อัลตราซาวด์ บอกอะไรแม่ตั้งครรภ์
อัลตราซาวด์บอกอะไรแม่ตั้งครรภ์ (Mother&Care)
ตลอดระยะเวลาการรอคอยที่จะเห็นลูกน้อย สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ทุกคนปรารถนา คือการรับรู้ถึงการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของลูกในครรภ์การอัลตราซาวด์ เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่บอกได้ถึงสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยนั่นเอง ฉบับนี้เรามีข้อมูล เรื่องดี ๆ ของการอัลตราซาวด์มาฝากคุณแม่ โดยได้รับเกียรติจาก พญ.อัญชุลี สิทธิเวช สูติ-นรีแพทย์และแพทย์ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเป็นผู้ให้คำตอบค่ะ
การอัลตราซาวด์บอกอะไรได้
ไตรมาสที่ 1
หญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป การอัลตราซาวด์ตรวจน้ำหลังคอทารกจะช่วยคัดกรองความผิดปกติเรื่องดาวน์ซินโดรม (ร่วมกับการตรวจเลือด) ช่วยวินิจฉัยจำนวนทารกในครรภ์และประเมินอายุครรภ์ ในกรณีที่คุณแม่ไม่แน่ใจช่วงวันหมดประจำเดือนหรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ทำได้ตั้งแต่คุณแม่อายุครรภ์ 5 อาทิตย์ขึ้นไป เพื่อกำหนดระยะเวลาการคลอด ทั้งยังสามารถวินิจฉัยความเสี่ยงบางอย่าง เช่น ภาวะท้องลม ภาวะแท้งจากทารกไม่เจริญเติบโต เป็นต้น
ไตรมาสที่ 2
ในไตรมาสนี้ทารกในครรภ์เติบโตขึ้นมาก มีการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมากขึ้น การอัลตราซาวด์เป็นการตรวจหาความผิดปกติทางโครงสร้างร่างกายของทารก เช่น หัวใจ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง โครงกระดูก แขนขา ทรวงอก เนื้อปอด และภาวะปากแหว่ง อวัยวะหลักภายในช่องท้อง ไม่ว่าตับ ไต และความผิดปกติของลำไส้ บางชนิด กระเพาะปัสสาวะ และปริมาณน้ำคร่ำ เป็นต้น
ไตรมาสที่ 3
เพื่อตรวจดูความผิดปกติของรกและน้ำคร่ำในครรภ์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นตัวบ่งชี้ว่า คุณแม่อาจต้องคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากสาเหตุบางอย่าง เช่น รกแก่ คือสารอาหารไปสู่ลูกน้อยไม่เพียงพอ ทารกจะอยู่ในสภาวะขาดสารอาหาร และมีผลต่อการเจริญเติบโต เป็นต้น
การอัลตราซาวด์ คืออะไร
อัลตราซาวด์ เป็นเครื่องมือในการตรวจร่างกาย ที่อาศัยหลักการคลื่นเสียงความถี่สูง (เป็นคลื่นชนิดเดียวกับเรือดำน้ำ สำหรับหาวัตถุใต้ท้องทะเล เป็นความถี่ที่สูงเกินกว่าหูคนเราปกติจะได้ยิน คือมากกว่า 20,000 เฮิรตซ์) เมื่อคลื่นความถี่อัลตราซาวด์กระทบกับผิวหนังหน้าท้อง วัตถุในช่องท้อง อวัยวะต่าง ๆ หรือแม้แต่ทารก จะเกิดการสะท้อนกลับ ประมวลผลเป็นรูปร่างออกมา
สำหรับทางการแพทย์ การอัลตราซาวด์มีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมไปถึงการวินิจฉัยโรคของทารก และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เช่น ความผิดปกติของน้ำคร่ำหรือรก เป็นต้น ทั้งนี้ยังสามารถตรวจดูในส่วนอื่น ๆ เช่น ไต ตับ ปอด และหัวใจ ได้อีกด้วย
สำหรับทางการแพทย์ การอัลตราซาวด์มีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมไปถึงการวินิจฉัยโรคของทารก และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เช่น ความผิดปกติของน้ำคร่ำหรือรก เป็นต้น ทั้งนี้ยังสามารถตรวจดูในส่วนอื่น ๆ เช่น ไต ตับ ปอด และหัวใจ ได้อีกด้วย
การเจริญเติบโตของทารก
