เทเรซา แมรี เมย์ (อังกฤษ: Theresa Mary May, เกิด 1 ตุลาคม ค.ศ. 1956) คือนักการเมืองชาวบริติช ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2559 และสมาชิกรัฐสภาจากเขตเมเดนเฮดตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ทั้งยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยม-ประเทศเดียว (One-Nation Conservative) ผู้สนับสนุนการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ (อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ในสหราชอาณาจักรต่อไป นอกจากนี้เมย์ยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมเสรี (liberal conservative) ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เธอได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรต่อจากนายเดวิด แคเมอรอนหลังการเข้าเฝ้า ฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559
ในอดีตเทเรซา เมย์ เคยทำงานประจำอยู่ที่ธนาคารกลางอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2526 ต่อมาที่สมาคมผู้ให้บริการหักบัญชีชำระเงิน ระหว่างปี พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2540 ขณะเดียวกันก็ยังได้ตำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองเมอร์ตันประจำเขตเดิร์นสฟอร์ดในกรุงลอนดอนไปด้วย จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาสามัญชนในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2535 และปี พ.ศ. 2537 นอกจากนี้เมย์ยังเคยดำรงตำแหน่งหลากหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเงาภายใต้การนำของวิลเลียม เฮก, เอียน ดันแคน สมิธ, ไมเคิล ฮาวเวิร์ด และเดวิด แคเมอรอน เช่น ผู้นำเงาแห่งสภาสามัญชน และรัฐมนตรีเงาประจำกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานพรรคอนุรักษนิยมช่วง พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2546 อีกด้วย
หลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมของแคเมอรอนในปี พ.ศ. 2553 เมย์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียม ซึ่งภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียมในปี พ.ศ. 2555 ต่อมาหลังจากที่พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาสามัญชนได้สำเร็จ เมย์ก็ถูกแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยอีกครั้ง และเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วาระของนายเจมส์ ชูเตอร์ เอด เมื่อกว่า 60 ปีก่อน ซึ่งตลอดการดำรงตำแหน่งเมย์ได้ผลักดันนโยบายการปฏิรูปตำรวจ การจัดการกับปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และได้ริเริ่มนโยบายจำกัดผู้อพยพ
ต่อมาหลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปในการออกเสียงประชามติว่าด้วยสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ที่มีนายเดวิด แคเมอรอน เป็นหนึ่งในแกนนำรณรงค์หาเสียง แคเมอรอนก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้สถานภาพผู้นำพรรครัฐบาลอย่างพรรคอนุรักษนิยมสิ้นสุดลงไปด้วย เมย์จึงได้ประกาศว่าเธอจะลงชิงตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมคนต่อไป และกลายมาเป็นผู้สมัครตัวเต็งของการแข่งขันนี้อย่างรวดเร็ว เมย์ชนะการหยั่งเสียงในหมู่สมาชิกพรรครอบแรกในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยมีคะแนนนำผู้สมัครคนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก สองวัดถัดมาเมย์ชนะการหยั่งเสียงรอบที่สองด้วยคะแนน 199 เสียง และเข้าสู่การแข่งขันกับผู้สมัครอีกคนอย่างนางแอนเดรีย ลีดซัม ในรอบถัดไป จนกระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม นางลีดซัมประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ส่งผลให้เมย์กลายเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวและได้รับประกาศเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในวันเดียวกันนั้นเอง เทเรซา เมย์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักรคนที่สองในประวัติศาสตร์ ถัดจากมาร์กาเรต แทตเชอร์
ที่มา :: https://th.wikipedia.org/wiki/เทเรซา_เมย์