งานฉลอง 70 ปีครองราชย์ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สำคัญอย่างไร
การฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี หรือการครองราชย์ครบรอบแพลทินัม (Platinum Jubilee) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ โดยหมายกำหนดการพระราชพิธีจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน 2022 ซึ่งจนถึงขณะนี้เรียกได้ว่าพร้อมเกือบ 100% ขณะที่บรรยากาศเฉลิมฉลองก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างไม่เป็นทางการ ดังเห็นได้จากบรรดาของที่ระลึกต่างๆ ตั้งแต่ตุ๊กตาบาร์บี้คอลเล็กชันพิเศษ Queen Elizabeth II Barbie® Doll ไปจนถึงถ้วยกาแฟ ผ้าเช็ดจาน เสื้อยืด และอีกมากมายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์สำคัญนี้
เพื่อสัมผัสบรรยากาศเฉลิมฉลอง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีที่อาจเกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต เรารวบรวมเกร็ดความรู้น่าสนใจมาไว้ที่นี่แล้ว
ทำไมการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ของควีนเอลิซาเบธจึงมีความสำคัญมาก
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 70 ปี
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระองค์ทรงสร้างประวัติศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ ควีนเอลิซาเบธทรงเคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษมาแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2015 โดยครั้งนั้น พระองค์ทรงทำลายสถิติการครองราชย์ยาวนานที่สุดที่ 63 ปี 216 วัน ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้การเฉลิมฉลองครั้งนี้มีความหมายเป็นพิเศษคือ นอกจากเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ควีนเอลิซาเบธจะทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษองค์สุดท้าย และองค์เดียวที่จะได้ฉลองครบรอบแพลทินัม เนื่องจากการครองราชบัลลังก์ที่ยาวนานไม่เพียงหมายถึงการมีพระชนมพรรษายืนยาวเท่านั้น แต่ยังต้องขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์อีกด้วย โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 ขณะทรงมีพระชนมพรรษา 25 พรรษา หลังจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา เสด็จสวรรคตขณะทรงมีพระชนมพรรษา 56 พรรษา
เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่า จะมีพระราชาหรือพระราชินีพระองค์ใดที่จะทรงครองราชย์ได้ยาวนานถึง 70 ปีอีก เมื่อพิจารณาจากพรรษาเมื่อขึ้นครองราชย์ของว่าที่กษัตริย์ลำดับต่อๆ ไปในอนาคต
การฉลองสิริราชสมบัติคืออะไร มีกษัตริย์พระองค์ใดอีกบ้างที่เคยเฉลิมฉลอง
ตามโบราณราชประเพณีนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ยาวนานครบทุก 25 ปี ก็จะมีการจัดพิธีเฉลิมฉลอง ที่ผ่านมามีกษัตริย์ของอังกฤษหลายพระองค์ที่ได้ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี หรือรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) รวมถึง สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระอัยกาของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งครองราชย์เป็นเวลา 25 ปี 259 วัน
ขณะที่กษัตริย์อังกฤษที่ครองราชย์ครบ 50 ปี หรือกาญจนาภิเษก (Golden Jubilee) มี 6 พระองค์ แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเมื่อครั้งที่ควีนเอลิซาเบธทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2002 พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษา 76 พรรษา นับเป็นกษัตริย์ที่มีพระชนมพรรษามากที่สุดที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี
ส่วนกษัตริย์ที่ทรงมีพระชนมพรรษาน้อยที่สุดเมื่อครองราชย์ครบ 50 ปี คือ พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 51 พรรษา เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษา 1 พรรษาเท่านั้นเมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์
สำหรับกษัตริย์อีก 4 พระองค์ของสหราชอาณาจักรที่ครองราชย์ครบ 50 ปี ได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระเจ้าจอร์จที่ 3 ซึ่งครองราชย์ยาวนานกว่า 59 ปี พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษที่ครองราชย์นาน 56 ปี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษที่ครองราชย์นาน 50 ปี
ควีนเอลิซาเบธทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกใช่หรือไม่
ปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่
อย่างไรก็ตาม ควีนเอลิซาเบธยังไม่ใช่กษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกเมื่อนับรวมทั้งหมด พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกเป็นลำดับที่ 3 รองจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งทรงทำสถิติไว้ที่ 72 ปี 110 วัน โดยเสด็จขึ้นครองบัลลังก์เมื่อพระชนมพรรษา 4 พรรษา และครองราชย์ยาวนานกว่า 72 ปี (1643-1715) และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงครองราชย์ยาวนานถึง 70 ปี 126 วัน
อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกดังกล่าว เป็นการจัดลำดับเฉพาะพระประมุขแห่งรัฐเท่านั้น ไม่รวมพระประมุขที่ปกครองประเทศในอาณานิคม หรือประเทศที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นรัฐอธิปไตยโดยสมบูรณ์ หากรวมทุกประเทศ ยังมีพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ที่ครองราชบัลลังก์เป็นเวลานานกว่า ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระราชาธิบดีซอบูซาที่ 2 แห่งสวาซิแลนด์ (ปัจจุบันคือประเทศเอสวาตินี) ทรงครองราชย์ยาวนานกว่า 82 ปี (1899-1982) โดยสวาซิแลนด์มีสถานะเป็นรัฐในปกครองของสหราชอาณาจักร (British Protectorate) จนกระทั่งได้รับเอกราชในปี 1968
วโรกาสสำคัญที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไปในอนาคต
ถ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 80 ปี จะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติที่เรียกว่า Oak Jubilee ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น พระองค์จะทรงมีพระชนมพรรษา 105 พรรษา
นั่นหมายความว่า ในปี 2026 จะมีการจัดพิธีเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 100 พรรษา ซึ่งจะทำให้ควีนเอลิซาเบธเป็นสมาชิกองค์ที่ 2 ของราชวงศ์อังกฤษ ต่อจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนีของพระองค์ ซึ่งทรงมีพระชนมายุครบ 100 พรรษาในปี 2000
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงตอนนั้น อนาคตอันใกล้ในปีหน้าจะมีเหตุการณ์สำคัญในการฉลองครบรอบ 70 ปีอีกวาระหนึ่ง นั่นคือการฉลองพิธีบรมราชาภิเษก ในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1953 หรือเกือบ 18 เดือนหลังขึ้นครองราชบัลลังก์
ภาพ: Aaron Chown / PA Images via Getty Images
อ้างอิง: