วิตามินอี
- วิตามินอี (Vitamin E) หรือ โทโคฟีรอล (Tocopherol) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งจะถูกเก็บสะสมไว้ที่ตับ เนื้อเยื่อ ไขมัน หัวใจ เลือด กล้ามเนื้อ มดลูก อัณฑะ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง มีหน่วยวัดเป็น IU โดย 1 IU = 1 mg. โดยวิตามินอีแบ่งออกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือโทโคฟีรอลและโทโคไทรอีนอล โดยทั้ง 2 กลุ่มจะแบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ แอลฟา บีตา แกมมา เดลตา ซึ่งในบรรดาสารทั้ง 8 ตัว แอลฟาโทโคฟีรอลจัดได้ว่ามีฤทธิ์ทางชีวภาพ แต่แกมมาโทโคฟีรอลมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเพิ่มระดับเอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (SOD) ซึ่งมีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระและป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งรวมไปถึงมะเร็ง โรคหัวใจ โรคชรา อัลไซเมอร์
- วิตามินอีเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของสารในกลุ่มไขมัน ทำงานเหมือนกับวิตามินเอ วิตามินซี ซีลีเนียม กรดอะมิโนซัลเฟอร์ นอกจากนี้วิตามินอียังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของวิตามินเอได้ดียิ่งขึ้น และยังทำหน้าที่สำคัญคล้ายเป็นยาขยายหลอดลมและเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยวิตามินอีจะต่างกับวิตามินที่ละลายในไขมันตัวอื่นคือ ร่างกายจะเก็บสะสมไว้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คล้าย ๆ กับวิตามินบีและวิตามินซี
- แหล่งที่พบวิตามินอีตามธรรมชาติ ได้แก่ ไข่ จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลชนิดโฮลเกรน แป้งทำขนมปังแบบเสริมวิตามิน ถั่วเหลือง น้ำมันพืช น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพดถั่ว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (วอลนัต พีแคน ถั่วลิสง จะมีแกมมาโทโคฟีรอลมากเป็นพิเศษ) กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ผักใบเขียว ผักขม อะโวคาโด (เฉพาะเนื้อ) ปวยเล้ง เป็นต้น
- โรคจากการขาดวิตามินอีคือ เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย กล้ามเนื้อฝ่อ และโรคโลหิตจาง โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ และศัตรูของวิตามินอี ได้แก่ ความร้อน ออกซิเจน อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง กระบวนการแปรรูปอาหาร ธาตุเหล็ก คลอรีน และน้ำมันแร่ธรรมชาติ เป็นต้น
ประโยชน์ของวิตามินอี
- ช่วยทำให้แลดูอ่อนกว่าวัย โดยชะลอกระบวนการเสื่อมสภาพของเซลล์
- ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี
- ช่วยนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพความทนทาน
- ช่วยปกป้องปอดจากมลพิษทางอากาศ โดยทำงานร่วมกับวิตามินเอ
- ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้หลายชนิด
- เพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคให้เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์
- ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
- ช่วยป้องกันและสลายลิ่มเลือด
- ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย
- ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก
- ป้องกันแผลเป็นหนานูน ทั้งภายนอกและภายใน
- เร่งให้แผลไหม้บริเวณผิวหนังหายเร็วยิ่งขึ้น
- ทำงานคล้ายยาขับปัสสาวะ ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยในการป้องกันภาวะแท้ง
- บรรเทาอาการตะคริวหรือขาตึง
- ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์ได้
คำแนะนำในการรับประทานวิตามินอี
- ขนาดแนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 8-10 IU
- ปริมาณร้อยละ 60-70 ของขนาดที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวันจะถูกขับออกทางอุจจาระ
- อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของซีลีเนียม 25 mcg. ต่อวิตามินอี 200 IU จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวิตามินอีได้เป็นอย่างดี
- ค่า IU ที่ระบุไว้ในฉลากอาหารเสริมของวิตามินอี เป็นค่าของ แอลฟาโทโคฟีรอล ส่วนโทโคฟีรอลตัวอื่นและโทโคไทรอีนอลนั้น ถือได้ว่ามีค่าเป็น 0 IU
- ปริมาณ IU บนฉลากอาหารเสริม ไม่ได้เป็นการระบุว่าวิตามินอีนั้นมีเพียงแอลฟาโทโคฟีรอลเพียงตัวเดียว หรือมีโทโคฟีรอลตัวอื่นและโทโคไทรอีนอลรวมอยู่ด้วยหรือไม่
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามินอีวางจำหน่ายทั้งแบบชนิดเป็นน้ำมัน แคปซูล แบบเม็ดละลายน้ำได้
- อาหารเสริมที่สกัดแอลฟาโทโคฟีรอลจากธรรมชาติ จะมีประสิทธิภาพเป็นสองเท่าของแบบสังเคราะห์
- วิตามินอีให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะมีขนาดตั้งแต่ 100-1,500 IU ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานแบบน้ำมันหรือผู้ที่มีปัญหาผิวที่เกิดจากความมัน แนะนำให้รับประทานเป็นแบบเม็ดแห้งละลายน้ำ รวมไปถึงผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีด้วย
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานทั่วไปคือ 200-1,200 IU ต่อวัน ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษต่อร่างกายหากรับประทานมาก ๆ
- หากคุณรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง ร่างกายอาจต้องการวิตามินอีเพิ่มมากขึ้น
- วิตามินอีในปริมาณที่สูงจะเสริมการทำงานของยาต้านการแข็งตัวของเลือดและลดการดูดซึมของวิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ดังนั้นหากคุณกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานวิตามินอี 2 สัปดาห์ก่อนและหลังการผ่าตัด
- ร่างกายของเราจะดูดซึมวิตามินอีจากอาหารเสริมที่สกัดจากธรรมชาติได้มากกว่าเป็นสองเท่าของแบบสังเคราะห์ โดยสามารถดูที่ฉลากจะพบว่าวิตามินอีจากธรรมชาติจะรุว่าเป็น d-alpha-tocopherol ส่วนแบบสังเคราะห์จะเขียนว่า dl-alpha-tocopherol
- การรับประทานโทโคไทรอีนอลนั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องรับประทานร่วมกับอาหารที่มีน้ำมันหรือมีไขมันอยู่ด้วย
- การรับประทานแอลฟาโทโคฟีรอลในปริมาณมาก จะทำให้ระดับของแกมมาโทโคฟีรอลในเลือดลดลง ซึ่งแกมมาโทโคฟีรอลนี้มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ (อนุมูลอิสระที่มีไนโตรเจนจะสัมพันธ์กับโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ โรคหัวใจ)
- หากคุณรับประทานแกมมาโทโคฟีรอล จะทำให้ระดับแอลฟาและแกมมาโทโคฟีรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นด้วย
- แกมมาโทโคฟีรอลมีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- ธาตุเหล็กอนินทรีย์สามารถทำลายวิตามินอีได้ จึงไม่ควรรับประทานร่วมกัน หากจะรับประทานอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กหรือเฟอร์รัสซัลเฟต ควรจะรับประทานวิตามินอีก่อนหรือหลัง 8 ชั่วโมง
- เฟอร์รัสกลูโคเนต เฟอร์รัสเปปโทเนต เฟอร์รัสซิเทรต เฟอร์รัสฟูเมเรต (ธาตุเหล็กอินทรีย์) จะไม่ทำลายวิตามินอี
- หากดื่มน้ำที่มีคลอรีน ร่างกายจะต้องการวิตามินอีเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือรับประทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนเสริม ร่างกายจะต้องการวิตามินเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
- สำหรับผู้หญิงที่ย่างเข้าสู่วัยทอง ควรรับประทานวิตามินอีให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยหากอายุน้อยกว่า 40 ปีควรรับประทานในขนาด 400 IU ต่อวัน แต่หากมีอายุมากกว่า 40 ปีควรรับประทาน 800 IU ต่อวัน ถ้าเป็นแบบเม็ดแห้งจะดีมาก
ที่มา : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เว็บไซต์เมดไทย (MedThai)