อย่าเปรียบเทียบหนูนะ !
อย่าเปรียบเทียบหนูนะ !
จากการสัมภาษณ์ : พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต
เคยไหมคะ ที่ลูกวัย 3-6 ปีของเราทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ แล้วเราเผลอเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นโดยไม่เจตนา โดยลืมนึกไปว่าลูกเข้าใจคำพูดของผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดีแล้ว ที่สำคัญลูกก็ไม่ชอบให้ตัวเองถูกเปรียบเทียบด้วย
ยิ่งเปรียบเทียบ ยิ่งถอย
เด็กวัยนี้ เป็นช่วงที่มีพัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความอดทน เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะด้านอารมณ์ สามารถเรียนรู้ได้ทุกอารมณ์แล้วค่ะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกถูกเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน หรือกับพี่น้อง ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกได้เช่นกัน
พัฒนาการหยุดชะงัก โดยเฉพาะเด็กบางคนที่กล้ามเนื้อพัฒนามากขึ้น วิ่งเก่ง กระโดดสูง หรือเริ่มหัดปั่นจักรยาน เมื่อถูกเปรียบเทียบ เด็กจะรู้สึกลังเล สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น หรือเด็กบางคนที่พื้นอารมณ์เป็นคนอ่อนไหวง่าย พัฒนาการต่าง ๆ ก็จะหยุดชะงักทันที เช่น การหยิบจับปากกา ดินสอ พู่กัน ติดกระดุม หรือการช่วยเหลือตนเองในด้านต่าง ๆ จากที่ลูกเคยทำได้แล้วก็อาจจะกลายเป็นทำช้าลง หรือทำไม่ได้อีกเลย
อารมณ์เชิงลบ ช่วงนี้ลูกรู้จักทุกอารมณ์หมดแล้ว โดยเฉพาะเด็กในวัย 3 ขวบ อารมณ์ของการแข่งขันและความอิจฉาจะมีอยู่สูง หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มส่งเสริมเรื่องการแข่งขัน ลูกจะยิ่งเพิ่มความรู้สึกที่อยากจะเอาชนะ แพ้ไม่ได้ และแบ่งปันให้ใครไม่เป็น หรือบางครั้งลูกก็อาจจะพาล เช่น ถ้าพี่ถูกเปรียบเทียบกับน้อง พี่ก็จะพาลไม่ชอบน้อง ซึ่งถ้าเขามีโอกาสอยู่กับน้องตามลำพัง เขาอาจกลั่นแกล้งน้องได้ และหากลูกถูกเปรียบเทียบบ่อย ๆ ก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกกลัว โมโห โกรธ หรือไม่พอใจ ผลกระทบที่ตามมาก็คือสมองและสติปัญญาของลูกจะไม่พัฒนา ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ ถูกระงับไป และลูกก็จะกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ในที่สุด
กระทบต่อความคิด จากคำพูดที่เปรียบเทียบ จะรู้สึกแย่กับตัวเอง เพราะคำพูดของผู้ใหญ่เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เด็กเห็นตัวตนของเขาเอง ถ้าเราสะท้อนทุกวันว่าเขายังทำไม่ดี ทำไม่เหมาะสม ยังคงไม่เก่ง โดยที่ลูกได้ยินอย่างนั้นอยู่ซ้ำ ๆ ก็ยิ่งจะทำให้เขาเชื่อว่าตัวตนของเขาเป็นคนไม่ดี ไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ แล้วเขาก็จะรู้สึกต่ำต้อย ไม่มีคุณค่าในตัวเอง
พัฒนาการทางสังคมเสีย เมื่อเด็กถูกเปรียบเทียบบ่อย ๆ เขาจะรู้สึกหวงของมากขึ้น ไม่อยากเล่นกับใคร เพราะคิดว่าถ้าแพ้จะต้องสูญเสีย กลายเป็นคนเก็บตัว ทำให้ภาวะทางสังคมหรือการเล่นที่จะพัฒนาการเรียนรู้สูญเสียไปด้วย
เด็กบางคนขาดความกระตือรือร้น หรือมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้น้อยลง เพราะถ้าเขาทำอะไรไปแล้วผู้ใหญ่ไม่ยอมรับ หรือพูดอะไรในเชิงลบ ความสัมพันธ์ของเด็กกับบุคคลนั้นก็จะลดลง ความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือหรือเรียนรู้ก็ไม่เกิดขึ้น เป็นต้น
เปรียบเทียบอย่างไรให้ลูกรู้สึกดี
ผู้ใหญ่บางคนอาจจะรู้สึกว่า ถ้าไม่เปรียบเทียบก็ไม่มีต้นแบบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการเปรียบเทียบจะทำให้ความรู้สึกดีที่มีต่อตัวเองน้อยลง เป็นผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากการเปรียบเทียบกับบุคคลที่ 3 เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเขา
ควรให้ลูกได้ตรวจสอบและตักเตือนตนเองจะดีกว่า คือเป็นการเปรียบเทียบตัวเอง ณ ปัจจุบันกับตัวเขา ตอนที่มีวุฒิภาวะที่เหมาะสมกับวัย เช่น ช่วงที่ลูกเคยแต่งตัวได้เอง กินข้าวเอง เก็บเสื้อผ้าเอง ผูกเชือกรองเท้าได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบเข้าไปเสริมว่า ชอบจังเลย น่ารักมาก หนูเป็นคนเก่ง ดูแลตัวเองได้ นี่แหละคือต้นแบบของเขา เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ยอมรับ รู้สึกดี และเป็นสิ่งที่ลูกสามารถทำได้ค่ะ
ควรให้ลูกได้ตรวจสอบและตักเตือนตนเองจะดีกว่า คือเป็นการเปรียบเทียบตัวเอง ณ ปัจจุบันกับตัวเขา ตอนที่มีวุฒิภาวะที่เหมาะสมกับวัย เช่น ช่วงที่ลูกเคยแต่งตัวได้เอง กินข้าวเอง เก็บเสื้อผ้าเอง ผูกเชือกรองเท้าได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบเข้าไปเสริมว่า ชอบจังเลย น่ารักมาก หนูเป็นคนเก่ง ดูแลตัวเองได้ นี่แหละคือต้นแบบของเขา เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ยอมรับ รู้สึกดี และเป็นสิ่งที่ลูกสามารถทำได้ค่ะ
เมื่อลูกถูกเปรียบเทียบ
แม้คุณพ่อคุณแม่จะไม่เคยพูดเปรียบเทียบลูกเลย แต่ถ้าเขาต้องไปโรงเรียนหรืออยู่ในสังคมที่มีแต่การเปรียบเทียบ คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
สังเกตและพร้อมรับฟังลูกเสมอ บางทีเขาจะยังปะติดปะต่ออะไรได้ไม่ดีเท่าที่ควร คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามรับฟังแล้วนำมาปะติดปะต่ออีกทีหนึ่ง ระหว่างนั้นอาจจะซักถามหรือพูดคุยกับลูกเพื่อที่อย่างน้อย การเล่าก็เป็นการระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา และเมื่อระบายออกมาแล้ว เขาก็จะรู้สึกสบายใจขึ้นค่ะ
ช่วยลูกจัดการกับความรู้สึก ถ้าลูกกำลังโกรธ ก้าวร้าว หงุดหงิด โมโห คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าไปถามความรู้สึกของลูกทันที เช่น หนูกำลังโกรธอยู่ใช่ไหม โกรธเรื่องอะไร โกรธที่ผู้ใหญ่พูดแบบนี้ใช่ไหม เป็นเพราะหนูดื้อจริง ๆ หรือเปล่า จากนั้นจึงค่อยอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังอีกครั้ง ว่าการที่ผู้ใหญ่พูดแบบนี้นั้น เป็นเพราะเขาหวังดีกับลูก เพียงแต่ผู้ใหญ่บางคนไม่รู้จะพูดกับลูกอย่างไรดี เพื่อให้เขาได้เข้าใจความคิดของผู้ใหญ่และสามารถจัดการกับความรู้สึกในใจของตัวเขาเองได้
สวมบทบาทสมมติสะท้อนความรู้สึกลูก บางครั้งการอธิบายเหตุผลให้ลูกเพียงอย่างเดียวอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก แต่หากลองให้ลูกได้เล่นบทบาทสมมติดู เช่น ให้ลูกเล่นเป็นคุณครูที่โรงเรียน จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ถามความรู้สึกของลูกดู "ถ้าหนูเป็นคุณครูหนูรู้สึกอย่างไร" ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกได้ตอบและสัมผัสความรู้สึกที่อยู่ในใจลึก ๆ ของผู้ใหญ่
เพราะว่าเด็กบางคนอ่อนไหวกับคำพูดของผู้อื่น ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่รู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกแล้วช่วยกันแก้ไข เขาก็จะแยกแยะได้ว่า ภาพที่คนอื่นมองนั้นเป็นเพราะไม่รู้จักเขา แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเขาเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเขาเอง เชื่อมั่นในความดีของเขา อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ให้คุณค่ายืนยัน สนับสนุนและยอมรับในสิ่งที่ลูกทำ ปัญหาด้านพัฒนาการต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