ค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน 2567
คำนวณค่าธรรมเนียมโอนบ้าน
ในวันทำการโอนบ้านที่สำนักงานที่ดิน จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นนั่นคือ ค่าธรรมเนียมโอนบ้าน หรือค่าโอนกรรมสิทธิ์ ที่จะมีอัตราเรียกเก็บตามราคาประเมินที่ดินที่กำหนดเอาไว้
โดยในปี 2567 มีกำหนดค่าธรรมเนียมการโอนอยู่ที่ 1% ของราคาประเมิน (จากปกติ 2%) โดยอัตรานี้เป็นมาตรการปรับลดเพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
จะได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการโอน มีข้อกำหนดอะไรบ้าง?
- เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- ซื้อขายที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสอง ได้ทั้งบ้านเดี่ยว ห้องชุด บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์
- ราคาซื้อขาย ราคาประเมิน และวงเงินจำนองต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท
- การได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะต้องทำการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน
วิธีการคำนวณค่าธรรมเนียมโอนบ้าน
จะคำนวณโดยคิด 1% ของราคาประเมิน
เช่น ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท แต่มีราคาประเมิน 2 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมการโอน 1% จะต้องเตรียมค่าธรรมเนียมในการโอนจำนวน 20,000 บาท
ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน จำนวน 40,000 บาท
จากการคำนวณ จะเห็นได้ว่ามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนนี้ ทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงได้ครึ่งหนึ่ง ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
ค่าธรรมเนียมโอนประเภทจดทะเบียนให้ ในกรณีที่เป็นเครือญาติ
สำหรับการโอนบ้านหรืออสังหาต่างๆ ถ้าหากเป็นการโอนให้กันในเครือญาติ จะมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างจากปกติ และมีการคิดที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ด้วย โดยแบ่งออกเป็น
โอนให้บุคคลในครอบครัว จะมีการคิดค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของราคาประเมิน ได้แก่
- โอนให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดา-มารดาจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
*หมายเหตุ ชำระอากรแสตมป์ โดยไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - โอนให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บิดา-มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แยกเป็น 2 กรณีดังนี้
1. มารดาโอนให้บุตร
2. บิดาโอนให้บุตร ต้องจดทะเบียนรับรองบุตรพร้อมแสดงเอกสารประกอบการโอน
*หมายเหตุ ชำระอากรแสตมป์ โดยไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - โอนให้คู่สมรสตามกฎหมาย โดยเป็นการโอนระหว่างสามี-ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย
*หมายเหตุ ชำระอากรแสตมป์ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
การโอนให้ญาติพี่น้องนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น คิดค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน พร้อมชำระอากรแสตมป์ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เอกสารที่ต้องใช้ในการโอนบ้าน ที่ดิน หรือที่อยู่อาศัยอื่นๆ
สำหรับบุคลธรรมดา ให้เตรียมเอกสารสำหรับการโอนบ้าน ดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
- ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนา และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
- กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ต้องใช้หนังสือมอบอำนาจที่ดิน (ทด.21) หรือ หนังสือมอบอำนาจห้องชุด (อช.21) แล้วแต่กรณี พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
- หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลตัวจริง
- เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือรับรองปลอดภาระหนี้จากนิติบุคคลอาคารชุด ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า คำสั่งศาล ฯลฯ (ถ้ามี) ตัวจริง
ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ต้องรู้
นอกจากค่าธรรมเนียมการโอนบ้านที่ต้องจ่ายแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องเตรียมจ่ายในวันเดียวกันด้วย ซึ่งได้แก่
ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์
ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือ ค่าจดจำนอง จะเรียกเก็บเมื่อ ผู้ซื้อมีการซื้อบ้านหรืออสังหาอื่นๆ ด้วยการขอสินเชื่อจากธนาคาร (สำหรับผู้ที่ซื้อด้วยเงินสดจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมนี้) โดยปกติจะคิดอัตรา 1% ของมูลค่าจำนอง แต่ในปี 2567 มีการปรับลดเป็น 0.01% ตามเงื่อนไข
โดยอัตราที่ปรับลดนี้ จะมีเงื่อนไข คือ
- เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสอง ได้ทั้งบ้านเดี่ยว ห้องชุด บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์
- วงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท
- ต้องทำการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน
เช่น ได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านวงเงิน 2 ล้านบาท เสียค่าจดจำนอง 200 บาท (คิดอัตราปรับลด 0.01% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ) ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ จำนวน 20,000 บาท
ค่าอากรแสตมป์
ร้อยละ 0.5% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน (คิดจากราคาที่สูงกว่า) ในกรณีที่ผู้ขายต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ต้องชำระค่าอากรแสตมป์อีก
ตัวอย่างการคำนวณ ค่าอากรแสตมป์
บ้านมีราคาประเมิน 2.5 ล้านบาท แต่ราคาขาย 3.5 ล้านบาท จะยึดจากราคาขาย เพราะราคาสูงกว่า ค่าอากรแสตมป์ ที่ต้องจ่ายจะมียอด 3,500,000 x 0.5% = 17,500 บาท
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
จะเรียกเก็บเมื่อผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต่อเนื่องไม่เกิน 1 ปี หรือถือครองอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 5 ปี เสียในอัตรา 3.3% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน (คิดจากราคาที่สูงกว่า)
ตัวอย่างการคำนวณ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
บ้านมีราคาประเมิน 2.5 ล้านบาท แต่ขายได้ 3.5 ล้านบาท จะยึดจากราคาขาย เพราะราคาสูงกว่า ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ต้องจ่ายจะมียอด 3,500,000 x 3.3% = 115,500 บาท
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดิน ขึ้นอยู่กับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นและจำนวนปีที่ถือครอง
ที่มา :: https://blog.ghbank.co.th/how-to-calculate-house-fees/