามินซีทั้งจากอาหารปกติและอาหารเสริมกับอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและระดับความรุนแรงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

🧡   การได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสมมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการโรคมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง หลอดอาหาร ช่องปาก กล่องเสียง ปอด ต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร


🧡   มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) การเสริมวิตามินซีวันละ 3,000 มก. ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และพบว่าการบริโภควิตามินซีมากกว่าวันละ 157 มก. ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 50%


🧡   มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer) การเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. นาน 10 ปีหรือมากกว่าในผู้ชายและหญิงวัยกลางคน พบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้


🧡   การเสริมวิตามินซีวันละมากกว่า 10,000 มก. ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับวิตามินซีมีชีวิตอยู่นานกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินซี เกิดความเจ็บปวดน้อยกว่า และโดยรวมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (เมื่อเสริมวิตามินอื่น ๆ เข้าไปด้วยในปริมาณมาก คือ เบต้าแคโรทีน วิตามินอี ไนอะซิน วิตามินบีอื่น ๆ และแร่ธาตุบางอย่าง ก็พบว่ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการเสริมวิตามินและแร่ธาตุดังกล่าว มีชีวิตอยู่ได้นานกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริม)

🧡   เชื่อว่าการแพร่กระจายตัวของมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยการเสริมวิตามินซีที่มากขึ้น


17. ต้อกระจกและจอตาเสื่อม ในระยะยาว 10 ปีขึ้นไป ดูเหมือนว่าการได้รับวิตามินซีในขนาดต่ำ คือ 60-250 มก. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ ในขณะที่วิตามินซีขนาดสูงไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยง แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกแทน นอกจากนี้ วิตามินซีในขนาด 250 มก. ยังเป็นส่วนหนึ่งของสูตร ARED2 ด้วย ซึ่งเป็นสูตรของวิตามินที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยชะลอการลุกลามของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration : AMD) ส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้องมีดังนี้

🧡   การเสริมวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสม สามารถช่วยลดความเสี่ยงและชะลอการลุกลามของโรคต้อกระจกได้ โดยมีการศึกษาในประเทศอังกฤษที่พบว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภควิตามินซีจากอาหารต่ำที่สุด ในผู้ที่บริโภควิตามินซีจากอาหารมากที่สุดจะมีโอกาสเกิดโรคต้อกระจกน้อยลง 19% และโอกาสเกิดต้อกระจกจะน้อยลง 33% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนผู้ที่รับประทานวิตามินซีในรูปของอาหารเสริมรวมถึงวิตามินรวม ก็มีโอกาสน้อยลงเช่นกันที่จะเป็นโรคต้อกระจก


🧡   การศึกษาในประเทศแคนาดาในผู้ชายที่มีสุขภาพดี พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. และวิตามินอี 400IU (วันเว้นวัน) ในระยะยาว ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้


🧡   การศึกษาในระยะยาวอื่น ๆ มากกว่า 10 ปี แนะนำว่าการเสริมวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสมคือ 150-250 มก. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ และการบริโภค

🧡   การศึกษาในระยะยาวพบว่า การเสริมวิตามินรวมในขนาดที่เหมาะสม (มีวิตามินซีรวมอยู่ด้วย 60 มก.) สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ (แต่ไม่มีผลต่อโรคจอตาเสื่อม (AMD)) ในขณะที่สูตรที่มีวิตามินซีสูง (500 มก.) พบว่าไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก

18. ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด (Shingles) ระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำ (ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 45 µmol/L) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคงูสวัดที่เรียกว่า อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมากในบริเวณที่เป็นผื่น แม้ว่าผื่นจากโรคจะหายไปแล้วก็ตาม แต่การศึกษาพบว่า การฉีดวิตามินซีเข้าเส้นเลือดในขนาดวันละ 2.5-15 กรัม (2,500-15,000 มก.) เป็นเวลา 3-14 วัน ร่วมกับการรักษามาตรฐานตามปกติ จะช่วยลดอาการปวดและความรุนแรงจากอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยดังกล่าวได้  อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาว่าการใช้วิตามินซีในรูปแบบรับประทานจะได้ประโยชน์เหมือนวิตามินซีแบบฉีดหรือไม่


