ปรัชญาระบบการศึกษาที่ “ดีที่สุดในโลก” จากฟินแลนด์
แม้จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดว่าระบบการศึกษาของประเทศใด “ดีที่สุด” แต่เมื่อนำเด็กอายุ 15 ปี จากหลากหลายประเทศ (เลือกโดยวิธีสุ่ม) มาสอบวัดผลด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในการทดสอบระดับนานาชาติชื่อ Programme for International Student Assessment (PISA) ปรากฎว่า ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงไม่ถึง 6 ล้านคนอย่างฟินแลนด์ กลับนำหน้าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ทำให้นักการศึกษาทั่วโลก ต่างต้องหันมาดูวิธีทำงานของครู และผู้มีบทบาทในแวดวงการศึกษาของฟินแลนด์แดนซานตาคลอส
©independent.co.uk
รัฐบาลใส่ใจการหล่อหลอมเด็กฟินแลนด์ตั้งแต่เพิ่งคลอด คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคนจะได้รับ “baby box” จากรัฐบาล ในกล่องมีเสื้อผ้า ของใช้เด็กอ่อน และหนังสือสำหรับเด็กที่คัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลจากสถาบันสมิธโซเนียน ระบุว่าคุณแม่ชาวฟินแลนด์ลาคลอดได้นานสูงสุดถึงสามปี รัฐบาลให้เงินอุดหนุนพ่อแม่ในการส่งลูกไป Daycare หรือสถานเลี้ยงเด็กอ่อน และจ่ายเงิน 150 ยูโรสำหรับเด็กแต่ละคนทุกเดือนจนอายุครบ 17 ปีเต็ม เด็กๆ ไม่ต้องเริ่มเข้าโรงเรียนจนกว่าจะอายุครบเจ็ดขวบ แต่ก่อนหน้านั้น หากพ่อแม่ต้องการส่งไป Preschool ก็ทำได้ (ประมาณ 97% ของเด็กฟินแลนด์วัย 6 ขวบเข้าเรียน Preschool) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสักยูโร เพราะรัฐอุดหนุนอีกเช่นเคย
เมื่ออายุครบเจ็ดขวบและต้องเข้าโรงเรียน เด็กๆ ฟินแลนด์จะอยู่ในมือของครูที่เป็นคนกลุ่ม “หัวกะทิ” ของประเทศ เทียบเท่าอาชีพแพทย์หรือทนายความ คุณครูเหล่านี้ต้องจบปริญญาโทจากหลักสูตรเฉพาะ (หลักสูตรนี้สนับสนุนเงินทุนเต็มจำนวนโดยรัฐบาลฟินแลนด์) แต่เมื่อเข้าสอนแล้ว คุณครูทั้งหลายสามารถออกไอเดียการสอนตามแบบของตัวเองได้เต็มที่ และอาจสอนเด็กนักเรียนชุดเดิมไปอีก 5 ปี (แล้วแต่จำนวนบุคลากรของโรงเรียน) เพื่อให้ครูคนเดิมมีโอกาสพัฒนานักเรียนของตนได้เต็มศักยภาพมากที่สุด หากใครมีวิธีการสอนใหม่ๆ ก็แลกเปลี่ยนหรือปรึกษาเพื่อนครูด้วยกันเพื่อให้ได้วิธีที่ดีที่สุดสำหรับไปสอนเด็ก
©theatlantic.com
นักเรียนฟินแลนด์มีการบ้านน้อยมาก ใช้เวลา “เล่น” นอกห้องเรียนโดยเฉลี่ยมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ กรณีศึกษาอันหนึ่งจากคุณครูชื่อ Aleksi Gustafsson ก็คือวิธีสอน “คณิตศาสตร์นอกห้องเรียน” สำหรับนักเรียนเกรดหนึ่ง เด็กๆ ได้รับแจกการ์ดที่ระบุคำสั่งต่างๆ เช่น “ไปหาท่อนไม้ที่ใหญ่เท่าเท้าของตัวเอง” หรือ “เก็บหินและลูกสนมา 50 ชิ้น แล้วแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 ชิ้น” เด็กๆ อายุ 7 และ 8 ขวบ ทำงานเป็นทีมและแข่งกันอย่างสนุกสนาน Gustafsson กล่าวว่า เขาทำวิจัยว่ากิจกรรมเหล่านี้มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร เมื่อเด็กๆ สนุก นั่นแหละคือช่วงเวลาเรียนรู้
