Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

คอเลสเตอรอลสูง

 คอเลสเตอรอลสูง


ความหมาย คอเลสเตอรอลสูง


คอเลสเตอรอลสูง (High Cholesterol) คือภาวะที่ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากคอเลสเตอรอลบางส่วนมีความสำคัญกับร่างกาย ทำได้เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหาร รวมถึงการใช้ยาเพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอล


คอเรสเตอรอลสูง


คอเลสเตอรอล คือไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ และสามารถพบได้ในอาหาร เป็นไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกายโดยเฉพาะในกระบวนการสร้างเซลล์ในร่างกาย ซึ่งร่างกายต้องการคอเลสเตอรอลในการช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างเป็นปกติ

หากระดับคอเลสเตอรอลมีมากจนเกินไป ก็อาจทำให้ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น เนื่องจากคอเลสเตอรอลจะไปเกาะตัวกันบนผนังหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่


  • คอเลสเตอรรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) ทำหน้าที่ในการนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินจากเซลล์กลับไปยังตับ เพื่อทำลายหรือขับออกในรูปของเสียจากร่างกาย
  • คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หากมีมากกว่าที่เซลล์ต้องการก็จะไปสะสมที่บริเวณผนังหลอดเลือด เป็นชนิดที่อันตรายและส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้


อาการคอเลสเตอรอลสูง


โดยปกติแล้วจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่ในกรณีที่ระดับคอเลสเตอรอลสูงมาก ๆ ก็อาจทำให้เสี่ยงกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวจะสามารถระบุได้ก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจเลือดวินิจฉัย


สาเหตุของคอเลสเตอรอลสูง


เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารที่รับประทาน หรือแม้แต่โรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลโดยตรง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้แก่


พฤติกรรมการใช้ชีวิต


การมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิด ๆ ก่อให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้ โดยพฤติกรรมที่กระตุ้นให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้นคือ


  • การรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ส่งผลโดยตรงต่อระดับคอเลสเตอรอล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องในสัตว์หรือไข่ ก็ล้วนแต่มีคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในปริมาณที่สูง

  • ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลงจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) สูงขึ้น จนทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง

  • โรคอ้วน ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพ และทำให้แนวโน้มที่ระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์จะสูงขึ้น รวมถึงทำให้ระดับคอเลสเตอรอลที่ดีลดต่ำลงอีกด้วย

  • ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากทำลายตับแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักก็ยังส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้

  • การสูบบุหรี่ สารเคมีจากบุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่เข้าไปขัดขวางการทำงานของคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี ทำให้คอเลสเตอรอลเตอรอลส่วนเกินไม่สามารถลำเลียงไปยังตับได้ เป็นเหตุให้หลอดเลือดตีบเนื่องจากการสะสมของคอเลสเตรอลที่ผนังหลอดเลือดและกลายเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งในที่สุด

ปัญหาสุขภาพ - เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง โดยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีคอเลสเตอรอลสูงได้ง่าย เช่น


  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไต
  • โรคตับ
  • โรคต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid)


การรักษาจะต้องทำควบคู่กับการควบคุมโรคเหล่านี้ด้วยเพื่อให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น คอเลสเตอรอลสูงยังสามารถเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ได้ โดยจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ ทำให้เป็นโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Familial Hypercholesterolemia) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงตั้งแต่กำเนิดที่จะนำไปสู่โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงแข็งและโรคหลอดเลือดหัวใจได้เร็วกว่าคนทั่วไป


ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง และเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ได้แก่

  • ประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองภายในครอบครัว ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นภาวะนี้ จะทำให้เสี่ยงกว่าคนปกติ
  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้น
  • เพศ ภาวะคอเลสเตอรอลสูงมักเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง


หากมีปัจจัยเสี่ยงคงที่เหล่านี้แล้ว ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะคอเลสเตอรอลสูงที่อาจเกิดขึ้นก่อนวัยอันควร