19. รักษาแผลที่เท้า การทดลองทางคลินิกขนาดเล็กพบว่า การเสริมวิตามินซีอาจช่วยรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานให้ดีขึ้นได้ (รวมถึงโรคหลอดเลือด และสภาวะอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเกิดแผลที่เท้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยมีระดับวิตามินซีต่ำหรือได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ โดยการศึกษานี้ได้ทำการศึกษาในผู้สูงอายุจำนวน 16 คน (อายุเฉลี่ย 60 ปี) ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 โรคหลอดเลือด หรือโรคอื่น ๆ ที่เป็นแผลที่เท้า โดยกลุ่มแรกให้ทานวิตามินซีแบบออกฤทธิ์ช้าวันละ 500 มก. เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับยาหลอก (ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งของแต่ละกลุ่มมีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ) พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซีแผลที่เท้ามีอาการดีขึ้นทุกคน ในขณะกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการดีขึ้น แต่ไม่ทุกคน (มีจำนวน 44% ที่อาการไม่ดีขึ้น)

20. ป้องกันแผลกดทับ การเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. พบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยผ่าตัดได้อย่างมีนัยสำคัญ

21. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกาต์ โดยมีงานวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับวิตามินซีจากอาหารเสริมในขนาดวันละ 1,000-1,499 มก. จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินซีประมาณ 34% และหากรับประทานวันละมากกว่า 1,500 มก. จะลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเป็น 45%  โดยสอดคล้องกับอีกงานวิจัยที่พบว่า การได้รับวิตามินซีเสริมสามารถช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ได้ โดยเมื่อทดลองให้วิตามินซีในหลายขนาดตั้งแต่ น้อยกว่า 90 มก., 90-249, 250-499, 500-999 และ 1000 มก. ขึ้นไป แล้วพบว่าระดับความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือดมีค่าเท่ากับ 6.4, 6.1, 6.0, 5.7 และ 5.7 mg/dL ตามลำดับ (การเสริมวิตามินซีวันละ 400-500 มก. ดูเหมือนจะช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดได้ดี และจะไม่ลดลงอีกเมื่อให้วิตามินซีที่สูงขึ้น)

22. อาจดีต่ออารมณ์และอาการซึมเศร้า อีกบทบาทของวิตามินซีที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ วิตามินซีมีบทบาทช่วยในการผลิตและการทำงานของสารสื่อประสาทบางชนิด ซึ่งรวมถึงนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่การลดลงของสารนี้เเชื่อมโยงกับการเกิดโรคซึมเศร้า [62] แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินซีไม่ได้ช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็มีบางงานวิจัยที่พบว่าการเสริมวิตามินซีอาจช่วยให้อารมณ์หรือสุขภาพจิตดีขึ้นรวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินซี โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้

🧡   การศึกษาแบบสังเกตในประเทศจีนในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 25,895 คน (อายุเฉลี่ย 49 ปี) ที่ประมาณ 2,300 คน (ประมาณ 9%) มีภาวะซึมเศร้า พบว่าการบริโภควิตามินซีในขนาดที่สูงขึ้น (มากกว่า 92.95 มก. หรือสูงกว่าปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (RDA) เล็กน้อย สำหรับผู้ชาย (90 มก.) และผู้หญิง (75 มก.)) ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าจะลดลง 27% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่บริโภควิตามินซีต่ำ (น้อยกว่าวันละ 430 มก.) แต่การให้ในขนาดที่สูงถึงวันละ 126 มก. ไม่พบประโยชน์เพิ่มเติม