แม้เด็กฟินแลนด์จะมีผลสอบ “ดีที่สุด” ในโลกเมื่อไปสอบแข่งขันกับเด็กประเทศอื่น แต่ในฟินแลนด์ เด็กๆ ไม่ต้องเจอกับข้อสอบ เพราะนักการศึกษาที่นั่นไม่เชื่อในระบบการสอบที่เป็นมาตรฐาน (Standardized Test) นักเรียนจะเจอ “ข้อสอบ” ของจริงเพียงครั้งเดียว คือในปีสุดท้ายของระดับชั้นมัธยม ชีวิตในโรงเรียนก่อนหน้านั้นแม้จะมีการวัดผลในรูปแบบต่างๆ บ้าง แต่จะไม่มีใครรู้ผลคะแนนของเพื่อน และครู พ่อแม่ รวมทั้งสื่อต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลสอบแต่อย่างใด
©panoramical.eu
อีกข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในฟินแลนด์มีโรงเรียนเอกชนน้อยมาก เด็กๆ แทบ 100% เข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาล ไม่มีคำว่า “โรงเรียนชั้นนำ” เพราะทุกโรงเรียนดีเท่ากัน มีคำกล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา โรงเรียนเป็นเหมือนร้านค้า พ่อแม่จะ “ช้อปปิ้ง” เพื่อเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะจ่ายไหวให้ลูก ในฟินแลนด์ พ่อแม่ก็มีทางเลือกเหมือนกัน แต่ทุกทางเลือก (คือทุกโรงเรียน) เหมือนกันหมด ในชั้นเรียนจะไม่มี “เด็กโง่” หรือ “เด็กเก่ง” เพราะหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของครูชาวฟินแลนด์ก็คือ “ทำทุกอย่างที่ต้องทำ” (Do whatever it takes) เพื่อช่วยเด็กที่อ่อนที่สุดในชั้น
แม้มีผู้กล่าวว่า ที่ฟินแลนด์ทำมาตรฐานการเรียนการสอนทุกโรงเรียนให้ใกล้เคียงกันได้ เป็นเพราะประชากรฟินแลนด์มีลักษณะคล้ายกันมาก (Homogenous) ในหลายแง่ ทั้งเชื้อชาติและฐานะ เด็กๆ ฟินแลนด์ส่วนใหญ่ได้รับอาหาร ที่พักอาศัย และการดูแลด้านสุขภาพที่ดีเยี่ยมเสมอกันแทบทุกคน แต่แท้จริงแล้ว น่าจะเป็นเรื่องการเลือกใช้นโยบายการศึกษามากกว่า เพราะประเทศเพื่อนบ้านของฟินแลนด์อย่างนอร์เวย์ก็มีลักษณะของประชากรใกล้เคียงกัน แต่กลับเลือกใช้นโยบายการศึกษาคล้ายสหรัฐอเมริกา (คือมีการสอบแบบเอาเป็นเอาตาย และมีมาตรฐานโรงเรียนที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงกัน) ทำให้ผลทดสอบ PISA ของเด็กนอร์เวย์ออกมากลางๆ ระดับเดียวกับสหรัฐอเมริกา ไม่พุ่งสูงติดอันดับต้นๆ อย่างฟินแลนด์
©uk.businessinsider.com
ที่มา:
บทความ Why Are Finland’s Schools Successful? โดย LynNell Hancock จาก https://www.smithsonianmag.com/innovation/why-are-finlands-schools-successful-49859555/
บทความ No grammar schools, lots of play: the secrets of Europe’s top education system โดย Patrick Butler จาก https://www.theguardian.com/education/2016/sep/20/grammar-schools-play-europe-top-education-system-finland-daycare
บทความ How we teach our children: The methods and myths behind Finland’s education success โดย Pasi Sahlberg จาก https://www.irishexaminer.com/viewpoints/analysis/how-we-teach-our-children-the-methods-and-myths-behind-finlands-education-success-451840.html
บทความ 10 Reasons Finland Has the World’s Best School System โดย KRISTINE ALEXANDER จาก http://www.toptenz.net/10-reasons-finland-worlds-best-school-system.php