การวินิจฉัยคอเลสเตอรอลสูง


ในปัจจุบัน สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้ด้วยวิธีการตรวจเลือดเท่านั้น โดยการตรวจจะถูกรวมอยู่ในการตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile) ซึ่งจะแสดงให้เห็นระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี คอเลสเตอรอลที่ดี และไตรกลีเซอไรด์ได้ในคราวเดียว โดยผู้ที่ควรได้รับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดได้แก่

  • มีอายุมากกว่า 40 ปี
  • มีน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน
  • มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคเกี่ยวระบบหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร
  • มีสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม
  • ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) หรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Artery Disease: PAD)
  • มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid) หรือตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)


ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด จะต้องอดอาหารอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยอาหารที่กินเข้าไปได้หมด และระดับไขมันในอาหารจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตรวจ หลังจากนั้น แพทย์จะเจาะเลือดและนำผลที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเกณฑ์วัดระดับคอเลสเตอรอลโดยคร่าวระบุไว้ดังนี้


ระดับคอเลสเตอลชนิดที่ไม่ดี (LDL Cholerterol)

  • ปกติ: น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ใกล้เคียงปกติ: 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูงเล็กน้อย: 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูง: 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูงมาก: มากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร


ระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)

  • ปกติ: น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูงเล็กน้อย: 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูง: มากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร


ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL Cholesterol)

  • ต่ำ: น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูง: มากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร


ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

  • ปกติ: ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูงเล็กน้อย: 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูง: 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • สูงมาก: มากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร


อย่างไรก็ตาม เกณฑ์นี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงหรือไม่ เพราะอาจต้องประเมินระดับไขมันเป็นรายบุคคลเพื่อดูความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มด้วย จากนั้นแพทย์จึงจะสามารถทำการรักษาต่อไปได้


ในการสรุปผลการตรวจ จะดูที่ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีเป็นหลัก หากมีระดับที่สูงแปลว่าผู้ป่วยมีคอเลสเตอรอลสูง ขณะที่ระดับคอเลสเตอรอลรวม หากมีอยู่ในระดับสูงก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงหรือไม่ แต่อาจระบุได้ว่ามีความผิดปกติ จะต้องดูที่ระดับคอเลสเตอรอล LDL ร่วมด้วย ส่วนระดับคอเลสเตอรอลที่ดี หากมีเยอะก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพเพราะจะกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีให้ลดลงได้


การรักษาคอเลสเตอรอลสูง


การรักษาเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผลวินิจฉัยแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลสูง โดยการรักษาอาจใช้เพียงการดูแลเรื่องอาหารให้ดีขึ้นหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่บางรายอาจต้องใช้การรักษาด้วยยาควบคู่กันไปด้วยเพื่อช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลค่อย ๆ ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดูแลตัวเองในเบื้องต้นทำได้ดังนี้


  • ออกกำลังกายให้มากขึ้น เป็นหนึ่งในวิธีการลดระดับคอเลสเตอรอล LDL และเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอล HDL เพราะเมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายก็จะสร้างคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีมากำจัดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีออกไป อีกทั้งยังช่วยให้เลือดสูบฉีดได้ดี และทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย โดยเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือการออกกำลังกายที่หนักปานกลางสัปดาห์ละ 2.5 ชั่วโมง

  • ควบคุมน้ำหนัก สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอ้วน การลดน้ำหนักจะช่วยให้การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลทำงานได้ดีขึ้นในระยาว

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่ดีกับสุขภาพมากขึ้นจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ โดยเปลี่ยนจากการรับประทานแป้งขาวมารับประทานแป้งโฮลวีตหรือธัญพืชอื่น ๆ รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น อีกทั้งยังควรรับประทานอาหารที่มีพลังงานไม่สูงมากนัก ในแต่ละมื้อควรมีสารอาหารครบทุกหมู่ รวมทั้งมีสัดส่วนและปริมาณของคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดและอาหารจากไขมันแปรรูป เช่น เนยเทียม (Margarine) เพราะเป็นอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง หากรับประทานในปริมาณมากก็จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอล LDL เพิ่มสูงตามไปด้วย

  • ควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงจะช่วยให้ตับถูกทำลายน้อยลง อีกทั้งยังทำให้ตับสามารถทำงานได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมกับเพศและวัยจะดีที่สุด

  • เลิกสูบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ดีทำงานได้ดียิ่งขึ้น

การใช้ยา


การรักษาคอเลสเตอรอลสูงด้วยยาจะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีเงื่อนไขสุขภาพ อายุ ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือความแข็งแรงของผู้ป่วยในขณะนั้น เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยยาที่แพทย์ในประเทศไทยมักสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้แก่

  • ยากลุ่มสเตติน (Statins) ยาในกลุ่มนี้ที่มีใช้ในประเทศไทยได้แก่ ซิมวาสเตติน (Simvastatin) อะทอร์วาสเตติน (Atorvastatin) และโรสุวาสเตติน (Rosuvastatin) เป็นยาที่ใช้ในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอล โดยกลไกของยาจะเข้าไปขัดขวางสารบางชนิดที่ตับใช้เพื่อผลิตคอเลสเตอรอล ซึ่งจะช่วยให้ตับกำจัดคอเลสเตรอลในเลือดได้มากขึ้น
  • ยากลุ่มไฟเบรต (Fibrate) ได้แก่ ยาฟิโนไฟเบรต (Fenofibrate) และยาเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) เป็นยาที่เข้าไปช่วยลดปริมาณการผลิตคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและช่วยเร่งกระบวนการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากร่างกาย
  • ยาอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe) ยาลดไขมันที่มีคุณสมบัติในการขัดขวางการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารและในน้ำย่อยภายในลำไส้เข้าสู่เลือด เป็นยาที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายากลุ่มสเตติน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยยาชนิดนี้มักใช้กับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มสเตตินได้ หรือผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจนต้องเปลี่ยนยา
  • อาหารเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 Fatty Acid Supplements) กรดไขมันโอเมก้า 3 จัดเป็นไขมันชนิดดีที่อาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้

ในการใช้ยาเหล่านี้ แพทย์จะต้องทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดและเอาใจใส่เรื่องการเลือกรับประทานอาหารให้มากขึ้นและออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ภาวะแทรกซ้อนของคอเลสเตอรอลสูง


ภาวะคอเลสเตอรอลสูงอาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่จะค่อย ๆ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือผู้ป่วยไม่ดูแลและควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยโรคที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเกิดจากการที่คอเลสเตอรอลไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น และทำให้หลอดเลือดแดงตีบลงจนกลายเป็นสาเหตุของอาการต่อไปนี้


  • หัวใจขาดเลือด เมื่อไขมันในเส้นเลือดสะสมอยู่ภายในหลอดเลือดจนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้เต็มที่ ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกซึ่งเป็นสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

  • โรคหลอดเลือดสมอง เช่นเดียวกับอาการหัวใจวาย เมื่อหลอดเลือดตีบลงเนื่องจากไขมันในเลือด การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

นอกจากจะส่งผลต่อระบบหลอดเลือดหัวใจและสมองแล้ว ก็ยังอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ที่เป็นอันตรายไม่แพ้กัน และสามารถส่งผลกับไตจนเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้ เพราะเมื่อหลอดเลือดในร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงไตตีบลงเนื่องจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด ก็จะทำให้ไตสูญเสียการทำงานและวายในที่สุด


การป้องกันคอเลสเตอรอลสูง


คอเลสเตอรอลสูงสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และพฤติกรรมในการใช้ชีวิตบางอย่าง อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้


  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันอิ่มตัวสูงในปริมาณมาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป ของทอด ผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานซ์ ได้แก่ อาหารที่มีส่วนประกอบ หรือใช้น้ำมันเติมไฮโดรเจนในการปรุง เช่น อาหารขยะ ครีมเทียม มาการีน ขนมขบเคี้ยว และอาหารแปรรูปแช่แข็ง เป็นต้น

  • รับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ ร่างกายไม่สามารถขาดไขมันได้ จึงควรหันมารับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ โดยไขมันดีในอาหารได้แก่ ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ปลาทะเลน้ำลึก เป็นต้น

  • รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น มีกากใยในปริมาณมากอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย และช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีให้ลดลงได้

  • ควบคุมน้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากก็จะยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงต่าง ๆ รวมถึงภาวะคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้นการมีน้ำหนักที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันระดับคอเลสเตอรอลสูงและโรคร้ายแรงอื่นได้

นอกจากนี้การเลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะช่วยให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะคอเลสเตรอลสูง รวมถึงโรคเกี่ยวหัวใจและหลอดเลือดลดลงได้อีกด้วย การเข้ารับการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำจะช่วยให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงของคอเลสเตอรอลสูงได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป


ทำอย่างไร? เมื่อ ไขมันในเลือดสูง


ทำอย่างไร? เมื่อ ไขมันในเลือดสูง

Highlight:


  • ไขมันในเลือดสูง สามารถเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันชนิดอิ่มตัวและไขมันทรานส์ การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ กรรมพันธุ์ 
  • โรคประจำตัวบางชนิด สามารถทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ เช่น โรคตับ ตับอ่อน ภาวะพร่องไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำในรังไข่จำนวนมาก โรคไตวาย โรคเบาหวาน หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัส HIV
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง ในระยะแรก มักไม่มีอาการ จะมีอาการเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาการของภาวะหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ อาการเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก จากภาวะขาดเลือด


ไขมันในเลือดสูง คืออะไร

ไขมันในเลือดสูง หรือ ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) คือภาวะที่มี ระดับไขมันไม่ดี (LDL) สูง ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง หรือระดับไขมันดี (HDL) ต่ำ ซึ่งภาวะไขมันในเลือดผิดปกติถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการก่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น

โดยปกติร่างกายสามารถสร้างไขมันได้จากตับเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการที่จำเป็นของร่างกาย เช่น ช่วยในการย่อยอาหาร สร้างฮอร์โมนต่าง ๆ แต่หากมีการรับประทานไขมันจากอาหารมากเกินไป มีโรคทางพันธุกรรม มีการใช้ยาหรือสารต่าง ๆ ที่ทำให้การเผาผลาญไขมันในร่างกายผิดปกติก็จะทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้


ไขมันในเลือดสูง คือไขมันชนิดไหน

ไขมันในเลือดมีหลายชนิด มีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดีต่อร่างกาย โดยจะทราบได้จากค่าผลการตรวจไขมันในเลือด ผู้ทำการตรวจต้องงดอาหาร ก่อนทำการตรวจเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงค่าไขมันต่าง ๆ ดังนี้

  • Total cholesterol เป็นค่าคอเลสเตอรอลรวมในร่างกาย โดยรวมทั้งชนิด HDL, LDL และ non-HDL
  • Low density lipoprotein (LDL) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี หากมีไขมันชนิดนี้สูงจะทำให้มีการสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ หลอดเลือดเปราะ เสี่ยงต่อการแตกและตีบตัน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด
  • High density lipoprotein (HDL) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี จะช่วยนำคอเลสเตอรอลไปใช้ ลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด 
  • Non-HDL เป็นผลของ Total cholesterol หักด้วย HDL จึงประกอบด้วย LDL และไขมันชนิดอื่น ๆ เช่น very-low-density lipoprotein (VLDL) ซึ่งรวมถึง Triglycerides ด้วย เนื่องจาก triglycerides สามารถสะสมในหลอดเลือดและทำให้เกิดหลอดเลือดตีบแคบและผลเสียอื่น ๆ ได้คล้ายกับ LDL จึงจัดเป็นไขมันชนิดที่ไม่ดี


ค่าไขมันในเลือด แบบไหนผิดปกติ

ค่าไขมันในเลือดที่ปกติมีความแตกต่างไปตามอายุและเพศ โดยทั่วไปแล้วในผู้ที่อายุมากกว่า 20 ปี ควรมีค่า

  • Total cholesterol : < 200 mg/dL
  • LDL: < 130 mg/dL
  • Triglycerides: < 150 mg/dL
  • HDL: มากกว่า 40 mg/dL ในเพศชาย และมากกว่า 50 mg/dL ในเพศหญิง


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูงสามารถเกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันชนิดอิ่มตัวและไขมันทรานส์ การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ กรรมพันธุ์ การมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคตับ ตับอ่อน ภาวะพร่องไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำในรังไข่จำนวนมาก โรคไตวาย โรคเบาหวาน หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัส HIV เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไขมันในเลือดสูง เช่น การมีประวัติไขมันสูงในครอบครัว มีภาวะอ้วน การกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ เป็นต้น


ถ้าปล่อยให้ไขมันในเลือดสูงจะเป็นอย่างไร

หากปล่อยให้มีภาวะไขมันในเลือดสูง จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่าง ๆ ดังนี้


อาการไขมันในเลือดสูง

โดยทั่วไปในระยะแรกมักไม่มีอาการใด ๆ แต่ภาวะไขมันในเลือดสูงมักมีอาการเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาการของภาวะหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ อาการเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก จากภาวะขาดเลือด เป็นต้น

ในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจากกรรมพันธุ์ อาจมีอาการแสดงเช่น ไขมันบนผิวหนัง (xanthomas) โดยเฉพาะบริเวณหางตา หรือวงไขมันรอบกระจกตา (corneal arcus) 

ภาวะไขมันในเลือดสูงมักสัมพันธ์กับโรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินจึงควรตรวจระดับไขมันในเลือดเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็อาจมีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดได้เช่นเดียวกัน


วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะไขมันในเลือดสูง

เมื่อตรวจพบภาวะไขมันในเลือดสูง หากระดับไม่สูงมาก แพทย์อาจแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน ขนม เบเกอรีต่าง ๆ เน้นการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก

แต่หากปริมาณไขมันในเลือดสูงมาก หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดไขมันเพื่อช่วยลดระดับไขมันในเลือด


อาหารสำหรับผู้ที่มี คอเลสเตอรอลสูง


คอเลสเตอรอลสูง ควรกินอะไร 


  • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง
  • ปลา โดยเฉพาะปลาทะเล อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ
  • ไข่ขาว เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี ไม่มีไขมัน และมีแคลอรีต่ำ
  • ใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated Fatty Acid=PUFA) ในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น เพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ปริมาณที่ควรรับประทานคือ 10% ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน หรือประมาณ 2 ช้อนชาถึง 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน
  • ใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated Fatty Acid=MUFA) ในการประกอบอาหาร เพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง ควรได้รับ 10-15% ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน หรือประมาณวันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ อาจรับประทานไขมันชนิดนี้ในรูปของถั่วลิสง เนยถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ก็ได้ รับประทานธัญพืชไม่ขัดสี โดยเฉพาะข้าวโอ๊ตที่ขัดสีและผลิตภัณฑ์ที่มีเบต้ากลูแคน (Beta glucan) ซี่งเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble fiber) และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
  • ผักและผลไม้ ควรรับประทานให้มากเป็นประจำ หากเป็นเบาหวานร่วมด้วย ควรปรึกษานักโภชนาการ ถึงปริมาณของผลไม้ที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน
  • ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ถั่วแทนเนื้อสัตว์ เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น
  •  ดื่นนมและผลิตภัณฑ์จากนมชนิดพร่องไขมันหรือขาดไขมัน แทนชนิดไขมันครบส่วน
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 


คอเลสเตอรอลสูง ห้ามกินอะไร / อาหารที่ควรงด

  • เนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน เช่น แคปหมู ปีกไก่ หมูสามชั้น เป็นต้น
  • เครื่องในสัตว์ เช่น สมอง ตับ กระเพาะ เป็นต้น
  • ไข่แดงของสัตว์ต่างๆ เช่น ไข่ปลา มันกุ้ง ถ้าต้องการรับประทานทั้งฟอง ควรรับประทานอาทิตย์ละไม่เกิน 3 ฟอง
  • น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated Fatty Acid) ได้แก่ น้ำมันเม็ดปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันพวกนี้เป็นส่วนประกอบ เช่น มันแกงบวด
  • น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated Fatty Acid) ได้แก่ น้ำมันเม็ดปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันพวกนี้เป็นส่วนประกอบ เช่น มันแกงบวด กุนเชียง ช็อกโกแลต ไส้กรอกต่างๆ ไอศกรีม เนยสด เนยครบส่วน
  • อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น ขนมอบ เบเกอรี ต่างๆ เค้ก คุกกี้ มาการีน เนยขาว


9 วิธีเพิ่มไขมันดี HDL ควรเพิ่มเอชดีแอลโดย

  1. การมีวิถีการดำเนินชีวิตที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ใช้พลังงาน
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ซึ่งควรให้เหมาะสมกับสุขภาพ และวัยของแต่ละบุคคล
  3. การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance exercise) มีส่วนช่วยในการปรับระดับไขมันในเลือด
  4. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังช่วยเพิ่มเอชดีแอลในเลือดได้
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงการรับประทานไขมันทรานส์ 
  6. กินโภคไขมันดี โอเมก้า 3 สามารถลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
  7. กินไขมันดี โอเมก้า 9 แหล่งที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 9 เช่น น้ำมันมะกอก คาโนลา ถั่วลิสง น้ำมันดอกทานตะวัน เมล็ดงา ถั่วพิตาชิโอ อัลมอนด์ อะโวคาโด เป็นต้น
  8. เลิกบุหรี่
  9. จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


อาหารสำหรับผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง

ไตรกลีเซอไรด์สูง อาหารที่ควรรับประทาน


  • รับประทานอาหาร ข้าว แป้ง เผือก มัน ในปริมาณที่พอเหมาะกับตนเอง
  • รับประทานธัญพืชและผลิตภัณฑ์ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจนขาว เช่น รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว ขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาว
  • รับประทานผลไม้ ไม่หวานจัด และมีกากมาก เป็นประจำ
  • รับประทานผักให้มากโดยเฉพาะผักตระกูลใบ
  • ถ้าต้องการรับประทานขนม ควรเลือกขนมไม่หวานจัด ใส่น้ำตาลน้อยและมีแป้งน้อย เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าฮวย เป็นต้น และรับประทานนานๆ ครั้ง
  • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น ปลา เนื้อไก่ส่วนอก เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น นอกจากนี้ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ    


ไตรกลีเซอไรด์สูง ห้ามกินอะไร / อาหารที่ไม่ควรรับประทาน

  • ขนมหวานจัด เช่น ทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง ของเชื่อม เป็นต้น
  • ขนมอบต่างๆ เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมปังหวาน และขนมปังที่มีไส้หวานต่างๆ
  • ผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำใย ละมุด น้อยหน่า ขนุน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาลในการปรุงอาหาร ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำตาลควรใช้แต่น้อย
  • แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
  • อาหารที่ทอดในน้ำมันมากๆ เช่น ปาท่องโก๋ ไข่เจียว กล้วยแขก มันทอด เป็นต้น
  • อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิต่างๆ ขนม แกงบวดต่างๆ ข้าวเหนียวมูน เป็นต้น



CR    ::   Pobpad.com  ,    www.samitivejhospitals.com/