🧡  การศึกษาในผู้ใหญ่ในนิวซีแลนด์จำนวน 128 คน ซึ่งร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 250 มก. เมื่อเทียบกับยาหลอก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ไม่ได้ช่วยปรับปรุงเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า ความโกรธ หรือความวิตกกังวล แต่พบว่ามี Vitality ดีขึ้นเล็กน้อย เช่น ความเหนื่อยล้าลดลง รู้สึกมีความสุขมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอีกการศึกษาในปี 2020 ที่ให้วิตามินซีในผู้ใหญ่วันละ 250 มก. แล้วพบว่ามี Vitality ดีขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน

🧡   การศึกษาในผู้ที่ขาดวิตามินซีจำนวน 46 คน พบว่าการให้วิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับยาหลอกแล้วพบว่าไม่ได้ช่วยเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล และความเหนื่อยล้า แต่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่มสมาธิ และมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพในงานที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและต้องการสมาธิได้เล็กน้อย นอกจากนี้ยังพบว่า การขาดวิตามินซีเกี่ยวข้องกับ Vitality ในระดับที่ต่ำ

23. ใช้เสริมในผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะในผู้ที่สูบบุหรี่ร่างกายจะมีการใช้วิตามินซีมากกว่าคนปกติ อีกทั้งในเด็กที่ผู้ปกครองสูบบุหรี่ด้วยก็พบว่าอาจมีปริมาณวิตามินซีในร่างกายที่ลดลงได้ถึง 50% ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสูบบุหรี่ควรเสริมวิตามินซีจากอาหารปกติให้มากขึ้น

24. เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก วิตามินซีช่วยเพิ่มดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการผมร่วงที่มีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก รวมถึงอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก

25. รักษาประสิทธิภาพยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) จากข้อมูลพบว่าวิตามินซีอาจช่วยรักษาประสิทธิภาพของยาในกลุ่มไนเตรท เช่น ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) ที่ใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกและโรคหลอดเลือดหัวใจ

26. ลดพิษจากสารเสพติดแอมเฟตามีน (Amphetamine) โดยพบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. จะช่วยลด pH และเพิ่มความเป็นกรดให้แก่ปัสสาวะ จึงมีผลเพิ่มการขับออกแอมเฟตามีนในปัสสาวะได้ (แอมเฟตามีนมีคุณสมบัติเป็นเบสอ่อน) ในทางปฏิบัติจึงมีการนำวิตามินซีมาใช้ในผู้ป่วยที่เกิดพิษจากแอมเฟตามีน เช่น เกิดอาการโรคจิต

27. ลดการดูดซึมนิกเกิล (Nickel) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าวิตามินซีสามารถช่วยลดการดูดซึมนิกเกิลซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายได้




🧡   สรุปประโยชน์วิตามินซีตามงานวิจัย วิตามินซีดูเหมือนจะมีประโยชน์อย่างชัดเจนในเรื่องของการช่วยป้องกันภาวะขาดวิตามินซี (เช่น เลือดออกตามไรฟัน), ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้เล็กน้อย, ลดอาการภูมิแพ้, ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (ถ้าใช้ในขนาดน้อย), ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์, ลดความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด, รักษาแผลที่เท้า เป็นต้น และวิตามินซีอาจมีประโยชน์ในเรื่องการช่วยลดริ้วรอยก่อนวัย ปัญหาผิวเสียจากรังสียูวี, อาจช่วยป้องกันหวัดได้ในบางกรณีหรือในบางคน รวมถึงอาจช่วยอารมณ์และอาการซึมเศร้า แต่วิตามินซีไม่น่าจะมีประโยชน์ในเรื่องการช่วยให้ผิวขาว การป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือใช้ได้ผลกับโรคโควิด-19  🧡  



ที่มา    https://medthai.com/vitamin-c/ | Medthai


6 ความคิดเห็น:

  1. วิตามิน ซี

    คำเตือนในการใช้วิตามิน ซี
    เพื่อความปลอดภัยในการรับประทานวิตามิน ซี ผู้รับประทานควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    - ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
    - ผู้ที่มีโรคประจำตัว มีปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือต้องเข้ารับการตรวจต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
    - ในกรณีที่เกิดอาการแพ้หรือรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


