ท่านอนดีๆ สร้างหนูเก่งสมวัยได้
อย่างที่ทราบกันดีค่ะ ว่าลูกน้อยมีการเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่เลยทีเดียว เมื่อเจ้าหนูคลอดออกมาแล้ว พัฒนาการต่างๆ จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากได้รับการส่งเสริมเอาใจใส่อย่างถูกต้องจากคุณพ่อคุณแม่
การนอนสำหรับเด็กในวัยแบเบาะถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ นอกจากการมีชั่วโมงการนอนหลับที่เพียงพอแล้ว การจัดท่านอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของลูกน้อย โดยเฉพาะกับเด็กวัยแรกเกิดจนถึง 10 เดือนด้วยแล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหลังจากวัยนี้แล้ว หนูน้อยก็มีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์พร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าต่อไปค่ะ
แรกเกิด - 3 เดือน ลูกยังไม่สามารถในการชันคอ แต่สามารถเอียงคอไปมาได้ ท่านอนหงาย เป็นท่านอนที่เหมาะสุดสำหรับลูกน้อยวัยนี้ ทั้งยังมีข้อดีคือ ทารกสามารถหมุนตัวสลับซ้ายขวาได้ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่อาจกลัวว่า ถ้าลูกน้อยนอนหงายบ่อยๆ ก็จะทำให้รูปทรงศีรษะไม่สวย ดังนั้น คุณแม่ก็ควรจับศีรษะพลิกตะแคงท่าเสียบ้างก็จะช่วยได้ค่ะ
นอกจากนี้ การนอนหงายหรือนอนตะแคงยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ และเมื่อโตขึ้นมาก็จะกลายเป็นเด็กที่มีความช่างสังเกตมากกว่าเด็กที่ถูกจับให้นอนคว่ำอยู่เป็นประจำ โดยคุณแม่อาจหาผ้าหรือวัสดุที่มีสีสันสดใส และมองเห็นได้ชัดผ่านหน้าลูกช้าๆ ไปทางซ้าย - ขวา เพื่อให้ลูกได้พยายามหันศีรษะและมองตาม ก็เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้มีพัฒนาการได้เร็วยิ่งขึ้นค่ะ
4-6 เดือน ลูกน้อยในวัยนี้สามารถยกหัวขึ้น ยันยกหน้าอกขึ้นได้ และหันหน้าไปมาได้ดีขึ้น มือกำและแบออกได้ เพื่อให้กล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกของร่างกายได้รับการพัฒนาอย่างดีและถูกต้อง ควรจะจับให้ได้นอนทุกๆ ท่าเปลี่ยนไปมาบ่อยๆ และเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหงาย ตะแคงซ้าย - ขวา แต่ยกเว้นการนอนคว่ำในช่วงการนอนหลับตอนกลางคืน
แต่ท่านอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ได้ดีคือ ท่านอนคว่ำ เพราะจะช่วยให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนคอ เมื่อจับนอนคว่ำ ลูกน้อยก็ชอบที่จะใช้มือและแขนยัน ชันคอขึ้นมองสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยคุณแม่อาจหาผ้าปูที่นอน หรือภาพที่มีสีสันสดใส ไม่มีลวดลายมากจนเกินไป รวมทั้งของเล่นที่มีเสียงและคุ้นเคยมาเป็นตัวล่อก็ได้ค่ะ
6 - 10 เดือน ลูกเริ่มนั่งได้เองแล้ว และพยายามคืบ - คลาน และสามารถพลิกตัวไปมาได้อย่างอิสระ ท่านอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับลูกวัยนี้สามารถทำได้หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่า จะเป็นนอนหงาย กึ่งนั่ง กึ่งนอนตะแคง หรือนอนคว่ำ การจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่ลูกน้อยสามารถเรียนรู้ได้อย่างชาญฉลาด แต่ต้องเลือกของเล่นที่ปลอดภัยผ่านมาตรฐานรับรองความปลอดภัยและสอดคล้องกับวัยของลูกด้วยนะคะ
กลัวลูกหัวแบน...ไม่ทุยเสี่ยงโรค SIDS
กลัวลูกหัวแบน...ไม่ทุยเสี่ยงโรค SIDS
คณะแพทย์แห่ง Harvard Medical School พบว่า มีเด็กทารกมากกว่าครึ่งที่เสียชีวิตเพราะโรคการตายโดยฉับพลัน หรือที่เรียกกันว่า SIDS โดยการนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกดทับจมูกปากจนขาดอากาศหายใจ ดังนั้นเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนควรจัดท่าให้นอนหงายเท่านั้น เพราะยังตะแคงหน้ายกศีรษะไม่เป็น แต่อาจจับนอนคว่ำบ้าง แต่ทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่นและมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กได้ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวแบนและได้ออกกำลังต้นแขนและหัวไหล่ให้เกิดความแข็งแรงด้วย
ภาพน้องปริญญ์ โคตะขุน
ที่มา :: http://motherandchild.in.th/