การวัดสัดส่วนของทารกในแต่ละอายุครรภ์ จะประมวลผลกับตารางค่ามาตรฐาน ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้วตามทฤษฎีทางการแพทย์ โดยแต่ละอายุครรภ์จะใช้มาตราวัดที่แตกต่างกัน เช่น ไตรมาสที่ 1 จะใช้การวัดความยาวจากศีรษะถึงก้นของทารกเป็นมิลลิเมตรหรือเซนติเมตร แต่ในไตรมาสที่ 2 และ 3 จะใช้การวัดส่วนศีรษะทั้งความกว้างของกะโหลกศีรษะและเส้นรอบวงศีรษะ เส้นรอบวงช่องท้อง ความยาวของกระดูกต้นขา และทำการประมวลผลตามตารางค่ามาตรฐานออกมาเป็นน้ำหนักของทารก
มีผลกับทารกในครรภ์อย่างไร
การอัลตราซาวด์ อาศัยหลักการคลื่นความถี่ของเสียงผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งต่างกับการฉายรังสี ฉะนั้น ทารกจึงไม่ได้รับผลกระทบที่เป็นอันตรายแต่อย่างใดจากการอัลตราซาวด์ ส่วนระยะเวลาการอัลตราซาวด์ ก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการตรวจ เช่น การหาความผิดปกติบางอย่าง อาจจะใช้เวลานาน เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย แต่ถ้าเป็นการติดตามการเจริญเติบโตจะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้นเอง
เทคโนโลยีการอัลตราซาวด์
แบบ 2 มิติ
ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ จะเป็นภาพแบบ 2 มิติ ในลักษณะภาพตัดขวางทีละภาพตามแนวของคลื่นเสียงที่ส่งออกไป ในแนวระนาบ (ความกว้างกับความยาว) ดังนั้น ภาพที่เห็นเป็นเพียงขาวดำเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถใส่สี เพื่อดูการไหลเวียนเข้า-ออก ของเส้นเลือดดำ-แดง ที่สายสะดือ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเส้นเลือดสายสะดือที่ไปเลี้ยงทารกได้
แบบ 3 มิติ
รูปแบบการประมวลผลมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยหัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงในลักษณะหลายระนาบพร้อมกัน มีการเก็บข้อมูลติดต่อกัน ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปประมวลผล และทำการสร้างเป็นภาพ 3 มิติ ที่เพิ่มความลึกขึ้นมา ทำให้ได้ภาพเสมือนวัตถุจริงมากขึ้น มองเห็นความลึกของภาพในแบบภาพนูนตื้นได้
แบบ 4 มิติ
การอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ จะประมวลผลแต่ละภาพ แล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหว สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของทารกในขณะตรวจ เช่น การเคลื่อนไหวใบหน้า ยกแขน ขยับนิ้ว อ้าปาก หรือมองเห็นอวัยวะได้ชัดเจนกว่าการอัลตราซาวด์รูปแบบอื่น เช่น ใบหน้า แขน ขา นิ้วมือ และมีจุดเด่นระยะเวลาการตรวจที่สั้น เนื่องจากมองเห็นร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ จากภาพที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และบันทึกภาพการตรวจด้วยระบบ DVD (เปิดได้จากเครื่องเล่น DVD และคอมพิวเตอร์)
อย่างไรก็ตาม การอัลตราซาวด์แบบ 2 มิติ ยังเป็นมาตรฐานการวินิจฉัยทางการแพทย์เป็นหลัก และทำการตรวจตามอายุครรภ์ที่เหมาะสม (เดือนที่ 5 เป็นต้นไป) ในโรงพยาบาลภาครัฐ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใดในการอัลตราซาวด์เพราะสามารถทำได้ทุกช่วงอายุของการตั้งครรภ์ และตามจำนวนครั้งที่คุณแม่ต้องการ คงมีเพียงเรื่องของค่าใช้จ่าย ที่ตามแต่ละโรงพยาบาลเป็นผู้กำหนด
ปัจจุบัน การอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ สามารถประเมินวิเคราะห์โรคหรือปัญหาได้ว่าทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการเหมาะสมหรือไม่ และทำได้รวดเร็วมากขึ้น สามารถบอกข้อมูลต่อไปนี้