    ปริมาณการใช้วิตามิน ซี

    ปริมาณในการรับประทานวิตามิน ซี จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการขาดวิตามิน ซี และดุลยพินิจของแพทย์ โดยปกติแล้ว ผู้รับประทานวิตามิน ซี ควรบริโภคไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือ 1,000 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคไต เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์


    การใช้วิตามิน ซี

    ผู้ที่รับประทานวิตามิน ซี ควรบริโภคตามรายละเอียดบนฉลากและตามคำแนะนำของแพทย์ โดยไม่รับประทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยปกติจะรับประทานในช่วงหลังมื้ออาหาร วันละประมาณ 1–4 ครั้ง ขึ้นกับข้อบ่งใช้

    สำหรับผู้ที่ลืมรับประทานในมื้อนั้น ๆ หากนึกขึ้นได้ให้รีบรับประทานในทันที แต่หากเห็นว่าห่างมานานแล้วให้ข้ามไปรับประทานในมื้อถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานในมื้อถัดไปเพื่อทดแทนมื้อที่ลืมรับประทาน


    ปฏิกิริยาระหว่างวิตามิน ซีกับยาอื่น

    ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มดังต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน

    - ยาที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก
    - ยาที่มีส่วนผสมของสารอะลูมิเนียม เช่น ยาลดกรด
    - ยาแอสไพริน (Aspirin)
    - ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด
    - ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยาฟลูเฟนนาซีน (Fluphenazine) ยาวาฟาริน (Warfarin) ยาอินดินาเวียร์ (Indinavir) ยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) และไนอะซิน (Niacin)

    นอกจากยาที่ได้กล่าวไป ยังอาจมียาชนิดอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของทั้งตัวยาและวิตามิน ซีได้เช่นกัน ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดใด ๆ อยู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน


    ผลข้างเคียงของวิตามิน ซี

    หากรับประทานในปริมาณที่แนะนำ วิตามิน ซี มักไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่การบริโภควิตามิน ซี ในปริมาณมากติดต่อกันยาวนานจะทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วในไตได้ และยังสามารถเกิดอาการต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

    - มีอาการแสบร้อนกลางอก
    - คลื่นไส้อาเจียน
    - ท้องร่วง ท้องเสีย ปวดท้อง

    เพื่อป้องกันอันตรายและผลข้างเคียงจากการบริโภควิตามิน ซี ในปริมาณที่มากเกินไป ควรรับประทานวิตามินซีในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ

    นอกจากนั้น ควรตรวจสอบและกะปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละวันร่วมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคที่มากเกินไป เนื่องจากอาหารหลายชนิดก็ถือเป็นแหล่งของวิตามิน ซี เช่น ส้ม มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง บร็อคโคลี่ และดอกกะหล่ำ โดยผู้ที่มีสุขภาพปกติ ปริมาณที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 80 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้ชาย และ 70 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้หญิง

    ตอบลบ
  2. วิตามินซี "มีโทษต่อร่างกาย" ถ้ากินมากเกินไป

    วิตามินซีเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย และสามารถขับออกโดยไม่สะสมในร่างกาย แต่กินวิตามินเกินขนาดก็ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายเช่นกัน


    เกิดอะไรขึ้นเมื่อกินวิตามินซีครั้งละมากๆ

    ร่างกายเรามีอวัยวะอีกหลายอย่างที่ต้องการเก็บวิตามินซีไว้ใช้ ไม่เพียงแค่เม็ดเลือดขาวที่ต้องใช้วิตามินซีเพื่อเสริมให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรง ยังมีเซลล์สมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะอื่นๆ ที่ต้องสะสมวิตามินซีไว้ใช้งานเช่นกัน แต่การกินวิตามินซีเข้าไปครั้งละมากๆ เกินความจำเป็น ย้ำว่าปริมาณต่อการกินต่อหนึ่งครั้งนะคะ ในผู้ใหญ่ควรกินครั้งละ 500 มิลลิกรัม แต่เมื่อไหร่ที่เรากินมากกว่านี้ ให้ลองนึกถึงถาดทำขนมครก หากเราเทสาดน้ำกะทิลงไปบนถาดโครมเดียว โดยไม่ได้ค่อยๆ หยอดลงทีละหลุม ทำให้บางส่วนก็จะลงไปในหลุม เต็มหลุมบ้าง ไม่เต็มบ้าง และบางส่วนก็จะไหลพรวดพราดออกจากถาดไป พอเห็นภาพไหมคะ ไม่ต่างจาการที่เรากินวิตามินซีปริมาณมากซัดโครมเข้าไปทีเดียว อวัยวะทั้งหลายที่จำเป็นต้องสะสมวิตามินซีไว้ใช้ยังไม่สามารถดูดซึมได้ทัน วิตามินซีก็ถูกร่างกายขับออกหมดแล้ว


    วิตามินซีเกิดโทษที่เราไม่ทันคิด

    ด้วยความที่วิตามินซีมีฤทธิ์เป็นกรด ถ้ากินตอนท้องว่าง อาจทำให้กัดกระเพาะได้ ยิ่งคนเป็นโรคกระเพาะอยู่แล้ว ยิ่งกระตุ้นให้ปวดท้อง และมีปัญหาเรื่องการย่อยได้ นอกจากนั้นวิตามินซียังมีหน้าที่กระตุ้นการดูดซึมธาตุเหล็ก การกินวิตามินซีปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายมีธาตุเหล็กเกินขนาด และที่ว่าร่างกายสามารถขับวิตามินซีส่วนที่เหลือใช้ออกจากร่างกายได้ แต่อวัยวะที่ต้องรับบทหนักกลายเป็นไตสิคะ ที่ต้องทำงานหนักในการขับวิตามินซีออกจากร่างกาย ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้ค่ะ น่าเสียดายนะคะ แทนที่ร่างกายจะแข็งแรง


    ขนาดวิตามินซีกับน้ำหนักของร่างกาย

    ส่วนเรื่องขนาดของร่างกาย ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก น้ำหนักมากหรือน้อย ผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่เกี่ยวกับปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายต้องการ สามารถกินวิตามินซีได้ในปริมาณที่เท่ากันได้ค่ะ

    เลือกซื้อวิตามินซียังไงดี


    1. มีวิตามินซีมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด เช่น Nat C, Blackmore และอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของที่ผลิตในประเทศ หรือของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่ต้องดูคือวิตามินซีต้องได้รับการอนุญาตจาก อย. ไทย หรือหากเป็นวิตามินซีที่นำเข้า ก็ควรระวังของปลอม และให้ดูวันเดือนปีที่ผลิตให้ดี

    2. ดูจำนวนเม็ดให้เหมาะสมกับจำนวนผู้กิน แม้ว่าวันหมดอายุจะเผื่อไว้หนึ่งปี แต่วิตามินซีเสื่อมคุณภาพได้ง่ายมากหากโดนความร้อนหรืออากาศ หลังเปิดขวดแล้ว แนะนำให้กินให้หมดได้ภายใน 1-2 เดือน ถ้าหากต้องการประหยัดเพราะขวดใหญ่มีราคาถูกกว่า ก็ควรแบ่งบางส่วนออกมาแยกใส่ขวดทึบแสงขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้วิตามินซีในขวดใหญ่สัมผัสอากาศทุกวัน

    3. วิตามินซีเสื่อมคุณภาพได้ง่าย ควรเลือกซื้อยี่ห้อที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ทึบแสง ถ้าเป็นขวดสีชาก็ควรจะทึบจนแทบไม่เห็นเม็ดวิตามินเลย

    4. วิตามินซีมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบได้รับการออกแบบมาเหมาะกับพฤติกรรมของคน