โครงสร้างกะโหลกศีรษะและสมองทารก
ใบหน้า และอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าของทารก-หัวใจและการไหลเวียนเลือดของทารก
กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และไตของทารก
แขน ขา มือเท้า และนิ้ว
ตำแหน่งทารก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำที่อยู่ล้อมรอบทารก
เพศของทารก (เมื่อต้องการอัลตราซาวด์ดูเพศ)
อัตราการเจริญเติบโตของทารก ขนาดรอบศีรษะ ความยาวและน้ำหนัก
ใบหน้า และอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าของทารก-หัวใจและการไหลเวียนเลือดของทารก
กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และไตของทารก
แขน ขา มือเท้า และนิ้ว
ตำแหน่งทารก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำที่อยู่ล้อมรอบทารก
เพศของทารก (เมื่อต้องการอัลตราซาวด์ดูเพศ)
อัตราการเจริญเติบโตของทารก ขนาดรอบศีรษะ ความยาวและน้ำหนัก
คำแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์
คุณหมอแบ่งปันความรู้ให้คุณแม่ใส่ใจเรื่องการดูแลตัวเองตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ ในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ต่อไปนี้ด้วยค่ะ
ไตรมาสที่ 1
ภาวะแท้ง
เนื่องจากช่วง 3 เดือนแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ลูกน้อยในครรภ์กำลังก่อร่างสร้างตัว คุณแม่จึงต้องระมัดระวังตัวเองให้มาก เช่น การทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ การออกกำลังกาย ต้องไม่หักโหมเกินไป และสังเกตว่า หากมีอาการปวดท้อง เลือดออกจากช่องคลอด ต้องรีบมาพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุทันทีค่ะ
แพ้ท้อง
ช่วง 3 เดือนแรก อาการที่คุณแม่อาจพบเจอก็คือ อาหารไม่ย่อย ท้องอึด คลื่นไส้ รวมถึงอาการแพ้ที่เป็นปัญหากวนใจคุณแม่ การปรับเปลี่ยนอุปนิสัยการกินจะช่วยได้ หมอแนะนำว่าคุณแม่ควรกินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อให้ระบบการย่อยทำงานได้ดี ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ค่ะ
ไตรมาสที่ 2
อาการปวดหลัง
เกิดจากการเจริญเติบโตของทารกที่ทำให้ผนังหน้าท้องขยายมากขึ้น ทำให้มีการปรับสรีระกระดูกสันหลังส่วนเอวให้แอ่นมากขึ้นและจะเกิดการเกร็งกล้ามเนื้อหลัง วิธีที่ทำได้คือ การนวดเบา ๆ เล็กน้อย และฝึกนอนตะแคง เพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง
ปัสสาวะบ่อยครั้ง
เนื่องจากมดลูกเบียดกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อยครั้ง ข้อควรปฏิบัติ คือ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคนในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ
ไตรมาสที่ 3
การดิ้นของทารก
ในช่วงเดือนที่ 5 เป็นต้นไป คุณแม่สามารถสังเกตการดิ้นของลูกเพื่อรู้ถึงความผิดปกติ และความแข็งแรงของลูกจากการดิ้น ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการสังเกต เช่น ใน 1 วันลูกควรดิ้น 10 ครั้งต่อวันเป็นอย่างน้อย หรือหลังมื้ออาหารแต่ละมื้อ หลัง 1 ชั่วโมงไปแล้ว ควรดิ้นประมาณ 4 ครั้ง (เท่ากับ 12 ครั้งต่อ 3 มื้ออาหาร) เป็นต้น
ขอให้ช่วงเวลาการรอคอยพบหน้าลูกน้อย เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของคุณแม่นะคะ