    - วิตามินซีแบบเม็ด เหมาะกับคนทั่วไปที่สามารถกลืนยาได้ปกติ และควรดื่มน้ำตามเยอะๆ เพื่อช่วยให้วิตามินซีแตกตัว
    - วิตามินซีแบบเคี้ยว ส่วนใหญ่มาในรูปของเยลลี่ มักเป็นวิตามินซีสำหรับเด็ก เพราะมีน้ำตาล รสชาติอร่อย กินง่าย แต่ควรดูมิลลิกรัมที่พอเพียงด้วย
    - วิตามินซีแบบเม็ดฟู่ กินแล้วทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เหมือนได้รับความรู้สึกว่ามีวิตามินซีเข้าร่าง ควรให้วิตามินละลายจนหมดเม็ดแล้วค่อยดื่ม เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้




    ตอบลบ
  3. รับประทานวิตามินซีมากไป ให้ผลเสียอย่างไรบ้าง ?
    วิตามินซีเป็นสารอาหารที่ให้ประโยชน์และไม่มีโทษใด ๆ ต่อร่างกาย เพราะได้รับการจัดเอาไว้ว่าเป็นสารอาหารที่มีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานวิตามินซีมากเกินปริมาณที่ร่างกายควรจะได้รับในแต่ละวันนั้น จะไม่เป็นการส่งผลให้ร่างกายเกิดโรคร้ายแรงใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายจะไม่มีผลกระทบของโรคร้าย แต่การได้รับปริมาณวิตามินซีที่มากจนเกินไป ก็ยังคงส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนี้

    ผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร เนื่องจากการมีวิตามินซีมากจนเกินไปอาจทำให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ไม่หมดหรือไม่ถูกดูดซึม และวิตามินซีที่ไม่ถูกดูดซึมนี้นี่เองที่ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง ร่างกายมีปริมาณธาตุเหล็กมากเกินไป วิตามินซีทำหน้าที่กระตุ้นการดูดซึมธาตุเหล็ก เมื่อวิตามินซีมากเกินไปก็เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมเอาธาตุเหล็กมากขึ้นตามไปด้วย เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต เมื่อวิตามินซีมากเกินไป ส่วนที่เกินมาและไม่ถูกดูดซึมนั้นจะถูกขับออกมาเป็นของเสีย ซึ่งของเสียที่ว่านั้นเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดนิ่วในไต

    นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังมีผลเสียอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

    - ท้องร่วง

    - ท้องอืด

    - เป็นตะคริวที่ท้อง

    - มีความรู้สึกไม่สบายท้อง

    - วิงเวียนศีรษะ

    - อาเจียน

    - ปวดท้อง

    - นอนไม่หลับ


    วิตามินซีแค่ไหนถึงเรียกว่ามากเกินไป ?

    โดยทั่วไปนั้น การรับประทานวิตามินซีในสัดส่วนที่เหมาะสม ได้มีการกำหนดปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันเอาไว้ว่า สำหรับเพศชายควรได้รับวิตามินซี 90 มิลลิกรัมต่อวัน และสำหรับเพศหญิงควรได้รับปริมาณวิตามินซี 75 มิลลิกรัมต่อวัน วัยผู้ใหญ่ควรได้รับปริมาณวิตามินซี2,000มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าหากร่างกายได้รับปริมาณของวิตามินซีมากเกินกว่าที่แนะนำ อาจเป็นผลเสียต่อร่างกายตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

    และในสัดส่วนปริมาณของการรับประทานวิตามินซีในแต่ละช่วงอายุเป็น ดังนี้

    เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับวิตามินซี 15 มิลลิกรัมต่อวัน

    เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับวิตามินซี 25 มิลลิกรัมต่อวัน

    เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับวิตามินซี 45 มิลลิกรัมต่อวัน

    เพศหญิง อายุ 14-18 ปี ควรได้รับวิตามินซี 65 มิลลิกรัมต่อวัน

    เพศหญิง อายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินซี 75 มิลลิกรัมต่อวัน

    เพศชาย อายุ 14-18 ปี ควรได้รับวิตามินซี 75 มิลลิกรัมต่อวัน

    เพศชาย อายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินซี 90 มิลลิกรัมต่อวัน


    วิตามินซี เป็นสารอาหารที่ให้คุณค่าแก่ร่างกายชนิดที่เรียกว่าไม่ควรขาดวิตามินซี แต่อย่างไรก็ตาม ของสิ่งใดที่มากหรือน้อยจนเกินไป ย่อมก่อให้เกิดผลเสียได้เสมอ ดังนั้น การรับปริมาณวิตามินซีในระดับที่มีการแนะนำและเป็นสัดส่วนที่เพียงพอต่อร่างกาย จึงถือว่าเป็นการปลอดภัยและได้คุณค่าต่อร่างกายอย่างสูงสุด

    ตอบลบ
  4. วิตามินซี ควรกินเท่าไรในแต่ละช่วงวัย


    แม้วิตามินจะมีประโยชน์ แต่หากอยากกินวิตามินซีเสริมจากอาหารที่กินตามปกติ ก็ไม่ใช่ว่าจะกินเท่าไรก็ได้นะคะ เพราะฉะนั้นในแต่ละวัยควรกินวิตามินซีเท่าไร ลองมาดูกันเลย

    * เด็ก อายุไม่ถึง 15 ปี ต้องการวิตามินซี 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ก็สามารถกินเพิ่มได้ถึง 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน ทว่าไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน

    * อายุ 15 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินซี 75-90 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ก็สามารถกินเพิ่มได้ถึง 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่ต้องการป้องกันหรือรักษาโรคบางชนิด เช่น หวัด หรือเลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม หากต้องการกินวิตามินซีเพื่อบำรุงร่างกายหรือบรรเทาอาการบางอย่าง สามารถกินวิตามินซีเสริมในปริมาณที่เหมาะสมได้ อย่างที่บอกไปข้างต้น

    วิตามินซี ต้องกินแค่ไหน ถึงจะช่วยป้องกันและรักษาโรคได้

    สำหรับการกินวิตามินซีเพื่อหวังผลในการป้องกันและรักษาโรค ควรกินในปริมาณที่แนะนำ ดังนี้

    * เสริมภูมิคุ้มกัน และบำรุงผิวพรรณ

    ตามศาสตร์ชะลอวัยแนะนำให้กินวิตามินซีวันละ 1,000 มิลลิกรัมขึ้นไป และควรเลือกกินวิตามินซีที่สกัดจากธรรมชาติ

    * ลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัด

    หากต้องการบรรเทาอาการภูมิแพ้ แนะนำให้กินวิตามินซีขนาด 1,000-3,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะมีงานวิจัยพบว่า การกินวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลา จะช่วยให้ระดับฮิสตามีน สารที่ทำให้น้ำตา-น้ำมูกไหล ลดลงได้ถึงร้อยละ 40

    * ผู้ป่วยเบาหวาน

    ควรกินวิตามินซีวันละ 1,000 มิลลิกรัม เพื่อลดสารต้านอนุมูลอิสระและการอักเสบของหลอดเลือด อีกทั้งยังช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย เป็นต้น

    ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ดังนั้น หากอยากรู้ว่าเราควรกินวิตามินซีมาก-น้อยแค่ไหน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจน


    ตอบลบ
  5. กินวิตามินซีทุกวันอันตรายไหม มีผลข้างเคียงอะไรหรือเปล่า

    โดยปกติแล้วร่างกายเราสามารถขับวิตามินซีออกไปได้เองตามธรรมชาติผ่านทางปัสสาวะ แต่ถึงอย่างนั้นการกินวิตามินซีเสริมทุกวัน หรือกินเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ก็อาจเกินความจำเป็น เพราะปกติเราได้รับวิตามินซีจากอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละวันอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักและผลไม้ นอกจากนี้การกินวิตามินซีติดต่อกันนาน ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

    - อาการไม่สบายท้อง

    - ปวดมวนท้อง

    - ท้องเสียรุนแรง โดยพบได้ในผู้ที่กินวิตามินซีโดสสูงมาก ๆ ถึง 8,000 มิลลิกรัม

    - เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

    - เสี่ยงเป็นนิ่วในไต จากการตกตะกอนของวิตามินซีที่ร่างกายขับออกไปไม่หมด

    กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรระวังการรับประทานวิตามินซีให้มาก
    * ผู้ป่วยโรคไต


    เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาในการขับถ่ายของเสีย จึงควรต้องระมัดระวังในการรับประทานวิตามิน ยา หรืออาหารเสริมทุกชนิด

    * ผู้ป่วยโรค G6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้า


    ผู้ป่วยโรคนี้ก็ไม่ควรได้รับวิตามินซีในปริมาณที่มากด้วยเช่นกัน เนื่องจากวิตามินซีมีสรรพคุณช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้น ผู้ป่วยโรค G6PD ที่ร่างกายมีปริมาณธาตุเหล็กสูงอยู่แล้ว วิตามินซีก็อาจไปเพิ่มระดับธาตุเหล็ก และทำให้เสี่ยงภาวะเม็ดเลือดแตกได้ง่ายขึ้น

    * ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย


    วิตามินซีจะส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ดังนั้น การกินวิตามินซีมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะซีดในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตับเป็นพังผืด ตับวาย เป็นต้น

    * ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง


    วิตามินซีอาจทำปฏิกิริยาต่อยาที่ใช้รักษาโรค โดยอาจเพิ่มหรือลดฤทธิ์ยาที่กินเข้าไป

    * ผู้ป่วยโรคมะเร็ง


    เพราะวิตามินซีอาจส่งผลต่อยาที่ใช้ในการรักษาโรคได้

    ดังนั้น หากมีโรคประจำตัว หรือมียาที่กินอยู่เป็นประจำ ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานวิตามินซีนะคะ

    ตอบลบ
  6. กินวิตามินซีอย่างไรให้ปลอดภัย และได้ประโยชน์สูงสุด

    หากเช็กสุขภาพแล้วผ่าน สามารถกินวิตามินซีบำรุงร่างกายได้ ก็ควรกินวิตามินซีตามนี้ จะได้ประโยชน์สูงสุด และลดผลข้างเคียงจากวิตามินซีไปด้วยในตัว


    * กินวิตามินซีหลังมื้ออาหาร เพื่อลดอาการระคายเคืองจากกรดของวิตามินซี และเพื่อให้อาหารช่วยเสริมการดูดซึมวิตามินซีไปด้วย


    * ควรกินวิตามินซีหลังมื้อเช้าและกลางวัน โดยหลีกเลี่ยงการกินวิตามินซีในมื้อเย็นหรือก่อนนอน เพราะวิตามินซีจะถูกขับออกจากร่างกายภายใน 2-3 ชั่วโมง และโดยปกติในช่วงกลางคืนที่เรานอนหลับ จะไม่ค่อยปัสสาวะแล้ว ดังนั้นร่างกายก็จะไม่ได้ระบายออก วิตามินซีก็อาจสะสมในไตได้


    * ดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อช่วยป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร


    * แบ่งกินวิตามินซีครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2-6 เม็ด จนครบขนาดที่แนะนำ เพราะวิตามินซีมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึม ร่างกายเราจะดูดซึมวิตามินซีในปริมาณน้อย ๆ ได้ดีกว่าปริมาณมาก


    * กินวิตามินซีร่วมกับอาหารแคลเซียมสูง คอลลาเจน กลูต้าไธโอน และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงช่วยในการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ดีขึ้นด้วย

    วิตามินซีจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพได้อย่างเต็มที่ ก็ต่อเมื่อเรากินวิตามินซีอย่างถูกหลักโภชนาการ แต่ถ้าปกติเป็นคนที่กินอาหารครบ 5 หมู่ กินผัก-ผลไม้เป็นประจำอยู่แล้ว การกินวิตามินซีเสริมก็อาจไม่จำเป็นเท่าไร เพราะในอาหารก็มีวิตามินซีให้เลือกกินได้ทุกวันเลยค่ะ

    ตอบลบ